04 กรกฎาคม 2567

คุณค่าและความหมายของชีวิต ความกลัวตาย ความกลัวปวด

(ภาพวันนี้ / คูนต้นฝนที่หน้าบ้านโกรฟเฮ้าส์)

เรียน คุณหมอสันต์ที่เคารพ

ผมเห็นการบรรยายที่คุณหมอได้ไปบรรยายที่สวนโมกข์ในโพสต์ก่อน เลยต้องขอเขียนเพื่อจะขอฟังทรรศนะคุณหมอ ที่ตอนนี้เป็นหนึ่งในผู้นำทางจิตวิญญาณของผม
-อยากฟังเรื่องความหมายของชีวิตในมุมมองคุณหมอครับ
-อีกเรื่องคือมุมมองของคุณหมอเกี่ยวกับความตาย เปรียบเทียบความกลัว ความวิตกกังวลตอนที่คุณหมออายุ 55 และ ปัจจุบันครับ
ขอบพระคุณอย่างสูงครับ
…….
ส่งจาก iPhone ของฉัน

……………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ความหมายชีวิต หรืออีกคำพูดหนึ่งคือ คุณค่าของชีวิต เป็นคอนเซ็พท์ว่าชีวิตของคนเราเกิดมาแล้วต้องมีประโยชน์ มีคุณค่า เกิดมาแล้วจะได้ไม่เสียชาติเกิด แต่อย่าลืมว่าทั้งหมดนี้มันเป็นแค่ “คอนเซ็พท์” นะ ซึ่งก็คือ “ความคิด” ที่เราอุปโลกน์ขึ้นในใจของเราเองแบบเขาว่ากันมาก็ว่ากันตามเขาไป หามีสาระอยู่จริงหรือเป็นอะไรที่ถาวรไม่ ดังนั้นผมแนะนำว่าให้โยนคอนเซ็พท์เรื่องความหมายของชีวิตทิ้งไปเสีย ทิ้งไปให้ไกลๆเลย เลิกคอยตรวจเช็คชีวิตตัวเองว่ามีคุณค่าหรือความหมายหรือเปล่าเสียที เพราะการขยันทำอย่างนั้นมีแต่จะทำให้เครียดและอาจทำให้เป็นบ้าได้

อีกประการหนึ่งการถามหาคุณค่าและความหมายของชีวิตซึ่งมักหมายความรวมถึงการมีงานทำมีเงินเดือนกินจะเป็นคำถามที่ใช้ไม่ได้แล้วจากวันพรุ่งนี้เป็นต้นไป เพราะคนส่วนใหญ่จะมีชีวิตอยู่โดยไม่มีการงานอาชีพหรือมีเงินเดือนค่าจ้างกินแบบเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนทุกวันนี้ เพราะการจ้างงานจะลดลง และวิชาที่เรียนไปจากมหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมดจะกลายเป็นความสูญเปล่าเนื่องจาก AI มันบอกแทนได้หมดไม่ต้องไปจดมาจากห้องเรียน ตัวผมเองไม่ได้มองว่าการไม่มีเงินเดือนกินนี้จะเป็นเรื่องซีเรียสอะไรนะ เพราะสมัยผมเป็นเด็กประถมนอกจากครูที่โรงเรียนและผู้ใหญ่บ้านแล้วก็ไม่เห็นมีใครมีงานทำมีเงินเดือนกินสักคน แต่คนทั้งหมู่บ้านเขาก็มีชีวิตที่ดีมีความสุขได้ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามถึงคุณค่าและความหมายของชีวิต

ทุกชีวิตเกิดมาแล้วจะมีพัฒนาการไปทางใช้ชีวิตให้เต็มศักยภาพที่ตนเองมี เหมือนนกที่เกิดมาแล้วก็จะงอกขนงอกปีกจนบินไปไหนต่อไหนเองได้ สำหรับคน ทุกคนล้วนมีเป้าหมายสุดท้ายเดียวกันคือความสุขหรือความสงบเย็นเบิกบาน ดังนั้น ทุกโมเมนต์ที่คิดขึ้นได้ แทนที่จะถามตัวเองว่าชีวิตตัวเองมีคุณค่าและความหมายมากพอได้มาตรฐานสากลที่คนอื่นเขาพูดกันหรือที่เขาตั้งสะเป๊คกันไว้แล้วหรือยัง น่าจะถามตัวเองเสียใหม่ว่าโมเมนต์นี้การใช้ชีวิตของตนเองทำให้ตนเองมีความสงบเย็นและเบิกบานหรือเปล่า ถ้าเบิกบานดี ยิ้มได้ ชีวิตก็มาได้เต็มศักยภาพของมันแล้ว

ในชีวิตจริงคนเราแค่จะยิ้มให้ออกนี่ก็แทบจะไม่ได้แล้ว ชีวิตของคนเราเต็มไปด้วยการเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นจนนำไปสู่การแก่งแย่ง ชิงดี งุดหงิด โกรธ เกลียด อิจฉา อาฆาต อันเป็นพื้นฐานชักนำให้คนทำสงครามเข่นฆ่ากัน ทั้งนี้เป็นเพราะเราไม่รู้วิธีที่จะใช้ชีวิตของตัวเองให้สงบเย็นและเบิกบานจึงไปคาดหวังเอากับคนอื่นให้มาทำให้ใจเราสงบเย็น ซึ่งมันคงเป็นไปได้ยาก

ดังนั้นแค่ตื่นเช้ามาแต่ละวันคุณยิ้มให้คนรอบตัวได้ ชีวิตของคุณก็เปี่ยมด้วยคุณค่าแล้ว ไม่ต้องตรวจสอบระดับคุณค่าหรือความหมายของชีวิตด้วยมาตรอื่นๆเช่นการมีเงินการมีงานทำหรือการได้บริจาคทานเป็นเงินเท่าไหร่เลย  เพราะแค่คุณยิ้มให้คนข้างๆได้ รอยยิ้มและความสงบเย็นของคุณก็จะถูกถ่ายทอดต่อๆกันไป คุณก็จะกลายเป็นคนทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นได้อย่างน่าสรรเสริญแล้ว

2.. ความกลัวตาย ย่อมเกิดกับทุกคนที่ความตายทำท่าจะมาถึงเร็วแบบไม่ทันตั้งตัว ถามว่าหมอสันต์ตอนอายุ 55 ปีและป่วยอยู่นั้นกลัวตายไหม ตอบว่ากลัวตายสิครับ เพราะไปให้ค่ากับความคิดเชิงจินตนาการถึงอนาคตที่ไม่ใช่เรื่องจริงด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์  

แต่ตอนนี้รู้แล้ว ว่าความกลัวเป็นแค่ “ความคิด” ทุกความคิดล้วนปรุงขึ้นมาจากประสบการณ์เก่าๆของเราซึ่งถูกเก็บไว้เป็นความจำ ที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาคลุกเคล้ากับคอนเซ็พท์ “อนาคต” กลายออกมาเป็นนิทานเรื่องใหม่ขึ้นในหัวตัวเองว่าเมื่ออนาคตมาถึงสิ่งร้ายๆที่เคยเกิดในอดีตจะเกิดกับเราอีกอย่างนั้นอย่างนี้เป็นตุเป็นตะ แล้วนิทานนั้นก็วนกลับมาเป็นสิ่งเร้าให้ใจและร่างกายของเราสนองตอบออกไปในรูปของ “ความกลัว” อันใหม่ วนอยู่อย่างนี้รอบแล้วรอบเล่า

ถามว่าตอนนี้หมอสันต์ที่อายุเจ็ดสิบกว่าแล้วซึ่งเป็นวัยที่ “แค่” (ภาษาใต้ แปลว่าใกล้) ความตายเข้าไปทุกทีแล้ว ยังกลัวตายอยู่ไหม ตอบว่าตอนนี้ไม่กลัวแล้ว เพราะ

(1) เมื่อรู้ว่าความกลัวคือความคิด ผมก็ลงมือฝึกวางความคิด ฝึกเรื่อยมาจนวางความคิดขี้หมาไปได้แล้วเกือบหมด เมื่อในหัวไม่มีความคิด ความกลัวในหัวก็ไม่มี

(2) ความกลัวทุกชนิด ถูกชงขึ้นมาโดยอัตตาหรือสำนึก (identity) ว่าเราเป็นบุคคลคนหนึ่งมีชื่อมีร่างกายมีทรัพย์สมบัติอย่างนี้ เพราะเมื่อถึงเวลาตายจริงๆ เจ้าอัตตาหรือ identity นี่แหละที่จะตาย มันจึงกลัวความตายระดับขี้ขึ้นสมอง ผมก็แก้ปัญหานี้ด้วยการย้ายอัตตา (change identity) มันซะเลย ย้ายจากตัวเดิมที่เป็นคนคนนี้เป็นเจ้าของร่างกายนี้ไปเป็นตัวใหม่ที่ไม่ได้เป็นอะไรเลย ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องลึกซึ้งกับคนคนไหน หรือกับโลก หรือกับร่างกายนี้เลย ตัวใหม่นี้เป็นแค่ผู้สังเกตความเป็นไปในชีวิตแต่ละขณะด้วยความอยากเรียนอยากรู้ ส่วนตัวเก่าที่เป็นมนุษย์ขี้ป๊อดนั้น ตอนนี้เขาไม่ค่อยได้อยู่ที่บ้านนี้แล้ว

3.. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ ว่าควบคู่มากับความกลัวตายนั้นมักจะมีความกลัวความเจ็บปวดเมื่อป่วยไข้ใกล้จะตายพ่วงมาด้วย ถามว่าผมกลัวความเจ็บปวดไหม ตอบว่าไม่กลัวเลย เพราะมีประสบการณ์เคยปวดระดับมหากาพย์มาแล้ว ทั้งประสบการณ์ในแง่การยอมรับความปวด และในแง่การเปลี่ยนพลังงานความปวดเป็นพลังชีวิตของตัวเอง

ถึงแม้ท่านผู้อ่านเป็นคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ปวดหนักๆมาก่อนก็ไม่มีเหตุจะต้องกลัวความเจ็บปวดอยู่ดี เพราะสมัยนี้ระบบสามสิบบาทรักษาทุกโรค (UC) เขาจ่ายมอร์ฟีนให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบไม่อั้น แทบจะจ่ายแบบส่งตรงถึงบ้านฟรีเลย จึงไม่มีเหตุผลอะไรต้องมาจินตนาการว่าชีวิตนี้จะจบลงด้วยความเจ็บปวด เนื่องจากชื่อว่าความปวดไม่ว่าระดับใด มอร์ฟีนเอาอยู่ทุกราย..ถ้าโด้สสูงพอ หิ หิ

นี่ว่ากันเฉพาะเรื่องความปวด (pain) ซึ่งเป็นเรื่องบนร่างกายนะ ส่วนความทรมาน (suffering) ซึ่งเป็นเรื่องของความคิดในใจนั้น.. ตัวใครตัวมันนะครับ ใครที่ยังคิดมากก็จะทรมานมากเป็นธรรมดา ดังนั้นถ้ากลัวความทรมานเมื่อใกล้ตาย ก็จงฝึกวางความคิดเสียแต่วันนี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์