ยาลดไขมันในขนาดสูง สัมพันธ์กับการเป็นกระดูกพรุน
สวัสดีคุณหมอสันต์ที่เคารพ
ดิฉันอายุ 58 ปี บุตรสองคน สูง152 หนัก 43 เป็นไขมันในเลือดสูง10 ปี กิน Chlovas 40 ครึ่งเม็ด ปัจจุบันไขมันเลวไม่เกิน100 และเป็นโรคกระดูกพรุนกระดูกทับเส้น ปวดหลัง ปวดสะโพก ปวดขาขวา กินแคลเซี่ยมและวิตามินดีวันละเม็ด ฉีดยาหน้าท้องทุก 6 เดือน
เมื่อช่วงโควิดเครียดหลายอย่างค่ะ ความดันขึ้นถึง 157/100 จากเดิมไม่เกิน 130/79 จึงทำตามคำแนะนำคุณหมอ 4 ข้อ ยกเว้นลดน้ำหนัก ลดอาหารเค็ม กินผักผลไม้มากขึ้น และออกกำลังกาย เดินเร็วบนสนามหญ้า (หมอกระดูกห้ามวิ่ง) วันละ 4-5 กม สับดาห์ละ 5 วัน บางครั้งก็เดินฟัง online clinicไปด้วย-ความดันลดลงไม่เกิน140/90
ดิฉันใช้Smart watch หลังเดินแล้วเปิดดู หัวใจเต้นเกิน140 ครั้ง อยุ่ในช่วงสีแดง ขณะเดินไม่ได้ดูค่ะ ลูกตั้งไว้ทำไรไม่เป็น ไม่เหนื่อยมากไม่แน่นหน้าอกร้องเพลงไม่เพราะ(อยุ่แล้วว)
คำถามค่ะ
1 อยากหยุดยาไขมันได้มั้ยคะ
2 หัวใจเต้นเร็วขณะออกกำลังกายแบบนี้อันตรายมั้ยคะ กลัวหัวใจวาย
กราบขอบพระคุณคุณหมออย่างสูง
..............................................
ตอบครับ
1. ถามว่าอยากหยุดยาไขมัน จะหยุดได้ไหม ตอบว่าได้สิครับ ตำรวจที่ไหนจะไปจับคุณ คนอย่างคุณ ผมหมายถึงคนที่เป็นผู้หญิง ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดชัดเจน เป็นกลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์จากยาลดไขมันน้อยที่สุดอยู่แล้ว หากอยากจะลดยาก็ลดได้ ผมแนะนำว่าให้คุณค่อยๆลดขนาดลงก่อน คุณตัวเล็กนิดเดียว ดัชนีมวลกายต่ำกว่า 18.5 แต่กินยาสะแตตินตั้ง 40 มก. นี่จัดว่าเป็นขนาดสูงมากสำหรับคุณนะครับ งานวิจัยพบว่าการกินยาสะแตตินขนาดสูงสัมพันธ์กับการเป็นโรคกระดูกพรุนมากขึ้น [1] ขณะที่การกินขนาดต่ำๆสัมพันธ์กับการเป็นโรคกระดูกพรุนน้อยลง ดังนั้นคนเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วอย่างคุณ หากจะกินยาลดไขมัน ขอให้กินขนาดต่ำๆไว้ดีที่สุด ต่ำที่สุดที่คนไข้ไทยเคยกินและคุมไขมันได้ดีคือ 5 มก. สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง สัปดาห์ละนะ ไม่ใช่วันละ ให้คุณค่อยๆลดลงไปจนเหลือต่ำขนาดนั้นก่อน อย่าเพิ่งหยุดฮวบฮาบ เพราะหากหยุดฮวบฮาบไขมันก็จะขึ้นมาฮวบฮาบแล้วคุณก็จะสติแตก
2. ถามว่าเป็นหญิงอายุ 58 ปี ออกกำลังกายแล้วชีพจรขึ้นไป 140 ครั้งต่อนาทีอันตรายไหม ตอบว่าไม่อันตรายครับ ตราบใดที่ไม่มีอาการเจ็บหน้าอกหรือหน้ามืดเป็นลม ค่าชีพจรสีเขียวสีแดงที่เครื่องตั้งไว้นั้นมักตั้งตามระดับความหนักของออกกำลังกาย คือให้การออกกำลังกายระดับหนักพอควรอยู่ในย่านสีเขียว และหนักมากอยู่ในย่านสีแดง จุดเปลี่ยนจากเขียวไปแดงก็มักตั้งกันที่ 70% หรือ 80% ของชีพจรสูงสุด ยกตัวอย่างเช่นคุณอายุ 58 ปี ชีพจรสูงสุดของคุณก็คือ 220-58 = 162 ครั้งต่อนาที 80% ของ 162 ก็คือ 129 ครั้งต่อนาที พอคุณวิ่งจนชีพจรขึ้นเกิน 129 มันก็เป็นสีแดง คือแดงกับเขียวบอกว่าอยู่ในระดับหนักปานกลางหรือหนักมาก ไม่ได้มีความหมายอะไรมากกว่านั้น
ไม่ได้หมายความว่าแดงแปลว่าใกล้จะตาย หรือเข้าเขตอันตราย อย่าเข้าใจผิดว่าสีแดงในที่นี้หมายถึงอันตราย เพราะในการออกกำลังกายนี้ คุณประโยชน์ของมันแปรผันตามขนาด (dose dependent) คือยิ่งมากยิ่งดี แปลว่ายิ่งหนักยิ่งดี ดังนั้นมาตรฐานการออกกำลังกายจึงให้ราคาการออกกำลังกายระดับหนักมากว่ามีประโยชน์เป็นสองเท่าของระดับหนักปานกลาง คือหากออกระดับหนักปานกลางต้องออกสัปดาห์ละ 150 นาที แต่หากออกระดับหนักมากออกสัปดาห์ละ 75 นาทีก็พอ พูดง่ายๆว่าออกกำลังกายให้อยู่ในสีแดงยิ่งเจ๋งกว่าสีเขียว ยิ่งวิ่งถึงสีแดงได้มาก ก็ยิ่งดี
มีบางคนวิ่งไปแล้วชีพจรขึ้นไปสูงกว่าชีพจรสูงสุดของตัวเอง สมมุติว่าคุณวิ่งแล้วชีพจรเกิน 162 แล้วก็สติแตกว่าจะตายไหม ตอบว่าไม่ตายดอก เพราะชีพจรสูงสุดที่คำนวณจากสูตร 220 - อายุ นั้นมันเป็นแค่การประมาณการคร่าวๆ มันไม่ใช่สมรรถนะสูงสุดของร่างกายของจริง ให้คุณใช้อาการของร่างกายประกอบด้วยจะแม่นยำกว่า เช่นอาการเจ็บหน้าอก อาการหมดแรง อาการหน้ามืด อาการเหล่านี้บ่งชี้ว่าคุณชักจะไปเกินสมรรถนะสูงสุดของร่างกายคุณไปแล้ว ควรจะต้องผ่อนลง
3. ประเด็นนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมเห็นคุณเล่ามาว่าหมอกระดูกห้ามวิ่ง ผมเดาเอาว่าหมอคงเห็นว่าคุณผอมแห้งแรงน้อย จึงเกรงว่ากล้ามเนื้อของคุณไม่มีแรงที่จะรับแรงกระแทกแทนกระดูกทำให้กระดูกมีความเสี่ยงต่อการเกิดรอยร้าวภายใน (stress fracture) ซึ่งมักเกิดกับกระดูกแข้งขาหรือเท้าในคนผอมแห้งแรงน้อย ผมแนะนำว่าแทนที่จะป้องกันปัญหาด้วยการไม่วิ่ง ให้คุณป้องกันปัญหาด้วยการ
3.1 เล่นกล้ามเพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขาและเท้า
3.2 เพิ่มน้ำหนักตัวด้วยการกินอาหารให้แคลอรีให้พอเพียงในรูปของคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเช่นธัญพืชไม่ขัดสีและหัวพืชใต้ดินต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายสลายเอากล้ามเนื้อมาเป็นแหล่งพลังงานแทนคาร์โบไฮเดรต
3.3 เรียนรู้เทคนิคการวิ่งไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกร้าว เช่น เพิ่มเส้นทางหรือความเร็วการวิ่งวันละนิด ไม่วิ่งเร็วๆไกลๆทันทีโดยไม่ได้ฝึกมาก่อน เวลาวิ่งให้ก้าวแต่ละก้าวสั้นๆจะลดแรงกระแทกได้มาก และฝึกวิ่งบนพื้นผิวที่หลากหลาย พื้นหญ้าบ้าง พื้นดินบ้าง พื้นหินบ้าง เป็นต้น
3.4 ใช้รองเท้าวิ่ง (running shoes) ที่ออกแบบให้ดูดซับแรงกระแทกได้ดี ใช้รองเท้าตามที่นักวิ่งมาราธอนอาชีพเขาใช้กัน เช่นรองเท้ายี่ห้อ Asics เป็นต้น
การออกกำลังกายที่มีแรงกระทำต่อกระดูกร่วมกับมีการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมากๆมีผลดีที่ช่วยทำให้มวลกระดูกชลอการพรุนลงและทำให้การทรงตัวดีขึ้น ลดโอกาสลื่นตกหกล้มอันเป็นสาเหตุที่แท้จริงของกระดูกหักลงไปด้วย ดังนั้นหากคุณอยากวิ่งผมแนะนำทำสี่อย่างข้างต้นแล้วก็วิ่งได้ อย่าไปปิดกั้นตัวเองว่านี่ทำไม่ได้ นั่นทำไม่ได้ แนวคิดอย่างนั้นจะทำให้คุณจำกัดการเคลื่อนไหวให้น้อยลงกว่าธรรมชาติ ท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่ภาวะง่อยเปลี้ยเสียขาทำให้ทรงตัวลำบากและลื่นตกหกล้มง่าย
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Leutner M, Matzhold C, Bellach L, et al. Diagnosis of osteoporosis in statin-treated patients is dose-dependent. Annals of the Rheumatic Diseases 2019;78:1706-1711.