คุณโทษอัตตาของเขา แต่ที่คุณทุกข์อยู่เนี่ยเป็นเพราะอัตตาของตัวคุณเองนะ
(ภาพวันนี้: มากาเร็ต ต้องแสงรับอรุณ)
เรียน คุณหมอสันต์ ที่นับถือ
อยากเรียนปรึกษาเพื่อขอคำแนะนำในการทำใจไม่ให้ทุกข์และซึมเศร้าเมื่อคนใกล้ตัวแสดงการกระทำหรือการพูดจาที่สะท้อนการไม่ให้เกียรติการไม่รับฟังคำขอร้องหรือข้อเสนอแนะใดๆของเรา จากอัตตาของเขา เคยพยายามจะใช้วิธีพูดเพื่อบอกความในใจเพื่อเริ่มต้นใหม่ ( begin a new) ตามแนวทางเซ็น แต่ไม่เกิดประโยชน์เพราะเขาไม่ฟังและโต้กลับทันทีกลายเป็นเรื่องบานปลาย จึงใช้วิธีเงียบและเอาตัวออกมา ก็สามารถเคลียร์ใจได้ ณ เวลานั้นแล้วปล่อยวางไป แต่พอเจอเหตุการณ์อย่างเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าเราก็จิตตกทุกที มีความรู้สึกว่าอยากระบายออกมาด้วยการร้องให้ แต่มันจุกอยู่ในอก จนแน่นเหมือนตะกอนที่ฝั่งแน่นอยู่ในใจ ร้องไห้ไม่ออกและเริ่มคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ซึ่งสุ่มเสี่ยงเหลือเกินกับภาวะซึมเศร้า เพราะบางครั้งก็คิดอยากจบชิวิตตัวเองลงเพราะไม่มีคุณค่าอะไรเลยกับคนใกล้ตัว
ด้วยความนับถือ
…………………………………………………………….
ตอบครับ
1.. ฟังสำบัดสำนวน คุณเป็นคนขยันปฏิบัติธรรม พยายามเอาหลักธรรมลงมาใช้ลดความทุกข์ในชีวิตประจำวัน แต่ไม่สำเร็จ เหตุที่มันไม่สำเร็จมันก็ไม่เหตุใดก็เหตุหนึ่งในสองอย่างเนี่ยแหละ คือ (1) คุณยังไม่แจ่มชัดหรือพูดง่ายๆว่ายัง “ไม่เก็ท” ในคอนเซ็พท์หรือหัวข้อธรรมที่คุณเอามาใช้ หรือไม่ก็ (2) คุณยังอ่อนซ้อมในการใช้เครื่องมือวางความคิด
เอาประเด็นความแม่นในคอนเซ็พท์ คอนเซ็พท์พื้นฐานก็คือ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา”
อนิจจัง ก็คือทุกอย่างมันไม่แน่นอนและควบคุมบังคับไม่ได้ คุณพยายามจะไปเปลี่ยนสามีให้ได้อย่างใจคุณ นี่ก็แสดงว่าคุณยังไม่แม่นในคอนเซ็พท์อนิจจังนะ
อนัตตา ก็คือตัวตนหรืออัตตาของเรานี้ไม่ใช่ของจริง เป็นเราอุปโลกน์ขึ้นมาเอง นี่ว่ากันเฉพาะอัตตาของเรานะ ของคนอื่นเขาจะอัตตาใหญ่คับฟ้าเท่าไหร่ก็ไม่เกี่ยวกับความทุกข์ของเรา อย่าไปยุ่งกับคนอื่นเขา เอาแต่เรื่องของเราดีกว่า ความทุกข์ของเราเกิดจากความยึดถือ (attachment) ในอัตตาของเราล้วนๆ อย่างคุณเป็นทุกข์เพราะสามีไม่ให้เกียรติคุณ เออ.. แล้ว ขอโทษ หมาที่ปากซอยมันให้เกียรติคุณไหม เปล่า มันก็ไม่ให้เกียรติคุณเพราะมันเห่าเอา เห่าเอา แล้วทำไมคุณไม่ทุกข์ละ ก็เพราะหมาเห่ามันไม่ทำให้ศักดิ์ศรีของความเป็นคนของคุณต้องจ้อยลง แต่การที่สามีไม่ให้เกียรติคุณนี้มันทำให้ศักดิ์ศรีของคุณจ้อยลง เป็นภรรยาที่ตกสะเป๊ค ทั้งในแง่ที่ว่าผู้หญิงดีอย่างเรามาได้ผู้ชายงี่เง่าคนนี้ได้อย่างไร หรือไม่ก็ในแง่ที่ว่าดูซิเราดูแลเขาดีแทบตาย แต่เขาไม่มียกย่องความดีของเราซักกะนิด ทั้งหมดนี้ ผมหมายถึงการไม่ถูกเหยียบศักดิ์ศรีก็ดี การได้รับการยกย่องเชิดชูก็ดี มันถูกใจใครหรือครับ ก็ถูกใจอัตตาของคุณไง พอมันไม่ถูกใจ มันก็พาคุณฟึดฟัด ดังนั้นคอนเซ็พท์เรื่องอนัตตาคุณก็ยังไม่ได้นะ
ดังนั้นในส่วนของคอนเซ็พท์นี้ผมแนะนำให้คุณหมั่นสัมนากับตัวเองแล้วจดไว้ในสมุดหรือตีทะเบียนไว้ในหัวเสียหน่อยว่าความคิดอันไหนที่แสดงถึงว่าคุณยังไม่เก็ทหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้ามีความคิดแบบนั้นโผล่มาคุณจะได้ชี้หน้าด่ามันได้ทันทีว่าไอ้ความคิดงี่เง่าตัวนี้โผล่มาอีกแล้ว คุณจะได้ไม่เผลอตัวไปอี๋อ๋อกับมันอีก
ทางลัดในการใช้คอนเซ็พท์อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็คือ “การยอมรับ” (acceptance) กล่าวคือยอมรับยอมแพ้ทุกอย่าง ท่องคาถา “ขอบคุณ ขอโทษ ให้อภัย เมตตา” เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้คุณเก็ทคอนเซ็พท์เร็วขึ้น เพราะการยอมรับก็คือการทุบอัตตาของเราทิ้งนั่นเอง
คราวนี้มาพูดถึงประเด็นความเจนจัดในการใช้เครื่องมือวางความคิดว่ามันสำคัญอย่างไร
เขียนมาถึงตอนนี้ผมขอนอกเรื่องนิดหนึ่ง ช่วงนี้ผมกำลังเขียนหนังสือร่วมกับคุณหมออายุคราวลูกท่านหนึ่ง เธออยู่ที่อังกฤษ แต่ก็ได้สื่อสารกับเธอบ่อยผ่านอินเตอร์เน็ท นอกจากเรื่องงานแล้วเธอมักจะถามโน่นถามนี่ในเรื่องชีวิตด้วย วันหนึ่งเธอถามผมว่า
“ถ้าหนูวางความคิดได้ หนูก็ไม่ต้องสนใจอัตตาใช่ไหม”
คำตอบก็คือนั่นแหละ ใช่เลย เพราะอัตตาแสดงตนต่อเราในรูปของความคิดซึ่งมักล้วนเป็นความคิดที่ทำให้เราทุกข์ ถ้ามองเห็นความคิดตัวเองได้ วางความคิดได้ อัตตาก็จะไปมีความหมายอะไร
ผมแนะนำให้คุณฝึกใช้เครื่องมือวางความคิด 5 ชิ้นต่อไปนี้แล้วเลือกใช้ชิ้นใดชิ้นหนึ่งหรือหลายชิ้นตามที่คุณถนัด คือ (1) การตามดูลมหายใจ (2) การผ่อนคลายร่างกาย (3) การสังเกตความคิด (4) การตามดูพลังชีวิตหรือ body scan และ (5) การจดจ่อสมาธิ ซึ่งทั้งห้าอย่างนี้ฝึกใช้ได้ง่ายๆผ่านการนั่งสมาธิหรือ meditation ทุกวัน ร่วมกับการฝึกใช้มันในชีวิตประจำวันขณะตื่นอยู่ คุณต้องนั่งสมาธิทุกวัน และฝึกใช้เครื่องมือทั้งห้าในทุกโอกาสในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ความคิดตัวเอ้ที่ทำให้คุณทุกข์มันกำลังโผล่ขึ้นมา คุณต้องฝึก ถ้าคุณไม่ฝึก คุณก็วางความคิดไม่ได้ ถ้าคุณวางความคิดไม่ได้ ความคิดก็จะพาคุณไปไหนต่อไหน รวมทั้งพาไปฆ่าตัวตายด้วย โดยที่ไม่มีใครช่วยคุณได้เลย เพราะความคิดของคุณแท้ๆคุณยังจัดการมันไม่ได้แล้วใครที่ไหนจะไปจัดการความคิดของคุณแทนคุณได้
ย้ำอีกครั้ง “แม่นในคอนเซ็พท์ และเจนจัดในการใช้เครื่องมือวางความคิด”
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์