มันตรา..เทคนิคหนามยอกเอาหนามบ่งวงจรย้ำคิดย้ำทำ (compulsiveness)
สมัยผมหนุ่มๆผมชอบร้องเพลงลูกทุ่งเพลงหนึ่ง ว่า
"..พี่อุตส่าห์ทำงานก็เพื่อน้อง
หวังเก็บเงิน เก็บทองเอามาหมั้นแม่ขวัญใจ
ถึงงานจะหนัก แม้จะเหนื่อยสักเท่าไหร่
จะตากแดดผิวเกรียมไหม้ก็หวังให้ได้เงินมา.."
พอผมโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ทำงานเป็นหมอผ่าตัดหัวใจ บางวันกำลังผ่าตัดเครียดๆเพลงนี้ก็ดังขึ้นมาในหัวแบบไม่เข้ากับบรรยากาศเลย แต่มันแทรกเข้ามาได้ไงหงะ มันแทรกเข้ามาได้เพราะการที่ผมฟังและร้องเพลงนี้บ่อยๆเมื่อตอนเป็นหนุ่มเป็นการบากร่องวงจรย้ำคิดย้ำทำเข้าไปในความจำของผมแข่งกับความย้ำคิดย้ำทำอย่างอื่นๆจนมันกลายเป็นวงจรหลักที่โผล่ขึ้นมาในใจได้ด้วยตัวมันเองโดยไม่ต้องรอผมเชิญเลย
พวกโยคีอินเดียได้เอาเทคนิค "บากร่อง" ความคิดใหม่เข้าไปแข่งกับร่องความคิดเก่าๆเดิมที่ทำให้เป็นทุกข์นี้มาใช้ แบบเอาภาษาเข้ามาแข่งกับภาษา โดยที่ความคิดใหม่ที่จงใจบากเข้าไปนี้เป็นความคิดหรือภาษาขนาดสั้นๆ คำเดียวบ้าง หรือประโยคเดียวสองประโยคบ้างเรียกว่ามันตรา ส่วนใหญ่ครูจะมอบมันตราให้ศิษย์เป็นคนๆไป ของใครของมัน แต่ที่ใช้กันแพร่หลายก็มีเช่นคำว่า "โอม" เมื่อพูดหรือคิดคำนี้ในใจซ้ำๆ มันจะกลายเป็นการบากร่องวงจรย้ำคิดวงจรใหม่ขึ้น เพราะโอมนี้มันเป็นคำพูดมันก็เป็นภาษาเหมือนกัน มันจึงสามารถไปแย่งที่ความคิดเก่าในใจได้ บ่อยเข้าก็แย่งที่ได้มากขึ้นๆ จนมันโผล่ขึ้นมาแย่งที่ความย้ำคิดย้ำทำอย่างอื่่นได้หมด ความคิดสั้นๆซ้ำๆและไม่มีความหมายผูกพันธ์กับสำนึกว่าเป็นบุคคลของเรานี้ มันต่างจากความคิดเปะปะที่มีเรื่องราวผูกพันกับสำนึกว่าเป็นบุคคลของเราตรงที่ความคิดสั้นๆซ้ำๆนี้จะพาความสนใจให้ไปจดจ่ออยู่กับเป้าของสมาธิเช่นลมหายใจได้เองอย่างอัตโนมัติเพราะมันสามารถ "กันท่า" ความคิดชนิดที่จะลากเอาความสนใจของเราออกไปจากเป้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ คำบริกรรมอื่นไม่ว่าจะในศาสนาไหน ก็คิดขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน
เช้าวันนี้เราจะมาฝึกมีประสบการณ์กับการวางความคิดด้วยวิธีมันตราของโยคีกัน โดยจะเริ่มฝึกกับภาษาสั้นคำเดียว คือ "โอม" การพูดหรือคิดคำนี้มีวัตถุประสงค์สองอย่างนะ คือ
1. ในระยะยาว เราต้องการบากร่องการย้ำคิดให้คำนี้ตราตรึงฝังลึกอยู่ในความจำชนิดที่ลอยขึ้นมาตัดหน้าความคิดลบที่ชอบทำให้เป็นทุกข์ได้แบบมาบ่อยกว่า และชะงัดกว่า
2. ในระยะสั้น ต้องการให้คำนี้ไล่ที่ความคิดใดๆที่กำลังครอบใจเราออกไปให้หมด ซึ่งการจะทำอย่างนี้ได้เต็มที่ก็ต้องพ่วงการจดจ่อความสนใจไปที่การสั่นสะเทือนของร่างกายและการผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่างกายขณะเปล่งเสียง และหากการต่อสู้กันทำท่าจะพ่ายแพ้ก็ต้องเปล่งเสียงให้ถี่ขึ้นๆ หรือดังขึ้นๆ จนชนะความคิดลบอันเป็นคู่แข่งได้
ก่อนจะทดลองใช้มันตรา ต้องรู้ที่มาของคำนี้ก่อนว่ามันมาจากรากของ "แม่เสียง" สามเสียง คือ
อา... A (อ้าปาก) ซึ่งขณะเปล่งเสียง จะก่อการสั่นสะเทือนท่อนล่างของร่างกาย และสื่อความหมายถึงการฉายแสงความรู้ตัวในภาวะที่เรากำลังตื่นอยู่ เอ้าทุกคนเปล่งเสียงตามผม อา..า...า
อู... U (ห่อปาก) ซึ่งขณะเปล่งเสียง จะก่อการสั่นสะเทือนท่อนกล่างของร่างกาย และสื่อความหมายถึงการฉายแสงความรู้ตัวในภาวะที่เรากำลังหลับและฝันอยู่ เอ้าทุกคนเปล่งเสียงตามผม อู.. ู ... ู
อึม... M (ปิดปาก) ซึ่งขณะเปล่งเสียง จะก่อการสั่นสะเทือนท่อนล่างของร่างกาย และสื่อความหมายถึงการฉายแสงความรู้ตัวในภาวะที่เรากำลังหลับลึกโดยไม่ได้ฝัน เอ้าทุกคนเปล่งเสียงตามผม อึม..ม...ม
เมื่อเอาสามเสียงมาเปล่งต่อๆกันแบบติดๆกันก็จะกลายเป็นเสียงโอม อย่างนี้ โอม...ม เอ้าทุกคนเปล่งเสียงพร้อมกับผม โอม..ม...ม
คราวนี้เป็นการเอาจริงแล้วนะ ให้ทุกคนเปล่งเสียงโอมของใครของมัน ใครมีความคิดมากไหลบ่าท่วมท้นตลอดเวลาก็เปล่งเสียงให้ดังขึ้นๆๆ ถี่ขึ้นๆๆๆ เปล่งเสียงพลาง รับรู้การสั่นสะเทือนในร่างกายตัวเองไปพลางและผ่อนคลายร่างกายตัวเองไปพลาง ใครที่ความคิดห่างไปก็เปล่งเสียงห่างไปๆ จนกลายเป็นเปล่งเสียงในใจ ช่วงที่คุณหยุดเปล่งเสียงหากไม่มีความคิดคุณจะอยู่ในความเงียบ นั่นแหละคือความรู้ตัว คือคำว่าโอมนี้พาคุณไปหาความรู้ตัวได้ตรงๆโดยการที่คุณตามเสียงมันไปจนมันแผ่วลงๆแล้วเงียบไป แต่หากความคิดมาแรงอีกก็กลับมาเปล่งเสียงดังและถี่ใหม่ ไม่ต้องเกรงใจใคร ตัวใครตัวมัน เสียงของใครเสียงของมัน เสียงของเรา เรารับรู้การสั่นสะเทือนจากเสียงของเรา เราผ่อนคลายตามเสียงของเรา สิบนาทีนี้ทั้งห้องจะระงมด้วยเสียงโอมเหมือนกบเหมือนอึ่งอ่างในสระน้ำก็ไม่เป็นไรไม่ต้องสน ให้ใช้มันตราโอมนี้ไล่ความคิดไปจนครบสิบนาที โดยผมจะตีระฆังเมื่อครบสิบนาที
โอม..โอม โอม..โอม..โอม โอม..โอม..โอม โอม โอม
เอาละ ครบสิบนาที
มันตรานี้เป็นเพียงเครื่องมือกีดกันความคิดนะ เหมือนเรือที่เราอาศัยพายข้ามแม่น้ำ พอเราถึงอีกฝั่งก็ต้องทิ้งเรือ ไม่ใช่แบกเรือเดินบนบก เมื่อความคิดหมด เราก็ทิ้งมันตรา เพื่อไปอยู่กับความรู้ตัวที่เป็นความสงบเย็นและตื่นตัวซึ่งเป็นสภาวะที่เงียบ นิ่ง และว่าง
มันตรานี้เราจะคิดขึ้นมาใช้เองก็ได้นะ ตัวผมเองในช่วงที่ยังต้องอาศัยตัวช่วยกันความคิดออกไป ก็ได้คิดมันตราของตัวเองขึ้นมาใช้ โดยการเอาเครื่องมือสำคัญที่ผมใช้ในการวางความคิดมาผูกเป็นมันตราบอกบทตัวเอง พูดง่ายๆว่าผมสร้างผู้กำกับหรือนักพากย์ขึ้นมาช่วยตัวผมเองในขณะที่ยังเอาตัวเองไม่รอด พอเอาตัวเองรอดเมื่อไหร่ก็เลิกใช้เมื่อนั้น มันตราที่ผมสร้างขึ้นมาใช้เป็นภาษาพูดในใจ ไม่ออกเสียง ดังนี้
"เข้า..จดจ่อ ตื่น
ออก..ยิ้ม ผ่อนคลาย ซู่ซ่า"
เข้า..จดจ่อ ตื่น หมายความว่าขณะหายใจเข้า ผมจดจ่อที่ลมหายใจเข้าแบบทำสมาธิ จดจ่อ จดจ่อ จดจ่อ พอสุดลมหายใจเข้าก็ยืดตัวขึ้นและสะดุ้งตัวเองนิดหนึ่งเพื่อปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นมาอยู่กับเดี๋ยวนี้ เหมือนทหารระวังตรงเมื่อเจ้านายมาตรวจแถว แบบนี้
ออก..ยิ้ม ผ่อนคลาย ซู่ซ่า หมายความว่าขณะหายใจออก ผมผ่อนคลายร่างกายและยิ้มเพื่อเป็นสัญญลักษณ์ว่าได้ผ่อนคลายแล้ว และรับรู้ความรู้สึกบนผิวกายทั้งความรู้สึกซู่ๆซ่าๆเหน็บๆชาๆเจ็บๆคันๆรับรู้หมด
ทำไปทำมาผมชอบมันตราที่ผมคิดขึ้นมาใช้เองมากกว่าคำว่าโอม การจะคิดมันตราขึ้นมาใช้เองนี้ต้องเผื่อให้ใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วยนะ เพราะอย่าลืมว่าการนั่งฝึกสมาธิเป็นเพียงการจำลองชีวิตประจำวันมาให้มันง่ายต่อการเริ่มต้น ท้ายที่สุดเราต้องเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน การฝึกใช้มันตราเป็นทักษะต้องฝึกท่องบ่นซ้ำซาก บากร่องมันตราให้ลึกลงไป ลึกลงไป ซ้ำซากๆ จนมันโผล่ขึ้นมาเองในใจได้เหมือนเมโลดี้เพลงโปรดในหัวที่ชอบโผล่ขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย หากทำได้ถึงจุดนั้นแล้วก็แสดงว่ามันตรานี้เริ่มจะแย่งที่ร่องความคิดเก่าๆเดิมๆได้แล้ว ถ้าจะเปรียบกับการเดินป่า มันตราก็คือการทำสวนดอกไม้ของเราเองไว้เดินเล่นเอง เราไม่ต้องไปคอยสังเกตสารพัดความคิดที่แย่งกันโผล่ขึ้นมาสลอนเหมือนต้นวัชพืชนานาชนิดในป่า เพราะความคิดหลักที่โผล่ขึ้นมาคือมันตราที่เราปลูกขึ้นเองเหมือนต้นดอกไม้ที่เราชื่นชอบและได้ปลูกไว้
ย้ำอีกทีว่ามันตราหากจะใช้ ให้ใช้มันเป็นแค่เรือข้ามฟาก คือใช้เฉพาะเมื่อเราหมดปัญญาถอยออกมาสังเกตความคิดเพราะความคิดมันมาแรงเหลือเกิน เมื่อเราออกมาสังเกตความคิดได้อย่างต่อเนื่องแล้ว มันตราก็ไม่จำเป็น หรืออาจจะหยิบมาใช้แค่นานๆครั้ง
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์