25 กรกฎาคม 2566

หมอสันต์ให้สัมภาษณ์สื่อเรื่องการสร้างแพทย์รุ่นใหม่เพื่อมาทำงานทางด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต

(ภาพวันนี้ / ท้องฟ้าสีแปลกก่อนฝนมา)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ให้สัมภาษณ์สื่อ เรื่องการวางพื้นฐานสร้างทิศทางอนาคตให้ “เวชศาสตร์วิถีชีวิต” ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 กค. 66

“..ผมเริ่มมองเห็นมาตั้งหลายสิบปีแล้วว่าทิศทางที่วงการแพทย์เรามุ่งหน้าไปด้วยการมุ่งให้การรักษา ให้ยาผ่าตัด โดยเอาโรงพยาบาลเป็นฐานที่มั่นที่ตั้งรับนั้นมันไปไม่รอดดอก เพราะมันเป็นระบบที่กินทรัพยากรณ์ระดับล้างผลาญเลยทีเดียวแต่ก็ยังแก้ปัญหาโรคเรื้อรังซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพหลักของยุคสมัยนี้ไม่ได้ ตอนนั้นผมเองก็คิดไม่ออกว่าจะเอาวิธีไหนมาแก้ปัญหาโลกแตกนี้

คัมภีร์สุขภาพดี หนังสือเล่มใหม่ของหมอสันต์ สนใจคลิกดูในภาพได้

จนกระทั่งเมื่อราวสิบห้าปีก่อนเมื่อตัวผมเองป่วยเป็นโรคหัวใจเสียเอง แล้วประสบความสำเร็จจากการรักษาโรคของตัวเองด้วยการเปลี่ยนวิธิกินอาหารและวิธีใช้ชีวิต ประกอบกับหลักฐานวิจัยสนับสนุนเริ่มทะยอยออกมามากขึ้นๆว่าการเปลี่ยนวิถีชีวิตสามารถป้องกันและรักษาโรคเรื้อรังได้ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน โรคสมองเสื่อม โรคมะเร็ง เป็นต้น ผมจึงมั่นใจว่าแนวทางเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) ซึ่งมุ่งสอนให้ผู้ป่วยและคนทั่วไปให้เปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยตัวเขาเองนี่แหละ เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

เมื่อเชื่อมันอย่างนี้ ผมจึงเลิกทำงานผ่าตัดหัวใจ หันทำแต่เรื่องนี้เรื่องเดียวแบบแหกคอกออกมาทำตั้งแต่นั้นตลอดสิบห้าปีที่ผ่านมา โดยทำในรูปแบบคลินิกให้คำแนะนำคนไข้อยู่ในโรงพยาบาลได้หลายปีแล้วก็สรุปว่ามันส่งผลต่อผู้ป่วยจำนวนน้อยไม่ทันใจ จึงเปลี่ยนวิธีมาตั้ง “เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์” ขึ้นเป็นฐานในการฝึกอบรมผู้ป่วยและคนทั่วไปมาจนถึงทุกวันนี้ นับถึงวันนี้เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ดำเนินการมาได้เกือบสิบปีแล้ว โดยมีผมเป็นแพทย์หลักอยู่คนเดียว มุ่งให้การสอนคนทั่วไปและตัวผู้ป่วยโดยตรง มีบ้างที่จัดฝึกอบรมแพทย์แต่ก็เป็นส่วนน้อย

แต่ว่าวันนี้ผมอายุได้เจ็ดสิบขึ้นแล้ว มันจำเป็นต้องมองไปในอนาคตว่าทำอย่างไรจะทำให้ “เวชศาสตร์วิถีชีวิต” นี้มันแทรกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนสำคัญของการแพทย์ไทยให้ได้

ในด้านหนึ่ง ตัวผมเองดึงแพทย์รุ่นใหม่ๆในระดับที่เป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆอยู่แล้วเช่นเป็นหมอเบาหวานบ้าง เป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัวบ้าง ให้หันมาเรียนรู้ฝึกปฏิบัติทำการสอนแนวทางเวชศาสตร์วิถีชีวิต ทั้งโดยผสานแนวทางนี้เข้าไปในการดูแลผู้ป่วยของเขาซึ่งเขาดูแลอยู่แล้วตามปกติ ทั้งโดยสอนคนทั่วไปให้รู้จักการเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง ผมได้รวบรวมทีม หรือสร้างทีมแพทย์รุ่นใหม่ที่สนใจทางด้านนี้ขึ้นมา ชักชวนให้น้องๆแพทย์เหล่านั้นให้ขยันแวะเวียนผลัดกันมาให้ความรู้กับผู้ป่วยที่มาเข้าแค้มป์สุขภาพที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ นัดกินข้าวคุยเชิงวิชาการกันเป็นครั้งคราว กระตุ้นให้พวกเขานำหลักเวชศาสตร์วิถีชีวิตไปใช้กับการดูแลผู้ป่วยในคลินิกปกติของพวกเขาด้วย ในรูปแบบที่เรียนรู้ร่วมกันไป สอนคนไข้ร่วมกันไป ทำวิจัยร่วมกันไป คล้ายๆกับเป็น fellowship program เมื่อผมเกษียณหยุดทำงานไปแล้ว เหล่าน้องๆแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการสืบทอดหลักวิชาเวชศาสตร์วิถีชีวิตนี้ให้มีผลป้องกันและพลิกผันโรคเรื้อรังแก่ผู้คนในวงที่กว้างออกไปๆไม่รู้จบ

นอกจากการคิดสร้างทีมแพทย์แล้ว ผมยังให้เวลากับการสร้างบุคลากรผู้ช่วยแพทย์ด้วย ที่เราเรียกรวมๆว่า health care provider (HCP) ทุกวันนี้ที่ทำงานอยู่กับผมระดับที่จบปริญญาตรีขึ้นไปมีราวสิบคน ผมให้ทุกคนเข้าโปรแกรมฝึกอบรมต่อเนื่องที่จัดขึ้นภายในโดยผมสอนเอง เพื่อให้ทุกคน “ครบเครื่อง” ในเรื่องเวชศาสตร์วิถีชีวิต สามารถคุยกับผู้ป่วยให้คำแนะนำผู้ป่วยในเรื่องนี้ได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกกำลังกาย การทำอาหาร เป็นต้น แม้ในอนาคตเมื่อเขาหรือเธอย้ายไปทำงานที่อื่นแล้วสิ่งนี้จะติดตัวพวกเขาไปสร้างประโยชน์ให้ผู้ป่วยได้ไม่รู้จบ

ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับแพทย์จบใหม่ที่ยังไม่ได้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาใด แพทยสภาเองก็ได้อนุมัติให้มีการฝึกอบรมหลักสูตรสามปี (resident training) เพื่อนำไปสู่การสอบรับวุฒิบัตรเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นสาขาใหม่ล่าสุดที่เปิดให้มีการฝึกอบรม โดยเริ่มการฝึกอบรมกันที่กรมอนามัยเป็นแห่งแรก นับเป็นการเริ่มต้นแผ้วถางทางอย่างสวยงามมากๆ เพราะจะทำให้แพทย์จบใหม่ที่สนใจทางนี้มีที่ฝึกอบรมให้ได้วุฒิบัตรที่ทั้งทางราชการและเอกชนยอมรับให้เอามาปรับเงินเดือนได้เหมือนผู้เชี่ยวชาญการแพทย์สาขาอื่น

ท้งสองด้านนี้ จะเป็นพลังทำให้เวชศาสตร์วิถีชีวิตปักหลักได้อย่างมั่นคงในฐานะสาขาหนึ่งของการแพทย์ไทย ซึ่งมันจะเป็นพื้นฐานไปสู่การเปลี่ยนโฉมหน้าของวงการแพทย์ไทยในระยะยาว ก่อนที่การแพทย์จะไปถึงทางตัน..คือทำกันจนทรัพยากรหมดแต่ก็ยังเอาโรคเรื้อรังไม่อยู่

สาระสำคัญของเวชศาสตร์วิถีชีวิตก็คือการป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง เช่นโรคหัวใจหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น ด้วยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตแทนการใช้ยาให้ได้มากที่สุด ไม่ใช้เลยได้ยิ่งดี โดยมีเสาหลักของวิชานี้ 6 เรื่อง คือ (1) อาหารพืชเป็นหลักแบบใกล้เคียงธรรมชาติ (WFPB) (2) การเคลื่อนไหวออกกำลังกาย (3) การแก้ปัญหาการนอนไม่หลับหรือหลับไม่พอ (4) การจัดการความเครียด (5) การหลีกเลี่ยงสารพิษจากนอกร่างกาย (6) การสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับคนรอบตัว โดยทั้งหมดนี้ยึดแนวทางการแพทย์แบบอิงหลักฐานวิทยาศาสตร์เป็นแกนกลางของเนื้อหาวิชา..”

……………………………………………………….