รู้สึกว่าชีวิตไม่มีทางออก

(ภาพวันนี้ / ดอกแก้วมังกร)

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี ของหมอสันต์ สนใจคลิกดูรายละเอียดได้

อาจารย์คะ

หนูทำงานเป็นแพทย์มา10 ปี อดทนทำงานหนักมากมานาน จนรู้สึกว่าที่ผ่านมามันว่างเปล่า ตอนนี้คิดแต่อยากลาออก แต่ไม่รู้จะไปไหน ทำอะไรต่อ รู้สึกเค้วงมากคะ

แต่งานที่ทำตอนนี้รู้สึกไม่ไหวแล้วคะ งานหนักมากขึ้นมาก เหนื่อยทั้งกายใจ  จนต้องร้องไห้บ่อยๆ

อาจารย์ช่วยแนะนำหนูทีคะว่าหนูควรทำอย่างไรต่อ

………………………………………………

ตอบครับ

ในชีพหนึ่งของการเกิดมาเป็นคนนี้ เมื่อใดก็ตามที่สามสหายวัฒนะมาพบกัน คือ

     (1) หมดอารมณ์
     (2) ทำอะไรก็ไม่สำเร็จดั่งใจหมาย และ
     (3) ตัวตนแตกแยก (depersonalization)

     เมื่อนั้น สิทธิการิยะท่านว่ามันเป็นอาการของโรคเบิร์นเอ้าท์ (burn out) ซึ่งผมขอแปลว่าโรค “เอียนการทำงาน” ทั้งนี้อย่าสับสนกับอีกคำหนึ่งคือ bore out ซึ่งผมแปลว่าโรค “เอียนการไม่ได้ทำอะไร” เพราะทั้งสองเรื่องนี้สาเหตุตรงกันข้ามแต่ให้อาการป่วยที่เหมือนกัน แล้วคุณหมอไม่ต้องไปค้นหาโรคนี้ในระบบจำแนกโรคทางจิตเวช (DSM 5) นะครับ เพราะมันไม่มี แต่มีอยู่ในระบบการจำแนกโรคทั่วไป (ICD10) เราสามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้โดยใช้ชื่อ “ปัญหาเกี่ยวกับความยากลำบากในการจัดการชีวิต” หรือ Problems related to life-management difficulty ซึ่งมีโค้ดโรคว่า Z73

     พูดถึงอาการป่วยที่ว่า depersonalization นั้นผมก็เคยเป็น คือมีอยู่วันหนึ่งขณะเป็นผู้อำนวยการใหญ่ ผมพูดกับพนักงานลูกน้องซึ่งมีอยู่ถึง 2,000 คน พอพูดไปแล้วผมถามตัวเองว่า เฮ้ย คนที่พูดกับพนักงานเมื่อกี้นี้ตัวผมจริงๆหรือเปล่า มันไม่ใช่ผมนี่ ผมไม่เคยพูดอะไรแบบฝืดๆฝืนๆอ้ำๆอึ้งๆอย่างนี้นี่นา แล้วถ้าไม่ใช่ผม คนเมื่อกี้เป็นใครกันวะ ประมาณนั้น

     มองในแง่อาการวิทยา เบิร์นเอ้าท์มันเหมือนกับโรคซึมเศร้ายังกับแกะ แต่ว่ามีอาการเด่นอยู่ที่ใครจะทำอะไรตูก็ไม่เอาด้วยแล้วทั้งนั้น (no engagement) เมื่อวัดผลการทำงานก็จะพบว่าผลงานดร็อปลง เมื่อวัดสุขภาพก็จะพบว่ามีฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดออกมาในเลือดมากขึ้น แต่เบิร์นเอ้าท์ไม่เหมือนความเครียดตรงที่ความเครียดมักไปจบที่การระเบิด ซึ่งอาจจะเป็นการระเบิดพลังก็ได้ แต่เบิร์นเอ้าท์มีที่จบที่เดียว คือความต๊อแต๊สิ้นหวัง เบิร์นเอ้าท์ในหมู่แพทย์มันมีอยู่มากอย่างแน่นอนเป็นสัจจะธรรม มีงานวิจัยเรื่องนี้ตีพิมพ์ไว้แล้วแยะมากจนทำให้เราพอจะมีข้อมูลอยู่บ้างว่าจากจุดนี้เราควรจะไปทางไหนดี

     ในภาพรวม สาเหตุของเบิร์นเอ้าท์งานวิจัยพบว่ามันเกิดจากการทำงานในอาชีพที่เครียดมากเกินไป ทำงานเป็นเวลานานมากเกินไป หรือการต้องทำงานที่ยากเกินไป โดยมีทรัพยากรน้อยเกินไป ไม่ว่าจะเป็นเงิน เวลา กำลังคน เครื่องมืออุปกรณ์ บางครั้งก็เป็นงานที่เรียกร้องความสามารถเกินที่มนุษย์ปกติพึงจะมีด้วยซ้ำ

     สำหรับแพทย์ไทย เบิร์นเอ้าท์ผมเดาเอาว่าถูกซ้ำเหงาโดยความห่วยของระบบการทำงานในวงการแพทย์ไทยด้วย ผมไม่อยากจะเซด เพราะเซดแล้วมันปวดเฮด สรุปว่าไม่เซดดีกว่า ปัญหาพื้นฐานก็คือการเอาเปรียบกันในหมู่แพทย์ต่างวัยกัน ทำให้ความสัมพันธ์ภายในทีมไม่ดี เวลามีน้อย งานมีมาก ระบบงานไม่มีประสิทธิภาพ หัวหน้าเผ่าและรองหัวหน้ามีแยะ แต่ตัวคนทำงานมีไม่พอ

     ในภาคตัวบุคคล เมื่อวิจัยลงไปพบว่าปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยสำคัญคือ การเป็นผู้น้อย หมายความว่ามีตำแหน่งเป็นไพร่ราบทหารเลวในองค์กรใหญ่ การเป็นคนอารมณ์ขึ้นๆลงๆ, การไม่ชอบงานที่ทำ, การมีความเครียดทางครอบครัวเป็นพื้น, และการไม่มี ผ. (หิ หิ หมายถึงการไม่ได้แต่งงานนะครับ เป็นปัจจัยเสี่ยงของเบิร์นเอ้าท์อย่างหนึ่ง นี่เป็นผลวิจัยนะ ผมไม่ได้มั่วนิ่มเอาเอง)

    ทีนี้เราจะแก้ไขมันอย่างไร

     ในส่วนขององค์กรนั้นอยู่นอกเขตอำนาจเรา อย่าไปยุ่งเลย มาโฟกัสที่การแก้ไขในภาคตัวบุคคล งานวิจัยบอกว่าวิธีที่ลดเบิร์นเอ้าท์ที่ได้ผลคือการยอมรับการสนับสนุนจากเพื่อน (peer support), การฝึกสติลดความเครียด, การออกกำลังกาย, การลาพักร้อน การจัดเวลาพักประจำวัน และการหันเหไปทำอะไรอื่นบ้าง เช่น กีฬา ดนตรี ธรรมชาติ โยคะ เขียนบันทึก (reflective writing) เป็นต้น

     คำแนะนำส่วนตัวผมมีคำเดียว คือ “ดุล (balance)” คุณหมอต้องเรียนรู้ที่จะถ่วงดุลในทุกๆเรื่อง ดุลระหว่างการเป็นผู้ให้กับการเป็นผู้รับ ดุลระหว่างความเครียดกับการผ่อนคลาย ดุลระหว่างความซีเรียสกับการเม้คโจ๊คไร้สาระหัวเราะบ้าง ดุลระหว่างการออกกำลังกายกับการนอนหลับ ดุลระหว่างการทำงานกับการอยู่ว่างๆเฉยๆไม่ต้องทำอะไร ดุลระหว่างเวลางานกับเวลาส่วนตัว ดุลระหว่างสถานที่ทำงาน กับที่บ้าน

     เพื่อที่จะเอาคอนเซ็พท์นี้มาใช้ คุณหมอต้องรื้อคอนเซ็พท์ชีวิตเดิมๆทิ้งไปก่อน เริ่มต้นด้วยการรื้อเป้าหมายชีวิตเดิมๆทิ้งไปเสียก่อน เพราะเป้าหมายใหม่คือ “ชีวิตที่ได้ดุล” รื้อทิ้งของเก่าไปไม่ต้องสนใจ ทิ้งแบบหักดิบเลย ยังไม่ต้องไปคิดไกลถึงว่าจะเลิกอาชีพหรือไม่เลิก จะไปขายเต้าฮวยหรือจะขายกล้วยปิ้ง ยังไม่ต้องคิด เพราะนั่นมันไม่เกี่ยวอะไรกับเป้าหมายใหม่เฉพาะหน้า เป้าหมายที่จะมี..”ชีวิตที่ได้ดุล” ในวันนี้

     การมีชีวิตที่ได้ดุล หมายถึงชีวิตในวันนี้เท่านั้น เพราะเรามีชีวิตอยู่แต่ในวันนี้วันเดียว เราไม่ได้มีชีวิตอยู่เมื่อวานนี้ และไม่ได้มีชีวิตอยู่ในวันพรุ่งนี้ ดังนั้น ตื่นเช้ามาอย่าเพิ่งเลิ่กๆๆทำโน่นทำนี่อย่างเป็นอัตโนมัติไปตามสัญชาติญาณ แต่ให้มองชีวิตในวันนี้ว่าวันนี้เราจะจัดดุลในเรื่องใดบ้าง เรากำลังเริ่มตอนเช้าของวัน อย่างน้อยเราจัดเวลาได้ละถูกแมะ สมมุติว่าการจัดดุลเวลางานกับเวลาส่วนตัวเสียใหม่จะมีผลให้งานเสียหาย เจ้านายด่า ก็ (ขอโทษ) ช่างมัน ไปก่อน อธิบายได้ก็อธิบาย ถ้าลำบากจะอธิบายก็ไม่ต้องอธิบาย นี่มันชีวิตของเรา เวลาของเรา เราจะใช้มันอย่างไรมันเรื่องของเรา เจ้้านายไม่ให้สองขั้นเราก็ไม่แคร์ เพราะสองขั้นไม่ใช่เป้าหมายชีวิตของเรา แต่ชีวิตที่ได้ดุลต่างหากคือเป้าหมาย ค่อยๆบรรจงจัดดุลในเรื่องต่างๆในชีวิตไปทีละเรื่องๆ บางเรื่องเราไม่เคยทำ ไม่มีทักษะ ก็ต้องฝึกทำ หรือฝืนทำนิดๆ อย่างเช่นการออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่ง การยิ้ม การพูดตลก การเม้คโจ๊ก เป็นต้น

     คุณหมอใช้เวลานานเท่าที่ตัวเองต้องการในการจัดดุลของชีวิตในวันนี้ เน้นเฉพาะวันนี้ ทีละวันๆ เริ่มต้นแต่ละวันด้วยพิธีกรรมที่ผ่อนคลาย เช่นยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หรืออย่างน้อยก็ใส่ใจมองดูอะไรที่สวยๆงามๆนอกหน้าต่าง กินอาหารสุขภาพ ออกกำลังกาย ปรับการนอนหลับ ออกแดด สัมผัสลม สัมผัสดิน สัมผัสหญ้า กำหนดขอบเขตขีดเส้นตายไม่ให้งานรุกเข้ามาในชีวิตส่วนตัว โดยการแบ่งแยกเวลากันให้เด็ดขาด หลีกหนีจากเทคโนโลยีและหน้าจอซึ่งมีแต่จะเพิ่มความคิดไร้สาระ ฟูมฟักความเป็นศิลปินในตัวเราให้งอกเงย ทำงานอดิเรก เช่นดนตรี ศิลปะ ฝึกสติ และหัดจัดการความเครียดให้เป็น

     เมื่อจัดดุลชีวิตลงตัวแล้ว ค่อยมาประเมินว่าชีวิตที่เดินมาถึงจุดนี้ ที่เลือกมาเป็นหมออยู่ที่ตรงนี้ มันเหมาะกับเราไหม จะไปต่อดีหรือไม่ หรือจะเลิกไปทำอย่างอื่น ถึงตอนที่ชีวิตได้ดุลแล้วค่อยมาคิดวินิจฉัย เพราะการด่วนวินิจฉัยตัดสินตอนนี้โดยที่เรายังไม่ได้เป็นนายของชีวิตเราเองอย่างแท้จริง คุณหมอจะไปไหนไม่รอดหรอก อย่างดีหนีจากโรค burn out ได้ แต่คุณหมอก็จะไปเป็นโรค bore out แทน ซึ่งก็จะแย่พอๆกัน

     ในการสร้างดุลชีวิตนี้ ผมขอสองเรื่อง คือ

     เรื่องที่ 1. อย่าไปอยากทำทุกอย่างให้ได้ดีหมด มันเป็นไปไมได้หรอก ชีวิตคนเรานี้มันต้องเอามือทำบ้าง ขอโทษ.. เอาตีนทำบ้าง

     เรื่องที่ 2. อย่าไปมี “องค์” มากจนเราเสียดุลระหว่างการเป็นผู้ให้และการเป็นผู้รับ อย่าไปคิดว่าเราเป็นคนที่ฟ้าส่งมาทำหน้าที่พระผู้ช่วยให้รอด เราจึงจะต้องทำตัวเท่แบบเป็นผู้ให้ ให้ ให้ ตลอดเวลาเท่านั้น นี่เป็นคอนเซ็พท์ชีวิตที่ผิดมาก  คือผมจะย้ำความสำคัญของการยอมรับ peer support ผมรู้สึกว่าแพทย์ไทยมีอะไรไม่ยอมคุยกับคนอื่นเพราะกลัวเสียฟอร์ม ซึ่งผมอยากให้คิดใหม่ เราทำงานเป็นผู้ใช้แรงงาน มีอะไรที่บีบคั้นอึดอัด มันจะมามีใครมาเห็นหัวอกเราได้ดีไปกว่าพวกขี้ข้าด้วยกัน ถูกแมะ คุณหมออย่าไปตั้งแง่ว่าคนรอบตัวเรามันแย่ ผมกล้ารับประกันว่าไม่เป็นความจริง ลึกลงไปในใจแล้วมนุษย์เราเป็น social animal ทุกคนมีสัญชาติญาณเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและมีความสุขที่ได้ให้และได้รับความช่วยเหลือจากกันและกัน คุณหมอต้องทำลายกำแพงที่กั้นตัวเองจากญาติสนิทมิตรสหายและเพื่อนร่วมงานลง

ถ้าเริ่มตั้งไข่ด้วยตนเองไม่ได้สักทีในเวลาสองสามเดือน ให้มาเข้าแค้มป์ Spiritual Retreat ครั้งต่อไป ไม่ต้องห่วงเรื่องค่าใช้จ่าย ผมให้คุณหมอเข้าเรียนฟรี

     นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Bianchi, R., Boffy, C., Hingray, C., Truchot, D., & Laurent, E. Comparative symptomatology of burnout and depression. Journal of Health Psychology, 2013;18(6):782-787.
2. Freudenberger H. J. Staff burnout. J Soc Issues. 1974;30(1):159–165.
3. Maslach C., Jackson S. E., Leiter M. P. Maslach Burnout Inventory Manual. 3rd ed. Palo Alto, CA: Consulting Psychologists Press; 1996.
4. Becker J. L., Milad M. P., Klock S. C. Burnout, depression, and career satisfaction: cross-sectional study of obstetrics and gynecology residents. Am J Obstet Gyn. 2006;195(5):1444–1449.
5. Shapiro S., Astin J., Bishop S., Cordova M. Mindfulness-based stress reduction for health care professionals: results from a randomized trial. Int J Stress Manage. 2005;12(2):164–176.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

ทะเลาะกันเรื่องฝุ่น PM 2.5 บ้าจี้ เพ้อเจ้อ หรือว่าไม่รับผิดชอบ

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

หมอสันต์สวัสดีปีใหม่ 2568 / 2025