หมอสันต์พูดกับสมาชิก Spiritual Retreat เรื่องชีวิตเหมือนการแวะ Transit Hall
อย่าไปซีเรียสกับชื่อหัวเรื่องในตารางเรียน เพราะของจริงผมไม่ได้ทำตามนั้น
ความจริงไม่เฉพาะตารางเรียน ทั้งชีวิตนี้ก็อย่าไปซีเรียสกับเรื่องอะไรมาก อย่าไปคิดว่าเรื่องที่เรากำลังทำอยู่ หรือภาระกิจที่เรากำลังแบกอยู่นี้มันสำคัญอะไรมากมาย สมมุติว่าวันพรุ่งนี้เราตายไป หลังจบงานศพของเราไม่กี่วันโลกทั้งโลกก็จะกลับสู่สภาพเดิมไม่มีใครเดือดร้อนอะไร เพราะเมื่อเทียบกับจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้ ชีวิตเราหนึ่งชีวิตก็เทียบได้กับเม็ดฝุ่นเม็ดเดียวเท่านั้น ดังนั้น อย่าไปจริงจังกับมันมากเกินไป
ไหนๆพูดถึงประเด็นนี้แล้ว ขอพูดต่ออีกหน่อยเป็นการทวนความจำให้พวกเราว่าชีวิตนี้มันสั้นมาก this is a very brief life แป๊บเดียวเราก็ตายแล้ว เราต้องตระหนักตรงนี้ก่อนเราจึงจะใช้ชีวิตเป็น
อุปมาที่ 1. เปรียบชีวิตเหมือนเราเดินทางไปเมืองนอกแล้วต้องลงเครื่องแรกเพื่อจะ ทรานสิทไปเครื่องที่สอง ผู้โดยสารทุกคนกรูกันเข้าไปใน transit hall เราแย่งที่นั่งในฮอลล์ไม่ได้เพราะมีคนตัดหน้าเราก็โมโหฮึดฮัด โดยเราลืมนึกไปว่าเราจะอยู่ในฮอลล์นี้อย่างมากก็ห้านาที เดี๋ยวเราก็จะต้องออกจากฮอลไปขึ้นอีกเครื่องหนึ่งแล้ว ชีวิตนี้ก็เป็นเช่นกับการเข้าไปอยู่ในทรานสิทฮอล มันสั้นขนาดนั้นประเดี๋ยวประด๋าวขนาดนั้น ดังนั้นให้มองชีวิตให้เห็นภาพใหญ่ มองชีวิตใน broader perspective จะได้ไม่ฮึดฮัดปึ๊ดปั๊ดกับชีวิตนี้มากเกินไป คำว่าการมองให้เห็น broader perspective นี้ผมไม่ได้หมายความว่าให้มองเห็นว่าชีวิตนี้มันเป็นการเดินทางข้ามภพข้ามชาติที่ยังมีชาติหน้าอีกหลายชาติรออยู่..ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ผมหมายความว่าก็ในเมื่อเวลาที่จะอยู่ในทรานสิทฮอลล์นี้มันสั้นแค่ห้านาที คุณจะใช้เวลานี้อย่างไรให้คุณมีชีวิตอย่างสงบเย็นและสร้างสรรค์มากที่สุด ถ้าคุณมัวแต่โกรธโมโหปึ๊ดปั๊ดที่แย่งที่นั่งกับเขาไม่ได้ คุณก็เสียโอกาสที่จะมีชีวิตในห้านาทีนี้อย่างสงบเย็นและสร้างสรรค์ไปเสียแล้ว ผมหมายความว่าอย่างนั้น
อุปมาที่ 2. เปรียบเหมือนเรากับเพื่อนๆสี่ห้าคนนัดไปเที่ยวเมืองนอกด้วยกัน นาน 7 วัน แล้วเกิดทะเลาะกันแตกเป็นสองพวกเถียงกันบ๊งเบ๊ง นี่ถ้าอยู่ที่บ้านที่เมืองไทยเราก็คงกระแทกหูโทรศัพท์ใส่เพื่อนและเลิกพูดเลิกติดต่อกันไปสักเดือนสองเดือนถ้าเขาไม่กลับมาง้อเราๆก็จะได้เลิกคบกันไปเลย แต่นี่เรามาเที่ยวแค่ 7 วันเก็บเงินเก็บทองตั้งใจมาเที่ยวเปิดหูเปิดตาดูอะไรที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นแบบสนุกๆ ถ้าเราจะมาอารมณ์บูดเสียทั้ง 7 วันเราก็เสียค่าเครื่องบิน เสียเวลามาเปล่า เราจึงต้องรีบเกี้ยเซี้ยคืนดีกับเพื่อนเพื่อให้ทั้งก๊วนกลับมาอารมณ์ดีเที่ยวสนุกด้วยกันได้ไหม่ เพราะ 7 วันนี้มันสั้นนักจนไม่มีเวลาจะไปงอนหรือไปจมอยู่กับอารมณ์บูด การใช้ชีวิตที่ชาญฉลาดก็เช่นนั้น ในชีวิตที่แสนสั้นนี้ วันพรุ่งนี้เราอาจจะตายแล้วก็ได้ ในเมื่อเป้าหมายชีวิตของคนเราคือเกิดมาก็เพื่อจะได้ใช้ชีวิตที่มีความสุข เราก็ต้องรู้จักมีชีวิตที่มีความสุขหรือมีชีวิตที่สงบเย็นและสร้างสรรค์เสียทันที เดี๋ยวนี้ โดยไม่ยอมพลัดหลงไปติดอยู่ในความคิดที่ลากเราออกไปจากเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะเป็นความเสียดายอดีต หรือความกลัวอนาคต ซึ่งล้วนจะทำให้เราหมดโอกาสได้ใช้ชีวิตที่เดี๋ยวนี้
การมาอยู่ด้วยกันในรีทรีตนี้ เราจะไม่เรียนตามตาราง แต่จะคุยกันไป สุดแล้วแต่ว่าคำถามของสมาชิกจะพาไป และแล้วแต่ว่าจะมีอะไรโผล่ขึ้นมาในใจของผมในแต่ละขณะ ซึ่งผมก็จะสื่อออกมาโดยไม่มีการวางแผนอะไรไว้ล่วงหน้า
ในรีทรีตนี้เราจะใช้เวลา 90% ไปกับการฝึกมีประสบการณ์กับของจริง การพูดถึงหลักการหรือคอนเซ็พท์ต่างๆจะพูดกันเฉพาะในชั่วโมงตั้งต้นนี้เท่านั้น
รีทรีตนี้ไม่ได้มีพื้นฐานอยู่บนศาสนาใดเป็นพิเศษ
เพื่อให้ง่ายต่อการนำมาใช้งาน ให้มองในภาพใหญ่ว่าชีวิตประกอบด้วย 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ (1) ร่างกาย (2) พลังชีวิต (3) ความคิด (4) ความรู้ตัว
ร่างกาย (body) ก็คือส่วนเนื้อหนังตันๆที่จับต้องได้นี่ ซึ่งเรารู้จักกันดีแล้ว ไม่ต้องอธิบาย
พลังชีวิต (life energy) คือพลังงานที่ขับเคลื่อนร่างกายนี้ ส่วนที่หยาบที่สุดของมันก็คือลมหายใจที่เราดูดเข้ามาจากข้างนอก เข้ามาแล้วก็แพร่กระจายไปหล่อเลี้ยงให้พลังงานแก่ทุกเซลในร่างกาย แล้วกลายเป็นพลังงานในรูปแบบต่างๆรวมทั้งความร้อนที่ทำให้ข้างในร่างกายอุ่นกว่าข้างนอก เรารับรู้พลังงานได้ในรูปของความรู้สึก ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า feeling ในภาษาบาลีใช้คำว่า “เวทนา” ซึ่งแสดงออกได้ทั้งเป็นความรู้สึกทางร่างกาย เช่นความรู้สึกวูบวาบซู่ซ่าหนาวร้อนหรือเจ็บปวด และเป็นความรู้สึกทางใจเช่นความกระดี๊กระด้า ตื่นเต้น ชอบ ถูกจริต อยากรู้อยากเห็น นี่เป็นการนิยามอย่างหยาบๆเพื่อจะให้เราเริ่มเรียนกันได้นะ ผมจะไม่ลงไปนิยามอะไรให้ละเอียดมากไปกว่านี้ เลยเพราะมันจะกลายประเด็นเห็นต่างในระหว่างหลายศาสนา หลายนิกาย หลายแนวคิดไป ยกตัวอย่างเช่นสมมุติเราเจาะลึกเข้าไปในศาสนาพุทธศาสนาเดียว แล้วเจาะลึกลงไปในนิกายเถรวาท (orthodox) นิกายเดียว ซึ่ง orthodox ก็คือทุกอย่างต้องเป๊ะๆตามคำพูดของพระพุทธเจ้าแล้วไม่น่าจะต้องมีอะไรมาเถียงกันมาก แต่ภายในนิกายเถรวาทด้วยกัน คำว่า “เวทนา” คำเดียวก็ทะเลาะกันได้แล้ว เช่นถ้าใครไปทางสายพม่า อย่างเช่นสำนักโกเอนก้า คำว่าเวทนาหมายถึงความรู้สึกบนร่างกายเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับความรู้สึกทางใจ แต่พอมาทางไทย เวทนา หมายความรวมทั้งความรู้สึกทางกายและทางใจด้วยโดยเน้นหนักหนักที่ความรู้สึกทางใจ เห็นไหมว่าแค่นี้คำพูดคำแรกก็ไม่เหมือนกันแล้ว
ความคิด (thought) บางครั้งในภาษาอังกฤษก็ใช้คำว่า mind แทนไปเลย ในภาษาบาลีใช้คำว่า “สังขาร” เราทุกคนรู้จักความคิดกันดีแล้ว คงไม่ต้องอธิบาย
ความรู้ตัว (awareness) บางครั้งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า consciousness ซึ่งในที่นี้ให้ถือว่าคำว่า awareness กับ consciousness เป็นคำเดียวกัน ในภาษาบาลีใช้คำว่า “วิญญาณ” มันหมายถึงความตื่น (คือไม่หลับ) ความสามารถรับรู้ คือตื่นและรับรู้ได้ มีธรรมชาติประจำตัวเป็นความสงบเย็นหรือเบิกบานด้วย เพราะมันเป็นอิสระ 100% ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวดองกับสิ่งอื่นใดทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นความคิดหรือร่างกายมันก็ไม่มีผลประโยชน์ร่วมด้วย
ในองค์ประกอบทั้งสี่นี้ ร่างกาย พลังชีวิต และความคิด เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่ความรู้ตัวไม่เคยเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยตั้งแต่เราเกิดมาเริ่มจำความได้จนถึงเดี๋ยวนี้ เราก็ยังรู้ว่าเมื่อใดที่เรามีสติมองออกไปนอกตัวรับรู้สิ่งต่างๆ เราก็ยังรับรู้สิ่งต่างๆในฐานะที่เราเป็น “เราคนเดิม” ไม่เคยเปลี่ยน แม้ว่าร่างกายจะเติบใหญ่ขึ้นเปลี่ยนขนาดมาตลอด และความคิดก็เปลี่ยนแปลงเรื่อยมาตามวัยและตามการเรียนรู้ใหม่ๆ แต่ความรู้ตัวหรือความเป็นตัวเราไม่เคยเปลี่ยน
คำว่า “วิญญาณ” ในภาษาบาลีนี้ ตรงกับคำว่า “อาตมัน” ในคำสอนของฮินดู ย้ำอีกทีนะความรู้ตัวหรือวิญญาณในคำสอนพุทธซึ่งเป็นบาลี เป็นสิ่งเดียวกับอาตมันในคำสอนฮินดู ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต แต่ต่างกันที่การจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต ตรงนี้ขอนอกเรื่องพูดถึงเสียหน่อยนะ
วิญญาณของพุทธ ตายแล้วดับ หายเกลี้ยง ไม่เหลืออะไรที่จะเป็นเยื่อใยเชื่อมโยงกับความเป็น “ชีวิต” ที่เคยดำรงอยู่ตอนที่กำลังมีชีวิตอยู่นี้เลย ส่วนอาตมันในศาสนาฮินดูนั้นตายแล้วไม่ดับ ยังดำรงอยู่อย่างสถาพรโดยเป็นส่วนหนึ่งของ “ปรมาตมัน” อันเป็นคลื่นพลังงานพื้นฐานหนึ่งเดียวของทุกอย่างในจักรวาลนี้ ความแตกต่างนี้เป็นไฮไลท์หรือเป็น signature หรือเป็นศิลปะของการสอนคนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละศาสนา
“อาตมัน” ของฮินดู เป็นการสื่อในมุมมองของการให้กำลังใจ (motivation) ว่าชีวิตนี้มันจะมีพัฒนาการต่อเนื่องไปจนสามารถไปหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับปรมาตมันซึ่งเป็นสิ่งดำรงอยู่อย่างสถาพรอันเป็นเป้าหมายปลายทางสุดท้ายของทุกชีวิตได้ โดยตลอดเส้นทางเดินนี้แม้ “ฉันตัวนอก (self)” จะตายไป แต่ “ฉันตัวใน (Self)” ยังคงอยู่ให้อุ่นใจ ตลอดไปไม่ได้หายไปไหน
ขณะที่ “วิญญาณ” ของพุทธ เป็นการสื่อในมุมที่ถือเอาการสะบั้นขาดจาก “ความคิด” ในเชิงยึดถือเกี่ยวพัน (attachment) อันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นเป้าหมายสุดท้ายของชีวิต กล่าวคือเมื่อชีวิตนี้หรือ “ฉัน” ตายไป องค์ประกอบของชีวิตนี้ทุกอย่างรวมทั้งวิญญาณก็หายหมดเกลี้ยงไปด้วยไม่เหลือซากอะไรที่เชื่อมโยงกลับมาถึง “ฉัน” ตัวที่ตายไปแล้วนี้ได้อีกเลย จบแล้วจบกันแบบหมดเกลี้ยง ส่วนที่ว่าเมื่อ “ฉัน” ตายไปแล้วนอกจากฉันตัวนี้แล้วจะมีอะไรเหลืออยู่อีกไหมนั้นพุทธไม่พูดถึงเลย ที่แน่ๆคือถึงมีอะไรเหลือก็จะไม่เกี่ยวดองอะไรกับ “ฉัน” ตัวที่ตายไปแล้วนี้
นอกเรื่องไปแล้วกลับมาดีกว่า เรากำลังพูดถึงคอนเซ็พท์หรือภาพใหญ่ของรีทรีตที่เราจะอยู่ด้วยกันสามสี่วันนี้ โดยเราเริ่มต้นด้วยการพูดถึงชีวิตว่าประกอบขึ้นจากสี่อย่างคือ ร่างกาย พลังชีวิต ความคิด และความรู้ตัว
ในองค์ประกอบทั้งสี่นี้ ความคิด เป็นต้นเหตุของความเครียดหรือความทุกข์ ขณะที่ความรู้ตัวมีธรรมชาติเป็นความสงบเย็น สี่วันที่เราอยู่ที่นี่เราจะมุ่งฝึกเทคนิคการถอยความสนใจออกมาจากความคิด คือฝึกวางหรือทิ้งความคิดไป เมื่อหมดความคิดแล้วความรู้ตัวก็จะฉายแสงออกมาเอง ดังนั้น ย้ำอีกทีว่าหัวใจของสี่วันนี้คือการฝึก “วางความคิด” ด้วยการทดลองใช้เทคนิคและวิธีต่างๆหลายแบบ กลับบ้านไปแล้วใครชอบแบบไหนก็ใช้แบบนั้น
ควบคู่กันไป วันละครั้งสองครั้งเราจะหยุดการฝึกเพื่อ “คุยกัน” เพื่อให้ทุกคนได้สื่อความสงสัยข้องใจในบางประเด็น และได้แชร์ประสบการณ์เรียนรู่สู่กันและกัน
เราจะเริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวเองไปทีละคน ซึ่งในการแนะนำตัวเองนี้ ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณในทางโลกว่าเราเป็นคนเบอร์ไหนมีปริญญากี่ใบมีบ้านกี่หลังมีรถกี่คัน แต่ขอให้ทุกคนแนะนำตัวโดยเน้นที่สามอย่าง (1) เล่ามูลเหตุว่าทำไมจึงมาที่นี่ และ (2) ชีวิตที่ผ่านมามีประสบการณ์อะไรบ้างกับการฝึกวางความคิดมาก่อนหน้านี้ (3) มีประเด็นอะไรที่ยังค้างคาอยู่ในใจที่อยากจะได้คำตอบ
แล้วอย่างที่ผมบอกแล้วว่า 90% ของเวลาในสี่วันนี้เราจะใช้ฝึกมีประสบการณ์จริง จะใช้เวลาเพียง 10% คุยกันถึงความคิดและคอนเซ็พท์ต่างๆ ซึ่ง 10% นั้นส่วนใหญ่ก็คือเรื่องที่จะคุยกันในชั่วโมงแนะนำตัวนี้
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์