05 กรกฎาคม 2566

หมอสันต์พูดกับแพทย์ที่มาฝึกอบรม (Camp For MD)เรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรม

(ภาพวันนี้: นกเป็ดน้ำคู่ละ 160 บาท ในดงผกากรองสีม่วง)

(บทความวันนี้ปรับปรุงจากที่ผมพูดกับแพทย์ใน Camp For MD)

สวัสดีครับคุณหมอทุกท่าน

ผมดีใจมากที่ได้มีโอกาสมาพูดคุยกันครั้งนี้ เหตุผลหนึ่งก็คือผมเองอยากจะถ่ายทอดประสบการณ์ในวิชาชีพในสาขา lifestyle medicine นี้ให้แก่แพทย์รุ่นหลังเพื่อว่ารุ่นน้องๆจะได้ต่อยอดสร้างสรรค์สาขาวิชานี้ต่อไปได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลามาตั้งต้นลองผิดลองถูกใหม่ อีกเหตุผลหนึ่งก็คือผมแอบหวังว่าจังหวะเหมาะๆลงตัวอาจมีน้องๆที่อยู่ในละแวกนี้บางท่านที่จัดเวลาลงตัวแวะเวียนมาให้ความรู้กับผู้ป่วยที่มาเข้าแค้มป์ที่เวลเนสวีแคร์แทนผมได้บ้าง ที่นี่จะได้ไม่เหงาแม้ผมจะลดการทำงานลงไปตามอายุที่มากขึ้นทุกวัน

ในชั่วโมงนี้ผมจะพูดถึงปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตแทนการใช้ยาได้สำเร็จ ย้ำอีกทีนะว่าเวชศาสตร์วิถีชีวิตคือการรักษาโรคเรื้อรังด้วยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตแทนการใช้ยา หากผู้ป่วยเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตไม่สำเร็จ เวชศาสตร์วิถีชีวิตก็ไม่มีประโยชน์อะไร เนื่องจากยังไม่เคยมีใครทำวิจัยตีพิมพ์หรือเขียนเป็นตำราไว้ว่าปัจจัยเอื้อให้ผู้ป่วยเปลี่ยนวิถีชีวิตสำเร็จมีอะไรบ้าง มีแต่รูปแบบ (model) ที่คนนิยมใช้กันในการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน ผมจึงต้องพูดจากประสบการณ์ตรงของผมเองหลังจากรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีเวชศาสตร์วิถีชีวิตมา 15 ปี

ก่อนอื่นผมสรุปรูปแบบที่ใช้กันทั่วไปซึ่งคุณหมอคงรู้จักดีแล้วก่อน เผื่อว่าบางท่านไม่คุ้นเคยกับบางโมเดล

โมเดล1. Stage of change model (ทฤษฏีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง) ซึ่งมีสาระสำคัญว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆก่อนจะสำเร็จมันต้องผ่านไปทีละขั้นรวม 5 ขั้น แต่ละขั้นก็ต้องใช้เครื่องมือให้เหมาะกับขั้นนั้นจึงจะได้ผล กล่าวคือ

(1) ขั้นยังไม่สนใจ (Precontemplate) เครื่องมือช่วยคือ การให้ข้อมูล ปลูกจิตสำนึก

(2) ขั้นสนใจแต่รอฤกษ์ (Contemplate) เครื่องมือช่วยคือการเชียร์ ชี้ให้เห็นผลต่อตนเองและคนอื่น

(3) ขั้นตัดสินใจทำ (Preparation) เครื่องมือช่วยคือ การให้ทางเลือก choice หลายๆทาง

(4) ขั้นลงมือทำ (Action) เครื่องมือช่วยคือ วินัยตนเอง วินัยกลุ่ม กัลยาณมิตร ขั้นนี้นิยามว่านาน 6 เดือน

(5) ขั้นทำได้ยืด (Maintenance) ขั้นนี้นิยามว่านาน 5 ปี

(6) ขั้นสำเร็จแน่แล้ว (Termination)

ในประสบการณ์ของผมเองได้พยายามใช้หลักขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างจริงจัง ถึงขั้นจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ติดตามว่าใครอยู่ขั้นไหนเครื่องมือที่กำลังใช้กับเขาคืออะไร แต่ท้ายที่สุดเกือบทั้งหมดจะมากองรวมกันอยู่ที่ขั้นที่ 4 คือลงมือทำแล้ว..แผ่ว ลงมือทำแล้ว…แผ่ว ไม่ไปไหนสักที แต่ผมก็ยังใช้อยู่ เพียงแต่ว่าใช้เป็นเครื่องมือประกอบ ไม่ใช่เครื่องมือหลัก

โมเดล2. Psychological Model (จิตวิทยาบำบัด) ในกลุ่มนี้มีเทคนิคปลีกย่อยแยะมาก บ้างเรียกว่าเป็นการบอกตัวเองย้ำๆจนระบบประสาทเปลี่ยนตาม (NLP- neuro linguistic programming) บ้างใช้หลักให้คิดใหม่ทำใหม่ (CBT- cognitive behavior therapy) บ้างเป็นการสะกดจิตหรือสั่งจิต บ้างให้สร้างนิสัยใหม่โดยทำทีละนิดเดียว (Tiny habit) บ้างให้เน้นการคิดบวกธรรมดาๆ (positive thinking) เทคนิคในกลุ่มนี้ที่ผมมักเลือกมาใช้ก็เช่น

  1. คิดบวก เลิกคิดลบ คุยกับตัวเองบ่อยๆ
  2. หาเหตุผลบอกตัวเองว่าทำไมถึงต้องทำ
  3. ทำให้มันเป็นเรื่องที่ต่อรองไม่ได้
  4. ทำให้มันเป็นเรื่องสนุก
  5. เก็บความรู้สึกดีๆไว้ทบทวน
  6. สร้างตัวเองในจินตนาการขึ้นมา
  7. รับฟังเรื่องราวความสำเร็จคนอื่น
  8. ทุ่มทุนสร้าง เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์
  9. ให้รางวัลตัวเอง

โดยสรุปเท่าที่ผมทำมา โมเดลทางจิตวิทยานี้มันได้ผลในระยะสั้นเท่านั้น ต้องมากระตุ้นกันอยู่เรื่อยจึงจะไปได้ยาว

โมเดล3. Management model (ทฤษฎีการบริหาร) ก่อนที่ผมจะป่วยและเริ่มเปลี่ยนอาชีพมาเป็นหมอทางด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต ผมทำงานบริหารมาก่อน คือเป็นนักบริหารธุรกิจ และสอนป.โทบริหารธุรกิจโรงพยาบาลอยู่ที่ศศินทร์ด้วย พอมาทำเวชศาสตร์วิถีชีวิตผมก็เอาหลักบริหารมาใช้ ก่อนที่จะมีคนเอามาดัดแปลงเป็นวิธี coaching ที่แพร่หลายดกดื่นอย่างทุกวันนี้ เนื้อหาวิชาบริหารธุรกิจมันมีขั้นตอนง่ายๆว่า

1.  ตั้งเป้าหมาย Set goal ซึ่งก็ต้องเป็นเป้าหมายที่วัดได้

2. วางแผน Planning ซึ่งมีกรอบเวลา เริ่มจากไหน ไปถึงไหน ในเวลาเท่าใด

3. มอบหมายงาน Delegation

4. ตามไปกำกับตรวจสอบ Supervision

5. ประเมินผล Evaluation

เมื่อเอามาใช้ทางด้านสุขภาพก็แทบจะลอกขั้นตอนมาเลย แค่เปลี่ยนตัวพนักงานผู้รับมอบหมายงานเป็นตัวผู้ป่วย เปลี่ยนตัวผู้บริหารเป็นแพทย์หรือพี่เลี้ยง วิธีนี้มันดีในแง่ความชัดเจนของแผนและตัวชี้วัด แต่มันต้องอาศัยการจี้จิก คำว่า supervision ก็คือการจี้จิกนั่นเอง ซึ่งท้ายที่สุดผู้ป่วยหลบหนีหมด เพราะผู้ป่วยทุกคนต้องการอิสระเสรีในการตัดสินใจเดินหน้าถอยหลังช้าเร็วของตัวเอง เขาจะทนการจี้จิกไม่ค่อยได้

โมเดล4. Energy model (สร้างพลัง) อันนี้ออกแนวไสยศาสตร์หน่อยๆ แบ่งง่ายๆเป็นสามระดับ คือ

(1) ระดับความคิด ซึ่งก็จะคล้ายๆกับการคิดบวก

(2) ระดับหาพลังร่วมจากเพื่อน (synergy) หลักการก็คือหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสาม หมายความว่าการมีเพื่อนช่วยเพื่อนมันให้พลังขับดันมากเป็นทวีคูณ เทคนิคที่ใช้ก็เช่น

2.1. จัดกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หนึ่งแค้มป์หนึ่งกลุ่ม

2.2. ให้คบเพื่อนใหม่

2.3. จ้างเทรนเนอร์

2.4. ไปฟิตเนส เพื่อจะอาศัยบรรยากาศ

2.5. สมัครแข่งมินิมาราธอน

2.6. ท้าพนัน แข่งนับก้าว แข่งลดน้ำหนัก

2.7. ทำตัวเป็นแม่แบบ (role model) เพื่อไปสอนคนอื่น (teach to learn)

2.8. พ่วงการกิจกรรมสุขภาพกับสิ่งที่ชอบ

(3) ระดับพลังชีวิต (life energy) อันนี้นอกตำราแพทย์นะ ผมคิดขึ้นมาใช้เอง รากมันมาจากไสยศาสตร์ ที่ว่าชีวิตประกอบด้วยหลายชั้น อันได้แก่ ร่างกาย พลังชีวิต ความจำ ความคิด และความรู้ตัว ชั้นของพลังชีวิต ซึ่งแสดงออกในรูปของความชอบอย่างมาก (passion) บ้าง ความกระดี๊กระด๊า (energetic) บ้าง ความท้าทาย (challenge) บ้าง ความสนุก (fun) บ้าง ทั้งหมดนี้หากเราใส่ใจฟูมฟักมันหน่อยมันก็จะเป็นแรงผลักดันให้การทำอะไรยากๆเช่นการเปลี่ยนวิถีชีวิตสำเร็จ โดยผมสรุปวิธีที่จะเพิ่มพลังชีวิตไว้หลายอย่าง เช่น

3.1 Breathing คือฝึกการหายใจ หายใจแบบลึกบ้าง แบบกลั้นบ้าง

3.2 De-stressing ผ่อนคลาย ยิ้ม

3.3 Nature เข้าหาธรรมชาติ แสงแดด น้ำ ดิน  

3.4 Food กินอาหารให้พลัง ซึ่งก็คือกินพืชที่หลากหลาย ลดเนื้อสัตว์

3.5 Exercise ออกกำลังกาย

3.6 Connection สร้างเชื่อมโยงกับชีวิตอื่น

3.7 Altruism คือการเป็นผู้ให้ หรือมีชีวิตโดยใช้พลังเมตตาธรรมเป็นตัวขับเคลื่อน

กล่าวโดยสรุป

ทั้งสี่โมเดลนี้ผมใช้ทั้งหมด แม้ว่าทุกวันนี้จะหนักไปทางโมเดลไสยศาสตร์คือเน้นการสร้างพลังชีวิตมากที่สุดก็ตาม

ในภาพใหญ่สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นปัจจัยกำหนดความสำเร็จในการช่วยผู้ป่วยเปลี่ยนวิถีชีวิตจากมากไปหาน้อยคือ

1.. การที่แพทย์ทำตัวเป็นตัวอย่าง (Role Modeling) ความครบเครื่องในเรื่องการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง การมีความรู้ การมีทักษะที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ผู้ป่วย ยังไม่พอ แพทย์ต้องสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเองได้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

2.. ความเจนจัดในการใช้ยารักษาโรคของแพทย์ (Clinical expertise) อย่าลืมว่าเวชศาสตร์วิถีชีวิตคือการรักษาโรคเรื้อรังด้วยการใช้การเปลี่ยนวิถีชีวิตแทนการใช้ยา แพทย์จำเป็นต้องเจนจบเรื่องโรคเรื้อรังและวิธีรักษาตามหลักวิชาแพทย์แผนปัจจุบันทุกสาขาไม่ว่าจะเป็นหัวใจ สมอง เบาหวาน ความดัน ไต เป็นต้น รวมทั้งต้องเจนจบเรื่องยาแผนปัจจุบันที่ใช้อยู่ในทุกสาขาและตอบคำถามผู้ป่วยซึ่งมักจะลึกซึ้งและหลากหลายได้อย่างไม่ติดขัดด้วย

3.. เมตตาธรรม (Compassion) ยิ่งแพทย์มีจิตเมตตา ก็มีความอดทนต่อพฤติกรรมลุ่มๆดอนๆของผู้ป่วยมากขึ้น และเมื่อแพทย์ทู่ซี้ช่วยเหลือไปโดยไม่แสดงอาการเบื่อหน่าย ถึงจุดหนึ่งผู้ป่วยจะเริ่มเกิดพลังที่จะเปลี่ยนตัวเองขึ้นมาจริงๆ

4.. ถ้ามันเป็นเรื่องสนุกและท้าทาย (Fun and challenge) ผมมีความรู้สึกว่าคนเป็นโรคเรื้อรัง สิ่งเดียวที่จะขับเคลื่อนเขาได้ดีที่สุดคือความสนุก เพราะการเป็นโรคเรื้อรังเองมันเป็นความเหนื่อยหน่ายอย่างยิ่งอยู่แล้ว หากจะต้องมาเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยรูปแบบที่น่าเบื่อหน่ายอีก เขาไม่เอาด้วยแล้ว

5.. การเจาะเข้าถึงความเครียดส่วนบุคคล (Personal stress) ความเครียดเป็นเหตุเบื้องหลังโรคเรื้อรังทุกโรคเสมอ การมีเวลาให้กันและกันมากขึ้นจะเปิดช่องให้แพทย์เจาะเข้าถึงความเครียดส่วนตัวของคนไข้ ซึ่งจากจุดนั้นบางครั้งแพทย์จะมองเห็นทางออกที่คนไข้มองไม่เห็น ซึ่งจะทำให้การโค้ชง่ายขึ้น

6.. การเปิดช่องทางสื่อสารฉุกเฉิน (Accessibility) เรื่องสำคัญของเวชศาสตร์วิถีชีวิตในส่วนที่เขาอยากจะคุยกับแพทย์อย่างทันทีหรือปัจจุบันทันด่วนก็คือการที่เขาต้องลด ละ เลิก ยา ซึ่งบางครั้งเกิดอาการ หรือการเปลี่ยนแปลงของตัวชี้วัดสุขภาพที่ทำให้เขาไม่มั่นใจว่ามันเกิดจากการลด ละ เลิก ยาหรือไม่ ณ จุดนั้นเขาต้องการปรึกษาแพทย์ทันที รูปแบบของการนัดเจอกันที่คลินิกสองสามเดือนครั้งนั้นไม่เวอร์คแน่นอน ในเวชศาสตร์วิถีชีวิตแพทย์ต้องเปิดช่องทางให้ผู้ป่วยสื่อสารถึงแพทย์ได้ทันที ซึ่งโชคดีที่ปัจจุบันมีเครื่องช่วยหลายรูปแบบที่ใช้ได้ดี เช่น ไลน์ เป็นต้น

ทั้งหกประเด็นนี้เป็นแค่ประสบการณ์ส่วนตัวของผมที่ได้จากการทำเวชศาสตร์วิถีชีวิตมา 15 ปี ไม่ใช่หลักวิชามาตรฐานนะครับ เป็นเรื่องที่คุณหมอต้องเอาไปกลั่นกรองเลือกใช้เองอีกที

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์