อุลตร้าซาวด์พบก้อนไขมันขนาดเล็กที่ไต ควรตรวจซีที.แบบฉีดสีซ้ำไหม

(ภาพวันนี้: ดอกทิวลิปงอกและบานแล้วที่บ้านมวกเหล็ก เป็นข่าวใหญ่ประจำสัปดาห์ของหมอสันต์)

เรียนคุณหมอสันต์

ติดตามอ่านมานานแล้วคะ ขอถามว่าหนูไปตรวจสุขภาพประจำปีมา ทำอุลตร้าซาวด์ช่องท้องแล้วพบมีก้อนที่ไตขนาด 0.2 x 0.4 x 0.7 ซม. หมออุลตร้าซาวด์บอกว่า 90% เป็นก้อนไขมัน แต่หมอที่ตรวจสุขภาพนัดทำ CT แบบฉีดสี หนูกลัวจะต้องฉีดสี อยากถามว่าจำเป็นต้องทำ CT ไหม แค่ติดตามดูด้วยอุลตร้าซาวด์สัก 6 เดือนจะได้ไหม

ขอบคุณค่ะ

…………………………………………………………………………..

ตอบครับ

ก่อนจะตอบคำถามนี้ขอเล่าวิธีสืบค้น (investigate) และรักษาโรคของแพทย์ก่อน ว่าแพทย์จะตัดสินใจสืบค้นหรือรักษาอะไรก็ตามไปตามปัจจัย 3 ตัว คือ

(1) โอกาสความเป็นไปได้ (probability) ที่ประเมินจากหลักฐานที่มี ณ ขณะนั้น

(2) ผลการชั่งน้ำหนักประโยชน์และความเสี่ยงของการสืบค้นหรือรักษาในขั้นต่อไป(ทำดีหรือไม่ทำดี)

(3) ข้อมูลปัจจัยแวดล้อมตัวผู้ป่วย ณ ขณะนััน เช่น อาการ อายุ เพศ ถิ่นที่อยู่ อาชีพ ความกลัวหรือความกังวลของคนไข้ เป็นต้น

เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

1.. ถามว่าหากสืบค้นต่อไปด้วยซีที.แบบฉีดสีด้วย (contrast CT) มีโอกาสที่จะได้ประโยชน์มากไหม ตอบว่าได้ประโยชน์น้อยแบบจิ๊บๆมาก เพราะ

(1) อุลตร้าซาวด์ก็บอกได้แล้วว่า 90% เป็นก้อนไขมัน แล้วโอกาสที่จะเป็นอย่างอื่นมันจะเหลือมากไหมละครับ ก็ 100% ลบด้วย 90% เหลือแค่ 10% แล้วใน 10% นี้ก็ใช่ว่าซีทีจะบอกได้ว่าเป็นอะไรนะ ต้องไปลุ้นกันอีกที

(2) อย่าลืมว่าในการทำซีทีช่องท้อง ความหนามาตรฐานของการซอยความถี่ในการตัดภาพ (slice thickness) คือ 3 มม. แต่ก้อนของคุณมีความหนาแค่ 2 มม.เองนะ การจะตัดซีที.ให้ผ่านก้อนเนื้อพอดีให้อ่านได้ครบถ้วนเป็นตุเป็นตะเนี่ย โห มันต้องอาศัยดวงมากเลยนะ ผมหมายถึงว่าก้อนเล็กขนาดนี้แม้ซีทีก็ช่วยให้รายละเอียดไม่ได้มากนัก

(3) ปัจจัยและเหตุการณ์แวดล้อมไม่มีอะไรบ่งชี้เลยว่าจะเป็นมะเร็งที่ไต (เช่น ผลตรวจปัสสาวะก็ปกติดี)

2.. ถามว่าความเสี่ยงของการทำซีทีแบบฉีดสีจะคุ้มกับประโยชน์ที่จะได้จากการตรวจครั้งนี้ไหม ตอบว่าไม่คุ้มหรอกครับ เพราะจากข้อ 1. ก็สรุปได้แล้วว่าประโยชน์ที่ได้จากการตรวจมีน้อยมาก ส่วนความเสี่ยงของการฉีดสารทึบรังสีและการได้รับรังสีปริมาณมากๆนั้นก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีอะไรบ้าง เช่นแพ้ เกิดพิษต่อไต มีโอกาสทำให้เป็นมะเร็งได้ เป็นต้น ซึ่งความเสี่ยงประมาณนี้ย่อมจะคุ้มอยู่ทำหากเป็นเรื่องจำเป็นต้อง แต่ในกรณีของคุณนี้ผมไม่เห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องทำแต่อย่างใด

3.. ถามว่าหากเลือกไม่ทำซีทีฉีดสี แต่เลือกวิธีตรวจติดตามดูด้วยอุลตร้าซาวด์ทุก 6 เดือนจะดีกว่าไหม ตอบว่าดีกว่าแน่นอนครับ เพราะก้อนเล็กขนาดนี้ไม่ว่าจะทำการตรวจดูภาพ (imaging) วิธีไหน อุลตร้าซาวด์หรือซีที. ก็ล้วนมีความไวต่ำในการจะบอกว่าเป็นเนื้องอกแบบไหน ขณะที่การติดตามดูซ้ำๆหลายครั้งเมื่อเวลาผ่านไปจะมีความไวมากกว่า เพราะเนื้องอกชนิดมะเร็งนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าจะมีอัตราการเพิ่มขนาดไปอีกเท่าตัว (doubling time) ในชั่วเวลาเพียง 6-12 เดือน ทางเดียวที่จะรู้ว่าเนื้องอกเพิ่มขนาดหรือไม่เพิ่มก็มีวิธีเดียวคือติดตามตรวจดูด้วยภาพซ้ำ

กล่าวโดยสรุป

สำหรับก้อนที่ปรากฎเป็นลักษณะของก้อนไขมันที่เนื้อไตที่มีขนาดเล็กมากระดับเป็นมม.โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ การตรวจเพิ่มเติมด้วยซีที.ร่วมกับฉีดสี ได้ประโยชน์ไม่คุ้มความเสี่ยง ควรเลือกใช้วิธีตรวจติดตามเป็นระยะด้วยอุลตร้าซาวด์ไปสักหนึ่งปีจะได้ประโยชน์คุ้มความเสี่ยงมากกว่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี