Spirituality คืออะไร
(ภาพวันนี้: พวงคราม)
เรียนคุณหมอสันต์
อยากไปเข้า SR กับคุณหมอแต่จองไม่เคยทันสักที แต่ก็จะไปให้ได้สักครั้ง ตอนนี้อยากถามก่อนว่า Spirituality นี้มันคืออะไรกันแน่คะ
อีกอย่างหนึ่งสงสัยมานานแล้วว่าพรหมวิหารสี่ เป็นอันเดียวกันกับพรหมของศาสนาพราหมณ์ไหมคะ
………………………………………………………………………..
ตอบครับ
1.. ถามว่า spirituality คืออะไร ตอบว่าคือส่วนของชีวิตนี้ที่พ้นไปจากร่างกายและความคิด เมื่อพ้นไปจากความคิดก็เท่ากับว่าพ้นไปจากขอบเขตที่ภาษาจะตามไปบรรยายได้ เพราะความคิดก็คือโลกของภาษา ทุกซอกทุกมุมของความคิดบรรยายได้ด้วยภาษา ความคิดเป็นโลกที่เรารู้จักแล้ว (known) ในรูปของชื่อและรูปร่าง (names and forms) แต่ว่า spirituality นี้เป็นส่วนที่พ้นไปจากสิ่งที่เราเคยรู้จัก คือเป็น unknown ไม่อาจอธิบายได้ด้วยภาษา
แต่ผมจะตอบคำถามคุณด้วยการอธิบายคำว่า spirituality เป็นภาษาซึ่งมันสื่อได้ไม่ตรง คุณใช้ได้แค่เป็นแนวทางกว้างๆเพื่อไปมีประสบการณ์จริงด้วยตัวเองเท่านั้น คือ spirituality นี้หมายถึงสิ่งที่เป็นคลื่นละเอียดอ่อนที่อยู่ข้างหลังทุกสรรพสิ่งในจักรวาลนี้ คลื่นนี้มันมีอยู่อันเดียว ใครก็ตามที่เข้าถึงตรงนี้ก็คือเข้าถึงสิ่งเดียวกัน คือเข้าถึงภาวะที่มองเห็นได้ว่าทุกชีวิตทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน พูดแบบวิทยาศาสตร์ก็คือมันเป็น background current พูดอย่างไสยศาสตร์ก็ประมาณว่ามันคือเมตตาธรรม มันคือความรัก มันคือพระจิต มันคือพระเจ้า ภาษาอังกฤษก็ใช้กันหลายคำเช่น divine, love, compassion, God, spirit เป็นต้น รายละเอียดมากกว่านี้ยิ่งอธิบายไปก็ยิ่งเพี้ยน ให้คุณไปมีประสบการณ์กับมันด้วยตัวเองง่ายสุด วิธีมีประสบการณ์ตรงก็ไม่ยาก คือทิ้งความคิดไปให้หมด ทิ้งให้หมดนะ ย้ำ ก็จะเหลือสิ่งนี้อยู่เป็น background ให้คุณได้สัมผัสรับรู้เอง
2.. ถามว่าพรหมวิหารสี่ เกี่ยวข้องกับพรหมในศาสนาพราหมณ์หรือไม่ โอ้..แล้วผมจะรู้ไหมเนี่ย ผมทั้งไม่ได้เรียนรู้ศาสนาพุทธอย่างลึกซึ้งเพราะไม่รู้ภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่เขาใช้บันทึกคำสอนพุทธไว้ ทั้งไม่รู้ภาษาสันสกฤตซึ่งเขาใช้บันทึกคำสอนฮินดูไว้ ได้แต่เรียนผ่านภาษาอังกฤษซึ่งขึ้นกับกึ๋นของผู้แปล แต่คุณถามมาผมก็ตอบไป มันเป็นนิสัยที่แก้ไม่หายของผม หากคำตอบของผมไปทำให้ผู้แก่ตำราของแต่ละศาสนาเกิดของขึ้น ผมก็ขออำไพไว้ ณ ที่นี้ด้วย เพราะไม่ได้มีเจตนาลบหลู่ผู้ใดทั้งสิ้น
คำว่าพรหม หรือพราหมณ์ หรือพรหมมัน (Brahman) ในศาสนาฮินดู หมายถึง “ปรมาตมัน” ซึ่งหมายถึง background current หรือพลังจักรวาล ที่เราคุยกันในข้อ 1 นั่นแหละ เหมือนกัน ตรงๆ โต้งๆ เลย
ส่วนคำว่า พรหมวิหารสี่ ถ้าดูในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าท่านพูดแต่ว่าเมื่อทิ้งความคิดไปได้หมดเกลี้ยง จิตตั้งมั่นในสมาธิ ร่างกายผ่อนคลาย จิตใจใสปิ๊ง ปลอดความคิดดีแล้ว จิตยามนั้นจะประกอบด้วยแคแรคเตอร์สี่อย่างคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เชื่อมโยงหรือแผ่ออกไปทุกทิศทุกทางทั้งหน้าหลังซ้ายขวาบนล่าง เนื้อหาหลักที่ท่านพูดมีแค่เนี้ยะ ที่เหลือปล่อยให้คนรุ่นหลังเอามาเดากันต่อเอง
ซึ่งหมอสันต์เดาว่านี่คือคำอธิบายแคแรคเตอร์ของ background current โดยอธิบายในสี่ประเด็นย่อย ซึ่งการแปลคำพูดสี่คำนี้ก็ต่างคนต่างชาติต่างภาษาก็ต่างแปลไม่เหมือนกันเสียอีกนะ
เมตตา ค่อนข้างตกลงกันได้ว่ามันคือความรัก หรือ Love หรือ compassion
กรุณา ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Grace ซึ่งหมายความหนักไปทางละเอียดอ่อน ละเมียดละไม นุ่มนวล อ่อนโยน
มุทิตา ในภาษาไทยแปลว่าอะไรผมไม่รู้เลย แต่ในภาษาอังกฤษแปลว่า sympathy + joy
อุเบกขา ในภาษาไทยผมไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ในภาษาอังกฤษแปลว่าการโอบรับหรือยอมรับสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่อย่างไม่มีเงื่อนไข (acceptance)
ทั้งสี่ขาของพรหมวิหารนี้ก็คือแคแรคเตอร์ของ background current หรือจิตเมื่อพ้นไปจากความคิดแล้ว ซึ่งผมมองว่ามันก็มีความหมายเดียวกันกับพรหม หรือ brahman หรือ ปรมาตมัน นั่นแล
เขียนมาถึงตอนนี้คิดอะไรขึ้นได้ ขอนอกเรื่องหน่อย
ย้อนหลังไปเมื่อปีพ.ศ. 2523 หรือสี่สิบกว่าปีมาแล้ว ผมอายุ 25 เป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่ที่รพ.ราชวิถี ได้ดูแลคนไข้เป็นผู้ชายอายุราว 80 ปีผมขาวเต็มหัวท่านหนึ่งหน้าตาอิ่มเอิบออกแนวธรรมะธรรมโม ท่านมาผ่าตัดต่อมลูกหมากโต สมัยนั้นอาจารย์ทางศัลยกรรมยูโรท่านหนึ่งเพิ่งจบอเมริกันบอร์ดมาและเริ่มเอาเทคโนโลยีเอากล้องส่องเข้าไปผ่าทางปลายอวัยวะ (TUR) มาใช้ ผมซึ่งเป็นแพทย์ฝึกหัดอันเป็นตำแหน่งปลายล่างสุดของแถวแพทย์ที่ดูแลต้องทำหน้าที่เปลี่ยนสายเก็บปัสสาวะ ตวงปัสสาวะ ตรวจดูอาการบวมของผู้ป่วยทุกวัน ท่านเห็นผมมาใส่ใจดูแลก็ชวนผมคุย วันแรกท่านถามผมว่าแผลผ่าตัดของท่านอยู่ที่ไหน ผมตอบว่าไม่มี เพราะการผ่าใช้วิธีสอดกล้องเข้าทางปลายจู๋ ท่านเงยหน้ามองเพดานแล้วรำพึงว่า
“โอ้..ช่างสามารถ”
ดูแลกันมาราวสิบวัน ก่อนท่านจะกลับบ้าน ท่านขอให้ผมยืนนิ่งๆที่ข้างเตียงให้ท่านดูหน้าชัดๆ ท่านเพ่งมองหน้าผมด้วยสายตาชื่นชมและว่า
“เป็นบุญเหลือเกินที่ได้มาพบคุณหมอ”
ผมอมยิ้มและบอกท่านว่า
“ลุ้ง..ผมเป็นแพทย์ฝึกหัดนะ มีหน้าที่ดูแลแผล คนที่ทำผ่าตัดให้ลุงคืออาจารย์”
แต่ท่านยังละเมอชื่นชมผมไม่เลิกว่า
“อายุแค่นี้ก็เป็นถึงนายแพทย์แล้ว เข้าไปตั้งมั่นอยู่ในพรหมวิหารสี่แล้ว”
จดหมายของคุณทำให้นึกถึงคุณลุงท่านน้้นขึ้นมา คำพูดของท่านที่ผมนึกย้อนขึ้นมาได้ตอนนี้ช่างเผอิญเป็นคำอธิบายชีวิตคนเราได้พอดี กล่าวคือชีวิตคนเรานี้เป็นเส้นทางเดินจากการเริ่มทำความเข้าใจและค่อยๆปล่อยวางความคิดซึ่งชงขึ้นมาจากสำนึกว่าเป็นบุคคลให้ได้จนหมดเกลี้ยงก่อน แล้วจึงจะได้พบเห็นสัมผัส background current หรือได้ “เข้าไปตั้งมั่นอยู่ในพรหมวิหารสี่” นั่นเอง
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์