อดีต คือความคิดที่คิดขึ้นเมื่อเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่มีความคิดที่เดี๋ยวนี้ อดีตก็ไม่มี
(ภาพวันนี้: พวงชมพู)
อาจารย์คะ
(1) จะทำอย่างไรกับอดีตที่เป็นเรื่องกวนใจไม่หยุดหย่อน และเผอิญมันเป็นสิ่งที่จะย้อนไปแก้ไขหรือขอโทษขอโพยไม่ได้เสียด้วย (2) ที่อาจารย์ให้ความสำคัญกับเดี๋ยวนี้ ก็ในเมื่ออดีตมันมากวน ทำอย่างไรจึงจะมีความสุขที่เดี๋ยวนี้ได้
ตอบครับ
…………………………………………………………………………………
ก่อนอื่น เรามานิยามกันก่อนนะ ว่า “อดีตคือความคิด ที่เราคิดขึ้นที่เดี๋ยวนี้” ดังนั้นถ้าเราไม่คิดขึ้นที่เดี๋ยวนี้ อดีตก็ไม่มี คืออดีตไม่ใช่ของจริงที่ถาวร
“จะไม่ใช่ของจริงได้อย่างไรละคะ เพราะมันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ หลายคนก็รับรู้ได้”
การจะยอมรับว่าอะไรเป็นของจริงที่ถาวร เราดูตรงที่สิ่งนั้นมันคงอยู่ตลอดมาและจะคงอยู่ตลอดไปหรือเปล่า ถ้ามันเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวแล้วสลายหายไป เราไม่ถือว่านั่นเป็นของจริงที่ถาวร อดีตมันเคยเกิดขึ้นจริงแต่มันหมดไปแล้วหายไปแล้ว ถ้าเราไม่คิดถึงมันอีกที่เดี๋ยวนี้ อดีตก็ไม่มีแล้ว
ส่วนคำถามที่ว่าจะอยู่ที่เดี๋ยวนี้อย่างไรจึงจะมีความสุข ตอบว่า ผมแนะนำห้าวิธีให้เลือกทำ
วิธีที่ 1. ย่นเวลาในใจที่แต่เดิมมีอดีตอันไกลโพ้นและอนาคตอันยาวไกล ย่นลงมาให้เหลือแค่ลมหายใจนี้ หรืออย่างมากที่สุดก็ให้เหลือแค่วันนี้ เพราะเวลาในใจมันเป็นแค่คอนเซ็พท์ไม่ใช่ของจริงอยู่แล้ว อันนี้ไม่เกี่ยวกับเวลานาฬิกาที่เราใช้นัดหมายประชุมกันนะ เวลานาฬิกาเป็นคอนเซ็พท์ที่มีประโยชน์ แต่เวลาในใจในรูปของเรื่องราวในอดีตอนาคตไม่มีประโยชน์เลย
“ถ้าไม่เอาอนาคตเลย จะทำงานได้อย่างไรละคะ เพราะคนเราต้องทำงานเพื่อสร้างอนาคต”
การทำงาน ของจริงมีอยู่สองส่วนเองนะ คือ (1) การวางแผนและ (2) การลงมือทำ ส่วนเรื่องความกังวลว่าผลของงานจะออกมาอย่างไรนั่นไม่ใช่การทำงาน ในการวางแผนเราทำที่เดี๋ยวนี้นะ เรานั่งวางแผนที่เดี๋ยวนี้ การลงมือทำก็ทำกันที่เดี๋ยวนี้นะ เพราะเราต้องทำทีละขั้นทีละตอน ยกตัวอย่างเช่นเราจะวางไม้หมอนรถไฟจากมวกเหล็กไปปากช่อง เราต้องวางทีละอัน เราต้องวางอันที่หนึ่งก่อน เสร็จแล้วจึงไปวางอันที่สอง เมื่อเราวางอันที่หนึ่ง เราวางที่เดี๋ยวนี้นะ และเมื่อเราเสร็จอันที่หนึ่ง เราวางอันที่สอง เราก็วางที่เดี๋ยวนี้นะ ส่วนที่ไม่เกี่ยวกับเดี๋ยวนี้คือความกังวลว่าอันที่ 100 หรืออันที่ 200 เราจะได้วางเมื่อไหร่ นั่นไม่ใช่การทำงานนะ นั่นเป็นความกังวลเกี่ยวกับผลของงานซึ่งเป็นความคิดในมิติของเวลาที่ไม่มีอยู่จริง ถ้าเราทำงานแบบโฟกัสที่ขั้นตอนการทำไปทีละขั้น ไม่พะวงถึงผลของงาน เราก็ทำแต่ที่เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องไปยุ่งกับอดีตอนาคตเลย
วิธีที่ 2. โฟกัสที่การใช้ชีวิต อย่าไปพะวงกับสถานะการณ์ในชีวิต การที่เราป่วยเป็นโรครุนแรงก็ดี การที่เราทำธุรกิจแล้วมีปัญหาก็ดี การที่ความสัมพันธ์ของเรากับแฟนไม่ราบรื่นก็ดี ทั้งหมดนั้นเป็นสถานะการณ์ในชีวิต (life situation) เป็นเรื่องราวซึ่งเล่าให้ใครๆฟังได้ในมิติของอดีตอนาคต ส่วนการที่เราตื่นอยู่ที่นี่ ในลมหายใจนี้ นี่เป็นการใช้ชีวิต (living) ให้โฟกัสที่การใช้ชีวิต อย่าไปโฟกัสที่สถานะการณ์ในชีวิตเพราะมันเป็นแค่ความคิด แต่การใช้ชีวิตเป็นของจริง การใช้ชีวิตเขาใช้กันที่เดี๋ยวนี้ และใช้กันทีละลมหายใจ ตราบใดที่เรายังหายใจเข้าออกได้อยู่ เราก็ใช้ชีวิตได้อยู่ ถ้าเราโฟกัสที่การใช้ชีวิตได้ดี สถานะการณ์ในชีวิตจะเป็นอย่างไรมันก็กระทบกระเทือนการใช้ชีวิตไม่ได้
วิธีที่ 3. ให้เกาะติดคำสำคัญ “การยอมรับ (Acceptance)” การยอมรับเนี่ยมันมีสามนัยยะนะ
นัยยะที่ 1. เรายอมรับว่าสิ่งทั้งหลายมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันไม่มีอะไรแน่นอนเลย แม้แต่ร่างกาย ความคิด พลังชีวิต ซึ่งเป็นส่วนของชีวิตเราแท้ๆ มันยังไม่นิ่งเลย อย่าไปหวังว่าสิ่งอื่นๆนอกตัวมันจะนิ่งจะคงที่ มันเป็นไปไม่ได้ พูดแบบบ้านๆก็คือให้ยอมรับว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง
นัยยะที่ 2. เรายอมรับว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในชีวิตเรานี้ ไม่ว่าจะเป็นในชีวิตเราเองเช่นร่างกาย ความคิด และรอบตัวเราเช่นคนรอบข้าง สังคม หรือโลกใบนี้ ทุกอย่างมันอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา เราทำได้แค่ยอมรับมันตามที่มันเป็น เช่นสามีไม่ได้สะเป๊คของเราเราไปเปลี่ยนเขาไม่ได้ดอก เราทำได้แค่ยอมรับเขาตามที่เขาเป็น
นัยยะที่ 3. คือการอยู่นิ่งๆที่ตรงกลาง อย่าเสียศูนย์ หมายความว่าอย่าเผลอแกว่งไปกอดรัดยึดกุมสิ่งที่เราชื่นขอบ อย่าแกว่งหนีสิ่งที่เราไม่ชอบ อยู่นิ่งๆตรงกลาง อะไรเข้ามาหาเราที่ที่นี่เดี๋ยวนี้เรารับมันเข้ามาหมด ปล่อยให้มันเข้ามา ถึงเวลาที่มันจะออกไปก็ปล่อยให้มันออกไป
วิธีที่ 4. ให้เปลี่ยนตัวตน (change identity) บ้าง
อุปมาที่ 1. เมื่อวานผมพูดว่าเรามีบ้านสี่หลัง คือร่างกาย พลังชีวิต ความคิด ความรู้ตัว อย่าไปอยู่แต่ใน “บ้านความคิด” ลองย้ายไปอยู่ใน “บ้านความรู้ตัว” บ้าง
อุปมาที่ 2. สมมุติว่าเรามีอาชีพแสดงละครเป็นพระเอกนางเอกอยู่บนเวที อย่าเอาแต่เป็นดาราแสดงอยู่บนเวทีอย่างเดียว ขณะที่เราแสดงอยู่บนเวทีอยู่นั้น ลองเปลี่ยนตัวเองมาเป็นผู้ชมที่นั่งข้างล่างเงยหน้ามองดูตัวเราเองแสดงบ้าง ชีวิตจริงก็เหมือนการทำอาชีพแสดงละคร ถ้าการเป็นดารามันเครียดที่ต้องเล่นให้สมบทบาท เปลี่ยนตัวเองมาเป็นผู้ชมบ้าง เป็นผู้สังเกต (observer) ดูตัวเราที่เป็นบุคคลสมมุติคนหนึ่งโลดแล่นอยู่บนเวทีละคร เพราะในหมวกที่เป็นผู้ชม ยังไงก็ไม่เครียด ไม่ว่าดาราจะเล่นดีหรือไม่ดี ผู้ชมก็รู้อยู่ตลอดเวลาว่านี่มันละคร
วิธีที่ 5. สร้างทักษะในการใช้เครื่องมือวางความคิด การใช้ชีวิตที่เดี๋ยวนี้ได้อย่างมีความสุขขึ้นอยู่กับการจะวางความคิดได้สำเร็จหรือไม่ การวางความคิดก็เหมือนการว่ายน้ำ การรู้คอนเซ็พท์มีประโยชน์แค่ 10% แต่อีก 90% อยู่ที่การได้ลงน้ำฝึกว่ายจริงๆ เรามาอยู่กันที่นี่สี่วันเพื่อฝึกใช้เครื่องมือวางความคิด ผมขอทบทวนหน่อยว่าเราฝึกไปแล้วสี่ชิ้นนะ คือ (1) การผ่อนคลายร่างกาย (2) การสังเกต(โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสังเกตความคิด) (3) การรับรู้พลังชีวิต(body scan) และ (4) การจดจ่อสมาธิ เครื่องมือชิ้นอื่นๆถ้ามีเวลาเราจะค่อยๆทดลองใช้กันไป แต่อย่าลืมว่าเครื่องมือเหล่านี้ชิ้นใดชิ้นหนึ่งเพียงชิ้นเดียวหากเราใช้เป็นก็วางความคิดได้แล้วนะ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์