08 กรกฎาคม 2566

คุณภาพของดินส่งผลถึงคุณภาพของพืชอาหารซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงสุขภาพของคน

(ภาพวันนี้ / ในฤดูที่ไร้สีสันของดอกไม้เมืองหนาว อ่อมแซ่บก็ได้ขึ้นเป็นดาราหน้ากล้อง)

คุณหมอสันต์ที่นับถือ

ผมเป็นวิศวกร ภรรยาผมป่วยเป็นโรคภูมิแพ้และหอบหืดแบบว่าแพ้สาระพัด เรียกว่าแพ้จนคุณภาพชีวิตแย่มากจริงๆ ผมอยากปรึกษาคุณหมอว่าการแพ้สาระพัดแบบนี้มันมีเหตุมาจากอะไร พอไปพักต่างจังหวัด กินอาหารแบบที่กินอยู่ในกรุงเทพนั่นแหละ คือปกติก็กินหนักไปทางพืชอยู่แล้ว แต่อาการดีขึ้น จนผมมีความคิดจะ early ย้ายออกจากกทม.พาภรรยาไปอยู่บ้านเก่าของผมที่จังหวัดสุโขทัย ไปทำเกษตรพอเพียงเพื่อรักษาโรคให้ภรรยา คุณหมอว่าจะดีไหมครับ

……………………………………………………

ตอบครับ

อ้อ.. เดี๋ยวนี้จะย้ายบ้านก็ต้องมาถามหมอสันต์แล้วเหรอนี่ ฮี่..ฮี่

1.. ถามว่าการแพ้สาระพัดในวัยผู้ใหญ่เกิดจากอะไร ตอบว่าไม่มีใครทราบหรอกครับ ทราบแต่ว่าที่ไปตรวจว่าแพ้โน่นแพ้นี่แล้วหลีกเลี่ยงนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ มีแต่จะก่อปัญหาใหม่คือใช้ชีวิตยากขึ้น คุณภาพชีวิตแย่ลง มีสมมุติฐานซึ่งแปลว่าการคาดเดาในเรื่องโรคภูมิแพ้นี้แยะมาก แต่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนสมมุติฐานเหล่านั้นซักกะอย่างเดียว

ข้อมูลใหม่ล่าสุดนี้เราทราบแน่ชัดแล้วคือ คนที่เป็นโรคภูมิแพ้แบบต่างๆรวมทั้งภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง มีการสูญเสียดุลยภาพของจุลินทรีย์ในลำไส้ (dysbiosis) มากกว่าคนที่ไม่ขี้แพ้

และเราทราบอีกด้วยว่าคนที่ขี้แพ้ เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ควบคุมปฏิกริยาแพ้ไม่ให้เวิ่นเว้อเกินไป ชื่อ regulatory T cell หรือเรียกสั้นๆให้จำง่ายว่าที่เร็กซ์ (Tregs) จะลดจำนวนลง

และเราทราบด้วยว่าเซลต้นกำเนิดของทีเร็กซ์ที่ชื่อพลาสมาเซลนั้น เป็นเซลเม็ดเลือดขาวที่ต้องอาศัยโมเลกุลในกลุ่มบิวไทเรทเป็นอาหาร ซึ่งโมเลกุลบิวไทเรทนี้จุลินทรีย์ในลำไส้เป็นผู้ผลิตให้ จากการย่อยกินกากใยหรือ fiber ในอาหารที่เรากินเข้าไป

ตัวผมค่อนข้างจะให้น้ำหนักกับข้อมูลใหม่นี้มาก เหตุผลหนึ่งมันเป็นประสบการณ์ส่วนตัวซึ่งมีผู้ป่วยเป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์ (โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง) ระดับรุนแรงมากมาเข้าแค้มป์ที่เวลเนสวีแคร์ซึ่งผมบอกเธอแต่แรกว่าแค้มป์ของผมรักษาแต่โรคเรื้อรังพวกหัวใจเบาหวานความดัน ไม่เกี่ยวอะไรกับโรคข้อ แต่เธอก็ขอมาเข้า แล้วเธอก็เปลี่ยนอาหารตามคนอื่นที่ผมแนะนำให้กินรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คือเปลี่ยนไปกินอาหารแบบวีแกน (มังสวิรัติไม่กินไข่ไม่กินนม) แล้วปรากฎว่าโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ของเธอดีขึ้นจนเลิกยาได้เองในที่สุด ผมเองก็งงว่ามันเป็นไปได้อย่างไร ต่อมาเมื่อมีการตีพิมพ์งานวิจัยเรื่องการลดปริมาณทีเร็กซ์กับการเป็นโรคขี้แพ้ ผมจึงเริ่มมองเห็นความเชื่อมโยงของการกินอาหารกากมากซึ่งมีผลถึงการสร้างดุลยภาพของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งมีผลต่อไปถึงการเพิ่มจำนวนทีเร็กซ์ ซึ่งมีผลต่อไปถึงกับการหายจากโรคขี้แพ้

2.. ถามว่าจะหนีโรคขี้แพ้โดยการย้ายไปอยู่ตจว.จะดีไหม ตอบว่าไม่ทราบครับ มันก็ต้องลองดู ไม่มีวิธีอื่นนอกจากต้องลองดู

3.. ถามว่ากินผักที่กรุงเทพกับกินผักที่ต่างจังหวัด ผักก็ผักชนิดเดียวกัน ปริมาณก็พอๆกัน มันจะให้ผลต่อร่างกายต่างกันได้หรือ ตอบว่าได้สิครับ เพราะแม้จะเป็นผักชนิดเดียวกัน แต่หากปลูกในดินที่ต่างกัน ธาตุอาหารในผักก็ต่างกัน ผลต่อร่างกายก็ต่างกันได้ ทำไมจะไม่ได้

ข้อมูลหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนแล้วในเรื่องนี้ก็คือ (1) แนวโน้มที่แร่ธาตุในพืชอาหารจะมีสารอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งแร่ธาตุที่หายากซึ่งร่างกายใช้น้อยแต่จำเป็นต้องได้ (micronutrients) ลดปริมาณลงไปเรื่อยๆ ทั่วโลก (2) การผลิตพืชอาหารในสไตล์รูปแบบของการทำเหมืองแร่ คือเอาออกลูกเดียว ทำให้คุณภาพของดินเสื่อมลงๆ ตามมาด้วยคุณภาพของพืชอาหารที่ปลูกบนดินนั้นลดลงๆ (3) แถบรอบๆขอบทะเลทรายซาฮารา และแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมทั้งประเทศไทย) ปริมาณสังกะสีในดินลดลงๆ ส่งผลให้พืชอาหารมีธาตุสังกะสีน้อยลงๆ (4) การขาดธาตุอาหารระดับ micronutrient พบมากในพื้นที่ของโลกที่ธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแร่ธาตุ micronutrient ต่ำ

4.. ข้อนี้ผมแถมให้เพราะคุณคิดจะไปปลูกผักปลูกหญ้ากินเอง ว่าการจะสร้างดุลยภาพของจุลินทรีย์ในลำไส้นี้ มันโยงใยไปถึงดิน กล่าวคือหลักฐานวิจัยบ่งชี้ไปทางว่าการผลิตพืชผักแบบเกษตรอินทรีย์และเกษตรในครอบครัว (organic and/or family-based traditional agriculture – OFBTA) สร้างจุลินทรีย์ในดินและมวลของจุลินทรีย์ได้มากกว่า ลดการสูญเสียไนโตรเจนจากดินได้มากกว่า และเป็นแหล่งแร่ธาตุหายากและโปรตีนจากอาหารพืชที่ดีกว่าการผลิตแบบฟาร์มขนาดใหญ่

ทั้งนี้ทั้งนั้นผมอยากจะให้คุณรู้จักหลักฐานวิทยาศาสตร์เรื่องนิเวศน์วิทยารอบๆรากฝอย (rhizosphere) ว่าในระบบนี้รากพืชทำตัวเป็นเจ้าบ้านให้จุลินทรีย์ที่หลากหลายในดินอาศัยอยู่แบบระบบนิเวศน์ที่ลงตัว โดยจุลินทรีย์เป็นตัวย่อยธาตุอาหารในดินและจากอากาศให้กลายเป็นอาหารที่รากพืชดูดไปใช้ได้ ปกติธาตุอาหารเช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม (NPK) มีอยู่ในดินในรูปของธาตุอิสระ (inorganic) ซึ่งพืชดูดไปใช้ไม่ได้ การจะกินธาตุอาหารเหล่านี้ได้พืชต้องอาศัยจุลินทรีย์เช่นแบคทีเรียและราในดินซึ่งมีกลไกในตัวมันเองที่สามารถแปลงธาตุอิสระในดินไปเป็นสารอินทรีย์ (organic) เพื่อใช้ในร่างกายของมันเองได้ เมื่อจุลินทรีย์เหล่านี้ตายและถูกย่อยสลายโดยสัตว์ผู้กินจุลินทรีย์ (เช่นปลวก) ธาตุอาหารในรูปของสารอินทรีย์ในตัวจุลินทรีย์ก็จะออกมาในดินให้รากพืชดูดไปใช้เพื่อการเติบโตของพืชเองได้ ให้คุณเอาตรงนี้ไปวิจัยต่อดู ภาพใหญ่ก็คือดินที่ดีมีชีวิตมีจุลินทรีย์อยู่ในดินมาก จะทำให้พืชมีสารอาหารที่หลากหลาย กินเข้าไปแล้วก็ย่อมจะให้สารอาหารที่ครบถ้วนกว่า และจะสร้างความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้ได้ดีกว่าพืชที่ปลูกจากดินที่เสื่อมหรือดินที่จืดแล้ว

ดังนั้นไหนๆก็จะไปอยู่บ้านนอกแล้ว ลองทำวิจัยการสร้างสุขภาพที่ดี ด้วยการเริ่มสร้างดินที่ดีก่อน นี่เป็นการบ้านที่มีความสำคัญระดับโลกเลยนะ หิ..หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม  

  1. Beal T, Massiot E, Arsenault JE, Smith MR, Hijmans RJ. 2017Global trends in dietary micronutrient supplies and estimated prevalence of inadequate intakes. PLoS ONE 12, e0175554. ( 10.1371/journal.pone.0175554)
  2. Lal R. 2015Restoring soil quality to mitigate soil degradation. Sustainability 7, 5875-5895. ( 10.3390/su7055875) 
  3. Cakmak I, McLaughlin MJ, White P. 2017Zinc for better crop production and human health. Plant Soil 411, 1-4. ( 10.1007/s11104-016-3166-9)
  4. Brevik EC, Slaughter L, Singh BR, Steffan JJ, Collier D, Barnhart P, Pereira P. 2020Soil and human health: current status and future needs. Air, Soil Water Res. 13, 1-23. ( 10.1177/1178622120934441)
  5. Myers SS, et al..2014 Increasing CO2 threatens human nutrition. Nature 510, 139-142. ( 10.1038/nature13179)
  6. Bulgarelli D., Schlaeppi K., Spaepen S., Van Themaat E. V. L., Schulze-Lefert P. (2013). Structure and functions of the bacterial microbiota of plants. Annu. Rev. Plant Biol. 64 807–838. 10.1146/annurev-arplant-050312-120106 
  7. Richardson A. E., Barea J. M., Mcneill A. M., Prigent-Combaret C. (2009). Acquisition of phosphorus and nitrogen in the rhizosphere and plant growth promotion by microorganisms. Plant Soil 321 305–339. 10.1007/s11104-009-9895-2