กลืนแร่รักษามะเร็งไทรอยด์ เมื่อไหร่แร่จะหมด และจะต้องทำตัวหลังกลืนแร่อย่างไร
(ภาพวันนี้: ประดู่แดง ที่สวนป่าปลูกข้างบ้าน)
อาจารย์สันต์ สวัสดีครับ
ผม … ครับ ที่ทำงาน … ผมเพิ่งผ่าตัดเสร็จครับอาจารย์ แจ๊คพอตเลยเป็นมะเร็งไทรอยด์ครับ ตรวจเจอโดยบังเอิญครับอาจารย์ อาจารย์ที่ดูแลตอนแรกก็ให้ติดตาม ผมเลยไปคุยกับอาจารย์ … หมอศัลยกรรมขอผ่าครับ สรุปเจอเลย ตอนนี้รอไปกลืนแร่ครับ เห็นว่าเชื้อตัวนี้ตอบสนองแร่ไอโอดีนครับ เลยจะขอปรึกษาอาจารย์ครับว่าหลังกลืนแร่แล้วต้องดูแลตัวเองยังไงครับอาจารย์
ขอบคุณครับ
…………………………………………………………..
ตอบครับ
1.. ถามว่าคุณเป็นมะเร็งชนิดไหนรุนแรงแค่ไหน ตอบว่าคุณเป็นมะเร็งชนิดนี้ papillary carcinoma ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดที่พบบ่อยที่สุด (80%) และเป็นชนิดกระหม่อมบางที่สุด คือไม่รุนแรงเลย ส่วนชนิดที่ร้ายแรงนั้นเรียกว่า anaplastic Ca ซึ่งมีเพียง 1-2% ของคนเป็นมะเร็งไทรอยด์ทั้งหมดเท่านั้น
กรณีที่เป็นชนิด papillary อย่างของคุณนี้จะมีการดำเนินโรคใกล้เคียงกับคนปกติที่ไม่ได้เป็นมะเร็ง คือมีอัตราการหายประมาณ 90-100% ครับ ยิ่งอายุน้อยยิ่งใกล้ไปทาง 100%
2..ถามว่าเนื่องจากเป็นมะเร็งชนิดรักษาด้วยกลืนแร่ (radioactive iodine) ได้ ตอนกลืนแร่และหลังจากการกลืนแร่แล้วจะมีปัญหาอะไรต่อร่างกายบ้าง ตอบว่าแร่ที่กลืนลงไปนั้นคือแร่ไอโอดีนอาบรังสี (I-131) ถ้ากลืนเพื่อรักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (hyperthyroidism) จะใช้แร่ในขนาดต่ำมาก คือต่ำกว่า 30 มิลิคูรี่ (mCi) มักจะไม่มีผลแทรกซ้อนอะไร เรียกว่ามีความปลอดภัย 99.99% กรณีของคุณนี้เป็นการกลืนแร่เพื่อรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ ซึ่งใช้แร่ขนาดสูงเกิน 200 mCi ขึ้นไป อาจมีภาวะแทรกซ้อนต่อไปนี้ได้ คือ
2.1 ต่อมน้ำลายอักเสบ ( Sialoadenitis) ปวด บวม กดเจ็บ ขมปาก ปากแห้ง
2.1 อาการป่วยเพราะรังสี (radiation sickness) คือ ปวดเมื่อย คลื่นไส้ ปวดหัว
2.3 กระเพาะอาหารอักเสบเพราะรังสี
2.4 ต่อมไทรอยด์อักเสบเพราะรังสี
2.5 เสียงแหบเพราะสายเสียงเป็นอัมพาตชั่วคราวบ้าง ถาวรบ้าง
2.6 รังสีอาจทำให้เป็นหมันได้
2.7 รังสีอาจกดไขกระดูก อาจทำให้ไขกระดูกทำงานน้อยลง หรืออาจทำให้เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ในอัตรา 0.03% จากงานวิจัยติดตามดูผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ 211,360 คนที่เกาหลี ซึ่งเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำมาก ไม่ควรต้องเอามาเป็นข้อวิตกกังวล
3.. ถามว่าแร่ที่กลืนเข้าไปในตัว เมื่อไหร่จะออกไปจากตัวจนหมด ถ้ามันยังไม่หมดต้องระวังไม่ให้มันแผ่ไปหาคนอื่นอย่างไร ตอบว่ากำหนดวันหมดไม่ได้ คือสารกัมมันตรังสีเป็นสารที่มวลของมันจะหดตัว (decay) แล้วให้พลังงานออกมา กรณี I-131 มันมีระยะการหดตัวลงเหลือครึ่งหนึ่ง (half life) นาน 8.05 วัน หมายความว่าผ่านไปแปดวันจะหดเหลือครึ่งหนึ่ง ผ่านไปอีกแปดวันครึ่งที่เหลือก็หดลงไปเหลืออีกครึ่งหนึ่ง ดังนั้นโดยทฤษฏีแล้วจะหดตัวจนหมดเกลี้ยงที่อินฟินิตี้ หมายความว่าไม่มีวันหมดไปจากร่างกายเพราะผ่าครึ่งไปได้เรื่อยๆจนเล็กลงๆก็จริง แต่ไม่หมดสักที ในทางการแพทย์จึงไม่สนใจว่ามันจะหมดจากตัวเมื่อไร สนใจแต่ว่ามีปริมาณเหลือพอที่จะมีผลกระทบต่อคนอื่นหรือเปล่า ในทางปฏิบัติถ้าปริมาณในร่างกายเหลือไม่เกิน 30 mCi หรือวัดพลังงานที่แผ่ออกมาห่างตัว 1 เมตรได้ไม่เกิน 5 mR/hr ก็ถือว่าเหลือน้อยจนไม่มีผลอะไรต่อคนรอบตัวแล้ว ดังนั้นในกรณีของคุณสมมุติว่าหมอให้กลืนแร่ในขนาด 200 mCi ก็ต้องรอให้ผ่านไปราว 24 วันจึงจะลดเหลือ 25 mCi ซึ่งเป็นระดับต่ำจนไม่มีผลอะไรและไม่ต้องระวังอะไรเป็นพิเศษ ในระหว่างวันแรกๆคุณก็อาจป้องกันไม่ให้รังสีไปมีผลต่อคนอื่นดังนี้
3.1 อยู่ห่างๆคนอื่นไว้สัก 1 เมตร เพราะถ้ากินเต็มโด๊ส 30 mCi ที่ระยะห่างเกิน 1 เมตรจะมีระดับรังสีต่ำกว่า 5 mR/hr ซึ่งถือว่าปลอดภัย
3.2 ถ้าเป็นชาย ให้นั่งลงปัสสาวะลงในโถส้วม อย่ายืนปัสสาวะเพราะเมื่อปัสสาวะหกเรี่ยราดจะมีสารกัมมันตรังสีตกค้างในห้องน้ำ
3.3 สารกัมมันตรังสีออกมามากที่น้ำลาย ดังนั้นอย่าไปจูบใครเข้าในระหว่างกินรังสี (หอมแก้มได้นะ) อีกอย่างหนึ่ง แปรงสีฟันและโทรศัพท์ก็ไม่ควรใช้ร่วมกับคนอื่น
3.4 เหงื่อก็มีกัมมันตรังสีออกมาด้วยมาก โดยเฉพาะหลังกินได้ 24 ชั่วโมงแรก ควรล้างมือบ่อยๆ อาบน้ำบ่อยๆ และอย่าไปจับมือถือแขนใครเขาเพราะเหงื่อที่มือจะติดเขาไป
4. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้เพราะคุณทำงานในโรงพยาบาลซึ่งเป็นพวกเดียวกัน ว่าสาเหตุของการเป็นมะเร็งไทรอยด์ที่วงการแพทย์รู้ดีและพบบ่อยที่สุดก็คือการถูกรังสีเอ็กซเรย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานรังสีรักษา สำหรับคนในโรงพยาบาลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับรังสีผมขอถือโอกาสนี้สะกิดว่าอย่าลืมความสำคัญของการติดตามดูระดับรังสีที่ตัวเองโดน (radiation monitoring) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทำงานในแผนกเอ็กซเรย์ อย่าลืมว่าระดับรังสีที่ยอมรับกันว่าปลอดภัยสำหรับนักรังสีที่ตั้งไว้ที่ไม่เกิน 20 มิลลิซีเวอร์ทต่อปีนั้น เป็นระดับที่มากกว่าระดับรังสีที่ยอมรับว่าปลอดภัยสำหรับคนทั่วไป (1 มิลลิซีเวอร์ท) ถึงยี่สิบเท่า หมายความว่าเขาให้เราเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า ดังนั้นทุกไมโครซีเวอร์ดที่เพิ่มเข้ามาล้วนมีนัยสำคัญ ควรคิดหาสาเหตุและลงมือปรับวิธีการทำงานทันทีถ้าตัวเลขมันขยับขึ้นมากกว่าปกติแม้จะยังไม่เกินมาตรฐานก็ตาม ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือบางคนไม่ห้อยมอนิเตอร์ บางคนที่อยู่ในหน่วยที่ถูกรังสีมากๆเช่นหน่วยสวนหัวใจเขาให้แขวนมอนิเตอร์ใกล้ตำแหน่งไทรอยด์ก็ไม่แขวนโดยให้เหตุผลง่ายๆว่า “เกะกะ” บางท่านไม่ใส่ใจการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (personal protective equipment – PPE) สมัยผมเป็นผอ.โรงพยาบาล ถ้าไม่บังคับก็ไม่ใช้ เมื่อใช้ก็ใช้อย่างเสียไม่ได้ หน่วยสวนหัวใจหลายแห่งยังไม่มี thyroid shield ใช้ด้วยซ้ำ ผู้บริหารบางคนไม่ซื้อให้โดยอ้างว่าซื้อมาหมอเขาก็ไม่ใช้ พวกเราซึ่งทำมาหากินอยู่ในโรงพยาบาลไม่ค่อยตระหนักถึงอันตรายของเครื่องตรวจต่างๆที่ปล่อยรังสีออกมา พวกเราหลายคนเล่นกับเครื่องซีที.เหมือนเล่นกับเครื่องเอ็กซเรย์ปอด ทั้งๆที่เครื่องซีที.ปล่อยรังสีทีหนึ่งมากกว่าเครื่องเอ็กซเรย์ปอดถึง 600 เท่า และเครื่องซีที.ที่ไม่ได้รับการตรวจปริมาณรังสีอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งจะปล่อยรังสีออกมาแบบมาก..ก..ก..กว่าที่เราตั้งตัวเลขไว้มาก คือพวกเราเล่นกับเครื่องมืออันตรายเหล่านี้ยังกับสามล้อที่เก็บกล่องโคบอลท์จากกองขยะได้ ไหนๆคุณซึ่งทำงานอยู่ในโรงพยาบาลเขียนมาคุยเรื่องมะเร็งไทรอยด์ทั้งที ผมจึงถือโอกาสนี้ “สะกิด” พวกเราถึงเรื่องหญ้าปากคอกคือเรื่องจิตสำนึกถึงความปลอดภัยเป็นของแถมเสียเลย หิ..หิ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Seo GH, Cho YY, Chung JH, Kim SW. Increased Risk of Leukemia After Radioactive Iodine Therapy in Patients with Thyroid Cancer: A Nationwide, Population-Based Study in Korea. Thyroid. 2015 Aug;25(8):927-34. doi: 10.1089/thy.2014.0557. Epub 2015 Jul 2. PMID: 26133388.
- AACE/AAES medical/surgical guidelines for clinical practice: management of thyroid carcinoma. American Association of Clinical Endocrinologists. American College of Endocrinology. Endocr Pract. May-Jun 2001;7(3):202-20.
- Al-Brahim N, Asa SL. Papillary thyroid carcinoma: an overview. Arch Pathol Lab Med. Jul 2006;130(7):1057-62.