จะทำอย่างไรดีกับลูกเลี้ยงที่ชอบเหวี่ยง
เรียนคุณหมอที่เคารพยิ่ง...
หนูขอคำปรึกษาจากคุณหมอสักครั้ง ตอนนี้หนูมีปัญหา ที่ไม่สามารถหาทางออกได้ คือต้องขอย้อนกลับไปเมื่อตอนที่หนูยังเป็นเด็ก หนูเป็นบุตรสาวคนเดียวของครอบครัวอาศัยอยู่กับแม่ตั้งแต่เกิด ไม่มีพ่อ เพราะพ่อได้ทิ้งไปตั้งแต่แม่ท้อง พอหนูเรียนอยู่ชั้น ป.3 แม่ได้ส่งหนูไปเรียนโรงเรียน ... ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กยากจน เป็นโรงเรียนประจำ กินนอนที่นั่นปิดเทอมได้กลับบ้านหนึ่งครั้ง หนูเป็นเด็กตั้งใจเรียน และพยายามทำสิ่งดีๆเพื่ออนาคตจะได้มีอาชีพที่ดีที่มั่นคง (มีเรื่องราวอีกมากมายที่ขอข้ามนะคะ )ตอนนี้หนูเป็นครูสอนมัธยมแห่งหนึ่งในจังหวัด ... ตอนเรียนมหาวิทยาลัย นอกจากแม่ที่ส่งเงินให้ใช้จ่ายแล้ว ยังมีน้องของแม่(น้าสาว)ที่ช่วยส่งให้ใช้ตลอด 4 ปีที่เรียน จนกระทั้งจบ หนูได้บรรจุเข้ารับราชการอายุ 25 ปี พอหนูอายุได้ 27 ปี(ยังไม่ได้แต่งงาน) แม่ของหนูได้รับลูกชายของลูกชายของน้าสาวมาช่วยเลี้ยง(เด็กอายุ1ขวบ 8เดือน) เนื่องจากพ่อกับแม่ของเด็กเลิกรากันไปไม่รับผิดชอบ ลูกชายของน้าสาวมีลูกชาย 2 คน คนโตคือคนที่แม่ของหนูรับมาเลี้ยง เหตุผลที่รับมาเลี้ยงเนื่องมาจากคิดว่าเป็นการทดแทนบุญคุณของน้าสาวที่เคยส่งเสียเงินทองให้หนูได้มีกินมีใช้ในยามเรียนมหาวิทยาลัย
เริ่มเมื่อปี ... ตอนนั้นยังเล็กเด็กน้อยคนนี้อายุ1ขวบ8เดือน เขาจะเรียกหนูว่าแม่ จนกระทั่งหนูได้แต่งงาน สองปีต่อมาเด็กน้อยคนนั้นก็มีอายุ3 ขวบ คงเข้าใจว่าหนูกับสามีเป็นพ่อและแม่ของแกจริงๆ แต่เราไม่ได้อยู่ร่วมกันนะคะ เด็กน้อยคนนี้อาศัยอยู่กับคุณแม่ของหนู ส่วนหนูทำงานที่อื่น อาทิตย์นึงกลับบ้านครั้งหนึ่ง จนกระทั่งปีต่อมาหนูมีลูกสาวคนแรก ตอนนั้นคุณแม่ของหนูได้พาเด็กน้อยนี้มาอยู่ร่วมกับครอบครัวของหนู รวมทั้งหมดอยู่กัน 5 คน (แม่ /ตัวหนู/สามี/เด็กชายคนนี้ และลูกสาวของหนู ปกติเด็กชายจะร้องไห้เก่งอยู่แล้ว แต่หนูสังเกตเห็นว่าแกจะร้องเก่งขึ้นตั้งแต่หนูมีลูก เราก็ดูแลเขามาเรื่อยๆจนกระทั่งเด็กชายอายุได้ 5 ขวบ พ่อแม่ของเขาก็ได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีก และมาขอเอาเด็กน้อยคนนี้ไปอยู่ร่วมกับครอบครัวเขาหนูก็ให้ไป ผ่านไปอีก 2 ปี พ่อแม่วัยรุ่นคู่นี้ก็เลิกกันอีก น้าสาวของหนูก็ขอให้หนูรับเอาเด็กผู้ชายคนนี้มาช่วยเลี้ยงดูอีกครั้ง สามีของหนูก็ไม่อยากรับมาเลี้ยงอีก เพราะเรามีลูกสาว 3 ขวบแล้ว ค่าใช้จ่ายของเราก็มีเยอะ แต่ด้วยความสงสารเด็กชายคนนี้ หนูจึงขอร้องและโน้มน้าวใจสามี ว่าอย่างน้อยเขาก็จะได้มาเล่นเป็นเพื่อนกับลูกสาวเพียงคนเดียวของเรา (ในตอนนั้นหนูตั้งใจจะมีลูกแค่คนเดียวเพราะมีปัญหาเรื่องพาหะธาลัสซีเมียในตัวสามี) ครอบครัวเราเลยรับเด็กคนนี้มาอยูู่ด้วยอีกครั้งนึง ณ เวลานั้นเด็กคนนี้มาเรียนชั้น ป.1
การมาอยู่ร่วมกันคราวนี้ กลับไม่ได้ราบรื่นเพราะพฤติกรรมที่เราเคยสั่งสอนและให้ปฏิบัติมามันกลับกลายเป็นแทนที่ด้วยพฤติกรรมที่ค่อนข้างแย่มากๆๆที่น่าจะได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่วัยรุ่นผู้ซึ่งขาดความรับผิดชอบ และความลำเอียงที่พ่อแม่รักคนน้องมากกว่ารักเด็กชายคนนี้ที่เพิ่งเคยไปอยู่ร่วมกับเขา แม่ของหนูก็เริ่มบ่น ด่า ทอ เด็กชายคนนี้มากขึ้น บางครั้งตัวหนูเองก็เผลอดุด่าแกไปบ้าง เด็กคนนี้จะร้องไห้ทุกครั้งที่ให้อาบน้ำ ขี้เกียจอาบน้ำ แปรงฟัน ทำธุระส่วนตัวของตนเองกขี้เกียจทำ ร้องไห้ ทุกเช้าที่ตื่นนอนไปโรงเรียน กลับจากโรงเรียนก็ขี้เกียจอาบน้ำ ทำการบ้าน หนูก็บอกกับสามีว่าอดทนอีกนิดนะเดี๋ยวเด็กก็น่าจะปรับตัวได้เพราะเค้าเคยอยู่กับเรามาแล้ว ผ่านไป 4 ปี ต่ทุกวันนี้ ก็จะมีเสียงบ่น ดุ ด่า ตำหนิเด็กชายจากแม่ของหนู และบางครั้งสามีของหนูก็อดที่จะว่ากล่าว ตำหนิแกไม่ได้ เพราะ สามีของหนูเริ่มระอากับพฤติกรรมของเด็กคนนนี้ที่ไม่ชอบอาบน้ำ ไม่ชอบแปรงฟัน ไม่ชอบทำการบ้าน ต้องให้หนูคอยถาม และคอยบอกถึงจะทำ ไม่คิดที่จะทำเอง บางครั้งโกหกว่าไม่มีการบ้าน ตัวหนูต้องคอยโทรไปถามที่โรงเรียนเรื่องพฤติกรรมของแก ทำงานอะไรจะทำแบบผ่านๆขอให้มันเสร็จๆไป ไม่ใส่ใจรายละเอียด ทั้งๆทีเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง และสามีของหนูก็บอกว่าไม่ต้องการให้ลูกสาวลูกชายของหนูเห็นตัวอย่างพฤติกรรมที่ไม่ดี เพราะเกรงว่าจะซึมซับเอาพฤติกรรมที่ไม่ดีหลายๆอย่าง เลยอยากให้หนูส่งตัวเด็กคนนี้กลับไปอยู่กับย่าแท้ๆของเขา(น้าสาวของหนู) ที่ภาคใต้ แต่หนูก็ขอว่า เราเลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เด็ก สงสาร ถ้าส่งกลับไปเด็กคนนี้ก็ต้องอยู่กับพ่อซึ่งติดยา และไม่มีความรับผิดชอบ แถมมีลูกใหม่กับภรรยาใหม่อีก ชีวิตของเด็กคนนี้ก็ยิ่งย่ำแย่ ไม่มีแม้แต่แม่ พ่อก็ไม่รัก ไม่สนใจ เพราะทุกวันนี้ ตั้งแต่เด็กชายคนนี้มาอยู่กับหนูตั้งแต่7 ขวบจน 11ขวบ พ่อ แม่ของเด็กคนนนี้ไม่เคยโทรมาถามข่าวคราว ไม่เคยส่งเงินมาให้ใช้ แม้แต่วันเกิดของเด็กคนนี้ ก็จะมีแค่หนู สามี แม่ของหนูลูกของหนูที่อยู่กับแกและให้ความสำคัญกับแก ทุกวันนี้หนูไม่รู้จะทำยังงัย บางครั้งก็มีความคิดอยากส่งกลับ เพราะสอนยังงัยเหมือนกับเด็กจะยิ่งมีทิฐิ ต่อต้าน และก็คิดว่าลูกของหนูจะเห็นตัวอย่างแบบนี้ทุกวันๆๆๆแล้วจะมีพฤติกรรมเลียนแบบหรือไม่ เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีพี่ใหญ่สุดเป็นต้นแบบ โดยส่วนตัวหนูคิดมาตลอดตั้งแต่รับแกมาเลี้ยงเมื่อ4ปีที่แล้วว่าเด็กจะซึมซับสิ่งดีๆที่หนูคอยสอนได้ เด็กทุกคนมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงเพราะเขาเป็นผ้าขาว หนูเชื่อมาตลอดว่าการปลูกฝังสิ่งดีๆให้กับเด็กคนนี้มันจะสามารถกลบพันธุกรรมของเค้าได้ แต่ผ่านมา 4 ปี จนแกอายุ 11 ปี นิสัย จิตใจข้างใน ตัวตนของแกกลับยิ่งฉายความเป็นตัวของเองออกมาทุกวัน บางครั้งหนูไม่ทราบว่าหนูเลี้ยงดูแกผิดพลาดตรงไหน เพราะหนูก็ค่อนข้างศึกษาและติดตามเพจของคุณหมอมาโดยตลอด เอามาปรับใช้กับลูกๆได้ดี แต่ไม่สามารถใช้กับเด็กคนนี้ได้เลย บางครั้งสอนๆอยู่ แกก็จะแสดงการต่อต้าน ทิฐิ
สามีของหนูต้องการตัดวงจรพฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กคนนนี้ออกไป ไม่อยากให้ลูกทั้งสองของหนูเห็น ยิ่งแยกแกออกแต่มันเหมือนกับยิ่งแย่ หนูคิดว่า เด็กคนนี้น่าจะต้องการความสนใจจากคนในครอบครัวหนู แกจึงแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีเพื่อเรียกร้องความสนใจโดยการแสดงออกมาแบบด้านลบ ตัวหนูก็ได้พยามบอกสามีและแม่ของหนูแล้ว แต่ก็ยังได้เห็นการดุด่า ตำหนิ ติเตียน ตะคอกเสียงดัง ใส่ เพราะด้วยตัวของเด็กคนนี้ได้กระทำในสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ทั้งๆที่เราเคยสอนมาแล้ว
หนูสงสารเด็กแต่ก็เกรงใจสามี เพราะครอบครัวเราก็ไม่ได้ร่ำรวย พอมีกินมีใช้ บางครั้งก็ขัดสนบ้าง เพราะรายได้มาจากเงินเดือนประจำของหนูกับสามี แต่ต้องเลี้ยงดูทุกคนในครอบครัว คือสามีมองว่าเราต้องรับผิดชอบเด็กคนนี้นี้ทุกอย่างเหมือนกับลูกตนเองแล้วแต่เด็กไม่ปรับตัว ไม่รู้จักทำตัวให้น่่ารัก บางทีก็เถียงแบบแก้ตัว ผิดแต่ไม่ยอมรับผิด จะโทษสิ่งนั้นสิ่งนี้ หาข้ออ้าง ข้อแก้ตัวอยู่ตลอด หนูจึงบอกสามีว่าอย่างน้อยเราก็ทำบุญนะ เลี้ยงเค้าไว้ เพราะปล่อยไปเค้าก็ไม่สามารถพึ่งพาใครได้ อีกอย่าง 4 ปีมาแล้วที่เค้ามาอยู่กับเรา จะให้เค้าปรับตัวอยู่กับครอบครัวทางโน้นอีก คงยากยิ่งกว่าอยู่กับเรา เพราะอย่างน้อยที่สุดเราก็ยังมีความรักให้ แต่เชื่อว่าเด็กคนนี้คงอยากได้ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนๆกับลูกๆของหนู แต่ก็ได้พยามบอกแล้วว่าเค้าโตแล้วพอที่จะรับผิดชอบตนเองได้แล้ว โตขึ้นจะได้สอนน้องๆบ้าง
หนูอยากสร้างสมดุลให้กับชีวิตครอบครัว เพราะตอนนนี้หนูอยู่ตรงกลางระหว่างฝั่งของเด็กคนนนี้ กับอีกฝั่งคือสามีและแม่ของหนู โดยมีลูกๆของหนูเป็นตัวผันตาม ไม่อยากให้เสียไปทั้งหมด ทำยังงัยก็ไม่ได้ บางครั้งก็พยามบอกว่า น้าเค้าเคยมีบุญคุณกับหนูมาก ตอบแทนบุญคุณเค้าเถอะ
เมื่อครั้งตอนที่หนูได้ตั้งครรภ์ลูกคนเล็กของหนู(เด็กชายคนนี้ 9 ขวบกว่าๆ) ณ เวลานั้นทุกคนในครอบครัวต่างพากันดีใจกันหมด แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งเด็กชายแสตมป์คนนี้ก็ได้ถามหนูขึ้นมาว่า แม่มีลูกอีกคนแล้วแม่จะให้ลูกไปอยู่ที่ไหน ไปอยู่กับใคร ณ เวลานั้นความดีใจของหนูหยุดชะงักไปชั่วขณะแต่ก็มีสติรับรู้ถึงความรู้สึกของเด็กคนนี้ และได้ตอบคำถามเด็กชายผู้น่าสงสารไปว่า แม่แอนน์ก็จะเลี้ยงดูแสตมป์ต่อไป อยู่กับน้องๆเหมือนเดิม ไม่ได้คิดจะทิ้งไปไหน อย่าดื้อ อย่าซนนะ สีหน้าและแววตาของเด็กชายมีรอยยิ้มจางๆขึ้นมาเล็กน้อยแต่หนูสังเกตเห็นถึงความกังวลใจที่มีอยู่ในหัวใจที่หนูไม่สามารถคาดเดาได้ทั้งหมด
ปัจจุบัน ปี 2563 เด็กเรียนอยู่ชั้น ม.2 (อายุ14 ปี) ปัญหากลับยิ่งมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีมีมากขึ้นและเด็กสามารถติดต่อกับ ย่า พ่อและแม่ที่แท้จริงของเขาได้ง่ายขึ้น แม่แท้แท้ของแสตมป์เริ่มแทรกแซงการควบคุมของที่บ้านเราเช่นกฎที่บ้านให้ใช้โทรศัพท์เป็นเวลาแต่ถ้าไม่ได้ตามที่ตกลงเราจะไม่ให้สัญญาณอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์ใช้ปรากฏว่าเด็กได้ตอบกลับตัวหนูว่าถ้าไม่ให้ก็ไม่เอาโดยแกได้ติดต่อไปยังแม่ที่แท้จริงและขอให้เติมเงินให้ เรื่องเริ่มยุ่งยากขึ้นเรื่อยเรื่อยถ้าเค้าไม่ได้ บอกให้เก็บเงินเหมือนที่เคยทำ ก็ไม่ทำจากนั้นเค้าจะโทรไปขอจากพ่อและแม่ของเขาเช่น ของเล่น โทรศัพท์ วัสดุต่างๆที่เค้าอยากได้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนตัวเค้าอยากจะได้สิ่งที่มันนอกเหนือจากความจำเป็นเค้าจะต้องเก็บเงินเองจากที่เหลือจากการไปโรงเรียนที่หนูให้เขาทุกวัน แต่ปัจจุบันถ้าเราไม่ให้เค้าก็ไม่ง้อและเขาก็จะไปขอจากพ่อและแม่ของเขาซึ่งพ่อและแม่จริงๆของแสตมป์ก็ยอมให้ในสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็น งานบ้านที่เคยทำ กลับทำแบบขอไปที ติดโทรศัพท์ โทรศัพท์หนูซื้อให้ตอนวันเกิด ป.5 โดยเงินออมของแกเองและหนูเพิ่มเติมให้ส่วนที่เหลือ แต่พอเสีย แกก็โทรไปขอจากย่าของแก ย่าทางโน้นก็ให้ หนูเคยโทรไปถามว่าจะรับกลับไปอยู่หรือไม่ถ้ารับกลับไปจริงๆก็พากันไปเลี้ยงดู ตัวหนูยินดีจะส่งคืนแต่ย่า พ่อ และแม่ของเขาไม่สามารถจะตอบรับและพาเด็กกลับไปอยู่และดูแลอย่างจริงจังได้ โดยบอกว่ามีค่าใช้จ่ายเยอะ ไม่สามารถดูแลได้ แต่ก็แทรกแซงวิธีการเลี้ยงดูของหนู ทุกวันนี้พวกเขาสบาย ค่าใช้จ่ายทุกอย่างเกี่ยวค่าเรียน ค่ากิน ค่าเที่ยว เครื่องใช้ เสื้อผ้าของส่วนตัวตั้งแต่หัวจรดเท้ามันเป็นความรับผิดชอบของหนูทั้งหมด แต่ของที่หนูซื้อให้และสั่งสอนเขาเขากลับมองว่าหนูไม่เคยให้อะไรเขาเมื่อเกิดปัญหาเวลาเค้าโมโหเค้าจะพูดขึ้นมาว่าหนูไม่เคยให้อะไรเขาและเคยพูดเถียงสามีของหนูว่า พ่อไม่เคยเอาอะไรให้แกมันทำให้สามีหนูรู้สึกไม่ดีมากๆ เพราะตั้งแต่เล็กๆมา สามีของหนู ทำกับข้าว ซักผ้า รับผิดชอบงานบ้านที่เกี่ยวกับเด็กๆ ช่วยหนูทุกอย่างแต่พ่อแม่ของเขาให้เล็กๆน้อยๆแต่เด็กกลับมองเห็นคุณค่ามากมายเช่นเติมเงินให้ 100 บาทหรือซื้อของเล่นรถแข่งให้ซักสอง 300 บาทเค้าจะเห็นคุณค่าของมันมากๆ ครอบครัวของแสตมป์ ไม่สารถรับเลี้ยงดูแสตมป์ได้ แต่ตอนนี้แกโตมากจนหนูเริ่มหมดวิธีทางแก้ไข
พอหนูพูดคุยถึงกฎของบ้านแกก็เถียงหนู ว่าหนูให้แกทำงานบ้านเยอะ สัญญาณอินเตอร์เนตก็ไม่ให้ บอกให้เล่นโทรศัพท์เป็นเวลา ก็เถียงว่าเล่นคลายเครียด ทุกวันนี้หนูส่งเสริมให้แกไปเล่นฟุตบอล เพราะแกมีความสามารถ เพราะแกบอกว่าไม่ชอบวิชาการ ตอนนี้หนูก็ไม่ได้บังคับเรื่องเรียนพิเศษขอให้ตั้งใจเรียนในห้องทำการบ้านให้ครบกลับมาบ้านให้อ่านหนังสือก่อนทำการบ้านให้เรียบร้อยถึงจะเล่นโทรศัพท์ได้แต่แกก็ไม่อ่านหนังสือแต่มีทำการบ้านเสร็จเรียบร้อย
เล่นเกมส์จนดึกพอเราไปเตือนก็ชักสีหน้าไม่พอใจ ตื่นสาย พอหนูยึดโทรศัพท์ก็บอกว่าไม่ไม่มีโทรศัพท์ตั้งปลุกแต่พอให้โทรศัพท์ไปก็ยังคงตื่นสายเหมือนเดิม ตอนนี้ติดเพื่อนมากๆเพราะเวลาวันเสาร์วันอาทิตย์จะไม่ช่วยทำงานที่บ้านจะแอบเอาจักรยานออกไปเที่ยวบ้านเพื่อนทั้งวันเราพอเราบอกว่าให้ทำงานบ้านให้เสร็จเรียบร้อยไปเล่นช่วงบ่ายแกก็ร้องไห้พูดจาไม่ดีและเถียงตลอดทุกคำ หนูยึดโทรศัพท์เพราะเล่นไม่เป็นเวลา แกก็พูดว่าไม่เคยได้อะไร จากหนูเลยสัญญาณอินเตอร์เน็ตก็ไม่ให้อยากจะเล่นบ้างคลายเครียด เขาติดเพื่อนมากๆและชอบเปรียบเทียบว่าเพื่อนเพื่อนของเค้าไม่มีใครได้ทำงานบ้านเหมือนเขาสักคน มีแค่เขาที่ต้องทำงานบ้านอยู่คนเดียวหนูก็ตอบกลับไปว่าบ้านเราเป็นแบบนี้กฎระเบียบที่บ้านของเราเป็นอย่างนี้เปรียบเทียบกันไม่ได้เค้าก็หาข้ออ้างไปเรื่อยๆมาเถียง
ถ้าเป็นเมื่อก่อนเค้ากลัวว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากหนูเค้าก็จะทำตัวดีพยายามไม่เล่นโทรศัพท์พร่ำเพรื่อแต่ปัจจุบันเค้าเหมือนมีที่พึ่งทางอื่นพอเราไม่ให้ทางนี้เค้าก็ไปขอจากพ่อแม่ของเขาที่อยู่พังงาซึ่งหนูเคยบอกทางโน้นแล้วว่าอย่ามาแทรกแซงการเลี้ยงดูของหนูเพราะมันทำให้แสตมป์นิสัยเสียและก้าวร้าวขึ้นมากๆแกจะพูดจาไม่ดีกับแม่ของหนูมากๆเถียงทุกคำไม่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเลยงานบ้านที่เคยทำดีดีก็ทำแบบขอไปที ทำไม่เรียบร้อย ชอบโกหก เราบอกซ้ายกลับทำขวา
สิ่งที่ทำทุกวันนี้เลวร้ายลงไปยิ่งกว่าตอนอยู่ประถม มันเกิดจากสาเหตุอะไรคะ เป็นเพราะพวกหนูมีกฎ ระเบียบมากเกินไปหรือว่าพวกหนูทำไม่ดีกับเขา หรือหนูยังให้เขาไม่มากพอ ทั้งทั้งที่เมื่อก่อนเคยทำดีแต่อยู่อยู่กลับแย่ลงมากๆ หนูเคยเรียกเขาเข้ามาคุยและถามเขาตรงตรงว่าอยากจะกลับไปอยู่กับพ่อแม่ของเค้าหรือเปล่าเรายินดีให้ไปแต่เขาก็ยังยืนยันว่าอยากจะอยู่กับหนู ซึ่งหนูก็บอกไปแล้วว่าถ้าอยากอยู่ที่นี่ต้องทำตัวใหม่ไม่ใช่ทำแบบนี้จากนั้นเขาก็จะหาคำพูดสารพัดมาว่าเรา เรากดดันเขาให้ทำแต่งานบ้าน เช่นเรื่องงานบ้าน อย่างงานบ้านว่าเค้าทำงานบ้านเยอะเพื่อนของเค้ายังไม่ได้ทำเลยบางทีก็เปรียบเทียบลูกของหนูสองคนว่ายังไม่ได้ทำงานบ้านอะไรซักอย่าง แต่ลูกสาวหนูสิบขวบก็ซักผ้าเอง ตากเอง หนูช่วยรีด ก็ทำหลายอย่าง ล้างแก้ว ล้างถาด เช็ดโต๊ะ พับผ้าใส่ตู้ ทำอะไรที่เหมาะสมกับวัย เรียกมาคุยดีๆเขาก็จะพยามหาข้ออ้างที่จะบอกว่าเป็นเพราะพวกหนูไม่ให้นั่น ไม่ให้นี่แก อะไรก็ไม่ได้ เล่นโทรศัพท์ก็ไม่ได้เล่นเหมือนเพื่อนๆคนอื่น คือสภาพแวดล้อมเด็กแถวบ้าน ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อยู่กับ ตายาย เขาจะมีวิธีการเลี้ยงดูที่ต่างจากหนูแน่นอน แต่พอหนูอธิบายเหตุผล เขาจะไม่ฟังเลย จะร้องไห้ และโวยวาย เถียง เพื่อจะไม่ให้ตัวเองผิด จะบอกว่าเพราะแม่ของหนูบ้าง เพราะหนูไม่เข้าใจแกบ้าง เพราะไม่มีใครรักแกบ้าง เขาไม่สามารถควบคุมตนเองได้เลย อ้างโน่นอ้างนี่ ชอบมาโกหก เช่น มาบอกว่าครูให้ไปซ้อมฟุตบอล ตอนบ่าย 2 แต่พอถามไปถามมา แล้วจริงๆเขานัด 4โมงครึ่ง คือทุกๆๆวันเขาจะทำยังงัยก็ได้เพื่อให้ได้ไปเที่ยวบ้านเพื่อนเพื่อจะได้เล่นเกมส์ แต่พอหนูยึดโทรศัพท์ก็ยังออกไปเพื่อไปเล่นกับเพื่อนๆ
หนูจะสามารถแก้ไขอะไรได้บ้างค่ะคุณหมอ วิธีไหนที่หนูจะจัดการปัญหากับครอบครัวหนูได้บ้างตอนนี้หนูมีลูกอีกสองคนที่ต้องดูแล คนโต 10 ขวบเป็นผู้หญิง คนเล็ก 4 ขวบเป็นผู้ชาย ลูกสองคนนี้จะดูการกระทำของ เขาทุกๆวันและการปฏิบัติตนของครอบครัวเราที่มีการทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ไปเรื่อยเรื่อยจะเกิดผลเสียแน่นอนใช่ไหมคะ หนูควรทำอย่างไรดีคะ ทุกวันนี้หนูไม่ได้คิดมากเรื่องลูกตัวเองเลย ไม่ได้เครียดเกี่ยวกับลูกตัวเอง แต่ไม่รู้จะทำยังงัยกับพฤติกรรรมของหลานคนนี้ หนูยังเคยคิดว่าสายสัมพันธ์ดีดีที่หนูมีให้แกมาตั้งแต่เด็กเด็กความผูกพันความรักความเอาใจใส่ที่หนูเคยมีให้จะสามารถทำให้แกเชื่อฟังหนูบ้างแต่มันไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเราสอนแกไม่ได้เลยพอเริ่มสอนก็จะเริ่มทะเลาะกันทันทีไม่ชอบให้แนะนำ ไม่ชอบให้สอน ไม่ชอบให้บอก แต่พอไม่บอกก็ไม่ทำในสิ่งที่แกรู้อยู่ว่าจะต้องทำ
คุณหมอคะ หนูควรส่งเขากลับไปอยู่กับครอบครัวของเขาดีมั้ยคะ แต่พวกเขาไม่เคยอยู่ร่วมกันมาก่อน เด็กชายอายุ 14 ปี คนนี้จะเกิดปัญหามากกว่านี้มั้ยคะ แต่ที่รู้คือ เด็กคนนี้ไม่เอาจริงจังอะไรสักอย่าง ตอนไม่มีกีตาร์ก็อยากจับ อยากจะเล่น แต่พอหนูจ้างครูมาสอนและให้ฝึกซ้อม กลับไม่เอาจริงจัง สนใจโทรศัพท์เท่านั้น การส่งเขากลับคืนไป เป็นหนทางแก้ไขที่ถูกต้องหรือป่าวคะ หนูไม่รู้จะทำยังไง ใจหนึ่งก็สงสาร เป็นห่วง แต่พฤติกรรมของเด็กคนนี้ คือไม่ชอบที่เราสอน ถ้าเราแนะนำอะไร ก็จะเถียงกลับมาว่า อย่ายุ่งเรื่องของแก ออกไปแนวก้าวร้าว ไม่มีสัมมาคารวะกับผู้ใหญ่ จนบางครั้งหนูเองก็คิดมากจนไม่รู้ว่าจะหาทางออกยังไง คือเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ ทิ้งไม่ได้ แต่อยู่แล้วพฤติกรรมยิ่งแย่กว่าตอนเป็นเด็กๆๆอีก
ขอรบกวนคุณหมอช่วยชี้แนะ แนวทางให้ หนูด้วยเถิดค่ะ
ขอบคุณมากๆๆค่ะ
.......................................................
ตอบครับ
พุทธัง ธัมมัง สังคัง ชีวิตมันก็คันอย่างนี้แหละหนอ
คุณเขียนมายืดยาวผมหลับๆตื่นๆอ่าน จึงไม่ขอสรุปนะ เพราะสรุปไม่ไหว ตอบคำถามเลย
1. ถามว่าทำไมลูกเลี้ยงถึงก้าวร้าวขึ้นทุกวันและเลี้ยงยากกว่าลูกจริง ตอบว่าเพราะพฤติกรรมของคน เกิดจากความคิด ความคิดเกิดจากกลไกการย้ำคิดที่บ่มมาตั้งแต่อดีต ชื่อว่าความคิดก็แน่นอนว่ามันเสี้ยมโดยสำนึกว่าเป็นบุคคลหรืออีโก้ของตัวเอง อีโก้มันบ่มตัวมันมาตั้งแต่จำความได้ ไฮไลท์อยู่ที่ความกลัวว่าตัวเองจะไม่ปลอดภัย จะไม่รอด จะถูกทิ้ง (survival instinct) นอกจากอีโก้ตัวเองจะเป็นตัวเสี้ยมแล้วมันยังมีลูกขุนพลอยพยักร่วมเสี้ยมด้วย เช่น การล้อเลียนของเพื่อนที่โรงเรียน การร่วมแจมขอแบ่งความรักจากตัวเด็กโดยพ่อแม่และย่าตัวจริงของเด็กเป็นต้น กลไกย้ำคิดนี้ภาษาหมอเรียกว่า conditioned reflex มันจะไม่เล็กลงนะ มีแต่จะใหญ่ขึ้น ยิ่งกังวลว่าตัวเองจะถูกทิ้ง พฤติกรรม "เหวี่ยง" ที่คุณเรียกว่าก้าวร้าวนั้นก็ยิ่งจะมากขึ้น คือจะเหวี่ยงจนได้เรื่อง ไม่งั้นไม่หยุดเหวี่ยง เพราะถ้าไม่ได้เรื่องอีโก้มันก็จะไม่เลิกระแวงว่ามันจะถูกทิ้ง จึงต้องเหวี่ยงจนได้เรื่อง มันจะเป็นเช่นนี้เสมอ และจะเป็นเช่นนี้เรื่อยไป จนกว่าเด็กจะบรรลุธรรม วางความคิดของตัวเองเป็น หรือจนกว่าจะหัวร้างข้างแตกกันไปข้างหนึ่ง จึงจะเลิกเหวี่ยงไปพักหนึ่ง พักไปไม่นานก็จะเริ่มบ่มเพาะการเหวี่ยงรอบใหม่อีก อามิตตาพะ..พุทธะ
2. ถามว่าการพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล จะแก้ปัญหานี้ได้ไหม ตอบว่าอาจจะได้หรืออาจจะไม่ได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับว่า "ร่อง" ความย้ำคิดในใจที่เด็กบ่มไว้อย่างซ้ำซากนั้นมันฝังลึกขนาดไหน และความสามารถที่เด็กจะเรียนรู้สังเกตความคิดตัวเองและวางความคิดให้เป็นนั้นพัฒนาขึ้นมาได้มากขนาดไหน การวางความคิดได้เป็นวิธียุติความย้ำคิดที่แน่นอนที่สุด ชัวร์ป้าด..ด 100% ผมรับประกัน ซึ่งหากทำได้ก็หมายความว่าบรรลุธรรมแล้ว
ส่วนการใช้ตรรกะของเหตุผลโดยตัวเด็กเอง จะลบร่องความย้ำคิดจากอดีตของคนเราได้ 100% หรือไม่ ไม่มีใครรับประกันได้ เพราะมันคนละเรื่อง มีกลไกมาคนละทาง ความย้ำคิดเป็นเรื่องของกลไกการเกิดความคิดที่โยงความจำจากอดีตเข้ากับความรู้สึกที่เพิ่งรับรู้เข้ามาผ่านอายตนะแล้วต่อยอดด้วยความคิด "พลอยพยัก" เป็นตุเป็นตะใหม่ๆที่ผสมโรงเกิดขึ้นอย่างเป็นอัตโนมัติ กลไกนี้จะบากร่องซ้ำซากใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น อย่างทรงพลังและเป็นสาเหตุให้คนเราเสพย์ติดความคิดตัวเองจนเป็นทุกข์กันทั้งโลกอยู่ทุกวันนี้ ส่วนตรรกะของเหตุผลนั้นเป็นแค่คอนเซ็พท์ที่ใจคนเรารับเอามาอย่างฉาบฉวยเพื่อให้อยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ รับมาอย่างเต็มใจรับบ้างไม่เต็มใจรับบ้าง เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง มันจึงมีพลังค่อนข้างจำกัด
3. ถามว่ามันมีวิธีไหมที่จะเลี้ยงดูเด็กที่ชอบเหวี่ยงให้ได้ดี ตอบว่ามีแต่ว่าไม่ประกันความสำเร็จนะ นั่นก็คือการให้ความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ใช่ตามใจนะ เรื่องวินัยนั้นเรื่องหนึ่ง แต่การให้ความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขนั่นอีกเรื่องหนึ่ง สองอย่างนี้ทำคู่กันไปได้ เด็กเหวี่ยงก็เหวี่ยงไป เหวี่ยงเละเทะแค่ไหนสิ่งที่เขาสรุปได้ทุกครั้งก็คือความรักที่ไม่มีเงื่อนไขจากคุณ แต่หากคุณจะเลือกวิธีนี้คุณต้องคุยกับสามีของคุณก่อนนะ เพราะหากคุณให้ได้ สามีคุณให้ไม่ได้ มันก็ไม่เวอร์ค
ถึงทั้งคุณและสามีใหัความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขได้ ก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่ามันจะได้ผล 100% นะ เพราะการลบร่องความคิดซ้ำซากที่บากลงไปลึกแล้ว มันลบยาก เมตตาธรรมอาจจะเป็นปัจจัยหลักอันหนึ่งแต่มันก็มีปัจจัยอื่นๆที่กำหนดการเกิดความคิดซ้ำซากนี้อีกมากซึ่งอยู่ในหัวของเจ้าตัว คนอื่นจะเข้าไปล้วงลูกควบคุมไม่ได้ ต้องรอให้เขาหลุดพ้นจากความคิดของเขาด้วยตัวเขาเองเท่านั้น ดูตัวอย่างจากตาเถรเทวทัตนั่นปะไร เขาเป็นลูกพี่ลูกน้องที่ได้รับความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขจากพระพุทธเจ้า แต่ความรักนั้นก็ยังลบร่องความย้ำคิดในหัวเขาไม่ได้ เห็นแมะว่าเมตตาธรรมมันอาจจะไม่เวอร์คทุกกรณีไป
4. ถามว่าการส่งเด็กกลับไปอยู่กับพ่อแม่และย่าที่แท้จริงของเขาเป็นการกระทำที่ถูกไหม ตอบว่าตอนนี้คุณมีทางเลือกอยู่สองทาง คือ (1) ส่งเด็กกลับไป (2) เลี้ยงเด็กเป็นลูกเลี้ยงต่อ ทั้งสองทางเลือกไม่มีผิดถูก ทั้งสองทางเลือกต่างก็เป็นเหรียญที่มีสองด้าน คือทั้งด้านสบายใจและด้านเครียด
ทางเลือกที่ 1. คือส่งเด็กกลับไปซะ ด้วยเหตุผลง่ายๆดื้อๆว่าเราไม่มีปัญญาเลี้ยงเขาแล้ว ด้านสบายใจก็คือคุณโล่งใจเรื่องแม่ เรื่องผัว เรื่องลูกของตัวเอง ด้านเครียดเท่าที่ผมฟังจากคุณมีสามอย่างคือ (1) ความรู้สึกผิดว่าไม่กตัญญูต่อน้า (2) ความรู้สึกผิดว่าทิ้งเด็ก (3) ความเมตตาต่อเด็กอย่างบริสุทธิ์ใจว่าชีวิตเขาจะแย่ลงหากออกจากคุณไปเข้าอ้อมกอดของพ่อขี้ยา
ประเด็นความรู้สึกผิด (guilty thought) ว่าอกตัญญูนั้นเป็นแค่ความคิดนะ หากคุณเป็นแฟนบล็อกหมอสันต์ตัวจริงคุณวางความคิดลงเสียก็จบแล้ว หรือหากคุณยังอยากจะใช้ความคิดไล่ความคิด คุณก็หาเหตุผลได้อย่างเช่นน้าส่งคุณเรียนหนังสือสี่ปีเป็นเงินกี่บาท คุณเลี้ยงหลานของน้ามาสิบกว่าปีเป็นเงินกี่บาท มันก็คุ้มกันแล้วไม่ใช่หรือ (หิ หิ เป็นต้น)
ประเด็นที่สอง คือความรู้สึกผิดที่ว่าทิ้งเด็ก นั่นก็เป็นแค่ความคิดนะ คุณเป็นครูช่วยเหลือเด็กให้มีชีวิตที่ดีมาแล้วนับไม่ถ้วน บางคนคุณช่วยได้มาก บางคนคุณช่วยได้น้อย ได้แค่ไหนก็แค่นั้น นี่คือชีวิตจริงของการเป็นนักบุญ ช่วยได้แค่ไหนก็แค่นั้น หลานคนนี้ก็เป็นเด็กที่คุณช่วยอีกคนหนึ่ง ก็ใช้หลักเดียวกัน ได้แค่ไหนก็แค่นั้น ความรู้สึกผิดเป็นความคิดไร้สาระที่โยงใยกับอดีตซึ่งไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง แค่ทิ้งความคิดนั้นไปซะก็จบ
เหลือประเด็นที่สาม คือความเมตตาต่อเด็กอย่างบริสุทธิ์ใจว่าชีวิตเขาจะแย่หากออกจากคุณไปอยู่กับพ่อแม่หรือย่าตัวจริงของเขา นี่ผมมองอย่างคนนอกนะ ความทุกข์ที่เกาะกินเด็กตอนนี้คือความย้ำคิดว่าชีวิตตัวเองไม่มั่นคง วิธีที่เด็กจะพ้นทุกข์มีทางเดียวคือได้เรียนรู้ความจริงของชีวิตว่าความมั่นคงในชีวิตนั้นไม่มีอยู่จริงดอก ชีวิตเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตให้เต็มศักยภาพที่ตัวเองมี แค่นั้น เรื่องมีคนรักตัวเองไม่มีคนรักตัวเองเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ เพราะ "ตัวเอง" นั้นแท้จริงแล้วเป็นแค่ความคิด เด็กจะไม่ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้หรอกถ้าเขาอยู่กับคุณในบรรยากาศปัจจุบัน วันๆเขาได้แต่มองความรักที่คุณและสามีให้กับลูกจริงแล้วเทียบกับสิ่งที่เขาได้ในฐานะลูกเลี้ยงแล้วย้ำคิดกังขาในความมั่นคงในชีวิตมากขึ้นๆโดยไม่มีคำตอบ ก็เลยพยายามเหวี่ยงเพื่อหาคำตอบ เหวี่ยงซ้ำ เหวี่ยงซาก จนคนรอบข้างเอือมระอา ชีวิตแบบนี้ไม่ใช่ชีวิตที่ดีสำหรับตัวเด็กนะ
เปล่า ผมเองก็ไม่ได้คิดว่าการที่เด็กกลับไปอยู่กับพ่อขี้ยาแล้วชีวิตเขาจะดีขึ้นดอก อย่างน้อยก็ไม่ดีขึ้นในแง่ของการมีเสื้อผ้าอาหารและโทรศัพท์มือถือและเงินทองใช้ ส่วนความกลัวว่าเขาจะไปติดยานั้นผมถือว่าไร้สาระ เพราะกลไกการติดยาเสพย์ติดก็คือความพยายามที่จะหนีไปให้พ้นความคิดซ้ำซากในหัวแต่ไม่รู้จะหนีไปทางไหนจึงหนีไปทางยาเสพย์ติด ดังนั้นโอกาสติดยาระหว่างอยู่กับพ่อที่ติดยา หรืออยู่กับพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงที่ด่าเขาและทะเลาะกับเขาทุกวัน เด็กมีโอกาสติดยาพอๆกัน การที่เด็กคอยชิ่งออกจากบ้านไปหาเพื่อนนั่นก็บอกอะไรบางอย่างแล้ว
แต่ประเด็นของผมคือการได้ไปอยู่กับพ่อจริงแม่จริงของเขามันเป็นขั้นตอนการเรียนรู้ที่เขาควรจะได้ผ่านได้ทดลองปฏิบัติ ภาษาการศึกษาเรียกว่าเป็นประสบการณ์เรียนรู้ที่จำเป็น (essential learning experience) คุณเป็นครูนี่ ผมพูดอย่างนี้คุณเก็ทใช่ไหมละ เด็กควรจะได้เรียนรู้ว่าความลุ่มหลงในอีโก้หรือความเป็นบุคคลของตัวเองที่เขาแสวงหาในรูปของความรักจากคนอื่น และเขาตั้งสมมุติฐานว่าเขาจะได้รับมันมากกว่าถ้าได้อยู่กับพ่อแม่จริงแทนที่จะอยู่กับพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงนั้น จริงหรือไม่อย่างไร เขาควรจะต้องได้ประสบการณ์จริงตรงนี้ก่อน เพื่อให้มันนำเขาไปบนเส้นทางที่จะจูงให้เขาสรุปได้ด้วยตัวเองในตอนท้ายว่าความรักหรือความมั่นคงในชีวิตที่เขาแสวงหานั้นแท้จริงแล้วไม่มีดอก เขาจะต้องเรียนรู้ที่จะเกิดมาแล้วใช้ชีวิตให้เต็มศักยภาพที่ตัวเองมีด้วยตัวเอง ได้เรียนรู้อย่างนี้แล้วชีวิตเขาจึงจะไปต่อเองได้ เหมือนที่ชีวิตของหมาแมวมันเกิดมาแล้วมันก็ไปต่อของมันได้เองทุกตัวโดยไม่คาดหมายให้ใครไปทุ่มเทความรักให้มันเลย
เด็กเพิ่งอายุ 14 ปี แม้มันอาจจะสายเกินไปที่ตัวคุณในฐานะแม่เลี้ยงจะไปลบร่องความย้ำคิดในใจของเขาที่เกิดจากการเติบโตมาในบรรยากาศบ้านทรายทอง แต่มันยังไม่สายที่เขาจะเรียนรู้ชีวิตด้วยตัวเขาเองหากปล่อยเขาออกไปให้พ้นอกคุณ ใครจะไปรู้ วันหนึ่งเขาอาจจะได้พบกับกัลยาณมิตรตัวเบ้ง สมมุติเช่นหลวงพ่อที่วัดถ้าเขาไปบวช หรือผู้บังคับหมวดเจ้านายของเขาเมื่อเขาไปเป็นทหารเกณฑ์ เป็นต้น คนเหล่านั้นอาจทำให้เขาวางความคิดของตัวเองได้สำเร็จและหันมาใช้ชีวิตได้เต็มศักยภาพที่เขามีก็เป็นได้
ทางเลือกที่ 2. คือเลี้ยงเด็กเป็นลูกเลี้ยงต่อไป ด้านสบายใจคือคุณไม่เกิดความรู้สึกผิดและมีความสุขที่ได้เมตตาเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่ง แต่ด้านเครียดคือความกลัวบ้านตัวเองจะแตก เพราะไม่ว่าจะเป็นด้านผัว ด้านแม่ และต่อไปอาจจะด้านลูกด้วย ที่ต่างก็จะถูกชักนำให้ต้องมาตบตีกันเพราะลูกเลี้ยงที่ชอบเหวี่ยงคนนี้
ทั้งสองทางเลือก คุณต้องชั่งน้ำหนักแล้วตัดสินใจเอง ผมตัดสินใจแทนคุณไม่ได้ คุณฟังผมตอบเรื่องทางเลือกที่หนึ่งคุณอาจจะเห็นว่าผมโปรทางเลือกที่หนึ่ง ซึ่งก็เป็นความจริง แต่ผมก็ไม่ได้ต่อต้านทางเลือกที่สองนะ การรับเด็กมาเป็นลูกเลี้ยงมีสองแบบคือเอาเด็กมาใช้แรงงานเป็นทาสหรือเอามาเลี้ยงต้อยไว้สนองตัณหาของตัวเอง กับแบบรับเลี้ยงด้วยเมตตาธรรมอย่างบริสุทธิ์ใจโดยไม่หวังอะไรตอบแทนจากเด็ก หรืออย่างมากก็แค่หวังว่าหากคุณเลี้ยงเขาดีมีความสุขโตขึ้นเขาจะกลับมาตอบแทนคุณบ้าง ของคุณเป็นแบบหลังแน่นอนไม่ใช่แบบแรก ผมไม่กังขา ดังนั้นผมไม่ต่อต้านหากคุณจะเลือกทางเลือกที่สอง มันไม่ใช่ทางเลือกที่เลวร้าย มีตัวอย่างเยอะแยะไปที่การรับเด็กมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรมแล้วมันเกิดประโยชน์สร้างสรรค์ทั้งขึ้นทั้งล่อง ไม่ต้องดูไกล ดูครอบครัวของผมเองก็ได้ ทุกวันนี้ผมมีคุณแม่ที่แก่แล้วและต้องการการประคบประหงมดูแล แต่ทำไมหมอสันต์ถึงแร่ด..ด ทำงานโน่นนี่นั่นให้กับคนไข้และคนทั่วไปจำนวนมากไม่หยุดหย่อนอยู่ได้ละ ก็เป็นเพราะผมมีน้องสาวคนเล็กอยู่ที่บ้านนอกช่วยดูแลคุณแม่แทน หากไม่มีเธอ หมอสันต์ก็ต้องเลิกกิจการที่ทำอยู่ทุกวันนี้ทั้งหมดเพื่อกลับไปอยู่บ้านนอกเพื่อดูแลคุณแม่ด้วยตัวเอง แล้วน้องสาวคนเล็กนี่เป็นลูกเลี้ยงของคุณแม่นะ คือคุณแม่รับมาเป็นลูกบุญธรรมตั้งแต่เด็กๆ แต่สิ่งที่เธอทำประโยชน์ให้ครอบครัวของเราในฐานะลูกคนเล็กนั้นมีมาก คือเพื่อจะได้ดูแลแม่ ขณะที่พี่ๆไปอยู่กรุงเทพกันหมดและคุณแม่ก็ไม่ยอมย้ายถิ่นฐาน เธอยอมอยู่บ้านนอกกับคุณแม่ รับราชการในตำแหน่งเล็กๆที่บ้านนอกทั้งๆที่เธอก็มีการศึกษาสูงจะไปไหนก็ไปได้ อยู่บ้านนอกเหงาเธอก็ทำธุรกิจเล็กๆที่บ้านด้วยซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ประเด็นสำคัญคือการที่เธอทำให้ผมเป็นอิสระ ได้ทำงานให้ความรู้ผู้ป่วยต่อหลังเกษียณได้นี่เป็นอะไรที่ดีกับตัวผมเองมากจริงๆ
ดังนั้นผมเชียร์ทางเลือกที่หนึ่งก็จริง แต่ไม่ต่อต้านทางเลือกที่สอง จะเลือกทางที่หนึ่งหรือทางที่สอง ผมได้แต่แชร์ข้อมูลและประสบการณ์ แต่คุณต้องตัดสินใจเอง
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์