แคลเซียมแอลทริโอเนท.. ถามแบบทนายแล้วจะให้ตอบแบบไหน
เรียนคุณหมอสันต์
แคลเซียมแอลทรีโอเนตช่วยสร้างกระดูกจริงมั้ยคะ
..........................................................
ตอบครับ
โห ถามมาห้วนแค่นี้และจะเอาคำตอบแบบทนายความเสียด้วย คือจริง หรือไม่จริง ตอบแค่นั้น ห้ามนอกเรื่อง หากผมตอบคุณไปแบบทนาย มันจะพาชีวิตคุณเข้าป่าไปเลยนะ คุณจะเอาไหมละ
สมมุติว่ามีหญิงสาวคนหนึ่งเอายาตัวหนึ่งมาให้ผมดู ที่ข้างขวดเขียนว่า aquam puteum แล้วเธอถามผมว่า
"คุณหมอสันต์คะยานี้เขาบรรยายสรรพคุณว่ากินแล้วทำให้เกิดความสดชื่น มีชีวิตชีวา ผิวพรรณชุ่มชื้นเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวล มีเลือดฝาด ลำไส้โปร่งโล่ง หายท้องผูก เป็นความจริงไหมคะ" ผมอ่านชื่อข้างขวดแล้วตอบว่า
"เป็นความจริงทั้งหมดครับ"
ซึ่งผมไม่ได้โกหก เพราะในขวดนั้นคือ aquam puteum ซึ่งหมายถึงน้ำเปล่า และน้ำเปล่ามีสรรพคุณดังว่านั้นจริงๆ แต่คำตอบนั้นจะพาหญิงสาวนั้นจะหลงเข้าป่าเสียเงินไปเพราะฉลากบรรยายสรรพคุณนั้นแน่นอนใช่ไหม เพราะเธอไม่รู้ว่าข้างในน้้นคือน้ำเปล่าซึ่งในตัวเธอก็มีน้ำเปล่าอยู่แล้วถึงสองในสามของน้ำหนักตัวเธอทั้งหมด
ฉันใดก็ฉันเพล คำถามของคุณก็เป็นแบบนี้แหละ แต่ถ้าตอบแค่ใช่หรือไม่ใช่คุณจะได้ประโยชน์น้อย ดังนั้นผมตอบว่า..
แคลเซียม แอล ทรีโอเนท (calcium L threonate) ก็เป็นเกลือแคลเซียมที่มีจุดประสงค์จะให้ธาตุแคลเซียม (Ca) แก่ร่างกายเหมือนกับเกลือแคลเซียมชนิดอื่น (เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต แคลเซียมซิเตรท) เพียงแต่คู่จับของแคลเซียมคือทรีโอเนทนั้นเป็นสารที่เกิดขึ้นและมีอยู่ในร่างกายตามปกติอยู่แล้วจากการสลายวิตามินซี. ความแตกต่างกันกับเกลือแคลเซียมชนิดอื่นอาจจะอยู่ที่การดูดซึมผ่านลำไส้ ซึ่งงานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่าแคลเซียมในรูปแบบทรีโอเนตดูดซึมผ่านลำไส้ได้ดีเท่าหรือมากกว่าในรูปแบบคาร์บอเนตและซิเตรท ส่วนงานวิจัยในคนนั้นพบว่าไม่ว่าจะใช้เกลือแบบไหนรวมทั้งแบบแอลทรีโอเนทด้วยไม่ว่าจะใช้ขนาดมากหรือน้อย ระดับแคลเซียมในเลือดที่ได้ก็ไม่สัมพันธ์เป็นเส้นตรงกับขนาดที่ให้กิน [1] หมายความว่าคุณจะให้ของถูกของแพง ให้กินมากกินน้อย ระดับในเลือดก็ไม่เกี่ยว เพราะร่างกายจะเลือกตามความต้องการของเขาเองว่าจะดูดซึมเข้าไปมากหรือน้อย
ในเรื่องของความปลอดภัยนั้น งานวิจัยความปลอดภัยพบว่าแคลเซียมแอลทรีโอเนทก็มีความปลอดภัยเทียบเท่าเกลือแคลเซียมแบบอื่นๆ
ผมจบคำถามของคุณแล้วนะ
สำหรับท่านผู้อ่านทั่วไป ไหนๆพูดถึงแคลเซียมแล้ว มาทำความเข้าใจเรื่องของแคลเซียมกับสุขภาพโดยรวมกันดีกว่า ซึ่งผมจะพูดไปทีละประเด็นเท่าที่จะนึกได้นะ
1. แคลเซี่ยมกินเท่าไหร่จึงจะพอ ตัวเลขแนะนำให้กินต่อวัน (Recommended Dietary Allowance (RDA): 200-1200 มก.ต่อวันแล้วแต่อายุ ยิ่งแก่ยิ่งควรได้มาก ขณะที่ขนาดสูงสุดที่ร่างกายทนได้ (Tolerable Upper Intake Level (UL) คือ 1000-2500 มก.ต่อวันขึ้นกับอายุเช่นกัน ทั้งหมดนี้สามารถได้รับอย่างพอเพียงจากอาหารปกติที่หลากหลายโดยไม่จำเป็นต้องกินยาเม็ดแคลเซียมเสริม
2. แคลเซียมได้จากอาหารอะไรบ้าง อาหารให้แคลเซียมมีสองกลุ่มคือกลุ่มนม โยเกิร์ต ชีส กับกลุ่มพืชตามธรรมชาติเช่นผักต่างๆ ผักกาด คะน้า กล่ำปลี บร็อคโคลี ธัญพืชไม่ขัดสี มีข้อสังเกตว่าอาหารธรรมชาติอาหารใดใดมีไขมันมาก อาหารนั้นมักจะมีแคลเซียมน้อย
งานวิจัยอาหารอเมริกัน พบว่าคนกินอาหาร (อเมริกัน) ปกติได้แคลเซียมจากอาหารวันละ 871 - 1,266 mg ในชาย และ 748 to 968 mgในหญิง
3. การดูดซึมแคลเซียม แคลเซียมคาร์บอเนตต้องอาศัยกรดในกระเพาะในการดูดซึมจึงจะดูดซึมได้เมื่อกินกับอาหารเท่านั้น แคลเซียมซิเตรทดูดซึมได้ดีโดยไม่ต้องอาศัยกรด จึงกินแยกจากอาหารได้ แคลเซียม แอล ทรีโอเนตก็ไม่ต้องอาศัยกรดในการดูดซึม จึงดูดซึมได้ดีเช่นกัน แต่การดูดซึมแคลเซียมพบว่าจะดูดซึมได้เป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุดถ้าเม็ดแคลเซียมที่กินมีขนาดไม่เกิน 500 mg [2] ขณะเดียวกันแคลเซียมเม็ดเสริมมีผลข้างเคียงทำให้เกิดแก้สในท้อง ท้องอืด ท้องผูก ได้ แคลเซียมคาร์บอเนตเป็นมากกว่าซิเตรท
วิตามินดี.ช่วยการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้เข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น
กรดไฟติก (ในธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว นัท) และกรดออกซาลิก (ในผักขม มันเทศ) จับกับแคลเซียมและระงับการดูดซึม แต่การกินอาหารพืชที่หลากหลายไม่มีผลต่อการดูดซึมแคลเซียมในภาพรวม เพราะกินพืชมาก ร่างกายก็สงวนแคลเซียมได้มาก เนื่องจากผลไม้และผักเมื่อเผาผลาญแล้วจะทำให้ดุลร่างกายไปทางด่างเพราะได้ไบคาร์บอเนตเพิ่มขึ้น ยังผลลดการขัดแคลเซียมทิ้งทางปัสสาวะน้อยลง แม้จะดูดซึมจากลำไส้ได้น้อย แต่ภาพรวมก็ยังรักษาระดับแคลเซียมปกติไว้ได้ [3]
การกินเกลือ(โซเดียม) มากทำให้ร่างกายขับแคลเซียมทิ้งมาก [4,5]
การกินอาหารโปรตีนมากทำให้ร่างกายขับแคลเซียมทิ้งมาก [4,5] ขณะเดียวกันการกินโปรตีนมากก็มีผลให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้มากขึ้น จึงถ่วงดุลกันแบบเจ๊ากันไป[6]
คาเฟอีนในชากาแฟลดการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้และเพิ่มการขับแคลเซียมทิ้งทางปัสสาวะได้เล็กน้อย [19] คือกาแฟหนึ่งถ้วยเสียแคลเซียม 2–3 mg of calcium [5] จึงไม่มีผลต่อกระดูกอย่างมีนัยสำคัญ.
แอลกอฮอลลดการดูดซึมแคลเซียม [7] และไประงับเอ็นไซม์ที่เปลี่ยนวิตามินดี.ให้ทำงานได้ในตับ[22].
งานวิจัยพบว่าการดื่มน้ำอัดลม (carbonated soft drinks) ที่มีฟอสเฟตสูง ลดมวลกระดูกและเพิ่มอัตรากระดูกหักมากขึ้น [8] โดยที่ยังไม่ทราบกลไก
4. โรคแคลเซียมในเลือดต่ำ (hypocalcemia) ไม่ใช่เกิดจากการกินแคลเซียมในอาหารต่ำ แต่เกิดในภาวะป่วยเป็นโรคอื่นเช่น โรคไตเรื้อรัง โรคหลังการตัดกระเพาะอาหาร ภาวะหลังการใช้ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น โรคแคลเซียมในเลือดต่ำทำให้เกิดอาการเกร็งนิ้วมือแบบจีบ ตะคริวกล้ามเนื้อ ชัก เบื่ออาหาร หัวใจเต้นผิดจังหวะ และตายได้
5. กลุ่มคนที่เสี่ยงขาดแคลเซียม ได้แก่
5.1 หญิงหมดประจำเดือน ซึ่งจะสูญเสียมวลกระดูกปีละ 3%–5% จนอายุ 65 ปีการสูญเสียจึงจะลดลงเหลือปีละน้อยกว่า 1% [9] แต่การกินยาเม็ดแคลเซียมเสริมเมื่อหมดประจำเดือนก็ไม่ได้ทำให้แคลเซียมในกระดูกเพิ่มขึ้น [10,11] ขณะที่การกินฮอร์โมนเพศทดแทนจะช่วยเพิ่มแคลเซียมในกระดูกได้ [12] วงการแพทย์จึงยังคงนิยมใช้ฮอร์โมนทดแทนในหญิงที่มีความเสี่ยงกระดูกดูกหักอยู่
5.2 หญิงไม่มีประจำเดือน นักกีฬาหญิง และหญิงที่เป็นโรคอดอาหารเพราะกลัวอ้วน (anorexia nervosa) ร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมได้น้อยและขับแคลเซียมทิ้งมาก การที่ผู้หญิงออกกำลังกายมากจนประจำเดือนหายไปจะทำให้มวลกระดูกลดลง [13]
หญิงนักกีฬาหรือทหารหญิงที่มีกระดูกบางและประจำเดือนผิดปกติและมีประวัติเกิดกระดูกหักหลังจากการถูกกระแทกซ้ำซาก (stress fracture) จะมีโอกาสเกิดกระดูกหักซ้ำมากขึ้นไปอีก การให้กินวิตามินดีกับแคลเซียมพบว่าลดการเกิดกระดูกหักซ้ำในทหารหญิงลงได้ [14]
6. อาหารมังสวิรัติกับระดับแคลเซียม
งานวิจัยในพวกมังกินนม และมังกินไข่พบว่าได้แคลเซียมจากอาหารพอๆกับพวกที่กินอาหารปกติ [15]
งานวิจัย EPIC พบว่ากลุ่มคนที่กินเนื้อสัตว์ กลุ่มมังกินปลา กลุ่มมังกินไข่ กลุ่มมังกินนม มีระดับแคลเซียมในอาหารและความเสี่ยงกระดูกหักพอกัน แต่กลุ่มกินอาหารวีแกน (ไม่กินนมไข่ปลา) มีระดับแคลเซียมในอาหารต่ำกว่า และมีความเสี่ยงกระดูกหักสูงกว่า [16]
7. การกินยาเม็ดแคลเซียมเสริมกับการเกิดกระดูกหัก
งานวิจัยการกินแคลเซียมเสริมกับอุบัติการณ์กระดูกหักให้ผลขัดแย้งกันเอง แต่งานวิจัยที่ออกแบบดีที่สุด 4 งาน รวมผู้ป่วย 44,505 คนพบว่าแคลเซียมเสริมไม่มีผลต่ออัตราการเกิดกระดูกหักไม่ว่าที่ตำแหน่งไหน แม้ว่าจะเพิ่มความแน่นกระดูกได้เล็กน้อยก็ตาม[59] จึงเป็นที่มาของคำแนะนำของ USPSTF ว่าหลักฐานยังไม่พอจะสรุปว่าแคลเซียมกับวิตามินดี ลดกระดูกหักได้จริงหรือเปล่า
อย.สหรัฐ (FDA) อนุญาตให้ติดฉลากขายแคลเซียมเสริมได้แต่เพียงว่า "การได้รับแคลเซียมพอเพียงตลอดชีพในรูปของอาหารที่ได้ดุลหลากหลาย อาจลดกระดูกพรุนกระดูกหักในวัยชราได้"
8. ความสัมพันธ์ระหว่างการกินแคลเซียมเสริมกับการป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีความสัมพันธ์กันจริงหรือไม่
9. ความสัมพันธ์ระหว่างการกินแคลเซียมและนมกับการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ยังสรุปผลไม่ได้ชัดเจน หากจะมีแคลเซียมเสริมอาจมีผลเพิ่มการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้เล็กน้อย [17]
10. ความสัมพันธ์ระหว่างการกินแคลเซียมเสริมกับการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ข้อมูลยังสับสนอยู่ ขอให้ถือตามสมาคมป้องกันโรคหัวใจอเมริกันและมูลนิธิกระดูกพรุนแห่งชาติอเมริกันที่ออกข้อสรุปร่วมกันว่ายังไม่มีหลักฐานพอที่จะยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างการกินยาเม็ดแคลเซียมเสริมกับการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดทั้งในเชิงทำให้เป็นโรคมากขึ้นหรือทำให้เป็นโรคน้อยลงและการลดอัตราตายรวม [18]
11. ความสัมพันธ์ระหว่างยาเม็ดแคลเซียมเสริมกับโรคความดันเลือดสูง งานวิจัยพบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างสองอย่างนี้[19].
แต่ที่แน่ๆคือพวกที่กินมังสะวิรัติที่มีแร่ธาตุ (แคลเซียม แมกนีเซียม โปตัสเซียม) ในอาหารธรรมชาติมาก มีกากใยสูง มีไขมันต่ำ จะมีความดันเลือดต่ำด้วย [21,22] ทำให้อาหารลดความดัน DASH ได้ผลดีมาก
12. ยาเม็ดแคลเซียมเสริมกับการเป็นนิ่ว งานวิจัยพบว่าการกินยาเม็ดแคลเซียมเสริมในขนาดสูงสัมพันธ์กับการเป็นนิ่วมากขึ้น และเป็นที่มาของการกำหนดค่าสูงสุดที่ปลอดภัย (UL)
ในงานวิจัยสุขภาพหญิง (WHI) หญิงหมดประจำเดือนที่กินแคลเซียมเสริม1000 มก.บวกวิตามินดี 400 ยูนิตนาน 7 ปีเป็นนิ่วมากขึ้นกว่าพวกไม่กิน 17% [23]. งานวิจัยสุขภาพพยาลาลของฮาร์วาร์ดก็ได้ผลไปทางเดียวกัน
แต่แคลเซียมจากอาหารไม่ทำให้เป็นนิ่ว ในทางกลับกันกลับทำให้นิ่วลดลง [24] ปัจจัยร่วมที่ทำให้เป็นนิ่วคือกินออกซาเลทมาก ดื่มน้ำน้อย ซึ่งอาจสำคัญกว่าการกินแคลเซียมมากหรือน้อย
13. ความสัมพันธ์ระหว่างการกินแคลเซียมเสริมกับการลดน้ำหนัก งานวิจัยพบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการกินแคลเซียมเสริมกับการเพิ่มหรือลดน้ำหนัก
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ล่าสุดเกี่ยวกับแคลเซียมซึ่งท่านเลือกหยิบไปใช้ประโยชน์ได้ หรือเอาไปตัดสินได้ว่าข้อมูลขายของบนอินเตอร์เน็ทอะไรจริง อะไรไม่จริง
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Wang HY, Hu P, Jiang J. Pharmacokinetics and safety of calcium L-threonate in healthy volunteers after single and multiple oral administrations. Acta Pharmacol Sin 2011;32:1555-60.
2. Committee to Review Dietary Reference Intakes for Vitamin D and Calcium, Food and Nutrition Board, Institute of Medicine. Dietary Reference Intakes for Calcium and Vitamin D. Washington, DC: National Academy Press, 2010
3. Weaver CM, Heaney RP, Martin BR, Fitzsimmons ML. Human calcium absorption from whole-wheat products. J Nutr 1991;121:1769-75.
4. Weaver CM, Proulx WR, Heaney RP. Choices for achieving adequate dietary calcium with a vegetarian diet. Am J Clin Nutr 1999;70:543S-8S.
5. Heaney RP. Bone mass, nutrition, and other lifestyle factors. Nutr Rev 1996;54:S3-S10.
6. Kerstetter JE, O’Brien KO, Caseria DM, Wall DE, Insogna KL. The impact of dietary protein on calcium absorption and kinetic measures of bone turnover in women. J Clin Endocrinol Metab. 2005 Jan;90(1):26-31.
7. Hirsch PE, Peng TC. Effects of alcohol on calcium homeostasis and bone. In: Anderson J, Garner S, eds. Calcium and Phosphorus in Health and Disease. Boca Raton, FL: CRC Press, 1996:289-300.
8. Heaney RP, Rafferty K. Carbonated beverages and urinary calcium excretion. Am J Clin Nutr 2001;74:343-7.
9. Daniels CE. Estrogen therapy for osteoporosis prevention in postmenopausal women. Pharmacy Update-NIH 2001;March/April.
10. Dawson-Hughes B, Dallal GE, Krall EA, Sadowski L, Sahyoun N, Tannenbaum S. A controlled trial of the effect of calcium supplementation on bone density in postmenopausal women. N Engl J Med 1990;323:878-83.
11. Elders PJ, Lips P, Netelenbos JC, van Ginkel FC, Khoe E, van der Vijgh WJ, et al. Long-term effect of calcium supplementation on bone loss in perimenopausal women. J Bone Min Res 1994;9:963-70.
12.North American Menopause Society. The 2012 hormone therapy position statement of: The North American Menopause Society. Menopause 2012;19:257-71.
13. Marcus R, Cann C, Madvig P, Minkoff J, Goddard M, Bayer M, et al. Menstrual function and bone mass in elite women distance runners: endocrine and metabolic features. Ann Intern Med 1985;102:158-63.
14. Lappe J, Cullen D, Haynatzki G, Recker R, Ahlf R, Thompson K. Calcium and vitamin d supplementation decreases incidence of stress fractures in female navy recruits. J Bone Miner Res. 2008 May;23(5):741-9.
15. Reed JA, Anderson JJ, Tylavsky FA, Gallagher JCJ. Comparative changes in radial-bone density of elderly female lactoovovegetarians and omnivores. Am J Clin Nutr 1994;59:1197S-202S.
16. Appleby P, Roddam A, Allen N, Key T. Comparative fracture risk in vegetarians and nonvegetarians in EPIC-Oxford. Eur J Clin Nutr. 2007 Dec;61(12):1400-6.
17. Gao X, LaValley MP, Tucker KL. Prospective studies of dairy product and calcium intakes and prostate cancer risk: a meta-analysis. J Natl Cancer Inst 2005;97:1768-77.
18. Kopecky SL, Bauer DC, Giulati M, Nieves JW, Singer AJ, Toth PP, UInderberg JA, Wallace TC, Weaver C. Lack of evidence linking calcium with or without vitamin D supplementation to cardiovascular disease in generally healthy adults: A clinical guideline from the National Osteoporosis Foundation and the American Society for Preventive Cardiology. Ann Intern Med. Published online ahead of print on October 25, 2016
19. Dickinson HO, Nicolson DJ, Cook JV, Campbell F, Beyer FR, Ford GA, et al. Calcium supplementation for the management of primary hypertension in adults. Cochrane Database Syst Rev 2006;(2):CD004639.
20. Rouse IL, Beilin LJ, Armstrong BK, Vandongen R. Blood-pressure-lowering effect of a vegetarian diet: controlled trial in normotensive subjects. Lancet 1983;1:5-10.
22. Berkow SE, Barnard ND. Blood pressure regulation and vegetarian diets. Nutr Rev 2005;63:1-8.
23. Jackson RD, LaCroix AZ, Gass M, Wallace RB, Robbins J, Lewis CE, et al. Calcium plus vitamin D supplementation and the risk of fractures. N Engl J Med 2006;354:669-83.
24. Hall WD, Pettinger M, Oberman A, Watts NB, Johnson KC, Paskett ED, et al. Risk factors for kidney stones in older women in the Southern United States. Am J Med Sci 2001;322:12-8.