แลมเบิร์ต กับการเปลี่ยน identity (สำนึกว่าเป็นบุคคล)
ฝนยังอ้อยอิ่งเหมือนไม่อยากจากไปไหน แต่ลมหนาวอันเยือกเย็นก็มาเยือนมวกเหล็กเรียบร้อยแล้ว อากาศหนาวอย่างนี้ ขณะที่สองตายายนั่งดื่มกาแฟกินอาหารมื้อเช้ากันที่ริมสวนดอกไม้หน้าบ้านมวกเหล็ก มองดูวิวกว้างๆเย็นๆเทาๆ แล้วเพลงซิมโฟนี่เก่าๆเพลงหนึ่งก็ดังแว่วขึ้นมาในหู
"..Lambert
You can't even baa
You can't even bleat
Your ears are too big
And so are your feet.."
"..แลมเบิร์ต
แกร้องแอ้ก็ไม่ได้
ร้องแอ๊ะก็ไม่ได้
หูแกก็ใหญ่เกินไป
แถมตีนก็ใหญ่เบ๊อะบ๊ะด้วย.."
มันเป็นเพลงซิมโฟนี่รุ่นเก่าชื่อ Lambert the Sheepish Lion ที่ผมฟังเป็นเพื่อนหมอพอซ้ำซากตั้งแต่ตอนเขาอายุสามขวบโน่นแล้ว เพลงนี้เนื้อหามีอยู่ว่าวันหนึ่งนกกระสาซึ่งมีหน้าเป็นบุรุษไปรษณีย์เอาลูกสัตว์ไปส่งให้บรรดาแม่ๆทั้งหลาย แต่ดันนำส่งพัศดุผิดที่ คือเอาลูกสิงโตไปส่งให้แม่แกะเพราะป้ายหน้าห่อพัศดุเขียนว่า Lambert ซึ่งเป็นชื่อลูกสิงห์โตแต่นกกระสาไปอ่านว่าเป็น Lamb จึงนึกว่าเป็นลูกแกะ พอรู้ว่าผิดจะไปเอาคืนแต่ถูกแม่แกะซึ่งหลงรักแลมเบิร์ตเสียแล้วไม่ยอมให้คืนแถมไล่เอาหัวชนก้นนกกระสาจนบาดเจ็บต้องเอามือคลำก้นตัวเองป้อยๆบินหนีไปและปล่อยเลยตามเลย แลมเบิร์ตจึงเติบโตแบบลูกแกะในฝูงแกะและเป็นที่ล้อเลียนของเพื่อนๆดังเนื้อเพลงซิมโฟนี่ข้างต้น แต่วันหนึ่งหมาป่ามาไล่แกะในฝูงแตกกระเจิงและไล่จะกินแม่ของแลมเบิร์ต แลมเบิร์ตทั้งที่กลัวแต่ด้วยความรักแม่จึงกลั้นใจวิ่งเอาหัวชนหมาป่าตกเหวไป กลายเป็นฮีโร่ของฝูงแกะนับตั้งแต่นั้น นั่นคือเนื้อหาทั้งหมดของเพลงนี้
ผมเล่าเรื่องนี้เพื่อจะอธิบายคำหนึ่ง ซึ่งเป็นคำสำคัญ แต่หาคำในภาษาไทยอธิบายไม่ได้ เพราะภาษาไทยของเรานี้ใช้อธิบายอารมณ์ความรู้สึกต่างๆในชีวิตประจำวันของผู้คนได้ดีมาก แต่ไม่ค่อยศัพท์แสงใดๆที่จะใช้อธิบายนามธรรมบางอย่างที่แม้จะมีอยู่ในชีวิตจริงแต่วิธีชีวิตคนทั่วไปไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัสรับรู้ บ่อยครั้งผมจึงต้องไปใช้ภาษาอังกฤษแทนเพราะผมเองก็รู้อยู่แค่สองภาษา ผมเล่าเรื่องแลมเบิร์ตเพื่อจะอธิบายคำว่า identity ซึ่งภาษาไทยคำที่เข้าใจง่ายหน่อยน่าจะเป็นคำว่า "องค์" หรือ "ตัวตน" แต่คำที่ความหมายใกล้เคียงที่สุดเป็นคำพูดของครูฮินดู(คนไทย) ที่ผมเชิญมาสอนที่เวลเนสวีแคร์ซึ่งเธอใช้คำว่า "สำนึกว่าเป็นบุคคล" ผมชอบคำนี้มาก แต่ว่ามันยาวไปพูดแล้วคนไม่รอฟังจนจบเลยไม่เก็ท ก็เลยต้องพึ่งภาษาอังกฤษว่า identity ไปก่อน
แลมเบิร์ตเติบโตในฝูงแกะอย่างลูกแกะตัวหนึ่ง ร้องแอ้ แอ้ อย่างแกะ เอาหัวชนกันเล่นอย่างแกะ และเล็มหญ้ากินเป็นอาหารอย่างแกะ ทำให้เขาสำคัญมั่นหมายว่าเขามี identity เป็นแกะ เพราะ identity เกิดขึ้นมาจากวงจรการสนองตอบอัตโนมัติที่ผูกขึ้นจากประสบการณ์ซ้ำซากกลายเป็นวงจรสนองตอบ (คิดพูดทำ) แบบย้ำคิดย้ำทำหรือ compulsiveness กลายเป็นชุดความคิด (concept) ที่ลงตัวว่านี่คือตัวตนของฉัน
ครูของผมซึ่งเป็นโยคีอินเดึยเคยเล่าให้ผมฟังนิทานอินเดียซึ่งผมขอตั้งชื่อเรื่องให้ว่า "แลมเบิร์ตภาคสอง" ก็แล้วกัน เรื่องมีอยู่ว่าลูกสิงห์โตพลัดแม่ไปอยู่ในความอุปถัมภ์เลี้ยงดูของแม่แกะและโตขึ้นมาในฝูงแกะจนเป็นหนุ่มซึ่งผมขอเรียกว่าแลมเบิร์ตเพื่อความง่าย วันหนึ่งสิงห์โตตัวเมียผ่านมาเห็นสิงห์โตมังสวิรัติหนุ่มรูปหล่อก็อยากมาแต๊ะอั๋งจึงออกจากป่ามาหา พวกฝูงแกะเห็นสิงห์โตก็กลัวพากันวิ่งหนีแตกกระเจิง แลมเบิร์ตซึ่งเป็นแกะก็กลัวและวิ่งหนีหัวซุกหัวซุนด้วย สิงห์โตสาวก็วิ่งตามแลมเบิร์ตไปจนแลมเบิร์ตไปจนตรอกที่ริมสระมรกตซึ่งเป็นสระหินตลิ่งสูงมีน้ำใส แลมเบิร์ตว่ายน้ำไม่เป็นและกลัวความสูงอีกต่างหากจึงไปต่อไม่ได้ ได้แต่หันหน้ามาอ้อนวอนสิงห์โตสาวด้วยความสั่นกลัว เพราะแกะสนองตอบต่อสิ่งที่ตัวเองหนีไม่พ้นด้วยวิธีเดียว คือ..กลัว
"อย่ากินผมเลย ผมกลัวแล้ว" สิงห์โตสาวอมยิ้มแล้วว่า
"ฉันจะไปกินคุณได้อย่างไร" แลมเบิร์ตอ้าปากงง
"อ้าว ก็สิงห์โตต้องกินแกะไม่ใช่หรือ" สิงห์โตสาวตอบว่า
"ใช่ แต่คุณไม่ได้เป็นแกะ คุณเป็นสิงห์โต" คราวนี้แลมเบิร์ตแผดเสียงลั่น
"บ้า...อย่ามาหลอกผมเลย จะกินก็กินๆซะ ทำไม่ต้องหลอกกันให้ตายใจก่อนด้วย"
เล่ามาถึงตรงนี้ผมขอสรุปประเด็นก่อนนะว่า identity เป็นความสำคัญมั่นหมายที่แน่นหนา การจะมาบอกให้ใครก็ตามเลิกสำคัญมั่นหมายใน identity ของตัวเองด้วยคำพูดนั้น มันเป็นไปไม่ได้ นี่เป็นประเด็นที่ 1.
สิงห์โตสาวจึงพิสูจน์ให้แลมเบิร์ตเห็น ด้วยการพาเขาไปชะโงกที่ชะง่อนหินที่ยื่นเข้าไปในสระมรกต ว่า
"ดูซะ เงาของเจ้าที่ข้างล่างนั่น เป็นเงาของสิงห์โต หรือเงาของแกะ"
แลมเบิร์ต เพ่งพินิจดูก็เห็นจริงตามหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าตัวเองเป็นสิงห์โต พอหันกลับมาจะขอบคุณผู้ชี้แนะก็พบว่าเธอไปเสียแล้ว เข้าใจว่าคงจะไม่ปิ๊งเมื่อเห็นว่าแลมเบิร์ตซื่อบื้อมากกว่าที่เธอคิด แลมเบิร์ตจึงเกิด identity ใหม่เป็นสิงห์โต ตัดสินใจไม่ไปตามหาฝูงแกะแล้ว เลิกกลัวนั่นกลัวนี่เพราะตัวเองเป็นสิงห์โตแล้วไม่ต้องกลัวอะไร ไปนอนตัวเดียวอยู่ที่ปากถ้ำสบายใจเฉิบ
พอรุ่งเช้า ตื่นขึ้น แลมเบิร์ตได้ยินเสียงแอ้ แอ้ ลืมตาก็เห็นฝูงแกะของตัวเองเล็มหญ้ากันอยู่ข้างล่าง แลมเบิร์ตก็ผลุนผลันวิ่งลงไปทักทายเพื่อนๆ แอ้ แอ้ และเล่นหัวชนกันและเล็มหญ้ากับพวกเขาอย่างเคยต่อไปวันแล้ววันเล่า
เล่ามาถึงตอนนี้ผมขอแวะสรุปประเด็นหน่อย ว่าการจะให้ใครเปลี่ยน identity ด้วยการแสดงให้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์หรือตรรกะของเหตุและผลที่ถูกต้องไม่มีที่ตินั้น มันเวิร์คเพียงแป๊บเดียว เพราะกลไกการย้ำคิดย้ำทำหรือ compulsiveness ที่บอกเขาว่าเขาเป็น identity เก่านั้นมันฝังลึกและวนกลับมาตอกย้ำเขาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจนเขาไม่มีโอกาสแม้แต่จะคิดทบทวนว่าเขาไม่ใช่ identity นี้ นี่เป็นประเด็นที่ 2.
แลมเบิร์ตเล็มหญ้าอย่างมีความสุข วันหนึ่งก็คิดขึ้นได้ว่าเอ๊ะ เราเป็นสิงห์โตนะ ไม่ใช่แกะ คิดได้ก็ปลีกตัวหนีไปนอนปากถ้ำ ตื่นเช้ามาได้ยินเสียงเพื่อนๆก็เผลอลงมาเป็นแกะเล่นกับเพื่อนๆอีก แล้วก็เอ๊ะอีก ต้องวิ่งขึ้นวิ่งลงเดี๋ยวเป็นสิงห์โตเดี๋ยวเป็นแกะ ขณะที่สงสัยอยู่นั้นก็ตัดสินใจไปชะโงกดูเงาตัวเองที่สระมรกต ก็เห็นเงาของสิงห์โต แต่ความคิดก็โต้แย้งว่าเฮ้ย นั่นไม่ใช่เอ็ง เอ็งโดนเงามันหลอก เอ็งเป็นแกะจำไม่ได้หรือ เมื่อกี้ยังเล่นกับเพื่อนๆอยู่เลย สรุปว่าแลมเบิร์ตไม่รู้ตัวเองเป็นอะไรกันแน่ และเป็นทุกข์เพราะตกอยู่ในความลังเลสงสัย (doubt)
เล่ามาถึงตรงนี้ผมขอสรุปประเด็นอีกหน่อยว่าความพยายามที่จะเปลี่ยน identity ของตัวเองด้วยความคิดหรือในบรรยากาศที่มีความคิดนั้น ผลที่ได้ไม่ใช่ว่าจะได้ identity ใหม่นะ แต่จะได้ความลังเลสงสัยซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์บ่อที่สองขึ้นมาบวกกับความทุกข์จากบ่อที่หนึ่งคือความยึดติดในองค์เดิม นั่นเป็นประเด็นที่ 3.
แลมเบิร์ตหมดอาลัยในชีวิตเพราะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร กลุ้มใจไม่กินอะไรจนผ่ายผอม หมดแรงคิดอะไร ได้แต่นั่งนิ่งๆอยู่ในถ้ำ แหะ แหะ แลมเบิร์ตกำลังนั่งสมาธิ ยามที่ความคิดหมดเกลี้ยงเหลืออยู่แต่ความรู้ตัว แลมเบิร์ตกระย่อยกระแย่งไปสระมรกต ชะโงกดูเงาของตัวเอง ยามนี้ไม่มีความคิดมาต่อแยหรือปลุกปั่น แลมเบิร์ตเพ่งพินิจพิจารณาให้เห็นตามที่มันเป็นอยู่ตรงหน้า จึงได้รู้ว่าแท้จริงแล้วตัวเองเป็นสิงห์โต
เล่ามาถึงตรงนี้ผมขอสรุปประเด็นอีกนะ ว่าการจะเพ่งพินิจพิจารณาหรือที่ภาษาอังกฤษว่า contemplation (คำนี้คนชอบภาษาบาลีบ้างก็ใช้คำว่าวิปัสนา) ว่าอะไรเป็น identity ที่แท้จริงของเรานั้น มันไม่เวอร์คดอกถ้ามีความคิด ดังนั้นหากในหัวยังมีความคิดอย่าไปนั่งวิปัสนาให้ยาก แต่มันจะเวิร์คหรือจะเห็นตามที่มันเป็นเมื่อไม่มีความคิด หรือเมื่อใจอยู่ในภาวะสมาธิ (meditative) เสียก่อน นี่เป็นประเด็นที่ 4.
แลมเบิร์ตสบายใจกลับมานอนในถ้ำ พอรุ่งเช้าได้ยินเสียงแอ้ แอ้ ของเพื่อนๆอีก แลมเบิร์ตก็ขยับจะลงไปเล็มหญ้ากับเพื่อนๆอีกแต่ก็มีลูกขัดขึ้นมาในใจว่าเอ๊ะ ไม่ใช่นะ ฉันเป็นสิงห์โต ไม่ใช่แกะ แล้วก็รีบจ้ำอ้าวไปที่สระมรกตเพื่อชะโงกดูเงาของตัวเองซ้ำอีก ทุกเช้าแลมเบิร์ตจะต่อสู้กับความรู้สึกเร่งเร้าภายใน (compulsiveness) ที่จะไปเป็นแกะเล็มหญ้ากับเพื่อนๆ ด้วยการไปชะโงกดูเงาตัวเองในสระมรกตแทน ทำเช่นนี้อยู่หลายเดือน จนแรงเร่งเร้าที่จะกลับไปเป็นแกะนั้นอ่อนกำลังลง และสำนึกว่าตัวเองเป็นสิงห์โตนั้นเพิ่มกำลังขึ้น จนในที่สุดแลมเบิร์ตก็กลายเป็นสิงห์โตที่สมบูรณ์แบบ
เล่ามาถึงตรงนี้ผมขอสรุปเป็นประเด็นสุดท้ายว่าในการจะหลุดพ้นจากกรงของสำนึกว่าเป็นบุคคลนั้นไม่ใช่ว่ารู้ มั่นใจ เข้าใจอย่างถึงกึ๋นแล้วมันจะ พลั้วะ หลุดพ้นทันทีในเกียร์เดียว ไม่ใช่อย่างนั้น มันยังต้องมีการ contemplate หรือพิจารณาให้ "เห็นตามที่มันเป็น" อยู่เนืองๆซ้ำๆซากๆจนความคิดความจำที่ผูกเป็นกลไกย้ำคิดย้ำทำเดิมๆนั้นหมดกำลังลง มันจึงจะหลุดพ้นได้จริง นี่เป็นประเด็นที่ 5.
เอวัง นิทานเรื่องแลมเบิร์ต The Sheepish Lion ฉบับวอลท์ดิสนีย์บวกโยคีอินเดียก็จบลงด้วยประการฉะนี้ นิทานเรื่องนี่สอนให้รู้ว่า ที่สาธุชนทั้งหลายคิดจะทิ้ง identity ว่าร่างกายนี้และความคิดนี้ไม่ใช่เรา ไปหา identity ใหม่ว่าเราคือความรู้ตัวอันเป็นสภาวะที่สงบเย็นและเบิกบานนั้น ขอให้ศึกษาเส้นทางเดินเอาจากแลมเบิร์ตผู้เป็นเสมือนศิษย์ผู้พี่ให้ดีก่อนเทอญ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์