19 พฤษภาคม 2567

แยกธาตุแยกขันธ์ แปลว่าอะไร

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกที่ภาพข้างล่าง)

เรียนคุณหมอ

ผม … ลูกศิษย์ SR …. ครับ ผมมีคำถาม จากการได้ไปเข้าปฏิบัติธรรม ที่ …. ท่านได้สอนย้ำถึงการแยกธาตุแยกขันธ์ให้สำเร็จว่าหากไม่ผ่านตรงนี้ก็เท่ากับยังไม่ถึงไหน ผมพยายามจะถามท่านว่าธาตุคืออะไรขันธ์คืออะไรแล้ววิธีแยกทำอย่างไร คำตอบที่ได้ผมยังเข้าเข้าใจ คิดถึงคุณหมอขึ้นมาได้จึงเขียนมาถามคุณหมอดีกว่า เพราะเวลาผมถามคุณหมอทีไรผมได้คำตอบที่ผมเก็ททุกที

………………………………………..

ตอบครับ

จดหมายของคุณท่าจะมาผิดที่เสียแล้วกระมัง ผมไม่รู้ภาษาบาลี ไม่ได้ศึกษาคำสอนของศาสนาพุทธอย่างเป็นระบบ ผมจะไปเดาใจหลวงพ่อของคุณได้อย่างไรว่าศัพท์ที่ท่านใช้นั้นท่านหมายถึงอะไร แต่เมื่อคุณถามมา ผมก็จะตอบให้ด้วยวิธีเดาเอา เพราะพูดแล้วจะหาว่าคุย สมัยเป็นนักเรียนแพทย์ผมเป็นนักเรียนประเภทอ่านน้อยท่องจำไม่เก่งแต่ชอบเดาใจอาจารย์ เวลาอาจารย์ออกข้อสอบผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ นักเรียนส่วนใหญ่ก็พาลตอบผิด แต่ผมตอบถูกเพราะผมไม่ได้ตอบจากความรู้วิชาแพทย์ แต่ตอบจากการเดาใจอาจารย์ หิ..หิ

ในคำถาม “แยกธาตุ แยกขันธ์” ของคุณนี้ ผมเดาใจหลวงพ่อของคุณเอาว่าท่านคงจะหมายถึงการถอยออกจากความคิดมาเป็นผู้สังเกตดูความคิด หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือการเปลี่ยนตัวตน (change identity) จากตัวตนที่เป็นบุคคลมีได้มีเสียกับทุกความคิด มาเป็นผู้สังเกตความคิดที่ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับความคิดนั้น หรือพูดเป็นภาษาอังกฤษก็คือเปลี่ยนจาก thinking a thought มาเป็น aware of a thought

ที่ผมเดาอย่างนี้เพราะผมทราบนานมาแล้วจากการอ่านพบในหนังสือบางเล่ม ว่าพระภิกษุไทยบางท่านเรียกสิ่งที่ผมเรียกว่า “ความรู้ตัว” (consciousness หรือ awareness) ว่า “ธาตุรู้”

ส่วนคำว่า “ขันธ์” นั้นก็เป็นที่รู้กันทั่วไปอยู่แล้วว่ามันหมายถึงสิ่งที่ถูกประกอบกันขึ้นมาเพียงชั่วคราวเพื่อเป็นเป้าของการรับรู้ โดยที่ “สังขารขันธ์” หรือ “ความคิด” นี่..ถือกันว่าเป็นขันธ์ตัวเอ้ที่สุด

ดังนั้นแยกธาตุแยกขันธ์ผมก็จึงเดาว่าท่านน่าจะหมายถึงการแยกตัวเราออกมาเสียจากความคิด มาอยู่ในฐานะผู้สังเกตรับรู้ มาสังเกตดูความคิดของเราเอง คือแยกออกจากกันให้มันชัดระหว่างความเป็นผู้สังเกต กับความเป็นสิ่งที่ถูกสังเกต ซึ่งถ้าทำอย่างนี้ได้ หรือถ้าทำอย่างนี้เป็น มันก็เป็นจุดเริ่มต้นของการหลุดออกมาจากอิทธิพลของความคิด หรือหลุดออกมาจากความยึดถือในตัวตนซึ่งเป็นความคิดแม่ของความคิดทั้งหลาย เมื่อหลุดออกมาจากตรงนั้นได้สักครั้งหนึ่งแล้ว หลังจากนั้นการจะ “หลุดพ้น” อย่างถาวรมันก็อยู่แค่เอื้อม

ทั้งหมดนี้เป็นแค่เวอร์บ-ทู-เดา นะ โปรดใช้วิจารณาญาณในการรับฟัง

ไหนๆคุณก็เขียนมาแล้ว ผมขอแนะนำเพิ่มเติมหน่อยว่าคุณอย่าเที่ยวไปสงสัยอะไรในเชิงตรรกะหรือภาษาศาสตร์ให้มากนักเลย เพราะไม่ว่าจะเป็นตำราก็ดี พระไตรปิฎกก็ดี หรือคำสอนของใครก็ดี มันล้วนใช้เป็นเอกสารอ้างอิงหรือใช้เป็น reference ไม่ได้ทั้งนั้น มันเป็นได้แค่แบบฝึกหัดให้คุณนำไปทดลองปฏิบัติดูเองด้วยตัวเองเท่านั้น ถ้าคุณใส่ใจใช้มันเป็น reference โดยไม่ทดลองปฏิบัติดูด้วยตัวเองคุณก็จะหลงว่ายวนอยู่ในโลกของความคิด เพราะอย่าลืมว่าตรรกะก็ดี ภาษาก็ดี มนุษย์เราสร้างมันขึ้นมาเพื่อสื่อความคิดสู่กันและกัน ดังนั้นยิ่งคุณเก่งตรรกะเก่งภาษาคุณก็ยิ่งจมลึกลงไปในความคิดหนักยิ่งขึ้น ทางนั้นเป็นเส้นทางที่ผิด คุณจะต้องวางความคิดให้เหลือแต่ความรู้ตัว นั่นคือทางไปที่ถูกต้อง

อีกเรื่องหนึ่งผมเพิ่งนึกได้ขอรีบพูดไว้ตรงนี้ไม่งั้นผมจะลืม คือเครื่องมือวางความคิดเจ็ดอย่างที่ผมแนะนำไว้ใน SR มีอยู่สองตัวที่ผมอยากจะย้ำให้เอามาใช้ร่วมกันใช้ควบกันให้เป็นหนึ่งเดียว คือการผ่อนคลาย (relaxation) กับการตื่นตัว (alertness) ดูเผินๆเหมือนมันไปคนละทางไม่น่าจะเอามาควบกันได้ แต่คุณต้องเอาทั้งสองตัวนี้มาควบกันให้ได้ คือผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่างกายผ่อนคลายใบหน้า ยิ้มที่มุมปากไปด้วย ขณะเดียวกันก็ตื่นตัวรอรูด้วยความอัศจรรย์หรือด้วยใจจดจ่อว่าอีกหนึ่งวินาทีข้างหน้านี้จะมีอะไรเกิดขึ้นในชีวิต จะมีความคิดอะไรโผล่ขึ้นมา มันมหัศจรรย์ตรงที่เราเดาไม่ได้ดอกว่าความคิดต่อไปที่จะโผล่ขึ้นมาในหัวมันจะเป็นเรื่องอะไร แต่เราจะพลาดมันถ้าเราไม่ตื่นตัว ครั้นจะตื่นตัวแบบเกร็งๆเหมือนนักวอลเลย์บอลตอนรอรับลูกเสริฟก็ไม่ได้อีก เพราะความเกร็งหรือความตั้งใจก็คือความคิดที่จะคอยขังเราไว้ไม่ให้ได้พบกับความมหัศจรรย์อะไร ดังนั้น ต้อง…ตื่นตัวควบกับผ่อนคลาย

จำไว้นะ… ตื่นตัว ควบกับผ่อนคลาย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์