หมอสันต์ให้สัมภาษณ์สื่อเรื่องหลักประกันการเจ็บป่วยวัยเกษียณ


(
ดอกหงอนนาค ที่ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งผมเพิ่งแวะไปเที่ยวโดยเปลี่ยนเส้นทางขับรถจากมวกเหล็กกลับบ้านกรุงเทพฯ คือแทนที่จะกลับทางสระบุรีก็ขับอ้อมเขาใหญ่ไปทางกบินทร์บุรี 

     จากนี้ไปผมจำเป็นต้องแปะภาพนำทุกบทความ เนื่องจากแฟนที่อ่านทางเฟซบุ้คบ่นว่าป้ายหัวเรื่องที่ไม่มีรูปภาพจะมีปื้นดำอันน่าเกลียดของเฟซบุ้คปิดทับไว้ ผมจึงแก้โดยแปะภาพไว้กับทุกบทความ เกี่ยวไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความก็ขอแปะไว้ก่อน) 

.............................................

     เมื่อวันสองวันมานี้มีสื่อมาขอสัมภาษณ์บันทึกเทปที่มวกเหล็ก เนื้อหาอาจจะมีประโยชน์สำหรับแฟนบล็อกที่เป็นผู้เกษียณ ผมตัดเอามาลงให้อ่าน

ผู้สัมภาษณ์

     การเตรียมความพร้อมในการสร้างหลักประกันเรื่องการรักษาเมื่อสูงอายุ สำคัญแค่ไหน

นพ.สันต์ 

    ความรู้สึกว่าไม่มั่นคง หรือ insecurity มันมีอยู่ที่เดียว คือในใจของเรา เพราะเราไม่ยอมรับว่าสิ่งภายนอกตัวของเราไม่มีอะไรที่เราคุมได้ เราจึงรู้สึกว่าเราไม่มั่นคงหรือมีความเสี่ยงตลอดเวลา แต่ถ้าเรายอมรับว่าเรื่องนอกตัวเราไม่มีอะไรที่เราคุมได้ เราก็จะยอมรับอะไรก็ตามที่จะมาเซอร์ไพรส์เราทุกรูปแบบได้หมด เมื่อยอมรับได้ ชีวิตก็จะไม่ใช่ความเสี่ยง แต่เป็นความท้าทายและการผจญภัยที่น่าตื่นเต้น นี่เป็นเรื่องใหญ่สุดที่ต้องทำให้ได้ก่อน คือการยอมรับว่าเราคุมอะไรไม่ได้

     เมื่อตีวงแคบลงมาเรื่องการลดความเสี่ยงด้านสุขภาพและการเจ็บป่วย ผมแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือการดูแลตัวเอง คือเมื่อยังไม่ป่วยก็ปรับวิธีใช้ชีวิตการกินการอยู่ไม่ให้ตัวเองป่วย เมื่อป่วยแล้วก็ปรับวิธีใช้ชีวิตให้ตัวเองหายป่วย ส่วนนี้สำคัญที่สุด ส่วนที่สองคือการสร้างหลักประกันหรือซื้อประกัน ส่วนนี้ไม่สำคัญเลยถ้าเป็นคนไทย เพราะคนไทยมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แล้วทุกคน

ผู้สัมภาษณ์

     ปัจจุบันคนไทยมีหลักประกันสุขภาพและเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมได้อย่างพอเพียงแล้วหรือยัง

นพ.สันต์

     ความพอเพียงที่ว่านี้ในทางการแพทย์วัดจากตัวชี้วัดสองตัวนะ คือ (1) ความยืนยาวของชีวิต หรืออัตราตาย และ (2) คุณภาพชีวิต ซึ่งวัดกันแบบโรคต่อโรคด้วย คนต่อคนด้วย ระบบสามสิบบาททำได้ดีพอเพียงแล้วแน่นอนเต็มที่เท่าที่ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ปัจจุบันจะเอื้อให้ทำได้ มากเกินพอดีไปในบางจุดด้วยซ้ำไป ถ้าเป็นคนไทยนะ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพฟรี คือระบบสามสิบบาท ขอบคุณนักการเมืองในอดีตที่หาญกล้าตัดสินใจให้ระบบนี้เกิดขึ้นมา แม้แต่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาก็ยังตามหลังห่างไทยหลายชั้นหลายสิบปีกว่าจะทำได้แบบนี้

ผู้สัมภาษณ์

     ถ้าจะต้องฝากชีวิตเมื่อสูงอายุไว้กับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ระบบนี้มันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

นพ.สันต์

     ข้อดีของระบบสามสิบบาทก็คือ 

     (1) ฟรีหมด 

     (2) มีเครือข่ายที่ใหญ่ทั้งทางกว้างและทางลึก มีการส่งต่อกันไปจนถึงระดับการรักษาที่ซับซ้อนที่สุด แพงที่สุดก็ให้ได้ และเป็นระบบที่มีส่วนส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและการฟื้นฟูสมรรถนะในรูปแบบของรพ.สต.ซึ่งอยู่ใกล้บ้านด้วย ผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือทุพลภาพสามารถรับบริการฟรีทั้งๆที่อยู่ที่บ้านตัวเองได้

      ข้อเสียของระบบ 30 บาท นี่ว่ากันตามสายตาของผมนะ 

     (1) ข้อเสียที่ใหญ่มากคือทั้งระบบกำลังมุ่งหน้าไปผิดทาง คือมุ่งไปรักษาโรคเรื้อรังด้วยเทคโนโลยีและยา ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่าวิธีนั้นไม่ได้ทำให้โรคหาย แต่การส่งเสริมสุขภาพสอนให้คนเปลี่ยนวิธีกินอาหารวิธีใช้ชีวิตกลับไม่ได้ทุ่มเทลงทุนทำอย่างจริงจังเลย ทำให้คนป่วยโรคเรื้อรังไปออกันอยู่ที่โรงพยาบาลเพราะระบบทำให้เข้าใจผิดว่าจะรักษาให้หายได้ 

     (2) เมื่อวางระบบไปให้ความสำคัญกับการรักษา ลูกค้าคือประชาชนก็เฮโลตามไป ทำให้โรงพยาบาลแน่นขนัดไปด้วยคนที่ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล คือประมาณ 80% ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลเลย พอแน่นบรรยากาศก็ไม่น่ารื่นรมย์ ทำให้เกิดทุกข์ทั้งฝ่ายผู้ป่วย และฝ่ายแพทย์และพยาบาล

ผู้สัมภาษณ์

     ในแง่ของความมั่นคงในอนาคต ระบบสามสิบบาทจะมั่นคงแค่ไหน

นพ.สันต์

     มั่นคงมากตราบใดที่รัฐบาลยังเป็นคนไทย ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ระบบสามสิบบาทก็ยังมั่นคงอยู่ได้ เพราะมันกลายเป็นระบบที่จำเป็นของผู้คนไปเสียแล้ว ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าเลิก แต่เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลเป็นคนต่างชาติ ผมหมายความว่าประเทศแพ้สงครามถูกต่างชาติมาควบคุม เมื่อนั้นระบบสามสิบบาทก็จะถูกรื้อทิ้ง

ผู้สัมภาษณ์

     แล้วระบบประกันสังคมละ มันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

นพ.สันต์

     ข้อดีของระบบประกันสังคมก็คือมันเลือกโรงพยาบาลเอกชนได้ ซึ่งมีความแน่นขนัดลดลง ความน่ารื่นรมย์ขณะรับบริการก็จะมากกว่าหน่อย

     ข้อเสียก็คือมันเป็นระบบเล็ก ผมหมายถึงว่ากองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนใหญ่แต่แบ่งเป็นระบบย่อยๆเล็กๆที่ประกอบขึ้นจากสามส่วนคือ กองทุน ผู้ประกันตน และโรงพยาบาล contractor ตรงที่ว่าเล็กก็คือโรงพยาบาล contractor นี่แหละ บางแห่งมีเตียงร้อยกว่าเตียงก็ประกอบขึ้นเป็นหนึ่งระบบได้แล้ว เมื่อระบบเล็กก็จะมีความยืดหยุ่นน้อย จริงอยู่มีการส่งต่อผู้ป่วยยากๆออกไปรับการรักษานอกระบบแล้วโรงพยาบาล contractor ตามไปจ่ายเงินให้สามารถทำได้ แต่มันเป็นการส่งออกไปยังคนละระบบกัน มันมีความไม่ลื่นไหลอยู่ 

     และเมื่อระบบมันเล็กและไม่เสถียร ก็ไม่มีใครกล้าลงทุนด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค คือระบบประกันสังคมตามทฤษฎีโรงพยาบาลที่ลงทุนด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมากที่สุดจะได้กำไรมากที่สุดในระยะยาวเพราะผู้ประกันตนในสังกัดของตัวเองจะป่วยน้อยทำให้เงินกำไรเหลือมาก แต่พอระบบมันเล็กและไม่เสถียร ปีนี้มีจำนวนหัวผู้ประกันตนมากก็ได้กำไรดี แต่ปีหน้าไม่รู้จะลุ้นมาได้กี่หัว จึงไม่มีใครกล้าลงทุน ก็เท่ากับว่าระบบทำแต่การรักษาโรคซึ่งไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพผู้คน   

ผู้สัมภาษณ์

     แล้วความมั่นคงของระบบประกันสังคมในอนาคต จะมั่นคงแค่ไหน

นพ.สันต์

     ระบบประกันสังคมนี่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพนะ ถ้าระบบเจ๊งรัฐบาลก็ต้องรับดูแลสุขภาพให้ภายใต้กฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่ดี ก็คือเจ๊งก็เทมาเข้าระบบสามสิบบาท เพราะคนไทยทุกคนมีสิทธิสามสิบบาทอยู่แล้ว ดังนั้นในส่วนของการประกันสุขภาพไม่มีอะไรต้องห่วงเลย แต่จุดเด่นของระบบประกันสังคมไม่ได้อยู่ที่การประกันสุขภาพ แต่อยู่ที่บำนาญ เพราะค่าใช้จ่ายหลักของกองทุนประกันสังคมไม่ใช่เป็นค่ารักษาพยาบาล แต่เป็นเบี้ยบำนาญ ในส่วนของบำนาญนี้จะไปได้นานแค่ไหนต้องมีลุ้น เท่าที่ดูตัวเลขน่าจะไปได้ราวสามสิบปี คือเราเริ่มจ่ายบำนาญในปี พ.ศ. 2557 ปีแรกก็มีคนรับบำนาญราว 1.3 แสนคน จ่ายเงินไป 4,700 ล้านบาท คำนวณแบบง่ายๆพอไปถึงปี 2587 เงินออก (20% ของค่าจ้าง 60 เดือนสุดท้าย) ก็จะเริ่มมากกว่าเงินเข้า (ฝ่ายละ 3%ของค่าจ้าง) แต่ตามกฎหมายรัฐบาลจะเบี้ยวบำนาญไม่ได้ ทางแก้ก็เหลืออยู่สองทางคือชวนให้ผู้ประกันตนทำงานต่อไปอีกอย่าเพิ่งเกษียณ หรือชวนให้ส่งประกันตัวเองต่อไปเพื่อจะได้เสียเบี้ยประกันต่อไปอีกโดยยังไม่ได้สิทธิรับบำนาญ เอาเป็นว่าส่วนประกันสุขภาพนั้นมั่นคงแน่ แต่ส่วนบำนาญนั้นมีลุ้น   

ผู้สัมภาษณ์

     แล้วสิทธิสวัสดิการข้าราชการละ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพราะทุกวันนี้แม้คนรุ่นใหม่ก็ยังอยากรับราชการเพราะเข้าใจว่าจะได้สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลที่ดีกว่า ยังเป็นความจริงอยู่หรือเปล่า

นพ.สันต์

     เมื่อเราพูดถึงสิทธิสวัสดิการราชการ เราหมายถึงข้าราชการที่เข้าระบบมาแล้วเท่านั้นนะ พวกที่เข้ามาใหม่ส่วนใหญ่จะไม่ได้เป็นข้าราชการแล้ว เขาเรียกว่าเป็นพนักงานของรัฐหรือไงเนี่ยแหละ ในแง่ของสวัสดิการการรักษาพยาบาล มีข้อดีข้อเสียเหมือนระบบสามสิบบาททุกอย่างเพราะเป็นของรัฐบาลเหมือนกัน มีความมั่นคงเท่ากัน คุณภาพเท่ากัน คือใช้ผู้ให้บริการ (provider) เดียวกัน อันได้แก่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข สวัสดิการราชการมีข้อดีเพิ่มมากกว่าอย่างหนึ่งคือมีสิทธิเบิกค่าห้องพิเศษได้ แม้จะไม่ได้เต็มก็ได้เป็นส่วนใหญ่ 

     ส่วนข้อเสียของสวัสดิการรักษาพยาบาลของราชการก็เหมือนกับสามสิบบาทคือมันใช้โรงพยาบาลเอกชนไม่ได้ ใช้ได้ก็เบิกได้น้อยมาก ทำให้ต้องใช้แต่รพ.ของรัฐ ซึ่งมีความแน่นขนัดมากกว่า

     ข้อดีที่โดดเด่นของสวัสดิการข้าราชการไม่ใช่อยู่ที่สิทธิรักษาพยาบาลเพราะนั่นสามสิบบาทก็ได้รับเหมือนกัน แต่ข้อโดดเด่นของเขาอยู่ที่บำนาญ ซึ่งจ่ายมากอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง เทียบกับระบบประกันสังคม บำนาญของราชการจ่ายเป็นเนื้อเป็นหนังมากกว่าหลายเท่า

ผู้สัมภาษณ์

     ถ้าแก่ตัวไป แค่หวังพึ่งแค่สิทธิ์ข้าราชการในการดูแลสุขภาพจะเพียงพอไหม

นพ.สันต์

     เพียงพอแน่นอน ทั้งสวัสดิการราชการ สามสิบบาท ประกันสังคม อย่างใดอย่างหนึ่งก็เพียงพอแน่นอน

ผู้สัมภาษณ์

     แล้วการประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันชีวิตละ จำเป็นไหม 

นพ.สันต์

     ผมแยกเป็นสองส่วนนะ ส่วนที่หนึ่ง คือการประกันชีวิตอาจจะมีประโยชน์หรืออาจจะถือว่าจำเป็นสำหรับผู้ทำหน้าที่เป็นกำลังหลักหาเงินเลี้ยงคนอื่น หากปุบปับตายไปคนอื่นเช่นลูกๆก็จะเดือดร้อน 

     ส่วนที่สองคือการประกันสุขภาพ ตอบว่าไม่จำเป็นเลยครับ เพราะคนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพที่ไม่จำกัดเพดานค่าใช้จ่ายอยู่แล้วซึ่งไม่มีระบบประกันสุขภาพเอกชนระบบไหนทำได้ถึงขนาดนี้ แต่ถ้าคุณมีเงินจ่ายเบี้ย การมีประกันสุขภาพส่วนตัวก็อาจจะเท่กว่าไม่มี เพราะจะได้ใช้โรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีความแน่นน้อยกว่า จ่ายค่าห้องพิเศษได้ในวงเงินมากกว่า เป็นต้น

     ข้อเสียของการประกันสุขภาพเอกชน ที่แน่ๆก็คือเสียเงิน แถมยังมีข้อพึงระวังในเรื่องกฎเกณฑ์ที่บริษัทประกันจะได้รับการงดเว้นไม่ต้องจ่ายสินไหมให้ผู้ซื้อกรมธรรมซึ่งมีแยะมากหากไม่ดูให้ดีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีหลักฐานว่าคุณเจ็บป่วยก่อนที่จะมาซื้อประกัน ซึ่งหลักฐานนั้นบางครั้งเกิดขึ้นเพราะคุณขยันไปตรวจเช็คร่างกายมากเกินความจำเป็น เช่นไม่ได้เป็นโรคหัวใจแต่ไปตรวจแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ ก็กลายเป็นหลักฐานให้ตีความได้ว่าคุณเป็นโรคหัวใจมาก่อนแล้ว ตีความถูกตีความผิดอีกเรื่องหนึ่ง แต่มันถูกใช้เป็นข้ออ้างปฏิเสธการจ่ายสินไหมไว้ก่อนได้ จนกว่าศาลจะบังคับให้จ่าย นี่เป็นข้อพึงระวัง คือหากคิดจะซื้อประกันสุขภาพเอกชน อย่าเที่ยวตรวจอะไรเปะปะโดยไม่จำเป็น เพราะผลการตรวจนั้นอาจถูกใช้เป็นหลักฐานระงับการจ่ายสินไหมในอนาคต

ผู้สัมภาษณ์

     การเตรียมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไว้ก่อนการเจ็บป่วยสำคัญแค่ไหน

นพ.สันต์

     ที่สำคัญที่สุดไม่ใช่การเตรียมเงินไว้รักษาตัวเองยามเจ็บป่วย เพราะเมืองไทยรักษาฟรี ไม่จำเป็นต้องเตรียมเงิน แต่ที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตเพื่อไม่ให้ตัวเองป่วยเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ซึ่งมีประเด็นสำคัญอยู่ที่ 

     (1) เปลี่ยนอาหารจากกินเนื้อสัตว์และไขมันจากสัตว์มากมากินพืชผักผลไม้ให้มากแทน 

     (2) ออกกำลังกาย ซึ่งการเป็นผู้สูงอายุต้องออกกำลังกายมากกว่าคนอายุน้อย ต้องออกทั้งแบบแอโรบิกให้หนักพอควรคือจนหอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้ แล้วยังต้องเล่นกล้าม และต้องฝึกการทรงตัวด้วย 

     (3) จัดการความเครียดให้ดี ฝึกวางความคิด ดูแลการนอนหลับให้ดีด้วย ปฏิบัติตนตามสุขศาสตร์การนอนหลับ เพราะแก่ตัวแล้วถ้านอนไม่หลับก็จะนำไปสู่โรคอื่นเช่นโรคสมองเสื่อมซึ่งเป็นเรื่องใหญ่

     เมื่อป่วยเป็นโรคเรื้อรังแล้ว ก็ยังต้องทุ่มเทพลังปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตตัวเองในแต่ละวันเพื่อให้ตัวเองหายจากโรค ไม่ใช่เอาแต่ไปนั่งออ รอตรวจ รอรับยากันอยู่ที่โรงพยาบาล เพราะวิธีนั้นไม่ได้ทำให้โรคเรื้อรังหายดอก  โรคเรื้อรังจะหายได้ก็ด้วยการเปลี่ยนวิธีกินวิธีใช้ชีวิตของตัวเองเท่านั้น 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี