วิตามินรวมวันละเม็ดกำลังจะกลับมาแล้ว ในฐานะตัวช่วยลดความจำเสื่อม
(ภาพวันนี้: จากซ้ายไปขวา อิตาเลียนเบซิล, คาโมไมล์, กล้าถั่วฝักยาว, ไก่คอยาว, เสจ, กล่ำปลีแดง และเคล)
มนุษย์เรานี้ชอบกินวิตามิน งานวิจัยในอเมริกาพบว่าคนเดินดินธรรมดาที่กินวิตามินประจำมีถึง 49% ดังนั้นเมื่อใดที่ใครว่าวิตามินไม่มีประโยชน์ก็จะทิ่มแทงใจคนรักวิตามินโดยตรง
เมื่อเกือบสิบปีมาแล้ว (14 มีค. 2013) ผมได้เขียนถึงการอกหักครั้งใหญ่ของคนบ้าวิตามินทั้งหลาย เมื่องานวิจัยสุขภาพแพทย์ชายของฮาร์วาร์ดซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร JAMA ได้สรุปผลวิจัย 14 ปีที่ทำกับแพทย์ชายจำนวน 14,641 คน แล้วพบว่าการกินวิตามินรวมวันละเม็ดไม่ได้ช่วยลดโรคหลอดเลือดหัวใจเลย ก่อนหน้านั้นงานวิจัยเดียวกันนี้ได้รายงานผลในประเด็นการป้องกันมะเร็งซึ่งผลก็ออกมาอย่างน่าผิดว่าการกินวิตามินวันละเม็ดป้องกันมะเร็งได้นิดน้อยจิ๊บจ๊อยมากจนไม่คุ้มที่จะตั้งหน้าตั้งตากินวิตามินทุกวันเลย
มองย้อนหลังไปก่อนนั้นก็จะพบว่าผลวิจัยที่เป็นหลักฐานระดับสูงที่รายงานผ่านมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆนั้นล้วนบ่งบอกไปในทิศทางเดียวกันทั้งสิ้นว่า การกินวิตามินเสริมนอกเหนือจากอาหารปกติสำหรับคนที่ไม่มีเหตุให้ขาดวิตามินเป็นพิเศษนั้น ไม่มีประโยชน์เพิ่มเติมแต่อย่างใด ในปี ค.ศ. 1994 เมื่อมีการสรุปผลวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเอานักสูบบุหรี่มาแบ่งเป็นสามกลุ่มเปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่มกินวิตามินเอ.(เบต้าแคโรตีน) กลุ่มกินวิตามินอี. และกลุ่มกินยาหลอก ว่าใครจะเป็นมามะเร็งปอดมากน้อยกว่ากัน พบว่าไม่ต่างกัน แถมกลุ่มที่กินเบต้าแคโรตีนยังเป็นมะเร็งมากกว่ากลุ่มที่ไม่กินด้วยซ้ำไป
ต่อมาในปี 2008 ได้มีการสรุปผลงานวิจัยที่ออกแบบอย่างดี สุ่มตัวอย่างคนอายุ50 ปีขึ้นไปมาแบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินวิตามินอี.ทุกวัน อีกกลุ่มกินวิตามินซี.ทุกวัน อีกกลุ่มกินยาหลอก งานวิจัยนี้เริ่มเมื่อปี 1997 แล้วตามไปสิบปีเพื่อดูว่าใครจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่ากัน ผลที่ได้คือไม่ต่างกัน
ต่อมาในปี 2009 ได้มีการสรุปผลงานวิจัยอาสาสมัครที่แบ่งเป็นสามกลุ่มเดิมนั้น คือกินวิตามินอี. วิตามินซี. กับกินยาหลอก โดยสรุปในประเด็นว่าใครจะเป็นมะเร็งมากกว่ากัน ผลที่สรุปได้คือไม่ต่างกันอีกเช่นเคย
และในปี 2009 มีการตีพิมพ์งานวิจัยเชิงระบาดวิทยาเกี่ยวกับวิตามินรวมขนาดใหญ่ที่สุด คืองานวิจัยสุขภาพหญิง (Women Health Study) ซึ่งเป็นการสกัดข้อมูลเปรียบเทียบแบบไม่ได้สุ่มตัวอย่างในหญิง 161,808 คน ติดตามดูนาน 8 ปี พบว่าหญิงที่กินวิตามินรวมกับหญิงที่ไม่กินมีอุบัติการณ์เป็นมะเร็งชนิดต่างๆและการเป็นโรคเรื้อรังอื่นๆไม่ต่างกันเลย
นั่นนับว่าเป็นอดีตอันขมขื่นของคนรักวิตามิน
มาถึงวันนี้ วิตามินรวมกำลังจะกลับมาอย่างจริงจังแล้วในฐานะตัวช่วยรักษาความจำเสื่อม เพราะงานวิจัยที่ทำที่โรงพยาบาลบริกแฮมแอนด์วีแมน ที่บอสตัน ตีพิมพ์ในวารสาร Alzheimer’s and Dementia เมื่อไม่กี่วันมานี้ งานวิจัยนี้ชื่อ COSMOS – Mind ได้ทำวิจัยโดยเอาผู้สูงวัยจำนวน 2,262 คน อายุเฉลี่ย 73 ปี มาสุ่มตัวอย่างแบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่ม1 ให้กินวิตามินรวมวันละเม็ด (มีวิตามินและแร่ธาตุ 27 ชนิด) กลุ่ม2 ให้กินสารสกัดโพลีฟีนอลจากโกโก้วันละ 500 มก. กลุ่ม3 ให้กินยาหลอก แล้วทำอย่างนี้ไปสามปี แล้วเจาะจงวัดผลความจำโดยใช้คะแนนวัดผลรวมหลายแบบ (global cognitive composite) หลังจากตามคนกลุ่มนี้ไป 3 ปี ก็สรุปผลวิจัยขั้นสุดท้ายออกมาได้ว่ากลุ่มที่กินสารสกัดโพลีฟีนอลจากโกโก้คะแนนความจำไม่แตกต่างจากกินยาหลอก แต่กลุ่มที่กินวิตามินรวมวันละเม็ดนั้นคะแนนความจำดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจที่กินวิตามินรวมยิ่งมีคะแนนความจำดีกว่าคนเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจที่กินยาหลอกมากอย่างเห็นได้ชัด คำนวณแบบคร่าวๆเหมาโหลคณะผู้วิจัยสรุปว่าการกินวิตามินรวมวันละเม็ดลดความเสี่ยงการสูญเสียความจำได้ดีกว่ายาหลอก (RRR) ถึง 60%
ผมเดาว่าวงการแพทย์จะยังคงไม่รีบแนะนำให้กินวิตามินรวมวันละเม็ดป้องกันความจำเสื่อมเพราะงานวิจัยนี้งานเดียว เนื่องจากผลวิจัยนี้ขัดแย้งกับงานวิจัยสุขภาพแพทย์ชายซึ่งเป็นงานวิจัยใหญ่กว่าติดตามนานกว่าและได้รายงานในประเด็นสมองเสื่อมในภาพใหญ่ (คร่าวๆ) ไว้ด้วยว่าไม่ต่างกัน
แต่เนื่องจากงานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยระดับสูง คือสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) งานแรก ที่ทำกับคนทั่วไปทั้งหญิงชายหลายชาติภาษาและพื้นฐานการศึกษา ที่ใช้คนมากพอควร (2262 คน) ติดตามนานพอควร (3 ปี) ที่เจาะจงดูเรื่องสมองเสื่อมตรงๆเรื่องเดียว และสรุปผลได้ว่าวิตามินรวมลดความจำเสื่อมได้อย่างมีนัยสำคัญ แค่นี้ก็พอแล้วที่จะทำให้วิตามินรวมกลับมาดี๊ด๊าได้ใหม่
แม้แต่ตัวหมอสันต์เองก็คงต้องกลับไปเช็ควันหมดอายุของวิตามินรวมที่ทิ้งไว้ขึ้นฝุ่นบนหิ้งเสียแล้ว.. หิ หิ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
ปล. สำหรับท่านที่จะจองแค้มป์สุขภาพกรุณาลงทะเบียนหรือสอบถามข้อมูลได้ที่
เวลเนสวีแคร์ โทร : 063-6394003 หรือ
Line ID : @wellnesswecare หรือ
คลิก https://lin.ee/6JvCBsf CBsf
บรรณานุกรม
- Baker, LD, Manson, JE, Rapp, SR, et al. Effects of cocoa extract and a multivitamin on cognitive unction: A randomized clinical trial. Alzheimer’s Dement. 2022; 1- 12. https://doi.org/10.1002/alz.12767
- Gaziano JM, Sesso HD, Christen WG, Bubes V, Smith JP, MacFadyen J, Schvartz M, Manson JE, Glynn RJ, Buring JE. Multivitamins in the Prevention of Cancer in MenThe Physicians’ Health Study II Randomized Controlled Trial. JAMA. 2012;():1-10. doi:10.1001/jama.2012.14641.
- Sesso HD, Christen WG, Bubes V, Smith JP, MacFadyen J, Schvartz M, Manson JE, Glynn RJ, Buring JE, Gaziano JM. Multivitamins in the prevention of cardiovascular disease in men: the Physicians’ Health Study II randomized controlled trial. JAMA. 2012 Nov 7;308(17):1751-60. doi: 10.1001/jama.2012.14805.
- Bailey RL, Gahche JJ, Lentino CV, et al. Dietary supplement use in the United States, 2003-2006. J Nutr. 2011;141(2):261-266
- The Alpha-Tocopherol, Beta Carotene Cancer Prevention Study Group. The effect of vitamin E and beta carotene on the incidence of lung cancer and other cancers in male smokers. The Alpha-Tocopherol, Beta Carotene Cancer Prevention Study Group. N Engl J Med. 1994;330(15):1029-1035
- Hennekens CH, Buring JE, Manson JE, et al. Lack of effect of long-term supplementation with beta carotene on the incidence of malignant neoplasms and cardiovascular disease. N Engl J Med. 1996;334(18):1145-1149
- Gaziano JM, Glynn RJ, Christen WG, et al. Vitamins E and C in the prevention of prostate and total cancer in men: the Physicians’ Health Study II randomized controlled trial. JAMA. 2009;301(1):52-62
- Sesso HD, Buring JE, Christen WG, et al. Vitamins E and C in the prevention of cardiovascular disease in men: the Physicians’ Health Study II randomized controlled trial. JAMA. 2008;300(18):2123-2133
- Neuhouser ML, Wassertheil-Smoller S, Thomson C, Aragaki A, Anderson GL, Manson JE, Patterson RE, Rohan TE, van Horn L, Shikany JM, Thomas A, LaCroix A, Prentice RL. Multivitamin Use and Risk of Cancer and Cardiovascular Disease in the Women’s Health Initiative Cohorts. Arch Intern Med. 2009;169(3):294-304. doi:10.1001/archinternmed.2008.540.