29 พฤษภาคม 2556

คนจริง ตัวเป็นๆ ที่ปรับวิถีชีวิตตัวเองสำเร็จ


ผมมีน้ำหนักตัว 90 กก. และมีภาวะความดันโลหิตสูง และปวดข้อเท้าแบบเป็นเก๊าท์บ่อยๆ จึงเริ่มลดน้ำหนักตัวเองด้วยการอดอาหาร ผ่านไป 1 ปีน้ำหนักก็ขึ้นๆลงๆจนเหลือประมาณ 81 จึงกล้าไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาลรัฐบาลใกล้บ้าน (พ.ค.55) ปรากฎว่าค่าตับสูง sgpt 70  uric 10.8 bun 12 creatinine 1.27 โคเรสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์สูงลิ่ว จนเมื่อปลายปี 55 ผมได้มาเจอบล็อกคุณลุงหมอ ผมก็เปลี่ยนแนวการกิน เน้นข้าวกล้อง ผักต้ม ออกกำลังกาย งดขนม น้ำอัดลม น้ำหวานทุกชนิด จนเมื่อปลายเดือนมกราคมน้ำหนักตัวลดเหลือ 76 กิโลกรัม (มกราคม56) ผมไปตรวจเลือดอีกครั้ง sgpt ก็ยัง70  uric 8.8 bun 10 creatinine 1.24 โคเรสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์มาอยู่ในระดับปกติ ผมก็ไม่ได้มุ่งมั่นจะลดน้ำหนักนะครับ แต่พอเราเปลี่ยนสไตล์การกินและออกกำลังกาย น้ำหนักตัวผมก็หายไปเรื่อยๆ จนล่าสุด พ.ค. ผมได้ไปตรวจเลือดอีกรอบ ตอนนี้น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม sgpt เหลือ 25  uric 8.3 bun 9 creatinine1.24 (ค่าปกติที่นี่คือ 0.7-1.3) เก๊าท์ไม่ปวดมาเป็นปีแล้ว สุขภาพดีขึ้น ไม่ต้องลุกมาปัสสาวะกลางคืนบ่อยๆเหมือนตอนอ้วนๆ ความดันวัดทุกวันเฉลี่ยไม่เกิน 120/80 ทุกอย่างดีขึ้น ทุกวันนี้ผมทานรสจืดสนิท ไม่ปรุงรสเค็ม ไม่ใส่ชูรส ไม่ทานขนม ทานเนื้อสัตว์แต่น้อย แต่สิ่งที่ผมกังวลคือค่า creatinine ครับ ถ้าวัดค่าการกรองของไตเมื่อตอน พ.ค. 55  ตอนผมยังอ้วนๆหนัก 81 creatinine 1.27  ได้ค่าไต 101 แต่พอ ม.ค. 56  นน.ตัว 76 creatinine 1.24 ค่าไตเหลือ 96  แล้วล่าสุดหนัก 70 กก. Creatinine 1.24 ค่าไตเหลือ 89 เท่ากับผมเป็นไตวายระยะที่ 2  แล้วอีกไม่นานผมต้องล้างไตใช่มั้ยครับ ผมเครียดมากๆเลยครับ แล้วมีทางที่ creatinine จะลดลงมั้ยครับ

………………………………………………

ตอบครับ

     1.. อ่านบล็อกของหมอสันต์แล้วเกิดความฮึด ลงมือปรับวิถีชีวิตตัวเองทันที จนลดน้ำหนักได้ 20 กก.ในหนึ่งปี ภาวะไขมันในเลือดสูงหาย ตับอักเสบจากไขมันแทรกตับหาย ความดันเลือดสูงหาย และอาการป่วยจากเก้าท์หายไปเป็นปลิดทิ้งโดยไม่ต้องใช้ยา ต้องขอชมว่ามีฝีมือดี หมายถึงมีวินัยต่อตัวเองดี คนอย่างคุณนี้ ในชีวิตต่อไปข้างหน้า คิดจะทำอะไรก็จะทำได้สำเร็จ จดหมายของคุณเป็นตัวอย่างของคนจริงๆตัวเป็นๆให้ผู้อ่านท่านอื่นที่อมโรคอยู่แต่ยังไม่ขยับตัวเพราะกำลังรอฤกษ์ ได้เห็นว่ามันมีคนปรับวิถีชีวิตของตัวเองแล้วประสบความสำเร็จอย่างคุณนี้อยู่ไม่น้อย จะได้เป็นแรงใจให้พวกเขาเหล่านั้นซึ่งยังเป็นบัวใต้น้ำอยู่ เกิดความฮึดโผล่ขึ้นมารับแสงแดดเหนือน้ำอย่างคุณบ้าง ผมจึงขอขอบคุณแทนเขาเหล่านั้นด้วย

    2.. ไปตรวจไตแล้วได้ GFR 89 แล้วร้อง กระต๊าก กระต๊าก ว่าเป็นไตวายระยะที่ 2 แถมคร่ำครวญว่าต่อไปต้องล้างไต อันนี้ต้องบอกว่า “เซอร์” ไปหน่อยนะ ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่านิยามของโรคไตเรื้อรังระยะที่ 1 และระยะที่ 2 คือคนที่แพทย์ตรวจพบพยาธิสภาพที่ไตแล้ว เช่นตัดชิ้นเนื้อไตออกมาตรวจแล้วพบว่าเนื้อไตอักเสบ (glomerulonephritis) หรือตรวจปัสสาวะพบว่าเป็นโรคไตรั่ว ( nephritic syndrome มีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ) เป็นต้น ถ้าพบพยาธิสภาพที่ไตแล้ว แต่ค่าอัตราที่เลือดไหลผ่านตัวกรองของไต (GFR) ยังปกติ คือเกิน 90 ซีซี./ตรม. ก็ถือว่าเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 1 ถ้าพบพยาธิสภาพที่ไตแล้วแถม GFR ลดลงอยู่ระหว่าง 60 – 89 ก็เป็นระยะที่ 2 แต่ในกรณีของคุณนี้ คุณไม่มีพยาธิสภาพที่ไตเลย การที่คนทั่วไปซึ่งไม่มีพยาธิสภาพที่ไตจะมี GFR ลดลงมารอยู่ระหว่าง 60-69 นั้นถือว่าเป็นเรื่องปกตินะครับ ไม่ได้เป็นโรคไตเรื้อรัง อย่าเข้าใจชีวิตผิดไป ส่วนใหญ่คนพวกนี้อัตราการไหลของเลือดผ่านตัวกรองของไตจะไม่ได้ลดลงจริง แต่คำนวณได้ว่าลดลงเป็นเพราะร่างกายขาดน้ำทำให้ความเข้มข้นของ creatinine สูงขึ้นกว่าปกติ หรือบางรายก็เป็นเพราะการออกกำลังกายทำให้สาร creatinine ออกมาในเลือดมากขึ้น (จากการสลายตัวของกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดาในคนออกกำลังกาย เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างกล้ามเนื้อใหม่ตามปกติ) ทั้งสองเหตุผลนี้เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ผลการคำนวณ GRF ของคนที่ไม่มีพยาธิสภาพที่ไตบางคนได้ค่าต่ำไปบ้าง แต่ไม่ต่ำกว่า 60 ซีซี./ตรม. ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าไตทำงานผิดปกติ ไม่ต้องตีอกชกหัวว่าจะได้ล้างไตกับเขาดอก

     3.. อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่ได้เป็นโรคไตเรื้อรัง กรณีที่ค่า GFR ต่ำลงเช่นนี้ สิ่งที่พึงทำ โดยเฉพาะในกรณีที่ออกกำลังกายมาก คือต้องดื่มน้ำให้มากเป็นนิสัย ตั้งน้ำดื่มทิ้งไว้ทุกหนทุกแห่งในบ้าน ทั้งในห้องดูทีวี. ห้องนอน ห้องน้ำ ให้หยิบฉวยดื่มได้ง่ายโดยไม่ต้องรอไปเอาน้ำในตู้เย็น แล้วดื่มน้ำทุกครั้งทึ่นึกขึ้นได้ มาตรฐานก็คือวันหนึ่งควรดื่มได้ 2 ลิตร หรือมากกว่าถ้าออกกำลังกายมาก ตัวชี้วัดเกี่ยวกับการดื่มน้ำอีกอย่างหนึ่งคือขณะตื่นอยู่ ถ้าผ่านไปสองชั่วโมงแล้วไม่มีอาการปวดฉี่เลยแสดงว่าร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ เพราะร่างกายคนเราถ้ามีน้ำพอเพียง จะผลิตปัสสาวะในอัตรา 1-2 ซีซี./กก./ชั่วโมงหรือเฉลี่ยชั่วโมงละราว 100 ซีซี. แล้วธรรมชาติของกระเพาะปัสสาวะของเรานี้ หากมีน้ำอยู่ในนั้นสัก 150 ซีซี. มันจะเริ่มออกอาการปวดแล้ว หากมีน้ำอยู่ในนั้นมากถึง 300 ซีซี.ก็เริ่มปวดระดับหน้าเขียวหน้าเหลืองแล้ว นี่พูดถึงคนทั่วไปนะ ไม่นับพวกสายลับหรือนักสืบที่ฝึกกระเพาะปัสสาวะของตัวเองให้ทนปวดฉี่ได้มากเป็นพิเศษ

    4.. พูดถึงคนชอบอั้นฉี่ ผมมีคนไข้เป็นสาวสวยที่รังเกียจห้องน้ำตามปั๊มน้ำมันว่าสกปรก เธอบอกว่าฉี่ไม่แซ่บ จึงทนอั้นฉี่ไว้จนถึงปลายทาง พอถึงปลายทางก็เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบไปแล้วเรียบร้อย ไหนๆก็พูดถึงคนชอบอั้นฉี่แล้ว ก็ขอให้ข้อมูลเสียเลยว่าคนชอบอั้นฉี่มีอัตราการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ่อยกว่าคนทั่วไป และการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะซ้ำซากนี้ เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดพยาธิสภาพที่กรวยไตและนำไปสู่การเป็นโรคไตเรื้อรังได้ในที่สุด ดังนั้น..แม้ว่าจะเป็นคนสวย ก็อย่าอั้นฉี่

     5.. ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าจะพูดถึงให้ผู้อ่านท่านอื่นได้ทราบด้วย คือคุณบอกว่าวัดความดันทุกวัน อันนี้เป็นวิธีใช้ดัชนีสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง เหมือนบางคนที่กำลังลดน้ำหนักเหมือนกัน ชั่งน้ำหนักทุกวัน หรือบางคนบ้ายิ่งกว่านั้นคือชั่งวันละสามเวลา ดัชนีเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัว หรือความดันเลือด มันมีธรรมชาติวูบๆวาบๆขึ้นๆลงๆตลอดเวลาไม่สัมพันธ์กับพฤติกรรมของเราในระยะสั้น แต่ว่าแนวโน้ม (trend) ที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมของเรามันจะชัดถ้าเราวัดดัชนี้เหล่านี้ในระยะที่นานพอดี คือชั่งสักทุก 1 สัปดาห์ถ้าเป็นน้ำหนัก หรือวัดทุก 2-4 สัปดาห์ถ้าเป็นความดันเลือด การชั่งหรือวัดถี่เกินเหตุจะนำไปสู่ความงงงวยต่อชีวิต เพราะเพิ่งทำดีไปนึกว่าความดันจะลงแต่ไม่ลงก็จะพาลหงุดหงิด ดังนั้นใช้ดัชนีสุขภาพให้เป็น ถ้าเป็นน้ำหนัก ชั่งสัปดาห์ละครั้งก็พอ ไม่ต้องชั่งทุกวัน ถ้าเป็นความดันเลือด วัดทุก 2-4 สัปดาห์ก็พอ สำคัญที่เมื่อชั่งแล้วพบว่ามันสูงขึ้นแล้วทำอะไรกับตัวเองบ้าง ตรงนั้นมากกว่าที่เป็นสารัตถะที่แท้จริง


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

.........................................

จดหมายจากผู้อ่าน
31 พค. 56

ต้องขอขอบพระคุณคุณหมอมากครับที่กรุณาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับปัญหาของผม และกรุณาตอบให้อย่างรวดเร็ว ผมสบายใจเหมือนยกภูเขาออกจากอกเลยครับ ขอให้ผลบุญที่คุณลุงหมอได้ช่วยชี้นำสุขภาพและไขข้อข้องใจให้กับผมและผู้อื่นช่วยให้คุณลุงหมอร่ำรวยเงินทองสุขภาพแข็งแรงไร้โรคภัยอยู่ตอบจดหมายจนถึงอายุ120ปีเลยนะครับ

......................................
[อ่านต่อ...]

28 พฤษภาคม 2556

จะอธิบายกับลูกว่าอย่างไรดี


ลูกบอกว่า "คนป่วยกำลังรักษาคนป่วย"
ผมมีลูกชายคนเดียว อยู่ ม.ปลาย ปีสุดท้ายของโรงเรียนที่กล่าวขานกันว่าดีที่สุดของประเทศ กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยปีหน้า ผลการเรียนของลูกระดับดีมาก (ไม่เคยได้ GPA ต่ำกว่า 3.85) ปัญหาคือผมอยากให้เขาเลือกเรียนแพทย์ แต่ตัวเขาบอกว่าวิชาแพทย์น่ะมัน "ไม่สุด" ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจนักว่าไม่สุดยังไง ผมแนะนำให้เขาอ่านBlogของหมอเป็นประจำ ซึ่งในที่สุดเขาก็บอกว่า "ยิ่งไม่อยากเรียนใหญ่" ผมถามว่าทำไม แกก็ตอบว่า ที่ผม (อายุน้องๆคุณหมอไม่น่าเกิน10ปี) ไปหาหมอตามหมอนัดทุก 2 เดือนบ้าง หรือ 3 เดือนบ้าง (ผมเป็นความดัน//ไขมันสูง) นั้น พ่อกำลังให้คนป่วยเหมือนกันรักษาพ่อ เพราะแกดันไปอ่านเฉพาะเรื่องที่นักศึกษาแพทย์ หรือแพทย์ ถามเกี่ยวกับเรื่องอะไรต่างๆกับคุณหมอ แกบอกว่า "พ่อไม่รู้หรือว่า คนป่วยกำลังถูกคนป่วยด้วยกันรักษา ไม่เชื่อพ่อก็ไปอ่านเรื่องพวกนี้ที่เขียนมาถามหมอสันต์สิ"  ผมก็เลยถามต่อไปว่าวิชาอะไรที่เหมาะสมกับความคิดของลูกมากที่สุดที่น่าจะตัดสินใจเรียน แกก็บอกว่า  Quantum physics ผมถามแกต่อว่ามันดีกว่าวิชาแพทย์ยังไง แกก็บอกว่าวิชาแพทย์เป็นแค่ Applied Science เหมือนพ่อที่เป็นวิศวกรเครื่องกล อีกอย่างแกบอกว่าที่แกไม่อยากเรียนหมอ เพราะปี 2 ที่ต้องเรียน gross anatomy ซึ่งแกบอกว่า แกจะไม่เห็นเฉพาะความจริงที่ปรากฏในทางวิทยาศาสตร์แล้วไปสรุปว่ามันจริงจาก "ภาพที่เห็น" เท่านั้น เพราะเบื้องหลังร่างที่ศึกษามันยังมี "ภาพที่เป็น" อีกมากมายที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ยังไปไม่ถึงและตอบไม่ได้ แกบอกว่า วิทยาศาสตร์ตอบได้เฉพาะ "ภาพที่เห็น" แล้วก็โดดไปสรุปว่าเป็นความจริงแท้ แต่ไม่สามารถอธิบาย "ภาพที่เป็น" ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงกับทฤษฎีในระดับ Quantum physics เท่านั้นที่จะอธิบายได้ ผมไม่รู้จะอธิบายยังไงให้ลูกชายคนเดียวหันเหมาสนใจเรื่องใกล้ตัว แล้วหันมาศึกษาในสิ่งที่เป็นรูปธรรม และสามารถใช้วิชาชีพช่วยเหลือคนอื่นในวิสัยที่เป็นไปได้ คุณหมอไม่ต้องตอบก็ได้นะครับ ผมแค่อยากระบายเท่านั้นเอง

..........................................

ตอบครับ

ผมเพิ่งกลับจากไร่ที่มวกเหล็ก สมองมันเย็นไปแล้วจากการไปอยู่ในไร่ จึงยังไม่พร้อมจะตอบคำถามเรื่องโรคหรือการเจ็บป่วย จึงมองหาจดหมายที่ไม่ใช่เรื่องการเจ็บป่วยมาตอบ และจดหมายของคุณก็ได้สะเป๊คพอดี

ถามว่าอยากให้ลูกเรียนหมอ แต่ลูกไม่ยอมเรียนจะทำอย่างไรดี ตอบว่าคุณอย่าพยายามทำอะไรเกินหน้าที่ของตัวเองสิครับ ผมดูหนังในกองทัพเยอรมันสมัยสงครามโลก การทำอะไรเกินหน้าที่เนี่ย โทษถึงประหารเชียวนะ ในขั้นตอนการเลือกอาชีพนี้ พ่อมีหน้าที่แค่ให้ข้อมูล บอกทรัพยากรส่งเสียว่าเราจะมีอะไรให้ได้บ้าง และรับให้คำปรึกษาเมื่อเขาร้องขอ ส่วนการตัดสินใจเลือกไม่ใช่หน้าที่ของพ่อ แม้แต่การเชียร์อาชีพใดอาชีพหนึ่งอย่างออกนอกหน้าก็ยังไม่ควรทำเลย มิฉะนั้นอีกหน่อยเมื่อเขาต้องไปเป็นหมอเพื่อตามใจพ่อ วันหนึ่งหากเขาเจอคนไข้ที่เขาเอียนสุดขีดเขาอาจส่งต่อมาให้คุณพร้อมกับจดหมายส่งตัวคนไข้ว่า

“ไหนๆพ่อก็ใช้ให้ผมมาเป็นหมอแล้ว พ่อช่วยรับรักษาคนไข้คนนี้ต่อด้วยนะครับ”

หิ..หิ พูดเล่นนะครับ ผมฟังดูแล้วคุณยังไม่เข้าใจคนรุ่นลูกเท่าไหร่นะ ตัวผมเองมีโอกาสได้ดูแลคนหลายชั่วอายุเพราะพ่อแม่มีความทุกข์เพราะลูกก็มักจะพาลูกมาหา จึงได้มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องของคนรุ่นใหม่ที่พวกนักการตลาดเรียกเหมาโหลว่า Generation Y นี้มากพอสมควร ผมจะชี้บางประเด็นให้คุณเห็นนะ ว่าประสบการณ์ชีวิตของคนรุ่นนี้หล่อหลอมเขามาให้ต่างจากคนรุ่นเราอย่างไร

ประเด็นที่ 1. การบ่มเพาะทัศนะต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพ คนรุ่นเราทั้งเห็นของจริงทั้งถูกกรอกหูโดยพ่อแม่รุ่นเสื่อผืนหมอนใบหรือรุ่นหลังสงครามโลกว่าชีวิตนี้มันช่างไม่เสถียร เต็มไปด้วยความยากลำบาก ถ้าไม่ขยันหมั่นเพียรแล้วก็มีหวังอดตาย ลองนึกย้อนไปถึงสมัยตอนเราเป็นเด็ก ไม่มีหรอกที่อยากกินอะไรก็เดินไปเปิดตู้เย็นแล้วเลือกหยิบของที่ชอบกินได้ แต่คนรุ่นลูกไม่ต้องเดินไปที่ตู้เย็นด้วยซ้ำ เพียงแค่อ้าปากรับของที่ยื่นป้อนให้ก็อิ่มจนต้องเลือกหุบปากไม่รับของป้อนบางรายการแล้ว ของเล่นก็ทำนองเดียวกัน มันพากันหลั่งไหลมาเองถึงตัว ไม่ต้องไปเสาะหาหรือค้นหาเลย พอโตเป็นหนุ่มเป็นสาว ก็ได้เครดิตการ์ดของพ่อแม่ไปใช้ อยากได้อะไรก็ไปรูดการ์ดเอา ดังนั้นสมองของคนรุ่นนี้ไม่เห็นความสำคัญของการเสาะหาการงานที่มั่นคง หรือ job security ยิ่งเราไปพร่ำสอนว่าต้องขยันทำมาหาเงินไว้สร้างหลักฐานสร้างอนาคตให้ตัวเอง แต่เขาหรือเธอกลับเห็นมันตรงกันข้าม คือเห็นว่าจะทำไปทำมาย..ย ในเมื่อเป็นลูกคนเดียว สิ่งที่พ่อแม่มีอยู่ทุกวันนี้มันก็เหลือเฟือแล้ว และด้วยวิถีชีวิตของคนรุ่น Y ที่ใช้เวลา 90% อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือจิ้มสมาร์ทโฟน ไม่ได้ขยับเขยื้อนไปไหน วันทั้งวันกินปิซซ่าตลับเดียว คุณพูดอย่างไรเขาก็มองไม่เห็นหรอกว่าจะต้องลำบากทำมาหาเงินสร้างหลักฐานที่มั่นคงไปทำไม

ประเด็นที่ 2. ใครคือบุคคลที่มีอิทธิพล  มนุษย์เรานี้ ไม่ว่าเป็นคนรุ่นไหน ต่างก็มีธรรมชาติที่ชอบเสาะหาการยอมรับจากคนอื่น ซึ่ง Maslow กำหนดไว้เป็นความต้องการลำดับสองของมนุษย์ถัดจากปัจจัยสี่เลยทีเดียว คนรุ่นเราเกิดมาในสมัยที่มีอะไรก็ต้องคุยกันแบบ face to face วันหนึ่งๆต้องพบหน้าพูดคุยกับพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงซึมซับความคิดของผู้ใหญ่เข้ามาแยะและแสวงหาการยอมรับจากคนรุ่นผู้ใหญ่ แต่คนรุ่น Y ไม่ได้เป็นแบบนี้ พ่อแม่ไม่ใช่คนที่เขาพบหน้าบ่อย ครูเขาก็ไม่นับถือ เพราะครูรู้อะไรน้อยกว่ากูเกิ้ลอย่างเทียบกันไม่ได้ ยิ่งสถาบันต่างๆด้วยแล้วยิ่งไม่มีความหมายสำหรับพวกเขาแม้แต่น้อย คนที่เขาหรือเธอพบหน้าบ่อยที่สุดคือเพื่อนทางสมาร์ทโฟน พวกเขาจึงแสวงหาการยอมรับจากเพื่อนๆของเขาเองโดยการโหลดรูปหรือเรื่องราวของตัวเองส่งไปเสาะหาการยอมรับจากเพื่อนทางสมาร์ทโฟน การเสาะหาการยอมรับจากเพื่อนๆนี้ทำกันแทบจะทุกชั่วโมง เรียกว่ากำลังลองเสื้ออยู่ในห้องลองเสื้อยังไม่ทันออกมานอกตู้เลยก็ถ่ายรูปตัวเองใส่เสื้อใหม่ส่งขึ้นเฟซบุ้คแล้ว แล้วเขาหรือเธอจะกระหายการยอมรับจากเพื่อนๆมาก สมัยผมหนุ่มๆทำงานเป็นขี้ข้าเขาต้องมีบี๊บเป้อร์ติดตัว เวลามีคนไข้ฉุกเฉินเขาก็จะเรียกตัว ปี๊บ ปี๊บ ปี๊บ พวกเราทุกคนจะเป็นโรคผวาบี๊บเปอร์ ไม่ได้ยินก็คิดว่าได้ยิน ความที่กังวลว่าคนไข้ที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่จะเป็นอะไรไปโดยที่ตัวเองพลาดข่าวสำคัญ พวกเราเรียกอาการผวาบี๊บเปอร์นี้ในหมู่พวกเราว่า Beeper Syndrome มาสมัยนี้ไม่น่าเชื่อว่าเด็กรุ่น Y ก็ป่วยเป็นโรคคล้ายๆกันทั้งๆที่ไม่ได้มีความรับผิดชอบอะไรคอยบีบบังคับ ฝรั่งเรียกว่าโรค Phantom Vibration Syndrome คือความที่กระหายใคร่รู้ว่ารูปถ่ายหรือเรื่องราวของตัวเองที่ส่งขึ้นเฟซบุ้คไปนั้นจะมีเพื่อนคนไหนชอบแล้วกด like กลับมาบ้าง ใจก็จดจ่อว่าสมาร์ทโฟนของตัวเองสั่นหรือเปล่า มันไม่สั่นก็นึกว่ามันสั่น ประเด็นของผมก็คือคนรุ่น Y รับอิทธิพลความคิดความอ่านจากเพื่อนๆของเขาตลอดเวลา ในสมองจึงมีแต่ความคิดแบบเด็กๆรุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งมักจะเป็นความคิดฝันเฟิ่องที่ไม่ได้อ้างอิงกฎเกณฑ์ใดๆที่พวกผู้ใหญ่อย่างเราชื่นชอบหรือยอมรับนับถือกันดอก การที่คุณในฐานะพ่อ ซึ่งไม่ใช่คนที่เขาคาดหมายหรือเสาะหาการยอมรับ หรือคนที่จะมีอิทธิพลทางความคิดอะไรกับเขาเลย จะไปคาดหวังว่าพูดอะไรออกไปแล้วจะเปลี่ยนชีวิตเขาได้นั้น.. คุณคาดหวังมากไปนะครับ  

     ประเด็นที่ 3. การถูกสอนให้สำคัญตนว่าเลิศลอยเกินจริง   คนรุ่นเราเกิดมาพร้อมกับการถูกลงโทษ ทำอะไรผิดนิดหนึ่งเป็นโดน...เพี้ยะ ผิดหน่อยเป็นโดน บางครั้งไม่ผิดยังโดนเลย สมัยผมไปทำงานเป็นขี้ข้าเขาใหม่ๆ กฎประจำใจสำหรับกะเหรี่ยงที่มาใหม่ก็คือ

     “คุณคือควาย จนกว่าคุณจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่”

      คือคนรุ่นเราถูกสอนมาแบบถูกเหยียบให้แบนแต๊ดแต๋ติดดินก่อนแล้วค่อยๆโงหัวขึ้นมา แต่คนรุ่นใหม่ถูกสอนมาคนละแบบ คือเขาหรือเธอเกิดมาพร้อมกันการยกยอปอปั้น เกิดมาก็ได้เป็นจักรพรรดิหรือเป็นเจ้าหญิงแล้ว โตจนไปเรียนเมืองนอกเมืองนาแล้วก็ยังเป็นเจ้าหญิงอยู่ ผมมีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งลูกสาวจบเมืองไทยแล้วไปเรียนหนังสือต่อที่อังกฤษ เธอ (แม่) ตามไปอยู่อังกฤษด้วย ผมท้วงว่าคุณจะตามลูกไปทำไม เธอตอบว่า

     “..ไปเป็นนางกำนัล”

     แล้วยังมีอีกนะ ผมเคยได้อ่านอาจารย์มหาลัยฝรั่งเขียนบ่นถึงพ่อแม่นักศึกษาบางคนชอบเข้ามาล้วงลูกเช่นมาต่อว่าอาจารย์ว่าลูกของฉันทำการบ้านวิชานี้ดีขนาดนี้แต่ทำไมคุณให้เกรดแค่บี. อาจารย์คนนั้นเรียกพ่อแม่แบบนี้ว่า “helicopter parents” คือพ่อแม่แบบว่าทำตัวเป็น ฮ. คอยลอยลำลาดตระเวณคุ้มกันลูกของตัวเองตลอดเวลา คือสรุปว่าคนรุ่นใหม่เกิดมาก็เป็นจักรพรรดิ เป็นเจ้าหญิง มีข้าทาสบริวาร ทำอะไรนิดก็ได้รับคำชม ทำอะไรหน่อยก็ได้รับคำชม บางครั้งทำอะไรผิดก็ยังได้รับคำชมว่าน่ารัก ตอนผมย้ายบ้านใหม่เมื่อสิบกว่าปีก่อน ซึ่งตอนนั้นลูกชายยังไม่จบชั้นประถม ผมต้องเคลียร์หิ้งหนึ่งชั้นในโถงกลางบ้านเพื่อเป็นที่ตั้งแสดงวุฒิบัตรเกียรติบัตรโล่ห์เหรียญตราชนะการประกวดประขันทางวิชาการสาระพัดซึ่งแสดงถึงความเก่งของเขา คือคนรุ่นใหม่ถูกพร่ำสอนกรอกหูทุกวันว่า You are special คุณเป็นคนเก่ง คุณเป็นคนพิเศษ คนเราหากโดนครอบอย่างนี้ทุกวันๆเป็นเวลายี่สิบปี เขาหรือเธอจะต้องเข้าใจชีวิตผิดเพี้ยนไปบ้างเป็นธรรมดา เวลาคิดก็จะออกแนวหลุดๆ มีจินตนาการมากเกิน ประหนึ่งว่าตนเองเป็นตัวแทนพระผู้ช่วยให้รอดที่จะมากู้โลกใบนี้ไว้ ซึ่งมักนำไปสู่การตัดสินใจที่แปลกๆในช่วงเวลาสำคัญๆของชีวิต เวลาปฏิสัมพันธ์กับผู้คนก็จะออกแนวประหนึ่งว่าตัวเองนั้นเลอเลิศประเสริฐศรี ส่วนคนอื่นนั้นออกเหลาเหย่ใช้การไม่ค่อยได้ มีความเชื่อฝังลึกถึงก้นบึ้งของหัวใจว่าตัวเองนั้นเป็นคนพิเศษมีสิทธิพิเศษมาตั้งแต่เกิด และมักเผลอลืมตัวเอาประโยชน์จากคนอื่นได้โดยไม่รู้สึกผิดหรือตะขิดตะขวงใจใดๆ คือมองไม่เห็นขอบเขตว่าระหว่างตนกับคนอื่นว่าเขตมันอยู่ตรงไหน เผลอนึกว่าคนอื่นก็คือส่วนหนึ่งของตนเองมีหน้าที่ต้องส่งส่วยให้ตนเองอยู่ร่ำไป ซึ่งมักนำไปสู่ภาวะช็อกเมื่อต้องออกจากครอบครัวไปสู่โลกของความเป็นจริงแล้วพบว่าผู้คนเขาไม่ได้ยอมรับว่าตนเองเป็นอย่างที่ตนเองวาดภาพไว้ ภาวะช็อกนี้นำไปสู่ปัญหาอีกอันหนึ่งเมื่อเรียนหนังสือจบ คือการถดถอยหรือชะงักงันของพัฒนาการทางสังคม  (social development stunt) หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่าการเป็นคน “โตไม่พ้นอก” ระยะชะงักงันทางสังคมนี้จะเป็นอยู่นานแค่ไหนกี่เดือนกี่ปีไม่มีใครรู้เพราะคนรุ่นนี้อย่างมากก็อายุเพิ่งสามสิบเศษๆ ตามความคาดหมายของผมการชะงักงันนี้น่าจะมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่ว่าอาจนานได้ถึง 10 - 20 ปี ไม่ได้พูดเล่นนะครับ เพราะผมมีคนไข้ที่คุณแม่พาลูกอายุเกือบจะสี่สิบปีแล้วมาหาหมอเรื่องเป็นหวัดบ่อย เพราะตัวเขาเองไม่มีปัญญาออกจากบ้านมาหาหมอเอง แล้วไม่ใช่ว่าที่มาไม่ได้เนี่ยเป็นโรคโง่เง่าเต่าตุ่นปัญญาทึบอะไรนะครับ เปล่าเลย เรียนจบปริญญาจากเมืองนอกเมืองนามามาแล้ว เพียงแต่ว่าเป็นโรค “โตไม่พ้นอก” เท่านั้นเอง อย่างไรก็ตามผมมองว่าช่วงโตไม่พ้นอกนี้เป็นช่วงชีวิตที่สำคัญและจำเป็นต้องมี เพราะเป็นช่วงปรับฐานจากการถูก “ครอบ” อย่างผิดๆโดยพ่อแม่ มาสู่การมีชีวิตในโลกของความเป็นจริง เมื่อผ่านช่วงนี้ไปได้แล้วเขาหรือเธอก็จะใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่มีได้เต็มที่

     ประเด็นที่ 4. พัฒนาการด้านการสื่อสารระหว่างบุคคล อย่างที่บอกแล้วว่าคนรุ่นเรามีอะไรคุยกันแบบ face to face หรือสมัยนี้ก็คือยกหูคุยกัน แต่คนรุ่นใหม่สื่อสารกันด้วยการพิมพ์เป็นตัวหนังสือส่งให้กันทางสมาร์ทโฟน อีเมล ไลน์ หรือโซเชียลเน็ทเวอร์คอย่างเฟซบุ้ค เขาหรือเธอต้องเสียบปลั๊กตัวเอง 24 ชั่วโมงสัปดาห์ละ 7 วัน ข้อมูลทุกอย่างเข้ามาสู่ตัวทางสมาร์ทโฟน จนมีคำถามอะไรเอ่ยที่พวกเด็กๆฝรั่งถามกันว่า
      
                     “อะไรเอ่ย ที่คุณเห็นได้โดยไม่ใช้สมาร์ทโฟน บอกมายี่สิบอย่างซิ”

ทักษะการสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟนนี้คนรุ่นใหม่ทำได้ดีและชำนาญมาก และจะชำนาญมากขึ้นๆจนสูญเสียทักษะการสื่อสารทางอื่นไปหมด ดังนั้นการที่คุณพ่อคุณแม่คิดอยากจะคุยอะไรกับลูกอย่างลึกซึ้งแล้วไปนั่งดักรอคุยกันซึ่งๆหน้าบนโต๊ะอาหารนั้น ไม่ได้ผลหรอกครับ เพราะเด็กเขาสื่อสารทางนั้นไม่เป็น

ผมตั้งข้อสังเกตทั้งสี่ประเด็นนี้ก็เพื่อขยายมุมมองของคุณให้คุณเข้าใจลูกของคุณได้มากขึ้น ลดความคาดหวังที่ห่างไกลความเป็นจริงลง และเตรียมหาทางหนีทีไล่เพื่อรับมือกับสิ่งที่อาจจะตามมาในอนาคตไว้เสียแต่เนิ่นๆ เช่น ลูกอาจจะเปลี่ยนสาขาอาชีพบ่อยๆ คือเรียนยังไม่จบก็อาจเปลี่ยนคณะ หรืออาจสอบเข้าใหม่หลายครั้ง เรียนจบแล้วก็อาจเปลี่ยนงานบ่อย หรือทิ้งวิชาที่เรียนไปทำงานที่ไม่ได้เรียน หรืออาจเข้าสู่โหมด “โตไม่พ้นอก” คือจบแล้วก็ยังเข้าดักแด้สิงอยู่กับพ่อแม่ไม่ยอมไปทำอะไรที่ไหนเป็นเวลานานหลายปี สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้วทั่วโลกและเกิดบ่อยมากเสียจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาของคนรุ่นนี้ไปเสียแล้ว คุณในฐานะพ่อแม่ของคนรุ่น Y รู้ไว้ก็ไม่น่าจะเสียหลาย 

แต่อย่าไปสำคัญผิดว่าทั้งหมดที่ผมตั้งข้อสังเกตมานี้จะหมายความว่าโลกในมือของคนรุ่นลูกเรามันจะสาละวันเตี้ยลงนะครับ ผมไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย ในทางตรงกันข้าม ผมเชื่อว่าหลังจากคนรุ่นเราตายไปแล้ว โลกในมือของคนรุ่น Y นี้จะดีขึ้น ผมไม่ได้มีหลักฐานอะไรมาแบ๊คอัพการคาดการอันนี้หรอกครับ เพียงแต่คาดเดาเอาง่ายๆเอาจากสิ่งที่ผมพบเห็นสองอย่าง คือ

(1) คนรุ่นเราแก้ปัญหาด้วยประสบการณ์ ซึ่งผมว่าเวลาได้พิสูจน์นานพอแล้วว่า..มันไม่เวอร์ค เอาใกล้ตัวผมนี้ก็ได้นะ ปัญหาของวงการแพทย์ เราพยายามส่งแพทย์ไปอยู่ชนบทให้ติด พยายามมา 30 ปี ไม่เคยเวอร์ค ไม่น่าเชื่อนะครับว่าวงการที่ว่ากันว่ามีแต่คนฉลาด พยายามทำงานหนึ่งซึ่งมีรอบการวัดผลเพียง 3-4 ปี แต่ทำอยู่นานถึงสามสิบปี ก็ยังไม่สำเร็จ นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างนะ เพราะว่าเราพยายามแก้ปัญหาจากประสบการณ์ การแก้ปัญหาใหญ่ด้วยประสบการณ์ผมว่ามันไม่เวอร์คหรอก ผมว่าปัญหาใหญ่มันต้องแก้ด้วยจินตนาการ ซึ่งคนรุ่นเราไม่มี แต่คนรุ่น Y เขามีมากกว่าเรานะ

(2) เวลาผมไปออกหน่วยรับบริจาคโลหิตทีไร ผมดูรายชื่อ ดูอายุ ของคนที่บริจาคเลือด ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่น Y นะครับ เออ.. ทำไมละ นั่นสิ ผมก็ไม่รู้ว่าทำไม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

23 พฤษภาคม 2556

วิตามินซี (vitamin C) ปัองกันและรักษาหวัดได้ จริงหรือไม่จริง


เรียนถามคุณหมอ

หลานเล็กๆ ต้องส่งไปฝากเลี้ยงตั้งแต่อายุ 6 เดือนจนวันนี้เกือบขวบครึ่งแล้ว พ่อแม่ทำงานจนปัญญาจะดูแลเองช่วงกลางวัน ปัญหาคือเด็กเป็นหวัดบ่อยมาก จมูกแทบไม่มีเวลาแห้ง ดิฉันพยายามหาข้อมูลว่าจะช่วยให้เด็กมีภูมิต้านทานโรคดีขึ้นได้อย่างไร หาข้อมูลเรื่องวิตามินซี ก็เจอข้อมูลขัดกันโดยสิ้นเชิง บ้างก็อ้างผลวิจัยว่าแทบไม่มีผล บ้างก็ว่าดีมากอ้างผลวิจัยเหมือนกัน เลยสรุปไม่ได้จึงต้องขอเรียนถามคุณหมอถึงข้อมูลเรื่องวิตามินซีกับการป้องกันหวัด แล้ววิธีอื่นๆ ที่จะช่วยป้องกันหวัดในเด็กเล็กที่ต้องไปอยู่รวมๆ กันในสถานรับดูแล

ขอบพระคุณค่ะ

..................................................

ตอบครับ

    คำถามเรื่องวิตามินซีกับหวัดเข้ามาบ่อยครั้งมาก แต่ผมยังไม่เคยมีโอกาสได้ตอบเลย เห็นจดหมายของคุณก็เลยถือโอกาสตอบเรื่องนี้แบบเหมาย้อนหลังให้กับจดหมายฉบับเก่าๆเสียด้วยก็แล้วกัน

     1.. ถามว่าวิตามินซีป้องกันการเป็นหวัดได้ไหม ตอบว่าข้อมูลงานวิจัยที่ต่างคนต่างทำผลมันก็เปะปะเป็นธรรมดา เพราะบ้างก็เป็นงานวิจัยระดับต่ำเชื่อถือไม่ได้ บ้างก็เป็นงานวิจัยระดับสูงแต่ขนาดกลุ่มตัวอย่างเล็กไป วิธีที่จะได้ความจริงมากที่สุดคือเอาข้อมูลการวิจัยระดับสูง  (งานวิจัยสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ) หลายๆงานวิจัยมารวมกันแล้ววิเคราะห์ใหม่  (meta analysis) ซึ่งหอสมุดโค้กเรนได้ทำการวิเคราะห์เมตาอานาไลซีสงานวิจัยชั้นดีจำนวน 29 งานวิจัย จำนวนคนร่วมทดลอง 11,306 คน โดยเทียบกลุ่มหนึ่งที่กินวิตามินซี.วันละ 200 มก.ขึ้นไปกับกลุ่มที่กินยาหลอก พบว่าคนกินวิตามินซีระดับ 200 มก.ต่อวันขึ้นไปเป็นประจำทุกวัน มีอุบัติการณ์เป็นหวัดไม่ต่างจากคนที่กินยาหลอก จึงตอบคุณได้อย่างมั่นใจว่าข้อมูล ณ ค.ศ. 2013 นี้ วิตามินซี.ป้องกันการเป็นหวัดไม่ได้

    2.. ถามว่าเมื่อเป็นหวัดแล้ว วิตามินซี.ลดระยะการเป็นหวัดได้ไหม การทบทวนงานวิจัยระดับสูง 31 รายการซึ่งมีผู้ป่วยเป็นหวัดรวม 9,745 ครั้ง พบว่าคนกินวิตามินซี.อย่างสม่ำเสมอ เมื่อเป็นหวัดแล้ว หากเป็นผู้ใหญ่รวมระยะเวลาที่เป็นหวัดจะสั้นกว่าคนกินยาหลอก 8% แต่ถ้าเป็นเด็ก ระยะเวลาป่วยจะสั้นกว่ายาหลอก 14% อย่างไรก็ตาม เฉพาะในเด็กนี้ หากขนาดของวิตามินซี.สูงขึ้นไปถึงวันละ 1,000 – 2,000 มก.จะร่นระยะเวลาการเป็นหวัดให้สั้นลงได้ 18% ดังนั้นจึงตอบคุณได้ว่าการกินวิตามินซี.แม้จะป้องกันการเป็นหวัดไม่ได้ แต่ก็ช่วยร่นให้หวัดหายเร็วขึ้นได้ “เล็กน้อย” โดยที่ในเด็กจะมีผลมากกว่าในผู้ใหญ่   

     3..  ถามว่าสำหรับคนที่ไม่ได้กินวิตามินซี.เป็นประจำทุกวัน เมื่อเป็นหวัดแล้ว หากกินวิตามินซี.เพื่อรักษาหวัด จะลดความรุนแรงและระยะเวลาเป็นหวัดลงได้ไหม การทบทวนงานวิจัยแบบรวมงานวิจัยระดับสูงเจ็ดรายการซึ่งคนเป็นหวัดเข้าร่วม 3,249 ครั้ง พบว่าการใช้วิตามินซีรักษาหวัดไม่ได้ร่นระยะเวลาการเป็นหวัดให้สั้นลงหรือทำให้ความรุนแรงของหวัดลดลงแต่อย่างใด แต่ว่างานวิจัยทั้งหมดนี้ทำในผู้ใหญ่เท่านั้น ดังนั้นถ้าคุณถามว่าแล้วถ้าเป็นเด็กละ การใช้วิตามินซี.รักษาโรคหวัดจะมีประโยชน์ไหม น่าเสียดายที่ผมไม่มีข้อมูลจะมาตอบคุณได้

    4.. อย่างไรก็ตาม มันมีประเด็นที่น่าจะมีสาระอยู่ประเด็นหนึ่งซึ่งควรกล่าวถึงนะ คือถ้าอ่านข้อมูลดิบของการทบทวนงานวิจัยครั้งนี้ให้ดี จะเห็นว่าถ้าเลือกเอาเฉพาะ 5 งานวิจัยที่ทำกับผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้สภาวะเครียดอย่างมาก คือระดับ extreme stress เช่น งานวิจัยหนึ่งทำกับนักวิ่งมาราธอน อีกงานหนึ่งทำกับนักสกี ซึ่งทั้งห้างานวิจัยมีผู้ถูกทำวิจัยทั้งสิ้นจำนวน 598 คน พบว่ากลุ่มที่กินวิตามินซี.ทุกวันมีอุบัติการณ์เป็นหวัดต่ำกว่ากลุ่มที่กินยาหลอกถึงครึ่งต่อครึ่ง  (50%) หรือแปลความหมายได้ว่าสำหรับคนที่กำลังตกอยู่ภายใต้สภาวะเครียดอย่างยิ่ง การกินวิตามินซี.สม่ำเสมอทุกวันจะลดอุบัติการณ์ของการเป็นหวัดลงได้อย่างมีนัยสำคัญคือลดได้ถึงครึ่งหนึ่งทีเดียว

     5.. ถามว่ามีวิธีป้องกันไม่ให้เด็กที่ไปอยู่สถานรับเลี้ยงเด็กไม่ให้เป็นหวัดไหม ตอบว่า..

          ไม่มีครับ

     (แหะ แหะ ชัดดีไหม ขอโทษ แต่พูดจริง) 
     เพราะว่าเชื้อหวัดที่แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในอากาศมีถึงสองร้อยกว่าชนิด (strain) สร้างภูมิคุ้มกันต่อชนิดหนึ่งได้แล้วก็ยังเหลืออีกตั้งกว่า 199 ชนิด โดยคนที่เป็นพาหะก็จะสลับกันป่วยแล้วสลับกันแพร่เชื้อในอัตราคนละปีละประมาณ 6-10 ครั้งถ้าเป็นเด็ก หรือปีละ 2-4 ครั้งถ้าเป็นผู้ใหญ่ หรือปีละน้อยกว่า 1 ครั้งถ้าเป็นคนแก่อายุหกสิบขึ้นไป ดังนั้นคุณคาดหมายได้เลยว่างานนี้...อีกนาน

     แต่พูดถึงอุบัติการณ์เป็นหวัดเนี่ย พูดแล้วอย่าหาว่าคุยนะ ตัวหมอสันต์นี้เองเพิ่งอายุหกสิบก็จริง แต่ว่าย้อนหลังไปนับได้สี่ปีเต็มๆมาแล้วนี่ยังไม่เคยเป็นหวัดเลยซักครั้งเดียว.. ขออภัยที่คุยโม้โดยไม่มีประเด็นสร้างสรรค์อะไร ..แต่ว่า..เขาพูดจริงนะตัวเอง


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1.      Hemila H, Chalker E for Cochrane Acute Respiratory Infections Group.  Vitamin C for preventing and treating the common cold.  The Cochrane Library, DOI: 10.1002/14651858.CD000980.pub4. Accessed at http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/14651858.CD000980.pub4/abstract  on May 21, 2013

....................................................

24 พค. 56
จดหมายจากท่านผู้อ่าน

ขอบพระคุณค่ะ คุณหมอ

ข้อมูลคุณหมอทำให้ตัดสินใจได้ว่าไม่ต้องให้หลานกินวิตามินซีเสริม แค่จากอาหารตามปรกติก็น่าจะเพียงพอ

.....(ชื่อ)...
[อ่านต่อ...]

ต้องตรวจยีน BRCA เพื่อตัดเต้านมดีๆทิ้งหรือไม่ เมื่อพี่สาวเป็นมะเร็งเต้านมควบรังไข่


14 กพ. 2555
เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ

ดิฉันมีปัญหาหนักอกไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ตัวดิฉันอายุ 39 ปี สูง 158 ซม. น้ำหนัก 69 กก. ยังไม่แต่งงาน คือปัญหาที่พี่สาวของดิฉันซึ่งอายุ 41 ปีเป็นมะเร็งรังไข่ คือเมื่อตัดมะเร็งรังไข่ไปแล้ว ต่อมาก็มาเป็นมะเร็งเต้านมที่ข้างซ้าย แล้วหมอได้แนะนำให้ตัดเต้านมออกทั้งสองข้าง คือให้เหตุผลว่ามะเร็งชนิดนี้เป็นกรรมพันธุ์และจะเป็นกับเต้านมทั้งสองข้าง ตอนนี้พี่สาวของดิฉันตัดไปหมดแล้วทั้งเต้านมทั้งสองข้างและทั้งรังไข่ทั้งสองข้าง หมอที่.... ยังแนะนำให้ดิฉันตรวจยีนมะเร็งเต้านม โดยบอกว่าหากพบว่ามียีนมะเร็งเต้านมดิฉันก็จะต้องตัดเต้านมออกเลยทั้งสองข้างเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม ซึ่งตอนแรกนั้นดิฉันเห็นว่าเป็นคำแนะนำที่ขอโทษนะคะ งี่เง่ามาก แต่คือยิ่งวันเวลาผ่านไปดิฉันก็ยิ่งกังวล ดิฉันสอบถามจากคุณแม่ว่าคุณยายซึ่งเสียชีวิตเมื่ออายุห้าสิบกว่าปีท่านเป็นโรคอะไร เป็นมะเร็งเต้านมหรือเปล่า คุณแม่บอกว่าไม่ทราบ เพราะคนบ้านนอกสมัยนั้นเขาไม่รู้อะไรกันละเอียดหรอก สิ่งที่ดิฉันจะรบกวนคุณหมอก็คือดิฉันควรจะไปตรวจยีนมะเร็งเต้านมไหม ถ้าตรวจต้องไปตรวจที่ไหน ค่าตรวจแพงหรือไม่ การตรวจยีนมะเร็งเต้านมต้องทำอย่างไร
ขอบคุณคุณหมอที่ช่วยบรรเทาทุกข์ให้ทุกคนเสมอ

...........................................

ตอบครับ        

ดูวันที่แล้วไม่น่าเชื่อว่าผมจะลืมจดหมายฉบับนี้ไว้ตั้งปีกว่า ทั้งๆที่ตั้งใจอยู่แล้วว่าจะหาเวลาตอบ ที่เพิ่งมาคิดขึ้นได้วันนี้เพราะเห็นบนโต๊ะกินข้าวมีนิตยสารไทม์ฉบับสัปดาห์นี้พาดหัวที่หน้าปกว่าดาราดัง แองเจลินา โจลี่ ประกาศว่าเธอจะตัดเต้านมออกทิ้งเสียทั้งสองข้างเพื่อป้องกันมะเร็ง แม้ว่าเธอจะยังไม่ได้เป็นมะเร็งก็ตาม กำลังจะหยิบมาอ่านเพราะอยากรู้ว่าอีตาหนุ่มรูปหล่อแบรดพิตต์สามีของเธอจะว่าอย่างไร แต่พอคิดขึ้นได้ก็รีบตัดสินใจหันมาค้นหาจดหมายของคุณเสียก่อน และก็โชคดีที่ยังหาเจอ หวังว่าคุณจะยังมีเต้าดี..เอ๊ย ขอโทษ หวังว่าคุณยังสบายดีอยู่นะครับ และหวังว่าคำตอบของผมยังไม่สายเกินไป

          ก่อนที่จะตอบคำถาม ขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านทุกท่านก่อนนะ ว่าการจะเป็นมะเร็งเต้านมไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นกรรมพันธุ์เสมอไป เพราะในบรรดาคนที่เป็นมะเร็งเต้านมทั้งหลายในโลกนี้ มีเพียง 5% ที่เป็นมะเร็งเพราะกรรมพันธุ์.. เดี๋ยว ขอขยายความก่อนนะ คำว่าเป็นมะเร็งเพราะกรรมพันธุ์หมายความว่าเกิดการกลายพันธุ์แล้วถ่ายทอดต่อไปได้ (mutation) ขึ้นบนยีนที่ทำหน้าที่ระงับการเกิดมะเร็ง (tumor suppression gene) ซึ่งในกรณีของมะเร็งเต้านมนี้ ส่วนใหญ่ (90%) เป็นการกลายพันธ์บนยีนสองตัวชื่อ BRCA1 และ BRCA2 นี่คือภาพใหญ่ในเชิงสรีรวิทยาของมะเร็งเต้านมกับกรรมพันธุ์
          อย่างไรก็ตาม คนที่เกิดการกลายพันธุ์ขึ้นบนยีนตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งสองตัวนี้แล้ว ก็ใช่ว่าจะต้องจบลงด้วยการเป็นมะเร็งเต้านมไปกันเสียทุกคน สถิติที่ชัดเจนเรายังไม่มี มีแต่สถิติหลวมๆว่าคนที่มีการกลายพันธุ์บนยีนตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งสองตัวนี้ นี้มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมในชั่วชีวิตนี้ประมาณ 50 – 85% และมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ได้ประมาณ   15 – 40% นี่คือภาพรวมในเชิงระบาดวิทยาของการกลายพันธ์ของยีนทั้งสองและการเป็นมะเร็ง

     1.. ถามว่าตัวคุณควรจะไปตรวจดูการกลายพันธุ์ของยีนคุมมะเร็ง BRCA1 และ BRCA2 ไหม ตอบว่ามันต้องผ่านด่านสองด่านนะ

     1.1 ด่านที่หนึ่ง คือตัวคุณมีความเสี่ยงที่จะมีการกลายพันธุ์ของยีนคุมมะเร็งเต้านมไหม ถ้าไม่มีความเสียง ถึงอยากจะตรวจ หมอเขาก็ไม่ตรวจให้ ในทางการแพทย์ถือว่ากรณีต่อไปนี้ถือว่าเป็นคนมีความเสี่ยงที่จะพบการกลายพันธุ์ของยีนคุมมะเร็งเต้านมเกิน 10% ขึ้นไป ซึ่งคุ้มค่าที่จะไปตรวจดู ได้แก่
1.1.1 ตัวเองเป็นมะเร็งรังไข่ โดยมีญาติวงใน (แม่ ย่า ยาย พี่สาว น้องสาว ลูกสาว) เป็นมะเร็งรังไข่หรือเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่ประจำเดือนยังไม่หมดอย่างน้อย 1 คน
1.1.2  มีญาติวงในเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่ตอนประจำเดือนไม่หมดอย่างน้อยสองคน
1.1.3  มีญาติวงในเพศชายเป็นมะเร็งเต้านม
1.1.4 มีญาติวงในเป็นมะเร็งเต้านมควบมะเร็งรังไข่ในคนเดียวกัน
1.1.5 มีญาติวงในเป็นมะเร็งเต้านมแบบเกิดขึ้นทีเดียวสองข้างในคนเดียวกัน
1.1.6  มีญาติวงในสองคนขึ้นไปเป็นมะเร็งรังไข่
1.1.7 มีญาติวงในคนใดคนหนึ่งตรวจเลือดพบว่ามีการกลายพันธุ์ของยีนคุมมะเร็ง BRCA1 หรือ 2
1.1.8 เป็นคนเชื้อสายที่มีการกลายพันธุ์ของยีนคุมมะเร็งเต้านมสูง (เช่นคนยิวสายยุโรปตะวันออก) แล้วเป็นมะเร็งรังไข่ หรือมีญาติวงในคนใดคนหนึ่งเป็นมะเร็งรังไข่
          ในกรณีของคุณ คุณไม่ได้บอกอายุของพี่สาวตอนที่เธอเป็นมะเร็ง ผมเดาเอาว่าเธอเป็นมะเร็งก่อนที่ประจำเดือนจะหมด คุณก็เข้าเกณฑ์ที่ว่ามีญาติวงในเป็นมะเร็งเต้านมควบมะเร็งรังไข่ในคนๆเดียวกัน ดังนั้นคุณก็ถือว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงที่จะมีการกลายพันธ์ของยีนคุมมะเร็งเต้านม หากจะตรวจยีนหมอเขาก็จะยอมตรวจให้ได้

     1.2 ด่านที่สอง ปลายทางของการตรวจการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 และ  2 ก็คือการตัดเต้านมที่ดีๆอยู่ทิ้ง (prophylactic mastectomy) หากตรวจพบว่ามีการกลายพันธุ์ของยีน อันนี้เป็นการตัดสินใจของคนไข้เองนะ ไม่ใช่การตัดสินใจของหมอ ไม่มีหมอคนไหนเอามือไปซุกหีบตัดสินใจตัดนมที่ดีๆของชาวบ้านทิ้งดอก ดังนั้นคุณจึงต้องตีความในใจตรงนี้ให้แตกก่อนว่าถ้าตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีน คุณจะยอมตัดเต้านมทิ้งแบบนางเอกแองเจลิน่า โจลี่ ไหม ถ้าหัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ตัด แล้วคุณจะไปตรวจการกลายพันธุ์ของยีนไปทำพรือละครับ ในการใช้ดุลพินิจตรงนี้ ผมมีข้อมูลและวิธีคิดให้คุณใช้ประกอบการพิจารณาดังนี้
     1.2.1 การตัดเต้านมของคนที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 หรือ 2 ทิ้ง ลดอุบัติการณ์ของการเป็นมะเร็งลงจากระดับ 50 – 85 % เหลือระดับ 5% แต่ไม่ใช่เหลือ 0% เพราะการกลายพันธุ์ของยีนนี้ยังก่อมะเร็งที่อวัยวะอื่นได้อีก
     1.2.2 ในการใช้ดุลพินิจประเมินอุบัติการณ์ของมะเร็ง คุณต้องเข้าว่าเรากำลังพูดถึง life time incidence หรือโอกาสเป็นมะเร็งหนึ่งครั้งในชั่วชีวิตนี้ ถ้าคุณดูโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมของคนมีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA ว่ามีสูงถึง 50-85% แล้วมันดูเหมือนมากใช่ไหม แต่ลองมาดูสถิติอีกตัวหนึ่งนะ เป็นสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติอเมริกัน (NCI) เขาคำนวณโอกาสเป็นมะเร็งชนิดใดๆก็ตามครั้งหนึ่งในชีวิตนี้ของลูกผู้หญิงทั่วไปไม่เกี่ยวกับมีการกลายพันธุ์ของยีนหรือไม่มี โอกาสนั้นมีอยู่ถึง 38% คือหมายความว่าคุณในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง ในชีวิตนี้โอกาสที่คุณจะได้เป็นมะเร็งกับเขาบ้างสักหนึ่งอวัยวะก็มีอยู่ตั้ง 38% แล้วแหงๆ ความเห็นส่วนตัวของผมก็คือว่าแล้วคุณจะไปตื่นเต้นอะไรกับโอกาสที่จะได้เป็นมะเร็งเต้านม  50-85%
     1.2.3 คุณมีกรมธรรมประกันชีวิตหริอประกันสุขภาพอยู่หรือเปล่า ถ้ามีคุณต้องดูให้ดีนะ เพราะหากมีหลักฐานให้พิสูจน์ได้ว่าโรคที่คุณเป็นอยู่นี้คุณเป็นมาก่อนซื้อกรมธรรม์ บริษัทประกันไม่จ่ายค่ารักษาให้คุณนะ หมายความว่าถ้าคุณไม่ตรวจการกลายพันธุ์ของ BRCA ต่อมาคุณเป็นมะเร็งเต้านม บริษัทประกันต้องจ่าย เพราะตอนซื้อประกันคุณยังไม่ได้เป็นมะเร็งเต้านม แต่ถ้าคุณไปเจาะเลือดพบว่ามีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA ไปภายหน้าคุณเป็นมะเร็งอะไรขึ้นมา บริษัทประกันอาจเบี้ยวไม่จ่ายสินไหมเป็นค่ารักษาให้คุณนะ เพราะการกลายพันธุ์ของยีนเป็นหลักฐานว่าเป็นเรื่องเกิดขึ้นก่อนซื้อกรมธรรม์ เพราะฉะนั้น..เบี้ยวได้
     1.2.4 สุขภาพจิตคุณหนักแน่นดีแค่ไหน เพราะหากตรวจได้ผลบวกจะเกิดความรู้สึกลบๆขึ้นในใจมากมาย ความรู้สึกสองฝักสองฝ่ายว่าจะตัดนมทิ้งดีหรือไม่ตัดดี ความรู้สึกกังวล โกรธ เสียใจ น้อยใจ ในโชคชะตา ถ้าจิตประสาทคุณไม่แข็ง ไม่พร้อมจะรับมือกับความรู้สึกเหล่านี้ก็..อย่าดีกว่าครับ

          คุณเอาข้อมูลทั้งหมดที่ผมให้มานี้พิจารณาดู แล้วตัดสินใจเองว่าจะไปตรวจการกลายพันธุ์ของยีน BRCA หรือไม่

     2. ถามว่าการตรวจการกลายพันธุ์ของยีน BRCA ทำอย่างไร ตอบว่าก็เจาะเลือดไปตรวจครับ

     3.. ถามว่าการตรวจการกลายพันธุ์ของยีน BRCA ต้องตรวจที่ไหน ราคาแพงไหม ตอบว่าในเมืองไทยที่รับตรวจชัวร์ที่ผมทราบก็คือที่ศิริราช ราคาก็ประมาณ 61,000 บาท แล้วต้องรอผลนานมากนะ ราวหกเดือนได้ ผมเคยมีคนไข้อยู่คนหนึ่งเธอใจร้อน ผมส่งไปตรวจที่ฮ่องกง ใช้เวลานานสองเดือน แต่ก็หกหมื่นกว่าบาทเหมือนกัน

     ผมตอบคำถามให้คุณหมดครบถ้วนแล้วนะ คราวนี้ผมเพิ่มให้ คือสำหรับท่านผู้อ่านทั่วไปที่เป็นคนที่มีความเสี่ยงที่จะมีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA อย่างคุณนี้ หากเราไม่ตรวจดูการกลายพันธุ์ของยีน ไม่ตัดเต้านมทิ้ง มันมีวิธีอื่นที่จะช่วยลดโอกาสตายจากมะเร็งเต้านมลงได้ไหม ตอบว่าก็พอมีนะครับ ได้แก่

     1.. ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมให้บ่อยขึ้น คนอื่นเขาทำแมมโมแกรมกันปีเว้นปี คุณอาจจะทำมันซะทุก 6 เดือน
     2.. กินยาคุม ช่าย.. ยาคุมกำเนิดเนี่ยแหละ สถิติบอกว่าคนกินยาคุมมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมลดลงในห้าปีแรก ห้าปีเท่านั้นนะ หลังจากนั้นอุบัติการณ์ก็จะกลับสูงขึ้น
     3.. กินยาป้องกันมะเร็ง (chemopreventive) เช่นยา Tamoxifen ที่เขาใช้รักษาคนเป็นมะเร็งเต้านม ถ้าให้คนที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม (หมายถุึงคนที่มีการกลายพันธุ์ของยีน) กินมันก็ลดความเสี่ยงลงได้ถึง  50% เชียวนะ
     4.. อย่าอ้วน ดูดัชนีมวลกายของคุณอยู่ประมาณ 27 แปลว่าน้ำหนักเกินพอดีไปโขอยู่ สถิติบอกว่าคนอ้วนเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนไม่อ้วน อย่าถามเหตุผลว่าทำไม เพราะไม่มีใครรู้
     5.. กินผักผลไม้แยะๆ สถิติบอกว่าคนที่กินอาหารที่มีพืชเป็นพื้น (plant based diet) เป็นมะเร็งเต้านมน้อยกว่าคนที่กินอาหารที่มีสัตว์เป็นพื้น ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1.      BRCA1 and BRCA2: Cancer risk and genetic testing. National Cancer Institute. http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Risk/BRCA
2.      Litton JK, et al. Perceptions of screening and risk reduction surgeries in patients tested for a BRCA deleterious mutation. Cancer. 2009;115:1598.
3.      Hall MJ, et al. BRCA1 and BRCA2 mutations in women of different ethnicities undergoing testing for hereditary breast-ovarian cancer. Cancer. 2009;115:2222.
4.      Meyer LA, et al. Evaluating women with ovarian cancer for BRCA1 and BRCA2 mutations: Missed opportunities. Obstetrics & Gynecology. 2010;115:945.
5.      Pruthi S, et al. Identification and management of women with BRCA mutations or hereditary predisposition for breast and ovarian cancer. Mayo Clinic Proceedings. 2010;85:1111.
6.      American College of Obstetricians and Gynecologists, et al. ACOG practice bulletin No. 103: Hereditary breast and ovarian cancer syndrome. Obstetrics & Gynecology. 2009;113:957.
7.      Berek JS, et al. Prophylactic and risk-reducing bilateral salpingo-oophorectomy. Obstetrics & Gynecology. 2010;116:733.
8.      NCCN Clinical Practice Guidelines in Oncology (NCCN Guidelines): Genetic/Familial High-Risk Assessment: Breast and Ovarian. Version 1.2012. http://www.nccn.org/professionals/physician_gls/pdf/genetics_screening.pdf (Accessed on May 21, 2013).
9.      Robson ME, Storm CD, Weitzel J, et al. American Society of Clinical Oncology policy statement update: genetic and genomic testing for cancer susceptibility. J Clin Oncol 2010; 28:893.
[อ่านต่อ...]

22 พฤษภาคม 2556

เป็นโรคไตเรื้อรัง (CKD) ตั้งแต่อายุน้อย


สวัสดีครับคุณหมอ ผมมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับเรื่องไต อยากจะรบกวนคุณหมอช่วยแนะนำหน่อยครับ
คือว่า ผมเพิ่งไปตรวจสุขภาพประจำปีมา ได้ค่าผลตรวจเลือด ที่คุณหมอที่ตรวจเลือดสงสัยว่าจะเป็นปัญหาคือ ผมอายุ 27 ปีครับ, น้ำหนัก 65 กก, สูง 175 ซม., ค่า Cr 1.61, ค่า BUN ผมไม่ได้ตรวจครับ ผมอยากรบกวนคุณหมอช่วยประเมินให้ผมหน่อยครับ ว่า ผมมีปัญหาโรคไตแบบใด ในส่วนของคุณหมอที่ตรวจให้ผมบอกว่า ไม่มีอะไร ให้เฝ้าระวังเฉยๆ ไม่ทราบว่าคุณหมอคิดว่ายังไงครับ ผมควรตรวจอะไรเพิ่ม หรือยังไงไม๊ครับ ตอนนี้ผมเป็นกังวลมากเลยครับ
ยังไงรบกวนคุณหมอด้วยนะครับ

.............................................

ตอบครับ

1.. คำวินิจฉัยที่ถูกต้องคือคุณเป็นโรคไตเรื้อรังระยะ (stage) ที่ 3 แล้ว คำแนะนำแบบพูดให้สบายใจว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ ไม่ต้องทำอะไรนั้น ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือคุณจะต้องลงมือทำสิ่งต่างๆมากมายเพื่อหาสาเหตุแล้วแก้ไขตามสาเหตุ และเพื่อลงมือป้องกันไตของคุณไม่ให้เสื่อมลงไปมากกว่านี้ การตรวจพบว่าเป็นโรคไตเรื้อรังจึงจะเกิดประโยชน์กับตัวคุณ

2.. วิธีวินิจฉัยโรคไตเรื้อรังในสมัยปัจจุบันวินิจฉัยจากค่า GFR ซึ่งย่อมาจาก glomerular filtration rate แปลว่า “อัตราที่เลือดไหลผ่านหน่วยตัวกรองของไตในหนึ่งนาทีต่อพื้นที่ผิวร่างกายหนึ่งตารางเมตร” กรณีที่ไม่ได้วัด GFR โดยตรง จะใช้วิธีแปลงค่า creatinine (Cr) ให้เป็นค่า GFR โดยพิจารณาร่วมกับเพศ อายุ และชาติพันธุ์ ก็ได้ ซึ่งคุณสามารถแปลงค่าเองได้โดยใส่ข้อมูลดิบเข้าไปในเว็บไซท์ของมูลนิธิโรคไตแห่งชาติอเมริกัน (https://www.kidney.org/professionals/kdoqi/gfr_calculator.cfm) ในกรณีของคุณนี้แปลงค่าเป็น GFR ได้ 52 ซีซี.ต่อนาที (ปกติควรไม่น้อยกว่า 90 ซีซี.ต่อนาที)    

3.. การแบ่งระยะของโรคไตเรื้อรังตาม GFR ถือหลักดังนี้

ระยะที่ 1 ตรวจพบพยาธิสภาพที่ไตแล้ว แต่ไตยังทำงานปกติ (จีเอฟอาร์ 90 มล./นาที ขึ้นไป) 
ระยะที่ 2 ตรวจพบพยาธิสภาพที่ไตแล้ว และไตเริ่มทำงานผิดปกติเล็กน้อย (จีเอฟอาร์ 60-89 มล./นาที) 
ระยะที่ 3 ไตทำงานผิดปกติปานกลาง ไม่ว่าจะตรวจพบพยาธิสภาพที่ไตหรือไม่ก็ตาม (จีเอฟอาร์ 30-59 มล./นาที) ระยะนี้ถือว่าเป็นโรคเรื้อรังอย่างสมบูรณ์แล้ว
ระยะที่ 4 ไตทำงานผิดปกติมาก (จีเอฟอาร์ 15-29 มล./นาที)
ระยะที่ 5. ระยะสุดท้าย (จีเอฟอาร์ต่ำกว่า 15 หรือต้องล้างไต)

4.. การสืบค้นหาสาเหตุโรคไตเรื้อรังควรทำทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนอายุน้อย เช่นกรณีของตัวคุณนี้เป็นต้น สิ่งที่พึงทำในการสืบค้นหาสาเหตุ คือ

4.1 การตรวจร่างกายและตรวจเลือดเพื่อคัดกรองโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง โดยเฉพาะโรค SLE ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ไตของคนอายุน้อยพังไปโดยไม่รู้ตัวมาแล้วนักต่อนัก

4.2 การตรวจประเมินภาวะไตอักเสบ (glomerulonephritis) ซึ่งในกรณีที่มีเหตุให้สงสัยมาก เช่นผลการตรวจโปรตีน (microalbumin) ในปัสสาวะเป็นบวก หรือผลการตรวจปัสสาวะมีเม็ดเลือดขาวเม็ดเลือดแดงมาก อาจต้องใช้เข็มตัดและดูดชิ้นเนื้อไตออกมาตรวจ (biopsy) เพราะโรคไตอักเสบบางชนิด การรักษาได้ด้วยยาเช่นสะเตียรอยด์จะพลิกฟื้นหรือชลอการเสื่อมของไตได้

4.3 การตรวจประเมินการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะและนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ด้วยการตรวจภาพของไตด้วย เอ็กซเรย์ หรืออุลตร้าซาวด์ หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์

4.4 การตรวจประเมินความพิการแต่กำเนิดของระบบไตและหลอดปัสสาวะด้วยอุลตร้าซาวด์หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เช่นโรคถุงน้ำในไตหลายใบ (polycystic disease of kidneys) เป็นต้น

4.5 การตรวจหาภาวการณ์ติดเชื้อซ้ำซากในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยการเพาะเชื้อบักเตรีจากน้ำปัสสาวะดู
4.6 การตรวจประเมินโรคเบาหวานและความดันเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของไตพิการที่บ่อยที่สุดในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่อายุมากแล้ว
การตรวจทั้งหมดนี้ ในกรณีที่พบสาเหตุ ก็แก้ไขสาเหตุ ในกรณีที่ไม่พบสาเหตุ ก็มุ่งดูแลสุขภาพเพื่อชลอการเสื่อมของไตและเพื่อป้องกันโรคร่วมซึ่งมักเป็นสาเหตุการตายของคนไข้โรคไต ดังจะได้เล่าในรายละเอียดต่อไป

5.. ในแง่ของการดูแลตัวเอง ประเด็นสำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ไตเสื่อมลงไปเร็วเกินไป เพราะจะจบลงด้วยการต้องล้างไตเร็วเกินควร สิ่งที่พึงทำเพื่อป้องกันไตเสื่อมคือ

5.1 ต้องระวังไม่ให้ร่างกายตกอยู่ในภาวะขาดน้ำ (dehydration) ด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 2 ลิตรขึ้นไป บางคนเข้าใจผิด พอหมอบอกว่าเป็นโรคไตแล้วรีบอดน้ำเพื่อป้องกันตัวบวม ไตเลยพังไปเลย ที่ถูกต้องคือโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 – 4 นี้เป็นระยะที่ยังไม่บวมหรอก ต้องให้ร่างกายได้น้ำไหลเวียนในร่างกายเพียงพอ ไตจึงจะเป็นปกติอยู่ได้ ไม่ใช่ไปกักน้ำ เรื่องความสำคัญของน้ำกับการก่อปัญหาให้กับไตนี้ หลายคนไม่เข้าใจ ผมมีลูกของคนไข้ที่เป็นหนุ่มเป็นแน่นแท้ๆ ไปฝึกทหาร ต้องอดน้ำเพียงไม่กี่วันเท่านั้นเอง ไตพังไปเลย พังแล้วไม่ฟื้นอีกต่างหาก ซึ่งน่าเสียดายมาก พูดถึงการจำกัดน้ำในโรคไต หมอจะให้คนเป็นโรคไตจำกัดน้ำก็ต่อเมื่อเข้าระยะปลายๆของโรคซึ่งมีอาการบวม ดังนั้นอย่าไปงดน้ำด้วยตัวเองเพียงเพราะว่าตัวเองเป็นโรคไต

5.2 อย่าไปรับการฉีดสารทึบรังสี (radiocontrast agents) เพื่อการวินิจฉัยโรคใดๆโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสวนหัวใจ การฉีดสีขณะตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ส่วนต่างๆของร่างกาย เพราะสารทึบรังสีที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยโรค เป็นอะไรที่อันตรายกับคนเป็นโรคไตเรื้อรังอย่างสุดๆ ถ้าหมอจะจับฉีดสีต้องขอความเห็นของหมอไตก่อนเสมอ ว่าสิ่งที่ได้จะคุ้มความเสียหายที่จะเกิดกับไตหรือไม่

5.3 อย่ากินหรือฉีดยาที่มีพิษต่อไตโดยไม่จำเป็น เช่นการกินยาแก้ปวดแก้อักเสบในกลุ่มกลุ่ม non steroidal antiinflammatory drugs (NSAID) และกลุ่ม COX2 inhibitors เช่นยา Voltaren ยา Arcoxia และยาปฏิชีวนะในกลุ่ม aminoglycosides เป็นต้น ถ้าหมอคนไหนจะให้ยาอะไร ควรปรึกษาหมอไตเจ้าประจำของเราทุกครั้ง เพราะหมอสาขาอื่นที่ไม่ใช่หมอไตมักลืมคิดถึงเรื่องไตไป  

เขียนถึงตอนนี้ขอเล่าอะไรนอกเรื่องหน่อยนะ สมัยผมเป็นหมอน้อยอยู่เมืองนอก มีอยู่ครั้งหนึ่งเกิดการทะเลาะกันรุนแรงระหว่างหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านโรคไตกับหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านศัลยกรรมซึ่งรักษาคนไข้คนเดียวกันที่เป็นทั้งไตเรื้อรังและเป็นทั้งติดเชื้อจากการผ่าตัด ถึงขั้นด่ากันโขมงโฉงเฉงข้ามหน้าคนไข้ที่นอนบนเตียงทำตาปริบๆ เรื่องมีอยู่ว่าหมอผ่าตัดจะต้องใช้ยา amikacin ซึ่งเพื่อแก้ปัญหาการติดเชื้อให้ได้ ข้างหมอไตก็ไม่ยอมให้ใช้เพราะกลัวไตจะพัง ในที่สุดหมอผ่าตัดร้องตัดบทต่อหน้าคนไข้ด้วยเสียงอันดังว่า

“..ผมไม่ให้ยาก็ได้ แต่ถ้าแผลติดเชื้อไม่หายคุณมาเอาคนไข้ไปผ่าเองนะ”

เจอไม้นี้เข้าหมอไตก็ดูท่าจะจนแต้ม เพราะตัวเองก็ผ่าตัดไม่เป็น จึงโยนชาร์ตลงกับพื้นวอร์ดดังเคล้งแล้วสะบัดก้นออกไป ยังไม่ทันถึงประตูวอร์ดก็หันหน้ามาตะโกนว่า

“.. Do anything you want to do, it’s not my kidney”
(มึงจะทำอะไรก็ทำเหอะ ไตเจ๊งไปก็ไม่ใช่ไตของกู)

ผมจำไม่ได้ว่าสุดท้ายไตคนไข้พังไปรึเปล่า แต่จำภาพบรรยากาศได้จึงเอามาเล่าให้ฟัง

5.4 อย่าเที่ยวบ้องตื้นกินสมุนไพรหรือหญ้าแห้งอัดเม็ดต่างๆเปะปะ เพราะสมุนไพรหลายชนิดเป็นพิษต่อไต โดยเฉพาะสมุนไพรจีนบางชนิดทำให้ไตวายบ่อยมาก จนในการซักประวัติคนไข้โรคไตเรื้อรังแพทย์ต้องถามถึงประวัติการกินยาสมุนไพรเสมอ ดังนั้น คนเป็นโรคไตเรื้อรังอย่ากินยาสมุนไพรเป็นดีที่สุด 

6. ในแง่ของการเลือกกินอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ควร

6.1 ทานโปรตีนในปริมาณพอดีเท่าที่ร่างกายต้องการ ไม่มากเกินไปจนก่อให้เกิดการเสื่อมของไต ไม่น้อยเกินไปจนเกิดภาวะทุพโภชนาการ กล่าวคือกรณีเป็นโรคในระยะที่ 1-3 ควรได้รับโปรตีนวันละ 0.6 – 0.8 กรัม/กก.นน.ตัวที่ควรเป็น กรณีเป็นโรคในระยะที่ 4-5 ควรได้รับโปรตีนวันละ 0.6 กรัม/กก.นน.ตัวที่ควรเป็น โดยอย่างน้อย 60% ของโปรตีนทั้งหมดควรเป็นโปรตีนคุณภาพสูงที่มีกรดอามิโนจำเป็นครบถ้วน เช่น เนื้อ นม ไข่ เป็นต้น อนึ่งในการนับโปรตีนนี้ไม่ใช่ว่าหมู 100 กรัมหมายความว่ามีโปรตีน  100 กรัม ไม่ใช่นะ ต้องรู้ว่าอาหารโปรตีนชนิดไหนมีโปรตีนกี่เปอร์เซ็นต์แล้วคำนวณจำนวนโปรตีนจากเปอร์เซ็นต์นั้น สูตรง่ายๆที่คุณจำไปใช้ได้เลยคือ เนื้อหมู วัว ไก่ ปลา และถั่วต่างๆมีโปรตีน 20 % ไข่มีโปรตีน 12% นมมีโปรตีน 3% ยกตัวอย่างเช่นคุณกินเนื้อหมู 100 กรัมคุณก็จะได้โปรตีน 20 กรัม ไม่ใช่ได้  100 กรัม

6.2 ทานอาหารให้แคลอรี่ไม่น้อยเกินไปจนเกิดการสลายโปรตีน และไม่มากเกินไปจนเหลือใช้และเก็บสะสมในรูปไขมัน กล่าวคือถ้าอายุต่ำกว่า 60 ปีควรได้แคลอรี่วันละ 35 กิโลแคลอรีต่อกก.นน.ตัวที่ควรเป็น ถ้าอายุ 60 ปีขึ้นไปควรได้แคลอรี่วันละ 30-35 กิโลแคลอรีต่อกก.นน.ตัวที่ควรเป็น 

6.3  ทานผักผลไม้มากๆ บางคนเข้าใจผิดพอหมอบอกว่าตัวเองเป็นโรคไตเรื้อรังก็ไม่ยอมทานผลไม้เลยเพราะกลัวโปตัสเซียมสูง นี่เรียกว่ารู้ไม่จริงไม่รู้เสียเลยดีกว่า คือภาวะโปตัสเซียมสูงจะเกิดในคนไข้โรคไตระยะสุดท้ายถึงขั้นต้องล้างไตแล้วเท่านั้น คนเป็นโรคไตระยะ 3 – 4 อย่างคุณนี้อย่าไปงดผักผลไม้ เพราะร่างกายคนเราทุกคนจะขาดอาหารในกลุ่มผักและผลไม้ไม่ได้เลย และหากบางเอิญบางช่วงบางเวลาเจาะเลือดพบว่าโปตัสเซียมสูงขึ้นมาบ้าง ก็อย่าบ้าจี้รีบงดผักผลไม้ เพราะส่วนใหญ่โปแตสเซียมในเลือดสูงมักมีสาเหตุพิเศษเช่นเป็นผลจากยารักษาโรคหัวใจหรือความดัน (เช่นยา ACEI) เป็นต้น

6.4 ต่อเมื่อเป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายต้องล้างไตแล้วเท่านั้นแหละ ที่อาหารการกินต้องมีประเด็นโน่นนี่นั่น อันได้แก่

6.4.1 คนเป็นโรคไตระยะสุดท้าย ควรเลือกทานผักผลไม้ที่มีโปแตสเซียมต่ำ เช่นผักใบเขียวต่างๆเช่น แตงกวา แตงร้าน ฟักเขียว ฟักแม้ว บวบ มะระ มะเขือยาว มะละกอดิบ ถั่วแขก หอมใหญ่ กะหล่ำปลี ผักกาดแก้ว ผักกาดหอม พริกหวาน พริกหยวก หรือผลไม้ต่างๆเช่น สับปะรด แตงโม ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ชมพู่ พุทรา มังคุด ลองกอง องุ่นเขียว เงาะ แอปเปิ้ลเป็นต้น

6.4.2 คนเป็นโรคไตระยะสุดท้าย ควรลดหรือเลี่ยงอาหารที่มีโปตัสเซียมสูงเช่น เห็ด หน่อไม้ฝรั่ง บรอคโคลี ดอกกะหล่ำ แครอท แขนงกะหล่ำ ผักโขม ผักบุ้ง ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ยอดฟักแม้ว ใบแค ใบคื่นช่าย ข้าวโพด มันเทศ มันฝรั่ง ฟักทอง อโวคาโด ผักแว่น ผักหวาน สะเดา หัวปลี กล้วย กล้วยหอม กล้วยตากฝรั่ง ขนุน ทุเรียน น้อยหน่า กระท้อน ลำไย ลูกพลับ ลูกพรุน ลูกเกด มะม่วง มะเฟือง มะปราง มะขามหวาน แคนตาลูป ฮันนี่ดิว น้ำส้มคั้น น้ำมะพร้าว น้ำแครอท

6.4.3 ถ้าเป็นโรคไตระยะสุดท้ายด้วย และบวมด้วย หรือมีความดันเลือดสูงด้วย ต้องลดโซเดียมหรือเกลือลงอย่างเข้มงวด กล่าวคือควรประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำกว่า 100 มิลลิโมลต่อวัน หรือต่ำกว่า 2,300 มิลลิกรัมของโซเดียมต่อวัน หรือเทียบเท่า 5.7 กรัมของเกลือแกงต่อวัน

6.4.4 ถ้าเป็นโรคไตระยะสุดท้ายด้วยและมีมีฟอสเฟตในเลือดสูงด้วย ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสเฟตสูงเช่น เมล็ดพืช นม เนย กาแฟผง เป็นต้น 

6.5 คนปกติทั่วไปไม่ต้องทานวิตามินเสริม แต่คนเป็นโรคไตเรื้อรัง อาจขาดวิตามินดีร่วมด้วย (ทราบจากการเจาะเลือดตรวจดูระดับวิตามินดี) ซึ่งในกรณีเช่นนั้น ควรรับประทานวิตามินดีทดแทน เพราะคนเป็นโรคไต ประสิทธิภาพของการแปลงวิตามินดีจากแสงแดดไปใช้ประโยชน์อาจเสียไป

7.. ในการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังอย่างคุณนี้ จะต้องใช้ตัวชี้วัดสุขภาพที่ยึดถือมาตรฐานสูงกว่ากรณีคนทั่วไป และต้องตรวจตัวชี้วัดเหล่านี้สม่ำเสมอ กล่าวคือ


7.1 ความดันเลือด ต้องไม่ให้เกิน 130/80 mmHg ขณะที่คนปกติอื่นๆยอมให้ได้ถึง 140/90 มม.

7.2 ไขมันเลว (LDL) ในเลือดต้องต่ำกว่า 100 มก./ดล. ขณะที่คนปกติอื่นๆยอมให้ได้ถึง 160 - 190 มก.

7.3 ต้องรักษาน้ำหนัก ให้ดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18.5 – 23 กก./ตรม. ในกรณีของคุณนี้มีดัชนีมวลกาย  21.2 ก็ถือว่ากำลังดีแล้ว

7.4 กรณีเป็นเบาหวาน ต้องรักษาระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหาร (FBS) ให้อยู่ระหว่าง 90-130 หรือระดับน้ำตาลสะสม  (HbA1C) น้อยกว่า 7.0% 

7.5 ระดับอัลบูมินในเลือด  (ซึ่งบ่งบอกภาวะความพอเพียงของอาหารโปรตีน) ไม่ควรต่ำกว่า 3.5 ก./ดล.

7.6 ระดับฮีโมโกลบิน  (ซึ่งบ่งบอกภาวะโลหิตจาง) ต้องรักษาไว้ไม่ให้ต่ำกว่า 10% ในกรณีที่มีภาวะโลหิตจาง (ฮีโมโกลบินต่ำกว่า 10%) ต้องไปให้หมอไตดู เพราะอาจจะต้องใช้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงหรือ erythropoiesis stimulating agent (ESA)  

8.. ควรป้องกันโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนให้หมด อย่างน้อยควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี.ครบชุดสามเข็ม และฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละเข็มทุกปี

9.. ประเด็นสุดท้าย อันนี้ไม่ใช่หลักวิชาแพทย์นะ แต่เป็นการมองจากมุมผลประโยชน์ของผู้ป่วย คือผมแนะนำว่าคนเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่  3 ขึ้นไปอย่างคุณนี้ ควรหาหมอโรคไต (nephrologist) ไว้เป็นที่พึ่งสักหนึ่งคนและควรไปให้เขาหรือเธอตรวจอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุก 6 เดือน จริงอยู่หมอทุกคนทุกสาขาก็รักษาโรคไตเรื้อรังระยะ 3 – 4 อย่างคุณนี้ได้ แต่ผมว่าให้หมอโรคไตดูแลจะดีที่สุด ในแง่ของการติดตามดูแลไตนี้ หากคุณไม่มีหมอโรคไตจะดูแล ตัวชี้วัดที่ดีที่สุดคือในการดูแลตัวเองคือ GFR ทั้งนี้คาดหมายว่ามันจะค่อยๆเสื่อมหรือค่อยๆลดลงๆทุกปี แต่มันไม่ควรลดลงเร็วกว่าปีละ 7 ซีซี.ต่อนาที ถ้ามันลดลงเร็วกว่านั้น ต้องแจ้นไปหาหมอโรคไตให้ได้


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

20 พฤษภาคม 2556

ขมคือสุขภาพ (Bitter is healthy)



เรียน คุณหมอสันต์

ได้อ่านบทความของคุณหมอเรื่องคนรุ่น Y ไม่กินผัก และรอดูว่าจะมีใครมีปัญหาเหมือนดิฉันบ้างก็ไม่เห็นมี คือลูกชายของดิฉันอายุ 11 ขวบ เขามีปัญหาเรื่องเกลียดรสขมมาก ทำให้กินผักและผลไม้แทบไม่ได้เลย เพราะอะไรสำหรับเขาก็ขมไปหมด จึงต้องกินแต่เบเกอรี่ ดิฉันอ่านบล็อกของคุณหมอมานาน คุณหมอย้ำมากเรื่องผลเสียของไขมันทรานส์ในอาหารเบเกอรี่ ดิฉันเข้าใจว่ารสขมคงเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพด้วย แต่หากลูกชายเกลียดรสขมจนไม่ยอมกินผักและผลไม้จะทำอย่างไรดีคะ
ขอขอบพระคุณคุณหมอที่ช่วยสละเวลาให้ความรู้แก่คนทั่วไปรวมทั้งดิฉันและครอบครัวด้วย

........................................................

ตอบครับ

     อ่านคำถามของคุณแล้วนึกถึงครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ผมพาเมียกับลูกชายไปดูหนังเรื่องอะไรจำชื่อไม่ได้เสียแล้ว เกี่ยวกับชีวิตของคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ สมัยที่ออกจากคณะวิศวจุฬากลางคันแล้วไปทำงานอยู่ในเหมืองกับฝรั่งที่ปักษ์ใต้ รายละเอียดของหนังผมจำไม่ได้หรอก จำได้อยู่ตอนเดียว คือทุกเช้าโฟร์แมนที่เป็นฝรั่งจะเดินมาทำงาน ก่อนจะขึ้นเรือขุดก็จะร้องสั่งอาโกที่ขายกาแฟเป็นภาษาปักษ์ใต้ว่า

     “โกปี้หนึ่งข๊วด ไม่ข้มไม่เอานะโว้ย”

     คือโฟร์แมนฝรั่งคนนี้คงจะประชดคนไทยหรือไงไม่ทราบ แกจึงต้องย้ำทุกวันว่าข้านี้ชอบขมนะโว้ย ไม่กินของหวานอย่างพวกเอ็งหรอก อ้อ นึกออกละ หนังเรื่องนั้นชื่อ “มหาลัยเหมืองแร่” แต่มันไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องที่คุณถามหรอก มาตอบคำถามของคุณดีกว่า

     1.. ถามว่ารสขม เป็นของไม่ดีต่อสุขภาพใช่ไหม ร่างกายคนทั่วไปจึงมีสัญชาติญาณคายอะไรที่ขมทิ้งทันที ตอบว่า ไม่ใช่ครับ หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ปัจจุบัน พบว่า สารในพืชที่มีหลักฐานแน่นอนแล้วว่าลดอุบัติการณ์ของมะเร็งและโรคหลอดเลือดนั้น เป็นสารประกอบที่เรียกรวมๆว่า phytonutrients  พวกนี้เป็นสารประกอบในกลุ่มฟีนอล (phenol) บ้าง โปลีฟีนอล (polyphenols) บ้าง ฟลาโวนอยด์ (flavonoids) บ้าง ไอโซฟลาโวนอยด์ (isoflavones) บ้าง เทอร์พีน (terpenes) บ้าง และ กลูโคซิโนเลท (glucosinolate) บ้าง สารเหล่านี้ล้วนมีรสขมทั้งสิ้น แถมอาจมีรสฉุนหรือเบาะๆก็ฝาดๆร่วมอยู่ด้วย ดังนั้นภาษิตไทยโบราณที่ว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” นั้นไม่ใช่ภาษิตหลอกเด็กนะครับ แต่เป็นภูมิปัญญาจริงๆ

     2.. การที่ผู้บริโภคไม่เอารสขม การเกษตรกรรมยุคใหม่และการตัดแต่งพันธุกรรมจึงมุ่งพัฒนาพันธุ์พืชที่ขจัดสารเหล่าในกลุ่ม phyatonutrients เหล่านี้ออกไปจากสายพันธุ์เพื่อเอาใจตลาด ซึ่งเป็นอะไรที่ขัดแย้งกับอีกด้านหนึ่งที่นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาพืชอาหารเพื่อป้องกันมะเร็งต่างก็ส่งเสียงสนับสนุนให้เลือกทานผักที่ขมๆเข้าไว้เพราะผักเช่นบร็อคโคลี่ยิ่งขมยิ่งมี glucosinolate มาก แบบว่ายิ่งขมยิ่งป้องกันมะเร็งได้ดี บางคนถึงกับเสนอสโลแกนว่า "ขมคือสุขภาพ" (Bitter is Healthy) ทั้งสองพวกนี้ผมไม่รู้ท้ายที่สุดแล้วใครจะชนะ   

     3.. ความกังวลของคนทั่วไปที่ว่ารสขมหมายถึงสารพิษ (toxin) นั้นอาจจะจริงหากเป็นความขมหรือหืน หรือฉุนแบบสุดฤทธิ์สุดเดช สำหรับความขมระดับธรรมดา งานวิจัยพบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างรสขมกับการเป็นสารพิษแต่อย่างใด

     4. ถามว่าคนไม่ชอบขม ทำอย่างไรจึงจะให้ยอมรับรสขม อย่างน้อยก็ขมที่มีเจืออยู่ในผักผลไม้ ตอบว่าการลิ้มรสใหม่ๆแล้วชอบมันนั้นเป็นการพัฒนาทักษะ (skill) ใหม่ ซึ่งมีหลักอยู่สองประการ คือ หนึ่ง จะต้องมีโอกาสได้ทำซ้ำๆๆๆ จนนานพอ สอง จะต้องมีความท้าทายให้อยากลองทำบ่อยๆ

     พูดถึงการมีโอกาสได้ทำซ้ำแล้วเกิดทักษะ ผมจะเล่าอะไรให้ฟัง เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมพาครอบครัวรวมทั้งลูกชายซึ่งเป็นคนรุ่น Y เนี่ยแหละไปเยี่ยมคุณย่าของเขาที่พะเยา นอนค้างคืนที่บ้านคุณย่าหนึ่งคืน กินอาหารแบบคุณย่ารวมสี่มื้อ อาหารแบบคุณย่าหมายความว่าทุกมื้อจะมีแต่ ลาบ+ผักสด, น้ำพริกอ่อง+ผักนึ่ง, แกงแค, แคบหมู, ไส้อั่ว, หมูยอ, แกงขนุน, และแมงมันคั่ว (แมลงคล้ายแมงเม่าแต่ตัวโตกว่า) อาหารมีแค่นี้ เหมือนกันทุกมื้อ มีอาหารพิเศษที่คุณย่าบรรจงทำให้หลานชายคนโปรดเพียงรายการเดียวเท่านั้น คือต้มไก่ (น้ำ+ไก่ แล้วทำให้ร้อน) มื้อแรกๆคุณลูกชายเธอก็รอดชีวิตด้วยต้มไก่อย่างเดียว เพราะไม่ยอมกินอย่างอื่นเลย มื้อที่สองก็รอดชีวิตด้วยต้มไก่อีกอย่างเดียวอีก จนมามื้อที่สามเธอจึงเสี่ยงตายทดลองไส้อั่วดูตามที่แม่เขาแนะนำ แล้วก็ทำหน้าเหมือนพอกระเดือกได้ พอมื้อที่สี่ก็จึงเริ่มทานได้สองอย่างคือต้มไก่กับไส้อั่ว น่าเสียดายที่เรามีเวลาอยู่กับคุณย่าจำกัด หากเราอยู่สักสามสัปดาห์ ลูกชายก็คงจะทานอาหารเหนือได้หมด เพราะงานวิจัยทักษะทางอาหารให้ผลสรุปว่าการจะทดลองอาหารใหม่ได้สำเร็จต้องมีโอกาสได้ทานอาหารนั้นทุกวันโดยไม่มีอย่างอื่นให้เลือกแข่งเลยเป็นเวลาติดต่อกันประมาณ 3 สัปดาห์จึงจะติดลม

     ผมมีตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง คนไข้ของผมเองเป็นวิศวกรใหญ่ระดับบิ๊กบอสอยู่แถวระยอง เขาดื่มกาแฟใส่ครีมเทียมและน้ำตาลวันละ 6 แก้ว แล้วเป็นเบาหวานระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 300 มก. ผมให้เขาเปลี่ยนมาดื่มกาแฟดำ เขาบอกว่าสัปดาห์แรกมันสุดทนจริงๆ แต่ต่อมาก็ทนได้ ตอนนี้กลับไปดื่มกาแฟใส่น้ำตาลแล้วมันกลายเป็นโลว์เทสต์ ไม่เข้าท่าไปเสียแล้ว คนไข้คนนี้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทุกอย่างตามที่ผมแนะนำได้ดีมาก ตอนนี้น้ำตาลกลับมาปกติโดยไม่ได้ใช้ยาเลย 
     วิธีฝึกเด็กให้รับอาหารใหม่ ผมเองก็ไม่เคยทำนะครับ เพราะช่วงที่ผมเลี้ยงลูกชายวัยขนาดลูกของคุณนี้ผมเอาแต่ทำงาน ปล่อยให้เขาแมคโดนัลด์เคนตั๊กกี้ของเขาไปตามมีตามเกิด แต่ผมแนะนำคุณได้โดยใช้พื้นฐานจากงานวิจัยเท่าที่มีคนทำไว้ ว่าคุณควร

     4.1 สร้างโอกาสให้ลูกต้องทานอาหารใหม่ที่ดีต่อสุขภาพซ้ำๆๆๆๆ ติดๆกันทุกวันๆๆๆ อย่างน้อย 3 สัปดาห์

     4.2 สร้างความท้าทายชักจูงให้ลิ้มลองรสชาติใหม่ๆ เช่นทำเกมส์เอาเครื่องเทศและอาหารที่มีกลิ่นแปลกๆใส่ขวดที่หน้าตาเหมือนกันหลายๆขวด ปิดฉลากไว้แต่หาอะไรบังฉลากไม่ให้มองเห็นจนกว่าจะเฉลย แล้วเล่นเกมส์อะไรเอ่ยให้ลูกชายดมแล้วทายว่าของในขวดนั้นคืออะไร เล่นเกมส์นี้บ่อยๆ จนลูกชายทายถูกมากขึ้นๆ การสืบเสาะกลิ่นและรสนี้จะสร้างความท้าทายให้ลิ้มลองรสใหม่ๆ

     4.3 เวลาออกไปทานอาหารนอกบ้าน อย่าสั่งอาหารที่เราทำกินกันที่บ้านเป็นประจำ ให้สั่งอาหารที่แปลกใหม่อย่างสิ้นเชิง ถ้าลูกชายกินไม่ได้ก็ให้เขาอดไป

     4.4 หาโอกาสลองอาหารต่างชาติต่างภาษา หัดบรรยายคุณลักษณะอาหารเช่น สี ผิว (texture) กลิ่น รส กรอกหูลูกชาย สลับกับเล่นเกมส์ให้ลูกชายบรรยายคุณลักษณะอาหารใหม่ๆให้ฟังบ้าง
วิธีเหล่านี้จะได้ผลหรือเปล่าผมไม่รู้นะ คุณลองทำดู

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1.      Drewnowski A, Gomez-Carneros C. Bitter taste, phytonutrients, and the consumer: a review.  Am J Clin Nutr December 2000vol. 72 no. 6 1424-1435
2.      Beecher GR. Phytonutrients' role in metabolism: effects on resistance to degenerative processes. Nutr Rev 199957:S1–6.
3.      Lichtenstein AH. Soy protein, isoflavones and cardiovascular disease risk.J Nutr 1998;128:1589–92.
4.      Rouseff RL. Bitterness in food products: an overview. In: Rouoseff RL, ed. Bitterness in foods and beverages. Developments in food science. Vol 25. Amsterdam: Elsevier, 1990:1–14.
5.      Fahey JW, Zhang Y, Talalay P. Broccoli sprouts: an exceptionally rich source of inducers of enzymes that protect against chemical carcinogens.Proc Natl Acad Sci U S A. 1997;94:10367–72.
6.      Glendenning JI. Is the bitter rejection response always adaptive? Physiol Behav 1994;56:1217–27.
7.      Chung KT, Wong TY, Wei CI, Huang YW, Lin Y. Tannins and human health: a review. Crit Rev Food Sci Nutr 1998;36:421–64.
8.      Hertog MGL, Hollman PCH, Katan MB. Content of potentially anticarcinogenic flavonoids of 28 vegetables and 9 fruits commonly consumed in The Netherlands. J
9.      Fenwick GR, Griffiths NM, Heaney RK. Bitterness in Brussels sprouts (Brassica oleracea L var gemnifera): the role of glucosinolates and their breakdown products. J Sci Food Agric 1983;34:73–80.

........................................

20 พค. 56
จดหมายจากท่านผู้อ่าน
คำตอบของอาจารย์ ทำให้ผมนึกถึงไปสมัยเด็ก ผมก็ไม่กินผักโดยเฉพาะแกงเลียงที่มีฟักทอง เมื่อโดนผู้ใหญ่บังคับให้กินถึงกับอาเจียน ฯ ต่อมาต้องไปเรียน ม. ๔ ที่ภูเก็ต(เพราะในอำเภอที่อยู่มีสูงสุดแค่ ม. ๓ ) ไปอยู่บ้านที่รับนักเรียนต่างจังหวัดเป็นรายได้พิเศษ มันซวยตรงที่พี่แกชอบเล่นไพ่ ก็เลยทำให้อาหารประจำคือ ผัก ผสมวิญญาณเนื้อสัตว์เป็นประจำ ไม่กินผักก็อดตาย ฯ ตั้งแต่บัดนั้นก็เลยกินผักเป็น นิสัยนี้ไม่ทราบว่า มันถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์หรือไม่ ลูกหลานผมก็ไม่กินผัก จะอายุห้าสิบแล้วก็ยังไม่กินผัก อาจเพราะผมไม่เล่นการพนันจนเงินหมดก็ได้
......................
[อ่านต่อ...]