คุยกันเรื่องสุนทรียะ (Aesthetic)

     เมื่อหลายวันก่อน เพื่อนคนหนึ่งของผมชื่อคุณกิ๊ก (พงศ์พันธ์ จันทร์เนตร) ซึ่งเป็นนักดนตรีและนักแต่งเพลง มาเยี่ยมที่มวกเหล็ก เขาเป็นนักแต่งเพลงระดับละเมียด เขาส่งเพลงของเขาเพลงหนึ่งชื่อ "ริมน้ำคืนหนึ่ง" เข้าประกวดเพลงนานาชาติระดับโลกที่อังกฤษแล้วชนะเลิศได้ที่หนึ่ง ในบรรดาเพลงที่เขาแต่งที่ผมชอบมากมีเพลงหนึ่งชื่อ "ต้องมนต์รัก" มีความไพเราะมาก เราคุยกันตอนกลางคืน ที่ศาลาหน้าบ้านโกรฟเฮ้าส์ในเวลเนสวีแคร์ เรื่องที่คุยกันคือสุนทรียะ (aesthetic) ซึ่งอาจจะมีประโยชน์ จึงเอามาเล่าให้แฟนบล็อกได้อ่าน

คุณกิ๊ก 

     ผมมีปัญหาว่าแค่ขยับจะพูดถึงสุนทรียะ คนก็ว่าเอาแล้วว่านามธรรมเกินไปไม่เข้าใจ บางครั้งวิธีสอนของผมจึงต้องใช้วิธีไม่พูดอะไรตรงๆ เช่นไปเดินเล่นกันนะ ไปเดินเล่น หมอสันต์ลองพูดถึงสุนทรียะในแบบที่ไม่ใช่นามธรรมหน่อยสิ

นพ.สันต์

     สุนทรียะ คือการเกิดความเบิกบาน จากการได้มีประสบการณ์รับรู้สิ่งเร้าผ่านสัมผัสทั้งห้าคือตาหูจมูกลิ้นผิวหนัง ในภาวะที่ไม่มีความคิด สิ่งเร้าเหล่านั้นอยู่ในธรรมชาติทั้งหมด แม้จะเป็นสิ่งเร้าที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นก็เป็นการสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยเลียนแบบธรรมชาติ

คุณกิ๊ก

     ในภาวะที่ไม่มีความคิดเลยหรือ?

นพ.สันต์

     ใช่สิ สุนทรียะเป็นความรู้สึก เป็น feeling ส่วนความคิดมันเป็น thought แม้ทั้งสองอย่างต่างก็เป็นประสบการณ์ที่เป็นเป้าให้ความสนใจไปรับรู้เหมือนกันก็จริง แต่ธรรมชาติของความสนใจของเรา มันจะรับรู้ของสองสิ่งพร้อมกันไม่ได้หรอก คือถ้าใจมีความคิด ก็ไม่มีสุนทรียะ 

คุณกิ๊ก

     หมายความว่าคอนเซ็พท์ต่างๆเกี่ยวกับสุนทรียะไม่จำเป็น

นพ.สันต์

     สุนทรียะมันเป็นธรรมชาติประจำเผ่าพันธ์มนุษย์นะ เป็นลักษณะประจำ species ของเรา มันมาก่อนภาษา อย่าลืมว่าภาษาเป็นที่มาของคอนเซ็พท์หรือความคิด แต่สุนทรียะมันเป็นลักษณะประจำตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด เหมือนความรู้ตัวหรือ awareness ที่เป็นลักษณะประจำตัวเรามาตั้งแต่เกิด ทำไมคนทุกชาติทุกภาษาจึงมีความรู้สึกเบิกบานที่คล้ายๆกันเมื่อเห็นตะวันขึ้น เมื่อเห็นตะวันตก เมื่อเห็นหยาดฝนค้างบนใบไม้หลังฝนตกใหม่ๆ หรือเมื่อเห็นลูกของสัตว์ตัวเล็กๆที่น่ารัก ทำไมพ่อแม่จึงรักและผูกพันกับลูก ทำไม่เมื่อเห็นคนเศร้าแล้วเรามีเมตตาธรรมอยากปลอบโยน นี่มันเป็นลักษณะร่วมที่คนทุกชาติทุกภาษามีเหมือนกันหมด ราวกับว่ามันมาจากบ่อกลางที่ทุกคนใช้ร่วมกัน ส่วนสำนึกว่าเราเป็นบุคคลก็ดี คอนเซ็พท์ต่างๆก็ดี มันเป็นภาษา มันมาทีหลัง ที่เขาว่าศิลปะมันเป็นสากล ก็คือสุนทรียะมันเป็นลักษณะร่วมของมนุษย์ทุกคนอย่างนี้

คุณกิ๊ก

     ถ้าไม่มีความคิดมาเกี่ยวข้อง ไม่มีภาษาที่ใช่สื่อสารกันมาเกี่ยวข้อง แล้วสุนทรียะมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไรละ หากไม่เกิดจากการสอน

นพ.สันต์

     มันก็เกิดขึ้นจากภาวะปลอดความคิดไง เมื่อสงัดจากความคิด ก็เหลือแต่ความรู้ตัวอยู่ในความว่าง อาจจะแว้บหนึ่งก็ได้ แว้บนี้แหละจะมีพลังงานจากข้างนอกไหลเข้ามา หรือจากส่วนลึกของความเป็นเรานี่เองก็ไม่รู้เหมือนกัน เอาเป็นว่ามีพลังงานไหลเข้ามา พลังงานนี้ส่วนหนึ่งมันเป็นความเบิกบาน อีกส่วนหนึ่งมันเป็นปัญญาญาณ จะเรียกว่า intuition หรือ insight ก็ได้ มันจะชี้นำคุณให้เข้าถึงสุนทรียะต่อสิ่งรอบตัวคุณ 

คุณกิ๊ก

     อ้าว ถ้าพูดอย่างคุณหมอ ครูอาจารย์ทางด้านสุนทรียศาสตร์ก็ไม่จำเป็นสิ

นพ.สันต์

     ครูอาจารย์ก็มีประโยชน์ในแง่ที่จะชี้หรือเปิดประเด็นให้เห็นนิดหนึ่ง นิดเดียวนะ เมื่อศิษย์อยู่ใกล้ตรงนั้นอยู่แล้ว พอครูชี้นิดเดียวแล้วเห็นตามเลย เช่นว่า

     "คุณมองดูตรงนั้นนะที่แสงตัดลงมา ทำให้เกิดเงาแบบนี้ มันงามนะ เห็นไหม"

คุณกิ๊ก

     ถ้างั้นบทบาทหลักของครูอาจารย์ก็คือสร้างหรือหาบรรยากาศที่เห็นหรือสัมผัสสุนทรียะได้ง่าย

นพ.สันต์

       ใช่ เพราะสุนทรียะมันมีอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว ครูไม่ได้สร้างขึ้นมาให้ศิษย์เห็น เหมือนความรู้ตัวซึ่งพอหมดความคิดก็มีความรู้ตัวซึ่งอยู่ที่นั่นอยู่แล้วก็จะฉายแสงออกมาเอง ครูแค่เปิดแง้มม่านหรือชี้ประเด็นนิดเดียว 

     แต่ถ้าไม่ระวังครูก็จะกลายเป็นโทษนะ ความที่สุนทรียะก็คือความเบิกบานกับธรรมชาติรอบตัวเรา สุนทรียะมันจึงกว้างใหญ่ มนุษย์จึงสะสมแง่มุมต่างๆของสุนทรียะไว้แยะมาก การจะเปิดประเด็นให้เห็นมันได้ง่ายมันก็เลยต้องมีการแยกแยะเป็นสาขาเช่นจิตรกรรม ปฏิมากรรม ดนตรี สถาปัตยกรรม แถมยังต้องแยกแยะไปตามยุคสมัย คลาสสิก เรอนาซอง เรียลลิสม์ อิมเพรสชั่นนิสม์ เอ็กซเพรสชั่นนิสม์ นีโอคลาสสิก โมเดอร์น แล้วยังต้องจำแนกไปตามชาติพันธุ์หมู่ชนและชุมชนอีก เช่นถ้าลายเป็นตุ๊กแกอย่างนี้หมู่ชนนี้ถือว่างาม หมู่ชนนั้นถือว่าไม่งาม ทั้งหมดนี้กลายเป็นวิชาสุนทรียศาสตร์ที่สรุปรวบยอดความคิดหรือคอนเซ็พท์ทั้งหมดมาสอนกันในสถาบันศิลปะทั่วโลก โทษของมันก็คือว่าหากเราใช้วิชานี้มาเสริมอัตตาของเราเอง และด่าคนอื่นที่ไม่ได้เรียนวิชานี้ว่าโง่เง่าไม่มีสุนทรียะ ทั้งตัวครูและลูกศิษย์ก็พากันเข้าป่าไปเลยเรียบร้อย 

คุณกิ๊ก

     เมื่อตะกี้คุณหมอสันต์ว่าศิลปะเป็นสากล คุณหมอว่าอะไรหรือที่เป็นคอนเซ็พท์ร่วมหรือเป็นข้อเห็นพ้องร่วมกันของมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาในเรื่องศิลปะหรือสุนทรียะ 

นพ.สันต์

     เอ้อ อันนี้ผมคิดคำตอบขึ้นมาเท่าที่จะคิดได้นะ อาจจะไม่ตรงกับหลักวิชาที่สอนกันอยู่ในสถาบันศิลปะใดๆก็ได้ สิ่งที่มนุษย์เราเห็นพ้องกันว่า "งาม" หรือ "เจ๋ง" ผมว่ามันน่าจะมีจุดร่วมอยู่ประมาณสี่อย่างนะ 

     หนึ่ง ก็คือสุนทรียะของจริงนั้นเกิดจากการอิ่มเอิบกับประสบการณ์ในธรรมชาติ แล้วศิลปินก็ลอกเลียนธรรมชาตินั้นมานำเสนอซ้ำ ดังนั้นงานศิลปะใดที่ลอกเลียนธรรมชาติงานศิลปะนั้นก็มีลักษณะเป็นสากลอยู่ในตัวของมัน

     สอง ก็คือ ความพลิ้วไหว ซึ่งมักจะเกิดจากความช่ำชองของศิลปินผู้นำเสนองานศิลปะ ยกตัวอย่างเช่นเราเห็นลายการตวัดพู่กันจีนโบราณด้วยความเร็วและช่ำชองในภาพต้นไผ่ลู่ลม คนชาติไหนก็ตามดูก็จะเห็นความงามของความพลิ้วไหวนั้น หรืออย่างที่คุณใส่ลูกเล่นหรือจังหวะเร่งเร้าในการเล่นเครื่องดนตรี ใครฟังก็รับรู้ความไพเราะของลูกเล่นนั้น ดังนั้นความพลิ้วไหวนี่ก็เป็นความเป็นสากลในงานศิลป์

     สาม ก็คือ องค์ประกอบงานศิลป์ที่มีสไตล์ของตัวเอง คือสไตล์เป็นความงามอย่างหนึ่ง แม้จะไม่เหมือนใครแต่สไตล์อิสระไม่ว่าจะแหกคอกอย่างไรก็เป็นความงามที่คนทุกชาติทุกภาษามองเห็นได้ แน่นอนว่าย่อมจะมีการวิจารณ์ ติติง ซาบซึ้ง หรือต่อต้าน มีการตีความ พิพากษา ตัดสิน แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่สีสันประกอบภายนอก ซึ่งไม่อาจทำให้ความเป็นสากลของงานศิลปะที่มีสไตล์ของตัวเองลดลงไปดอก 

     สี่ ก็คืออะไรก็ตามที่ทำให้อิ่มเอิบได้โดยไม่เกี่ยวกับว่าท้องจะหิวหรืออิ่ม จะราคาถูกหรือราคาแพง นั่นก็เป็นความเป็นสากลของสุนทรียะหรืองานศิลปะ เพราะความงามของธรรมชาติหรือในงานศิลปะใดก็ตาม มันก็งามของมันอยู่แล้วอย่างนั้นแหละ มองหรือได้ยินเมื่อไหร่ก็งามเมื่อนั้น จะตอนท้องหิวหรือท้องอิ่มมันก็งาม จะถูกหรือแพงมันก็งาม จะขายได้ขายไม่ได้มันก็งาม คือพูดง่ายๆว่าความงามที่เป็นสากลมันไม่เกี่ยวกับวัตถุนิยมหรือความร่ำรวย 

     ทั้งสี่ประการนั้นคือสิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นจุดร่วมหรือความเป็นสากลของสุนทรียะหรืองานศิลปะ

คุณกิ๊ก

     ไม่นานมานี้ผมสอนคนกลุ่มเล็กๆให้แต่งเพลงให้เป็น แล้วก็มีบางคนที่เก็ทและไปต่อเองได้ดีมาก ผมจึงมีความบันดาลใจขึ้นมาว่าผมอยากจะพูดเรื่องสุนทรียะ โดยพูดออกไปจากมุมมองของดนตรีและการแต่งเพลง

นพ.สันต์

     ดี คุณพูดสิ คุณมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเป็นคนพูด ในสังคมไทยผมไม่เคยได้ยินใครพูดเรื่องนี้อย่างเป็นกิจจลักษณะเลยนะ ทั้งๆที่มันมีความจำเป็น เพราะชีวิตผู้คนทุกวันนี้มัวไปขลุกอยู่ในความคิด ในรูปของการปากกัดตีนถีบทำมาหากินหรือการไล่ตามความต้องการเชิงวัตถุนิยม การไปทางนั้นไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จในแง่ของการได้เงินได้วัตถุ แต่สุดท้ายมันก็จะเป็นทางตันอยู่ดี เพราะความเบิกบานในชีวิตไม่ได้เกิดจากการได้ครอบครองอะไร เพราะการลำพองว่าได้ครอบครองอะไรนั้นมันเป็นเพียงความคิด แต่ความเบิกบานมันเป็นความรู้สึก มันเป็น feeling มันคนละเรื่องกับความคิด ท้ายที่สุดจึงจะพบว่ามันเป็นทางตันเสมอ มันไม่ใช่ ถึงตรงนั้นแล้วจะรู้สึกว่าชีวิตมันควรจะมีอะไรมากกว่าการมาหมักเม่าอยู่กับความคิดเชิงวัตถุนิยมอย่างนี้ ลึกๆแล้วคนที่มาถึงทางตันจะรู้สึกว่าชีวิตมันน่าจะเบิกบานและเต็มอิ่มมากกว่าการไล่ตามความคิดที่ไม่วันตามกันทันอย่างนี้ การจะผ่าทางตันนี้ มันต้องวางความคิดแล้วถอยกลับมาสู่รากของความเป็นมนุษย์ของเรา นั่นก็คือสุนทรียะ มันเป็นวิธีทำให้คนมีความสุขได้ง่ายๆโดยไม่ต้องลงทุนด้วยเงินหรือวัตถุมากมายเลย เราคนไทยจึงควรจะหันมาพูดถึงสุนทรียะและทดลองปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงสุนทรียะกันให้มากขึ้น 

คุณกิ๊ก

     ถ้าผมจะทำในรูปแบบแค้มป์สอนกลุ่มคนเล็กๆ โดยพามาที่นี่คุณหมอว่าดีไหม

นพ.สันต์

     ดีครับ สถานที่ตรงนี้ปกติผมใช้เฉพาะสอนการดูแลสุขภาพร่างกายบ้าง สอนด้านสุขภาพจิตหรือการฝึกฝนทางจิตวิญญาณบ้าง ให้คนมารวมกลุ่มฝึกนั่งสมาธิบ้าง เรียนวาดรูป เรียนร้องเพลงบ้าง ไม่เคยใช้ไปในด้านวัตถุนิยม เคยครั้งเดียวคือใช้เป็นที่แต่งงานให้ผู้จัดการของผมเองเมื่ออาทิตย์ก่อน ซึ่งเป็นงานแต่งงานในรูปแบบที่เรียบง่ายโรแมนติกดีมาก คุณอยากใช้ที่ตรงนี้สอนเรื่องสุนทรียะก็ถูกสะเป๊คของสถานที่เลยแหละ คุณมาใช้ได้เลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67