18 พฤษภาคม 2567

กินถั่วมากสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งน้อยลงผ่านกลไกการเพิ่มจุลินทรีย์ในลำไส้

(ภาพวันนี้ / ไปดูเด็กๆเล่นว่าวที่ข้างบ้าน (เมืองทองธานี)

(กรณีอ่านจาก fb คลิกที่ภาพข้างล่าง)

เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ

ปัจจุบันไม่ทานเนื้อสัตว์ ทานพืชกับถั่วต่าง ๆ มีคนบอกว่า ทานถั่วเยอะ ทำให้เป็นมะเร็งจริงไหมคะ

……………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่ากินถั่วมากแล้วเป็นมะเร็งจริงไหม ตอบว่าไม่จริงครับ

ความกลัวถั่วเกิดจากการ “ผ่องถ่าย” มาจากความกลัวอะฟลาทอกซินซึ่งเป็นพิษของราที่ปนเปื้อนในอาหารที่เก็บไม่ดี ความกลัวอะฟลาทอกซินมาจากข้อมูลเก่าที่ว่าอะฟลาทอกซินสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งตับ แต่งานวิจัยรุ่นต่อมาพบว่าอะฟลาทอกซินเป็นปัญหามากในคนกินโปรตีนจากเนื้อสัตว์ แต่เป็นปัญหาน้อยในคนกินอาหารพืชเป็นหลัก อย่างไรก็ตามอะฟลาทอกซินเป็นประเด็นพิษที่ปนเปื้อนมากับอาหาร ซึ่งการปนเปื้อนนี้เกิดได้ทั้งนั้นหากเก็บอาหารไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นข้าวที่สีแล้วหรือถั่วที่ป่นหรือบดแล้ว (ถั่วที่ยังไม่ได้ป่นหรือบดมีอัตราการปนเปื้อนต่ำมาก) ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นการกินถั่วกับการเป็นมะเร็ง

ในทางกลับ ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างการกินถั่วกับการเป็นมะเร็ง ข้อมูลปัจจุบันบ่งชี้ไปทางว่ากินถั่วมากอาจทำให้เป็นมะเร็งน้อยลง งานวิจัย Polyp Prevention Trial (PPT) ซึ่งมุ่งหาความสัมพันธ์ระหว่างการกินอาหารกากมากกับการเป็นเนื้องอก adenoma ในลำไส้ใหญ่ (ซึ่งเป็นเนื้องอกนำก่อนการเป็นมะเร็ง) ผลวิจัยหลักพบว่าไม่มีความสัมพันธ์กันระหว่างอาหารกากกับเนื้องอก แต่เมื่อวิเคราะห์เฉพาะถั่วก็พบว่าการกินถั่วมากสัมพันธ์กับการเป็น adenoma ลดลง

ต่อมาอีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าอาหารกากสูง (รวมทั้งถั่วซึ่งมี oligosaccharide เป็นกากหลักด้วย) มีผลเพิ่มการสนองตอบต่อยาในการรักษามะเร็งผิวหนัง (melanoma)ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดอัตราตายสูง

และเมื่อปีกลาย สมาคมมะเร็งอเมริกัน (ACS) ได้ออกเงินให้สถาบันมะเร็ง MD Anderson ที่เท็กซัส ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ทางด้านโรคมะเร็ง ทำการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบให้กินถั่ว (วันละถ้วย) กับอีกกลุ่มไม่ให้กินถั่ว ทำวิจัยอยู่นาน 16 สัปดาห์ แล้วตรวจอุจจาระและลำไส้พบว่ากลุ่มกินถั่วมีความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้เพิ่มขึ้นโดยกลุ่มจุลินทรีย์ที่เพิ่มขึ้นเป็นจุลินทรีย์ดีที่สัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งในลำไส้ใหญ่ลดลง เช่น Faecalibacterium, Eubacterium และ Bifidobacterium 

และมีอีกสองงานวิจัยใหม่ๆที่ได้วิเคราะเมตาอานาไลซีสงานวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างกินถั่วกับมะเร็งหลายอวัยวะก็พบว่ากินถั่วสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ลดลง

ดังนั้น หลักฐานที่มีอยู่นับถึงวันนี้สนับสนุนให้กินถั่วเพื่อลดโอกาสเป็นมะเร็งครับ ไม่ใช่ให้หนีถั่วเพราะกลัวมะเร็ง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Lanza E, Hartman TJ, Albert PS, Shields R, Slattery M, Caan B, Paskett E, Iber F, Kikendall JW, Lance P, Daston C, Schatzkin A. High dry bean intake and reduced risk of advanced colorectal adenoma recurrence among participants in the polyp prevention trial. J Nutr. 2006 Jul;136(7):1896-903. doi: 10.1093/jn/136.7.1896. PMID: 16772456; PMCID: PMC1713264.
  2. Spencer, Christine N., et al. “Dietary fiber and probiotics influence the gut microbiome and melanoma immunotherapy response.” Science 374.6575 (2021): 1632-1640.
  3. Zhang X, Irajizad E, Hoffman KL, Fahrmann JF, Li F, Seo YD, Browman GJ, Dennison JB, Vykoukal J, Luna PN, Siu W, Wu R, Murage E, Ajami NJ, McQuade JL, Wargo JA, Long JP, Do KA, Lampe JW, Basen-Engquist KM, Okhuysen PC, Kopetz S, Hanash SM, Petrosino JF, Scheet P, Daniel CR. Modulating a prebiotic food source influences inflammation and immune-regulating gut microbes and metabolites: insights from the BE GONE trial. EBioMedicine. 2023 Dec;98:104873. doi: 10.1016/j.ebiom.2023.104873. Epub 2023 Nov 30. PMID: 38040541; PMCID: PMC10755114.
  4. Patel L, La Vecchia C, Negri E, et al. Legume intake and cancer risk in a network of case-control studiesEur J Clin Nutr. 2024. doi:10.1038/s41430-024-01408-w.
  5. Zhu B, Sun Y, Qi L, Zhong R, Miao X. Dietary legume consumption reduces risk of colorectal cancer: evidence from a meta-analysis of cohort studies. Sci Rep. 2015;5:8797. doi:10.1038/srep08797