งานวิจัยแบบ RCT พบว่าวิตามินดี.ทำให้อายุยืนขึ้นจริง

     ประเด็นที่ 1. วิตามินดี.ทำให้อายุยืนขึ้นจริง

     งานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าร่วม 95,286 คน มีระยะเวลาติดตามเฉลี่ย 4.4 ปี ระหว่างกลุ่มที่ได้วิตามินดี.กินเสริม กับกลุ่มที่ได้ยาหลอก พบว่ากลุ่มที่ได้วิตามินดี.กินเสริม มีอายุยืนกว่า และตายจากมะเร็งน้อยกว่า ความแตกต่างนี้ไม่มาก คำนวณเป็นจำนวนคนที่ต้องกินยาเพื่อยืดชีวิตหนึ่งคน (number need to treat - NTT) คือกินยา 150 คนนาน 4.4 ปีจะช่วยยืดชีวิตคนได้หนึ่งคน ฟังดูประโยชน์ที่ได้ก็ไม่มาก แต่อย่าลืมว่ายาที่เราตั้งใจกินกันอย่างเอาเป็นเอาตายทุกวันนี้ประโยชน์ที่ได้ก็ประมาณนี้แหละ ยกตัวอย่างเช่นการให้ยาลดไขมัน (statin) แก่คนเป็นไขมันในเลือดสูงที่มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดปานกลาง (เช่นเป็นความดันสูงด้วย) พบว่าต้องให้คนกินยา 100 คนนาน 5 ปี จึงจะช่วยยืดชีวิตคนได้ 1 คน ดังนั้นหากคิดว่าแสงแดดเป็นของฟรี หรือถ้าออกแดดไม่ได้การกินวิตามินดี. ซึ่งก็เป็นอาหารเสริมราคาถูกที่ไม่มีพิษเหมือนอย่างยา มันก็น่าที่จะออกแดดให้มากขึ้นหรือกินวิตามินดี.เสริม เพราะว่าชั่งน้ำหนักดีเสียแล้วก็ยังดีกว่าอยู่เปล่าๆ

     ทั้งนี้แน่นอนว่าการใช้ชีวิตในวิถีที่ทำให้มีสุขภาพดีอันได้แก่การกินอาหารที่มีพืชเป็นหลัก การออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อนให้พอ การจัดการความเครียดให้ดี ย่อมเป็นเรื่องหลักจะละทิ้งไม่ได้ในการจะมีสุขภาพดีมีอายุยืน โดยการได้รับวิตามินดี.ให้พอเพียงนี้เป็นเรื่องเสริม

     ประเด็นที่ 2. ความเชื่อถือได้ของการตรวจระดับวิตามินดี.โดยห้องแล็บ

     ในกรณีที่ไม่ได้เป็นโรคเรื้อรังที่สัมพันธ์กับการขาดวิตามินดี (อันได้แก่โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจขาดเลือด มะเร็ง หอบหืด ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคซึมเศร้า เป็นต้น) ผมแนะนำเหมือนคณะกรรมการป้องกันโรครัฐบาลสหรัฐ (USPSTF) ว่า "ไม่ควร" ไปตรวจระดับวิตามินดี.เพียงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพประจำปี เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้วยังอาจได้ผลลัพท์ที่ทำให้เป็นโรคประสาทอีกด้วยเนื่องจากแต่ละห้องแล็บตรวจให้ผลที่ต่างกันได้มาก งานวิจัยทดลอง [2] เอาตัวอย่างวิตามินดีจากคนๆเดียวกัน ส่งไปให้ห้องแล็บ 1090 แห่งทั่วโลกตรวจดูระดับวิตามินดีพบว่าได้ค่าแตกต่างกันตั้งแต่ 20 - 100 ng/ml เพราะเทคโนโลยีทางแล็บที่จะตรวจประเมินค่าวิตามินดี.ตอนนี้ยังไม่นิ่ง งานวิจัย [3] เปรียบเทียบเทคนิคของการตรวจพบว่าการตรวจด้วยเทคนิค automated immunoassay ซึ่งนิยมใช้กันอยู่ในโรงพยาบาลทั่วๆไปนั้นให้ผลที่ได้ไม่แม่นยำเท่าเทคนิค liquid chromatography (LC-MS/MS assay) วิธี LC-MS/MS นี้ถือว่าเป็นมาตรฐานทองคำ [4] ของการตรวจหาวิตามินดี.ในปัจจุบัน แต่ว่าน่าเสียดายที่เทคนิคนี้ยังไม่มีตรวจในโรงพยาบาลทั่วไป (90% ของรพ.ทั่วโลกยังใช้วิธีตรวจแบบ automated immunoassay อยู่)

     ผลตรวจที่แตกต่างกันได้มากขนาดนี้จึงไม่มีประโยชน์ที่จะเอาผลตรวจมาชี้นำการกำหนดขนาดของวิตามินดี.ที่จะกินในแต่ละวัน มีบ่อยมากที่ผู้ป่วยเล่าให้ผมฟังว่าแพทย์เพิ่มขนาดวิตามินดีไปตามผลเลือดที่เจาะได้จนเพิ่มถึงขนาดสูงสุดแล้วระดับวิตามินดีในเลือดก็ยังไม่เพิ่มถึงเกณฑ์ (20 ng/ml) ทั้งนี้เป็นเพราะข้อจำกัดของวิธีตรวจของห้องแล็บ ดังนั้นผมแนะนำให้ท่านไม่ต้องรอตรวจดูระดับวิตามินดี แต่ให้ท่านออกแดดให้มากขึ้นเป็นกิจวัตรประจำวันทุกวัน ถ้าออกแดดไม่ได้ก็แนะนำให้กินวิตามินดี.เสริมในขนาดที่แนะนำโดยสถาบันการแพทย์สหรัฐ (IOM) คือ 1,000 IU ต่อวัน ทั้งนี้ยกเว้นเฉพาะคนที่เป็นโรคเรื้อรังที่สัมพันธ์กับการขาดวิตามินดี (อันได้แก่โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจขาดเลือด มะเร็ง หอบหืด ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคซึมเศร้า เป็นต้น) ซึ่งในผู้ป่วยเหล่านี้แพทย์มักจะตรวจระดับวิตามินดี.เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการโรคเรื้อรังและสั่งจ่ายวิตามินดี.เพื่อให้กินจนระดับในเลือดถึงระดับปกติอยู่แล้ว

     ประเด็นที่ 3. ขนาดสูงสุดที่ปลอดภัยของวิตามินดี.

      ตัวเลขเกี่ยวกับขนาด (dose) ของวิตามินดีเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มักทำให้สับสน มันมีตัวเลขสามสี่ตัวที่ไม่เหมือนกันนะ คือ
     1. ขนาดสูงสุดที่ปลอดภัยของวิตามินดี. (max safety dose) ที่แนะนำโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) คือวันละไม่เกิน 5,000 IU 
     2. ขนาดสูงสุดที่ปลอดภัยตามหลักฐานวิจัย หมายความว่างานวิจัยพบว่ายังไม่เคยมีพิษหากกินไม่เกินนี้ คือ 10,000 IU ต่อวัน ดังนั้นขนาดสูงสุดที่ยังปลอดภัยตามหลักฐานวิทยาศาสตร์จริงๆนั้นไม่เท่ากับที่แนะนำโดย NIH นะ ตรงนี้อย่างงนะครับ
     3. ขนาดที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน (RDA) ที่แนะนำโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ คือวันละ 400-700 IU ต่อวัน ที่ให้ไว้เป็นพิสัยก็เนื่องจากความต้องการไม่เท่ากันตามอายุ ยิ่งอายุมากยิ่งต้องการมาก

     อนึ่ง นับตั้งแต่มีโรคโควิด19 ระบาด มีแพทย์จำนวนมากโดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกาได้แนะนำให้ผู้ป่วยกินวิตามินดี.ในขนาดสูงมากจนถึงวันละ 10,000 IU ต่อวันก็มี ซึ่งการแนะนำให้กินในขนาดสูงเช่นนี้ยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับว่าจะมีประโยชน์มากขึ้นกว่าการกินในขนาดที่ควรได้รับต่อวัน (RDA) แต่อย่างใด

     ประเด็นที่ 4. ความปลอดภัยของแสงแดด 

     การออกแดดในแง่ของการสร้างวิตามินดี.นั้นจะไม่มีการสร้างมากวิตามินดีเกินไปจนเป็นพิษ ไม่ว่าจะออกแดดนานเท่าใด เพราะผิวหนังของมนุษย์มีกลไกระงับการสร้างวิตามินดีอย่างอัตโนมัติหากได้รับแดดปริมาณมากเกินไปจนผิวหนังร้อนจัด ดังนั้นการจะเอาวิตามินดีด้วยการออกแดดปลอดภัยแน่นอน ไม่มีโอเวอร์โด้ส แต่ในอีกด้านหนึ่งแดดอ่อนเกินไปก็ไม่มีรังสียูวีบี.ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการสร้างวิตามินดี ดังนั้น NIH จึงแนะนำให้ออกแดดจัดช่วง 10.00-15.00 (ในเมืองหนาว) ครั้งละ 5-30 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย  

     มีบางคนกลัวแดดว่าจะทำให้เป็นมะเร็ง (melanoma) ซึ่งเป็นความกลัวที่มีเหตุผลสำหรับฝรั่ง อย่างคนอเมริกันเขามีอุบัติการณ์เป็นมะเร็งผิวหนังสูงถึง 23 คนต่อประชากรแสนคน แต่ว่าคนไทยนั้นมีอุบัติการณ์เพียงครึ่งคน (0.5 คน) ต่อประชากรแสนคน คือเรามีโอกาสเป็นมะเร็งผิวหนังน้อยกว่าฝรั่งสี่สิบห้าสิบเท่า ถ้าเราเอาโรคมะเร็งอวัยวะต่างๆของคนไทยมาเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยตั้งแต่ลำดับที่ 1 ถึงที่ 25 จะไม่มีมะเร็งผิวหนังอยู่ในนั้นเลยเพราะคนไทยเป็นมะเร็งผิวหนังกันน้อยมาก แต่หากเป็นฝรั่งเช่นอเมริกันหากเรียงลำดับมะเร็งหกชนิดแรกที่คนตายกันมากที่สุด มะเร็งผิวหนังจะติดอันดับด้วยเสมอ เพราะฝรั่งเขาเป็นโรคนี้กันมากกว่าคนไทยอย่างเทียบกันไม่ได้ ดังนั้นเราไม่ควรไปกลัวมะเร็งผิวหนังตามฝรั่งจนไม่กล้าออกแดดเลยป่วยเป็นโรคไม่ได้แดด อย่าลืมว่าบรรพบุรุษของเราใช้ชีวิตอยู่กลางแสงแดดกันทั้งวันทุกวันนะ

    กล่าวโดยสรุป

      วิตามินดี.เป็นของดีต่อสุขภาพแน่ในประเด็นทำให้อายุยืน ภูมิต้านทานโรคดี สุขภาพกระดูกดี ตัวผมเองนั้นแนะนำให้ท่านออกแดดเป็นกิจวัตรเพื่อให้ได้รับวิตามินดี. ออกแดดยิ่งมากยิ่งดี 
     หากออกแดดไม่ได้ก็ให้กินวิตามินดี.เสริมในขนาดวันละประมาณ 700 IU ต่อวัน บวกลบได้ตามขนาดเม็ดที่หาได้สะดวก (เช่นเม็ดละ 20,000 IU กินเดือนละสองเม็ด เป็นต้น) ส่วนการจะตรวจระดับวิตามินดี.ในเลือดก่อนเริ่มต้นกินวิตามินดี.เสริมหรือไม่นั้นสุดแล้วแต่ท่าน เอาแบบที่ชอบ ที่ชอบ ตรงนั้นผมถือว่าไม่ซีเรียส

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Vitamin D supplementation for prevention of mortality in adults. Bjelakovic G, Gluud LL, Nikolova D, Whitfield K, Wetterslev J, Simonetti RG, Bjelakovic M, Gluud C. Cochrane Database Syst Rev. 2014 Jan 10;(1):CD007470. doi: 0.1002/14651858.CD007470.pub3. PMID: 24414552
2. Lucas R, Neale R. What is the optimal level of vitamin D? - separating the evidence from the rhetoric. Aust Fam Physician. 2014;43(3):119-122.
de la Hunty A, Wallace A, Gibson S, Viljakainen H, Lamberg-Allardt C, Ashwell M. UK Food
3. Standards Agency Workshop Consensus Report: the choice of method for measuring 25-hydroxyvitamin D to estimate vitamin D status for the UK National Diet and Nutrition Survey. Br J Nutr 2010;104:612–19. Search PubMed
4. Heijboer A.C., Blankenstein M.A., Kema I.P., Buijs M.M. Accuracy of 6 routine 25-hydroxyvitamin D assays: influence of vitamin D binding protein concentration. Clin. Chem. 2012;58(3):543–548. (PubMed PMID: 22247500) 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67