โรคปอดอักเสบเรื้อรัง IPF (idiopathic pulmonary fibrosis)

ดิฉันอายุ 52 ปีไปตรวจสุขภาพที่รพ.แห่งหนึ่ง หมอบอกว่ามีปัญหากระดูกพรุน ส่วนเรื่องอื่นๆปกติดี แต่ดิฉันอ่านในใบรายงานผลเอ็กซเรย์เขียนสรุปไว้ว่า “Mild chronic inflammation of both lungs such as IPF. Clinical correlation is suggestive“ รบกวนคุณหมอสันต์อธิบายด้วยว่าคำอ่านของหมอซีเรียสไหม IPF คืออะไร ต้องทำอะไรเพื่อป้องกันหรือรักษาหรือเปล่า

ดาภา

ตอบ

(1) IPF คืออะไร คำนี้ย่อมาจาก Idiopathic pulmonary fibrosis หมายถึงภาวะที่เกิดอักเสบขึ้นในเนื้อปอดส่วนที่ไม่ใช่ถุงลม (interstitial tissue) เกิดจากอะไรไม่รู้ แต่เป็นที่เชื่อกันในวงการแพทย์ว่าเกิดจากมีเหตุอะไรสักอย่างไปแหย่ให้เกิดการบาดเจ็บของเยื่อบุในปอดก่อน เหตุที่ว่านั้น อาจจะเป็น มลพิษต่างๆ ไอของโลหะ ควันบุหรี่ การติดเชื้อไวรัส หรือกรดที่ไหลย้อนมาจากกระเพาะอาหารก็ได้ เมื่อเยื่อบุเกิดบาดเจ็บขึ้นแล้วร่างกายก็ซ่อมแซม แต่เป็นการซ่อมแซมแบบผิดปกติ ทำให้มีเนื้อพังผืดแทรกตามเนื้อปอดอยู่ทั่วไป จนในที่สุดปอดจะค่อยๆเสียการทำงานถึงขั้นใช้การไม่ได้ไปเลย

(2) คำอ่านของหมอเอ็กซเรย์ซีเรียสไหม ตอบว่าซีเรียสมากครับ การตรวจเอ็กซเรย์พบภาวะปอดอักเสบแบบเรื้อรังโดยที่ไม่มีอาการอะไรนี้ เป็นลางบอกว่าเรื่องยุ่งๆจะตามมาค่อนข้างแน่นอน เพราะโรคในกลุ่มที่ทำให้มีพังผืดแทรกเนื้อปอดนี้ (รวมทั้งโรค IPF ด้วย) มักเป็นโรคที่รักษาไม่หาย และส่วนใหญ่จบลงด้วยการเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่ปีหลังจากเริ่มมีอาการ จึงถือว่าเป็นเรื่องซีเรียสมาก

(3) ต้องทำอะไรเพื่อป้องกันหรือเปล่า ความที่โรคในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ จึงบอกได้ไม่ถนัดว่าควรรับมือแบบไหนจึงจะดีที่สุด ในกรณีที่ตรวจพบด้วยเอ็กซเรย์แล้วอย่างคุณนี้ สิ่งที่พึงทำคือ

1. คุณสูบบุหรี่อยู่หรือเปล่า ถ้าสูบต้องเลิกทันที คนใกล้ชิดก็สูบบุหรี่ไม่ได้ ถ้าสามีสูบบุหรี่ต้องให้เลิก ถ้าไม่ยอมเลิกก็เลิกสามีไปเลย (พูดเล่นนะครับ หิ..หิ) ทั้งนี้เพราะมีหลักฐานว่าควันบุหรี่มีความสัมพันธ์กับโรคนี้

2. คุณทำอาชีพอะไรอยู่ มีโอกาสสัมผัสไอโลหะบ้างไหม เช่นเชื่อมเหล็ก ทำทองรูปพรรณ หรือสัมผัสกับซิลิก้า แอสเบสตอส หรือเลี้ยงนกพิราบดมขี้นกพิราบเป็นประจำ หรือแม้กระทั่งอยู่ในห้องที่ระบบปรับอากาศมีเชื้อราขึ้นเขรอะ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้เกิดปอดอักเสบเรื้อรังได้ทั้งสิ้น ต้องเลิกอาชีพหรือหลีกหนีสถานที่เหล่านั้นให้ไกลๆ

3. คุณกินยาอะไรอยู่หรือเปล่า ยาที่หมอให้นะแหละตัวดี ยาที่มีหลักฐานว่าก่อให้เกิดปอดอักเสบเรื้อรังแน่นอนมีอยู่สามตัวคือ amiodarone (ยาหัวใจ), bleomycin (ยามะเร็ง), nitrofurantoin (ยาปฏิชีวนะ) ถ้าคุณกินอยู่ต้องเลิกทันที

4. คุณควรรีบไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและวัคซีนป้องกันปอดบวมไว้เสียก่อน เพราะคนที่มีปอดอักเสบเรื้อรังอยู่แล้วเป็นพื้น ถ้าเป็นสองโรคนี้จะม้วยมรณาง่ายขึ้น

5. เอาภาพเอ็กซเรย์นั้นไปปรึกษาหมอโรคปอด (pulmonologist) ไว้เสียแต่เนิ่นๆ เพราะไม่ช้าก็เร็วคุณคงต้องได้ใช้บริการของเขาแน่ มีอีกหลายอย่างที่หมอเขาทำให้คุณได้ เช่นการตรวจวินิจฉัยแยกโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (เช่นโรคเอสแอลอี. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคของหลอดเลือดที่เกิดจากภูมิคุ้มกัน) ซึ่งทำให้เกิดปอดอักเสบเรื้อรังได้เหมือนกับ IPF แต่ดีกว่าที่ยังพอรักษาได้ ต่างจาก IPF ที่ทุกวันนี้วิธีรักษาหลักคือผ่าตัดเปลี่ยนปอดลูกเดียว การรักษาด้วยยาบางตัวเช่น N-acetylcysteine ก็ดี สะเตียรอยด์ก็ดี ยาเคมีบำบัดก็ดี ล้วนยังไม่มีหลักฐานว่าทำให้อัตรารอดชีวิตดีขึ้นอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Demedts M, Behr J, Buhl R, et al. High-dose acetylcysteine in idiopathic pulmonary fibrosis. N Engl J Med. Nov 24 2005;353(21):2229-42.
2. Frankel SK, Schwarz MI. Update in idiopathic pulmonary fibrosis. Curr Opin Pulm Med. Sep 2009;15(5):463-9.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67