จะไปเจาะเลือดตรวจอัลไซเมอร์ สามีบอกว่าไม่ต้องตรวจก็รู้แล้ว
(ภาพวันนี้: เวอร์บิน่า ที่หน้าบ้าน ออกดอกมาเดือนกว่าแล้ว)
เรียนคุณหมอสันต์
ดิฉันจะไปร่วมงานมหกรรมตรวจเลือดดูโรคอัลไซเมอร์ของคุณหมอ … ที่ … แต่สามีซึ่งเป็นแพทย์แต่ไม่ใช่หมอรักษาสมองทักท้วงว่าไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไร ไม่ต้องตรวจก็รู้อยู่แล้ว..ทำนองนั้น ดิฉันอยากเรียนถามคุณหมอสันต์ว่าการตรวจเลือดหาอัลไซเมอร์นี้เชื่อถือได้จริงไหม หากตรวจแล้วจะวินิจฉัยได้เลยไหม และสำหรับผู้สูงอายุทั่วไปอย่างดิฉันนี้ (78 ปี) การตรวจเลือดหาอัลไซเมอร์จะมีประโยชน์ไหม
ขอบพระคุณค่ะ
……………………………………………………………..
ตอบครับ
1.. ถามว่าการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ด้วยการเจาะเลือดทำได้ไหม ตอบว่าสมัยก่อนทำไม่ได้ เพิ่งมาทำได้เมื่อไม่นานมานี้เองครับ
โรคอัลไซเมอร์นี้แรกเริ่มเดิมทีจะวินิจฉัยได้ต้องรอให้ผู้ป่วยม่องเท่งไปก่อนแล้วค่อยเอาสมองมาตรวจหาโปรตีนผิดปกติชื่อเทา (tau) และหาแป้งผิดปกติชื่ออะไมลอยด์ (amyloid) ถ้าพบสองอย่างนี้ก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์
ต่อมาการวินิจฉัยก่อนตายเริ่มเป็นที่ยอมรับกันว่าหากเจาะเอาน้ำไขสันหลังมาตรวจแล้วพบทั้งสองตัวนั้นควบกับการตรวจภาพของสมองเช่น PET scan ได้ผลบวกก็วินิจฉัยว่าเป็นอัลไซเมอร์ได้
มาถึงปัจจุบันนี้ผมเพิ่งเห็นมีงานวิจัยจากทางยุโรปตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Brain เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้เอง ว่าคณะผู้วิจัยพบวิธีเจาะเลือดตรวจดูโปรตีนเทาที่ออกมาจากสมองได้แม่นยำพอๆกับการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง วิธีที่เขาวิจัยคือสร้างตัวแอนตี้บอดี้ที่เจาะจงจับกับโปรตีนเทาจากสมองโดยเฉพาะเพื่อไม่ให้ไปจับกับโปรตีนเทาจากอวัยวะอื่นเปะปะ แล้วพัฒนามาเป็นการเจาะเลือดตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์เพื่อใช้ในการวิจัยทางคลินิก ซึ่งที่คุณจะไปร่วมงานเขาครั้งนี้ผมเดาเอาว่าก็คงเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเช่นกัน ไม่ใช่การบริการที่คลินิกตามปกติ
2.. ถามว่าการไปเจาะเลือดตรวจคัดกรองอัลไซเมอร์มีประโยชน์ไหม ตอบว่าก็มีประโยชน์ตรงที่จะได้ไปเที่ยวงานมหกรรมไงครับ เป็นสีสันในชีวิตอย่างหนึ่งของผู้สูงวัย ซึ่งปูนนี้แล้วจะไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์แบบเด็กๆเขาก็คงไม่ให้เข้าแล้ว
แต่ที่สามีของคุณพี่ตั้งข้อสังเกตมันก็มีประเด็นนะ ว่าก็ในเมื่อไม่ต้องตรวจก็รู้ว่าตัวเองขี้หลงขี้ลืมอยู่แล้ว ทำไมไม่วินิจฉัยว่าตัวเองเป็นโรคสมองเสื่อมเรียบร้อยแล้วและลงมือจัดการโรคนี้ด้วยตัวเองไปเลย ไม่ต้องเที่ยววิ่งตรวจโน่น นี่ นั่น ก่อนหรอก เพราะโรคเรื้อรังทั้งหลาย ปัญหามันไม่ใช่อยู่ที่การวินิจฉัย แต่อยู่ที่การลงมือจัดการโรค อย่าเอาแต่รำมวยตรวจนั่นตรวจนี่แต่ไม่ลงมือทำอะไรในแง่ของการจัดการโรคสักที เนื่องจากโรคเรื้อรังทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง ทั้งหมดนี้ยังไม่มียารักษาให้หายได้ ตรวจวินิจฉัยยืนยันได้แน่นอนก็ใช่ว่าหมอเขาจะเสกให้หายได้ แต่มีหลักฐานวิจัยว่าการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตคือเปลี่ยนการกินการอยู่จะทำให้โรคดีขึ้นหรือถึงกับหายได้ ซึ่งการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตนี้ไม่ใช่ว่าหมอเขาจะมาเปลี่ยนให้เรานะครับ เรานี่แหละต้องเปลี่ยนของเราเอง ดังนั้นแค่มีเบาะแสให้สงสัยว่าเราจะเป็นโรคเรื้อรังโรคใดโรคหนึ่งข้างต้นให้วินิจฉัยตัวเองไปเลยว่าเป็นโรคนั้นไปเรียบร้อยแล้วจะได้ไม่ต้องวิ่งตรวจแต่ลงมือเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตเลยทันทีตั้งแต่เดี๋ยวนี้เป็นต้นไป ไม่ต้องรอให้หมอเขาวินิจฉัยยืนยันก่อนจึงค่อยเปลี่ยนตัวเองหรอก วิธีนั้นมันเป็นการหลอกตัวเองแบบหาเรื่องชกลมไปเพื่อจะได้ไม่ต้องทำอะไรจริงจัง
3.. ข้อนี้สำหรับท่านผู้อ่านทุกท่านด้วยนะครับ งานวิจัยชิ้นหนึ่งทำโดย Chicago Health and Aging Project และ Rush Memory and Aging Projects ได้ใช้ตัวชี้วัดวิธีใช้ชีวิตออกมาเป็นคะแนนในหกประเด็นคือ การกินอาหารดีต่อสมอง (MIND diet ซึ่งผมเคยเขียนถึงบ่อย) การออกกำลังกาย การเลิกบุหรี่ การนอนหลับ การผ่อนคลายความเครียด และการทำกิจกรรมกระตุ้นสมอง งานวิจัยพบว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามปัจจัยด้านวิถีชีวิตเหล่านี้ ผู้ที่ปฏิบัติตามปัจจัยด้านเหล่านี้ได้ถึงสองหรือสามอย่าง มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ลดลง 37% ขณะที่ผู้ที่ปฏิบัติตามได้สี่หรือห้าอย่าง ปัจจัยเหล่านี้ลดความเสี่ยงลงได้ถึง 60% ซึ่งเหลือเชื่อ เป็นครั้งแรกที่ผลวิจัยสรุปว่าผู้ที่ใช้ชีวิตแบบเอื้อต่อการมีสุขภาพดี ลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมลงได้ถึง 60% ย้ำ สมองเสื่อมป้องกันได้ 60% โดยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดีในหกประเด็นหลัก คือ
(1) อาหารแบบ MIND diet ซึ่งไฮไลท์สิบอย่างคือ ผักใบเขียว, ผักทั่วไป, นัท, เบอรี่, ถั่วต่างๆ, ธัญพืชไม่ขัดสี, อาหารทะเล, เป็ดไก่, น้ำมันมะกอก, เหล้าไวน์
ในภาพรวมอาหารที่ดีต่อสมองควรเป็นอาหารพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติและมีความหลากหลาย ทั้งยังควรต้องเป็นอาหารที่เพิ่มความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้ด้วย (pre/pro biotic)
(2) การออกกำลังกาย ซึ่งต้องทำให้ถึงระดับหนักพอควร ต้องเล่นกล้ามด้วย ต้องฝึกการทรงตัวด้วย
(3) การนอนหลับ ซึ่งต้องนอนให้ได้วันละ 7 ชั่วโมงขึ้นไป
(4) การจัดการความเครียด ซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่การฝึกสติ ฝึกวางความคิด ฝึกผ่อนคลายร่างกาย ใช้ชีวิตกลางแจ้งกับธรรมชาติ ได้แดด ได้ลม
(5) การฝึกกระตุ้นสมอง ซึ่งต้องฝึกอย่างหลากหลาย เพราะสมองทำงานถึงหกด้าน คือ สติ ความจำ การคิดวินิจฉัย ภาษา การสังคม และการเคลื่อนไหว-ทรงตัว นอกจากความครอบคลุมทั้งหกด้านแล้วการกระตุ้นสมองยังควรต้องเลือกวิธีที่มีเป้าหมายชัดเจน มีความท้าทาย และมีความซับซ้อนด้วยสิ่งเดิมๆที่ทำในชีวิตประจำวันด้วย
(6) การเลิกบุหรี่
4.. ในแง่ของการใช้ชีวิต อย่าลืมว่าในเชิงอาการวิทยา โรคสมองเสื่อม (ซึ่งรวมทั้งอัลไซเมอร์) แตกต่างจากโรคขี้หลงขี้ลืมเล็กๆน้อยๆ (MCI) ตรงที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจสำคัญในชีวิตประจำวันอย่างใดอย่างหนึ่งในเจ็ดอย่าง (IADL) ต่อไปนี้ได้ คือ
(1) ไปไหนมาไหนเองไม่ได้ เช่น ขับรถก็ไม่ได้ เดินไปขึ้นรถเมลก็ไม่ได้ เป็นต้น
(2) ดูแลเงินทองบัญน้ำบัญชีของตัวเองไม่ได้
(3) ดูแลจัดการหยูกยาของตัวเองไม่ได้
(4) ทำความสะอาดห้องหับที่หลับที่นอนตัวเองไม่ได้
(5) ซื้อของจ่ายตลาดเองไม่ได้
(6) ทำอาหารหรือหาอาหารกินเองไม่ได้
(7) อยู่คนเดียวไม่ได้ จะโทรศัพท์หาใครก็โทรไม่เป็นหรือหาเบอร์ไม่ถูก เป็นต้น
ดังนั้นการชลอโรคสมองเสื่อมที่ทำได้ทันทีคือการพยายามทำกิจทั้งเจ็ดอย่างนี้ด้วยตนเองไปให้ได้นานที่สุด
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1.. Gonzalez-Ortiz F, Turton M et al. Brain-derived tau: a novel blood-based biomarker for Alzheimer’s disease-type neurodegeneration, Brain, 2022;, awac407, https://doi.org/10.1093/brain/awac407