เด็กหนึ่งขวบที่หย่านมแม่แล้วจะให้กินนมอะไรดี

ภาพวันนี้: (เสน่ห์ของหวาย ถูกทิ้งๆขว้างๆ ไม่เคยรดน้ำ แต่ออกดอกได้)

เรียนคุณหมอ

ลูกสาวฝากถามว่ากำลังจะหย่าหลานอายุ 1 ขวบจากนมแม่ แต่ก็ไม่รู้จะให้ลูกกินนมอะไรต่อดี เพราะอ่านหมอสันต์แยะแล้วก็เลยกลัวจะให้อาหารลูกไม่ถูก

………………………………………………….

ตอบครับ

คำถามแบบนี้ต้องไปถามคุณยายสิครับ ว่าตอนที่คุณยายหย่านมคุณแม่ คุณยายให้คุณแม่กินอะไร นั่นจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม คำถามนี้ดูเหมือนคำถามง่ายๆ แต่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากสำหรับคุณแม่สมัยนี้ ซึ่งหากเลี้ยงลูกตามที่บริษัทขายนมผงเลี้ยงเด็ก (infant formula) แนะนำ ผลที่ได้ก็คือลูกกลายเป็นเด็กแพ้ง่าย แพ้น้ำตาลในนม (แล้คโต้ส) แพ้โปรตีนในนม (cow milk protein allergy syndrome) แพ้ถั่วลิสง แพ้กลูเต็น ที่สุดของที่สุดที่ท่านผู้อ่านจะคิดไม่ถึงแต่มีตัวอย่างคนไข้ตัวเป็นๆมาให้หมอสันต์รักษาแล้ว คือ.. แพ้น้ำดื่ม ดื่มน้ำทีไรผื่นขึ้นปากเจ่อ จนต้องยังชีพอยู่ได้ด้วยโค้กกับเป๊บซี่ หิ..หิ

สรุปว่าเมื่อจะหย่านมแม่ มีประเด็นสำคัญคือ

ประเด็นที่ 1. ต้องให้อาหารเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายปรับตัวเข้าให้ได้กับอาหารปกติสำหรับมนุษย์ซึ่งล้วนเป็นอาหารธรรมชาติ เช่น พืช ผัก ผลไม้ ถั่ว งา ข้าว ปลา ไข่ เป็นต้น ความจริงประเด็นนี้ต้องทำกันตั้งแต่เด็กอยู่ในท้อง เมื่อเด็กเกิดมาแล้วก็ต้องฝึกให้กินอาหารแข็งโดยเร็ว เร็วตั้งแต่อายุสี่เดือนเลย คำแนะนำหมอสันต์ไม่เหมือนคำแนะนำหมอเด็กทั่วไปนะ แม้แต่ ม. ของหมอสันต์ซึ่งเป็นหมอเด็กก็ไม่เห็นด้วย คุณแม่จะเลือกทำตามใครก็เป็นสิทธิของคุณแม่ หมอสันต์แนะนำตามหลักฐานวิทยาศาสตร์ว่าหากเริ่มอาหารธรรมชาติในรูปอาหารแข็งเร็ว โตขึ้้นเด็กจะไม่แพ้อาหารง่าย เมื่อเด็กหนึ่งขวบก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกจุดหนึ่งเพราะควรจะเป็นจุดเริ่มอาหารแข็งอย่างจริงจัง ในบ้านต้องมีแต่อาหารธรรมชาติที่ดี ชอบไม่ชอบก็จัดไว้โดยไม่มีอย่างอื่นมาเป็นตัวเลือกแข่ง เด็กไม่กินก็ไม่ต้องไปว่า คนเราเมื่อหิวหน้ามืดแล้วมีอะไรเขาก็จะกิน อีกอย่างหนึ่งถ้าพ่อแม่กินให้เห็นอย่างเอร็ดอร่อยเด็กก็จะกินตาม ถ้ามีอาการแพ้เล็กๆน้อยๆ (เด็กวัยนี้ยังไม่แพ้รุนแรงเพราะระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง) ก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ เอาให้กินซ้ำอีก เป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาโรคภูมิแพ้อย่างหนึ่งของแพทย์ เรียกว่า de-sensitization อย่าเป็นคุณแม่แบบลูกแหวะหน่อยก็อุ้มลูกวิ่งไปหาหมอเด็ก หมอเด็กก็จะปรึกษาหมอภูมิแพ้ หมอภูมิแพ้ก็จะตรวจว่าแพ้โน่นนี่นั่นแล้วสั่งว่านี่กินไม่ได้นั่นกินไม่ได้จนเด็กผอมกลายเป็นปลาเค็ม อย่าเลี้ยงลูกแบบนั้น

ประเด็นที่ 2. อาหารที่เขาทำใส่กล่องซีล ใส่ถุงซีล อัดไว้ในกระป๋อง (ultra processed food – UPS) ไม่ใช่อาหารธรรมชาติของมนุษย์ อย่าให้เด็กได้รู้จักหรือได้กินเป็นอันขาด เพราะอาหารจำพวกนี้ใส่โมเลกุลที่ไม่ใช่อาหารธรรมชาติเข้ามาเป็นจำนวนมาก บอกชื่อมาแพทย์เองยังไม่รู้จักเลยว่าเป็นอะไรต้องไปเปิดดิคสารเคมีถึงจะรู้ว่าเป็นอะไร ในภาพรวมก็คือสารกันบูด (preservatives) สารแต่งกลิ่น สารแต่งรส สารแต่งสี น้ำตาลทราย น้ำเชื่อม หรือน้ำตาลเทียม และ “กาว” (emulsifying agent) เพราะอาหารพวกนี้สร้างมาแบบจับแพะชนแกะโมเลกุลที่เอามาผสมกันจึงไม่ยอมจับเป็นเนื้อเดียวกันจนต้องเอากาวมาผสมให้มันยอมจับเป็นเนื้อเดียวกันให้ดูเหมือนอาหารหน่อย พอเด็กกินอาหารพวกนี้ซึ่งมีโมเลกุลต่างจากอาหารธรรมชาติมาก พอโตขึ้นไปกินอาหารธรรมชาติก็จะแพ้อาหารธรรมชาติง่าย โน่นก็กินไม่ได้ นี่ก็กินไม่ได้ เวรกรรมก็จะตกแก่พ่อแม่ที่ด้านหนึ่งต้องวิ่งรอกอุ้มลูกไปตามนัดของหมอภูมิแพ้ อีกด้านหนึ่งต้องขยันหาอาหาร UPS ที่เขาคุ้นเคยมาให้กิน อาหารในกลุ่ม UPS นี้มันมีความเลวเป็นพิเศษตรงที่มันทำลายจุลินทรีย์ในลำไส้ของเด็ก นานไปเด็กก็จะกลายเป็นคนป่วยด้วยโรคต่างๆซึ่งวงการแพทย์ไม่มีปัญญารักษาจนสมัยนี้มีคนไข้เต็มโรงพยาบาลโดยที่เกือบทั้งหมดเป็นโรคที่หมอรักษาไม่หาย เพราะคนที่จะมีปัญญารักษาโรคเหล่านั้นให้หายได้มีแต่จุลินทรีย์ในลำไส้เท่านั้น

ประเด็นที่ 3. ปัจจัยหลักที่จะทำให้เด็กเติบโตคือการได้แคลอรีจากอาหารพอเพียง เพราะงานวิจัยพบว่าไม่ว่าจะเลี้ยงด้วยอาหารแบบไหน หากเด็กไม่ได้รับแคลอรี่พอเพียงจะทำให้การเติบโตของเด็กชะงักในสามสี่ปีหลังหยุดนมแม่ เพราะเมื่อแคลอรี่ไม่พอใช้ ร่างกายจะไปเบียดเอาโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาเผาผลาญให้พลังงานแทน ทำให้เด็กผอมหรือมีดัชนีมวลกายต่ำกว่าที่ควร

การจะให้ได้แคลอรี่เพียงพอมีหลักง่ายๆว่าให้เด็กได้กินจนอิ่ม กลไกที่จะทำให้อิ่มในกรณีที่ยังไม่เสพย์ติดรสชาติของอาหาร จะมีกลไกหลักคุมอยู่สองกลไกเท่านั้น คือ (1) เมื่ออาหารเต็มกระเพาะจนผนังกระเพาะถูกยืด เด็กจะอิ่ม และ (2) เมื่อน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นถึงระดับหนึ่ง อินสุลินจะเป็นตัวแจ้งสมองให้เกิดความอิ่ม ดังนั้นในระยะแรกการจะแก้ปัญหานี้ต้องให้เด็กได้กินอาหารที่ให้แคลอรีสูงมากขึ้นโดยให้มีสัดส่วนของใยอาหารต่ำลง อาหารไขมันเป็นอาหารให้แคลอรีสูงที่สุด จึงควรให้กินอาหารไขมันในเนื้อาหาร (intrinsic fat) เช่น อะโวกาโด ถั่วบด งาบด เป็นต้น อาหารคาร์โบไฮเดรตเป็นอาหารให้แคลอรีครึ่งหนึ่งของอาหารไขมันแต่ร่างกายก็นำไปสร้างเป็นพลังงานได้เร็วที่สุด จึงควรเน้นอาหารคาร์โบไฮเดรตด้วย เช่น ธัญญพืชอย่างข้าว หรือเมล็ดพืชบดทุกชนิด พวกหัวใต้ดินที่ให้แป้ง เช่น มันเทศ มันฝรั่ง ก็ใช้ได้ วัยนี้ยังไม่ต้องไปเน้นอาหารกากสูงมาก เพราะกระเพาะเด็กมีขนาดจำกัด หากให้อาหารกากสูงมากไปจะเต็มกระเพาะเร็วทั้งๆที่ยังได้แคลอรี่ไม่พอ

ประเด็นที่ 4. งานวิจัยพบว่าแม้จะหย่านมแม่แล้ว “นม” ทดแทนก็ยังเป็นแหล่งแคลอรี่หลักของเด็กก่อนวัยเรียนอยู่ดี ดังนั้นมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหา “นม” มาเป็นอาหารแบ้คอัพเพื่อให้เด็กได้แคลอรี่พอ อย่าลืมว่าอาหารแข็งเป็นอาหารหลัก นมเป็นแบ้คอัพ ชนิดของนมจึงเป็นประเด็น ผมแนะนำสองตัว แล้วแต่คุณแม่ชอบ คือ

1.. นมวัวชนิดนมสดธรรมชาติหรือนมจากเต้า (whole milk) ก็คือนมวัวแดงของไทยเดนมาร์คนั่นแหละ อย่าซื้อนมสำหรับเลี้ยงเด็ก (infant formula) เพราะมักใส่สารอะไรเข้ามาเยอะแยะที่ดูแล้วเสียมากกว่าได้ ไม่ต้องไปห่วงว่าจะขาดวิตามินแร่ธาตุที่เขาเสริมเข้ามา ไม่ต้องเลย อาหารธรรมชาติให้สิ่งเหล่านั้นพอเพียงดีแล้ว

2.. นมถั่วเหลืองแบบทำเอง เครื่องทำนมถั่วเหลืองราคาไม่กี่พัน แค่ต้มถั่วแล้วปั่นแยกกากร่อนกากออกก็ได้นมถั่วเหลืองแล้ว ไม่ต้องเติมอะไรอีกเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามเติมน้ำตาล งานวิจัยพบว่านมถั่วเหลืองให้สารอาหารและพลังงานมากใกล้เคียงกับนมวัว ผมไม่แนะนำให้ซื้อนมถั่วเหลืองที่เขาทำขายเป็น infant formula โดยตั้งชื่อเท่ๆต่างๆเพราะเขาใช้ผงน้ำเชื่อมปลอม (corn syrup powder) เป็นแหล่งพลังงานหลักเพื่อให้เด็กติด ใส่ถั่วเหลืองจริงนิดเดียว ยี่ห้อดังๆมีผงน้ำเชื่อมถึง 50% ของน้ำหนักรวม จึงให้ฟรุคโต้สเป็นปริมาณมากโดยไม่มีกากเป็นตัวชลอการดูดซึม ทำให้เด็กเป็นโรคอ้วนและติดรสหวานตั้งแต่อายุยังน้อย

ในกรณีที่คุณแม่อยากจะให้เด็กกินอาหารมังสวิรัติหรืออาหารวีแกนก็ทำได้ โดยจัดอาหารที่ได้สัดส่วนของแคลอรี่สูงพอ อย่ารีบให้อาหารที่มีสัดส่วนของใยอาหาร (กาก) มากเกินไป ปริมาณอาหารจะเต็มกระเพาะก่อนที่แคลอรี่จะเข้าไปในร่างกายได้เพียงพอต่อความต้องการ เพราะใยอาหารเป็นอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ แม้แต่ผลไม้ซึ่งรสหวานก็ยังจัดเป็นอาหารที่มีสัดส่วนของกากสูงสัดส่วนของแคลอรี่ต่ำ

ควบคู่กันไปต้องเปิดให้เด็กได้ออกกำลังกายเต็มที่และได้นอนหลับอย่างเสรี เพราะยิ่งออกกำลังกายมากยิ่งได้นอนหลับมาก ยิ่งมีฮอร์โมนการเติบโตออกมามาก ร่างกายยิ่งสร้างมวลกล้ามเนื้อได้มาก เด็กยิ่งเติบโตดี อย่ารีบส่งลูกไปโรงเรียนก่อนอายุ 7 ขวบ ทุกวันนี้ผมยังไม่เห็นวิธีชลอพัฒนาร่างกายและสมองของเด็กวิธีไหนที่รุนแรงยิ่งไปกว่าการไปโรงเรียน ช่วงอายุ 1-7 ปีซึ่งเป็นวัยที่กฎหมายยังไม่บังคับให้ไปโรงเรียน เด็กไม่ควรไปโรงเรียนเลยจะดีที่สุด เพราะวัยนี้เด็กจะมีพัฒนาการที่ดีกว่า มีสุขภาพดีกว่า หากได้กินๆเล่นๆนอนๆอยู่นอกโรงเรียน ผมไม่เชื่อว่าการให้รอเด็กไปโรงเรียนตามเกณฑ์ที่กฎหมายบังคับ (7 ขวบ) แล้วเขาจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่โง่กว่าหรือมีความสามารถน้อยกว่าหรือมีพัฒนาการทางร่างกายและสมองด้อยกว่าคนที่ไปโรงเรียนเร็ว ผมไม่เคยเห็นงานวิจัยแม้แต่ชิ้นเดียวที่จะบ่งชี้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี