31 มกราคม 2567

ผลตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกเป็น HSIL/CIN3 แปลว่าอะไร

(ภาพวันนี้ / รั้วซากุระขาว ที่อ่างขาง)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

เรียน นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

         หนูขอความกรุณาอ่านผลตรวจชิ้นเนื้อของคุณแม่ให้ได้ไหมคะ และขอรบกวนคุณหมอช่วยตอบข้อสงสัยหนูได้ไหมคะ เรื่องราวคร่าวๆ ดังนี้ค่ะ คุณแม่ อายุ 66 ปี ทำหมันมาแล้ว 30 ปี หมดประจำเดือนแล้ว ไม่เคยมีปัญหาเรื่องภายในมาก่อนค่ะ ช่วงต้นเดือนมกราคม 24 คุณแม่เลือดไหลจากช่องคลอด มีตกขาวกลิ่นเหม็น เลยพาไปหาหมอสูตินารี คุณหมอตรวจภายใน และ อัลตร้าซาวด์ให้ พบปากมดลูกเป็นแผล จึงขอตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ และเมื่อวันศุกร์ 26/1/24 ที่ผ่านมา ไปฟังผลชิ้นเนื้อ คุณหมอบอกว่าชิ้นเนื้อมันผิดปกติ คุณหมอค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก และขอตัดชิ้นเนื้ออีกรอบเพื่อส่งตรวจ เพราะครั้งแรกที่ตัดไป ตัดไปนิดเดียว ผลตรวจเลยออกมาไม่ชัดเจน หนูเห็นในผลตรวจมีวงเล็บไว้ HSIL / CIN lll ตามความเข้าใจหนูคือ CIN3 จะเป็นระยะ pre – cancer ยังไม่เป็นมะเร็ง แต่มีโอกาส develop ไปเป็นมะเร็งได้ ตรงนี้หนูเข้าใจถูกต้องมั้ยคะ สิ่งที่หนูสงสัย คือ ทำไมคุณหมอไม่ส่งแม่ไปส่องกล้อง เพราะผลตรวจยังไม่ชัดเจนหรือเปล่าคะหนูขอความกรุณา และขอรบกวนคุณหมอช่วยอ่าน อธิบายผลตรวจให้หนูเข้าใจอีกรอบนะคะ เพราะจากที่ฟังคุณหมอที่ตรวจคุณแม่อธิบาย และจากการถามเพิ่มเติม หนูได้ความกระจ่างน้อยมากเลยค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ 

…………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าผลการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกบอกว่าเป็น HSIL / CIN lll ตามความเข้าใจหนูคือ CIN3 จะเป็นระยะ pre – cancer ยังไม่เป็นมะเร็ง ตรงนี้หนูเข้าใจถูกต้องมั้ย ตอบว่า “ไม่ถูกต้อง” ครับ

เพื่อให้เกิดความเข้าใจแบบโล่งโจ้งอล่างฉ่าง ผมขอรีวิวให้คุณทราบระบบอ่านผลการตรวจมะเร็งปากมดลูกของวงการแพทย์ก่อน เขาเรียกว่าระบบอ่านแบบเบเทสด้า (Bethesda) ซึ่งแบ่งผลการอ่านเป็นขั้นๆไปดังนี้

    ขั้นที่ 1. NILM ย่อมาจาก negative for intraepithelial lesion แปลว่าปกติ ยังไม่ได้ทำท่าว่าจะเป็นมะเร็งเลยแม้แต่น้อย

     ขั้นที่ 2. ASC-US ย่อมาจาก Atypical squamous cells of undetermined significance แปลว่ามีเซลผิดปกติแบบไม่เจาะจงว่าจะเป็นอะไรกันแน่ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อ HPV ซึ่งต่อมามักจะหายไปเอง มีโอกาสเป็นมะเร็งน้อยมาก

    ขั้นที่ 3. ASC-H ย่อมาจาก Atypical squamous cells of high significance แปลว่ามีเซลผิดปกติค่อนข้างชัดเจนถึงขั้นน่าจะเป็นมะเร็งนะ

     ส่วนคำย่ออื่นๆที่แทรกเข้ามาหรือวงเล็บไว้ในคำอ่านเสมอนั้น เป็นเพราะวิชาแพทย์มองการเกิดมะเร็งปากมดลูกมาจากสามมุมมอง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมวิชาแพทย์จึงต้องเรียนกันนาน เพราะมันวกไปวนมาอย่างนี้นี่เอง สามมุมมองที่ว่า คือ

     มุมมองที่ 1. คือมองจากนัยสำคัญของความผิดปกติของเยื่อบุผิวปากมดลูก จากมุมนี้หากผิดปกติระดับไร้สาระก็เรียกว่า ASC-US แต่หากผิดปกติระดับน่าจะมีสาระก็เรียก ASC-H

     มุมมองที่ 2. คือมองจากพยาธิสภาพของแผลที่ปากมดลูก (Squamous intraepithelial lesion) ว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งมากหรือน้อย เรียกย่อว่า SIL ถ้ามองจากมุมนี้ ตรวจพบ ASC-US ถือว่าเป็น Low-SIL หรือบางทีก็เขียนรวบว่า LSIL คือมีความผิดปกติน้อย ถ้ามีความผิดปกติมากจนน่าจะเป็นมะเร็งหรือ ASC-H ก็เรียกว่า High SIL ซึ่งมักเขียนย่อๆว่า HSIL

     มุมมองที่ 3. คือมองจากมุมการวินิจฉัยโรคมะเร็งตรงๆเหน่งๆเลย เรียกว่า CIN ย่อมาจาก Cervical Intra-epithelium Neopasia หากมองจากมุมนี้ ผลเป็น ASC–US หมายถึงไม่เป็นมะเร็ง เรียกว่าเป็น CIN1 ถ้าผลเป็น ASC-H ก็หมายถึงน่าจะเป็นมะเร็งนะ เรียกว่า CIN2 แต่ถ้าถึงขั้นเป็นมะเร็งแน่นอนชัวร์ป๊าดไปแล้วเรียบร้อยก็เรียกว่า CIN3 หรือเรียกอีกอย่างว่า Carcinoma in situ (CIS)

     ผมอธิบายแล้วคุณยิ่งเง็งหนักหรือเปล่าเนี่ย หมอสันต์สรุปให้ละกันว่ากรณีคุณแม่ของคุณ หมอเขาอ่านมาเป็น HSIL/CIN3 แปลอังกฤษเป็นไทยได้ว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้วแน่นอนชัวร์ป้าด..ด แถมหมอคนอ่านเขายังแทงกั๊กห้อยท้ายคำวินิจฉัยมาด้วยว่า “เป็นอย่างน้อย (at least)” ตรงนี้แปลว่ามันอาจจะไม่ใช่แค่มะเร็งในที่ตั้ง (carcinoma in situ) แต่อาจลามออกไปนอกที่ตั้งแล้วก็เป็นได้นะ เพราะชิ้นเนื้อที่ตัดมาตัดแคบไปทำให้มองไม่เห็นขอบ จึงวินิจฉัยการลาม (invasiveness) หรือไม่ลามออกนอกที่ตั้งไม่ได้

2,, ถามว่าทำไมหมอมามัวตัดชิ้นเนื้อซ้ำอยู่นั่นแล้ว ทำไมไม่ส่งไปส่องกล้องซะที ตอบว่าใจเย็นๆซิคะคุณพี่ขา ที่หมอเขาตัดสินใจตัดชิ้นเนื้อซ้ำนั้นเป็นเรื่องชอบด้วยเหตุผลทั้งปวงแล้ว เพราะข้อมูลที่มีในมือตอนนี้มีแค่ว่าเป็นมะเร็งแน่ แต่ไม่แน่ว่าลามออกไปข้างนอกหรือยัง ข้อมูลแค่นี้ยังวางแผนการรักษาไม่ได้เพราะการลามหรือไม่ลามมีวิธีผ่าตัดรักษาไม่เหมือนกัน การส่องกล้องดู (colposcopy) ไม่ได้ตอบคำถามว่าลามหรือไม่ลาม การจะตอบคำถามนี้ต้องตัดชิ้นเนื้อให้กว้างกว่าเดิมลูกเดียวจึงจะตอบคำถามนี้ได้ ถ้าลามก็ต้องไปผ่าตัดใหญ่ ถ้าไม่ลามก็อาจจะจบกิจกันแค่นั้นกลับบ้านใครบ้านมันได้ไม่ต้องทำอะไรต่อ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Solomon D, Davey D, Kurman R, Moriarty A, O’Connor D, Prey M, et al. The 2001 Bethesda System: terminology for reporting results of cervical cytology. JAMA. 2002;287:2114–9.

[อ่านต่อ...]

29 มกราคม 2567

การฉีดสารอุดตันหลอดเลือดที่หัวเข่าเพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อม (Geniculate artery embolization)

(ภาพวันนี้ / เผาข้าวหลามกินกัน วันไปเยี่ยมเพื่อนที่ทำไร่กาแฟอยู่บนดอยสูง)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

เรียนคุณหมอสันต์ครับ

ตามที่ แผนกรังสีร่วมรักษาของรพ. …. โฆษณาว่าสามารถรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยไม่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อแต่ใช้วิธีรักษาด้วยรังสีแทนนั้น เป็นวิธีที่ใช้ได้จริงหรือไม่ครับ ได้ผลจริงไหม เพราะผมเองก็มีปัญหาปวดเข่ามาก หมอแนะนำให้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า แต่ผมไม่อยากผ่า ควรทำหรือไม่ควรทำขอความเห็นส่วนตัวคุณหมอสันต์ด้วยครับ

ขอบพระคุณครับ

…………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าแผนกรังสีร่วมรักษาเขาจะเอารังสีมารักษาข้อเข่าเสื่อมได้จริงไหม ตอบว่าเขาไม่ได้เอารังสีมารักษาข้อเข่าเสื่อม แต่เขารับรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีฉีดสารอุดตัน (emboli) เข้าไปปิดกั้นหรืออุดตันหลอดเลือด geniculate artery ที่ไปเลี้ยงหน้าสัมผัสของหัวเข่า เรียกวิธีรักษาแบบนี้ว่า Geniculate Artery Embolization (GAE) แต่เหตุที่การรักษาแบบนี้ต้องไปทำที่แผนกรังสีก็เพราะแผนกรังสีเป็นเจ้าของเครื่องฉีดสี (angiography) แผนกอื่นที่มีเครื่องแบบนี้นอกจากแผนกรังสีแล้วก็มีแต่แผนกหัวใจเท่านั้น แผนกกระดูกยังไม่มี

2.. ถามว่าการฉีดสารอุดตันเข้าไปอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงผิวข้อเข่ารักษาโรคข้อเสื่อมได้จริงไหม ตอบว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีวิธีรักษาโรคข้อเสื่อมให้หายได้หรอกครับ แต่มีสารพัดวิธีที่จะช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าจากโรคข้อเสื่อม วิธีดั้งเดิมที่เราคุ้นเคยตามลำดับก็คือการลดน้ำหนักและทำกายภาพบำบัดสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อหน้าขาหลังขาและเอ็นรอบหัวเข่าก่อน ถ้าไม่ได้ผลก็กินยาแก้ข้ออักเสบ (์NSAID) ซึ่งจะบรรเทาอาการได้ตราบใดที่ยังกินยาอยู่ ถ้ายังปวดมากอยู่ก็ไปขั้นที่สองคือฉีดสะเตียรอยด์เข้าข้อ ซึ่งจะบรรเทาปวดได้ราวสามสัปดาห์ ถ้ายังปวดอยู่อีกก็ฉีดจาระบี (hyaluronic acid) เข้าไปในข้อ ซึ่งจะบรรเทาปวดได้สักหกเดือน หากยังปวดอยู่อีกก็โน่น…ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าซะเลย

ส่วนการแก้ปวดด้วยวิธีฉีดสารอุดตันเข้าไปอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงผิวข้อ (GAE) นี้เป็นวิธีใหม่ ซึ่งมีความรุกล้ำรุนแรงน้อยกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ ถามว่าวิธี GAE นี้มันได้ผลไหม ตอบว่ามีงานวิจัยเรื่องนี้ตีพิมพ์แล้วราวร้อยกว่าเกือบๆสองร้อยงานวิจัย เกือบทั้งหมดเป็นงานวิจัยระดับต่ำ แต่มีอยู่หนึ่งงานวิจัยที่เป็นงานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ซึ่งถือว่าเป็นงานวิจัยระดับสูงเชื่อถือได้ ผมจึงจะพูดถึงงานวิจัยนี้เพียงงานวิจัยเดียว ในงานวิจัยนี้เขาเอาคนป่วยโรคข้อเสื่อมที่มีอาการเจ็บหัวเข่าระดับเล็กน้อยถึงปานกลางจำนวน 21 คน มาสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งทำ GAE ของจริงคือฉีดสารอุดหลอดเลือดหัวเข่าจริงๆ อีกกลุ่มหนึ่งทำทีเป็นเอาเข้าห้องฉีดสีทำ GAE แต่ไม่ได้ฉีดสารเข้าไปอุดหลอดเลือดจริง แล้วตามประเมินอาการปวดเข่าของทั้งสองกลุ่มเมื่อครบ 1 เดือน และ 12 เดือนหลังฉีด พบว่ากลุ่มที่ได้ทำ GAE จริงอาการปวดเข่าน้อยลงและการใช้งานเข่าดีขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ

สรุปว่าการรักษาแบบฉีดสารอุดหลอดเลือดหัวเข่าบรรเทาอาการปวดระดับเล็กน้อยถึงปานกลางและเพิ่มการใช้งานหัวเข่าได้ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย อย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปีหลังการฉีด

3.. ถามว่าควรทำ GAE หรือไม่ควรทำขอความเห็นส่วนตัวหมอสันต์ด้วย ฮั่นแน่ หาเรื่องให้หมอสันต์เจ็บตัวอีกละ ตอบว่าความเห็นส่วนตัวผมไม่มี มีแต่การวิเคราะห์ผลวิจัยนี้นั่นแหละครับ ว่า (1) งานวิจัยนี้ได้ผลว่าดีสำหรับคนปวดเข่าระดับเล็กน้อยถึงระดับปานกลางเท่านั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับคนปวดเข่าระดับมากอย่างคุณ หากคุณจะลองรับการรักษาแบบนี้ก็ต้องเป็นการลองด้วยความกล้าของคุณเอง อย่าอิงผลวิจัยนี้ เพราะผลวิจัยนี้ใช้ไม่ได้กับคนปวดเข่าระดับมาก (2) ผลวิจัย GAE ในเชิงความปลอดภัยต่อหัวเข่านั้น ประเมินกันเฉพาะในระยะสั้น 1 ปี อย่างเก่ง 2 ปี หลังจากนั้นการจงใจไปอุดหลอดเลือดของหัวเข่าจะเกิดอะไรขึ้นกับหัวเข่าในระยะยาวยังไม่มีใครรู้ ผมเองรู้แต่ว่าหากเจ็บหน้าอกจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ถ้าหลอดเลือดแขนงที่ตีบนั้นอุดตันไปซะก็จะหายเจ็บหน้าอกเป็นปลิดทิ้ง เพียงแต่ถ้าโชคไม่ดีกล้ามเนื้อหัวใจตายไปมากก็มักตามมาด้วยหัวใจล้มเหลว นั่นเป็นเรื่องที่หัวใจ แต่ที่หัวเข่ามันคนละเรื่อง การอุดหลอดเลือดที่หัวเข่านานไปจะเกิดอะไรขึ้นผมไม่รู้ หมอกระดูกก็ยังไม่รู้ เพราะวิธีรักษาด้วยการอุดหลอดเลือดเพิ่งมาเริ่มทำกัน ผลระยะยาวต้องตามดูกันต่อไป คุณอยากจะลองก็เอาเลยครับ ใครที่อยากรับการรักษาอะไรใหม่ๆผมเชียร์ทั้งนั้น เพราะในทางการแพทย์ผู้ที่เป็นกองหน้าทำไปก่อนย่อมเป็นผู้ทำความดีด้วยการสร้างข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่คนที่จะมาทำภายหลัง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Bagla S, Piechowiak R, Sajan A, Orlando J, Hartman T, Isaacson A. Multicenter Randomized Sham Controlled Study of Genicular Artery Embolization for Knee Pain Secondary to Osteoarthritis. J Vasc Interv Radiol. 2022 Jan;33(1):2-10.e2. doi: 10.1016/j.jvir.2021.09.019. Epub 2021 Oct 2. PMID: 34610422.
[อ่านต่อ...]

28 มกราคม 2567

แค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง RDBY30 (7-10 กพ. 67) ช่องทางเดียวที่หมอสันต์ยังรับรักษาผู้ป่วยอยู่

(ภาพวันนี้ / ซากุระ ของแท้ ที่ดอยอ่างขาง)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

มีอะไรใหม่ใน RDBY-30

1. เนื่องจากหมอสันต์มีอายุมากแล้ว จึงตัดสินใจหยุดรับตรวจรักษาผู้ป่วยทุกช่องทางเริ่มตั้งแต่ปี 67 นี้เป็นต้นไป เหลืออยู่ช่องทางเดียวคือแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (RDBY) ซึ่งเป็นการรับตรวจรักษาโรคพร้อมกับฝึกสอนความรู้และทักษะการพลิกผันโรคด้วยตนเองทุกแง่มุม ช่องทางอื่นเลิกหมดเพื่อเอาเวลาไปปลูกผักปลูกหญ้าปลูกป่าและท่องเที่ยวบ้าง ดังนั้นท่านที่อยากพบหรือปรึกษาเรื่องโรคต้องมาเข้าแค้มป์ RDBY ได้ทางเดียว เพราะทางอื่นเช่นการออกตรวจคลินิกและรพ.ผมเลิกหมดแล้ว

2. งานวิจัยอาหารไทยสุขภาพซึ่งกำลังดำเนินการวิจัยอยู่ การประเมินผลตัวชี้วัดเบื้องต้นผู้มาอยู่ในแค้มป์นาน 14 วันพบว่าอาหารไทยสุขภาพเพียงอย่างเดียวโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับปัจจัยอื่นเลย สามารถเปลี่ยนแปลงตัวชี้วัดทั้งน้ำหนัก ความดัน น้ำตาล และไขมันในเลือดได้ดีเกินความคาดหมาย งานวิจัยนี้ยังไม่จบ ต้องทำต่อไปอีก 3 เดือน แต่ผมได้ตัดสินใจเอาข้อมูลเบื้องต้นนี้มาเปลี่ยนแปลงอาหารในแค้มป์ RDBY จากเดิมที่เคยเป็นอาหารวีแกนเข้มงวด มาเป็นอาหารไทยสุขภาพ (นิยามว่าคืออาหารที่ใช้เครื่องปรุงไทยได้ทุกชนิดเปลี่ยนแต่ในส่วนของวัตถุดิบอาหารไม่ให้มีเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย) แทน ดังนั้นในแค้มป์นอกจากจะได้กินแล้วยังจะได้เรียนรู้เรื่องอาหารไทยสุขภาพมากเป็นพิเศษ

3. เพิ่มการมุ่งเน้นการแก้ปัญหาสุขภาพรายคนมากขึ้น ลดจำนวนผู้เข้าแค้มป์เหลือ 12 คน (จาก RDBY1 ที่เคยรับ 30 คน ค่อยๆลดเรื่อยมาจนเหลือแค่ 17 คนใน RDBY29 แต่ใน RDBY30 นี้จะลดเหลือแค่ 12 คน) เพื่อให้หมอสันต์มีเวลาตรวจประเมินผู้ป่วยด้วยตัวหมอสันต์เองเป็นรายคนไปทีละคนอย่างละเอียดและวางแผนพลิกผันโรคของแต่ละคนก่อนที่จะเรียนความรู้และฝึกทักษะจำเป็นในแค้มป์ร่วมกันเป็นกลุ่ม

ความเป็นมาของ RDBY

มันเริ่มจากตัวผมเองเคยป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ความที่อยากหนีจากแนวทางการรักษาแบบโรงพยาบาล (กินยา สวนหัวใจ บอลลูน ผ่าตัดบายพาส) จึงทบทวนงานวิจัยเพื่อหาทางออกอื่นและได้พบว่าการจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคโดยตัวผู้ป่วยเอง ทั้งในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ทำให้โรคดีขึ้นกว่าการรักษาในโรงพยาบาลเสียอีก จึงลงมือทำกับตัวเอง เมื่อเห็นว่าได้ผลดีจนสามารถพลิกผันโรคให้หายจากเจ็บหน้าอกและเลิกกินยาความดันยาไขมันได้หมด จึงตัดสินใจเลิกอาชีพหมอผ่าตัดหัวใจเปลี่ยนอาชีพมาเป็นหมอส่งเสริมสุขภาพ แต่เมื่อได้นั่งตรวจและสอนคนไข้ทีละคนอยู่ที่โรงพยาบาลก็พบว่ามันใช้เวลามากและช่วยคนไข้ได้เป็นจำนวนน้อย และวิธีนั่งตรวจมันยังแก้ปัญหาสำคัญที่คนไข้ต้องการไม่ได้ นั่นคือการขาดทักษะปฏิบัติการ ผมจึงเปลี่ยนแนวทางมาให้ความรู้กับคนป่วยคราวละหลายๆคน ในรูปแบบแค้มป์กินนอนเพื่อเรียนรู้ทักษะในการป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตัวเอง (RDBY) ทำไปแล้ว 29 รุ่น ทดลองมาแล้วหลายรูปแบบ ครั้งนี้ก็เป็นการทดลองในอีกรูปแบบหนึ่ง คือเป็นการเปิดคลินิกตรวจรักษาโรคเป็นรายคนแล้วสอนความรู้และทักษะประกอบเป็นรายกลุ่ม

ภาพใหญ่ของ RDBY-30

  1. ใช้เวลามากินมานอนที่เวลเนสวีแคร์ 4 วัน 3 คืน
  2. มาเข้าแค้มป์ครั้งเดียว ติดตามผลต่อผ่านทางโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ท
  3. แยกลงทะเบียนระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแล โดยผู้ดูแลจะได้ที่พัก กิน นอน เรียน ทำกิจกรรมเช่นเดียวกับผู้ป่วย แต่จะไม่ได้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและประเมินปัญหาสุขภาพรายคน และจะไม่มีคำสรุปสุขภาพของแพทย์ให้
  4. หลักสูตรนี้เป็นการใช้วิธีการแพทย์แผนปัจจุบัน (modern medicine) ในรูปแบบการแพทย์แบบอิงหลักฐาน (evidence based medicine) ที่มองปัญหาสุขภาพแบบองค์รวม (holistic approach) โดยมีแพทย์เป็นผู้กำกับดูแล (medically directed) โดยเน้นส่วนที่ผู้ป่วยจะทำโดยตัวเองได้ (self management) เช่นอาหาร การใช้ชีวิต การจัดการยาด้วยตัวเอง เป็นต้น
  5. ในกรณีที่ผู้สมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้มีแพทย์เฉพาะทางเจ้าประจำอยู่แล้ว ป่วยไม่ต้องเลิกการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลกันมาแต่เดิม เพราะแพทย์ประจำตัวของท่านที่เวลเนสวีแคร์จะทำหน้าที่เป็นแพทย์ประจำครอบครัว (family physician) ของท่านและเป็นพี่เลี้ยงให้ท่านดูแลตัวเองให้เป็น ส่วนการปรึกษาและใช้บริการของแพทย์เฉพาะทางเฉพาะโรคที่ทำมาแต่เดิมนั้นก็ยังทำต่อไปเหมือนเดิม
  6. ผู้สมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้ไม่จำเป็นต้องยกเลิกยาหรือการรักษาที่ตนเองได้มาแต่เดิมในขณะที่เริ่มหันมาใช้วิธีดูแลตนเอง เพราะการรักษาโรคตามโปรแกรมนี้ใช้หลักวิชาการแพทย์แผนปัจจุบันเช่นเดียวกันกับการรักษาในโรงพยาบาล เพียงแต่มุ่งโฟกัสที่การเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยในเรื่องการกินการออกกำลังกายและการใช้ชีวิตจนถึงระดับที่ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้ด้วยตนเอง จึงสามารถทำคู่ขนานไปกับการรักษาในโรงพยาบาลได้ เมื่อผู้ป่วยดูแลตนเองได้ดีขึ้นแล้ว ตัวชี้วัดสุขภาพต่างๆจะค่อยๆบ่งชี้ว่าความจำเป็นที่จะต้องพึ่งการรักษาด้วยยาในโรงพยาบาลจะค่อยๆลดลงไปเองโดยอัตโนมัติจนสามารถเลิกยาได้เองในที่สุด
  7. ในกรณีที่เป็นผู้ทุพลภาพหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ซึ่งตามปกติต้องมีผู้ดูแลประจำตัวอยู่แล้ว ต้องนำผู้ดูแลมาด้วย โดยผู้ดูแลต้องลงทะเบียนเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้นอกจากอาหารและที่พักแล้ว ผู้ดูแลยังสามารถเข้าร่วมเรียนรู้และฝึกทักษะต่างๆเพื่อประโยชน์ในการติดตามดูแลผู้ป่วย แต่ผู้ดูแลจะไม่ได้พบแพทย์เพื่อตรวจประเมินปัญหาสุขภาพของตนเอง และจะไม่มีบทสรุปสุขภาพของแพทย์ในแดชบอร์ด ในกรณีที่ประสงค์จะได้รับการตรวจสุขภาพและประเมินปัญหาโดยแพทย์ด้วย ผู้ดูแลจะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยอีกคนหนึ่งแยกจากตัวผู้ป่วยที่ตนดูแล เพื่อให้ได้คิวเวลาที่จะเข้าพบแพทย์ซึ่งจำกัดสิทธิ์ไว้เฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น
  8. เนื้อหาแยกเป็นสองส่วน คือ

ส่วนที่ 1 เจาะลึกลงไปในปัญหาผู้ป่วยเป็นรายคน ทีละคน โดยหมอสันต์เป็นผู้ตรวจประเมินเอง ตั้งแต่การประเมินสถานะและความรุนแรงของโรคจากผลการตรวจเลือด ตรวจเอ็คโค วิ่งสายพาน ตรวจหัวใจด้วยคอมพิวเตอร์ (CTA) ผลการสวนหัวใจ ตรวจพิเศษของอวัยวะต่างๆทั้ง CT, MRI และตรวจร่างกาย แล้วจัดทำแผนการรักษารายคน การตัดสินใจว่าจะใช้วิธีรุกล้ำ (invasive treatment เช่นบอลลูน บายพาส) หรือจะไม่ใช้ เจาะลึกการลด ละ เลิก ยา การฟื้นฟูหัวใจ การฟื้นฟูสมอง การดูแลตัวเองในทิศทางที่มุ่งให้โรคหาย สำหรับแต่ละคน ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ให้ลด ละ เลิก ยาได้ก็จะจัดทำแผนการเลิกยาและเริ่มทำตามแผนตั้งแต่ในแค้มป์เลยแล้วเอาไปทำต่อที่บ้านเอง

ส่วนที่ 2 เจาะลึกเฉพาะโรคเรื้อรังทั้ง 8 โรค (อัมพาต หัวใจ ความดัน เบาหวาน ไขมันสูง อ้วน โรคไตเรื้อรัง โรคสมองเสื่อม) นับตั้งแต่ (1) กลไกร่วมของการเกิดโรค อันได้แก่กลไกการอักเสบของหลอดเลือด กลไกจุลินทรีย์ในลำไส้ กลไกการเผาผลาญของเซลล์ การเสียดุลยภาพของระบบประสาทอัตโนมัติ เป็นต้น (2) ปัจจัยเสี่ยง (3) อาการวิทยา (4) การวินิจฉัย (5) การรักษา รวมทั้งวิธีลดละเลิกยา

ส่วนที่ 3. เจาะลึกการใช้ประโยชน์จากอาหารไทยสุขภาพมารักษาโรคเรื้อรัง โดยใช้ข้อสรุปเบื้องต้นของงานวิจัยอาหารไทยสุขภาพ ทั้งการเรียนรู้แง่โภชนะบำบัดของอาหารไทยสุขภาพ และการฝึกปฏิบัติทำอาหารไทยสุขภาพด้วยตนเองอย่างง่าย

แค้มป์ RDBY30 เหมาะสำหรับใครบ้าง

แค้มป์ RDBY27 เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่วงการแพทย์ยังไม่สามารถรักษาให้หาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

(1) โรคหลอดเลือดหัวใจ

(2) โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต)

(3) โรคความดันเลือดสูง

(4) โรคเบาหวาน

(5) โรคไขมันในเลือดสูง

(6) โรคอ้วน

(7) โรคไตเรื้อรัง

(8) โรคสมองเสื่อม

หลักสูตร (Course Syllabus) 

     1. วัตถุประสงค์

1.1 วัตถุประสงค์ในด้านความรู้
คาดหวังให้ผู้ป่วยรู้สิ่งต่อไปนี้
1.1.1 รู้กลไกพื้นฐานร่วมของโรคเรื้อรัง (1) กลไกการอักเสบของหลอดเลือด (2) กลไกจุลินทรีย์ในลำไส้ (3) กลไกการเผาผลาญของเซลล์ (4) กลไกการเสียดุลยภาพของระบบประสาทอัตโนมัติ เป็นต้น

1.1.2 รู้ปัจจัยเสี่ยงของโรคเรื้อรังแต่ละโรค

1.1.3 รู้วิธีการวินิจฉัยโรคเรื้อรังแต่ละโรคของแพทย์ และสามารถแปลผลการตรวจ เช่น EST, Echo, CAC, CTA, CAG, CT/MRI brain เป็นต้น

1.1.4 รู้แนวทางการรักษาในส่วนของแพทย์

1.1.5 รู้วิธีจัดการโรคด้วยตนเองในส่วนของตัวผู้ป่วย (1) ในแง่ของโภชนาการ (2) ในแง่ของการออกกำลังกาย (3) ในแง่ของการจัดการความเครียด (4) ในแง่ของการมีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบตัว

1.1.6 รู้ทางเลือกวิธีรักษาทุกวิธี และรู้ประโยชน์และความเสี่ยงของแต่ละทางเลือกอย่างละเอียด
1.1.7 รู้จักยาทุกตัวที่ตนเองได้รับ ทั้งชื่อ ขนาด วิธีกิน กลุ่มยา ฤทธิ์ยา และผลข้างเคียงของยา

1.1.8 รู้จักอาหารไทยสุขภาพที่เป็นผลจากการวิจัยอาหารไทยสุขภาพ

1.1.9 รู้วิธีจัดชั้นและประเมินหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่แพร่หลายในอินเตอร์เน็ทว่าอันไหนเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้ระดับมากหรือระดับน้อย

1.1.10 รู้วิธีใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้ป่วยบนอินเตอร์เน็ทในการติดตามดูแลสุขภาพของตนเอง
1.1.11 รู้ศักยภาพของตนเองว่าสามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองบ้างเพื่อให้ตนเองหายจากโรค
1.2. วัตถุประสงค์ในด้านทักษะ
คาดหวังให้ผู้ป่วยสามารถทำสิ่งต่อไปนี้ด้วยตนเอง
1.2.1 บริหารจัดการโรคของตนเองได้โดยใช้ตัวชี้วัดพื้นฐาน 8 ตัว (1) น้ำหนัก (2) ความดันเลือด (3) ไขมันในลือด (4) น้ำตาลในเลือด (5) ปริมาณผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาออกกำลังกายต่อสัปดาห์ (7) การสูบบุหรี่ (8) การนอนหลับ
1.2.2 บริหารยาของตนเองได้ สามารถลดหรือเพิ่มยาของตนเองตามตัวชี้วัดและอาการที่เกี่ยวข้องได้

1.2.3 เลือกอาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปในตลาดที่เป็นอาหารพืชแบบไม่สกัดไม่ขัดสีและอาหาร prebiotic, probiotic ได้
1.2.4 ทำอาหารไทยสุขภาพกินเองที่บ้านได้ เช่น ผัดทอดอาหารโดยใช้น้ำหรือใช้ลมร้อนแทนน้ำมันได้ อบถั่วและนัทไว้เป็นอาหารว่างเองได้ ทำเครื่องดื่มจากผักผลไม้โดยไม่ทิ้งกากด้วยตนเองได้
1.2.5 ประเมินสมรรถนะร่างกายของตนเองด้วยการสังเกตอัตราการหายใจ การนับชีพจรจากเครื่องช่วยนับ และการทำ One milk walk test ให้ตัวเองได้
1.2.6 ออกกำลังกายแบบแอโรบิกได้ด้วยตนเองได้
1.2.7 ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยใช้ท่ากายบริหาร ดัมเบล สายยืด และกระบอง ได้ด้วยตนเอง
1.2.8 ออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัวได้ด้วยตนเอง
1.2.9 สามารถกำกับดูแลและแก้ไขท่าร่าง (posture) ในชีวิตประจำวันของตนเองได้
1.2.10 ผ่อนคลายความเครียดเฉียบพลันด้วยเทคนิคต่างๆ relax breathing ได้
1.2.11 จัดการความเครียดในชีวิตประจำวันด้วยการฝึกวางความคิดผ่านเทคนิคต่างๆเช่น นั่งสมาธิ ไทชิ โยคะ ได้
1.2.12 สามารถเปิดตัวเองออกไปมีชีวิตร่วมกับผู้อื่น มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบตัวได้

1.2.13 สามารถใช้ Wecare App ในการดูแลตนเองต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง

1.3    วัตถุประสงค์ในด้านเจตคติ
คาดหวังให้ผู้ป่วยเกิดเจตคติต่อไปนี้
1.3.1 มีความมั่นใจว่าตนเองสามารถ (empowered) ที่จะดลบันดาลให้โรคของตัวเองหายได้
1.3.2 มีความมุ่งมั่นในพันธะสัญญา (commitment) ที่จะเป็นผู้ดูแลตนเองไม่ให้เป็นภาระแก่คนอื่น
1.3.3 มีความอยาก (motivated) ที่จะมีชีวิตอย่างมีสุขภาพดี มีความสุข

     6. ตารางกิจกรรมขณะอยู่ในแค้มป์ 

วันแรก
09.00 – 16.00     Registration and initial assessment by doctors
1) ลงทะเบียนเข้าแค้มป์
2) เช็คอินเข้าห้องพัก
3) วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง คำนวณดัชนีมวลกาย วัด Body composition ฝึกหัดใส่ข้อมูลตัวชี้วัดเข้าเวชระเบียนส่วนบุคคลทางอินเตอร์เน็ท
4) ผลัดกันเข้าพบนพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ แพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นรายคนตามตารางเวลาที่จัดไว้ (เน้นย้ำเรื่องการพบแพทย์ตรงตามเวลาที่จัดไว้ เนื่องจากมีสมาชิกหลายท่าน)
ท่านสามารถพักผ่อนได้ตามอัธยาศัย ทางศูนย์สุขภาพ Wellness We Care Centre (WWC) มีการจัดเตรียมห้องประชุม เพื่อฉายสื่อความรู้ด้านสุขภาพในระหว่างรอคิวพบแพทย์ หากท่านต้องการนวดผ่อนคลาย ที่ WWC มีศูนย์ Herbal Treatment Centre โดยทีมแพทย์แผนไทย สามารถติดต่อขอรายละเอียดได้ที่คลินิกแผนกต้อนรับ หรือทางคลินิกแพทย์แผนไทยโดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
15.30 – 16.00     Tea break พักดื่มน้ำชากาแฟ

16.00 – 16.30     แนะนำแคมป์สุขภาพโรคหลอดเลือดหัวใจ แนะนำการติดตั้งแอพพลิเคชั่นการติดตามตัวชี้วัดสุขภาพ                            
16.30-17.10น กิจกรรมสันทนาการ : Line dance การเต้นไลน์แด๊นซ์เพื่อฝึกกล้ามเนื้อ การทรงตัว และระบบประสาท
17.10 – 19.00     cooking demonstration สาธิตสอนแสดงวิธีทำอาหารแบบพืชเป็นหลัก รูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่สกัดไม่ขัดสี ไขมันต่ำ (plant-based, whole food, low fat diet; PBWF) และรับประทานอาหารเย็น
วันที่สอง
06.45 – 7.00       BP measurement วัดความดันโลหิตตอนเช้า
(คุณโอ๋และผู้ช่วย)
07.00 – 08.00     Stretching
exercise การออกกำลังกายแบบยืดเหยียดกล้ามเนื้อ(15 นาที)
และการทดสอบพื้นฐานร่างกาย

(1) 1 minute sit-to-stand test ลุกนั่งภายใน 1 นาที (3 นาที)
(2) time up and go test การลุกเดินและวนกลับ ( 7 นาที)

(3) six-minute walk test ทดสอบสมรรถนะร่างกายด้วยวิธีเดิน 6 นาที ( 20 นาที)
08.00 – 9.30       อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว
9.30 – 10.30       เรียนรู้การจัดการโรคเรื้อรังที่สมาชิกเป็น (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)
10.30 – 10.45     Tea break ดื่มน้ำชากาแฟ
10.45 – 12.00     เรียนรู้การจัดการโรคเรื้อรังที่สมาชิกเป็น (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)

12.00 – 14.00     รับประทานอาหารกลางวันและเวลาส่วนตัว

14.00 – 17.00     เรียนรู้การจัดการโรคเรื้อรังที่สมาชิกเป็น (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)

วันที่สาม
06.45 – 7.00       BP measurement วัดความดันโลหิตตอนเช้า (คุณโอ๋และผู้ช่วย)
7.00 – 8.00         Stress Management การจัดการความเครียด (โยคะ สมาธิ ไทชิ) (คุณออย / นพ.สันต์)
08.00 – 10.00     อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว
10.00 – 11.00     Lecture: Pathophysiology of chronic diseases กลไกการเกิดโรคเรื้อรัง (1) กลไกการอักเสบของหลอดเลือด (2) กลไกจุลินทรีย์ในลำไส้ (3) กลไกการเผาผลาญของเซลล์ (4) กลไกการเสียดุลยภาพของระบบประสาทอัตโนมัติ (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)

11.00 -12.00 Lecture: Ischemic heart disease โรคหัวใจขาดเลือด (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์) (1) กลไกพื้นฐานของโรคหัวใจขาดเลือด (2) อาการวิทยาของหัวใจขาดเลือด แบบด่วน และแบบไม่ด่วน (3) การแปลผลตรวจพิเศษทางด้านหัวใจ / EST / Echo /CAC (แคลเซียมสะกอร์) / CTA / CAG (สวนหัวใจ) (4) งานวิจัยเปรียบเทียบการรักษาโรคหัวใจด้วยวิธีรุกล้ำและไม่รุกล้ำ (5) งานวิจัยการทำให้โรคหัวใจถอยกลับด้วยอาหารและการใช้ชีวิต

14.00 – 15.00 Dyslipidemia, Obesity โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูงและโรคอ้วน (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์) (1) ชนิดของไขมันในเลือด ( 2) ไขมันเลว (LDL) ชนิดอนุภาคใหญ่และชนิดอนุภาคเล็ก (3) กลไกการเกิดหลอดเลือดอักเสบตามหลังไขมันในเลือดสูง (4) กลไกการเกิดโรคอ้วน (5) กลไกการดื้อต่ออินสุลิน (6) มาตรฐานระดับไขมันในเลือด (7) ยาลดไขมันในเลือดทุกกลุ่ม กลไกการออกฤทธิ์ และผลข้างเคียง (8) วิธีบริหารยาลดไขมันในเลือด (รวมถึงการลดและเลิกยา) ด้วยตนเอง
12.00 – 14.00  รับประทานอาหารกลางวันและเวลาส่วนตัว
14.00 – 15.00     Lecture: Lecture : Hypertension โรคความดันเลือดสูง (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์) (1) กลไกการเกิดความดันเลือดสูง (2) พยาธิวิทยาของโรคความดันเลือดสูง (3) งานวิจัยการรักษาความดันเลือดสูงโดยไม่ใช้ยา (4) ชนิดของยารักษาความดันเลือดสูง กลไกการออกฤทธิ์ และผลข้างเคียง (5) การบริหารยาลดความดันรวมถึงการลดหรือเลิกยาลดความดันด้วยด้วยตนเอง (6) งานวิจัยผลของอาหารต่อโรคไตเรื้อรัง

15.00 – 15.30 Workshop Overview of the Healthy Thai Food for reversing chronic disease บรรยายควบสาธิตสอนแสดงเรื่องอาหารไทยสุขภาพในการรักษาโรคเรื้อรัง
15.30 – 16.00     Tea break ดื่มน้ำชากาแฟ
16.00 – 17.00     strengthening exercise ฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
17.00 – 19.00     cooking demonstration สาธิตสอนแสดงวิธีทำอาหารแบบพืชเป็นหลัก รูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่สกัดไม่ขัดสี ไขมันต่ำ (plant-based, whole food, low fat diet; PBWF) และรับประทานอาหารเย็น

วันที่สี่
06.45 – 7.00       BP measurement วัดความดันโลหิตตอนเช้า (คุณโอ๋และผู้ช่วย)
07.00 – 08.30     Balance exercise การออกกำลังกายเสริมการทรงตัว / Aerobic exercise การออกกำลังกายแบบ high intensity interval training – HIIT

08.30 – 10.00     อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว
10.00 – 10.30     Lecture : Diabetes โรคเบาหวาน / กลไกการเกิดและการดำเนินของโรค / ผลวิจัยการใช้อาหารรักษาโรคเบาหวาน / ขั้นตอนปฏิบัติการใช้อาหารรักษาเบาหวาน / การลด หรือเลิก ยาเบาหวาน
10.30-12.00        Q&A ตอบคำถามเจาะลึกเรื่องการจัดการโรครายคน
(นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ และนพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)
12.00 เป็นต้นไป    ปิดแคมป์
รับประทานอาหารกลางวันและเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ
 
**** ตารางกิจกรรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

การเตรียมรับภาวะฉุกเฉินขณะเข้าแค้มป์

ผู้ป่วยที่มาเข้าโปรแกรมนี้ส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยหนัก บ้างทำผ่าตัดบายพาสมาแล้ว บ้างทำบอลลูนมาแล้วคนละครั้งสองครั้ง บ้างมีหัวใจล้มเหลวแค่เดินสองสามก้าวก็หอบหรือเจ็บหน้าอกแล้ว บ้างรอเปลี่ยนหัวใจอยู่ บ้างเพิ่งเป็นอัมพาตมา ความเสี่ยงที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันหรืออัมพาตเฉียบพลันมีอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งขณะนั่งหรือนอนอยู่เฉยๆ ความเสี่ยงนี้ผู้ป่วยทุกคนต้องยอมรับว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ตามโรคของตัวเอง แต่ตัวหมอสันต์เองซึ่งเป็นหมอผ่าตัดหัวใจมาก่อนก็ไม่ประมาทในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย ได้เตรียมการด้านความปลอดภัยขณะเข้าแค้มป์ทุกครั้งรวมไปถึงการมีพยาบาลฉุกเฉินพร้อมอยู่ในศูนย์ตลอดเวลา มีอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินได้ รวมทั้งขีดความสามารถที่จะเปิดหลอดเลือดให้น้ำเกลือหรือยาทางหลอดเลือดดำได้ทันที ขีดความสามารถที่จะใส่ท่อช่วยหายใจและช่วยการหายใจในภาวะฉุกเฉิน นอกจากนั้นยังมีขีดความสามารถที่จะช็อกไฟฟ้าหัวใจในกรณีฉุกเฉิน การประสานงานกับระบบรถฉุกเฉินและโรงพยาบาลใกล้เคียง และการมีพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติอยู่ประจำในแค้มป์ 24 ชั่วโมง มีแพทย์ที่ตามให้เข้ามาดูแลผู้ป่วยได้ในเวลา 5-10 นาทีตลอดการฝึกอบรม

ทั้งนี้อย่าได้เข้าใจผิดว่าการจะปรับวิถีชีวิตเพื่อพลิกผันโรคให้ตัวเองนั้นเป็นเรื่องอันตราย ความเป็นจริงไม่ใช่เลย การปรับการใช้ชีวิตทั้งอาหารและการออกกำลังกายเพื่อดูแลตัวเองให้ได้นั้นเป็นกลไกรักษาโรคตามธรรมชาติ มีอันตรายน้อยกว่าการรักษาด้วยยา บอลลูน หรือผ่าตัดในโรงพยาบาลอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่ทางแค้มป์เตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยในแค้มป์ให้มากเข้าไว้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยหนักซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเข้าแค้มป์ มาเข้าแค้มป์ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ปลอดภัยเท่าอยู่ในบ้านตัวเองเท่านั้น

ระยะก่อนเข้าแค้มป์ (Pre-camping preparation) 

ผู้ป่วยทุกท่านที่ได้รับเข้าโปรแกรมแล้ว จะต้องจัดส่งข้อมูลโรคของตนมาให้แพทย์วิเคราะห์ล่วงหน้าก่อนวันมาแค้มป์ โดยส่งข้อมูลมาทางคุณสายชล (โอ๋) พยาบาลประจำแค้มป์ ที่อีเมล totenmophph@gmail.com โดยอย่างน้อยต้องส่งข้อมูลพื้นฐานซึ่งจำเป็นต้องใช้ต่อไปนี้มา คือ

(1) ชื่อ นามสกุล
(2) วันเดือนปีเกิด
(3) เพศ
(4) เบอร์โทรศัพท์มือถือ
(5) อีเมลแอดเดรส
(6) เลขบัตรประจำตัวประชาชน
(7) ส่วนสูง
(8) น้ำหนัก
(9) ความดันเลือด
(10) น้ำตาลในเลือด (FBS) หรือน้ำตาลสะสม (HbA1C)
(11) ไขมันเลว (LDL)
(12) ตัวชี้วัดการทำงานของไต (eGFR หรือ Cr)
(13) เอ็นไซม์แสดงการทำงานของตับ (SGPT)
(14) การวินิจฉัย (ชื่อ) โรคทุกโรคที่รักษาอยู่ในปัจจบัน
(15) อาการป่วยทุกอาการที่มีในปัจจุบัน
(16) ยาทุกตัวที่กินอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งขนาด และวิธีกิน
(17) ผลการตรวจจำเพาะต่างๆ ถ้ามี เช่น ผลการตรวจเลือดอื่นๆ ภาพเอ็กซเรย์ปอด ผลตรวจสมรรถนะหัวใจ (EST) คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ผลการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยคอมพิวเตอร์ (CTA) ผลการตรวจสวนหัวใจ (CAG) ผลการตรวจผลการตรวจ CT สมอง โดยกรณีเป็นภาพหากส่งเป็นไฟล์ดิจิตอลได้ก็จะเป็นพระคุณ แต่หากส่งไม่ได้จะเอาโทรศัพท์ถ่ายแล้วส่งไฟล์รูปมาก็ได้ กรณีเป็นใบรายงานผลให้เอาโทรศัพท์ถ่ายใบรายงานแล้วส่งไฟล์มาก็ได้
(18) คำบอกเล่าลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน เน้นที่
– การบรรยายลักษณะอาหารที่กินแต่ละมื้อทุกมื้อ
– การออกกำลังกายที่ทำในแต่ละวัน
– วิธีจัดการความเครียดที่ใช้อยู่ประจำ
– ความกังวล (concern) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ หากมีอยู่ในใจก็ให้แจ้งมาให้หมอสันต์ทราบด้วย

สถานที่เรียน

Wellness we care center เวลเนสวีแคร์เซ็นตเตอร์ (มวกเหล็ก-เขาใหญ่)

วันเวลาสำหรับแค้มป์ RDBY-30

วันที่ 7-10 กพ. 67

จำนวนที่รับเข้าแค้มป์ RDBY-30

รับจำนวนจำกัด 12 คน

ค่าลงทะเบียน

25,500 บาทสำหรับผู้เข้าแค้มป์

16,500 บาทสำหรับผู้ติดตาม (พักห้องเดียวกันกับผู้เข้าแค้มป์)

   ราคานี้ไม่ครอบคลุมถึงค่าเดินทางไปและกลับระหว่างบ้านของท่านกับเวลเนสวีแคร์ (ผู้ป่วยไปเองกลับเอง) ไม่ครอบคลุมค่ายาและค่ารักษาพยาบาลส่วนบุคคลของแต่ละท่าน ไม่ครอบคลุมบริการพิเศษที่ท่านเลือกใช้เช่นการนวดบำบัดต่างๆ

กรณีเป็นผู้ติดตาม ผู้ดูแลหรือ caregiver จะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ติดตาม ราคานี้รวมค่ากิน ค่าอยู่ ค่าที่พักห้องเดียวกับผู้ป่วยของตน ค่าเข้าร่วมเรียนและร่วมทำกิจกรรมทุกอย่างในแค้มป์ แต่ไม่ได้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายและไม่ได้ร้บการประเมินปัญหาสุขภาพของตนโดยแพทย์ และไม่มีรายงานสรุปปัญหาสุขภาพโดยแพทย์ในเฮลท์แดชบอร์ด

ในทุกกรณีเมื่อได้ที่นั่งแล้ว จะต้องโอนเงินค่าลงทะเบียนเข้าบัญชี ธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรปราการ ชื่อบัญชี  บริษัท เมก้า วี แคร์ จำกัด เลขที่บัญชี 007-368-5478 ภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้สำรองที่เรียนแล้ว หากพ้น 24 ชั่วโมงไปแล้วถือว่าสละสิทธิ์ ที่นั่งที่สำรองไว้ให้ท่านจะถูกคอมพิวเตอร์ตัดไปจัดสรรไปให้ผู้อื่นโดยอัตโนม้ติ

การสอบถามข้อมูลและลงทะเบียน

สอบถามข้อมูลหรือลงทะเบียนได้ที่ เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ โทร : 063-6394003 หรือ Line ID : @wellnesswecare หรือ คลิก https://lin.ee/6JvCBsf CBsf 

[อ่านต่อ...]

27 มกราคม 2567

กินอาหารแบบ Plant-based จะทำให้คะแนนแคลเซียมสกอร์ (CAC) 1100 ลดลงได้ไหม

(ภาพวันนี้ / update โปรไฟล์ ณ 71 ขวบปี)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ

ผมเป็นคนแข็งแรงทานผักสดเป็นมื้อเช้า เคย ทำ Keto ลด น้ำหนักไป ประมาณ 10 กิโลกรัม ออกกำลังการวิ่ง 5-10 กม.อาทิตย์ละประมาณ 4 วัน..แต่ 2 ปีสุดท้ายใช้วิธีเดินเร็ว pacing ประมาณ 10 ครั้งละ 5-10  กม. ไม่มีอาการหัวใจใดๆ แต่มีเพื่อนแนะให้ไปตรวจ Calcium Score ผมไปตรวจที่ … ปรกฎว่า สูงถึง 1100 หมอนัดฉีดสี ทำบอลลูน ผมควรทำไหมครับ และถ้าผมกิน plant base เข้มงวด Calcium Score จะลดลงไหม

……………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าไม่มีอาการแต่ตรวจแคลเซียมสกอร์ (CAC) พบได้คะแนนสูงถึง 1100 แพทย์นัดฉีดสีทำบอลลูนควรทำไหม ตอบว่า.. ไม่ควรทำครับ

การตรวจพบแคลเซียมสกอร์ในคนที่ไม่มีอาการหัวใจขาดเลือด ไม่ว่าจะได้คะแนนสูงเท่าไหร่ ไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ให้ทำการรักษาโรคหัวใจด้วยวิธีรุกล้ำ (บอลลูนหรือบายพาส) เพราะการรักษาด้วยวิธีรุกล้ำมีจุดประสงค์สองอย่างเท่านั้น คือ (1) เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต (2) เพื่อเพิ่มความยืนยาวของชีวิต ดังนั้นสำหรับคนที่คะแนนแคลเซียมสกอร์แม้จะสูงมากแต่ไม่มีอาการอะไร การรักษาโรคหัวใจด้วยวิธีรุกล้ำไม่มีประโยชน์อะไรเลยเพราะ

ในแง่ของคุณภาพชีวิต อย่างไรเสียก็ไปเพิ่มคุณภาพชีวิตให้เขาไม่ได้ เพราะคุณภาพชีวิตเขาเต็ม 100 อยู่แล้วคือไม่มีอาการเลย (asymptomatic) จะไปเพิ่มให้สูงขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร

ในแง่ความยืนยาวของชีวิต แม้จะมีหลักฐานว่าคนคะแนนแคลเซี่ยมสกอร์สูงมีความเสี่ยงเกิดจุดจบที่เลวร้ายจากโรคมากกว่าคนแคลเซี่ยมสกอร์ต่ำ แต่นั่นเป็นคนละเรื่องกันประโยชน์ที่จะได้จากการจับเขาไปทำการรักษาแบบรุกล้ำเพื่อ “ป้องกัน” จุดจบที่เลวร้ายดังกล่าว เพราะไม่เคยมีงานวิจัยแม้แต่ชิ้นเดียวที่จะบ่งชี้ว่าการจับคนคะแนนแคลเซียมสกอร์สูงไปทำการรักษาแบบรุกล้ำจะทำให้ความยืนยาวของชีวิตเขาเพิ่มขึ้น หรือทำให้อัตราตายจากโรคนี้ของเขาลดลง แต่อย่างใด

สรุปว่าการจับคนได้คะแนนแคลเซียมสกอร์สูงไปทำการรักษาหัวแบบรุกล้ำจะไม่ได้ประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่อง เมื่อใดก็ตามที่ท่านไม่มีอาการเจ็บหน้าอกเวลาออกแรงหรืออาการหัวใจล้มเหลวใดๆเลย แต่เข้าไปตรวจเช็คอัพตามรอบปกติ แล้วแพทย์บอกว่าตรวจพบโน่นนี่นั่นแล้วแพทย์ชวนให้ตรวจสวนหัวใจเพื่อหาข้อบ่งชี้ทำบอลลูนหรือบายพาส ไม่ว่าจะอ้างว่าคลื่นหัวใจผิดปกติ หรืออ้างผลการตรวจวิ่งสายพานว่ากำกวมไม่ชัด หรืออ้างว่าคะแนนแคลเซียมสกอร์สูงกี่ร้อยหรือเป็นพันก็ตาม คำแนะนำอย่างเป็นทางการของหมอสันต์ก็คือให้อยู่ห่างๆหมอที่แนะนำแบบนั้นไว้จะได้ไม่เจ็บตัวโดยได้ประโยชน์ไม่คุ้มความเสี่ยงตายและปัญหาที่จะตามมาในระยะยาวจากการต้องใช้ยามากเกินไปครับ

กรณีที่สมควรตรวจสวนหัวใจมีสองกรณีเท่านั้น คือ (1) เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแบบเจ็บหน้าอกต่อเนื่องจนถูกหามเข้ารพ.(2) ออกกำลังกายแล้วเจ็บแน่นหน้าอกรุนแรงบ่อยมากจนรบกวนคุณภาพชีวิต โดยที่ได้พยายามจัดการปัจจัยเสี่ยงต่างๆด้วยตัวเองแล้วคุณภาพชีวิตก็ยังไม่ดีขึ้น

นอกจากสองกรณีนี้แล้ว “อย่า” ตรวจสวนหัวใจโดยไม่จำเป็น เพราะนอกจากการตรวจสวนหัวใจมีความเสี่ยงถึงระดับเสียชีวิต (0.01%) แล้วยังเป็นโอกาสให้แพทย์ชักนำให้รับการรักษาโดยการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดทั้งๆท่านอาจจะไม่จำเป็นต้องรับการรักษาเช่นนั้น คำแนะนำให้รับการรักษาแบบรุกล้ำมักจะมาขณะที่ท่านตั้งหลักไม่ทันเพราะส่วนใหญ่จะถูกบีบให้ตัดสินใจขณะตัวเองนอนอยู่บนเขียงเรียบร้อยแล้ว

2.. ถามว่าคะแนนแคลเซียมสกอร์สูงหากกินอาหารแบบ plant based จะทำให้คะแนนแคลเซียมสกอร์ลดลงได้ไหม ตอบว่าไม่เกี่ยวกันเลยครับ

มองในแง่ของข้อมูลหลักฐานในคนจริงๆ ยังไม่เคยมีงานวิจัยแสดงการเปลี่ยนแปลงของแคลเซียมสกอร์ในผู้ป่วยกินอาหารแบบกินแต่พืชเป็นหลักมาตอบคำถามนี้ได้

มองในแง่ของกลไกการเกิดแคลเซียมพอกผนังหลอดเลือด แม้จะสามารถลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้สำเร็จแต่คะแนนแคลเซียมสกอร์ก็ไม่ควรจะลดอย่างน้อยในระยะสั้น เพราะการเกิดแคลเซียมแทรกเข้า้ไปในผนังหลอดเลือดเกิดขึ้นในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ “การหาย (healing)” ของแผลอักเสบที่หลอดเลือด (คือยิ่งแผลหายยิ่งมีแคลเซียมแทรกมาก) ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ “การเกิด” แผลอักเสบ พูดง่ายๆว่าเมื่อเกิดแคลเซียมแสดงว่ากำลังเกิดการหายของแผลเก่า การยุติปัจจัยเสี่ยงของการเกิดแผลใหม่ได้สำเร็จไม่น่าจะมีผลอะไรต่อการหายของแผลเก่า แต่เป็นไปได้ว่าในระยะยาวคะแนนแคลเซียมสกอร์ไม่ควรจะเพิ่มสูงขึ้นแบบเพิ่มไม่หยุด เพราะไม่มีแผลใหม่ให้แคลเซียมไปแทรกอีกแล้ว

ดังนั้นอย่าใช้แคลเซียมสกอร์เป็นดัชนีวัดความสำเร็จของการจัดการโรค มันไม่เกี่ยวกัน ให้ใช้ดัชนีอื่นที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการก่อโรคโดยตรง เช่น อ้วน ไขมันสูง ความดันสูง สูบบุหรี่ เป็นเบาหวาน มีโฮโมซีสเตอีนคั่ง เป็นต้น

3,, ถามว่า ก็ในเมื่อจะใช้บอกว่าเมื่อไหร่ควรรักษาแบบรุกล้ำก็ไม่ได้ จะใช้ทำนายการหายของโรคก็ไม่ได้ แล้วจะตรวจแคลเซียมสะกอร์ไปทำไม ตอบว่าประโยชน์อย่างเดียวของการตรวจแคลเซียมสกอร์คือใช้เป็นตัวยืนยันการวินิจฉัยว่าได้เกิดโรคที่หลอดเลือดหัวใจแล้ว พูดง่ายๆว่าเอาไว้ขู่คนที่ลำพองว่าตัวเองไม่ป่วยไม่ไข้ไม่มีโรคอะไรจะได้หายลำพองหันมาใส่ใจปรับเปลี่ยนวิธีการกินการใช้ชีวิตเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของโรคเสียทันที อันที่จริงการวินิจฉัยว่าตัวเองเป็นโรคแล้วนี้ไม่ต้องลำบากถึงขั้นไปตรวจแคลเซียมสกอร์ที่โรงพยาบาลหรอก แค่พบว่าตัวเองมีปัจจัยเสี่ยงหลักตัวใดตัวหนึ่งเช่น ความดันสูง ไขมันสูง เป็นเบาหวาน อ้วน สูบบุหรี่ ก็วินิจฉัยตัวเองได้เลยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดแล้วและลงมือจัดการโรคด้วยตัวเองด้วยการจัดการปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นได้เลยทันที เพราะหัวใจของการลดอัตราตายจากโรคหัวใจขาดเลือดคือการเดินหน้าลดปัจจัยเสี่ยงด้วยตัวเองทันที ไม่ใช่การพยายามไปหาหมอเพื่อวินิจฉัยด้วยวิธีโน่นนี่นั่นอย่างไม่รู้จบรู้สิ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

19 มกราคม 2567

คนเป็นโรคไตเรื้อรัง (CKD) ควรหันมาดื่มกาแฟจริงหรือไม่

(ภาพวันนี้ / งิ้วดอกแดงที่หน้าบ้านนกฮูก)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกที่ภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

คุณหมอสันต์คะ

มีหมอท่านหนึ่งมาออกวิดิโอคลิปว่าคนเป็นโรคไตเรื้อรังควรดื่มกาแฟเพราะกาแฟช่วยรักษาโรคไตเรื้อรัง เป็นความจริงเพียงใดคะ สามีเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่สาม (eGFR 52) ปกติเขาไม่ดื่มกาแฟหรือแอลกอฮอล์ เขาควรจะหันมาดื่มกาแฟไหม

ตอบครับ

งานวิจัยกาแฟต่อสุขภาพมีมาแบบต่อเนื่องแยะมาก ผมกะว่ามีไม่น้อยกว่าสามพันเปเปอร์ แต่ความที่การวิจัยทางโภชนาการไม่สามารถสุ่มตัวอย่างผู้ป่วยออกเป็นสองกลุ่มแล้วให้ดื่มกับไม่ดื่มกาแฟเป็นระยะเวลายาวหลายปีได้ ข้อมูลที่วิจัยได้ทุกวันนี้จึงเป็นแค่ข้อมูลการตามดูกลุ่มคนสองกลุ่ม (cohort study) ที่มีนิสัยดื่มหรือไม่ดื่มกาแฟของเขาเองอยู่แล้ว แล้วเอาข้อมูลมาเปรียบเทียบกันโดยไม่มีการสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่ม ซึ่งข้อมูลแบบนี้บอกได้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างของสองอย่าง โดยที่ไม่อาจทราบได้ว่าของสองอย่างนั้นมีความเป็นเหตุเป็นผลต่อกันจริงหรือเป็นเพียงแค่พบร่วมกันเฉยๆโดยไม่เกี่ยวอะไรกันเลย เรื่องกาแฟกับการเป็นโรคไตเรื้อรังนี้ก็เช่นเดียวกัน

เมื่อสองปีก่อน ได้มีการวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสเรื่องนี้ โดยเอาข้อมูลจากงานวิจัยแบบ cohort ที่ทำมาก่อนหน้านี้ 12 งาน มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 505,841 คนมาวิเคราะห์ พบว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างการดื่มกาแฟมาก (วันละสองแก้วขึ้นไป) กับการดื่มกาแฟน้อย (วันละไม่เกินหนึ่งแก้ว) การดื่มกาแฟมากมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคไตเรื้อรังน้อยลง ยิ่งดื่มมากยิ่งสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรังลง และสัมพันธ์กับการเกิดโปรตีนรั่วในปัสสาวะ (albuminuria) น้อยลง และสัมพันธ์กับการจบด้วยการล้างไตน้อยลงด้วย

ถามว่าจากข้อมูลงานวิจัยนี้ คนเป็นโรคไตเรื้อรังที่ยังไม่เคยดื่มกาแฟควรหันมาดื่มกาแฟไหม ตอบว่าเอาแบบที่ชอบก็แล้วกันครับ เพราะข้อมูลแค่นี้ยังไม่หนักแน่นถึงกับว่าเป็นโรคไตเรื้อรังแล้วต้องดื่มกาแฟรักษากัน คุณชอบแบบไหนก็เอาแบบนั้นไปก่อนก็แล้วกัน

ข้อดีอย่างอื่นของกาแฟ

นอกจากเรื่องโรคไตเรื้อรังแล้ว กาแฟ (ที่ไม่นับน้ำตาลและครีม) ยังสัมพันธ์กับด้านดีของสุขภาพอีกหลายด้าน เช่น

1.. ดื่มกาแฟมาก สัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งในปาก หลอดอาหาร ลำคอ เต้านม เยื่อบุโพรงมดลูก ตับ และต่อมลูกหมาก

2.. ดื่มกาแฟ สัมพันธ์กับการที่สมองจะทำงานในระยะสั้นดีขึ้น ทั้งความเร็วในการสนองตอบ ความเร็วในการตัดสินใจเลือก การย้อนระลึกความจำชั่วคราวด้วยวาจา การใช้จินตนาการวิเคราะห์แก้ปัญหาเชิงสามมิติ (visuospatial reasoning)

3.. กาแฟสัมพันธ์กับการเป็นสมองเสื่อมน้อยลง

4.. กาแฟสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานน้อยลง

5.. กาแฟสัมพันธ์กับการเป็นโรคพาร์คินสันน้อยลง

6.. คนดื่มกาแฟมีอายุยืนมากกว่าคนไม่ดื่ม

7.. กาแฟสัมพันธ์กับการเป็นนิ่วในถุงน้ำดีทั้งในผู้ชายและผู้หญิงลดลง

8.. กาแฟสัมพันธ์กับการเป็นโรคเก้าท์น้อยลง

ข้อเสียของกาแฟ

1.      กาแฟเป็นสารเสพย์ติด

2.      กาแฟสัมพันธ์กับการนอนไม่หลับในบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ

4.      กาแฟทำให้กระวนกระวาย โกรธง่าย ในบางคน

5.      กาแฟทำให้หญิงมีครรภ์เพิ่มความเสี่ยงทารกตายระหว่างคลอด

6.      การดื่มกาแฟร่วมกับกินยาแก้ปวดพาราเซ็ตตามอลเพิ่มความเสียหายต่อตับมากขึ้น

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกาแฟ

1.. เข้าใจผิดว่ากาแฟเพิ่มการเกิดกระดูกหัก

2. เข้าใจผิดว่ากาแฟทำให้เป็นโรคความดันสูง (แต่กาแฟเพิ่มความดันได้จริงช่วง 30 นาทีหลังการดื่ม)

3. เข้าใจผิดว่ากาแฟทำให้เป็นโรคที่สัมพันธ์กับการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารสี่โรค คือ (1) โรคกรดไหลย้อนแบบไม่มีหลอดอาหารอักเสบ (NERD) (2) โรคแผลในกระเพาะอาหาร(GU) (3) โรคแผลในลำไส้ส่วนต้น(DU) และ (4) โรคหลอดอาหารอักเสบจากกรดไหลย้อน (RE) แต่งานวิจัยไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างกาแฟกับทั้งสี่โรคนี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Kanbay M, Siriopol D, Copur S, Tapoi L, Benchea L, Kuwabara M, Rossignol P, Ortiz A, Covic A, Afsar B. Effect of Coffee Consumption on Renal Outcome: A Systematic Review and Meta-Analysis of Clinical Studies. J Ren Nutr. 2021 Jan;31(1):5-20. doi: 10.1053/j.jrn.2020.08.004. Epub 2020 Sep 18. PMID: 32958376.
  2. Shimamoto, T., et al., No association of coffee consumption with gastric ulcer, duodenal ulcer, reflux esophagitis, and non–erosive reflux disease: a cross–sectional study of 8,013 healthy subjects in Japan. PLoS One, 2013. 8(6): p. e65996.

[อ่านต่อ...]

18 มกราคม 2567

ทุกประเด็นเกี่ยวกับขนมปังซาวโด (Sourdough Bread)

(ภาพวันนี้ / กวางคู่ในพงไม้)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกที่ภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ

ผมเป็นโรคแพ้กลูเต็น กินแป้งสาลีไม่ได้ จะมีอาการแน่นท้องอืดไม่สบาย เดิมผมชอบกินขนมปัง เดี๋ยวนี้กินไม่ได้เลย มีคนที่เขาเป็นโรคนี้ที่ไปหาหมอเดียวกันเขาบอกว่ากินขนมปังซาวร์โดได้เพราะซาวร์โดไม่มีกลูเต็น และแนะนำให้ผมกินขนมปังซาวร์โดแทนขนมปังธรรมดา ขอคำแนะนำว่าผมควรเสี่ยงทดลองกินไหม

…………………………………………………..

ตอบครับ

ผมขอถือโอกาสนี้คุยเรื่องขนมปังในประเด็นต่างๆที่จำเป็นซะเลย

ประเด็นชนิดและวิธีผลิต การทำขนมปังแยกตามการหมักได้สองแบบ

ขนมปังปกติ ได้จากการเอาแป้งสาลี มาใส่ยีสต์ (ส่วนใหญ่คัดพันธ์และผลิตจากโรงงาน) ซึ่งเป็นราชนิดหนึ่งที่หาซื้อได้ในท้องตลาด คลุกเคล้ากัน (mixing) เป็นก้อนแล้วหมักก้อน (bulk fermentation) เมื่อมันฟูระดับหนึ่งแล้วก็เอามาตัดแบ่ง (dividing) แล้วขึ้นเป็นรูปร่าง (shaping) แล้วปล่อยให้มันฟูขึ้นอีกระดับหนึ่ง (proofing) จากนั้นจึงเอาไปอบในเตาอบร้อน (baking) จนสุกออกมาเป็นขนมปัง ประเด็นสำคัญของการทำขนมปังแบบธรรมดาคือ (1) อาศัยยีสต์เป็นตัวทำให้ขนมปังฟูเพียงอย่างเดียวและ (2) ไม่มีรสเปรี้ยว (3) ใช้เวลาหมักสั้นไม่กี่ชั่วโมงก็จบ

ขนมปังซาวโด ได้จากการเพาะยีสต์ธรรมชาติผสมกับแบคทีเรียธรรมชาติ ซึ่งเรียกว่า starter ด้วยการเติมน้ำเติมแป้งแล้วเลี้ยงไว้ เติมน้ำเติมแป้งแล้วเลี้ยงไว้ ทำอย่างนี้ซ้ำซากหลายวันจนได้ starter ที่มีขนาดประมาณ 20% ของก้อนขนมปังที่จะทำ ซึ่งต้องใช้เวลาเลี้ยงรวมประมาณ 2-10 วันแล้วแต่สไตล์ของคนทำ จากนั้นก็เป็นการคลุกเคล้า starter เข้ากับแป้งสาลีซึ่งมีขั้นตอนละเอียดที่ต้องยืดและม้วน ยืดและม้วน หลายรอบ แล้วจึงหมักก้อน ตัดแบ่ง ขึ้นรูป ปล่อยให้ฟู แล้วอบ ประเด็นสำคัญคือ (1) ใช้ยีสต์ร่วมกับแบคทีเรียเป็นตัวหมัก (2) มีรสเปรี้ยวจากการที่แบคทีเรียกินน้ำตาลแล้วผลิตกรดขึ้นมา (3) มีแบคทีเรียที่มีประโยชน์และโมเลกุลอาหารที่แบคทีเรียผลิตขึ้น ซึ่งไม่มีในขนมปังปกติ

ประเด็นผลต่อสุขภาพ มีสามประเด็นย่อย คือ

(1) แป้งสาลีที่ใช้ ไม่ว่าขนมปังชนิดอะไร หากใช้แป้งขัดขาว ก็มีผลเสียต่อสุขภาพ ตรงที่ทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นเร็วลงเร็วและไม่มีกากซึ่งเป็นสารอาหารที่ร่างกายขาด หากใช้แป้งโฮลวีตก็มีผลดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้พึงเข้าใจว่าขนมปังที่เรียกตัวเองว่าขนมปังโฮลวีตในตลาดมีแป้งโฮลวีตผสมอยู่เพียง 5-20% เท่านั้น ต้องอ่านดูที่ฉลากจึงจะรู้เปอร์เซ็นต์นี้ หากอยากจะกินขนมปังโฮลวีต 100% ในเมืองไทยต้องทำกินเอง เพราะไม่มีใครทำขายเนื่องจากมันฟูช้าไม่ทันกินและมันไม่นุ่มจึงไม่ถูกใจตลาด

อนึ่ง การเลือกวัตถุดิบว่าจะใช้แป้งโฮลวีตหรือแป้งขัดขาวนี้เป็นคนละประเด็นกับการจะทำขนมปังแบบธรรมดาหรือขนมปังซาวโด เพราะขนมปังทั้งสองแบบต่างก็ใช้แป้งได้ทั้งสองแบบ ถ้าใช้แป้งขัดขาวมากก็ไม่ดีต่อสุขภาพในแง่ของการขาดกากและวิตามินไม่ว่าจะเป็นขนมปังแบบไหน

(2) ส่วนผสมเพิ่มเติมก่อผลดีหรือเสียต่อสุขภาพ เช่นหากใส่น้ำตาลมาก ใส่เนยจากนมวัวมาก ใส่สารกันบูด ก็มีผลเสีย ในทางกลับกันหากใส่เมล็ดพืชหรือถั่วงานัทมากก็จะกลับมีผลดีต่อสุขภาพ เป็นต้น

(3) การมีจุลินทรีย์หลากหลาย ขนมปังซาวโดมีทั้งยีสต์และแบคทีเรียที่มีประโยชน์จึงมีโมเลกุลที่เป็นผลผลิตของแบคทีเรียที่หลากหลายและมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าขนมปังธรรมดาที่มีแต่ยีสต์เป็นหลักอย่างเดียว ระยะเวลาที่ใช้หมักก็สำคัญ คือยิ่งหมักนานก็ยิ่งทำให้แบคทีเรียผลิตสารอาหารที่มีประโยชน์ออกมาจากกากได้มากขึ้น เช่นงานวิจัยหนึ่งพบว่าหากหมักแป้งซาวโดโฮลวีตด้วย starter ที่มีเชื้อ P. freudenreichii ร่วมอยู่ด้วย หากหมักไม่ถึงหนึ่งวันจะเกิดวิตามินบี 12 เพียง 40 ng/g แต่หากหมักไปนานถึงสามวันจะมีวิตามินบี.12 เพิ่มขึ้นเป็น 332 ng/g เป็นต้น และมีอีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าหากใช้แป้งโฮลวีต 100% หมักจะได้ระดับวิตามินบี.12 สูงขึ้นกว่าใช้แป้งขัดขาวประมาณ 3 เท่า

อนึ่ง การหมักขนมปังซาวโดให้ได้วิตามินบี.12 นี้ไม่ใช่ว่าขึ้นชื่อว่าเป็นซาวโดแล้วก็จะมีวิตามิน บี 12 เสมอไป ต้องเป็นการหมักโดยมีเชื้อจำเพาะบางชนิดเช่น P. freudenreichii  ร่วมอยู่กับแบคทีเรียผลิตกรดอื่นๆด้วย และมีการควบคุมเวลาหมักให้ได้นานพอ

ประเด็นกลูเต็น

กลูเต็น (gluten) เป็นโปรตีนตัวหนึ่งในข้าวสาลี ข้าวไรน์ ข้าวบาร์เลย์ มีคนจำนวนน้อยมาก (หนึ่งในแสน) เป็นโรคแพ้กลูเต็น โดยร่างกายจะต่อต้านจนเกิดการอักเสบขึ้นที่โน่นที่นี่ มีศูนย์รวมการต่อต้านอยู่ในลำไส้ (enteropathy) มีอาการได้สองแบบ แบบแรกคืออาการเด่นที่ระบบทางเดินอาหารแบบว่าลำไส้อักเสบดูดซึมอาหารได้ไม่ดีจนขาดวิตามินเกลือแร่ต่างๆกลายเป็นโรคขาดอาหารพุงโรท้องมาน อีกแบบหนึ่งมีอาการเด่นอยู่นอกระบบทางเดินอาหารคือมีการอักเสบไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นที่หลอดเลือด ที่ข้อ ที่เอ็น ที่เส้นประสาท การจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้จริงหรือไม่แพทย์ใช้วิธีให้กินแป้งสาลีแล้วตรวจเลือดหาโมเลกุลภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านกลูเต็นชื่อ IgA TTG หากพบว่าสูงขึ้นก็แสดงว่าเป็นโรคนี้จริง

ประเด็นสำคัญคือคนเป็นโรคแพ้กลูเต็นนี้ความจริงแล้วมีจำนวนน้อยมาก หากคำนวณจากอุบัติการณ์สากลหนึ่งต่อแสน เมืองไทยทั้งประเทศก็จะมีคนเป็นโรคนี้อยู่แค่เจ็ดร้อยคน ตัวผมเองเป็นหมอมาจนแก่เคยพบเห็นคนเป็นโรคซิลิแอคเพียงคนเดียว แต่สมัยนี้ไปทางไหนก็มีแต่คนติดป้ายว่าตัวเองเป็นคนแพ้กลูเต็น (29% ของคนอเมริกัน) ซึ่งเกือบทั้งหมดมันเป็นการแพ้ปลอมหรือแพ้ตามสมัยนิยม ไม่ใช่แพ้จริง งานวิจัยเอาผู้ที่บอกว่าตัวเองแพ้กลูเต็นมาแบ่งกลุ่มกินแป้งสาลีกับกินแป้งหลอก พบว่าเกือบทั้งหมดไม่ได้เป็นโรคแพ้กลูเต็นจริงคือกินแป้งหลอกก็มีอาการที่เจ้าตัวเรียกว่าแพ้ขึ้นมาได้ ผมเข้าใจว่าทั้งหมดนี้มันเป็นอิทธิพลของอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องการสร้างตลาดอาหารไร้กลูเต็นขึ้นมาซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดีเสียด้วย

กลับมาเข้าประเด็นที่ว่าขนมปังแบบซาวโดเป็นขนมปังชนิดไม่มีกลูเต็นใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่ครับ เพราะมันทำจากข้าวสาลีอย่างไรมันก็ต้องมีกลูเต็น แต่ว่าเป็นความจริงที่ว่ากลูเต็นนี้ธรรมชาติเดิมของมันเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ (macropolymer) ในกระบวนการหมักแป้งซาวโด ยีสต์และแบคทีเรียจะช่วยกันย่อย (hydrolysis) ให้มันกลายเป็นเศษเสี้ยวโมเลกุลขนาดเล็กลง เล็กลง จนละลายในน้ำได้ ยิ่งมียีสต์และแบคทีเรียที่แข็งแรงและให้เวลาหมักนาน กระบวนการ hydrolysis นี้ยิ่งเกิดขึ้นได้มากจนทำให้คนที่มีอาการแพ้กลูเต็นกินแล้วมีอาการน้อยกว่ากินขนมปังปกติหรือไม่มีอาการแพ้เลยก็เป็นได้ มีงานวิจัยเล็กๆชิ้นหนึ่งทำที่อิตาลีให้คนไข้โรคซิลิแอคกินขนมปังซาวโดที่หมักด้วยเชื้อที่แข็งแรงดีและหมักนานพอ ให้กินวันละ 200 กรัม นานสองเดือน เทียบกับอีกกลุ่มหนึ่งกินขนมปังปกติ พบว่ากลุ่มกินขนมปังปกติมีอาการแพ้รุนแรงจนต้องเลิกกินกลางคันไปหมด แต่กลุ่มที่กินขนมปังซาวโดที่หมักดีแล้วนี้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเลย ส่วนน้อยประมาณ 28% มีอาการเล็กน้อยแต่ก็สามารถทู่ซี้ทดลองกินซาวโดจนครบสองเดือนได้ ข้อมูลนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่บอกว่าเป็นไปได้ที่คนแพ้กลูเต็นจะกินขนมปังซาวโดได้บ้างโดยไม่มีอาการ บ้างเท่านั้นนะ หากถือตามงานวิจัยข้างต้นก็คือ 72% ไม่ใช่ 100% ไม่ใช่ข้อมูลที่จะบอกว่าขนมปังซาวโดไม่มีกลูเต็นเลย

สรุปว่าถ้าคุณเป็นโรคแพ้กลูเต็นจริงและอยากจะลองกินขนมปังซาวโดก็ลองดูเองได้ ใช้ขนมปังที่หมักดี หมักนาน ลองทีละนิดๆ ถ้ามีอาการรุนแรงก็เลิกลอง ถ้าไม่มีอาการเลยก็กินต่อไปได้ โอกาสที่จะมีอาการจากการทดลองนี้มีอยู่ประมาณ 28%

ประเด็นซาวโดปลอม

การเปลี่ยนจากกินขนมปังแบบปกติมากินขนมปังซาวโดมีอุปสรรคใหญ่อีกข้อหนึ่งคือทุกวันนี้ในตลาดทั้งในและต่างประเทศได้เกิดการทำขนมปังซาวโดปลอมขายกันเกร่อตามสมัยนิยม วิธีปลอมก็มีตั้งแต่การใส่น้ำส้มสายชูในการทำขนมปังปกติให้มีรสออกเปรี้ยวแล้วขึ้นรูปให้กลมๆมนๆเหมือนขนมปังซาวโดโดยที่ไม่ได้หมักด้วย starter ที่เลี้ยงจากทั้งยีสต์และแบคทีเป็นเวลานานหลายวันแบบการทำขนมปังซาวโดปกติทั่วไป ผู้บริโภคจึงต้องพิถีพิถันเลือกแหล่งผลิตที่รู้จักหรือไม่ก็ฝึกทำขนมปังซาวโดกินด้วยตนเองให้รู้แล้วรู้รอดซะเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

…………………………………………………………..

จดหมายจากท่านผู้อ่าน

(19 มค. 67)

ดีจัง คนกินพืชจะได้B12จากSD แต่ทีนี้ต้องกินในบริมาณเท่าไหร่คะ ถึงจะได้รับB12เพียงพอที่จะไม่ต้องกินวิตามินเสริม (กินB12แบบเม็ดๆแล้วผะอืดผะอมมากๆ หรือว่าในวิตามินเม็ดๆมีสารเคมี)

ตอบครับ

ระดับวิตามินบี.12 ที่เชื่อถือได้ในทางการแพทย์ต้องใช้ตรวจวัดดูการคั่งของ MMA และ homocysteine ในร่างกายของคนที่กินอาหารนั้นไปแล้ว เพราะการดูดซึมวิตามินบี.12 ในอาหารแต่ละชนิดเข้าไปในร่างกายไม่เท่ากัน หมายความว่าที่ตรวจพบในอาหารอาจเป็นแค่โมเลกุลที่คล้ายกันแต่ออกฤทธิ์ไม่ได้ (analogue) ปัจจุบันนี้มีแต่งานวิจัยที่พบว่ามีวิตามินบี.12 ในอาหารพืชอะไรบ้าง เช่นสาหร่ายบางชนิด อาหารหมักต่างๆที่เรียกว่าโปรไบโอติก (รวมทั้งขนมปังซาวโดตั้งใจหมักให้ได้บี12ด้วย) พืชบางชนิดที่ใช้ปุ๋ยที่มีวิตามินบี12 อยู่แล้วรดในดิน เป็นต้น แต่ยังไม่มีงานวิจัยว่ากินอาหารเหล่านี้แล้ววิตามินบี.12 จะเข้าไปออกฤทธิ์ในร่างกายได้เพียงใด นอกจากนั้นวงการแพทย์มีข้อมูลเชิงระบาดวิทยาว่าบางกลุ่มบางชุมชนในบางประเทศเช่นอิหร่าน อินเดีย ไม่กินเนื้อสัตว์เลยตลอดชีพแต่ก็ไม่ขาดวิตามินบี.12 แต่วงการแพทย์ยังไม่รู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นได้วิตามินบี.12 มาจากทางไหน ดังนั้นปัจจุบันนี้วงการแพทย์จึงยังคงแนะนำให้คนสองกลุ่มคือ (1) คนที่กินแต่พืช และ (2) ผู้สูงอายุซึ่งการดูดซึมวิตามินบี.12 มักลดลง (แม้จะกินอาหารเนื้อสัตว์ด้วยแล้วก็ตาม) ให้กินวิตามินบี12 ในรูปของวิตามินเสริม หรือกินอาหารที่เสริมวิตามิน (fortified food) เป็นประจำ เพราะยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่าอาหารพืชชนิดใดในปริมาณเท่าใดที่กินแล้วจะให้วิตามินบี.12 มากพอต่อการทำงานของร่างกาย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Xie, C.; Coda, R.; Chamlagain, B.; Varmanen, P.; Piironen, V.; Katina, K. Co-fermentation of Propionibacterium freudenreichii and Lactobacillus brevis in Wheat Bran for in situ Production of Vitamin B12. Front. Microbiol. 201910, 1541.
  2. Greco L, Gobbetti M, Auricchio R, Di Mase R, Landolfo F, Paparo F, Di Cagno R, De Angelis M, Rizzello CG, Cassone A, Terrone G, Timpone L, D’Aniello M, Maglio M, Troncone R, Auricchio S. Safety for patients with celiac disease of baked goods made of wheat flour hydrolyzed during food processing. Clin Gastroenterol Hepatol. 2011 Jan;9(1):24-9. doi: 10.1016/j.cgh.2010.09.025. Epub 2010 Oct 15. PMID: 20951830.

[อ่านต่อ...]

17 มกราคม 2567

ในฐานะผู้ป่วยมะเร็ง สิ่งที่พึงทำไม่ใช่คือการเที่ยวไปขอความเห็นใจหรือคำปลอบโยนจากใคร

(ภาพวันนี้ / ฟาแลน ริมหน้าต่าง)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

เรียน คุณหมอสันต์ที่เคารพ

ดิฉันอายุ 61 ปี เคยนอนรพ.ครั้งสุดท้ายปี 2547 ผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ ประสพการณ์ครั้งนั้นทำให้เข็ดกับความเจ็บป่วย จึงดูแลสุขภาพตนเองอย่างดี ไม่เคยเจ็บป่วยเลย ไม่มีความดันเบาหวานใดๆ และเคยมาเข้าคอร์สสุขภาพกับคุณหมอที่มวกเหล็กหลายปีมาแล้ว ปลายปีดิฉัน 66 ตรวจสุขภาพประจำปีพบเนื้องอกที่รังไข่ขวา แพทย์มะเร็งนารีเวชจัดการเอาออกหมดทั้งชุดให้เหตุผลว่าอวัยวะนี้หมดอายุแล้ว

วันนี้ มค. 67 ไปฟังผล patho คุณหมอแจ้งว่า มะเร็ง stage 1C  ให้รับคีโม 6 ครั้งในอีกสองอาทิตย์ข้างหน้า ดิฉันขอว่าให้แข็งแรงอีกสักหน่อยเพราะผ่าตัดเปิดหน้าท้องเพิ่งครบสามสัปดาห์ ยังเจ็บแผลมาก ดิฉันออกกำลังด้วยการเดินช้าๆ ทุกหนึ่งชั่วโมง หายใจเข้าลึกออกยาว แต่เดินได้ไม่เกิน 15 นาที รู้สึกเหนื่อยหายใจไม่เต็มปอด  ท่านเอ็ดว่าจะรอทำไม รีบๆ ทำให้เสร็จ คีโมไม่เกี่ยวกับปอด และว่าการรักษาเป็นเรื่องของแพทย์ คนไข้ไม่มีความรู้มีหน้าที่ทำตามและไม่มีอะไรต้องกังวล

ได้ใบนัดคีโมกลับมา แล้วก็คิดถึงคุณหมอที่มวกเหล็กมาก คำถามเพื่อขอความเห็นของคุณหมอ จากผลตรวจที่แนบมา ถ้าเลือกรับคีโม ดิฉันพอจะผลัดผ่อนเวลาออกไปได้นานแค่ไหน และ จะมีวิธีไปพูดกับแพทย์อย่างไรให้เข้าใจ ไม่โกรธและมี empathy กับเราบ้าง กรณี 1C staging ถ้าดิฉันเลือกไม่รับคีโมแล้วใช้ชีวิตอย่างดีมีความสุขเหมือนก่อนหน้านี้จะเสี่ยงกับมีมะเร็งในจุดอื่นไหม (แพทย์ท่านตอบว่าไม่ทราบ full stop)

ด้วยความนับถืออย่างสูง

……………………………………………………

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถาม ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าผลชิ้นเนื้อที่ส่งมานั้นเป็น well differentiated adenocarcinoma แปลว่าเป็นเซลมะเร็งชนิดไม่ก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทำให้อุ่นใจได้ระดับหนึ่ง เอาละทีนี้มาตอบคำถาม

1.. ถามว่าการรักษาด้วยเคมีบำบัดหลังการผ่าตัด จะผัดผ่อนออกไปได้นานแค่ไหน ตอบว่าขึ้นอยู่กับ (1) ความพร้อมของรพ. เช่น คิวรับไว้รักษายาวหรือไม่ยาว ห้องว่างหรือไม่ว่าง (2) ความพร้อมของแพทย์ เช่นแพทย์จะไปเมืองนอก หรือลาพักร้อนก็ต้องเลื่อนออกไปก่อน (3) ความพร้อมของคนไข้ เช่น ร่างกายไม่พร้อม (เช่น โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ ภาวะโภชนาการยังไม่ดีพอ จิตใจยังไม่พร้อม ยังตัดสินใจไม่ได้ หรือเงินไม่พร้อม กรณีรักษารพ.เอกชน)

ในภาพใหญ่คือเคมีบำบัดหลังการผ่าตัดทุกชนิดไม่ใช่การรักษาฉุกเฉินหรือ emergency จึงทำกันเมื่อทุกฝ่ายพร้อมแล้วเท่านั้น จะต้องรอไปเป็นวันเป็นสัปดาห์เป็นเดือนก็ยังถือว่าโอเค. เพราะไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน

2.. ถามว่าจะมีวิธีไปพูดกับแพทย์อย่างไรให้เข้าใจ ไม่โกรธ และมีความเห็นใจเราบ้าง ตอบว่าหมอมีสองประเภท

ประเภทที่ 1. หมอสมัยใหม่ จะให้ข้อมูลละเอียด ให้คนไข้ตัดสินใจทุกอย่างเอง ความละเอียดของข้อมูลที่ให้บางครั้งก็ทำให้คนไข้ทรุดไปเลย เช่น “อัตราการรอดชีวิตเฉลี่ย 6 เดือน” หรือเช่น “อัตราสนองตอบต่อยาเคมีบำบัด 1%” เป็นต้น ข้อมูลทั้งหมดเป็นความจริงทางสถิติทั้งสิ้น แต่พูดไปแล้วคนป่วยป่วยมากขึ้น การบอกความเสี่ยงและประโยชน์แล้วโยนการตัดสินใจให้ผู้ป่วยโดยหมอไม่ยอมชี้นำนี้ถือเป็นวิธีมาตรฐานสากล แต่คนป่วยกลับเป็นฝ่ายเครียดมากเพราะกลัวการตัดสินใจผิด กลัวภาวะแทรกซ้อนที่หมอแจงให้ฟังซึ่งแต่ละอย่างล้วนน่ากลัวเหลือเกิน และเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นจริงๆก็กลัวหมอพูดว่า “ก็ผมบอกคุณแล้วไง แล้วคุณก็เลือกทำเองนะ”

ประเภทที่ 2. หมอสมัยเก่า จะบอกการวินิจฉัยและทางเลือกการรักษาที่หมอเห็นว่าดีทางเดียวเบ็ดเสร็จโดยไม่ให้คนไข้เลือก เอาแบบที่หมอว่านี่แหละ ดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องรู้อะไรไปมากกว่านี้ เรื่องการรักษามอบให้หมอจัดการเอง คุณแค่รับการรักษาไม่ต้องกังวลอะไรมาก คนไข้เมื่อรู้ข้อมูลน้อยก็มีความกังวลน้อยด้วย แต่เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงชนิดคาดไม่ถึงขึ้นมา ก็จะ “เป็นเรื่อง” ว่าทำไมหมอไม่บอกก่อน ผมเดาว่าหมอประเภทหลังนี้จะค่อยๆสูญพันธ์ไปในที่สุดเพราะทนถูกคนไข้ฟัองไม่ไหว

การจะคุยกับหมอ คุณก็ต้องดูก่อนว่าหมอของคุณเป็นประเภทไหน และไม่ว่าเป็นหมอประเภทไหนการจะถามอะไรก็ต้องกระชับ จดไปก่อนเป็นข้อๆ ถ้าเขาเป็นประเภทหมอสมัยเก่า ถามแล้วเขาไม่ตอบคุณก็ไม่ต้องไปเซ้าซี้อะไรเขามาก เพราะเซ้าซี้ไปก็ทะเลาะกันเปล่าๆ ถ้ารู้สึกไม่มั่นใจในทางเลือกการรักษาที่หมอเลือกให้คุณก็เปลี่ยนหมอซะจะง่ายกว่า

ส่วนการขอความเห็นใจจากหมอนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะความกรุณาปราณีมันไม่ใช่ของที่จะต้องไปขอกัน มันเป็นของที่แผ่ออกมาจากส่วนลึกจากใจของแต่ละฝ่าย ถ้าเขาเป็นสไตล์หมอที่ทำงานตรงเป๊ะตามหน้าที่เท่านั้น ทำหน้าที่ตัวเองจบแล้วจบ คุณก็ควรจะพอใจแค่นั้น อย่าไปเรียกร้องอะไรจากหมอมากกว่านั้น ถ้าหมอเขาแสดงความโอภาปราศัยตบหลังปลอบโยนคุณนั่นถือว่าคุณได้ของแถม คุณก็ขอบคุณเขาไป

ในฐานะที่เป็นคนป่วยมะเร็ง สิ่งที่คุณพึงทำไม่ใช่คือการไปเที่ยวขอความเห็นใจหรือคำปลอบโยนจากใคร แต่คือการตั้งหลักเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกายเราอย่างนิ่งๆ สงบๆ ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว และโฟกัสที่การใช้ชีวิตในแต่ละโมเม้นต์นับตั้งแต่นาทีที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งให้เป็นชีวิตที่มีคุณภาพ โดยไม่ยอมให้ความคิดลบเข้ามาครอบงำจนไม่เป็นอันใช้ชีวิต

3.. ถามว่าเป็นมะเร็งรังไข่ระยะ 1c ชนิดเซลไม่ก้าวร้าว ถ้าไม่รับคีโมแล้วจะเสี่ยงกับมีมะเร็งแพร่กระจายไปจุดอื่นไหม ตอบว่าในทางการแพทย์ยอมรับตัววัดผลการรักษาตัวเดียวคืออัตรารอดชีวิตในห้าปี (5 year survival rate) ซึ่งเป็นตัววัดผลที่ถูกต้องแน่นอนกว่าการแพร่กระจายหรือไม่แพร่ ผมจึงจะใช้ตัววัดผลตัวนี้แทน

ก่อนจะตอบคำถาม ผมขอชี้แจงนิดหนึ่งว่ามะเร็งรังไข่ Stage I นั้นมันมีสามระยะย่อย คือ

1A มะเร็งจำกัดอยู่ในรังไข่ข้างเดียว

1B มะเร็งจำกัดอยู่ในรังไข่สองข้าง

1C ซิสต์หรือก้อนมะเร็งรังไข่แตกออก มีน้ำหกหรือรั่วออกไปในช่องท้อง ซึ่งยังแบ่งย่อยออกเป็นอีกสามกรณี คือ

1c(1) ซีสต์แตกและน้ำหกรั่วไปในช่องท้องขณะทำผ่าตัด

1c(2) ซีสต์แตกและน้ำหกรั่วไปในช่องท้องก่อนหน้าที่จะมีการผ่าตัดนานแล้ว

1c(3) ตรวจพบเซลล์มะเร็งรังไข่ในน้ำที่ขังอยู่ในช่องท้อง

ผมดูผลตรวจทางพยาธิที่ส่งมาให้อย่างละเอียดแล้ว ซิสต์หรือก้อนมะเร็งยังจำกัดอยู่ในรังไข่โดยไม่ได้แตกออก ไม่มีน้ำรั่วออกไปขังอยู่ในช่องท้อง ไม่มีการตรวจพบเซลล์มะเร็งในน้ำในช่องท้อง ผมจึงเดาเอาว่าแพทย์ให้คุณเป็น Stage 1c เพราะเขาคงไม่มั่นใจว่าซีสหรือก้อนมะเร็งแตกออกในขณะผ่าตัดหรือไม่ จึงให้เป็น 1c แทนที่จะเป็น 1a ดังนั้นกรณีของคุณหากเรียกให้ละเอียดว่าเป็น Stage 1c(1) ก็จะชัดเจนยิ่งขึ้น

การจะตอบคำถามว่ามะเร็งระยะนี้หากไม่ได้รับเคมีบำบัดมันจะแย่กว่าได้รับสักแค่ไหน งานวิจัยที่ดีที่สุดในเรื่องนี้เป็นการวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสเอางานวิจัยแบบเดียวกันมาวิเคราะห์รวมกัน มีผู้ป่วยมะเร็ง Stage 1c(1) จำนวนรวม 7556 คน แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มได้เคมีบำบัด กับกลุ่มที่ไม่ได้เคมีบำบัด พบว่าทั้งสองกลุ่มมีอัตรารอดชีวิตเฉลี่ยใน 5 ปี ไม่แตกต่างกัน แปลไทยเป็นจีนได้ว่าให้เคมีบำบัดหรือไม่ให้ ผลที่ได้ก็..แป๊ะเอี้ย

อย่างไรก็ตามสมาพันธ์มะเร็งนรีเวชนานาชาติ (FIGO) แนะนำแพทย์ให้แนะนำผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ระยะ 1C โดยรวมรับเคมีบำบัดเสมอ ทั้งนี้เนื่องจาก Stage 1C เป็นเข่งใหญ่ ในนั้นมีรายละเอียดปัจจัยเสี่ยงและประโยชน์ปลีกย่อยแตกต่างกันไปในคนไข้แต่ละคน FIGO จึงออกคำแนะนำกลางๆไว้อย่างนี้ ทิ้งให้แพทย์และผู้ป่วยไปใช้ปัจจัยเสี่ยงย่อยๆเฉพาะตัววินิจฉัยตัดสินเอาเองอีกชั้นหนึ่ง

4.. ข้อนี้ผมเพิ่มให้โดยคุณไม่ได้ถาม คือการจะรับหรือไม่รับเคมีบำบัดของผู้ป่วยไทย ผมสรุปจากประสบการณ์ของผมเองซึ่งร่วมดูแลผู้ป่วยมะเร็งมาเป็นจำนวนมากหลายร้อยรายแล้วว่า นอกจากอัตรารอดชีวิตแล้วมันยังมีปัจจัย “นอกตำรา”ที่ควรต้องเอามาร่วมพิจารณาอีกสามปัจจัย คือ (1) ประโยชน์ทางจิตวิทยา เพราะคนได้เคมีบำบัดจะสบายใจ คนไม่ได้ก็แอบไม่สบายใจลึกๆ ความสบายใจนี้ช่วยให้หายมากขึ้นได้ (2) แรงกดดันจากญาติมิตร คนยอมรับเคมีบำบัดจะได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญจากญาติมิตร แต่คนไม่ยอมรับจะถูกญาติมิตรกดดันด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า “ความหวังดี” แรงกดดันนี้ทำให้ผู้ป่วยป่วยมากขึ้นได้ (3) แรงกดดันจากแพทย์ ผู้ป่วยมะเร็งมักมีสัมพันธภาพที่ดีและลึกซึ้งกับแพทย์ผู้รักษา จึงมีแรงกดดันให้รับเคมีบำบัดเพราะเกรงใจแพทย์ที่เขาดีกับเรา

เมื่อคุณได้ทราบว่าอัตรารอดชีวิตไม่แตกต่างกันแล้ว และได้พิจารณาทั้งสามปัจจัยนี้ร่วมด้วยถ้วนถี่แล้ว จะรับหรือไม่รับเคมีบำบัดก็เอาแบบที่ชอบที่ชอบได้เลยครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Pergialiotis V, Liatsou E, Rouvali A, Haidopoulos D, Efthymios D, Liontos M, Rodolakis A, Thomakos N. Is There a Survival Benefit of Adjuvant Chemotherapy in Stage IC1 Epithelial Ovarian Cancer Patients? A Meta-Analysis. Curr Oncol. 2022 Aug 15;29(8):5763-5773. doi: 10.3390/curroncol29080454. PMID: 36005192; PMCID: PMC9406671.
[อ่านต่อ...]

16 มกราคม 2567

ใช้แฟลกซีด (Flax Seed) แก้ปัญหาท้องผูกระดับบรรลือโลก

(ภาพวันนี้ / กุหลาบม่วงหน้าบ้าน)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมอายุ 56 ปี หนัก 82 กก. เป็นเบาหวานรักษามา 14 ปี กำลังมีปัญหาท้องผูกบรรลือโลก คืออย่างเก่งในหนึ่งสัปดาห์จะขับถ่ายได้ 2-3 ครั้งเท่านั้น หมอให้ยาระบายมาทุกชนิดจนหมดทั้งโรงพยาบาลแล้ว ยามะขามแขกผมก็กินวันละเป็นสิบเม็ดขึ้นไป หมอบอกว่าปลายประสาทควบคุมการขับถ่ายของผมเสื่อมไปแล้วเพราะโรคเบาหวาน คงจะทำอะไรไม่ได้ ผมพยายามกินอาหารมีกากให้มากขึ้นแต่ก็ไม่เป็นผล

ขอคำแนะนำคุณหมอสันต์ครับ

……………………………………………………………….

ตอบครับ

การแก้ปัญหาท้องผูกต้องทำหลายด้านพร้อมกันทั้ง (1) เพิ่มอาหารกาก (พืชที่หลากหลาย) (2) เพิ่มปริมาณน้ำดื่มให้พอเพียง คืออย่างน้อยทุก 2-3 ชั่วโมงควรต้องมีปวดปัสสาวะ (3) เพิ่มจุลินทรีย์ในลำไส้ ด้วยการกินอาหารทั้งโปรไบโอติกเช่นอาหารหมักต่างๆ และพรีไบโอติกได้แก่พืชที่หลากสีโดยเฉพาะสีม่วงสีแดงเป็นต้น เพราะที่ประกอบกันเป็นมวลอุจจาะนั้นไม่ใช่จะมีแต่กาก แท้จริงแล้วส่วนใหญ่เป็นตัวจุลินทรีย์ (แบคทีเรีย) เสียมากกว่า 50% (4) แก้ไขปัญหาการนอนไม่หลับถ้ามี เพราะการเคลื่อนไหวของลำไส้สัมพันธ์กับการนอนไม่หลับ (5) แก้ไขปัญหาความเครียดถ้ามี เพราะความเครียดก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ผิดปกติ

ในแง่ของอาหารรักษาอาการท้องผูก ที่มีข้อมูลวิจัยว่าดีมากคือแฟลกซีด (Flax seed) งานวิจัยหนึ่งสุ่มตัวอย่างเอาผู้ป่วยเบาหวานที่อ้วนด้วยและท้องผูกด้วยอย่างคุณนี้เลย เอามาแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินคุ้กกี้ทำจากแฟลกซีด 10 กรัมวันละสองครั้ง อีกกลุ่มหนึ่งให้กินคุ้กกี้ขนาดเดียวกันแต่ไม่ได้ใส่แฟลกซีด ทำวิจัยอยู่นาน 12 สัปดาห์ พบว่าอาการท้องผูกลดลงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่กินคุ้กกี้ทำจากแฟลกซีด

แฟลกซีดเป็นอาหารที่ทั้งเพิ่มจุลินทรีย์ในลำไส้และเพิ่มกากซึ่งเป็นมวลอุจจาระ จึงเพิ่มการขับถ่ายได้ดีไม่เฉพาะคนเป็นเบาหวาน แต่ในคนทั่วไปที่มีปัญหาท้องผูกก็มีหลักฐานว่าใช้ได้ผลดี ดีกว่ายาระบายที่นิยมใช้กันเสียอีก เช่นงานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบอีกงานหนึ่งเอาคนเป็นโรคท้องผูกเรื้อรัง (ขับถ่ายเฉลี่ย 2 ครั้ง/สัปดาห์) มาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่มกลุ่มหนึ่งให้กินผงแฟลกซีดป่น 50 กรัมโดยกินไปกับอาหาร อีกกลุ่มหนึ่งกินยาระยายแลคตูโลส 15 ซีซี. ทำวิจัยอยู่นานสี่สัปดาห์ พบว่ากลุ่มกินผงแฟลกซีดเปลี่ยนจากท้องผูก (ถ่าย 2 ครั้งต่อสัปดาห์) มาเป็นถ่ายปกติ (ถ่าย 7 วันต่อสัปดาห์) ขณะที่กลุ่มกินยาระบายแลคตูโลสขับถ่ายได้ดีขึ้นแต่ก็ยังน้อยกว่าแฟลกซีด (เพิ่มจากถ่าย 2 วันเป็นถ่าย 6 วันต่อสัปดาห์)

ดังนั้น ท้องผูกระดับบรรลือโลกอย่างคุณนี้ ลองแฟลกซีดดู ดีที่สุด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Sun J, Bai H, Ma J, Zhang R, Xie H, Zhang Y, Guo M, Yao J. Effects of flaxseed supplementation on functional constipation and quality of life in a Chinese population: A randomized trial. Asia Pac J Clin Nutr. 2020;29(1):61-67. doi: 10.6133/apjcn.202003_29(1).0009. PMID: 32229443.
  2. Soltanian N, Janghorbani M. A randomized trial of the effects of flaxseed to manage constipation, weight, glycemia, and lipids in constipated patients with type 2 diabetes. Nutr Metab (Lond). 2018 May 9;15:36. doi: 10.1186/s12986-018-0273-z. PMID: 29760761; PMCID: PMC5944250.
[อ่านต่อ...]

14 มกราคม 2567

ชีวิตหนึ่งนี้คือประสบการณ์การสนองตอบต่อสิ่งเร้าที่ถูกจดจำไว้ภายใต้คอนเซ็พท์ของเวลา

(ภาพวันนี้ / พวงประดิษฐ์ เลื้อยคลุมต้นลิ้นฟ้า)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

เรียนอาจารย์ที่เคารพ

ผมเป็นนักศีกษาแพทย์ ม. … ปี 6 ผมมาเรียนแพทย์เพราะรายการเกมหมอยอดนักสืบที่อาจารย์ทำทางโทรทัศน์ช่อง 9 ร่วมกับคุณสัญญา คุณากร ซึ่งผมดูเอาจากยูทุป ผมติดตามบล็อกของอาจารย์เรื่อยมาและสนใจเป็นพิเศษเมื่ออาจารย์สอนเรื่องความหลุดพ้น ผมมีคำถาม 1. ชีวิตคืออะไรครับ จากมุมมองของอาจารย์ 2. ความหลุดพ้นคืออะไรครับ 3. จำเป็นหรือไม่ที่ทุกคนต้องเสาะหาความหลุดพ้น

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

……………………………….

ตอบครับ

ถามว่าชีวิตคืออะไร ตอบว่า ชีวิตคือประสบการณ์ที่สิ่งมีชีวิตสนองตอบต่อสิ่งเร้า

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์ด้วย มีกลไกสนองตอบต่อสิ่งเร้าที่ผ่านเข้ามาทางอยาตนะ (sense organ) ของมัน การสนองตอบต่อสิ่งเร้าแต่ละครั้งคือหนึ่งประสบการณ์ (experience)

อายตนะของมนุษย์เมื่อมองจากมุมวิทยาศาสตร์มีห้าอย่าง คือตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง แต่แท้จริงแล้วยังมีอย่างที่ 6 คือ “ใจ” ของเราเองก็ทำตัวเป็นอายตนะรับรู้สิ่งเร้าที่เข้ามาทางใจโดยตรงได้ด้วย ดังนั้นผมจึงมองอยาตนะว่ามีหกตัวไม่ใช่ห้าตัว

ประสบการณ์นี้เกิดขึ้นได้เฉพาะในที่ที่มีความรู้ตัวหรือความสามารถรับรู้ (consciousness) พร้อมเปิดรับอยู่เท่านั้น หมายความว่าประสบการณ์เกิดได้เฉพาะแต่ที่นี่เดี๋ยวนี้เท่านั้น นั่นทำให้ทุกประสบการณ์เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา เพราะแค่เวลาที่ผมพูดคำว่าเดี๋ยวนี้จบ ตัวเดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว หมายความว่าของเก่าที่เกิดขึ้นดับหายไปแล้วและมีของใหม่เกิดขึ้นมาแทน ดังนั้นจะหาความมั่นคงแน่นอนอะไรกับแต่ละประสบการณ์ย่อมไม่ได้ทั้งสิ้น

ทุกประสบการณ์นี้จะถูกจดจำอย่างเที่ยงตรงบ้าง อย่างผิดๆถูกๆบ้าง ไว้ภายใต้คอนเซ็พท์ของเวลา ว่าอะไรเกิดก่อนอะไรเกิดหลัง แล้วจะถูกนำไปผูกเป็นวงจรการสนองตอบของใจแบบซ้ำซากจนเป็นอัตโนมัติ ทำให้เมื่อรับรู้สิ่งเร้าเดิม การสนองตอบก็มักเป็นแบบเดิมซ้ำซากในทิศทางแบบที่เคยสนองตอบมาแล้ว ทำให้พฤติกรรมของมนุษย์เหมือนกับพฤติกรรมของหุ่นยนต์อย่างกับแกะ ต่างกันที่มนุษย์มีศักยภาพที่จะสังเกตให้เห็นความเป็นหุ่นยนต์ของตัวเอง และปรับเปลี่ยนวิธีสนองตอบให้แตกต่างจากการสนองตอบซ้ำซากแบบหุ่นยนต์ได้

ถามว่า อ้าว เมื่อชีวิตเป็นเพียงประสบการณ์ในมิติของเวลา แล้วถ้างั้น “ฉัน” ซึ่งเป็นเจ้าของชีวิตนี้อยู่ที่ไหนละ

ตอบว่า “ฉัน” มีอยู่สองตัวนะ “ฉันตัวเล็ก” คือฉันที่เป็นบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเพียงอีกคอนเซ็พท์หนึ่ง หรือเป็นอีกความคิดหนึ่งที่สมมุติเอาความคิดอื่นมาคลุกเคล้าปะติดปะต่อกันว่าร่างกายนี้ ประกอบกับชื่อนี้ นามสกุลนี้ บวกกับคอนเซ็พท์อื่นๆเช่นปริญญา เกียรติ ยศ ฐา บรรดาศักดิ์ โฉนดที่ดิน บัญชีธนาคาร ที่ตนมี รวมกันเป็นบุคคลที่มีสกุลรุณชาติขึ้นมาหนึ่งคน คนคนนี้ก็คือ “ฉันตัวเล็ก” ซึ่งความที่มันเป็นเพียงความคิด ฉันตัวเล็กนี้ก็อยู่ในมิติของเวลาด้วย และทุกส่วนของมันก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาด้วยเช่นกัน

ส่วน “ฉันตัวใหญ่” เป็นความสามารถรับรู้ (consciousness) ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวดองกับฉันตัวเล็ก และอยู่นอกมิติของเวลา อุปมาเหมือนคนนั่งเปิดดูอัลบั้มภาพถ่ายไปทีละหน้า คนที่เปิดดูไม่ได้เข้าไปอยู่ในแต่ละหน้าของอัลบั้มนั้น ฉันตัวใหญ่เปรียบเหมือนความว่างเปล่าอันกว้างใหญ่ที่ประสบการณ์ทุกประสบการณ์ (รวมทั้งประสบการณ์เกี่ยวกับความเป็นไปของร่างกายนี้ด้วย) ล้วนเกิดขึ้นและดับหายไปในฉันตัวใหญ่นี้ โดยที่ฉันตัวใหญ่ไม่ได้เดือดร้อนอะไรกับการจะเกิดขึ้นหรือจะดับหายไปของประสบการณ์ใดๆ แค่รับรู้เฉยๆ

เมื่อเราพูดถึงตัวเองว่า “ฉัน” เราหมายถึงทั้งฉันตัวเล็กและฉันตัวใหญ่รวมกัน ยามใดที่เราให้ค่ากับการเป็นฉันตัวเล็กมากกว่าเราก็จะเดือดร้อนเจ็บอายไปด้วยกับความไม่แน่นอนของประสบการณ์ต่างๆที่ฉันตัวเล็กต้องประสบแล้วกระทบกระทั่งถึงตัวตนสมมุติของมัน แต่ยามใดที่เราให้ค่ากับการเป็นฉันตัวใหญ่มากกว่าเราก็จะมีแต่ความสงบเย็นและยอมรับความเปลี่ยนแปลงของแต่ละประสบการณ์ทุกช็อต ทุกช็อต ได้อย่างไม่อาทรร้อนใจกับอะไร

2.. ถามว่าความหลุดพ้นคืออะไร ตอบว่าคือการย้ายตัวตน (change of identity) จากฉันตัวเล็กไปเป็นฉันตัวใหญ่ได้สำเร็จ ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือการวางความยึดถือในความทรงจำใดๆเกี่ยวกับประสบการณ์ของฉันตัวเล็กซึ่งล้วนเป็นความคิดลงไปให้หมด ทั้งนี้โดยเลือกใช้เครื่องมือวางความคิดที่ตัวเราเองถนัด เช่น (1) การหันเหความสนใจจากความคิดมาอยู่กับลมหายใจหรือมาอยู่กับพลังชีวิต (2) การสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นจากมุมมองของฉันตัวใหญ่ซึ่งเป็นผู้สังเกตจากภายนอก ทั้งนี้นับรวมทั้งการสังเกตดูความคิดของตัวเองด้วย (3) การผ่อนคลายร่างกาย ซึ่งจะเหนี่ยวนำให้เกิดการยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้โดยไม่มีเงื่อนไข (4) การฝึกจดจ่อสมาธิ ผ่านการทำ meditation หรือนั่งสมาธิ หรือแม้กระทั่งผ่านการฝึกจดจ่อกับกิจที่อยู่ตรงหน้า เป็นต้น

3.. ถามว่าจำเป็นไหมที่ทุกคนต้องแสวงหาความหลุดพ้น ตอบว่าไม่จำเป๊น..น ที่เราเรียกว่าหลุดพ้นเราหมายถึงหลุดพ้นจากความทุกข์ หรือหลุดพ้นจากความอยาก (รวมทั้งความอยากรู้) หรือหลุดพ้นจากความเบื่อ (ผมเพิ่งคุยกับนักจิตวิทยาฝรั่งคนหนึ่งเขาบอกผมว่าสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความสุขคือความเบื่อ ซึ่งผมว่าเออ..เม้คเซ้นส์) ดังนั้นคนที่ไม่ทุกข์อะไร ไม่อยากรู้อะไร ไม่เบื่ออะไร ก็ไม่ต้องดิ้นรนไปเสาะหาความหลุดพ้นอีก เพราะตอนนี้ได้หลุดพ้นไปเรียบร้อยแล้ว จะไปเสาะหาพรืออีกละ

4.. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมเห็นว่าคุณจะเติบโตไปเป็นหมอรุ่นใหม่ในวันหน้า ผมจึงขอคุยกับคุณเพิ่มเติม ว่า

“ประสบการณ์” หากมองจากมุมวิทยาศาสตร์น่าจะแบ่งเป็นประสบการณ์ทางใจและประสบการณ์ทางร่างกาย แต่ผมกลับเห็นว่าประสบการณ์มีที่เกิดที่เดียวเท่านั้น คือที่ในใจเรา แม้เหตุการณ์ในร่างกายเราเช่นความปวดเราก็รับรู้เป็นประสบการณ์ได้ที่ในใจของเราเท่านั้น ส่วนการชี้จุดว่าความปวดนี้มาจากร่างกายส่วนไหนนั้นเป็นเพียงคอนเซ็พท์หรือนิยามที่เราตั้งขึ้นก่อนหน้านั้นว่าตรงนี้เรียกว่าตับ ไต ไส้ พุง แขน ขา แต่หากใจไม่ได้รับรู้ความปวดนั้นเลย การนิยามตำแหน่งแห่งหนบนร่างกายก็ไม่จำเป็น

“โรค” ที่เกิดกับมนุษย์ หากมองจากมุมวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ก็จะถูกนิยามว่าเป็นผลที่เกิดจากเหตุต่างๆสมัยผมเป็นนักเรียนแพทย์ผมต้องท่องหมวดสาเหตุของโรคว่ามีเก้าหมวด คือ ติดเชื้อ, อักเสบ, บาดเจ็บ, เนื้องอก, เป็นแต่กำเนิด, เกิดจากการเผาผลาญ, ภูมิต้านทาน, ฮอร์โมน, และ…โรคหมอทำ (หิ..หิ กลุ่มโรคสุดท้ายนี่ผมไม่ได้แกล้งว่านะ วิชาแพทย์รุ่นโน้นเขาแบ่งเป็นหนึ่งหมวดจริงๆ) 

แต่หลังจากได้ประกอบอาชีพแพทย์มาเกือบห้าสิบปีตั้งแต่หนุ่มจนอายุเจ็ดสิบกว่า สมองของผมคงจะเริ่มเพี้ยน จึงแอบก่อร่างทฤษฎีใหม่ขึ้นในใจของผมเองว่าโรคทั้งหมดนี้ ความจริงแล้วมีสาเหตุหรือธรรมชาติหลักเหมือนกันหมด คือมันเป็นแค่ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในใจของผู้ป่วยเท่านั้นเอง จริงอยู่ร่างกายบางส่วนบางอวัยวะอาจเน่าพุพอง แต่ที่เรียกว่าเน่าก็ดีหรือพุพองก็ดี ล้วนเป็นเพียงนิยามหรือคอนเซ็พท์ที่เกิดจากใจสนอบตอบต่อสิ่งเร้า ซึ่งในที่นี้ก็คือภาพหรืออาการของร่างกายที่รับรู้ได้ที่ใจทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งว่าทำไมภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์แล้วผลตรวจออกมาจึงเป็นอย่างนี้ ทำไมเจาะเลือดออกมาแล้วโมเลกุลชนิดนั้นเพิ่มขึ้น ชนิดนี้ลดลง ทั้งหมดก็ล้วนเป็นแค่คอนเซ็พท์ทางวิทยาศาสตร์ที่ผูกโยงขึ้นมาเป็นวิชาแพทย์เท่านั้น ซึ่งชื่อว่าคอนเซ็พท์ก็คือความคิดที่คนหลายคนยึดถือซูฮกตามๆกันมา จะเป็นความจริงแท้ที่เปลี่ยนแปลงมิได้ก็หาไม่

ประเด็นที่ผมจะชี้ก็คือเมื่อมองโรคทุกโรคว่าคือประสบการณ์การสนองตอบต่อสิ่งเร้าของใจ เหตุการณ์บนร่างกายเป็นเพียงสิ่งเร้าหนึ่งที่เข้ามาสู่ใจเท่านั้น โรคทุกโรคก็หายได้หากเปลี่ยนวิธีสนองตอบต่อสิ่งเร้าของใจได้สำเร็จ

ฝากเอาไปคิดต่อเป็นการบ้าน เผื่อวันหนึ่งข้างหน้าคุณจะกลายเป็นหมอที่มีวิธีพิเศษที่ช่วยให้คนไข้รักษาโรคทุกโรคได้ด้วยตัวของเขาเองนอกเหนือไปจากวิชาแพทย์

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

11 มกราคม 2567

เภสัชกรร้านยา เป็นผู้มีศักยภาพมากที่สุด เข้าถึงได้ง่ายที่สุด และอยู่กับคนที่ motivated สูงสุด

(ภาพวันนี้ / ชวนชมแดง กับคอสมอสชมพู)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

เรียน อ.สันต์ ที่เคารพค่ะ

     สนใจเรื่อง หายป่วยได้ไม่พึ่งยา แต่อยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ concept ไม่ตรงกัน

ทำงานเป็นเภสัชกร อยู่ รพ.ตติยภูมิ เห็น ผอ.ขยาย รพ.เอาเรื่อย สร้างตึกใหม่รองนับคนไข้นะคะ แต่ไม่มีบุคลากรมาสมัคร ทุกคนเหนื่อยทำงาน รพ. ที่วันแล้ววันเล่าคนไข้เยอะ หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ

เป็นเภสัช นอกแถว จ่ายยาให้คนไข้ตะเบ็งเสียงดังๆ อธิบายการปรับวิถีชีวิต ได้วันสองวัน ร่างกายก็ไม่ไหว เพราะคนไข้เป็น 2000 คน…แล้วจะกลับไปปฏิบัติตามก็คงไม่ใช่ เราเองรู้ทั้งรู้ว่าไม่ใช่หนทาง แต่เพื่อนร่วมงานก็ไม่มีใครร่วมด้วย ลูกน้องก็เอาแต่เงิน ไม่สนใจทำงาน passion ให้ผู้ป่วย ติดกับดักวัตถุนิยม ทั้งนั้น เหนื่อยทั้งการปรับทัศนคติทั้งคนนอกและคนใน ชีวิตก็ไม่ได้ไปไหน เหนื่อยทุกวี่วัน จะเข้าใกล้ mode ซึมเศร้าซะแล้วที่การศึกษาประเทศไทยไม่ได้ดังใจ คนขาดความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพจริงๆ แบบไม่ต้องใช้ตัวช่วย ยาฉีดลดน้ำหนัก

อ.คงฟังมาตั้งนาน ต้องการสื่อสารอะไร? หนูขอบ่นก่อนนะคะ จะเรียนปรึกษา อ.ค่ะ เรื่องส่วนตัวมาก หนูลาออกมาเป็นเภสัชกรต๊อกต๋อย กัดก้อนเกลือกิน แล้วทำหายป่วยได้ไม่พึ่งยาออนไลน์ ตามลำพัง ทำ part time รพ. หาผู้ป่วยสนใจเข้าร่วม แนวคิด…ได้รายได้พอเลี้ยงชีพ แต่หนูรู้สึกว่าชีวิตมันดูมีความหมายมากกว่าจริงๆ ค่ะ  

ปล. ไม่รู้ว่าออกมาลำบาก แล้วจะยังมีความหมายได้อีกมั้ย กราบรบกวน พื้นที่ email อ.สันต์ จริงๆ ค่ะ แต่หนูไม่รู้จะไปปรึกษาใครได้จริง 

ด้วยความเคารพอย่างสูง

…………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าเป็นเภสัชกรในรพ.ใหญ่ของรัฐแล้วรู้สึกว่างานที่ทำไม่สร้างสรรค์จนตัวเองออกอาการซึมเศร้าเพราะรู้สึกว่าชีวิตนี้ไร้ค่า จึงลาออกจากราชการมาเป็นเภสัชกรอิสระทำสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าสร้างสรรค์ เป็นการตัดสินใจที่เข้าท่าไหม ตอบว่าเป็นการตัดสินใจที่เข้าท่ามากครับ

2.. ถามว่าพาตัวเองออกมามีชีวิตลำบากแล้วชีวิตอย่างนี้จะยังมีความหมายได้หรือไม่ ขอแยกตอบในสองประเด็นนะ

ประเด็นที่หนึ่ง ชีวิตที่ลำบาก ผมไม่เห็นว่าการที่คุณซึ่งมีการศึกษาดีมีสุขภาพดีเดินเหินไปไหนมาไหนได้จะมีชีวิตที่ลำบากตรงไหนเลย ชีวิตที่ลำบากคือชีวิตที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง พิการ ทุพลภาพ สะง็อกสะแง็ก เดินเหินไม่ได้ ทำอะไรเองไม่สะดวก แบบนั้นพอจะเรียกว่าเป็นชีวิตลำบากได้ แต่ถึงกระนั้นผมก็ยังเห็นผู้ป่วยของผมท่านหนึ่งเป็นมะเร็งผ่าตัดไปหลายอวัยวะต้องหิ้วถุงปัสสาวะไปไหนมาไหนแต่ท่านก็ยังยิ้มแย้มกับชีวิตได้ไม่บ่นสักคำว่าชีวิตของท่านลำบาก คุณประเมินว่าชีวิตคุณเองลำบากเอาจากการที่คุณมีรายได้ลดลง อ้าว ก็ไหนคุณเพิ่งค่อนแคะเพื่อนร่วมงานเก่าว่าจะเอาแต่เงิน ติดกับดักวัตถุนิยมไง แล้วทำไมคุณยังไปคิดแบบเขาละ ผมจะบอกให้นะ ชีวิตนี้ถ้ายังหายใจเข้าออกได้สะดวก มีอากาศหายใจ มีน้ำดื่มน้ำใช้ มีอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายกิน มีที่หลับนอน และเดินเหินไปมาได้ มันก็เป็นชีวิตที่ดีมากแล้ว ได้แค่นี้ชีวิตนี้ก็ได้มามากเกินพอที่มีชีวิตอยู่อย่างสงบเย็นและสร้างสรรค์ได้แล้ว

ประเด็นที่สอง ความหมายของชีวิต การไปตั้งธงว่าชีวิตจะต้องมีความหมายอย่างโน้นอย่างนี้ เป็นการสร้างคอนเซ็พท์ขึ้นมาครอบหัวตัวเองนะ ผมเรียกว่าเป็นการบ้าดี มันจะไปต่างอะไรกับลูกน้องเก่าของคุณที่มีคอนเซ็พท์บ้าเงินบ้าวัตถุนิยมที่ชีวิตมีอยู่เพื่อตุนเงิน หรือคนบ้าบุญที่มีคอนเซ็พท์ต้องทำบุญตุนไว้แยะๆเพื่อไปสวรรค์ในชาติหน้า เพราะมันก็ล้วนเป็นความบ้าเหมือนกันนั่นแหละ

คนเราเกิดมาเพื่อใช้ชีวิต แค่ได้ใช้ชีวิตอย่างที่คนๆหนึ่งพึงได้ใช้ นั่นพอแล้ว ผมหมายความว่าในการเกิดมามีชีวิตนี้ คนคนหนึ่งควรเข้าถึงธรรมชาติที่ส่วนลึกของใจตัวเอง คือ การมีเมตตาธรรมแผ่สร้านขึ้นในใจ (Love) การมีใจที่สงบเย็น (Peace) การมีใจที่เบิกบาน (Joy) และการมีใจที่ยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฎขึ้นแล้วในชีวิตเรา (Acceptance) สี่อย่างแค่เนี้ยะ Love, Peace, Joy, Acceptance เอาแค่นี้พอ ไม่ต้องไปแสวงหาความหมายเวิ่นเว้อ อะไรอีก ได้แค่นี้ชีวิตของคุณก็จะสงบเย็นและสร้างสรรค์ได้แล้ว แต่ถ้าแค่สี่อย่างนี้คุณยังเข้าถึงมันไม่ได้ แสดงว่าคุณมีกรงของความคิดครอบหรือกีดกันไว้อยู่ไม่ให้คุณเข้าถึง คุณต้องเวอร์คตรงนี้ อย่าไปเวอร์คที่อื่น

3. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมอยากเล่าให้ฟังเพราะเห็นคุณเป็นเภสัชกร และเภสัชกรจำนวนมากก็ติดตามบล็อกหมอสันต์อยู่ คือผมอยากจะเล่าให้ฟังว่าที่ตลาดมวกเหล็กผมเห็นมีร้านขายยาอยู่ร้านหนึ่งคนเข้าไปซื้อยามากจนต้องต่อคิว ร้านขายยาในละแวกนี้มีหลายร้านแต่คนกลับชอบมาร้านนี้ ผมเองก็เคยไปเป็นลูกค้า (เขาไม่รู้จักผมดอกเพราะเวลาผมอยู่ในชุดทำงานขุดดินผมก็มีหน้าตาแบบคนทำงานขุดดิน) ขณะเข้าคิวรอซื้อยา ผมสังเกตว่าสิ่งที่ลูกค้ามาเอาจากเขาไม่ใช่ยา แต่มารับฟังคำแนะนำและทางเลือกในการบำบัดอาการป่วยต่างๆ ซึ่งเขาจะฟังอย่างตั้งใจและอธิบายให้อย่างใจเย็น แค่สองอย่างนี้คือมีคนฟังอย่างตั้งใจมีคนอธิบายให้อย่างใจเย็นมันก็คุ้มแล้วสำหรับการมายืนต่อคิวซื้อสินค้าในร้านของเขา

ที่เล่าให้ฟังก็เพื่อจะชี้ประเด็นว่าเภสัชกรอิสระที่ทำร้านขายยาอยู่เป็น Health Care Provider (HCP) ที่มีความสำคัญมากที่สุด เข้าถึงได้ง่ายที่สุด และทำงานเจาะกลุ่มประชาชนที่มี motivation สูงที่สุด เพราะจะมีใครสนใจการดูแลสุขภาพของตัวเองมากไปกว่าคนที่กำลังมีอาการป่วยจนต้องหาซื้อยามากินเล่า ถ้าคุณมองเห็นเหมือนผม คุณสนใจจะใช้ศักยภาพตรงนี้ของตัวเองไหมละ ดังนั้นผมแนะนำว่าให้คุณเลิกสนใจเพื่อนร่วมงานและลูกน้องเก่าเสียเถอะ เขาจะเอาหัวเดินต่างตีนก็ช่างเขาเถอะ ไปสนใจค่อนแคะเขาคุณก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา หันมาโฟกัสการจะใช้ศักยภาพของคุณในการทำอะไรสร้างสรรค์อย่างที่คุณอยากจะทำดีกว่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

10 มกราคม 2567

จะฉีดยา Semaglutide เพื่อลดน้ำหนักดีไหม

(ภาพวันนี้ / กุหลาบเหลืองกลางดงคอสมอส)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

อาจารย์คะ

หมอที่รักษาดิฉันแนะนำให้ฉีดยา …(semaglutide) ลดน้ำหนัก ท่านบอกว่าเป็นยาลดน้ำหนักที่ดีกว่าวิธีลดน้ำหนักทุกวิธีที่เคยมีมา มันจริงไหมคะ และว่ามันเป็นยาอายุวัฒนะและรักษาโรคสมองเสื่อมได้ด้วย อยากปรึกษาคุณหมอสันต์แบบ second opinion ว่าดิฉันควรจะเริ่มฉีดยารักษาโรคอ้วนตามที่คุณหมอของดิฉันแนะนำดีไหม

ขอบพระคุณค่ะ

……………………………………………………….

ตอบครับ

ปกติผมจะไม่ตอบคำถามเรื่องยา เบื้องหน้า นั้น เป็นเพราะแนวทางการแก้ปัญหาโรคเรื้อรังของผมไม่ใช่การใช้ยา แต่เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิต เบื้องหลัง นั้น เป็นเพราะเรื่องยาก็ดี เรื่องวัคซีนก็ดี เป็นพื้นที่อันตราย ซึ่ง ม. ออกกฎห้ามมิให้ผมไปเกี่ยวข้องด้วย แต่ผมเห็นว่าการตอบจดหมายของคุณเป็นโอกาสให้ผมได้ทบทวนภาพใหญ่ของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคเบาหวานและโรคอ้วนซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่

ยาที่คุณถามมานั้นผมขอใช้แต่ชื่อเซมากลูไตด์ (semaglutide) ซึ่งเป็นชื่อทางเภสัชวิทยาหรือ “ชื่อจริง (generic name)” ของมันนะ จะไม่ใช้ชื่อการค้า (Trade name) เพื่อป้องกันปัญหาการกระทบผลประโยชน์ใครเข้า เพราะไม่ใช่เจตนาของผมที่จะเขียนบล็อกเพื่อทุบหม้อข้าวใคร

การจะเข้าใจกลไกการออกฤทธิ์และผลข้างเคียงของยาตัวนี้ผมขอปูพื้นให้เข้าใจกลไกการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความอยากอาหารของมนุษย์เราก่อน ซึ่งอย่างน้อยต้องรู้จักฮอร์โมนตัวสำคัญ 3 ตัว คือ

อินสุลิน (insulin) เป็นฮอร์โมนที่คอยวัดระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือด มีหน้าที่ในยามมีอาหารการกินเหลือเฟือ กล่าวคือถ้าพบว่ามีน้ำตาลหรือไขมันในเลือดมากก็จะ (1) สั่งให้เซลล์ทั่วร่างกายเปิดรับเอาน้ำตาลและไขมันจากภายนอกเซลล์เข้าไปในเซลล์ (2) กระตุ้นให้เซลล์เผาผลาญกลูโค้สออกมาเป็นพลังงาน (3) ถ้าน้ำตาลต่ำก็ทำให้หิว ถ้าน้ำตาลสูงก็ทำให้อิ่ม

กลูคากอน (glucagon) เป็นฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ตรงกันข้ามกับอินสุลิน ซึ่งมีหน้าที่ในยามขาดแคลนอาหาร กล่าวคือมันจะออกฤทธิ์ (1) สั่งให้ตับสลายเอาแป้งสำรอง(ไกลโคเจน)ออกมาเป็นกลูโค้สแล้วปล่อยออกมาในกระแสเลือด (2) ระงับไม่ให้เซลล์สร้างพลังงานจากกลูโค้สซึ่งกำลังขาดแคลน (3) โปรโมทการสร้างกลูโค้สผ่านวิถีใหม่ (de novo gluconeogenesis) คือแทนที่จะใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบก็เปลี่ยนไปใช้โมเลกุลอื่นเช่นใช้กลีเซอรอลที่ได้จากไขมันไตรกลีเซอไรด์แทน เป็นต้น (กลไกนี้ถูกระงับโดยยาเบาหวานบางตัวเช่น metformin)

อินครีติน (incretin) เป็นฮอร์โมนผู้ช่วยของอินสุลินที่มีฤทธิ์เหมือนอินสุลิน มันช่วยอินสุลินได้จากการที่ (1) เมื่อน้ำตาลในเลือดสูงสมองจะสั่งระงับการปล่อยอินสุลิน แต่การปล่อยฮอร์โมนอินครีตินไม่ถูกระงับโดยการเพิ่มระดับน้ำตาล ทำให้มันยังช่วยทำหน้าที่แทนอินสุลินทำงานได้ (2) มันระงับการทำงานของกลูคากอนได้โดยเข้าไปปิดตัวรับกลูคากอนทำให้กลูคากอนออกฤทธิ์ไม่ถนัด เหตุที่มันทำอย่างนี้ได้เพราะมันมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกลูกากอน ดังนั้นมันจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า glucagon like peptide-1 (GLP-1) (3) มันทำให้อิ่ม

ยาเซมากลูไตด์ที่คุณถามมานี้ มันเป็นยาฉีด ซึ่งมีฤทธิ์เสริมการทำงานของ GLP-1 ซึ่งเป็นผู้ช่วยของอินสุลินนั่นเอง

เอาละ จบเรื่องเบสิกแล้ว คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

1.. ถามว่ายาเซมิกลูไตด์นี้เป็นยาลดความอ้วนที่ดีกว่าการลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นที่เคยมีมาก่อนหน้าทั้งหมดจริงไหม ตอบว่าไม่จริงหรอกครับ เพราะยังไม่มีงานวิจัยเปรียบเทียบการลดน้ำหนักด้วยยาฉีดเซมิกลูไตด์กับวิธีลดน้ำหนักวิธีอื่นไม่ว่าจะวิธีใดๆ มีแต่ข้อมูลเปรียบเทียบกับการกินยาหลอก จึงยังไม่มีข้อมูลอะไรจะมาพูดได้ว่ายานี้ดีกว่าการลดน้ำหนักวิธีอื่น ในอนาคตก็คงจะไม่มีข้อมูลนี้ อย่างน้อยก็คงไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบการกินยากับการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต เพราะใครที่ไหนจะลงทุนทำวิจัยที่ทำให้ตัวเองขายยาไม่ได้

2. ถามว่ายาเซมากลูไตด์มีผลลดน้ำหนักได้จริงๆมากแค่ไหน ตอบว่างานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสซึ่งรวมเอางานวิจัยผู้ป่วยอ้วนที่ไม่ได้เป็นเบาหวานทั้งหมดที่ทำมาก่อนหน้านี้ มีผู้ป่วยรวม 3613 คน แบ่งเป็นกลุ่มฉีดยาจริงทุกสัปดาห์บ้างทุกวันบ้างรวม 2,350 คน อีกกลุ่มฉีดยาหลอก 1,263 คน ทำวิจัยอยู่นานเฉลี่ยประมาณ 1 ปี สรุปผลได้ว่ากลุ่มที่กินยาเซมิกลูไตด์ลดน้ำหนักเฉลี่ยได้มากกว่ากลุ่มฉีดยาหลอก 11.85% ซึ่งถือว่าลดได้เป็นเนื้อเป็นหนังพอสมควร แต่นี่เป็นการประเมินผลในระยะแค่ 1 ปีนะ ระยะยาวยังต้องตามดูกันอีกยาวไกล เพราะแค่ทำมาประมาณหนึ่งปีงานวิจัยนี้ก็พบว่ากลุ่มผู้ฉีดยาจริงมีอัตราเลิกฉีดยาไปกลางคันเพราะทนผลข้างเคียงของยาไม่ไหวมากกว่ากลุ่มฉีดยาหลอก 2 เท่า และเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมากกลุ่มฉีดยาหลอก 1.6 เท่า (นิยามภาวะแทรกซ้อนรุนแรงว่าคือ ตาย, หรือต้องเข้ารักษาตัวในรพ., หรือต้องอยู่รพ.นานขึ้น, หรือพิการหรือทุพลภาพหรือไร้สรรถภาพ, หรือทำให้พิการแต่กำเนิด) ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยเป็นเรื่องระบบตับ ตับอ่อน และน้ำดี (ซึ่งเป็นอวัยวะเป้าหมายของฮอร์โมนครีเอติน)

3.. ถามว่าหมอสันต์แนะนำว่าควรฉีดยาเซมากลูไตด์เพื่อลดน้ำหนักไหม ตอบว่าหมอสันต์เป็นแพทย์เวชศาสตร์วิถีชีวิต (lifestyle medicine doctor) แปลไทยให้เป็นไทยว่าคือหมอที่ช่วยให้คนไข้รักษาโรคเรื้อรังของตัวเองด้วยการเปลี่ยนวิถีชีวิตแทนการใช้ยา มุ่งลดละเลิกการใช้ยา หากจะใช้ยาก็ใช้เมื่อจำเป็นอย่างแท้จริง ดังนั้นคำตอบของหมอสันต์ก็คือให้เปลี่ยนวิถีชีวิตทั้งการกินการออกกำลังกายการจัดการความเครียดให้มันเต็มที่สุดความสามารถก่อน และให้เวลาตัวเองล้มแล้วลุกๆ อย่างนานเกินพอ อย่าเพิ่งไปคิดถึงการใช้ยา อย่างเช่นยาเซมากลูไตด์นี้มีงานวิจัยเปรียบเทียบเล็กๆชิ้นหนึ่งซึ่งเชื่อถือได้พบว่ากลุ่มที่กินยาจริงกินอาหารน้อยลงกว่ากลุ่มกินยาหลอก แนวทางการแก้ปัญหาของผมคือถ้าคุณอยากจะได้ผลดีข้อที่กินน้อยลงนี้คุณก็รูดซิปปากของคุณเสียเองสิครับ ผมหมายถึงว่าเช่นการทำ IF เป็นต้น ผมไม่แนะนำให้ใครใช้ชีวิตแบบตามใจปากแล้วไปหายามากินหรือฉีดแก้ปัญหาที่เกิดจากการตามใจปากของตัวเอง เพราะการแก้ปัญหาด้วยยามันแก้ได้เพียงชั่วคราว หากยานั้นเป็นยาดีที่สุดที่คนกินคนฉีดทุกคนทนยาได้ (ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาดีขนาดนั้น) แม้จะเป็นยาดีที่สุดที่คุณทนยาได้นานหลายปีคุณก็ยังต้องฉีดยานั้นไปตลอดชีวิตอยู่ดี หยุดฉีดเมื่อไหร่ก็อ้วนเมื่อนั้นเพราะเหตุของการอ้วนของคุณคือวิถีชีวิตที่ผิดพลาดมันยังอยู่ ผมจึงไม่แนะนำให้เลือกทางนั้น

อีกอย่างหนึ่ง นี่เป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ของจริงเลยนะครับ คือยังไม่มียาตัวไหนที่จะเปลี่ยนนิสัยการเสพย์ติดอาหารได้ ไม่ว่าจะเป็นยาจิตเวชทุกชนิดและยาเซมากลูไตด์นี้ก็ไม่เว้น ปัญหาการเสพย์ติดอาหารจะต้องแก้โดยการเปลี่ยนนิสัยตัวเองให้สำเร็จเท่านั้น

4.. ถามว่ายาเซมากลูไตด์รักษาสมองเสื่อมและทำให้อายุยืนจริงไหม ตอบว่าข้อมูลที่คุณได้รับมานั้นเป็นผลวิจัยในหนูทดลอง ซึ่งเป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ระดับต่ำที่วงการแพทย์ไม่ได้นำมาใช้รักษาผู้ป่วย หมอสันต์ไม่รับวิเคราะห์หรือวิจารณ์ผลวิจัยในสัตว์ทดลอง เพราะเดี๋ยวพวกหมอหรือนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันจะมองเห็นหมอสันต์เป็นคนบ้องตื้น ไม่รู้จักแม้กระทั่งวิธีจัดชั้นของหลักฐานวิทยาศาสตร์ ผมจึงขอไม่ตอบคำถามนี้ว่าจริงหรือไม่จริง

ปล. ถ้าเกิดคุณพบยาแก้สมองเสื่อมขึ้นมาจริงๆ ขอผมสักเม็ดนะ หิ..หิ ผมก็จำเป็นต้องใช้เหมียนกัล..ล

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Tan HC, Dampil OA, Marquez MM. Efficacy and Safety of Semaglutide for Weight Loss in Obesity Without Diabetes: A Systematic Review and Meta-Analysis. J ASEAN Fed Endocr Soc. 2022;37(2):65-72. doi: 10.15605/jafes.037.02.14. Epub 2022 Aug 23. PMID: 36578889; PMCID: PMC9758543.
[อ่านต่อ...]

04 มกราคม 2567

อย่ารีบประเมินหัวใจเอาจากการแน่นหน้าอกหายใจไม่อิ่มเมื่ออยู่บนที่สูง

(ภาพวันนี้ / สร้อยสายเพชร)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

เรียนคุณหมอสันต์

หญิงไทยวัย65 น้ำหนัก 63 กก สูง 160ซม. มีโรคประจำตัว คือ1. ภูมิแพ้ผิวหนังมีตุ่มคันรักษามา20ปีแล้ว  2.ปวดหลังกระดูกพรุนต้องฉีดยามา2ปีแล้ว 3.มีไขมันสูงพึ่งรักษา 4.แถมมีเส้นเลือดขอดแต่ยังไม่รักษา ได้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของคุณหมอ8ข้อได้หมด ยกเว้นสมาธิแค่เตาะแตะ ขึ้นลงกระไดได้7ชั้นขึ้นไปทำงานพาร์ไทม์ เพื่อเก็บเงินเที่ยว จนกระทั่งไปปีนเขาสูงแล้วแน่นหน้าอกเหมือนถูกกดทับ มีเจ็บจิ๊ดๆบ้างแต่ไม่ร้าวไปที่ใด เหนื่อยมาก ต้องหยุดพักเป็นระยะๆ

           จึงไปรับการตรวจ Echo ผลลิ้นหัวใจรั่วหมดทุกลิ้น โดยเฉพาะMV ระดับmoderate แพทย์นัด CAG 5มค67หากพบว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบก็จะทำการใส่บอลลูนให้เลย และอาจต้องเปลี่ยนลิ้นเป็นลำดับต่อไป จึงขอเรียนถามคุณหมอเพื่อประกอบการตัดสินใจว่า

           ถ้าต้องทำบอลลูนและหรือซ่อมลิ้นแล้ว จะดำเนินชีวิตแตกต่างกันไหมระหว่างทำกับไม่ทำ คือถ้าทำแล้วสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยมีการดูแลตนเองไม่ยุ่งยากนัก ถ้ายุ่งยากและเสี่ยงสูงก็จะอยู่แบบหัวใจรั่วๆแบบนี้แหละก็มีความสุขดีแล้ว เพียงแต่ไม่ปีนเขาที่ความสูง3000เมตรและออกซิเจนเบาบางก็น่าจะอยู่ได้

                ขอกราบขอบพระคุณอย่างสูงที่ช่วยดูแลสุขภาพ ขอผลบุญทำให้คุณหมอและครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ มีความสุขความเจริญ สมหวังในสิ่งปรารถนา มีพละกำลังมากมายถ่ายทอดความรู้ในการดูแลตนเองให้กับปชช.ได้ยาวนานๆๆ

…………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าไปเที่ยวบนภูเขาสูงแล้วหอบเหนื่อยหายใจไม่อิ่มเป็นเพราะมีโรคหัวใจระดับต้องผ่าตัดแก้ไขซ่อนอยู่ใช่ไหม ตอบว่ามันเกิดได้จากสองสาเหตุ สาเหตุที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ โรคปอดบวมน้ำจากความสูง (high-altitude pulmonary edema – HAPE) ซึ่งมีอาการหอบเหนื่อยหายใจไม่อิ่ม ทั้งนี้เกิดจากกลไกหลักของโรคคือหลอดเลือดที่ปอดหดตัวจนแลกเปลี่ยนออกซิเจนไมไ่ด้ (hypoxic pulmonary vasoconstriction) ถ้าไม่ตายเสียก่อนเมื่อลงจากที่สูงได้แล้วอาการก็จะหายไป ไม่เกี่ยวอะไรกับหัวใจเลย ส่วนโอกาสที่จะไปหอบเพราะโรคหัวใจหรือหัวใจล้มเหลวนั้นต้องเป็นโรคหัวใจระดับมากอยู่ก่อน แต่ของคุณตามผลตรวจ Echo ที่ส่งมาให้ดูหัวใจห้องล่างซ้ายยังทำงานได้ปกติดีมาก (EF 70%) เทียบเท่าคนไม่ได้เป็นโรคหัวใจเลย

2. ถามว่าหากผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจแล้วจะมีผลอะไรกับชีวิตบ้าง ตอบว่า (1) ผลที่แรงที่สุดคือการตายจากการผ่าตัดซึ่งพบได้ 1-2.5% นี่ยังไม่นับภาวะแทรกซ้อนระดับไม่ตายแต่คางเหลืองเช่นเลือดออกในสมอง เป็นอัมพาต ไตวาย ซึ่งมักพบรวมๆกันอีกประมาณ 2.5-5% (2) ผลแรงรองลงมาคือการกินยากันเลือดแข็งตลอดชีวิต (3) ผลที่แรงรองลงไปอีกคือการต้องกลับมาผ่าตัดใหม่เพราะลิ้นเทียมที่ใส่ไปมันขี้มักจะไม่ดีเท่าลิ้นจริง บัดเดี๋ยวรั่ว บัดเดี๋ยวตีบ บัดเดี๋ยวติดเชื้อ เป็นต้น

3. ถามว่าจากภาพ Echo ที่ส่งมามีความจำเป็นต้องผ่าตัดลิ้นหัวใจไหม ตอบว่าการตัดสินใจผ่าตัดลิ้นหัวใจมีประเด็นพิจารณา 2 ประเด็นคือ (1) คุณภาพชีวิต (2) ความยืนยาวของชีวิต

ประเด็นคุณภาพชีวิต การผ่าตัดจะได้ประโยชน์เชิงคุณภาพชีวิตก็ต่อเมื่อมีอาการให้บรรเทา กรณีของคุณนี้คุณไม่ได้มีอาการอะไรให้บรรเทา อาการการหอบแน่นหน้าอกเมื่อขึ้นภูเขาสูงเอามีพิจารณาประกอบไม่ได้ไม่เกี่ยวกัน พวกนักปีนเขาที่หัวใจดีๆก็ตายคาที่มานักต่อนักแล้วโดยไม่เกี่ยวกับหัวใจ ต้องประเมินจากอาการในการใช้ชีวิตปกติ ถ้าในชีวิตปกติคุณไม่มีอาการอะไรเลย ประโยชน์ในแง่คุณภาพชีวิตก็คือ…ไม่มีเลย

ประเด็นความยืนยาวของชีวิต ต้องพิจารณาเอาจากความรุนแรงของโรค ซึ่งเป็นเรื่องลึกซึ้ง ผล Echo ที่คุณส่งมาที่คุณบอกว่ารั่วทุกลิ้นนั้นตามรายงานจริงที่รั่วอย่างมีนัยสำคัญมีสองลิ้นคือลิ้นเอออร์ติก (รั่วน้อยถึงปานกลาง)และลิ้นไมทรัล (รั่วปานกลางถึงรั่วมาก) แต่นี่เป็นการประเมินภาพการไหลย้อน (jet) ของเลือดที่เห็นจากเสียงสะท้อนอย่างเดียว ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนได้มาก ต้องประเมินควบคู่กับข้อมูลส่วนอื่น เช่นการที่กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายยังทำงานดีมากแสดงว่าการรั่วของลิ้นทั้งสองไม่มีความรุนแรงเลย และเมื่อตามไปดูความดันของหลอดเลือดในหัวใจห้องบนซ้ายและในปอดก็ยังต่ำดีอยู่ แสดงว่าข้อมูลจากการเห็น jet ว่าลิ้นไมทรัลรั่วระดับรุนแรงนั้นขัดแย้งกับข้อมูลความดันในห้องต่างๆของหัวใจและขัดแย้งกับผลการตรวจวัดการทำงานของหัวใจ ตัวผมเองประเมินว่าการรั่วของลิ้นทั้งสองไม่รุนแรง การผ่าตัดจะไม่เพิ่มความยืนยาวของชีวิตเพราะมีงานวิจัยยืนยันแล้วว่าในคนที่การทำงานของหัวใจห้องล่างซ้ายยังปกติการผ่าตัดแก้ลิ้นหัวใจรั่วสำหรับคนไม่มีอาการอะไรจะไม่เพิ่มความยืนยาวของชีวิตให้คนไข้ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อผ่าตัดเข้าไปแล้วก็มีแนวโน้มที่จะถูกเปลี่ยนสองลิ้นทั้งๆที่ลิ้นเอออร์ติกนั่นแน่ชัดว่ายังรั่วไม่มากถึงขั้นที่จะต้องเปลี่ยน แต่เมื่อผ่าเข้าไปแล้วแพทย์มักจะตัดสินใจเปลี่ยนไปซะด้วยคราวเดียวเพราะการต้องมาทำผ่าตัดซ้ำอีกรอบมันทำยากและอัตราตายสูง

กล่าวโดยสรุปผมมีความเห็นว่าเทียบประโยชน์ที่จะได้กับความเสี่ยงแล้ว การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจไม่คุ้มค่าที่จะทำ

3.. ถามว่าการฉีดสีสวนหัวใจ (CAG) เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีความจำเป็นไหม ตอบว่าหากคิดจะผ่าตัดลิ้นหัวใจก็ต้องตรวจสวนหัวใจก่อนเพราะเป็นความปลอดภัยของการผ่าตัดลิ้นหัวใจ หากพบหลอดเลือดตีบก็ต้องแก้ไขทั้งสองอย่างไปพร้อมกัน คือแก้ทั้งลิ้นและทั้งหลอดเลือด

ถ้าไม่ผ่าตัดลิ้นหัวใจ ก็ไม่ต้องสวนหัวใจ เพราะในกรณีของคุณไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าคุณเป็นโรคหัวใจขาดเลือดถึงขั้นต้องลงมือทำบอลลูนหรือทำผ่าตัดบายพาสกันเดี๋ยวนี้ ควรลงมือจัดการปัจจัยเสี่ยงต่างๆไปก่อนแล้วค่อยประเมินคุณภาพชีวิต (อาการเจ็บหน้าอกขณะออกแรง) จากการใช้ชีวิตปกติก่อน แล้วค่อยคิดอ่านเรื่องการรักษาแบบรุกล้ำภายหลังจะดีกว่า

สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

02 มกราคม 2567

การใช้พืชบดแทนเนื้อสัตว์ (เนื้อเทียม) เพื่อเปลี่ยนจากกินสัตว์มากินพืชเป็นหลัก

(ภาพวันนี้ / เล้าไก่เก็บสมบัติบ้า กำลังรอเวลาถูกรื้อทิ้ง แต่ยังหาเวลาไม่ได้)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกที่ภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

กราบเรียนคุณหมอ

หนูออกจากงานมาดูแลสามีซึ่งเป็นโรคหัวใจ เราเป็นแฟนพันธุ์แท้ของคุณหมอทั้งคู่ หนูตัดสินใจเปลี่ยนอาหารในบ้านจากที่เคยกินเนื้อสัตว์เป็นหลักมาเป็นกินแบบ plant base โดยเอาโปรตีนเกษตรแทนเนื้อสัตว์ แต่ไปไม่รอดเพราะทำแล้วไม่มีคนกิน ลูกๆก็ประท้วงออกไปกินนอกบ้านหรือซื้อของเซเว่นมากิน งอแงกันว่าขาดโปรตีน และไม่ต้องการกินสารกันบูดจากโปรตีนเกษตร อะไรที่เขียนไว้ในฉลากอาหารเช่น INS1414 เขาก็ว่าเป็นสารอันตราย มันจริงไหมคะ ถ้าจริงทำไมเขาปล่อยให้ขายกันเกร่อ และหนูอยากถามว่าทำไมหนูทำไม่สำเร็จคะ ทั้งๆที่ฝีมือการทำอาหารของหนูก็ว่าของหนูไม่เป็นรองใครอยู่แล้ว

……………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าทำไมเปลี่ยนอาหารในบ้านเป็น plant based ไม่สำเร็จ ตอบว่าเพราะคุณเปลี่ยนด้วยวิธีหักดิบ คนในบ้านเขาช็อก เขาจึงไม่เอาด้วย คุณเป็นคนพันธ์นิยมความบริสุทธิ์ (purity) ไม่ 100% ก็ต้อง 0% ไปเลย คนอย่างนี้ยากที่จะทำอะไรสำเร็จ ชีวิตทางโลกมันต้องมองจากมุมมองว่าระหว่างขาวกับดำมันเป็น spectrum ของความเป็นเทาอ่อนไปเทาเข้ม จากตรงนี้ไปตรงนั้นควรค่อยๆไปตามกำลัง ได้แค่ไหนเอาแค่นั้นก่อน อย่างนี้จึงจะสำเร็จ ผมแนะนำว่าให้คุณใจเย็นเปลี่ยนมาสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นตอนดังนี้

1.1 เปลี่ยนทีละมื้อให้ได้ในวันเดียวก่อน แล้วขยายไปเป็นหลายวัน ยกตัวอย่างเช่นคุณเลือกวันอังคารก่อน เฉพาะวันอังคารคุณเริ่มเปลี่ยนทีละมื้อ เช่นเปลี่ยนมื้อเช้าก่อน อาจจะใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์กว่าจะสำเร็จ สำเร็จแล้วค่อยขยายไปเป็นเช้าและกลางวัน สำเร็จแล้วค่อยขยายเป็นเช้ากลางวันเย็น สำเร็จแล้วจึงขยายวันเป็น อังคาร กับ พฤหัส จากนั้นจึงเป็น จันทร์ถึงเสาร์โดยเว้นวันอาทิตย์ไว้วันหนึ่ง เป็นต้น

1.2 เริ่มด้วยการเอาพืชบดแทนเนื้อหรือที่คุณเรียกว่าเนื้อเทียมนั่นแหละเข้ามาแทนเนื้อจริงเพียงบางส่วนก่อน ไม่ใช่แทนตูมเดียวหมด แล้วค่อยๆลดเนื้อสัตว์จริงๆลง เพิ่มพืชบดแทนเนื้อมากขึ้นๆ จนไม่มีเนื้อสัตว์เลยในที่สุด

1.3 ใช้พืชบดแทนเนื้อให้หลากหลายยี่ห้อ อย่าไปอิงแต่โปรตีนเกษตรอย่างเดียว เพราะรสมันจะซ้ำซากจำเจ โปรตีนเกษตรทำจากถั่วเหลือง ลองยี่ห้ออื่นที่ทำจากพืชอื่น เช่น Meat Zero ซึ่งทำจากข้าวสาลี หรือ Beyond Meat ซึ่งทำจากข้าวกล้องและถั่วที่หลากหลาย เป็นต้น ใช้หลายๆยี่ห้อเพื่อหลีกรสชาติที่ซ้ำซาก

1.4 เมื่อหยุดเนื้อสัตว์ได้สัปดาห์ละ 6 วันแล้วให้ค่อยๆเอาพืชธรรมชาติเช่นถั่วต่างๆ เห็ด เต้าหู เทมเป้ นัตโตะ ขนุน เข้ามาแทนพืชบดแทนเนื้อสัตว์ทีละน้อย เพราะพืชธรรมชาติแม้จะดีกว่าแต่ก็มักไม่ถูกปากผู้คุ้นเคยกับเนื้อสัตว์เท่าพืชบดแทนเนื้อสัตว์ จึงต้องเอาเข้ามาตอนท้ายสุดแม้จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ค่อยๆเพิ่มพืชธรรมชาติขึ้นจนเหลือพืชบดแทนเนื้อสัตว์ให้น้อยที่สุดหรือจนไม่ใช้เลยได้ยิ่งดี

1.5 เก็บวันอาทิตย์ไว้หนึ่งวันสำหรับอาหารที่คนในบ้านอยากกิน อย่าเร่งรัดเอาผล 100% เพราะพวกเขาจะยอมรับไม่ได้ ถ้าได้หกวันก็คือ 85% แล้ว พอแล้ว อย่าโลภมาก ยกเว้นหากคนในบ้านรวมหัวประท้วงไม่กินเนื้อสัตว์คุณค่อยเปลี่ยนวันอาทิตย์ด้วย

2. ถามว่ากินอาหารพืชเป็นหลักจะได้โปรตีนไม่ครบถ้วนจริงไหม ตอบว่าไม่จริงครับ พืชทุกชนิดมีกรดอามิโนจำเป็นครบถ้วน ไม่เคยมีรายงานว่ามีคนไข้เป็นโรคขาดโปรตีนจากการกินพืชเป็นหลัก ผมเคยเขียนถึงหลักฐานวิทยาศาสตร์ในเรื่องเหล่านี้ไปบ่อย คุณหาอ่านของเก่าดูได้ มีประเด็นนิดหนึ่งว่าถ้าผอมอยู่แล้วให้ระวังจะขาดแคลอรี่ เพราะถ้าขาดแคลอรี่ร่างกายจะไปสลายเอากล้ามเนื้อออกมาเป็นตัวให้พลังงานแทนทำให้ยิ่งกินอาหารแคลอรี่ต่ำยิ่งผอมลง ให้แก้ด้วยการกินอาหารให้แคลอรี่เช่นคาร์โบไฮเดรตและไขมันไม่อิ่มตัวจากพืชมากขึ้น

3. ถามว่ากินแต่พืชจะขาดวิตามินแร่ธาตุจริงไหม ตอบว่าหากคุณทำตามแผนที่ผมว่ามาจนถึงเหลือวันอาทิตย์วันเดียวไว้ตามใจปาก คุณไม่ต้องห่วงว่าจะขาดอะไรทั้งสิ้น แม้วิตามินบี.12 ก็ไม่ต้องกลัวขาด แต่หากคุณทำงานได้ผลดีเลิศจนลูกบ้านไม่ยอมแตะเนื้อสัตว์เลยทั้ง 7 วัน ผมแนะนำให้ทุกคนกินวิตามินบี.12 ทดแทนเพราะวิตามินบี.12 เป็นสารอาหารอย่างเดียวที่ไม่มีในพืชยกเว้นสาหร่ายทะเลและจุลินทรีย์ในอาหารหมักกลุ่มโปรไบโอติก

4. ถามว่าเนื้อสัตว์ปลอมทุกชนิดต้องใช้สารกันบูด (preservatives) ใช่ไหม ตอบว่าคุณเข้าใจผิดแล้วครับ สมัยนี้ไม่มีใครทำพืชบดแทนเนื้อสัตว์โดยใช้สารกันบูดกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไนไตรท์ ซัลไฟท์ หรือเบ็นโซเอท ไม่มีใครใช้ดอก อย่างน้อยสามยี่ห้อที่ผมพูดถึงข้างต้นก็ไม่ใช้แน่นอน ยี่ห้ออื่นคุณก็อ่านฉลากเอาเองได้ว่าเขาใส่อะไรบ้าง

6. ถามว่าบรรดาพืชบดแทนเนื้อหรือเนื้อเทียมในตลาดเขาทำมาจากอะไรกันบ้าง ตอบว่าสุดแล้วแต่สไตล์ของแต่ละยี่ห้อ แต่ละบริษัท อย่างเช่น

โปรตีนเกษตร (ของม.เกษตร) ทำจากถั่วเหลืองที่บีบเอาน้ำมันออกไปแล้ว

Beyond meat อาศัยโปรตีนจากถั่วต่างๆและข้าวกล้อง ได้ไขมันจากน้ำมันมะพร้าว โกโก้ และคาโนลา ได้คาร์โบไฮเดรตจากแป้งมันฝรั่ง ใช้น้ำแอปเปิลเพิ่มรส เพิ่มธาตอาหารเช่นเหล็ก แคลเซียม โปตัสเซียม และใช้บีทรูทเป็นตัวให้สี

ส่วน Meat Zero ใช้ข้าวสาลีเป็นตัวให้ทั้งโปรตีนและไขมัน แล้วใส่เครื่องปรุงรสเช่นเกลือไอโอดีน ซีอิ้วหวาน ยีสต์ ใส่สีของบีทรูท เข้าไปด้วย เป็นต้น

5. ถามว่าสารเคมีที่ใส่เพิ่มเข้าไปมีชื่อเป็นตัวเลขเช่น INS 1414 คืออะไร มีพิษต่อร่างกายไหม ตอบว่าสิ่งที่เรียกรวมๆว่าสารเพิ่มในอาหาร (additives) นั้นทั่วโลกตกลงกันตั้งชื่อเรียกให้เหมือนๆกันเป็นระบบ และรับรองขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวที่แนนอนว่าปลอดภัยใช้เป็นอาหารได้ไว้ เรียกระบบนี้ว่า INS ย่อมาจาก International Numbering System For Food Additives แปลว่าคำย่อสากลสำหรับสารที่ใส่เพิ่มเข้าไปในอาหาร บางครั้งมีตัว E นำหน้า หมายถึงเป็นเกณฑ์เรียกของยุโรป บางครั้งมีตัว A นำหน้า หมายถึงเป็นเกณฑ์เรียกของออสเตรเลีย ผมยกตัวอย่างให้ดูตัวที่เขาใช้กันบ่อยๆ รายละเอียดอื่นๆคุณหาอ่านดูในเว็บไซท์ขององค์การอาหารและเกษตรโลก (FAO) เอาเอง ทั้งหมดนี้เป็นอาหารที่ไม่มีอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ เช่น

INS 401 คือ Sodium alginate (ซึ่งแยกย่อยไปได้อีกเช่น E402 = Potassium alginate, E403 = Ammonium alginate, E404  = Calcium alginate, E405 = Propylene glycol alginate ทั้งหมดนี้เป็นสารกลุ่ม hydrocolloid ที่ได้จากผนังเซลของสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล เป็นสารทำให้คงรูปหรือทำให้เป็นเจลแบบทนร้อนเช่นเดียวกับพวกผงวุ้น เจลาติน คาร์ราจีแนน กัวกัม และแป้ง

INS 414 คือ Gum Arabic เป็นแป้งชนิด polysaccharide ที่ได้จากอาหารแป้งตามธรรมชาติซึ่งร่างกายมนุษย์ย่อยไม่ได้แต่จุลินทรีย์ย่อยได้ ใช้สร้างความคงรูปให้อาหาร 

INS 407 และ INS 450 คือโมเลกุล carrageenan จากสาหร่ายทะเล ใช้สร้างความหนืดให้อาหาร

INS 461 คือผนังเซลพืชหรือ cellulose เพื่อสร้างความคงรูป สร้างความหนืด แขวนลอย ป้องกันจับเป็นก้อน และใช้เป็นตัวเติมปริมาณ (filler) ให้ของปริมาณน้อยกลายเป็นปริมาณมาก

INS 516 คือแป้ง gypsum เป็นเกลือแคลเซียมกับกรดซัลฟุริก ใช้ลดการจับเป็นก้อน

INS 1414 แป้งจากอาหารธรรมชาตินำมาดัดแปลงโมเลกุลให้เป็น acetyl distarch phostate

INS 1420 คือแป้งชื่อ starch acetate ใช้เป็นตัวสร้างความคงรูป คงสถานะแขวนลอย หรือทำให้อาหารข้นหนืดขึ้น

Maltodextrin คือแป้งช่วยกลืน หมายความว่าเป็นคาร์โบไฮเดรตที่มาในรูปผงสีขาวจากข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี มันฝรั่ง เอามาต้มก่อนแล้วใส่เอ็นไซม์เพื่อลดขนาดโมเลกุลให้เล็กพอละลายน้ำได้และไม่มีรส ใช้ช่วยเพิ่มความหนืดให้อาหารเหลวเพื่อการกลืนได้ง่ายขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นอาหารปลอดภัย ไม่มีพิษภัยใดๆต่อร่างกาย

บทส่งท้าย

พืชบดแทนเนื้อสัตว์ หรือเนื้อเทียม ที่มีขายนับรวมมากกว่าสิบยี่ห้อในตลาดทุกวันนี้ เป็นอาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์มากตรงที่ช่วยให้การเปลี่ยนผ่านจากการกินอาหารเนื้อสัตว์เป็นหลักมากินอาหารพืชเป็นหลักเป็นไปได้ง่ายขึ้น ผมแนะนำให้ท่านที่มีปัญหาในการเปลี่ยนอาหารจากสัตว์เป็นพืชลองเอาพืชบดแทนเนื้อสัตว์มาใช้ช่วยในการเปลี่ยนผ่านดู แต่ในระยะยาวแล้วอาหารแทนเนื้อสัตว์ที่ดีที่สุดคืออาหารพืชธรรมชาติ เช่น เห็ดต่างๆ ถั่วต่างๆ งา นัท เต้าหู้ เทมเป้ ถั่วเน่า ขนุน หัวปลีกล้วย เป็นต้น ปลายทางของการเปลี่ยนอาหารจากกินเนื้อสัตว์เป็นหลักมากินพืชเป็นหลักควรมุ่งไปที่การกินอาหารพืชธรรมชาติล้วนๆ อาศัยพืชบดแทนเนื้อสัตว์หรือเนื้อเทียมเป็นเพียงตัวช่วยเฉพาะในช่วงการเปลี่ยนผ่านรอให้ลิ้นคุ้นเคยเท่านั้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์   

[อ่านต่อ...]

01 มกราคม 2567

สารกันบูดชนิดเบ็นโซเอท (ฺBenzoates) ไม่ดีต่อสุขภาพจริงหรือ

(ภาพวันนี้ / สวนคอสมอสหน้าบ้านเพิ่งเริ่มออกดอก)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

เรียนคุณหมอสันต์

ดิฉันทำอาหารขาย (ผลไม้แห้ง) และต้องใช้ Benzoate ในการถนอมอาหารเพื่อให้อยู่บนหิ้งได้นาน แต่ลูกค้ารุมว่าใช้ทำไม มันทำให้เป็นมะเร็งบ้าง เป็นนั่นเป็นนี่บ้าง ดิฉันอยากทราบจริงๆว่า preservative ที่ใส่ในอาหารสำเร็จรูปเกือบทุกรายการบนหิ้งมันมีผลเสียต่อสุขภาพจริงหรือ ถ้ามีทำไมเขาอนุญาตให้ขายกันอยู่ได้ทั่วโลก

………………………………………………….

ตอบครับ

ก่อนอื่นขอสวัสดีปีใหม่แฟนๆก่อนนะครับ ปีนี้กลับมาเร็วเพราะต้องรีบมาเตรียมแค้มป์งานวิจัยอาหารไทยสุขภาพ

คำว่าสารกันบูด หรือ preservatives ถ้าจะแปลให้ตรงๆยิ่งขึ้นก็คือสารออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคนั่นเอง คือใส่เข้าไปในอาหารแล้วทำให้เชื้อจุลินทรีย์ตายหรืออยู่ในอาหารไม่ได้ เนื่องจากผู้บริโภครังเกียจคำว่าสารกันบูด ผู้ผลิตส่วนใหญ่จึงติดป้ายตัวเบ้งว่า No Preservatives แต่ของจริงก็มีตัวฆ่าเชื้อจุลินทรีย์อยู่ในอาหารนั้นโดยเลี่ยงไปแสดงชื่อเป็นอาหารกลุ่มอื่นแทน คุณเจาะจงถามมาเฉพาะ Benzoate แต่ผมขอพูดถึงสารกันบูดที่ใช้บ่อยและมีข้อกังวลเกี่ยวกับสุขภาพเสียคราวเดียวหลายตัวพร้อมกันไปเลยนะ

เกลือ (Salt) เป็นสารกันบูดยอดนิยมในอาหารสำเร็จรูป ซึ่งการจะให้เกลือฆ่าเชื้อได้ต้องเป็นระดับความเข้มข้นที่เค็มมาก นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่อาหารสำเร็จรูปไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพ เพราะมีเกลือมากเกินไป

การที่ผู้บริโภคที่ชอบรสเค้มแต่รังเกียจคำว่า “เกลือ” หรือคำว่า “โซเดียม” ในฉลากอาหารจึงใส่ชื่อเกลือในลักษณะที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นเกลือที่ไม่ก่อผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งในความเป็นจริงเกลือทุกชนิดทุกชื่อล้วนมีโซเดียมคลอไรด์เป็นส่วนประกอบหลักเหมือนกันหมดจึงมีผลต่อสุขภาพไม่ต่างกันในความเค็มที่เท่ากัน จะมียกเว้นก็เฉพาะเกลือโปตัสเซียม (potassium salt) ซึ่งให้ความเค็มได้เช่นกันแต่ช่วยลดความดันเลือดสูงลงได้ด้วย แต่การใช้ก็ต้องพึงระวังในผู้ป่วยที่แนวโน้มเกิดโปตัสเซียมคั่งในเลือดเช่นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังหรือผู้ใช้ยาขับปัสสาวะชนิดเก็บโปตัสเซียม เป็นต้น  

น้ำตาล (Sugar) เป็นสารกันบูดที่นิยมใช้รองลงมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในของกินเล่นและเครื่องดื่ม ซึ่งจะใช้ฆ่าเชื้อได้ต้องใช้ในความเข้มข้นสูงเช่นกัน คือสูงระดับ “แช่อิ่ม” น้ำตาลที่ใช้เพื่อการนี้เป็นน้ำตาลที่เพิ่มเข้ามา (added sugar) นอกเหนือจากน้ำตาลในอาหารธรรมชาติ จึงจัดเป็นของไม่ดีต่อสุขภาพโดยตรงเพราะไม่มีกากหรือใยอาหารมาคอยช่วยดูดซับฟรุ้คโต้สในน้ำตาลส่วนเพิ่มนี้ ทำให้ร่างกายได้รับฟรุ้คโต้สในความเข้มข้นสูงในเวลาสั้นๆจนตับเปลี่ยนเป็นกลูโค้สไม่ทันต้องเปลี่ยนเป็นไขมันยัดไว้ในเซลตับ ทำให้เกิดไขมันแทรกตับ อันเป็นปฐมเหตุของตับแข็งและมะเร็งตับ ปัญหานี้ไม่เกิดกับน้ำตาลในอาหารธรรมชาติที่มีกากมาด้วยพร้อมกัน เพราะกากเป็นตัวดูดซับไม่ให้ฟรุ้คโต้สถูกดูดซึมเร็วทำให้ตับมีเวลาพอที่จะเปลี่ยนฟรุ้คโต้สเป็นกลูโค้สซึ่งเป็นสารปลอดภัยได้ทัน

ปัจจุบันผู้บริโภคก็รังเกียจคำว่า “น้ำตาล” เช่นเดียวกับคำว่า “เกลือ” ผู้ผลิตจึงต้องเรียกน้ำตาลในชื่ออื่น งานวิจัยอาหารในตลาดอเมริกันพบว่ามีคำเรียกน้ำตาลแทนคำว่า sugar ถึงมากกว่าสองร้อยคำ จึงเป็นการยากที่จะคัดกรองอาหารโดยอาศัยคำว่าน้ำตาลอย่างเดียว การดูป้าย “No Added Sugar” อาจเป็นตัวช่วยที่สำคัญว่าอาหารนั้นไม่ได้ใส่น้ำตาลเพิ่มเข้ามานอกเหนือจากน้ำตาลในอาหารธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องระวังด้วยว่ากรณีเป็นอาหารรสหวานจากอาหารธรรมชาติก็จริง หากอาหารนั้นแยกเอากากทิ้งไป (เช่นน้ำผลไม้คั้นแบบทิ้งกาก) ก็ควรหลีกเลี่ยงเพราะการแยกกากทิ้งจะทำให้ไม่มีตัวดูดซับฟรุ้คโต้สจึงจะได้รับผลเสียจากน้ำตาลเหมือนกินน้ำตาลที่ใส่เพิ่มแม้จะเป็นน้ำตาลในอาหารธรรมชาติก็ตาม

ไนไตรท์ (Nitrite) ใช้ในการบ่ม (curing) อาหารเนื้อสัตว์เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม นอกจากจะฆ่าจุลินทรีย์ได้แล้วยังทำให้เนื้อที่บ่มเป็นสีชมพูน่ากิน แต่ไนไตรท์มีข้อเสียที่มันไปทำปฏิกริยากับโมเลกุลเอมีนในเนื้อสัตว์ทำให้เกิดสารตัวใหม่เรียกว่าไนโตรซามีนซึ่งถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็ง องค์การอนามัยโลกเองได้ประกาศให้อาหารกลุ่มไส้กรอก เบคอน แฮม เป็นสารก่อมะเร็งระดับ 1A (แปลว่าระดับเท่าบุหรี่) ในชีวิตจริงจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารทุกชนิดที่ใช้ไนไตรท์

ซัลไฟท์ (sulfite) เป็นสารกันบูดที่ใช้กันกว้างขวางมากทั้งในอาหารกระป๋อง ไวน์ เบียร์ เส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว กุ้งแช่แข็ง กุ้งดิบ ผลไม้แห้ง ลูกเกต หรือแม้กระทั่งในการทำน้ำตาลมะพร้าว ออกฤทธิ์ทั้งฆ่าเชื้อทั้งป้องกันการหืน (antioxidation) ด้วย เมื่อมันถูกความร้อนจะสลายให้ก้าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซึ่งมีความเป็นกรดสูง มีกลิ่น มีฤทธิ์ระคายเคืองระบบทางเดินลมหายใจ ทำให้แพ้อาหารง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดหลอดลมหดตัวเฉียบพลันในผู้เป็นหอบหืดอยู่ก่อน ยิ่งบริโภคในปริมาณมากยิ่งมีพิษมาก

เบนโซเอท (Benzoates) เป็นสารทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ออกฤทธิ์ในความเป็นกรดสูง จึงใช้มากในอาหาร เช่น ผักดอง แยม เจลลี่ น้ำผลไม้ โซดา ซอสมะเขือเทศ น้ำสลัด เป็นต้น วงการแพทย์ถือว่าเบนโซเอทเป็นสารกันบูดที่มีความปลอดภัยสูงกว่าไนไตรท์และซัลไฟท์ แม้จะมีความพยายามเชื่อมโยงเบนโซเอทกับโรคอ้วนบ้าง การเกิดการอักเสบในร่างกายบ้าง และการเป็นโรคสมาธิสั้นบ้าง แต่หลักฐานที่เชื่อถือได้ยังไม่มี

สารกันบูดกลุ่มเบ็นโซเอทกับการเป็นมะเร็ง

ส่วนที่มีข่าวว่าเบ็นโซเอททำให้เป็นมะเร็งนั้น ข่าวเกิดขึ้นจากการตรวจพบโมเลกุลเบนซีน(ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง) ในเครื่องดื่มจำพวกน้ำผลไม้ การวิเคราะห์ในห้องแล็บพบว่าเบ็นซีนเกิดขึ้นจากการทำปฏิกริยากันระหว่างเบ็นโซเอทซึ่งเป็นสารกันบูดที่ใส่เข้าไป กับกรดแอสคอร์บิก (วิตามินซี.)ที่มีอยู่ในอาหารนั้นก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปริมาณเบนซีนที่ตรวจพบในอาหารยังอยู่ในระดับต่ำมาก วงการแพทย์จึงยังไม่ถือว่าเบ็นโซเอทเป็นพิษต่อสุขภาพระดับจริงจังแต่อย่างใด และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมทุกประเทศยังยอมให้ใช้เบ็นโซเอทเป็นสารกันบูดในอาหาร

สารกันบูดกับจุลินทรีย์ในลำไส้

ความรู้ใหม่ที่ว่าจุลินทรีย์ในลำไส้ยิ่งมีหลากหลายชนิดยิ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคกังวลถึงผลของสารกันบูดต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ของคน ข้อมูลในห้องแล็บที่ว่าสารกันบูดฆ่าจุลินทรีย์ที่ดีนั้นเป็นความจริง แต่วงการแพทย์ไม่ได้ใช้ข้อมูลในห้องแล็บมาดูแลสุขภาพเพราะมันเป็นหลักฐานระดับต่ำ ข้อมูลผลของสารกันบูดต่อจุลินทรีย์ในลำไส้คนตัวเป็นๆยังไม่มีข้อมูลเลย มีแต่ข้อมูลในหนูทดลองที่พบว่าสารกันบูดทั้งสามตัวข้างต้นลดปริมาณและชนิดจุลินทรีย์ในลำไส้ของหนูทดลองลง ซึ่งข้อมูลในหนูทดลองก็เป็นหลักฐานระดับต่ำ วงการแพทย์จึงไม่ได้เอามาใช้กับคน

สารกันบูดกับการเป็นเบาหวาน

มีงานวิจัยเชิงระบาดวิทยาชิ้นหนึ่งเชื่อมโยงการกินอาหารสำเร็จรูปที่มีสารกันบูดในกลุ่มไนไตรท์มากกับการเป็นเบาหวานประเภทที่สองมาก แต่ข้อมูลนี้มีปัจจัยกวนมาก ไม่สามารถสรุปได้หรอกว่าที่เป็นเบาหวานมากนั้นเพราะสารกันบูดหรือเพราะกินแคลอรีมาก ผมจึงยังไม่เอาข้อมูลเรื่องสารกันบูดกับเบาหวานนี้มาเป็นคำแนะนำห้ามกินสารกันบูด

กล่าวโดยสรุป

อาหารที่มนุษย์กินทุกรายการ มีทั้งด้านดีและด้านเสีย ไม่มีอาหารรายการไหนที่มีแต่ดีอย่างเดียวไม่มีเสีย จะเอาด้านดี ก็ต้องยอมรับด้านเสีย นั่นประการหนึ่ง ข้อมูลที่มีอยู่ในอินเตอร์เน็ทมากมายดกดื่นทุกวันนี้ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลหลักฐานระดับต่ำซึ่งวงการแพทย์ไม่ได้เอามาใช้เป็นหลักฐานในการดูแลรักษาสุขภาพ แต่วงการเม้าท์แตกร่อนเป็นข่าวขู่กันให้แตกตื่นไปเรียบร้อยแล้ว นั่นอีกประการหนึ่ง ในโอกาสปีใหม่นี้ หากจะให้ชีวิตมันเป็นไปได้โดยไม่ลำบาก ท่านก็เลือกตีความเอาตรงที่มันพอดีๆสำหรับตัวท่านเองก็แล้วกันนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

  1. Salviano Dos Santos VP, Medeiros Salgado A, Guedes Torres A, Signori Pereira K. Benzene as a Chemical Hazard in Processed Foods. Int J Food Sci. 2015;2015:545640. doi: 10.1155/2015/545640. Epub 2015 Feb 18. PMID: 26904662; PMCID: PMC4745501.
  2. Srour B, Chazelas E, et al. Dietary exposure to nitrites and nitrates in association with type 2 diabetes risk: Results from the NutriNet-Santé population-based cohort study. PLOS Medicine: January 17, 2023 https://doi.org/10.1371/journal.pmed.1004149
[อ่านต่อ...]