18 กรกฎาคม 2567

การตามดูอาการ ต้องดูที่แนวโน้ม (trend) อย่าดูวันต่อวัน

ภาพวันนี้ / รังแตน ไม่ได้แหย่ แค่ถ่ายรูป

สวัสดีครับอาจารย์

มาส่งการบ้านครับหลังจากปรับพฤติกรรมการกินใหม่ เข้าเดือนที่7แลัว ได้ไปเจาะเลือดตรวจ LDL ลดเหลือ 84 ยังไม่ถึงเป้าที่ตั้งใจคือต่ำกว่า70 ก็เป็นไปตามเหตุและผลของการกินครับ เหตุเพราะการทานอาหารนอกบ้านยังทานอาหารที่มีน้ำมัน และ อาหารที่มีส่วนผสมของไข่ อย่างบะหมี่ ก็พยายามปรับต่อไปครับ ส่วนเรื่องอาการเจ็บหน้าอก ดีขึ้นครับ เวลาไม่ออกแรงอะไรก็ไม่มีอาการ เวลาเชียร์ลูกชายแข่งบาส ถ้าลุ้นการแข่งขันจากเดิมเจ็บประะมาณระดับ5 ก็เหลือ ประมาณ 3  ส่วนอาการเจ็บหน้าอกเวลาออกกำลังกายด้วยการวิ่งสลับเดิน ตอนนี้อาการเจ็บลดลง ถ้าให้เดิมประมาณ 7 ก็ลดลง ราวๆ 6

ผมมีคำถาม 2 ข้อ ขออนุญาตถามอาจารย์ ครับ

1.. ควรงดทานไข่ขาว ด้วยหรือไม่ ตอนนี้พยายามเลี่ยง ถ้าจำไม่ผิดอาจารย์เคยบอกให้งดไข่ทั้งใบ แต่ลืมถามแยกในส่วนไข่ขาวว่ามีผลอย่างไร

2.. อาการเจ็บหน้าอกเวลาออกกำลังกายด้วยการวิ่งก่อนสลับเป็นเดินนั้น บางวันดีบางวันแย่  เช่นสัปดาห์ก่อน วันจันทร์ อังคาร พุธ เจ็บลดลง (ระดับ 6) พอมาวัน พฤหัส กลับมาเจ็บ ระดับ 7 วันศุกร์ เจ็บ ระดับ 8 (วันนั้นจะเดินมากกว่าวิ่ง)  พัก 2 วัน วันนี้วันจันทร์ ดีขึ้น เจ็บระดับ 6 เดือนที่แล้วผมเป็นโควิค อยู่บ้านรักษาตัวเองทานฟ้าทะลายโจร หยุดวิ่งราวๆสิบกว่าวัน วันแรกที่กลับมาวิ่ง เจ็บหน้าอกลดลงมาก ให้ระดับความเจ็บ 3 วันนั้นดีใจมากคิดว่าใกล้หายแล้ว  วันต่อมาก็เจ็บเพิ่ม เป็น 4,5,6 แล้วก็เจ็บเท่าเดิม  ทำไมอาการมันเป็นแบบนี้ครับ

ด้วยความเคารพรัก
…………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่ากินไข่ขาวไม่กินไข่แดงจะมีผลต่อโรคหลอดเลือดไหม ตอบว่ายังไม่มีหลักฐานแม้แต่ชิ้นเดียวนะครับที่บ่งชี้ว่าไข่ขาวจะเป็นภัยต่อโรคหลอดเลือดดังนั้นคุณอยากกินก็กินได้เลยครับ ต่างจากไข่แดงซึ่งมีหลักฐานอย่างน้อยก็อ้อมๆว่าเพิ่มความเสี่ยงของโรค (ไขมันในไข่แดงเพิ่ม LDL ในเลือด ซึ่งสัมพันธ์กับการเป็นโรคหลอดเลือด)

ข้อดีของไข่ขาวคือนอกจากมีโปรตีนแล้วมันยังมีวิตามินบี12 ซึ่งผู้กินมังสวิรัติมักจะขาด ดังนั้นในแง่ของสุขภาพผมเห็นว่าการคิดจะเป็นมนุษย์พันธ์ “มังกินไข่ขาว” ก็ไม่เลวนะ  

2.. ถามว่าทั้งๆที่ทำตัวดีแต่ทำไมบางวันอาการเจ็บหน้าอกดีขึ้นบางวันแย่ลง ตอบว่าในเชิงอาการวิทยา อาการผิดปกติของร่างกายทุกชนิดมีขึ้นๆลงๆรายวันโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยนี่มันเป็นธรรมดา ดังนั้นในการติดตามอาการเพื่อประเมินการดำเนินของโรคแพทย์จึงมักใช้วิธีไปดูที่แนวโน้ม (trend) ในกรอบเวลานับกันเป็นคราวละเดือนหรือหลายๆเดือน แทนที่จะดูอาการอย่างละเอียดแบบวันต่อวัน

สาเหตุที่อาการของโรคมีขึ้นๆลงๆในแต่ละวันเป็นเพราะปัจจัยที่มีผลต่ออาการในร่างกายมีเป็นร้อยปัจจัย โดยปัจจัยใหญ่ที่คนเราคิดไม่ถึงคือความเครียดหรือแม้กระทั่งความคิดของเราเอง คือเครียดทีหรือกลัวอะไรขึ้นมาทีก็จะเปลี่ยนสารเคมีในกระแสเลือดได้ราว 500-700 ตัว กลไกนี้มันไปผ่านการเปลี่ยนการแสดงออกของยีน (epigenetic) ไม่ได้เปลี่ยนตัวยีนนะ แค่เปลี่ยนการแสดงออกของยีนซึ่งเป็นเรื่องชั่วคราวแต่ก็ทำให้ร่างกายเป๋ได้ การเปลี่ยนนี้เป็นผลจากปฏิกริยาทางเคมีระหว่างโมเลกุลที่ถูกปล่อยออมาในกระแสเลือดโดยความเครียดกับโมเลกุล DNA ซึ่งคุมระหัสพันธุกรรมในยีน ดังนั้นในการจัดการโรคเรื้อรังทุกโรคไม่ว่าโรคอะไร ให้ถือเอาการจัดการความเครียดหรือการวางความคิดเป็นเครื่องมือหลักในการจัดการโรคร่วมไปด้วยเสมอ

3.. ถามว่าการเป็นโควิดจะทำให้อาการขึ้นๆลงๆคาดเดาไม่ได้ ได้หรือไหม ตอบว่าได้แน่นอนครับ เพราะสำหรับวิชาแพทย์ ณ วันนี้ อาการทุกอย่างอธิบายได้ด้วยโควิด ไม่ด้วยโควิดสั้นก็ด้วยโควิดยาว ถ้าเป็นโควิดยาวจะทำให้มีอาการค้างคาไปได้นานเป็นปี นี่ไม่นับเฉพาะคนเป็นโควิดมานะ ข้อมูลวิจัยที่เผยแพร่โดยศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) พบว่าถึงไม่เคยเป็นโควิดมาเลยแต่หากมีอาการประหลาดๆเกิดขึ้นในยุคสมัยที่โควิดระบาด ก็เอาการที่ได้อยู่ในยุคสมัยโควิดไปอธิบายอาการประหลาดๆที่เกิดกับร่างกายได้ด้วย นี่..มันเป็นยังงี้ซะด้วยซิคะท่านสารวัตร ดังนั้นอย่าเพิ่งไปคิดทำการรักษาโรคเรื้อรังใดๆด้วยวิธีการรุกล้ำรุนแรงในยุคสมัยของโควิด รอให้ยุคโควิดมันผ่านไปก่อนแล้วค่อยว่ากัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์