14 กรกฎาคม 2566

ความว่างเปล่า (Space) ความเงียบ (Silence) และเวลา ณ ปัจจุบันขณะ (Now)

(ภาพวันนี้ / ตื่นจากนอนเล่น มองออกไปนอกประตู)

(หมอสันต์พูดกับสมาชิกที่มาเข้า Spiritual Retreat)

สมมุติว่าเรายืนมองเสาประตูฟุตบอลสองต้นซ้ายขวา ระหว่างเสาทั้งสองต้นนั้นคือช่องว่างหรือความว่างเปล่า ทั้งๆที่เราก็กำลังมองดูช่องว่างนั้นอยู่ แต่มันไม่มีอะไรให้มองเห็น พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่าช่องว่าง (space) หรือความว่างเปล่า ก็คือความรู้ตัว (consciousness) ที่ดำรงอยู่โดยไม่มีการสนองตอบของใจเราต่อสิ่งที่เห็น จะด้วยไม่มีภาพให้ดู หรือด้วยเราจงใจไม่สนองตอบก็แล้วแต่

สมมุติว่าเรากำลังฟังเสียงนก เสียงนกตัวที่หนึ่งร้องดังขึ้น เบาลง แล้วเงียบไป อีกสักครู่นกตัวที่สองก็ร้องดังขึ้น ช่องว่างระหว่างเสียงของนกตัวที่ 1 และเสียงของนกตัวที่ 2 เป็นความเงียบ (silence) ทั้งๆที่เราก็เปิดหูรับฟังอยู่ แต่มันไม่มีอะไรให้ได้ยิน พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่าความเงียบก็คือความรู้ตัวที่ดำรงอยู่โดยไม่มีการสนองตอบต่อเสียง (หรือไม่สนใจเสียง)

สมมุติว่าเรามีความคิดที่ 1 โผล่ขึ้นมาในใจ สมมุติว่าเป็นเรื่องงานที่เจ้านายเร่งรัดจะรีบเอา สักพักหนึ่งความคิดนั้นหมดไป ครู่หนึ่งต่อมาก็มีความคิดที่ 2 โผล่ขึ้นมาในใจอีก คราวนี้สมมุติว่าเป็นเรื่องที่ลูกขอเงินไปซื้อไอโฟน 14 ระยะห่างจากความคิดที่ 1 ไปหาความคิดที่ 2 เราเรียกว่าเวลา (time) แต่เนื่องจากเรากำลังสนใจมันอยู่ ผมจึงเรียกมันว่าเวลา ณ ปัจจุบันขณะ หรือเดี๋ยวนี้ (now) แทนก็แล้วกัน ปกติเราไม่ได้สังเกตดอกว่าระหว่างความคิดที่ 1 กับความคิดที่ 2 มันมีช่องว่างอยู่ แต่ถ้าเราสังเกตให้ดี มันมีช่องว่างนั้นอยู่ ทั้งๆที่เราก็ตื่นตัวอยู่ สังเกตอยู่ แต่ความคิดไม่มี (หรือมีแต่เราไม่ได้สนใจ) พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเวลาในระหว่างความคิดสองความคิดก็คือความรู้ตัวที่ดำรงอยู่โดยไม่มีความคิด ซึ่งก็คือที่เรียกกันว่า “ปัจจุบัน” หรือ “ที่นี่เดี๋ยวนี้” นั่นแหละ

ดังนั้นความรู้ตัวก็คือ ความว่าง (space) หรือ ความเงียบ (silence) หรือ เวลา ณ ปัจจุบัน (now) ที่เรามีความตื่นอยู่ มีความสามารถรับรู้รออยู่ แต่ไม่มีความคิด จะด้วยไม่มีสิ่งกระตุ้นความสนใจของเรา หรือมีสิ่งกระตุ้นแต่เราเพิกเฉยต่อมันก็ตาม

ผมอยากจะให้ทุกท่านสังเกตเจ้าตัว “ความรู้ตัว” (consciousness) นี้ทุกครั้งที่มีโอกาส ว่ามันมีธรรมชาติสงบเย็น

การมีภาพเป็นเป้าของความสนใจผ่านการมองก็ดี การมีเสียงเป็นเป้าของความสนใจผ่านการได้ยินก็ดี การมีความคิดเป็นเป้าของความสนใจผ่านการคิดก็ดี ล้วนก่อให้เกิดประสบการณ์ขึ้นในใจ (mental activities) ใครที่เคยได้อ่านหนังสืออภิธรรมปิฎกซึ่งเป็นหนังสือที่คนรุ่นหลังเขียนขึ้นอธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้า เขาตั้งชื่อเรียกประสบการณ์ในใจเหล่านี้ว่า “เจตสิก” ชื่อเรียกนั้นไม่สำคัญอะไรดอก แต่ประเด็นสำคัญคือประสบการณ์ในใจเหล่านี้ล้วนเกิดในที่เดียวกันกับความรู้ตัว หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้น ประสบการณ์ในใจเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นในความรู้ตัว

ผมไม่ได้แนะนำให้ท่านอ่านหนังสืออภิธรรมปิฏกดอกนะเพราะมันจะเยอะเกินไป แต่ไหนๆพูดถึงหนังสือชุดนี้แล้วขอแวะเล่าในภาพใหญ่ให้ฟังหน่อยว่าในหนังสือชุดนี้เขามองการเรียนรู้ชีวิตออกเป็นสี่ส่วนคือ

(1) ความรู้ตัว (consciousness) คือความตื่นและความสามารถรับรู้สิ่งเร้า

(2) กิจกรรมหรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในใจ (mental activities) เช่น ความรู้สึก ความคิด เป็นต้น

(3) สิ่งเร้าทางกายภาพที่ผ่านเข้ามาทางร่างกาย (stimuli) เช่นภาพ เสียง สัมผัส เป็นต้น

(4) ความรู้ตัวในภาวะปลอดกิจกรรมในใจ (primordial consciousness)

ซึ่งในหนังสือเรียกสี่ส่วนนี้เป็นภาษาบาาลีว่า “จิต, เจตสิก, รูป, นิพพาน”

ขอย้อนกลับไปพูดถึง “เวลา” หน่อย ศัพท์คำว่าเวลานี้ใช้กันในสามความหมายนะ

(1) เวลาตามปฏิทิน หรือ Clock time ซึ่งเป็นคอนเซ็พท์ที่มนุษย์เราคิดขึ้นนับจำนวนรอบของการหมุนซ้ำๆซากๆของโลกรอบตัวเองบ้าง รอบดวงอาทิตย์บ้าง ในรูปของวันเดือนปี ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นคอนเซ็พท์ที่มีประโยชน์มาก อย่างน้อยมันก็ทำให้พวกเรามานั่งพร้อมหน้ากันที่นี่ได้

(2) เวลาในใจคน หรือ Psychological time อันนี้เป็นเวลาสมมุติเพื่อใช้ประกอบการเดินเรื่องราวของความคิด ซึ่งความคิดนี้มีธรรมชาติว่าหากไม่ดำเนินเรื่องอยู่ในอดีต (เสียใจ ภูมิใจ สะใจ โกรธ ผิดหวัง) ก็เป็นการเดินเรื่องในอนาคต (กังวล กลัว คาดหวัง) เวลาในใจคนนี้ ไม่ว่าจะอดีตหรืออนาคต มันไม่ได้มีอยู่จริงนะ มันเป็นเพียงความคิดที่คิดขึ้นในวันนี้ทั้งนั้นแหละ

(3) ปัจจุบันขณะ หรือที่นี่เดี๋ยวนี้ (NOW) คือความรู้ตัวที่ตื่นอยู่ในภาวะที่ปลอดความคิด ปัจจุบันขณะดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด เมื่อใดที่เราตื่นอยู่โดยปลอดความคิด เมื่อนั้นก็จะเข้ามาอยู่กับปัจจุบันขณะ เพราะมันอยู่ที่นี่แหละ อยู่ที่ส่วนลึกที่สุดของชีวิตเรานี่แหละ ไม่เคยไปไหน อยู่ที่ว่าเราจะทิ้งความคิดได้หรือเปล่า หากเราทิ้งได้ เราก็จะได้มาอยู่กับมันโดยอัตโนมัติ แต่หากเราทิ้งความคิดไม่ได้ ไปขลุกอยู่ในความคิดตลอดเวลา วันทั้งวันเราก็ไม่ได้อยู่ในปัจจุบันขณะเลย

กลับมาหาสิ่งที่ผมตั้งใจจะพูดถึงในเช้าวันนี้ ว่าเมื่อกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในใจงวดลง สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือความรู้ตัวซึ่งโดยตัวของมันเองมีธรรมชาติสงบเย็น ตรงนี้แหละที่ผมอยากให้ท่านทำความรู้จักกับมัน จะด้วยวิธีทิ้งความสนใจภาพที่เห็นไปให้หมดจนเหลือแต่ความว่างเปล่า หรือทิ้งเสียงที่ได้ยินไปให้หมดจนเหลือแต่ความเงียบ หรือทิ้งความคิดไปให้หมดจนเหลือแต่ปัจจุบันขณะที่ไม่มีความคิด ก็ได้ แล้วท่านจะเห็นธรรมชาติของมันว่ามันเป็นความสงบเย็น ไม่เครียด และหากรู้จักมันดีขึ้น ท่านจะเห็นด้วยตนเองว่ามันมีธรรมชาติที่เป็นบ่อให้พลังสร้างสรรค์เกิดขึ้นมาได้ง่ายๆด้วย ที่ตรงนี้แหละที่จะเป็นที่รักษาโรคเครียดให้เราได้ เพราะความเครียดนั้นเกิดจากการสนองตอบต่อสิ่งเร้า ซึ่งสิ่งเร้าตัวเบ้งของมนุษย์ในยุคปัจจุบันมีตัวเดียว คือความคิดของเราเอง อย่าไปโทษโลกข้างนอกหรือสถานะการณ์ข้างนอก เพราะโลกข้างนอกและสถานะการณ์ข้างนอกทั้งหมดนั้นล้วนปรากฎต่อเราในรูปของความคิดที่เราชงขึ้นในหัวเราเองทั้งสิ้น หากเราวางความคิดลงได้ ความเครียดก็จะหมดไป ไม่ว่าโลกข้างนอกจะเป็นอย่างไร

สี่วันที่เราจะอยู่ด้วยกันนี้ เราจะวนเวียนทำกิจกรรมเพื่อเป้าหมายนี้เท่านั้น คือการฝึกใช้เครื่องมือวางความคิด เพื่อให้เราถอยเข้ามาจนถึงส่วนที่ลึกที่สุดในตัวเรา คือ “ความรู้ตัวในภาวะปลอดความคิด” นี้ให้ได้ เพราะเราจะได้ประโยชน์มหาศาลจากการได้รู้จักมัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์