จะป้องกันโรคพาร์คินสัน คุณต้องทำล่วงหน้าเป็นสิบปีเลยนะ
เรียนคุณหมอสันต์
คุณแม่เป็นโรคพาร์คินสันต์ (พามาพบคุณหมอที่คุณหมอสอนวิธีออกกำลังกายให้เมื่อเดือน ... ที่เวลเนสวีแคร์) ตัวผมเองกังวลว่าตัวเองจะเป็นด้วย จึงคิดหาทางป้องกัน อยากฟังคำแนะนำของคุณหมอว่าโรคนี้จะป้องกันได้อย่างไรครับ
ขอบคุณครับ
...........................................................
ตอบครับ
ก่อนตอบคำถามขอพูดเรื่องโรคพาร์คินสันสำหรับท่านผู้อ่านทั่วไปก่อน เพราะชื่อโรคฝรั่งแค่ชื่อก็จำยากอยู่แล้ว รายละเอียดของโรคยิ่งจำยากกว่า
พูดถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ สมัยเป็นนักเรียนแพทย์เมื่อเกือบห้าสิบปีก่อน พวกเราต้องท่องชื่อมันว่า "โรคพาร์คินสั่น" เพราะมันมีอาการสั่น สมัยโน้นเป็นยุคท้ายๆของข้อสอบอัตนัย ข้อสอบออกมาว่าให้บอกอาการของโรคพาร์คินสันมาห้าอย่าง พวกเราหลายคนตอบได้อย่างเดียว คืออาการสั่น หิ..หิ
ต่อมาปีหลังๆพวกอาจารย์หัวสมัยใหม่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งว่าการออกข้อสอบอัตนัยไม่เที่ยงไม่ดี ต้องเป็นแบบปรนัย พวกเราซึ่งเป็นเด็กโข่งเรียนไม่เก่งต่างพากันเห็นด้วย เพราะข้อสอบที่ดีแม้ไม่มีความรู้ก็ควรเดาเอาได้ แม้เดาไม่ได้ก็ยังวงกลมส่งเดชไปแบบอาศัยดวงได้อีกชั้นหนึ่ง ดีกว่าอัตนัยซึ่งเมื่อใดที่ส่งกระดาษเปล่าก็คือสอบตก พอมีปรนัยมา พวกเราก็ฝึกใช้เวอร์บทูเดา แล้วก็มักจะได้คะแนนทุกทีทั้งๆที่ไม่มีความรู้ จนอาจารย์หนุ่มท่านหนึ่งสงสัยว่ามันไม่มีความรู้แล้วมันตอบถูกได้อย่างไร จึงทำการวิจัยเชิงแพทยศาสตร์ศึกษาขึ้นมาโดยให้ผมกับนักเรียนรุ่นน้องในชั้นปีต่างๆที่เดาเก่งมาห้าคนมานั่งทำข้อสอบในงานวิจัยของท่าน พอท่านแจกข้อสอบมา พวกเราก็ประท้วงทันที
"อะไรกัน อาจารย์ นี่มันภาษาลาติน พวกเราอ่านไม่ออกสักคำ" อาจารย์ตอบว่า
"...อ่านออกไม่ออกไม่สำคัญ กูให้มึงทำข้อสอบ มึงก็ทำไปเหอะ"
หุ..หุ ช่างเป็นงานวิจัยที่มีเหตุผลดีเลิศเสียนี่กระไร พวกเราพยักหน้าแล้วนั่งลงทำข้อสอบ ซึ่งเป็นปรนัยมีอยู่สิบห้าข้อ ผมตอบได้ 14 คะแนน น้องหลายคนมาถามว่าข้อนี้พี่ตอบถูกได้ยังไง
"ข้าก็เดาเอาจากที่คำตอบอื่นๆมันยาวหมด มีข้อนี้ข้อเดียวที่คำตอบสั้น ข้าเลยเดาว่ามันน่าจะถูกเพราะมันไม่เหมือนข้ออื่น"
น้องผู้หญิงอีกคนถามว่า แล้วข้อนี้ละ พี่ตอบถูกได้อย่างไร
"เอ็งก็ดูเอกพจน์ พหูพจน์สิวะ กริยาของเอกพจน์มันก็ต้องมีเอสตบท้าย" เธอประท้วงว่า
"นี่มันไม่ใช่ภาษาอังกฤษนะพี่ พี่จะใช้หลักแบบนั้นได้ไง" ผมตอบว่า
"เออ นั่นแหละ ข้าเดาเอา"
แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า ผมทำผิดอยู่ข้อหนึ่ง มันเป็นข้อที่คำถามมีแต่ความว่างเปล่า คำตอบก็มีแต่ความว่างเปล่า คือไม่มีตัวอักษรเลย แต่น้องคนหนึ่งตอบถูกและเขาได้คะแนนท็อปคือเต็ม 15 ผมถามเขาว่า
"ข้อนี้เอ็งตอบถูกได้ไงวะ" เขาตอบว่า
"ผมนับคำตอบที่ถูกของข้ออื่น ไม่มีข้อไหนต้องเลือกข้อ b เลย ผมก็เลยเดาเอาว่าข้อนี้ต้องเป็น b" ผมเผลออุทานชมเขาไปว่า
"เอ็งนี่..เหน็ดขนาดจริงๆ ไปภายหน้าเอ็งจะได้เป็นใหญ่เป็นโต" (ซึ่งก็ไม่ผิดความจริงนัก เพราะหลายสิบปีต่อมาเขารับราชการจนได้เป็นใหญ่เป็นโตอยู่ในกระทรวงหนึ่ง)
กลับมาเข้าเรื่องของเราดีกว่า เราคุยกันเรื่องอะไรนะ อ้อ โรคพาร์คินสัน มันเป็นโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยรองลงไปจากโรคอัลไซเมอร์ โรคนี้มีนิยามว่าคือภาวะที่มีการเสื่อมของเซลประสาทที่ทำหน้าที่ปล่อยโดปามีนในก้านสมอง (substantia nigra) สาเหตุประมาณ 10% เกิดจากพันธุกรรม ที่เหลือ 90% เกิดจากสิ่งแวดล้อม (เช่นยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง สารพิษโรงงาน ตลอดจนหาสาเหตุไม่เจอ) มีอาการสำคัญห้ากลุ่มคือ (1) มือสั่น (2) กล้ามเนื้อเกร็งแข็ง (3) การเคลื่อนไหวช้าและผิดปกติ (4) ทรงตัวลำบาก (5) อาการอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเช่น ซึมเศร้า สมองเสื่อม เห็นภาพหลอน นอนไม่หลับ กินไม่ได้ ท้องผูก ลุกแล้วหน้ามืด อั้นปัสสาวะไม่อยู่ และพฤติกรรมผิดปกติเช่น คุมกิเลสไม่อยู่ (impulse control disorder) เป็นต้น อาการจะค่อยๆเป็นค่อยๆไปใช้เวลานานเป็นสิบปีกว่าจะมีอาการมากให้เห็นชัดๆ โรคนี้วินิจฉัยจากอาการเท่านั้น ไม่มีวิธีตรวจยืนยันทางแล็บใดๆตราบใดที่คนไข้ยังมีชีวิตอยู่ แต่หากหลังการเสียชีวิตแล้วถ้านำเนื้อสมองมาตรวจทางพยาธิวิทยาจะพบว่ามีการเสื่อมของเซลประสาทชนิดที่มีเม็ดสี (neuromelanin) อยู่ในเซล โดยเซลที่รอดชีวิตมักมีเม็ดย้อมติดสีเหมือนอาทิตย์ทรงกลดเรียกว่า Lewy body โรคนี้ยังไม่มีวิธีการรักษา มีแต่วิธีบรรเทาอาการด้วยา ยามาตรฐานที่ใช้คือ Levodopa ร่วมกับยา carbidopa ตัวออกฤทธิ์บรรเทาอาการสั่นและเกร็งตัวจริงคือ levodopaส่วน carbidopa นั้นออกฤทธิ์ยับยั้งการเปลี่ยน levodopa ไปเป็น dopamine จึงทำให้มีผลทางอ้อมให้มี levodopa มากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อใช้ยานานไปประสิทธิภาพของยาจะลดลงและการเคลื่อนไหวผิดปกติจะมากขึ้น การใช้ยาต่างๆจึงได้ผลดีแค่ในระยะ 5-6 ปีแรก การออกกำลังกายเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการบรรเทาอาการโรคนี้ เพราะช่วยให้ใช้กล้ามเนื้อทำงานได้ดีขึ้น ท่าร่างดีขึ้น ทรงตัวดีขึ้น การออกตัวเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น นอกจากนี้วงการแพทย์กำลังสนใจข้อมูลในสัตว์ทดลองที่พบว่าการออกกำลังกายอย่างแข็งขันมีผลป้องกันโรคพาร์คินสันได้
คุณถามว่าจะป้องกันโรคพาร์คินสันได้อย่างไร แต่ก่อนวงการแพทย์ก็มืดแปดด้านเหมือนกัน แต่เมื่อเดือนสิงหาที่ผ่านมา ฮาร์วาร์ดได้ตีพิมพ์ผลวิจัยหนึ่งในวารสารประสาทวิทยา (Neurology) ซึ่งเป็นการวิจัยหาปัจจัยที่สัมพันธ์กับการมีอาการของโรคพาร์คินสัน งานวิจัยนี้เริ่มทำตั้งแต่ปีค.ศ. 1980 คือสี่สิบปีมาแล้ว โดยทำกับคนวัยกลางคนจำนวน 47,679 คน วิธีวิจัยคือทุกปีก็ส่งแบบสอบถามไปถามเรื่องอาหารการกิน และตั้งแต่ปีค.ศ. 2012 ก็เพิ่มคำถามว่ามีอาการท้องผูกและนอนฝันและละเมอซึ่งเป็นอาการนำสองอาการที่พบบ่อยในโรคพาร์คินสันหรือไม่ แล้วในช่วงปีค.ศ. 2014-2015 ก็ถามเพิ่มอีกว่ามีอาการห้าอย่างของโรคพาร์คินสันหรือเปล่า คือ (1) จมูกไม่ได้กลิ่น (2) ตาบอดสี (3) ง่วงนอนตอนกลางวัน (4) ปวดตามตัว (5) ซึมเศร้า
อีกด้านหนึ่งงานวิจัยนี้ก็แยกแยะด้วยว่าอาหารที่ผู้ตอบแบบสอบถามกินมีความใกล้เคียงกับอาหารเมดิเตอเรเนียนหรือใกล้เคียงกับอาหารที่ได้คะแนนดัชนีอาหารคุณภาพสูง (หมายความว่าเป็นอาหารที่เน้นการกินผลไม้ ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี นัทถั่ว มากๆ ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งก็ลดเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมลง) มากหรือน้อย
การวิเคราะห์แบบสอบถามในงานวิจัยนี้พบว่ายิ่งผู้เข้าร่วมวิจัยกินอาหารในแนว ผลไม้ ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี นัทถั่ว มากเพียงใด ก็ยิ่งสัมพันธ์กับการมีอาการของโรคพาร์คินสันน้อยลงเท่านั้น ขณะที่พวกที่กินอาหารไม่สุขภาพเลยนั้นมีความสัมพันธ์กับการมีอาการของโรคพาร์คินสันมากขึ้น
ยังมีประเด็นน่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งซึ่งได้จากงานวิจัยนี้คือ ถ้าผู้เข้าร่วมวิจัยดื่มแอลกอฮอลในระดับพอควร (ไม่เกินวันละ 1 ดริ๊งค์ในผู้หญิง หรือ 2 ดริ๊งค์ในผู้ชาย) จะมีความสัมพันธ์กับการมีอาการของโรคพาร์คินสันน้อยลงด้วย
ถึงงานวิจัยนี้จะเป็นการแสดงแค่ความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งคืออาหารพืชกับการเป็นโรคพาร์คินสันน้อยลงโดยอาจจะเป็นแค่การพบร่วมกันโดยไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลต่อกันเลยก็ได้ แต่อย่างน้อยผลวิจัยชิ้นนี้ก็ช่วยชี้ทางให้คนที่กลัวการเป็นโรคพาร์คินสันอย่างคุณให้หันเหไปกินอาหารในแนว ผลไม้ ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี นัทถั่ว มากๆ และลดเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมลงตามงานวิจัยนี้ไว่ก่อน ถือว่าไม่เสียหลาย คุณลงมือเปลี่ยนอาหารเสียตั้งแต่ตอนนี้แหละดีแล้ว เพราะการจะป้องกันโรคพาร์คินสันต้องลงมือล่วงหน้าก่อนที่อาการจะปรากฎชัดนานเป็นสิบปีเลยทีเดียวจึงจะได้ผล
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Molsberry S. et al, “Diet pattern and prodromal features of Parkinson’s disease,” Neurology, August 19,2020, DOI: doi.org/10.1212/WNL.0000000000010523