คีลอยด์ (Keloid) แผลเป็นนูนน่าเกลียด

กลุ่มใจเรื่องคีลอยด์ที่ต้นแขนมากค่ะ นูนน่าเกลียด ยาฮิรูดอยด์ก็แล้ว ฉีดยาก็แล้ว เลเซอร์ก็แล้ว เสียเงินไม่ว่า เสียเวลาไปสองปี สุดท้ายทุกอย่างแย่เท่าเดิม อยากให้คุณหมอสันต์พูดถึงเรื่องคีลอยด์แบบของจริงที่ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงด้วยค่ะ ว่ามีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง ได้ผลสักเท่าไร

ตอบครับ

คีลอยด์ (Keloid) หรือแผลเป็น คือภาวะที่มีเนื้อเยื่อพังผืดเกิดนูนขึ้นมาบนแผลของผิวหนังที่หายสนิทแล้ว เนื้อพังผืดนี้นอกจากจะนูนขึ้นแล้วยังเติบโตลามออกไปพ้นขอบแผลดั้งเดิมของผิวหนังอีกด้วยเหมือนขาปูออกไปจากตัวปู ถ้าผ่าตัดเอาออก ก็จะโตขึ้นมาอีกเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิม
ถ้าเป็นกรณีคล้ายๆ กัน คือแผลที่หายแล้วเกิดเนื้อเยื่อพีงผืดแดง นูน และคันแต่ไม่ออกไปนอกขอบแผลดั้งเดิม เรียกว่า hypertrophic scar แบบหลังนี้มักเป็นกับแผลที่ถูกความร้อนลวกหรือนาบ

ทั้งคีลอยด์และ hypertrophic scar ต่างก็มีกลไกการเกิดคล้ายกัน คือการสร้างและการสลายพังผืด (collagen fiber) ขณะแผลหายไม่ได้ดุลพอดีกัน เมื่อสร้างพังผืดขึ้นมาสมานแผลมากแต่กลไกการลบทำลายพังผืดส่วนเกินไม่มากพอ จึงเกิดเป็นคีลอยด์

วิธีป้องกัน

การป้องกันไม่ให้เกิดเป็นสิ่งที่ดีที่สุด นั่นคือเวลามีสิว หรือเป็นสุกใส อย่าแกะ เวลาจะฉีดยาหรือวัคซีน ต้องฉีดในที่ๆจะถูกปกปิดด้วยเสื้อผ้ามิดชิด เวลาจะผ่าตัด ต้องเลือกวิธีที่มีแผลเล็ก แผลผ่าตัดไม่ควรตัดผ่านร่องตามธรรมชาติของผิวหนัง (skin crease) ไม่ตัดผ่านข้อพับ และหลีกเลี่ยงแผลที่กลางหน้าอกซึ่งเกิดคีลอยด์ง่าย เวลาเย็บปิดแผลต้องไม่ให้สองข้างขอบแผลตึงเกินไป

วิธีรักษา

1. การฉีดสะเตียรอยด์เข้าไปในเนื้อคีลอยด์ โดยใช้ triamcinolone acetonide (TAC) 10-40 mg/mL โดยใช้เข็มเบอร์เล็กขนาดเบอร์ 25 – 27 ฉีดทุก 4 – 6 สัปดาห์ ได้ผล 50-100% จัดว่าเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลดีที่สุดตอนนี้ แต่ก็มีอัตราการกลับเป็นใหม่หลังรักษาประมาณ 9 – 50% แต่การฉีดสะเตียรอยด์บ่อยๆก็มีข้อเสียที่ทำให้ผิวเหี่ยวย่น ผิวเปลี่ยนสี และมีเส้นเลือดฝอยขึ้น (telangiectasia )

2. วิธีอัดหรือรัดคีลอยด์ (compression dressing) ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าผิวหนังหากถูกอัดหรือรัดนานๆจะบางลง วิธีอัดหรือรัดทำได้หลายอย่าง รวมทั้งการรัดด้วยผ้ายืด ในงานวิจัยหนึ่งซึ่งใช้กระดุมอัดสองข้างของคีลอยด์ที่ติ่งหู พบว่าป้องกันการกลับเกิดคีลอยด์ไปได้นาน 8 เดือนถึง 4 ปี อีกวิธีหนึ่งคือวิธีพอก (occlusive dressing) โดยใช้แผ่นซิลิโคนพอกคีลอยด์ไว้ ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง งานวิจัยพบว่าถ้าพอกแผลด้วยซิลิโคน 24 ชั่วโมงต่อวันนาน 1 ปี คีลอยด์จะดีขึ้นมาก 37.5% แต่ก็ยังมีอีก 27.5% ที่จะไม่ดีขึ้นเลย ปัจจุบันนี้มี Cordran tape ซึ่งเป็นแผ่นพลาสเตอร์แบนเหนียวใสอาบสะเตียรอยด์ เมื่อใช้แผ่นนี้พอกไประยะหนึ่งจะทำให้คีลอยด์นุ่มและแบนขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้งวิธีอัด รัด หรือพอกนี้ไม่เป็นที่นิยมเพราะยุ่งยากในการทำ เมื่อหยุดทำก็มีปัญหาการกลับเป็นใหม่

3. วิธีฉีดสารใหม่ๆ ที่ยังไม่ใช่วิธีรักษามาตรฐาน เป็นการทดลองฉีดสารต่างๆเข้าไปในเนื้อคีลอยด์ เช่น อินเตอร์เฟียรอน ยารักษามะเร็งหลายตัว โบท็อกซ์ สารสกัดหัวหอม วิตามินอี ฯลฯ วิธีรักษาเหล่านี้ ยังไม่มีผลวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบขนาดใหญ่พอมาเป็นหลักประกันว่าเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลดีกว่าการฉีดสะเตียรอยด์อย่างเดียว จึงยังไม่ใช่วิธีมาตรฐานในปัจจุบัน

4. การรักษาด้วยการฉายรังสี เป็นวิธีรักษาที่ยังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่ว่าได้ผลดีจริงหรือไม่ จึงยังไม่ใช่วิธีมาตรฐานเช่นกัน

5. การใช้ความเย็น (cryotherapy) โดยใช้ไนโตรเจนเหลวจี้ ทำให้คีลอยด์เย็นจนเนื้อเยื่อถูกทำลาย ได้ผล 51-74% เมื่อประเมินใน 30 เดือน แต่มีภาวะแทรกซ้อนคือสีผิวจะ “ตกสี” กลายเป็นสีขาว

6. การผ่าตัดออก แต่ว่าแม้จะผ่าตัดออกโดยใช้เทคนิคที่ดี ไม่ให้มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อมาก ไม่ให้มีความตึงของผิวหนังสองข้างเมื่อเย็บปิดใหม่ ก็ยังมีอัตราการกลับเป็นคีลอยด์ใหม่ถึง 40-100% การผ่าตัดจึงไม่ใช่วิธีรักษาที่ดี จะเลือกใช้ในกรณีเฉพาะเท่านั้น หากผ่าตัดร่วมกับฉีดสะเตียรอยด์ อัตราการกลับเป็นจะลดลงเหลือต่ำกว่า 50%

7. การใช้เลเซอร์แบบต่างๆ ปัญหาก็คล้ายๆการผ่าตัดคืออัตราการกลับเป็นใหม่สูง ถ้าใช้คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ทำลายคีลอยด์ จะมีอัตราการกลับเป็นใหม่อีก 39-92% แต่หากใช้ร่วมกับการฉีดสะเตียรอยด์ จะมีอัตราการกลับเป็นใหม่ 25-75% เลเซอร์ชนิดอื่นก็ให้ผลต่างกันไม่มากนัก เมื่อดูที่อัตราการกลับเป็นใหม่ของคีลอยด์แล้ว การใช้เลเซอร์ก็เหมือนกับการผ่าตัด คืื่อยังไม่ใช่วิธีที่ดี

วิธีรักษาทั้งเจ็ดกลุ่มข้างบนนี้ บางหมอก็ผสมกัน คือเอาวิธีนั้นมาผสมวิธีนี้ สูตรใครสูตรมัน มาถึง ณ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบที่มีขนาดใหญ่พอให้เชื่อได้ว่ามีวิธีรักษาแบบไหนไม่ว่าจะแบบเดี่ยวหรือแบบผสม ที่ดีกว่าการฉีดสะเตียรอยด์เข้าไปในเนื้อคีลอยด์อย่างเดียว

กล่าวโดยสรุปให้คุณแล้วใจก็คือยังไม่มีวิธีรักษาคีลอยด์ที่ได้ผลดีโดยไม่กลับเป็นอีก ดังนั้นวิธีรักษาคีลอยด์ที่ดีที่สุดคือวิธี make your heart แปลว่า..ทำใจเสียเถิดครับ

แถมอีกนิดหนึ่ง ยาฮิรูดอยด์ที่คุณใช้ทานั้น ไม่ใช่ยาป้องกันหรือรักษาคีลอยด์ คงไม่มีหมอคนไหนบ้องตื้นให้คุณเอาฮิรูดอยด์ป้องกันหรือรักษาคีลอยด์ เข้าใจว่าคุณคงจะซื้อทาเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Lee JH, Kim SE, Lee AY. Effects of interferon-alpha2b on keloid treatment with triamcinolone acetonide intralesional injection. Int J Dermatol. Feb 2008;47(2):183-6.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67