ปฏิบัติธรรมสายโกเอ็นก้า คืออะไรคะ
เรียนคุณหมอสันต์ ที่เคารพ
ดิฉันได้ติดตามคุณหมอทาง fb และ yt มาระยะหนึ่ง มีข้อสงสัยค่ะ (ไม่ใช่คำถามสุขภาพโดยตรง แต่สงสัยมาก ไม่รู้จะถามใครดี ก็ถามคุณหมอสันต์เลยค่ะ) ข้อสงสัยนี้เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมทำไมมีหลายสายเหลือเกิน แบบไหนคือสายโกเอ็นก้า คุณหมอพอจะอธิบายได้ไหมคะ
ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ
................
ตอบครับ
1. ถามว่าการปฏิบัติธรรมทำไมมีหลายสายเหลือเกิน ตอบว่า อ้าว..แล้วทำไมรถเมล์ไปสนามหลวงมีหลายสายละครับ อุปมาอุปไมย ฉันใดก็ฉันเพล จบข่าว
2. ถามว่าแบบไหนคือสายโกเอนก้า ตอบว่าคำว่า "โกเอนก้า" ไม่ได้เป็นชื่อของสายหรือของวิธีปฏิบัติ แต่เป็นชื่อของอาจารย์ผู้สอน ซึ่งท่านเสียชีวิตไปแล้ว แต่ท่านได้สร้างศูนย์ปฏิบัติวิปัสนาขึ้นทั่วโลก ผมเดาว่าน่าจะมีร่วมร้อยแห่งแล้วกระมัง เฉพาะในเมืองไทยนี้ก็น่าจะมีสักสิบแห่งได้ ทุกวันนี้ศูนย์วิปัสนาเหล่านั้นก็ยังเปิดสอนโดยวิธีฉายเทปวิดิโอที่สอนโดยท่านโกเอนก้าให้ฟังแทนอาจารย์ตัวจริง
3. ถามว่าอาจารย์โกเอนก้าสอนอะไรบ้าง ตอบว่าวิธีสอนซึ่งท่านรับถ่ายทอดมาจากอาจารย์ชาวพม่าของท่านชื่อ "อูบาขิ่น" อีกต่อหนึ่ง ประกอบด้วยองค์ประกอบย่อยหลายส่วน คือ
(1) การได้ฝึกปฎิบัติอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานพอ คือนานอย่างน้อย 10 วัน ไม่ให้ไปใหนเลย นั่งฝึกปฏิบัติอย่างเดียวตั้งแต่ตีสี่ตีห้าจนถึงสามทุ่มทุกวัน ได้พักระหว่างชั่วโมงคราวละ 5 นาที และได้พักกินข้าวสองมื้อ แค่นั้น เวลาที่เหลือคือ ฝึก ฝึก ฝึก
(2) การได้แยกตัวไม่ต้องพูดต้องจากับใคร ทุกคนต้องรูดซิปปากสนิท ห้ามโทรศัพท์หาใครๆทั้งสิ้นเพราะยึดโทรศัพท์ไว้แล้วเรียบร้อย จะขีดจะเขียนจดบันทึกอะไรก็ไม่ได้ทั้งสิ้นเพราะห้ามมีปากกาดินสอสมุด จะหนีกลับก็ไม่ได้เพราะยึดกุญแจรถไว้แล้ว สถานที่แยกตัวก็มีบรรยากาศสงบเงียบ มีห้องนอนของตนเอง บางเวลาก็มีเสียงสวดเป็นภาษาที่ฟังไม่เข้าใจเปิดเป็นแบ้คกราวด์ให้ได้อารมณ์ธัมมะธัมโมมากขึ้น
(3) การละทิ้งสิ่งที่เรียนมาแล้วก่อนหน้านั้นไปให้หมดก่อน กล่าวคือในนั้นสิบวันห้ามนำวิชาอื่นที่เรียนมาก่อนหน้านั้นเข้ามาปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นโยคะ รำมวยจีน เดินลมปราณ เดินจงกลม ฝึกสมาธิแบบทีเอ็ม ฝึกแบบท่องสัมมาอรหัง ฝึกหายใจเข้าคิดถึงคำว่าพุธ หายใจออกคิดถึงคำว่าโธ ฝึกแบบยุบหนอพองหนอ ห้ามหมด แม้แต่จะวิ่งจ๊อกกิ้งก็ยังห้ามเลย หมอสันต์เข้าใจเอาเองว่าอาจารย์คงกลัวว่าถ้าของเก่าหรือวัตรปฏิบัติเก่ายังเต็มหัวก็จะยัดของใหม่ไม่ลง หิ..หิ
(4) การปลดภาระหน้าที่ประจำไปให้หมดก่อน อยู่ในนั้นไม่ต้องกังวลคิดอ่านเรื่องการทำมาหากินอะไรทั้งสิ้น เพราะกินฟรี นอนฟรี มีห้องหับที่หลับที่นอนส่วนตัวให้ มีคนทำอาหารให้กินเสร็จสรรพ อาหารที่ทำให้กินก็เป็นอาหารดีทำให้ฝึกปฏิบัติง่ายไม่ง่วงนอนมากนัก ผมหมายถึงอาหารดีต่อสุขภาพ คือเป็นอาหารพืชที่หลากหลายโดยไม่มีเนื้อสัตว์เลย ให้กินแค่สองมื้อ คือมื้อเช้าและมื้อกลางวัน ส่วนมื้อเย็นนั้นสงวนให้กินได้เฉพาะคนที่สุขภาพจะมีอันเป็นไปหากไม่ได้อาหารเย็นเท่านั้น การไม่กินมื้อเย็นทำให้หลับง่าย ตื่นได้เร็ว
(5) ตัดพิธีกรรมเยิ่นเย้อออกไปหมด ไม่ต้องแต่งเครื่องแบบหรือนุ่งขาวห่มขาว แม้จะเป็นการสอนโดยอิงคำสอนพระพุทธเจ้าแต่ก็ไม่ต้องสวดมนต์ทำวัตรกันเยิ่นเย้อ แค่พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นิดหน่อยก็พอ ทำให้สะดวกใจแก่คนรุ่นใหม่ที่ไม่เอาศาสนาใดๆทั้งสิ้น และสะดวกใจแก่คนนับถือศาสนาอื่นๆเช่นพวกฝรั่งมังค่า
(6) เนื้อหาการสอน ขั้นที่ 1. จะให้ฝึกสมาธิก่อนใน 3-4 วันแรก ด้วยวิธีหันเหความสนใจจากเรื่องอื่นมาตามดูลมหายใจ คล้ายๆกับตัดเอาท่อนหัวของอานาปาณสติมาฝึกก่อน ใหม่ๆจะตามดูส่วนไหนของลมหายใจก็ได้ แล้วก็ค่อยๆตะล่อมให้มาดูเฉพาะที่ผิวหนังใต้รูจมูกเหนือริมฝีปากบน คำว่าดูในที่นี้ไม่ใช่ดูด้วยตา แต่หมายถึงการให้ความสนใจ หรือ pay attention เฉพาะที่ตรงนั้นโดยทิ้งความคิดและความสนใจภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส ใดๆไปหมด ดูไปดูมา ดูซ้ำดูซาก จนรับรู้ความรู้สึก (feel) บนผิวหนังใต้รูจมูกได้ดีแน่ชัดจึงจะก้าวไปขั้นที่สอง
(6) ขั้นที่ 2. ใน 6 วันหลังเน้นการฝึกตามรับรู้ความรู้สึก (feeling) บนร่างกายทั่วร่างกาย ซึ่งในหกวันหลังนี้อาจารย์โกเอนก้าจะเรียกว่าเป็นการฝึกวิปัสนา เผอิญคำว่าวิปัสนานี้คนทั่วไปใช้กันในหลายแง่หลายง่ามทำให้สับสนง่าย ดังนั้นหากผมจะเรียกตามฝรั่งว่าเป็นการฝึก body scan คุณจะเข้าใจได้ตรงและง่ายกว่า สำหรับท่านที่แก่วัดในแนวพุทธออร์โธด๊อกซ์หรือเถรวาทไทยมาก่อน หากผมเปลี่ยนคำเรียกว่าเป็นการฝึก "เวทนานุสติปัฐฐาน" ก็จะเข้าใจได้ง่ายกว่า วิธีฝึกก็คือค่อยๆขยายความสนใจรับรู้ความรู้สึกบนผิวกายจากบริเวณผิวหนังใต้รูจมูกให้กว้างออกไปครอบคลุมใบหน้า ศีรษะ กว้างออกไปอีกจนในที่สุดสามารถรับรู้ความรู้สึกได้ครอบคลุมทั่วร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า
กล่าวโดยสรุป อาจารย์โกเอนก้าสอนให้ถอยความสนใจออกมาจากความคิด เอาความสนใจมาตามดูลมหายใจก่อน แล้วต่อมาเปลี่ยนเป็นเอามาตามดูความรู้สึกบนร่างกาย ผลที่ได้ก็คือการมีความคิดน้อยลงจนถึงหมดความคิดในบางช่วงบางขณะ สามารถเข้าถึงความสงบเย็นที่ข้างในตัวเอง และเกิดทักษะมากพอที่จะนำไปปฏิบัติต่อด้วยตัวเองได้ต่อไป
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์