ปรึกษาคุณหมอ - คุณพ่อเป็นโรคหัวใจแต่ไม่ยอมผ่าตัด
ภาพวันนี้ / กระท่อมคู่ยากของหมอสันต์ ขอถ่ายรูปครั้งสุดท้ายก่อนจะรื้อ (กลัวมันถล่มลงมา)
สวัสดีครับคุณหมอ
คุณพ่อผมประมาณเดือนที่แล้วมีอาการหายใจไม่ออก พอไปตรวจ รพ. แล้วพบว่ามีอาการเส้นเลือดหัวใจตีบ 3 เส้น – ปรึกษาหมอแล้ว (พร้อมไปสอบถามหมอ รพ อื่น เป็น second opinion) ได้ข้อสรุปว่าต้องทำ Bypass แต่คุณพ่อผมไม่ยอมที่จะทำการผ่าตัด และยืนยันว่าจะใช้วิธีการทำ Balloon แทน – ซึ่งผลการฉีดสีตรวจเส้นเลือดพบแล้วว่าใน 3 เส้นนั้น สามารถทำ Balloon ได้แค่เส้นเดียว อีก 2 เส้นมีลักษณะคดงอไม่สามารถทำได้
คุณพ่อยืนยันหนักแน่นว่าจะทำ Balloon อย่างเดียว ผสมกับการกินยา และการออกกำลังกาย โดยคุณพ่อผมอ้างอิงการตัดสินใจนี้มาจากการดูวิดีโอของคุณหมอตามลิงค์ด้านล่าง
ตอนนี้สมาชิกครอบครัวเป็นห่วงมาก และไม่รู้จะทำอย่างไรดี ผมจึงคิดว่าถ้าคุณหมอพูด หรือพิมพ์ตอบกลับมา หรือถ้าไม่รบกวนมากการปรึกษาผ่านโทรศัพท์ จะช่วยโน้มน้าวคุณพ่อผมให้ยอมรับการผ่าตัด และกลับมามีสุขภาพดีตามเดิม
ผมส่งรายละเอียดการตรวจสวนหัวใจมาให้พร้อมนี้
ด้วยความเคารพ
…………………………………………………….
ตอบครับ
ผมประเมินภาพผลการตรวจที่ส่งมาให้แล้ว ความเห็นของผมคือ
การวินิจฉัย
1. หลอดเลือดหัวใจโคนข้างซ้าย (LM) ปกติ
2. มีรอยตีบบนแขนงหลอดเลือดสามเส้น คือ RCA, LAD, Lcx
3. กล้ามเนื้อหัวใจทำงานเป็นปกติดี
คำแนะนำในการรักษา
1. ไม่วาจะยอมรับการรักษาแบบรุกล้ำหรือไม่ อย่างไรเสียก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต คือ
1.1 ปรับเปลี่ยนอาหารมากินพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ
1.2 ออกกำลังกาย
1.3 จัดการความเครียด และ
1.4 มีสัมพันธภาพเชิงสังคมที่ดีกับคนรอบตัว
เพราะการเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นการรักษาที่ให้ผลดีที่สุด อย่างไรเสียก็ต้องทำ และต้องทำทันทีไม่ต้องรอให้ผ่าตัดเสร็จ เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วก็ต้องทำต่อ
2. ส่วนการจะรักษาแบบรุกล้ำหรือไม่นั้นมีประเด็นพิจารณาอยู่สองประเด็น คือ
2.1 ในแง่ความยืนยาวของชีวิต งานวิจัยผู้ป่วยที่ตีบสามเส้นที่มีโคนหลอดเลือดข้างซ้ายปกติและมีอาการเจ็บหน้าอกไม่เกินระดับสาม (functional class I-III) อย่างคุณพ่อของคุณนี้ งานวิจัยที่ทำอย่างดีแล้ว (COURAGE trial) พบว่าไม่ว่าจะรักษาแบบรุกล้ำ (บอลลูนหรือบายพาส) หรือการรักษาแบบไม่รุกล้ำ (ไม่ทำบอลลูนบายพาส) ล้วนให้ความยืนยาวของชีวิตเท่ากัน
2.2 ในแง่ของคุณภาพชีวิต หากการเจ็บหน้าอกรบกวนการใช้ชีวิตจนคุณภาพชีวิตเสียไป งานวิจัยพบว่าการรักษาแบบรุกล้ำ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมากกว่าการรักษาแบบไม่รุกล้ำ คือเจ็บหน้าอกน้อยลง จึงถือเป็นข้อบ่งชี้ของการทำบอลลูนหรือผ่าตัด
ดังนั้นการตัดสินใจว่าจะยอมรับการรักษาแบบรุกล้ำหรือไม่ ต้องเป็นการตัดสินใจของผู้ป่วยเองโดยประเมินคุณภาพชีวิตของตัวเองว่ายอมรับได้หรือไม่ได้ หากยอมรับคุณภาพชีวิตขณะนี้ไม่ได้ก็ควรไปรับการรักษาแบบรุกล้ำ
3. ในกรณีที่ยอมรับการรักษาแบบรุกล้ำ ระหว่างการเลือกทำบอลลูนกับบายพาส ควรเลือกทำอย่างไหนมากกว่ากัน คำแนะนำของผม คือ
3.1 การทำบอลลูนและการทำผ่าตัดบายพาส มีอัตราตายเท่ากัน คือประมาณ 0.5-2.5%
3.2 อาการเจ็บหน้าอกน่าจะเกิดจาก (culprit lesion) รอยตีบที่หลอดเลือดด้านหน้า (LAD) และ/หรือด้านข้าง (Lcx) ซึ่งลักษณะของการตีบการรักษาด้วยบอลลูนไม่น่าจะทำสำเร็จ ส่วนหลอดเลือดข้างขวา (RCA) ที่สามารถทำบอลลูนได้ง่ายๆนั้นมีรอยตีบก็จริงแต่รอยตีบไม่วิกฤติ ไม่น่าเป็นสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก ถึงทำบอลลูนไปก็อาจไม่บรรเทาอาการเจ็บหน้าอก
ดังนั้นในกรณีที่เลือกทำการรักษาแบบรุกล้ำเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิต ผมแนะนำว่าควรทำผ่าตัดบายพาส
4. อนึ่งควรมองข้ามช็อตในประเด็นต่อไปนี้ไว้ด้วย
4.1 รอยตีบบนหลอดเลือด LAD ซึ่งเป็นแขนงเลี้ยงหัวใจด้านหน้าและเป็นแขนงสำคัญ มีลักษณะตีบแบบเป็นปล้องๆหลายจุด ซึ่งเป็นการยากที่จะทำการรักษาแล้วจะทำให้เลือดไปเลี้ยงทุกส่วนได้นานๆหลายปี เพราะการผ่าตัดไม่ได้เปลี่ยนการดำเนินของโรค รอยตีบเป็นปล้องๆเหล่านั้นวันหนึ่งก็จะตีบมากขึ้น หมายความว่าแม้จะทำผ่าตัดบายพาสแล้ว ก็ไม่ควรหวังผลเลิศเกินไป
4.2 ในกรณีเลือกวิธีรักษาโดยการทำบอลลูน ควรคำนึงถึงความจำเป็นที่จะต้องกินยาต้านเกล็ดเลือดไปตลอดชีวิต ซึ่งเพิ่มโอกาสเกิดเลือดออกในสมองและเลือดออกในทางเดินอาหารให้ผู้ป่วยระดับหนึ่ง ซึ่งวงการแพทย์ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่น้อยกว่าประโยชน์ที่จะได้จากการทำบอลลูน แต่ผู้ป่วยต้องรับรู้และยอมรับภาระที่ต้องกินยาตลอดชีวิตและความเสี่ยงเกิดเลือดออกในสมองนี้ตั้งแต่ก่อนที่จะตัดสินใจทำบอลลูน
ผมทำได้แค่ให้ข้อมูล การตัดสินใจต้องทำโดยตัวผู้ป่วยเท่านั้น เพราะผู้ป่วยเป็นผู้ที่จะประเมินคุณภาพชีวิตตนเองได้เที่ยงตรงที่สุด อีกประการหนึ่ง การตัดสินใจรับการรักษาแบบรุกล้ำเป็นการรักษาที่มีอัตราตาย (0.5-2.5%) พูดง่ายๆว่าทำแล้วตายเพราะการทำก็เป็นไปได้ จึงไม่ควรให้ญาติมาตัดสินใจแทนผู้ป่วย เพราะหากเกิดอะไรขึ้น ผู้ตัดสินใจแทนจะเกิดความรู้สึกผิดติดใจตัวเองไปอีกนาน หรือติดใจไปจนตาย
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์