อายุ 70 อยากบริจาคอวัยวะ เขาไม่รับแล้วค่ะคุณลุงขา
เรียนคุณหมอ
ผมอายุ 70 ปีแล้วแต่ยังแข็งแรง ไม่มีโรคเบาหวาน หรือหลอดเลือด ยังคงทำตามคำแนะนำของคุณหมอที่ให้กินอาหาร plant base ออกกำลังทั้งแบบ aerobic และการสร้างกล้ามเนื้อ
ผมมีข้อสงสัยว่า หากผมเสียชีวิตตามปรกติ (ไม่ใช่อุบัติเหตุ) ผมยังสามารถจะบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์อื่นๆ หรือควรจะบริจาคร่างกายเพื่อเป็นวิทยาทานแก่นิสิตแพทย์ วิธีไหนจะเป็นประโยชน์กว่ากันครับ
ขอบพระคุณในคำตอบของคุณหมอครับ
………………………………………………………………………..
ตอบครับ
ก่อนตอบคำถามของท่าน ผมขอชี้แจงแฟนบล็อกทั่วไปก่อนว่าการบริจาคอวัยวะและร่างกายในเมืองไทยนี้มันมีสองแบบ
แบบที่ 1. บริจาคอวัยวะต่างๆที่มีอยู่ในตัว ให้เขาเอาไปปลูกถ่ายแก่ผู้ป่วย ซึ่งมีสภากาชาดไทยเป็นเจ้าภาพ สามารถแจ้งความจำนงได้ที่กาชาดหรือรพ.จังหวัดทุกจังหวัด เมื่อทางแพทย์ใช้อวัยวะแล้วก็จะเย็บปิดร่างกายเรียบร้อยเหมือนการผ่าตัดแล้วมอบร่างกายนั้นให้ครอบครัวเอาไปทำบุญตามปกติได้
ประเด็นสำคัญคืออวัยวะที่เขาอยากได้นั้นก็เหมือนกับอะไหล่มือสอง ถึงจะเป็นมือสองแต่ถ้าได้มือสองที่ใหม่ๆหรือดีๆหน่อยมันก็ดี ดังนั้นเขาจึงกำหนดสะเป๊คไว้สูง คือการจะเป็นผู้บริจาคอวัยวะได้ต้อง
1. อายุไม่เกิน 65 ปี
2. เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย (ยกเว้นกรณีอวัยวะที่เอาออกโดยยังมีชีวิตอยู่ได้เช่น ไขกระดูก ไตข้างหนึ่ง ตับบางส่วน)
3. ปราศจากโรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง
4. ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, หัวใจ, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, โรคตับ และไม่ติดสุรา
5. อวัยวะที่จะบริจาคต้องทำงานได้ดี
6. ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ไวรัสเอดส์ ฯลฯ
7. บุคคลในครอบครัวหรือญาติต้องรับรู้ด้วย
ดังนั้น ในกรณีของคุณนี้ก็ถือว่าตกสะเป๊ค คือเครื่องรุ่นเก่าเกินไป (หิ หิ ขอโทษ พูดเล่น รุ่นราวคราวเดียวกันอย่าว่ากันเลยนะ)
แบบที่ 2. บริจาคร่างกาย ให้นักศึกษาแพทย์ใช้ “ชำแหละ” เพื่อการเรียนรู้ก่อนที่จะทำให้พวกเขาหรือเธอจบไปเป็นแพทย์รักษาคนเจ็บไข้ได้ เจ้าภาพผู้รับบริจาคก็คือคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งบ้างก็รับบริจาคของตัวเอง บ้างก็ขอร่างที่บริจาคผ่านมาทางสภากาชาด แล้วแต่สถาบันไหนถนัดแบบไหน เมื่อใช้เสร็จแล้วปกตินักศีกษาแพทย์จะจัดทำบุญเผาศพให้ทุกปี แต่กรณีที่ครอบครัวต้องการจะเอาร่างที่ใช้เสร็จแล้วมาทำบุญเองก็สามารถทำได้โดยสะดวก เนื่องจากสภากาชาดเป็นเจ้าภาพใหญ่ จึงมีระบบรับบริจากร่างกายผ่านเว็บไซท์ที่ https://anatomydonate.kcmh.or.th/
สำหรับสะเป๊คของผู้บริจาคร่างกายนั้นไม่เข้มมาก แต่ก็มักขออายุช่วง 20-80 ปี คือพูดง่ายๆว่าแก่มากก็ไม่เอา นอกจากนี้ถ้าเป็นโรคที่จะเอาไปติดนักศีกษาแพทย์ได้เช่นโรคเอดส์ วัณโรค และโรคเรื้อน โรคไวรัสตับอักเสบบี ก็ไม่เอาอีกเหมือนกัน
กรณีของคุณซึ่งอายุเพิ่ง 70 ปี ยังไม่ตกสะเป๊คสำหรับการบริจาคร่างกาย ดังนั้นก็ไม่ต้องตัดสินใจเปรียบเทียบอะไรอีก เพราะบริจาคได้แต่ร่างกายอย่างเดียว บริจาคอวัยวะไม่ได้แล้ว
ยังไงก็ขอบคุณคุณพี่ที่เขียนมา เพราะหมอสันต์ถือเป็นโอกาสที่จะได้ “ทวนความจำ” แฟนๆบล็อกทุกท่านว่าระบบการศึกษาแพทย์ของเราทุกวันนี้ยังมีฐานรากอยู่บนเมตตาธรรมและการให้แก่กันและกันอย่างเหนียวแน่นอยู่ แม้ว่าเปลือกนอกจะดูเหมือนเลอะบ้างเป็นบางจุด แต่ไส้ในไม่เคยเปลี่ยน วิชาแพทย์เป็นวิชาที่ดำรงอยู่ได้ด้วยเมตตาธรรม ไม่ใช่ด้วยเงิน การที่คนไข้บริจาคร่างกายมาให้นักศึกษาแพทย์ผ่าชำแหละ มันเป็นการสร้างความผูกพันทางใจต่อกันอย่างลึกซึ้งว่าบุญคุณของ “อาจารย์ใหญ่” นี้ดลใจให้เราตั้งใจจะตอบแทนด้วยการเป็นแพทย์ที่ดี หมอสันต์จึงสนับสนุนการบริจาคร่างกายสุดลิ่ม และเห็นด้วยกับคณะแพทยศาสตร์ทุกแห่งในบ้านเราที่ยังคงระบบการศึกษากายวิภาคศาสตร์แบบดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่นแม้ว่าเทคโนโลยีสมัยนี้หากจะทำหุ่นมาให้นักศีกษาแพทย์ชำแหละก็ทำได้ แต่สิ่งที่ทำไม่ได้คือความรักและผูกพันกับผู้ป่วยที่อาจารย์ใหญ่ได้ปลูกฝังไว้ในใจของแพทย์แต่ละคนนั้น..อะไรก็ทำแทนไม่ได้
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์