(นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ บรรยายให้นักเทคนิคการแพทย์จำนวน 500 ท่าน ในการประชุมวิชาการที่โรงแรมชะอำรีเจ้นท์
วันที่ 20 กพ. 57 ถอดจากเทปบันทึกเสียง)
สวัสดีครับ
เรื่องที่ผมรับจ้างมาพูดในวันนี้คือเรื่องความสำคัญของแล็บ ผมจะพยายามทำงานที่ได้รับมอบหมายมาให้จบก่อนเวลา
เพื่อที่จะได้ใช้เวลาที่เหลือพูดกับท่านในเรื่องที่ผมอยากจะพูด คือพูดอย่างคนพูดกับคน
อย่างคนที่ทำงานในโรงพยาบาลอยู่ด้วยกันอยากจะสื่อถึงกัน แบบว่า..ตามใจฉันนะครับ เรามาเริ่มต้นด้วยความสำคัญของแล็บก่อนนะ
แล็บช่วยให้เกิดการวิจัย
เริ่มด้วยเรื่องความสำคัญของแล็บก่อน
พวกเราอาจมองว่าความสำคัญสูงสุดของแล็บคือการช่วยวินิจฉัยโรค
แต่ผมไม่ได้มองอย่างนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่แล็บทำให้เกิดขึ้น
ก็คือการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์
พูดง่ายๆว่าแล็บเป็นเครื่องมือแบ็คอัพการวิจัยที่จะขาดเสียไม่ได้
งานวิจัยเป็นเครื่องมือเดียวที่ทำให้การแพทย์ก้าวหน้ามาจนถึงวันนี้ เรา ทุกวันนี้แล็บก็เป็นตัวหนุนงานวิจัยอยู่แล้ว
แต่วันพรุ่งนี้ มันยิ่งจะมากขึ้น เพราะเมื่อคืนนี้ในการประชุมพวกนักบริหาร คุณ Lance
ได้พูดถึงการที่บรรดาบริษัทรับจ้างทำวิจัย
หรือที่เทคนิคัลเทอมเรียกว่า CRO ย่อมาจาก contracted research
organization กำลังตบเท้ากันเข้ามาหากินในเอเชีย รวมทั้งเมืองไทย
พวกเราที่ยังไม่รู้จัก CRO ผมจะเล่าให้ฟังย่อๆ
พวกเราคงทราบแล้วว่าธุรกิจขายยาเป็นธุรกิจที่อู้ฟู่มาก
เครื่องมือในการขายยาใหม่ๆของบริษัทยาก็คือการเอายาใหม่ออกมาทดลองใช้กับคน
เรียกว่าการทำ clinical trial การทำวิจัยนี้สมัยก่อนทำกันแต่ในยุโรปและอเมริกา
แต่ว่าอุตสาหกรรมสุขภาพในยุโรปและอเมริกาเดี๋ยวนี้อัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 0%
ขณะที่ทางเอเชียมีอัตราการเติบโต
12% ขึ้นไป ตลาดของยาใหม่จึงอยู่ที่เอเชีย การจะขายยาให้คนเอเชีย
มันก็ต้องมีงานวิจัยที่ทำกับคนเอเชีย ในการวิจัยนี้บริษัทยาเขาไม่ได้ทำเอง
แต่จ้างให้หมอ นักวิจัย และมหาวิทยาลัยต่างๆทำ โดยมี CRO เป็นหน้าม้าดำเนินการให้
เมื่อ CRO บ่ายโฉมหน้าเข้ามาหากินในเมืองไทย
การวิจัยที่แทบจะไม่เคยเห็นเลยก็จะผลุดขึ้นเป็นดอกเห็ด
ที่ว่าแพทย์ไทยไม่สนใจงานวิจัยนั้นไม่จริงหรอก
เพราะถ้าเงินถึงเสียอย่างอย่าว่าแต่ทำงานวิจัยเลย จ้างผีมาโม่แป้งยังได้เลย
ประเด็นของผมก็คือ
(1)
แล็บของเมืองไทย จะมีบทบานเป็นส่วนสำคัญที่ขาดเสียมิได้ของงานวิจัยเหล่านี้ และ
(2)
งานวิจัยเหล่านี้แม้จะขับดันด้วยการแสวงกำไรของบริษัทยา
แต่ก็เป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นในวิชาแพทย์
ทำให้การแพทย์เราก้าวหน้ามาถึงขนาดนี้
ความสำคัญของงานวิจัยสร้างสรรค์สิ่งใหม่
พวกท่านที่เป็นคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ตระหนัก เพราะเกิดมาก็พบกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างมากแล้ว
แต่สำหรับคนรุ่นเก่าอย่างผมแล้ว เราก้าวมาเร็วและมาได้ไกลมาก ก้าวมาจากไหนผมจะเล่าให้ฟังจากประสบการณ์ของคนเป็นๆนะครับ
ตอนผมเป็นนักเรียนแพทย์ ครูของผมท่านหนึ่งซึ่งสอนวิชา
physiology ให้ผมเล่าให้ผมฟังว่าตอนท่านไปเรียนแพทย์ที่อเมริกา
ครูของท่านซึ่งจบแพทย์มาจากยุโรปเล่าว่าสมัยท่านจบใหม่ๆการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจต้องใช้เครื่องแบบนี้
คือ ขอโทษ.. คนไข้ต้องเอาตีนจุ่มลงไปในกะละมังใบบะเร่อที่มีน้ำอยู่ มือสองข้างก็จุ่มลงไปในอีกสองกะละมังแบบนี้
เอาสายไฟฟ้าจุ่มลงไปในน้ำ แล้วก็มีเครื่องสาระพัดยุ่งเหยิงพอๆกับสำนักงานไปรษณีย์โทรเลขหนึ่งแห่งเลยทีเดียว
จึงจะได้เห็นคลื่นไฟฟ้าหัวใจของคนไข้ พวกเราที่เกิดมาก็เห็นเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขนาดเล็กกะทัดรัดอาจจินตนาการไม่ออกว่าเมื่อประมาณ
70 -80 ปีมานี้เอง การจะได้เห็นคลื่นไฟฟ้าของหัวใจต้องทำกันถึงขนาดนี้
อีกตัวอย่างนะ ตอนที่ผมเป็นนักเรียนแพทย์
ครูของผมอีกท่านหนึ่ง เล่าว่าสมัยท่านเป็นนักเรียนแพทย์ที่ศิริราช การรักษาอหิวาต์สมัยนั้นใช้น้ำมะพร้าวให้ทางหลอดเลือดนะครับ
มะพร้าวลูกเหน่งๆเนี่ยแหละ นี่ แขวนไว้ข้างบน เอาเข็มเจาะเข้าไปที่หัวลูกมะพร้าว
ต่อสายยางไส้ไก่จักรยานพาเอาน้ำมะพร้าวไหลลงมาไปเข้าหลอดเลือดของคนไข้ คนไข้ได้น้ำมะพร้าวแล้วสั่นงักๆๆๆ
นี่คนเล่าท่านยังมีชีวิตอยู่นะ ก็แค่ประมาณหกสิบปีมานี้เอง การแพทย์เราล้าหลังถึงขนาดนั้น
ดังนั้นในกระบวนการรักษาคนไข้ทุกวันนี้
การวิจัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สำคัญกว่าการรักษาคนไข้เสียเอง เพราะครึ่งหนึ่งของวิธีรักษาที่เราทำทุกวันนี้เราทำไปเพราะความไม่รู้จริง
คือพูดง่ายๆว่ารักษาไปคนไข้อาจจะแย่เสียยิ่งกว่าเรานั่งอยู่เปล่าๆ
แล็บมีบทบาทในงานวิจัยไม่ใช่แค่เป็นเครื่องมือค้นหาความจริงทางวิทยาศาสตร์เท่านั้นนะ
แต่ยังเป็นเครื่องมือยืนยันให้วงการแพทย์ลบความเชื่อเก่ามาใช้ความเชื่อใหม่ด้วย
ในบรรดาวิทยาศาสตร์ทุกสาขา สาขาของเราเป็นสาขาที่ผู้คนมีหัวอนุรักษ์และรับของใหม่ยากที่สุด
ถ้าไม่มีหลักฐานชัดๆจะๆเป็นไม่เชื่อเด็ดขาด
ยกตัวเพื่อประกอบว่าวงการของเราอนุรักษ์ขนาดไหน หมอคนนี้นะ
เขาชื่อ แบรี่ มาแชล เขาเป็นชาวออสซี่
“แล้นซ์ คุณเป็นกีวี่
นะ ไม่ใช่ออสซี่ใช่ไหม You are Kiwi not Ossie, aren’t you?”
“Yes,
I am”
ที่ผมถามเพราะว่าคนกีวี่กับคนออสซี่เขามักจะขบเหลี่ยมกันเสมอ
“We
are talking about clever Ossie people”
สมัยเป็นแพทย์ประจำบ้าน หมอมาร์แชลได้ยินคำบอกเล่าของพยาธิแพทย์ว่าเวลาตรวจชิ้นเนื้อแผลในกระเพาะอาหารเพื่อหาเซลมะเร็งเขาพบเชื้อบักเตรีชื่อ
H. Pylori อยู่ในแผลบ่อยมาก มาร์แชลกับเพื่อนจึงได้เริ่มทำวิจัยโดยส่องกล้องแล้วตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อแผลกระเพาะอาหารมาเพาะหาเชื้อ
ตั้งใจจะทำ 100 คน แต่ทำไป 34 คนก็ยังเพาะเชื้อไม่ได้แม้แต่คนเดียว พอมาคนที่ 35
แล็บเทคที่เข้าเวรวันนั้นคงเมาค้าง
คือเขาลืมคลีน incubator เอาจานเพาะเก่าออกไปทิ้ง
คือสมัยก่อนจานเพาะเชื้อต้องขนออกทิ้งทุก 2 วัน
สองวันเพาะเชื้อไม่ขึ้นทิ้งหมด แต่บังเอิญวันนั้นแล็บเทคลืมเอาออกทิ้ง
เทคคนนั้นตื่นเช้าจะมาเคลียร์ตู้แต่เห็นจานเพาะเชื้อมีโคโลนีบักเตรีขึ้น จึงเอามาส่องกล้องดู
ก็พบ H. Pylori เต็มไปหมด ก็จึงไปเรียกหมอมาแชลมาดู มาร์แชลเห็นแล้วร้องด้วยความดีใจ สรุปก็คือได้เรียนรู้ว่า
H. Pylori เป็นเชื้อชนิดโตช้า ต้องเพาะนานเกินสองวันขึ้นไปจึงจะขึ้น
รายต่อไปเขาก็เพาะขึ้นทุกราย จากนั้นเขาจึงทดลองใช้ยาเตตร้ารักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร
แล้วก็พบว่าดีกว่าวิธีมาตรฐานสมัยนั้นซึ่งก็คือใช้ยาลดกรดและการผ่าตัด
เขาพยายามตีพิมพ์ผลวิจัยและพูดในที่ประชุม แต่ไม่มีใครสนใจเขา
เพราะการจะบอกหมอโรคทางเดินอาหารสมัยนั้นว่าแผลในกระเพาะไม่ได้เกิดจากความเครียดอย่างที่เข้าใจกันนะ
มันเกิดจากเชื้อบักเตรีเนี่ย มันยิ่งกว่าบอกว่าโลกเรานี้จริงๆแล้วมันแบนนะ
คือไม่มีใครเชื่อ เขาขอตีพิมพ์งานวิจัยก็ถูกบก.ตัดทิ้ง เขาโยนต้นฉบับคืนและว่า
“..คุณไปพิสูจน์มาก่อนสิ ว่าเชื้อที่คุณพบนะ มันทำให้เกิดแผล “
เจอเข้าไม่นี้มาร์แชลก็ตัดสินใจทดลองกับตัวเอง
เขาให้เพื่อนส่องกระเพาะของตัวเอง ถ่ายรูปให้เห็นว่ากระเพาะของเขาไม่มีแผล
ตัดตัวอย่างผิวกระเพาะมาตรวจเป็นหลักฐานว่าไม่มีเชื้อ แล้วก็ส่องกระเพาะของคนไข้
ตัดเนื้อออกมาเพาะเชื้อ H pylori จนเต็มจาน แล้วเอาเชื้อผสมน้ำ แล้วกลืนกินเข้าไปซะเอง
อีกสามสัปดาห์ต่อมาเขาก็มีอาการของแผลในกระเพาะอาหาร
เขาให้เพื่อนเขาส่องกระเพาะของเขาซ้ำ ตัดชิ้นเนื้อมาเพาะให้เห็นว่ามีเชื้อ H
pylori แล้วเขาก็กินยาเตตตร้า จนแผลหาย แล้วก็ส่องกระเพาะอีก ถ่ายรูปอีกเพื่อพิสูจน์ว่าแผลหายไปแล้ว
เพาะเชื้อพิสูจน์อีกว่าไม่มีเชื้อแล้ว เขาเอางานวิจัยกับตัวเองนี้ไปขอตีพิมพ์ หนังสือ
Lancet ยอมพิมพ์ให้ แต่ผู้คนก็ไม่ให้ความสนใจ เขาต้องไปฮั้วกับหนังสือ Reader’s
digest ให้ตีพิมพ์เรื่องของเขาแบบข่าวชาวบ้าน ใช้หัวเรื่องว่า “หมอหนูตะเภา”
หรือ Doctor Guinae Pig เรื่องของเขาถึงดังขึ้นมา เมื่อจุดกระแสติดในหมู่ชาวบ้านก่อน
วงการแพทย์จึงค่อยซื้อไอเดีย ทุกวันนี้สิ่งที่เขาค้นพบกลายเป็นมาตรฐานว่าเชื้อ H
pylori เป็นต้นเหตุของแผลในกระเพาะอาหาร ตัวมาร์แชลเองได้รับรางวัลโนเบลในปี
2005
คืองานวิจัยดีๆมักเกิดจากสถานะการณ์ฟลุ้คๆ
แต่องค์ประกอบที่ขาดไม่ได้คือต้องมีแล็บช่วยเสมอ ยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งนะ
เรื่องการรักษาโรคพิษสุนัขบ้า คือในตำราแพทย์ทุกเล่ม
ถือว่าโรคพิษสุนัขบ้าเป็นแล้วรักษาไม่หาย ตายลูกเดียว คืออัตราตาย 100% สมัยผมเด็กๆเคยเห็นคนเป็นโรคนี้ถูกจับล่ามโซ่เพ้อคลั่งเป็นคนบ้า
เวลาเอาน้ำให้กินทั้งๆที่กระหายน้ำแต่พอกลืนน้ำแล้วก็ต้องพ่นน้ำออกมาแล้วส่งเสียงร้องโหยหวนเหมือนสุนัข
เด็กผู้หญิงคนนี้ชื่อ
Jeana Giese เธออยู่ที่มิลวอร์คกี้ วันหนึ่งเธอป่วย เข้าโรงพยาบาล
ตอนแรกแพทย์ก็วินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่เธอมีอาการทางสมองด้วย เห็นภาพซ้อน
ปวดแสบปวดร้อนที่นิ้วชี้ข้างขวา แล้วอาการก็มากถึงมีประสาทหลอน เพ้อคลั่ง
ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ตรวจเลือดหาไวรัสทุกตัวหาบักเตรีทุกตัวก็ไม่เจออะไร
หมอบอกพ่อแม่ว่าไม่รู้ว่าเธอเป็นโรคอะไร
ณ จุดหนึ่งคุณแม่ก็ให้ประวัติเพิ่มเติมซึ่งตอนแรกเธอคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องสำคัญจึงไม่ได้บอกหมอ
เธอเล่าว่าวันหนึ่งขณะลูกสาวกลับจากโรงเรียน เธอไปเก็บค้างคาวที่บาดเจ็บและหล่นอยู่ข้างทางเพื่อจะเอามาอนุบาลให้มันรอดชีวิตแต่ท้ายที่สุดมันก็ไม่รอด
ตอนเก็บค้างคาวขึ้นมา
เธอถูกมันกัดที่นิ้วนิดหนึ่งไม่ถึงกับเลือดออกแค่เห็นเป็นจุดแดงๆเล็กๆเท่าหัวเข็ม
แพทย์จึงตัดชิ้นเนื้อปลายประสาทและเก็บน้ำลายส่งแล็บตรวจ
PCR หาไวรัส rabies ซึ่งก็ได้ผลบวกจริงๆ
แต่มาถึงขั้นนี้มันเป็นระยะที่วัคซีนช่วยอะไรไม่ทันเสียแล้ว
เมื่อแจ้งพ่อแม่ว่าเธอจะต้องตาย 100% พ่อแม่ได้ร้องขอกับหมอว่าขอให้ทำอะไรก็ได้
แม้จะเป็นการทดลองที่แปลกประหลาดพิสดารนอกรีตอย่างไรก็ยอม
เพราะไหนๆเธอก็จะต้องตายอยู่แล้ว ความรู้ทางการแพทย์นั้นเรารู้ดีว่าคนไข้ rabies
จะเสียชีวิตจากเนื้อสมองหยุดการทำงานไปก่อนที่ภูมิคุ้มกันธรรมชาติจะทันทำลายไวรัส
เมื่อผ่าศพตรวจจะพบว่า ณ วันที่ตาย
ทุกรายมีภูมิคุ้มกันสูงถึงระดับพอทำลายเชื้อให้หมด
เพียงแค่เนื้อสมองหยุดการทำงานไปเสียก่อนที่ร่างกายจะชนะเชื้อโรค เมื่อตรวจเนื้อสมองของคนตายจะพบว่าเซลสมองยังดีอยู่ทุกราย
คือเชื้อไม่ได้ทำลายเซลสมอง
เพียงแต่ทำให้เสียการทำงานไปชั่วคราวเท่านั้นเอง เพียงแต่ว่าคนไข้ตายไปในช่วงขณะที่สมองเสียการทำงานไปนั้นเอง
หมอที่รักษาจึงได้ทำการทดลองรักษาด้วยวิธีที่คิดขึ้นเดี๋ยวนั้น ซึ่งเรียกว่า Milwaukee
Protocol คือฉีดยาสลบและยาคลายกล้ามเนื้อให้คนไข้อยู่ในสภาพโคม่าไปหลายวัน โดยใช้เครื่องช่วยหายใจและให้อาหารทางสายยางแทน
แล้วก็คอยเจาะเลือดดูว่าเมื่อไหร่ภูมิคุ้มกันธรรมชาติจะเพิ่มถึงระดับพอทำลายเชื้อได้
แล้วจึงค่อยถอนยาสลบ ซึ่งในกรณีของ Jeana Giese นี้แพทย์หยุดยาสลบหลังจากทิ้งให้เธอโคม่าได้
7 วัน แล้วก็เหมือนปาฏิหาริย์
คือเธอฟื้นขึ้นมาแล้วกลับมามีชีวิตปกติไปเรียนหนังสือต่อถึงมหาวิทยาลัยได้
นับมาถึงวันนี้ Milwaukee Protocol ได้ใช้รักษาคนไข้ทั่วโลกไปแล้ว 41 ราย รอดตาย 6
ราย
เรียกว่ามีอัตราตาย 86% ซึ่งก็ยังดีกว่าสมัยก่อนที่ตาย 100% นี่ก็เป็นตัวอย่างความสำคัญของแล็บในงานวิจัย ถ้าไม่มีแล็บแบ้คอัพแน่นหนาว่าเธอติดเชื้อพิษสุนัขบ้าต้องตายแน่นอน พ่อแม่ที่ไหนจะยอมให้ทำงานวิจัยที่เสี่ยงความตายแบบนั้นกับลูกสาวของตัว
ผู้หญิงคนนี้ชื่อ Elezabeth Blackburn ตอนที่เธอเป็นนักเรียนปริญญาโทอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย
เธอทำแล็บและทำวิทยานิพนธ์เรื่องยีนของบักเตรีอยู่นั้น ก็สังเกตเห็นอะไรบางอย่าง
คือปกติปลายเส้นของยีนจะมีส่วนของชุดโมเลกุลที่แตกต่างกันกับตรงกลางเส้นของยีน
ส่วนนี้วงการแพทย์เรียกว่าทีลอเมียร์ (telomere)
ซึ่งมีลักษณะเหมือนปลายเชือกผูกรองเท้าที่มีอะไรครอบกันเชือกลุ่ย
แบล็กเบิร์นสังเกตเห็นว่าทุกครั้งที่บักเตรีแบ่งตัวเป็นลูกรุ่นถัดไป
ปลอกทีลอเมียร์นี้ก็จะหดสั้นไปนิดหนึ่ง จนถึงจุดหนึ่งเมื่อปลอกนี้หมด บักเตรีรุ่นนั้นก็ตายไม่สามารถแบ่งตัวออกลูกอีกต่อไปได้
เธอทำวิจัยต่อกับยีนของสัตว์และของคนก็พบลักษณะเช่นเดียวกัน
คืออย่าลืมว่าเซลร่างกายเราทุกเซลไม่ว่าจะเป็นผม หนัง เล็บ กล้ามเนื้อ
มันก็ล้มตายกันทุกวันและเซลต้นกำเนิดของร่างกายก็สร้างเซลใหม่ทดแทนทุกวันอยู่แล้ว
แบลคเบิร์นพบจากงานวิจัยติดตามดูเซลว่าการหดสั้นของทีลอเมียร์มีความสัมพันธ์กับการแก่ตัวของยีนและเมื่อทีลอเมียร์หมด
เซลนั้นก็แก่แบบตายแล้วก็ตายเลย ไม่สามารถสร้างเซลลูกขึ้นมาแทนได้
นี่เป็นหลักฐานแรกที่ใช้ชี้วัดความแก่ได้
ถือว่าเป็นความรู้แบบก้าวกระโดดอีกครั้งหนึ่งของวงการแพทย์
งานวิจัยของแบล็คเบิร์นทำให้เธอได้รับรางวัลโนเบล
หลังจากนั้นก็มีงานวิจัยสารพัด
เพื่อจะหาว่าอะไรบ้าง ที่ทำให้ทีลอเมียร์หยุดการหดสั้นลง
หรือทำให้มันยาวขึ้นได้ไหม
ตัวแบลคเบิร์นเองได้ร่วมกับแพทย์ที่ทำงานทางคลินิกหลายคนทำการวิจัยซึ่งเพิ่งเปิดเผยผลขั้นต้นเมื่อปีกลาย
งานวิจัยนี้ทำการติดตามวัดความยาวของทีลอเมียร์ในกลุ่มคนที่ทำการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงใน
4 ประเด็น คือ
(1) ให้กินอาหารแบบมังสะวิรัติไขมันต่ำ
(2) ให้ออกกำลังกายถึงระดับมาตรฐานทุกวัน
คำว่าออกกำลังกายถึงระดับมาตรฐานนี้หมายถึงมาตรฐานที่กำหนดโดย ACSM/AHA หรือวิทยาลัยเวชศาสตร์การกีฬาอเมริกันร่วมกับสมาคมหัวใจอเมริกัน
ซึ่งได้กำหนดมาตรฐานการออกกำลังกายประจำวันไว้ว่าจะต้องออกกำลังกายแบบต่อเนื่องหรือแบบแอโรบิก
จนถึงระดับหนักพอควร นิยามว่าหนักพอควรคือจนหอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้ นานอย่างน้อย 30
นาที
สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 ครั้ง บวกกับฝึกกล้ามเนื้อหรือเล่นกล้ามอีกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2
ครั้ง
ผมขอถามนอกเรื่องหน่อยนะ อยากรู้ ทุกวันนี้
พวกเราที่เป็นนักเทคนิคการแพทย์ มีใครออกกำลังกายได้ถึงระดับมาตรฐานนี้บ้าง
ช่วยยกมือหน่อยครับ จากห้าร้อยคน ไม่มีเลยเหรอ 0% ก็แย่กว่าแพทย์สิ ผมสำรวจในหมู่แพทย์พบว่ามีอัตราออกกำลังกาย
7% น้อยกว่าชาวบ้านทั่วไปที่ออกกำลังกาย 7.4% แต่เทคนิคการแพทย์
0% เลยนะ เหลือเชื่อจริงๆ
เรากำลังคุยกันถึงงานวิจัยปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกับการการยืดหดของทีลอเมียร์
กลับมาที่เรื่องนี้ต่อดีกว่า
(3)
ก็คือต้องทำกิจกรรมตัดวงจรความเครียดวันละอย่างน้อย 15-20 นาที
กิจกรรมเหล่านี้ให้เลือกได้จากอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างคือ
จะทำสมาธิตามดูลมหายใจ หรือ breathing meditation จะเล่นโยคะ
ก็ได้ จะรำมวยจีนหรือ Tai Chi ก็ได้ เรื่องที่
(4) ที่ต้องทำคือ
ต้องไปสมาคมกับเพื่อนที่สนิทสนมรู้ใจ สัปดาห์ละอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
ทุกสัปดาห์ คือบังคับให้ไปเจ๊าะแจ๊ะกับเพื่อน
ทำอย่างนี้แล้วเอาตัวอย่างเซลมาตรวจวัดความยาวของทีลอเมียร์ในห้องแล็บดูเป็นระยะๆ
ก็พบว่ากลุ่มคนที่ปรับวิถีชีวิตไปอย่างสิ้นเชิงครบทั้งสี่อย่างนี้มีทีลอเมียร์ยาวขึ้น
แทนที่จะหดสั้นลง นี่ก็เป็นหลักฐานขั้นต้นชิ้นแรกที่บอกว่าคนเราจะมีอายุยืนได้อย่างไร
ก็คือต้องทำสี่อย่างนี่แหละครับ ออกกำลังกาย กินอาหารมังสะวิรัต ฝึกจิตเพื่อตัดวงจรความเครียด
และคอยเจ๊าะแจ๊ะกับเพื่อนสม่ำเสมอ นี่เป็นงานวิจัยใหม่เพิ่งออกมาเมื่อปลายปีที่แล้ว
เป็นงานวิจัยที่จะมีผลต่อวงการส่งเสริมสุขภาพของผู้คนในวันข้างหน้าอย่างมาก
พูดถึงการ
“ฝึกจิต” งานวิจัยที่มีแล็บแบ้คอัพ
ทำให้เราได้ความรู้ใหม่มาอีกอย่างหนึ่งว่าความคิดอารมณ์ของเรานี้
จะทำให้เซลสมองปล่อยโมเลกุลข่าวสารที่เรียกว่า neuropeptide ออกมา ก็เหมือนกับที่เราเขียนอีเมลปล่อยลงอินเตอร์เน็ท
เมื่อ address ถึงใคร คนนั้นก็จะได้รับและเปิดอ่านได้ สิ่งที่เรียกว่าเป็นความรู้ใหม่ก็คือว่าเราเพิ่งทราบว่าสสมองผลิตโมเลกุล
neuropeptide ชนิดที่ใช้ส่งข่าวสารตรงไปยังเซลของระบบภูมิคุ้มกันโดยตรง
เมื่อยามที่เราซึมเศร้าหดหู่ สมองจะส่งข่าวสารความหดหู่ ซึ่งทดแทนด้วยเม็ดสีฟ้านี่ไปยังเซลเม็ดเลือดขาว
ทำให้เซลเม็ดเลือดขาวลดการทำงานลง สมัยก่อนเราก็รู้อยู่นะว่าเมื่ออยู่ในภาวะเครียด
คนจะติดเชื้อง่าย แต่เราเพิ่งมารู้ว่ากลไกการปิดระบบภูมิคุ้มกันในภาวะเครียดมันเป็นอย่างนี้นี่เอง
เมื่อเรามีจิตใจปลอดโปร่งโล่งสบาย สมองก็จะส่ง neuropeptide อีกชนิดหนึ่งซึ่งทดแทนด้วยเม็ดสีแดงนี่ไปให้เซลเม็ดเลือดขาว
เมื่อเม็ดเลือดข่าวได้รับข่าวว่าเจ้านายกำลังมีความสุขตัวเม็ดเลือดขาวก็ขยันทำงานมากขึ้น
ความรู้อันนี้ทำให้เราเข้าใจได้ทันทีด้วย ว่าทำไมจากหลักฐานระดับสถิติ
คนที่มีความเครียดสูงทำไมเป็นมะเร็งมากกว่าคนที่มีความเครียดต่ำ
พวกเราคงพอจำกันได้นะครับ
ว่ามะเร็งก็คือการกลายพันธ์อย่างกะทันหันของเซลร่างกายขณะแบ่งตัว
แล้วเซลที่กลายพันธ์ หรือ mutation นี้สามารถออกลูกต่อไปได้ ก็เติบโตกลายเป็นมะเร็ง
การกลายพันธ์ของเซลนี้เกิดอยู่ประปรายเป็นปกติทุกวันในร่างกายเรา แต่เราไม่เป็นมะเร็งเพราะระบบภูมิคุ้มกันจะส่งเม็ดเลือดขาวและมาโครฟาจออกลาดตระเวนและเก็บกินเซลประหลาดๆรวมทั้งเซลที่กลายพันธ์เหล่านี้ทิ้งหมด
เมื่อใดที่ระบบภูมิคุ้มกันลดการทำงานลง
เมื่อนั้นเซลที่กลายพันธุ์ก็ไม่มีใครมาเก็บทำลาย มะเร็งก็เติบโตได้
เมื่อพูดถึงงานวิจัยทางแล็บเกี่ยวกับยีนแล้ว
เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้มีการตีพิมพ์งานวิจัยใหม่ที่น่าสนใจออกมาเรื่องหนึ่ง
เป็นการวิจัยในหนู คือเอาหนูมาดมกลิ่นกุหลาบ แล้วก็ตามด้วยการทำร้ายนั้นหนูด้วยการจี้ไฟฟ้า
อย่าไปเอาเรื่องความโหดร้ายของการวิจัยนะครับ ขอให้โฟกัสที่ว่างานวิจัยนี้ค้นพบอะไรก็พอ
เขาทำเช่นนี้ซ้ำๆซากๆจนหนูจำได้ว่าเมื่อไหร่กลิ่นหอมๆของกุหลาบโชยมาละก็
หายนะกำลังจะตามมา หนูนั้นก็จะกลัววิ่งหนีหัวซุกหัวซุนทั้งๆที่ไฟฟ้ายังไม่ทันช็อคมาถึงเลย
ทำแบบนี้ทุกเมื่อเชื่อวัน
แล้วเอาเซลของหนูที่จำความร้ายกาจของกลิ่นกุหลาบได้แล้วนี้มาตรวจดูยีน
ก็พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงแบบ hypomethylation ขึ้นที่ยีนของเซลรับกลิ่น
ประเด็นก็คือเมื่อเอาหนูนี้ไปแต่งงานออกลูก แล้วตามไปดูยีนของลูก
ก็พบว่าความเปลี่ยนแปลงในยีนของเซลดมกลิ่นนั้นถ่ายทอดมายังลูกได้ และลูกหนูเหล่านั้น
เมื่อถูกนำไปเลี้ยงให้เติบโตในบรรยากาศที่ไม่มีกลิ่นกุหลาบเลยจนโตเป็นหนุ่ม
แต่พอปล่อยกลิ่นกุหลาบเข้าไปเท่านั้นหนู่รุ่นลูกเหล่านั้นก็กลัวสติแตกวิ่งหนีกันหัวซุกหัวซุน
เมื่อเอาหนูรุ่นลูกไปแต่งงานออกลูกมาเป็นรุ่นหลาน ยีนนี้ก็ผ่านไปยังรุ่นหลานอีก และหนูรุ่นหลานก็กลัวกลิ่นกุหลาบทั้งๆที่ไม่เคยรู้จักอีกเช่นกัน
นี่เป็นหลักฐานจากแล็บอันแรกที่บ่งบอกว่าความจำนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ นั่นหมายความว่าข่าวเด็กระลึกชาติได้พากลับไปดูบ้านเก่าพูดถึงตรงโน้นตรงนี้ได้แม่นยำนั้นมันอาจจะเป็นแค่ความจำของบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดมาทางยีน
ไม่เกี่ยวกับการระลึกชาติอะไรเลยก็ได้ แล้วอย่าลืมว่าความจำนี้มาจากไหน
ความจำของคนเรานี้มาจากทุกอย่างที่เราเห็น เราทำ และเราคิด
ดังนั้นคนที่ยังไม่มีลูก...ระวังความคิดของตัวเองไว้ด้วยนะ
เพราะมันถ่ายทอดไปให้ลูกได้
แล็บช่วยจับเท็จวิทยาศาสตร์เทียม
ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องความสำคัญของแล็บในแง่ที่เป็นตัวช่วยให้เกิดความรู้ใหม่ๆในทางการแพทย์
ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด
ประโยชน์ของแล็บอันถัดมาก็คือการช่วยจับเท็จของพวกวิทยาศาสตร์เทียม
พวกที่หลอกขายของ พวกเราคงคุ้นเคยและมีตัวอย่างมากมาย ผมเองนั่งเป็นหมอทั่วไปอยู่
ทุกสองสามเดือนต้องได้ส่งตัวอย่างยาสมุนไพรอย่างดีจากประเทศโน้นประเทศนี้ไปตรวจที่แล็บกรมวิทย์
พวกยาลูกกลอนรักษาหอบหืด ที่แท้จริงแล้วเป็นสะเตียรอยด์นี่ธรรมดามาก
สมุนไพรชะลอความแก่ที่ทำขึ้นมาจากสารหนูผมก็เคยเจอมาแล้ว
ซึ่งผมเอาไปทำเป็นเคสในรายการโทรทัศน์ The Sympytom ด้วย สมุนไพรปลุกเซ็กซ์ผมก็ส่งไปตรวจบ่อย
ตัวดังชื่อ กู่เจิ้ง ตรวจออกมาแล้วสิ่งที่พบก็คือมีตัวยา sidelnafil หรือไวอากร้านั่นเอง
คือเรียกว่าย้อมแมวยัดไส้กันดื้อ ตอนนี้ที่ดังก็คือถั่งเช่า
คนไข้ของผมที่กินอยู่ก็มี แต่ผมยังไม่มีโอกาสได้ส่งไปตรวจ
เพราะราคามันแพงมากจนไม่มีใครยอมเอามาให้ตรวจ
แล็บช่วยงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
ท่านอาจจะไม่ทราบว่าผลแล็บมีบทบาทสำคัญมากในงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
หัวใจของการส่งเสริมสุขภาพคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
แต่หมอจะต้องมีหลักฐานหรือตัวชี้วัดมาพูดกับคนไข้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงจะเกิดขึ้น
ผมจะยกตัวอย่างให้ดูบางเรื่อง
เรื่องแรกก็คือการป้องกันโรคไตเรื้อรัง
ตอนนี้ทั่วโลกอุบัติการณ์ของโรคไตเรื้อรังสูงขึ้น ไม่ทราบด้วยเหตุใด
หากท่านเบื่องานและคิดจะตั้งธุรกิจผมแนะนำให้ตั้งศูนย์ล้างไตรับรองทำมาค้าคล่องแน่นอน
สาเหตุส่วนหนึ่งคงมาจากการใช้ยาแก้ปวดแก้อักเสบพร่ำเพรื่อ อีกส่วนหนึ่งอาจมาจากการฉีดสีเพื่อการวินิจฉัยพร่ำเพรื่อ
มูลนิธิโรคไตแห่งชาติอเมริกัน (NKF)
ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสูงในการป้องกันโรคไตเรื้อรัง ได้นำเอาค่า GFR ออกมาใช้แทนค่า
Creatinin (Cr) เพื่อให้การป้องกันโรคทำได้ง่ายขึ้น โดยใช้ค่า GFR แบ่งโรคไตเรื้อรังออกมาเป็น
5 ระยะ ค่า GFR นี้จริงๆต้องเรียกว่า eGFR เพราะมาจากการคำนวณของห้องแล็บจากค่า
Cr โดยคำนึงถึงเพศและชาติพันธ์ของคนไข้ ค่า GFR มีประโยชน์มากในงานป้องกันโรคไตเรื้อรัง
แต่แล็บของพวกเราส่วนใหญ่ยังไม่รายงานค่า GFR คือรายงานแต่ค่า
Cr ยิ่งไปกว่านั้นบางแล็บซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะมีแต่ก็ยังมีเพราะคนไข้เอาผลมาให้ดู
คือยังอ้างอิงค่าปกติของ Cr ว่าอยู่ที่ 0.8-2.0 ซึ่งคนไข้ Cr
เกือบสอง
คือเป็นโรคไตเรื้อรังระยะสามจะเข้าสี่อยู่แล้ว แต่หมอก็ยืนยันกับคนไข้ว่าเขาปกติ
เพราะอาศัยค่าอ้างอิงของแล็บ ผมไม่ทราบว่าเป็นเพราะแล็บนั้นไปซื้อเครื่องแบบ tracable
to IDSM แล้วลืมคำนวณค่าให้เข้ามาตรฐานของ IDSM หรือเปล่า
หรือว่าแล็บนั้นยังใช้วิธีตรวจแบบโบราณที่ทั้งโลกเขาเลิกใช้ไปแล้ว
หรือว่าแล็บนั้นขี้เหนียวไปเอาใบรายงานผลแล็บสมัยเก่าที่วงเล็บค่าปกติสมัยเก่ามาเขียนผล
ก็ไม่ทราบได้ ประเด็นของผมก็คือ ผมเรียกร้องพวกท่านว่าทุกแล็บควรคำนวณและรายงานค่า
eGFR ออกมาโดยไม่ต้องให้แพทย์ร้องขอ หรือมานั่งคำนวณเอง
เพราะมันจะช่วยการทำงานป้องกันโรคไตเรื้อรังได้เป็นอย่างมาก
เรื่องสำคัญในงานป้องกันโรคอีกเรื่องหนึ่งก็คือการป้องกันการพลัดตกหกล้มและกระดูกหัก
เพราะในสังคมที่มีคนแก่มาก ปัญหากระดูกหักเป็นปัญหาของชาติ
ถ้าถามพวกเราที่เป็นผู้หญิงว่ากลัวโรคอะไรมากที่สุด
คำตอบที่ได้ก็คือกลัวมะเร็งปากมดลูก กลัวมะเร็งเต้านม
แต่ว่าความจริงก็คือผู้หญิงเสียชีวิตจากการหกล้มกระดูกหักมากกว่าจากมะเร็งปากมดลูกหรือมะเร็งเต้านม
คือตั้งต้นด้วยหกล้มก่อน กระดูกหัก เข้าโรงพยาบาล ผ่าตัดเปลี่ยนข้อ มีภาวะแทรกซ้อน
ติดเชื้อบ้าง ปอดบวมบ้าง แล้วก็เสียชีวิต นี่เป็นพิมพ์นิยมของผู้หญิงในวัยสูงอายุ
การป้องกันการพลัดตกหกล้มและกระดูกหักจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ทุกวันนี้เรามุ่งการป้องกันไปที่การทดแทนแคลเซียมและการใช้ยารักษากระดูกพรุน
ซึ่งเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน การกินแคลเซียมทดแทนนั้นหลักฐานสรุปได้แน่ชัดแล้วว่าไม่ได้ลดอุบัติการณ์ของกระดูกหัก
จนคณะทำงานป้องกันโรคสหรัฐหรือ USPSTF ได้ออกเป็น guideline เมื่อปีกลายว่าไม่แนะนำให้หญิงหมดประจำเดือนกินแคลเซียมเสริมเพื่อป้องกันกระดูกหัก
พูดง่ายๆว่ามันไม่ได้ผล
การมุ่งไปที่การกินหรือฉีดยารักษากระดูกพรุนก็ไม่ใช่วิธีที่ดี
ผู้ป่วยบางรายแพทย์ใช้ยารักษากระดูกพรุนโดยไม่มีหลักฐานรองรับว่าจะได้ประโยชน์อะไร
คือผลวิจัยบอกว่าถ้ากินหรือฉีดยา bisphosphonate ให้หญิงหมดประจำเดือนที่เป็นกระดูกพรุน
(คะแนน T score ของมวลกระดูกต่ำกว่า -2.5) เป็นเวลานาน 5 ปี
จะลดอุบัติการณ์กระดูกหักในสิบปีลงได้ แต่นี่บางคนทั้งๆที่เป็นกระดูกบาง
ยังไม่ได้เป็นกระดูกพรุน ก็ใช้ยากันแล้ว บางรายยังไม่หมดประจำเดือนก็ใช้ยากันแล้ว
เรียกว่าเป็นการใช้ผลวิจัยแบบข้ามกลุ่มประชากร เพราะคนเป็นกระดูกบางไม่ได้เป็นญาติกับคนเป็นกระดูกพรุน
คนหมดประจำเดือนก็ไม่ได้เป็นญาติกับคนที่ยังมีประจำเดือน
จะเอาผลวิจัยของประชากรกลุ่มหนึ่งไปเดาใช้กับประชากรอีกกลุ่มหนึ่งมันไม่ได้
สิ่งที่สำคัญที่สุดสองอย่างในการป้องกันกระดูกหักคือการออกกำลังกายกับการแก้ไขภาวะขาดวิตามินดี
งานวิจัยคนสูงอายุในเมืองไทยพบว่ามีอัตราขาดวิตามินดี.สูงไม่แพ้ฝรั่ง
การมีแล็บที่ตรวจวัดระดับวิตามินดี.ได้ง่ายจึงเป็นเครื่องช่วยที่สำคัญในการป้องกันกระดูกหัก
เมื่อวานนี้ผมฟัง Dr. Wu เล่าให้ฟังว่าในประเทศจีนการตรวจระดับวิตามินดี.เป็นธุรกรรมที่มีอัตราการเติบโตถึงร้อยกว่าเปอร์เซ็นต์ต่อปี
ซึ่งผมมองว่าเป็นการเติบโตที่มีเหตุผล เพราะมันมี need อยู่
แล็บช่วยการวินิจฉัยโรค
หัวข้อนี้แทบไม่ต้องพูดทุกท่านก็เก็ทอยู่แล้วว่าแล็บเป็นตัวช่วยวินิจฉัยโรค
ผมจะเล่าผู้ป่วยของผมบางรายให้ฟัง
เอาเฉพาะรายที่มีประเด็นที่ท่านอาจหยิบไปใช้ประโยชน์ได้นะครับ
ผู้ป่วยคนนี้มาจากภูฐาน
เธอมาเพราะผอมแห้งแรงน้อยกลัวเป็นเอดส์ มีปัญหาเรื่องโลหิตจางด้วย เรียกว่าจางมาก
คือฮีโมโกลบินระดับ 7.5 ไปรักษาที่สวิสต์เซอร์แลนด์ เธออยู่ที่นั่นสองปี
หมอที่นั่นวินิจฉัยว่าเป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และให้เหล็กทดแทน
เธอก็ไม่ดีขึ้น ตรวจวิเคราะห์ฮีโมโกลบินที่สวิสก็ได้ผลปกติ ผมเอะใจที่ค่า MCV
ไม่ได้ต่ำ
แสดงว่าขนาดเม็ดเลือดแดงไม่ได้เล็ก จึงวิ่งไปห้องแล็บเพื่อขอดู blood film ของเธอ
ก็เห็นแบบนี้
ปกติเราจะใช้นิวเคลียสของ small
lymphocyte เป็นเกณฑ์บอกขนาดขนาดของเม็ดเลือดแดง ปกติมันต้องเล็กกว่านิวเคลียสของ
small lymphocyte แต่นี่เม็ดเลือดแดงมันใหญ่กว่าเป็นส่วนมาก แถมมี megakaryocyte
ให้เห็นอีกด้วย
เห็นอย่างนี้ผมจึงส่งแล็บตรวจหาระดับโฟเลทและวิตามินบี.12 จึงได้ทราบว่าเธอมีโฟเลทต่ำมาก
เมื่อรักษาด้วยการให้กินโฟเลททดแทนหลังจากนั้น 3 เดือนเธอก็กลับมาเป็นปกติ นี่ก็เป็นตัวอย่างคุณค่าของแล็บในการวินิจฉัยโรค
ผู้หญิงคนนี้เป็นนักศึกษาจะไปเรียนอเมริกา
ไปถึงโน่นเขาทำ tuberculin test แล้วได้ผลบวก
หมอที่นั่นบอกว่าเธอต้องรักษาวัณโรคก่อนจึงจะเข้าเรียนได้
เธอแจ้นกลับเมืองไทยมาหาหมอไทย หมอไทยทำ tuberculin test ซ้ำ
มันก็ยิ่งได้ผลบวกมากขึ้นอีก เพราะ TT ก็เหมือนวัคซีน ยิ่งฉีดยิ่งมีภูมิ หมอไทยไม่ยอมให้ยารักษาวัณโรค
เพราะคนไทยได้วัคซีนบีซีจี.มาแล้วทุกคน ทำ TT เมื่อไหร่ก็ได้ผลบวกเมื่อนั้น
ถ้าจะให้กินยาวัณโรคทุกคนก็บ้าแล้ว เมื่อหมอไทยไม่รักษา
หมอฝรั่งก็บอกว่าไม่ต้องเรียน สรุปว่าเธอไปต่อไม่ถูกเลย
ผมส่งเธอไปตรวจแล็บด้วยวิธี TB Gold – in
Tube test ซึ่งเป็นการตรวจหาวัณโรคแฝง เป็นการตรวจโดยใช้แอนติเจนของวัณโรคในคน
ตรวจกันในห้องแล็บ ไม่ใช่ตรวจในร่างกายคนแบบ TT แม้จะเคยฉีดบีซีจี.มาแล้วก็ไม่มีผลต่อการตรวจชนิดนี้
เพราะบีซีจี.เป็นเชื้อวัณโรคของวัว แต่ Gold in Tube เป็นการตรวจหาเชื้อวัณโรคของคน
ผลปรากฏว่าตรวจได้ผลลบ หมายความว่าเธอไม่ได้มีเชื้อวัณโรคของคนอยู่ในตัว ผมเขียนจดหมายไปบอกหมอฝรั่ง
เธอจึงได้ไปเรียน นี่ถ้าไม่มีแล็บ เธอก็ไม่ได้เรียน
ผู้ป่วยคนนี้มีปัญหาว่าเธอไปตรวจคัดกรองทาลาสซีเมีย
ผลการตรวจ hemoglobin typing ได้ผลลบ แต่ผลการตรวจ OF test ได้ผลบวก
หมอบอกว่าปกติ ไม่เป็นไรหรอก ให้เชื่อผล Hb typing แต่เธอไม่เชื่อ
เพราะเธอกำลังจะแต่งงานกับผู้ชายที่เป็นพาหะของทาลาสซีเมีย ผมให้เธอตรวจวิเคราะห์ยีนอัลฟาทาลาสซีเมียด้วยวิธี
PCR ผลปรากฏว่าเธอเป็นอัลฟ่าทาลาสซีเมีย
ประเด็นก็คือแพทย์ส่วนหนึ่งยังไม่เข้าใจว่า Hb
typing ไม่ได้บอกถึงความผิดปกติในยีนสายอัลฟ่า
ตรงนี้ห้องแล็บน่าจะช่วยเสริมแพทย์ได้
อีกประเด็นหนึ่งของคนเป็นพาหะทาลาสซีเมียก็คือแพทย์มักจะวินิจฉัยว่าเป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและให้กินเหล็กพร่ำเพรื่อ
ซึ่งมีผลเสียถ้าคนไข้เป็นทาลาสซีเมีย หากห้องแลบตรวจ ferritin ได้และทำให้มันง่ายขึ้นสำหรับแพทย์
ก็จะช่วยเสริมแพทย์ตรงนี้ได้
ผู้ป่วยรายนี้เป็นนักศึกษา ประจำเดือนไม่มา
กลัวท้อง แฟนก็มาด้วย แฟนบอกเธอคงจะท้องแน่ เพราะเวลาผมดูดหัวนมของเธอรู้สึกว่าจะมีน้ำนมไหลออกมาด้วย
ผมได้ข้อมูลจากแฟนอย่างนี้จึงส่งเลือดไปตรวจฮอร์โมนโปรแลคติน ก็พบว่าสูงผิดปกติ
จึงตรวจ MRI สมอง ก็พบว่ามีเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง
นี่ก็เป็นศักยภาพของแล็บในการช่วยวินิจฉัยโรคในรายนี้
เพราะเมื่อมีเนื้องอกต่อมใต้สมอง
จะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนหลายตัวรวมทั้งโปรแลคตินซึ่งกระตุ้นการสร้างน้ำนมด้วย
ผู้ป่วยรายนี้เป็นหญิงอายุ 54 ปี
ประจำเดือนหมดไปแล้ว อยู่ๆก็มีอาการเหมือนคนแพ้ท้อง ท้องอืด นมคัด
ก็ตกใจว่าตัวเองจะท้องหรือเปล่า จึงไปคลินิก ไปตรวจการตั้งครรภ์ ได้ผลบวก
หมอส่งตรวจฮอร์โมน hCG ในเลือดก็สูงจริงๆด้วย จึงวินิจฉัยว่าท้อง คนไข้สติแตกเลย มาหาผม
ผมบอกเธอว่าคนที่หมดประจำเดือนแล้วมี hCG สูงและตรวจปัสสาวะได้ผลบวกได้ เป็นธรรมดา
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นวงการแพทย์ก็ไม่รู้ รู้แต่ว่ามันเป็นอย่างนั้น
ผมเล่าให้เธอฟังว่าหมอที่แมกซิโกใช้วิธีให้กินยาคุมหนึ่งแผงแล้ว hCG จะลง
เธอตกลงทำตาม กินยาคุมหนึ่งแผง แล้วตรวจปัสสาวะซ้ำก็ได้ผลเป็นลบ
อันนี้เป็นตัวอย่างการแปลผลแล็บในคนไข้บางรายซึ่งอาจมีประเด็นพิเศษออกไป การที่ hCG
สูงในหญิงหมดประจำเดือนนี้ความเชื่อปัจจุบันเชื่อกันว่ามันอาจสูงจากสมองเป็นตัวปล่อย
เพราะไม่มีฮอร์โมนเพศไป feedback พอให้กินยาคุมได้ฮอร์โมนเพศ สมองก็หยุดปล่อย hCG
นี่เป็นการคาดเดานะ
จริงไม่จริงไม่รู้
ผู้ป่วยคนนี้ท้องเสียรุนแรง ปวดท้องมาก
เจาะผลแล็บออกมา ที่น่าเอะใจก็คือโปตัสเซียมซึ่งควรจะต่ำในคนท้องเสียแต่นี่กลับสูง
ความที่เขากินยาลดไขมันอยู่ด้วย ผมจึงเจาะเลือดส่งตรวจเอ็นไซม์ CPK ซึ่งก็ได้ผลว่าสูงเกิน
2000 IU สรุปว่าคนนี้เป็นโรคกล้ามเนื้อสลายตัว (rhabdomyolysis)
จากยาลดไขมัน ซึ่งถ้าวินิจฉัยได้ช้าก็อาจแก้ไขไม่ทัน อาจเสียชีวิตหรือไตพังได้
แต่ว่าเพราะมีแล็บ เราจึงช่วยชีวิตเขาได้
แล็บ
ใช้หลอกลวงหากิน
เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากพูดถึงในเรื่องแล็บก็คือ
นอกจากจะมีประโยชน์มหาศาลแล้ว แล็บยังใช้หลอกลวงเอาเงินผู้ป่วยได้อีกด้วย
ซึ่งก็มีคนทำกันอยู่สารพัดรูปแบบ ทำเป็นเครื่อง Quantum Xirroid อ้างว่าเป็นเครื่องวินิจฉัยโรคได้สารพัด
มีเซลมะเร็งอยู่ที่นั่นที่นี่ นั่นก็แบบหนึ่ง
อีกแบบหนึ่งก็คือเจาะเลือดตรวจแลบหาโมเลกุลชื่อฟังดูเป็นวิทยาศาสตร์หรือตรวจหาโลหะ
พวก trace element ต่างๆ แล้วก็บอกว่าร่างกายขาดโน่นนี่นั่นต้องกินต้องฉีดทดแทน
บางทีก็บอกว่ามีโลหะหนัก โน่นนี่นั่น ต้องทำ chelation จับเอาโลหะหนักออกมา
ทั้งหมดนี้เป็น quack เป็นวัตรปฏิบัติของหมอเถื่อน
ซึ่งน่าเสียใจที่นำทีมโดยแพทย์ หากินโดยร่วมมือกับเทคนิเชียนที่ขาดจริยธรรมของวิชาชีพแบบผีกับโลง
ประเด็นที่ผมอยากจะพูดกับคุณก็คือ “จริยธรรมของนักวิชาชีพ”
การที่เราทำแล็บเก่ง อ่านเซลได้ถูกต้องแม่นยำ นั่นเรียกว่า
เราเป็นมืออาชีพ
แต่การที่เราทำอาชีพของเราอย่างมีหลักมีเกณฑ์
พึ่งได้ ไม่มั่ว ไม่คุ้กผลแล็บ รักษาความลับให้คนไข้ ไม่สมคบกับคนระยำคนอื่นเพื่อเอาแล็บของเราไปหลอกหากินกับความเจ็บป่วยของคนไข้
นั่นเรียกว่า เรามีจริยธรรมของวิชาชีพ
สังคมไทยทุกวันนี้เป็นสังคมที่จริยธรรมเสื่อมถอยจนคำว่า "จริยธรรม" หล่นหายไปจากดิกชันนารีเสียแล้ว ถ้าถามท่านว่าจริยธรรมวิชาชีพมันมีเนื้อหาสาระว่าอย่างไรนะ
ท่านอาจจะคิดนานมาก แล้วก็อาจจะตอบไม่ได้ ถ้าถามว่าท่านเคยเรียนวิชาจริยธรรมมาบ้างหรือเปล่า
ท่านอาจจะพยายามคิดว่าวิชาไหนนะ ตอนอยู่ปีไหนนะ แล้วก็คิดไม่ออก ไหนๆก็พูดถึงจริยธรรมวิชาชีพแล้วผมขอทบทวนให้กับทุกท่านหน่อยนะครับ
ว่าสาระหลักมันเป็นคอมมอนเซ็นส์ง่ายๆว่าเราจะไม่ทำอะไรที่ชั่วร้าย ซึ่ง Declaration
of Jeneva ได้สรุปไว้เป็นหลัก 6 ประการ ดังนี้
1.
Autonomy หรือให้อิสระกับคนไข้ให้เขาเลือกเอง
ไม่ใช่เราไปอำไปครอบ
2.
Beneficience คือหลักเพื่อประโยชน์คนไข้
จะทำก็ต่อเมื่อเป็นประโยชน์
3.
Non maleficence คือไม่ทำร้ายคนไข้ เจตนาไม่เจตนาไม่ใช่ประเด็น
แต่ประเด็นคือจากความรู้วิชาชีพที่เรามี ถ้าทำอย่างนี้ไป
มันมีโอกาสที่จะไปทำร้ายคนไข้หรือเปล่า ถ้ามีโอกาสอย่างนั้น ไม่ทำอ
4.
Justice ก็คือหลักไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
ไม่รังเกียจคนไข้ด้วยชาติกำเนิด ศาสนา หรือเศรษฐานะ
5.
Dignity คือหลักธำรงรักษาศักดิ์ศรีของความเป็นคนให้คนไข้
6.
Truthfulness คือหลักเปิดเผยตรงไปตรงมา ไม่พูดอ้อมหรือพูดครึ่งเดียวเพื่อเอาเงินเข้ากระเป๋า
ในโอกาสพบกันครั้งนี้ก็ขอปิดท้ายด้วยหลักจริยธรรมวิชาชีพหกประการนี้นะครับ
ในหลัก Dignity นั้น มันใช้กับตัวเราได้ด้วย คือเราเป็นนักวิชาชีพ เราก็มี dignity
ของเรา
เมื่อเราตื่นขึ้นมาทุกเช้ามองตัวเองในกระจกเราเกิดความเคารพนับถือตัวเราว่าเป็นมืออาชีพขยันปรับปรุงความรู้และทักษะของเรา
และเราเป็นนักวิชาชีพที่มีจริยธรรม นั่นคือ dignity ของนักวิชาชีพทุกคน
เวลาหมดแล้ว เขายกป้ายทวงยิกๆแล้ว เป็นอันว่าที่ผมตั้งใจจะคุยกับท่านแบบคนทำงานในโรงพยาบาลด้วยกันจับเข่าคุยกันนั้นก็คงจะไม่ได้คุยเสียแล้ว
ไม่เป็นไรครับ ไว้โอกาสหน้า วันนี้ขอจบแค่นี้ สวัสดีครับ
นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์