21 กรกฎาคม 2567

จะสอนเด็กอย่างไรไม่ให้บ้าดีแต่ยังเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม

(ภาพวันนี้ / รังนกกระจาบ)

คุณหมอคะ

สิ่งที่คุณหมอสอนในแค้มป์ SR ทั้งเรื่องการปล่อยวางความยึดถือในความคิดและคอนเซ็พท์แม้กระทั่งคอนเซ็พท์ว่าดีชั่วถูกผิด สำหรับผู้ใหญ่ก็พอเข้าใจพอเอาไปใช้ประโยชน์ได้ แต่สำหรับเด็กสิ่งที่เขาเรียนมาจากโรงเรียนตรงกันข้ามกับสิ่งที่หมอสันต์สอน เพราะโรงเรียนสอนให้ยึดมั่นในความดีความถูกต้อง จนบางครั้งเราก็เห็นด้วยว่ามากไปจนทำให้เด็กเป็นทุกข์ ถ้าเราไม่สอนอะไรเขาเลยเขาอาจจะมีความสุขกว่านี้แต่ว่าสังคมก็คงอยู่กันไม่ได้เพราะไม่มีกฎกติกาอะไรกันอีกต่อไปแล้ว คำถามของดิฉันคือเราจะสอนเด็กอย่างไรไม่ให้เขาเป็นทุกข์เพราะความยึดถือ ขณะเดียวกันก็ไม่ให้เขาทำตัวเป็นปัญหาหรือเป็นภาระกับสังคม

………………………………………………………

ตอบครับ

ผมสรุปเป้าหมายของการสอนเด็กตามที่คุณว่ามาเลยนะ ว่าเพื่อ

(1) ให้เขามีความสุขในชีวิต

(2) ให้เขาอยู่ในสังคมได้แบบไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

ผมเห็นด้วยว่าเอาแค่สองข้อนี้พอ อย่าโลภมากให้สอนเขาเป็นผู้นำที่จะมากู้วิกฤติให้สังคมเลย เพราะนั่นจะเป็นการสอนมากเกินไปแล้วจะกลายเป็นการผลิตผู้นำมาก่อวิกฤติให้สังคมซะฉิบ

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์สองข้อนี้ ผมแนะนำว่าควรสอนเด็กไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอนไปตามลำดับ 7 ขั้นตอน ดังนี้

1.. เป็นแม่แบบให้เด็ก (role model) เด็กเรียนรู้จากการลอกแบบ ผู้ใหญ่ต้องโชว์ของจริงให้เขาเห็นว่าการรับมือกับความเครียด กับความผิดหวัง และการทนทานต่อความล้มเหลวทำอย่างไร การเปิดใจสู่ความสงบเย็นเบิกบานทำอย่างไร ไม่ต้องสอนเขา แค่ทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างจากของจริงก็เหลือแหล่แล้ว

2.. ทักษะการเข้าใจเห็นใจผู้อื่น (empathy) สอนให้รู้จักยอมรับคนรอบตัวเรา ยอมรับเขาตามที่เขาเป็น ขอบคุณ ให้อภัย ขอโทษ แผ่เมตตา และสอนให้รู้จักฟังคนอื่นเขาอย่างตั้งใจฟัง การสอนเมตตาธรรมก่อนเรื่องอื่นเป็นสิ่งที่เด็กยอมรับได้ง่าย เพราะมันเป็นธาตุแท้ในใจเขาอยู่แล้ว

3.. ทักษะรับมือกับความผิดหวัง (coping skill) ซึ่งต้องสอนกันในภาคปฏิบัติ เช่น

3.1 เมื่อหมาแมวหรือญาติผู้ใหญ่ตายก็สอนให้รู้จักความตายว่าเป็นปลายทางของทุกชีวิตไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ ได้แต่ยอมรับมัน

3.2 เมื่อพ่ายแพ้ในการแข่งขันก็สอนให้ยอมรับว่ากีฬามีแพ้มีชนะ แพ้ก็ดี ชนะก็ได้ สนุกได้ทั้งสองแบบ

3.3 เมื่อล้มเหลวในการสอบ หรือการเรียน หรือการทำงาน ก็สอนให้ยอมรับและมองว่าสำเร็จหรือล้มเหลวก็เป็นแค่คนละด้านของสิ่งเดียวกัน และสอนให้เรียนรู้แง่มุมใหม่ในชีวิตเอาจากความล้มเหลว

3.3 เมื่อทำอะไรแล้วเข้าภาวะคับขัน ก็สอนลูกเล่นเอาตัวรอดโดยไม่ตำหนิ จนเกิดความกล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ

3.4 เมื่อสิ่งรอบตัวไม่เป็นไปตามที่ตนเองอยากให้เป็นก็สอนให้ว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงของมันไปตลอดเวลาและเราไม่มีอำนาจไปควบคุมมัน หรือให้มันเป็นอย่างใจได้ดอก ได้แต่ยอมรับมัน

4.. เอาปัจจัยขัดขวางทักษะการรับมือออกทิ้งไป (coping blockage) เช่น

4.1 อย่าสร้างโลกเสมือนให้เด็กอยู่ หมายความว่าอย่าทำในบ้านให้ทุกอย่างมันง่ายไปหมดจะเอาอะไรก็มีคนประเคนให้ อย่าล้างจาน ซักผ้า ถูพื้น เทขยะแทนเขา หากเขาได้รับยกเว้นไม่ต้องทำจะเป็นการปลูกฝังให้เขาเป็นคน “ขี้ล้มเหลว” ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มทำงาน เพราะจับอะไรก็จะเป็นงานกระจอก ไม่ใช่ ไม่ชอบ ไปเสียหมด

4.2 อย่าช่วยแก้ปัญหาหรือตามเช็ดตามล้างผลงานความชุ่ยของเด็ก ให้เขารับหน้ากับผลงานชุ่ยๆของตัวเองและได้แก้ปัญหาที่ตัวเองก่อขึ้นด้วยฝีมือตัวเอง เช่นเด็กลืมเอาการบ้านไปโรงเรียนก็ไม่ต้องขับรถไปส่งให้ ให้เขารับหน้ากับการทำโทษของครูเอาเอง หากไปทำให้เขาเสียหมดในอนาคตเขาจะกลายเป็นคนที่เชื่อถือฝีมือไม่ได้ (unaccountable)

4.3 อย่าให้รางวัลหรือยกย่องเด็กมากเกินไป อย่าพร่ำพูดว่าเขาเป็นเด็กฉลาด อย่ายกย่องความสำเร็จจนสุดโต่ง อย่าปฏิเสธความล้มเหลวแบบทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เพราะจะบ่มให้เขาเป็นคนกลัวความล้มเหลว ควรหาโอกาสให้เขาได้ลิ้มรสความล้มเหลวอย่างเปิดเผยและยอมรับมากพอๆกับที่ได้ลิ้มรสความสำเร็จ

4.4 อย่าคาดหวังอะไรในตัวเด็กมากไปกว่าการจะให้เขารู้วิธีใช้ชีวิตอย่างไรให้ตัวเองมีความสุขและอยู่กับคนอื่นได้โดยไม่เป็นขยะหรือภาระให้สังคม ได้แค่นี้ก็ดีถมไปแล้ว อย่าบีบให้เขาวิ่งตามเกณฑ์ของสังคมให้ทันหรือให้ชนะคนอื่น หากเขาเรียนไม่สนุก ไม่ชอบโรงเรียน และอยากออก ให้เขาออกมาทำงาน หากเขาจบมัธยมแล้วไม่อยากเข้ามหาลัย ก็ไม่ต้องเข้า หากเขาจะอยู่บ้านเฉยๆโดยไม่มีอาชีพอะไรก็ให้เขาอยู่โดยมอบหมายงานบ้านให้ช่วยดูแล

4.5 อย่าสนองตอบต่อคำเรียกร้องเอาแต่ได้เอาแต่ใจแบบเด็กไม่รู้จักโต แม้จะรำคาญก็อย่าสนองตอบ ให้เพิกเฉยเสีย และเลือกสนองตอบและร่วมมือกับเขาเฉพาะเมื่อเขาเสนอขอความช่วยเหลืออย่างมีวุฒิภาวะเท่านั้น ต้องทำแบบนี้ตั้งแต่เขาเป็นเด็กตัวเล็กๆ อย่าปล่อยให้เขาเหลิงอำนาจที่จะบังคับพ่อแม่จนกู่ไม่กลับ และคอยหาโอกาสสะท้อนให้เขาเห็นอีโก้แห่งความเห็นแก่ตัวที่ครอบงำสามัญสำนึกของเขาอยู่เสมอๆ

5.. ชวนสำรวจโลกอย่างเป็นสิ่งมหัศจรรย์ (wonder) ท้าทายให้สำรวจค้นหาคำตอบ กล้าลองผิดลองถูก ใช้จินตนาการและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มองเห็นความงาม (aesthetic) ที่อยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง สนุกกับการเรียนรู้เติบโตทุกวัน ทำอะไรผิดพลาดไปก็ให้มันเป็นครู

6.. ทักษะรู้ความคิดและอารมณ์ของตัวเอง (self awareness) ฝึกสอนให้มองเห็นการสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบหุ่นยนต์ของตัวเอง และฝึกนิ่งเพื่อสะกดการสนองตอบแบบอัตโนมัติของหุ่นยนต์ตัวนี้ไว้ชั่วครู่เพื่อให้โอกาสสติได้เข้าไปกำกับการสนองตอบแทน ฝึกใช้เครื่องมือวางความคิดที่ใช้ง่ายๆ เช่นการยิ้มและผ่อนคลาย และฝึก mediation ในรูปแบบที่เหมาะสำหรับเด็ก เช่นการนั่งสังเกตธรรมชาติในความเงียบ

7.. อนัตตาภาคปฏิบัติ ชี้ให้เห็นโลกของความจริงคือ “ความรู้ตัว” ของเราที่สังเกตเห็นสิ่งต่างๆได้แบบต่อเนื่องโดยไม่พิพากษาถูกผิด กับโลกสมมุติที่เป็นการเล่นละครชีวิตโดยอัตตาหรืออีโก้ของเราเป็นตัวละครเอกมีชื่อมีภาษาและมีคอนเซ็พท์ชั่วดีเป็นบทให้เล่น สอนเด็กให้เล่นละครแบบ “อิน” พอประมาณ แต่ไม่อินมากเกินไป สอนให้ย้ายตัวตน (change identity) จากการเป็นดาราละครบนเวทีมาเป็นผู้ชมที่นั่งดูตัวเองเล่นเสียสักครึ่งหนึ่ง มีความสุขในชีวิตของตัวเองแบบอิสระชนที่ไม่ถูกกระทบโดยคำวิพากย์วิจารณ์ของคนอื่น แต่ก็อยู่กับคนอื่นเขาได้โดยไม่ถึงกับต้องขวางโลกหรือต่อต้านสังคม

ทั้งหมดนี้คือเจ็ดขั้นตอนของการสอนเด็กจากมุมมองของหมอสันต์ครับ ผมเองไม่ได้ใช้ทั้งเจ็ดขั้นตอนสอนลูกตัวเองตอนที่เขาเป็นเด็กดอก เพราะตอนนั้นชั่วโมงบินในชีวิตผมยังไม่มากเท่าตอนนี้ สำหรับคนที่เป็นพ่อแม่เด็กเล็กๆ ลองเอาเจ็ดขั้นตอนที่ผมสรุปได้จากประสบการณ์วัยแก่นี้ไปใช้ดูนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์