06 กรกฎาคม 2567

ผ่าตัดเพิ่มความสูงได้แต่จะไม่พ้นทุกข์ หากยังแขวนสุขทุกข์ไว้ที่ "ขี้ปาก" ของคนอื่น

(ภาพวันนี้ / ต้นปรง เมื่อเปลี่ยนมุมมอง)

เรียน คุณหมอสันต์ที่เคารพ

      ลูกชายอายุ 25 ปี สูง 157 ซม. น้ำหนัก 49 กิโลกรัม  ตัวเล็กตั้งแต่เด็ก ทานอาหารยาก ทานน้อย มีโรคประจำตัวคือ แพ้อากาศ คัดจมูกบ่อย ทำให้นอนไม่ค่อยหลับ  ลูกหยุดสูง กระดูกปิดตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมต้น

       ตอนเรียนอยู่ชั้น ป.5 แม่พาไปปรึกษาคุณหมอเรื่องปัญหาความสูง เนื่องจากมีกรรมพันธุ์ อากง (พ่อของพ่อ) ตัวเล็กสูงประมาณ 160 ซม. เท่านั้น คุณหมอให้ยามาทาน เป็นยาลดความดัน ทานก่อนนอนทำให้ง่วงนอนและหลับได้เร็ว ทานยาประมาณ 2 ปี จึงหยุดแต่ไม่ได้ทำให้สูงขึ้นเลยค่ะ

      ตอนนี้เรียนจบปริญญาตรี ทำงานแล้ว สัปดาห์ก่อนเขามาบอกว่าอยากผ่าตัดยืดความสูง เหตุผลคือกำลังไปได้ดีในหน้าที่การงานและมักได้เป็นผู้นำเสนอ แต่มีปัญหาทางจิตใจคือขาดความมั่นใจในเรื่องสรีระของตัวเอง คนชอบถามว่าเรียนชั้นอะไร ทั้งๆที่เรียนจบแล้ว และไม่มั่นใจเวลาพรีเซ้นงานจึงอยากเสริมความมั่นใจให้ตัวเอง  และได้หาข้อมูลมาว่าปัจจุบันในไทยมีหมอเฉพาะทางออร์โธปิดิกส์ อยู่เพียง 1 ท่านเท่านั้น ที่ยอมผ่าตัดยืดความสูงให้คนไข้ อยู่ที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง โดยใช้ 2 วิธี ประสบการณ์คุณหมอคือ ยืดความสูงโดยใช้วิธีการแบบเก่า (ยืดจากภายนอก) ให้คนไข้มาแล้วประมาณ 200 กว่าราย และใช้วิธีใหม่ (ยืดจากภายใน) 4 ราย และมีอยู่ 1 ราย ที่ยืดขาทั้งท่อนบนและท่อนล่างโดยท่อนบนใช้วิธีใหม่ยืดได้ 8 ซม. และยืดขาล่างช่วงน่องโดยวิธีเก่ายืดได้  5 ซม. รวมเป็น 13 ซม.

วิธีการยืดความสูง  2 วิธีคือยืดจากภายนอกและยืดจากภายใน

1. ยืดจากภายนอกคือการใช้ Illizarov External Fixator รูปแบบดั้งเดิม จะมีเฟรมครอบขาเราไว้แล้วเราจะใช้มือหมุนตัวอุปกรณ์ให้แกนมันยืดออก ซึ่งจำเป็นจะต้องเจาะกระดูกประมาณ 6-8 จุดเพื่อยึดอุปกรณ์เอาไว้ ผลข้างเคียงคือโอกาสติดเชื้อค่อนข้างง่ายมาก เจ็บปวดมากกว่ารูปแบบใหม่ ทำกายภาพได้ค่อนข้างจำกัด หายช้า มีโอกาสที่เส้นประสาทเสียหายรุนแรงได้ อาจจำเป็นต้องผ่าตัดซ้ำซ้อน และยังมีความจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดเพื่อนำอุปกรณ์ออก ส่วนใหญ่จะทำในขาท่อนล่างเนื่องจากอุปกรณ์ที่ใหญ่ ทำให้ไม่สามารถใส่ขาท่อนบนได้พร้อมกัน 2 ข้าง

2. แบบ Internal Fixator ในไทย ด้วยตัว Precise Nail 2.2

หลักการยืดคล้ายๆกันแต่ไม่มีอุปกรณ์ครอบจากด้านนอก เจ็บปวดน้อยกว่ามาก ฟื้นตัวเร็ว สามารถทำในกระดูกต้นขาได้พร้อมกัน โอกาสติดเชื้อต่ำ แต่ราคาแพงมาก

      ลูกชายได้นัดคุณหมอและให้แม่ไปฟังด้วย โดยคุณหมอได้ถ่ายรูปและทำภาพตัดต่อให้ดูความสมส่วนของร่างกายหลังทำโดยภาพที่ 1 ยืดส่วนบน  ภาพที่ 2 ยืดส่วนล่าง ภาพที่ 3 ยืดทั้งบนและล่าง เมื่อดูภาพแล้วลูกชายมีความคิดว่าต้องการยืด ทั้งส่วนบนและส่วนล่างโดยส่วนบนใช้วิธีใหม่ยืดได้ 8 ซม. และยืดส่วนล่างโดยวิธีเก่า 5 ซม. รวมเป็น 13 ซม.จะทำให้มีความสูงเป็น 170 ซม.

 รบกวนถามคุณหมอว่า ถ้าจะทำอันตรายคุ้มเสี่ยงไหมคะ และถ้าอันตรายระดับไหนคะ ถึงชีวิตหรือพิการไหม และถ้าทำแล้วผิดพลาดสามารถแก้ไขได้ไหมคะ

ขอบพระคุณคุณหมอเป็นอย่างสูงค่ะ

…………………………………….

ตอบครับ

หมูเขาจะหามกันอยู่แล้ว คุณจะเอาคานเข้าไปสอดทำไมละครับ

ผมหมายถึงว่าลูกชายของคุณเขาโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว มีงานมีการทำของเขาเองแล้ว เขาคิดจะทำผ่าตัดกับร่างกายของเขา นัดหมายกับหมอดิบดีแล้ว คุณเป็นแม่ที่ลูกพ้นอกไปแล้ว คุณจะไปยุ่งให้เขาว้าวุ่นใจทำไมละครับ

แต่อย่างไรก็ตาม คุณถามมาผมก็จะตอบให้ตามความเป็นจริง

1.. ถามว่าถ้าผ่าตัดเพิ่มความสูงจะอันตรายไหม ตอบว่าก็ไม่อันตรายมากมายดอกครับ เพราะผ่าตัดที่ขาและหน้าแข้ง อยู่ไกลหัวใจตั้งแยะ

3.. ถามว่าหากมีอันตรายมันเป็นอันตรายระดับไหน จะถึงแก่ชีวิตหรือพิการ หรือว่าคางเหลือง ตอบว่าการผ่าตัดใหญ่ทุกชนิดเอาแค่ดมยาสลบยังไม่ทันผ่าตัดเลยก็มีโอกาสตายได้แล้ว เรียกว่ามี mortality เพียงแต่ว่าโอกาสมันไม่มาก คือต่ำระดับหนึ่งในแสน การผ่าตัดสไลด์กระดูกในคนหนุ่มก็อาจจะเพิ่มโอกาสตายขึ้นเป็นประมาณ 0.1 % ก็ยังถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ต่ำมาก ส่วนภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวของการผ่าตัดสไลด์กระดูกออกไปมากๆ ว่าในระยะยาวจะมีผลต่อร่างกายโดยรวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบาดเจ็บของหลอดเลือด เส้นประสาท กล้ามเนื้อและเอ็นที่ถูกยืดมากๆนั้นอย่างไร วงการแพทย์ยังไม่มีคำตอบแน่ชัด เพราะมีการทำผ่าตัดชนิดนี้น้อยจนยังสรุปอะไรเป็นตุเป็นตะไม่ได้ ผู้ป่วยที่อยากสูงต้องไปลุ้นภาวะแทรกซ้อนเอาเองในอนาคต

4.. ถามว่าการทำผ่าตัดยืดความสูงจะคุ้มความเสี่ยงไหม ตอบว่าการประเมินความคุ้มค่าขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนซึ่งให้น้ำหนักของประโยชน์ไม่เท่ากัน ในมุมมองของผู้ป่วยที่ “คิดมาก” ที่ตัวเองไม่เหมือนเพื่อน อาจให้มูลค่ากับการเพิ่มความสูงไว้มาก แต่ในมุมมองของแพทย์ประจำครอบครัวอย่างผมมองไม่เห็นประโยชน์ของการเพิ่มความสูงไปจากที่ธรรมชาติให้มาแต่เดิมเลยซักกะนี้ดเดียว ผมจำกัดประโยชน์ของการรักษาโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดไว้เพียงสองประเด็นเท่านั้น คือ (1) การได้เพิ่มความยืนยาวของชีวิต กับ (2) การได้เพิ่มคุณภาพชีวิต นี่เป็นหลักพื้นฐานสากลของวิชาแพทย์

ในประเด็นคุณภาพชีวิต แพทย์จะให้น้ำหนักมากหากการผ่าตัดนั้นช่วยบรรเทาอาการปวดที่รบกวนอยู่ไม่หาย หรือช่วยเอื้อให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น หรือเอื้อให้ผู้ป่วยอยู่ในสังคมได้ง่ายขึ้น (เช่นกรณีทำศัลยกรรมพลาสติกให้ผู้ถูกน้ำกรดสาดหน้า เป็นต้น)

ส่วนคำวิพากย์วิจารณ์หรือสายตาของคนอื่นที่มองร่างกายตนเองว่าสูงไปบ้าง ต่ำไปบ้าง ดำไปบ้าง ขาวไปบ้าง หน้าละอ่อนไปบ้าง หน้าแก่ไปบ้าง เราจะสนองตอบไปในทางให้ตัวเองเป็นสุขหรือเป็นทุกข์นั้น มันไม่ใช่เรื่องที่พึงแก้ด้วยศัลยกรรม มันควรจะแก้ด้วยการปรับจูนทัศนคติหัดยอมรับ (acceptance) และหัดสนองตอบต่อสิ่งเร้าไปทางบวก (positive reframing) ดีกว่า มันทำได้ง่ายกว่า มีความเสี่ยงต่ำกว่า และเป็นการแก้ปัญหาตรงประเด็นกว่า เพราะตราบใดที่ยังแขวนการจะสุขหรือทุกข์ของตนเองไว้ที่ “ขี้ปาก” ของคนอื่น ต่อให้ทำศัลยกรรมตั้งแต่หัวจรดเท้าตราบนั้นก็ยังไม่อาจพาตนให้พ้นทุกข์ได้ดอกครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์