ความเบื่อหน่ายหรือซึมเศร้า เป็นทางผ่านปกติไปยังความหลุดพ้น
เรียนคุณหมอสันต์
ฝึกฝนตัวเองมาสามสิบกว่าปี จนแน่ใจว่าตัวเองหลุดพ้นแล้ว ได้พยายามแชร์หรือถ่ายทอดให้คนอื่น แต่ไม่เป็นผลเพราะคนหลับเขาไม่ยอมตื่น มิหนำซ้ำการใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่เห็นความงก การจงใจเอารัดเอาเปรียบหรือทำร้ายกันของคนแล้วมันเกิดความเบื่อ เอือมระอา หรือซึมเศร้าก็ไม่รู้ ไม่อยากจะทำอะไรที่เคยทำ ไม่อยากจะพบจะพูดกับใครเพราะพูดไปก็ไม่มีใครรู้เรื่องที่เราพูด เหมือนตัวเองอยู่ในโรงพยาบาลคนบ้าโดยที่ตัวเองไม่บ้าอยู่คนเดียว แม้แต่หมอหรือพยาบาลก็บ้าหมด หรือในทางกลับกันตัวเราเองเป็นโรคจิตอยู่คนเดียวหรือเปล่า ถามครูบาอาจารย์ก็เอาแต่บอกว่าให้แผ่เมตตา อยากถามคุณหมอว่าดิฉันควรจะทำอย่างไรต่อดีคะ
..........................................................
ตอบครับ
คุณยังอยู่ในโลกของความคิด ทั้งหมดที่คุณบรรยายมานั้นคือความคิด มันเป็นอาการซึมเศร้าซึ่งมีฐานรากอยู่ที่ความคิด แต่ว่าตรงนี้มันเป็นทางผ่านปกติที่ผู้แสวงหาความหลุดพ้นจะต้องผ่านแทบทุกคน คือความเบื่อหน่ายในความไร้สาระของชีวิตและอยากไปเสียให้พ้นๆแต่ก็ยังไปไม่พ้น มันก็เลยเซ็งมะก้องด้อง มันเป็นสันดอนที่จะต้องผ่านไป ซึ่งบางคนก็ไปพ้นได้ บางคนก็ไปไม่พ้น
"..ถึงโลกกว้างใหญ่
ผมก็ไปไม่พ้น
สุดแผ่นดิน สิ้นกระแสชล
ไม่พ้นคุณ.
ทุกลมหายใจ
ทุกอุทัยโลกหมุน.."
หิ หิ ไม่เกี่ยวอะไรกันหรอก เผอิญคิดถึงเพลงของคุณพี่ธานินทร์ขึ้นมาได้ ขอแวะฮัมเสียหน่อย
กลับมาคุยกันต่อ ถามว่าดิฉันจะบ้าไหม ตอบว่าปั๊ดโธ่ มาถึงป่านนี้แล้วคุณจะไปกลัวบ้าทำไมอีกหละ มาถึงขั้นนี้แล้ว จวนเจียนจะหลุดพ้นอยู่รอมร่อแล้ว มันต้องบ้าก็บ้าสิวะ ความหลุดพ้นคือการทิ้งเส้นแบ่งว่านี่เป็นคุณ นั่นไม่ใช่คุณไปเสีย การที่คุณยังกลัวบ้าแสดงว่าคุณยังเป็นห่วง "นี่" ที่คุณสมมุติว่าเป็นคุณ แต่ผมจะบอกว่ามาถึงขั้นนี้แล้วไม่ต้องกล้วบ้า เพราะความเบื่อหน่ายมันเป็นของดี หากรู้จักใช้มันพาคุณหลุดพ้นได้
ความเบื่อหน่าย มันนำไปสู่ความจางคลาย (fading away) ซึ่งจะนำไปสู่การปล่อยวาง (detachment) ซึ่งนั่นก็คือความหลุดพ้น ความหลุดพ้นในอีกแง่หนึ่งก็คือการไปพ้นจากความคิดหรือวางความคิดได้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดที่ identify ความเป็นบุคคลของตัวเองเข้ากับคอนเซ็พท์หรือความคิดที่เราอุตสาห์ถนอมไว้มาตั้งนาน เช่นความคิดว่าเราจะเป็นพระมาลัยเท่ๆที่มาโปรดสัตว์ แต่พอถึงเวลาจะโปรดกันจริงๆแล้วพบว่าสัตว์มันวิ่งหนีเพราะมันกลัวหลุดพ้น พระมาลัยก็เลยเซ็ง ความเซ็งของพระมาลัยนี่แหละคือ identification หรือสำนึกว่าเป็นบุคคล ซึ่งคุณยังข้ามไปไม่พ้น
เอาเป็นว่าตอนนี้คุณเป็นโรคซึมเศร้า อาการของมันเกิดจากการที่คุณพยายามที่จะมุ่งสู่ความหลุดพ้นจนใกล้จะหลุดอยู่รอมร่อแล้วแต่ยังไม่หลุด เออ แล้วจะทำไงดีละ ยาต้านซึมเศร้าจะช่วยไหม หิ หิ ถ้ากินยาต้านซึมเศร้าแล้วบรรลุธรรมได้ป่านนี้คนบนเกาะอังกฤษบรรลุธรรมไปราว 20 ล้านคนแล้ว เพราะนั่นคือยอดใบสั่งยาต้านซึมเศร้าต่อปีของที่นั่น สิ่งที่ผมแนะนำคุณคือ
ก่อนอื่นมาจูนเทคนิคให้ตรงกันก่อน
คุณจะเรียนมาจากสำนักไหนหลวงพ่อไหนไม่สำคัญ แต่ตอนนี้คุณมาหาผมคุณต้องรู้เทคนิคหรือเครื่องมือที่ผมใช้ ไม่งั้นพูดกันไม่รู้เรื่อง ในการวางความคิด ผมแนะนำให้ใช้เครื่องมือเจ็ดอย่างเท่านั้น คือ
1. ความสนใจ (attention) ของคุณ ในแง่ที่คุณต้องดึงความสนใจออกมาจากความคิด
2. ลมหายใจ (breathing) ในแง่เป็นที่ที่คุณจะเอาความสนใจมาจอดไว้ได้
3. การผ่อนคลายร่างกาย (relaxation) หมายถึงการจงใจผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่างกาย
4. การรับรู้ความรู้สึกบนร่างกาย (body scan) ซึ่งแท้จริงแล้วมันหมายถึงการรับรู้พลังงานของชีวิต ที่แสดงออกเป็นความรู้สึกบนร่างกาย
5. การปลุกตัวเอง (alertness) ซึ่งใช้ประโยชน์เวลาคุณง่วงเหงาเซาซึม
6. การสังเกตความคิด (observing a thought) ไม่ใช้เข้าไปผสมโรงคิดต่อยอดนะ สังเกตอยู่ข้างนอก
7. การจดจ่อหรือสมาธิ (concentration) ก็คือการทิ้งอย่างอื่นหมด ให้ความสนใจจตจ่ออยู่กับเป้า (เช่นลมหายใจ) เพียงอย่างเดียวซ้ำซากๆตลอดเวลาจนเป้านั้นหายไป เหลือแต่ความรู้ตัว ณ จุดนั้นพลังงานจากภายนอกจะไหลเข้ามา ปัญญาญาณจะส่องสว่างให้คุณเห็นทางต่อไปเอง
เมื่อผู้แสวงหาอย่างคุณเดินทางมาถึงตำบลซึมเศร้า เครื่องมือสำคัญที่สุดที่ผมแนะนำให้คุณใช้ให้เป็นก็คือการรับรู้ความรู้สึกบนร่างกายหรือ body scan รายละเอียดผมเขียนไว้มากแล้วคงไม่ต้องเขียนซ้ำอีก มันสำคัญตรงที่ว่าความรู้สึกบนร่างกายนี้เป็นความรู้สึก (feeling) แล้วเจ้าความซึมเศร้านี่มันเป็นผีสองหัว หัวหนึ่งเป็นความรู้สึก อีกหัวหนึ่งเป็นความคิด (thought) มันจะโผล่หัวที่หนึ่งคือความรู้สึกบนร่างกายขึ้นมาก่อน แบบว่ามันปรากฎเป็นความรู้สึกหดๆหู่ๆ อึมๆครึมๆ หากคุณไวต่อความรู้สึกนี้ คุณก็จะรู้ได้ทันทีที่หมอกแห่งความซึมเศร้ากำลังแผ่มาปกคลุมคุณ ถ้ามันมาปุ๊บ ให้คุณประกบปั๊บ กอดมันไว้ทันที จุ่มแช่อยู่ในความรู้สึกนั้น รับรู้มัน feel มันจนชุ่มโชกและสะใจ แต่ไม่ดราม่านะ คือไม่มีความคิดต่อยอดบนความรู้สึกนั้น แค่รับรู้ความรู้สึกเฉยๆ ไม่คิดต่อยอด ทำอย่างนี้จนมันกลายเป็นเพื่อนคุณ คราวนี้มันจะมามันจะไป มันจะไม่มีผลอะไรกับคุณเลย แล้วธรรมชาติของ feeling ทุกชนิด มันมาแล้วมันก็ไป มันไม่ได้อยู่กับเราชั่วกัลปาวสาน นี่เป็นสัจจธรรม
ควบคู่กับการฝึกรับรู้ความรู้สึกบนร่างกาย คุณต้องฝึกสังเกตความคิด เพราะเมื่อมี feeling แล้ว มันจะตามมาด้วยความคิดเสมอเป็นวงจรอัตโนมัติซ้ำซาก หากคุณสังเกตความคิดไม่เป็น คุณก็จะถูกดูดเข้าไปอยู่ในความคิดที่ต่อยอดความรู้สึกนั้นแบบไม่ทันรู้ตัวแล้วก็จะถอนตัวไม่ขึ้น คือจะย้ำคิดวนไปวนมาอยู่ตรงนั้น การสังเกตความคิดไม่ใช่การเข้าไปผสมโรงคิดนะ แค่เป็นการเหลียวหรือย้อนกลับไปดู ว่าเมื่อตะกี้นี้คุณคิดอะไรอยู่ ดูแล้วก็ถอยความสนใจกลับออกมาอยู่กับลมหายใจหรืออยู่กับความรู้สึกบนร่างกายต่อ อย่าไปจอดอยู่ที่ความคิด ทำอย่างนี้ซ้ำๆแล้วความคิดมันจะฝ่อหายไปเอง
การสังเกตความคิดก็คือเทคนิคในการวางความคิดนั่นแหละ เมื่อคุณวางความคิดได้ หมายความว่าวางจนไม่เหลือความคิดเลย ไม่เหลืออะไรที่ใช้ภาษาเรียกชื่อได้อยู่ในหัวเลย คำพูดคำเดียวก็ไม่เหลือ เหลือแต่ความรู้สึก (feeling) ล้วนๆ รู้สึกถึงลมหายใจหรือความรู้สึกบนร่างกาย กับความรู้ตัว คุณต้องวางได้เกลี้ยงขนาดนี้ จึงจะสำเร็จวิชาการสังเกตความคิด
ด้วยเครื่องมือหลักสองชิ้นนี้ คุณจะเดินทางผ่านตำบลซึมเศร้าไปได้ แล้วคุณก็จะหลุดพ้นจริงๆ นั่นคือคุณจะไม่ทุกข์กับความคิดใดๆอีก
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์