เนื้องอกที่ไต จะเลือกผ่าหรือไม่ผ่าขึ้นอยู่การชั่งน้ำหนักประโยชน์และความเสี่ยง
(ภาพวันนี้: ฝนหมด น้ำในสระหน้ากระต๊อบเริ่มใส)
สวัสดีครับคุณหมอสันต์
ภรรยาผมอายุ 65 ปี เป็นผู้ป่วย SLE รักษาที่ รพ. … เกือบ 40 ปีแล้ว เมื่อต้นปีนี้ทำ CT Scan พบเนื้องอกชนิด AML ที่ไตขวา เนื้องอกนี้ลุกลามเข้าไปในหลอดเลือดดำและ IVC (ผมได้แนบผล CT Scan มาให้คุณหมอช่วยดูด้วยครับ)
หมอให้กินยาคีโมแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy) เพื่อหวังให้ก้อนเนื้องอกเล็กลงพอที่จะผ่าตัดได้ กินยาคีโมได้เพียง 2 เดือนก็เกิดติดเชื้อปอดอักเสบ PCP หมอสั่งหยุดยาคีโมแล้วแอดมิดที่ รพ. เพื่อรักษาปอดอักเสบ อยู่ รพ. 10 วัน
ยามุ่งเป้าไม่ได้ผล ขนาดก้อนเนื้องอกที่ไตไม่เล็กลง หมอศัลยกรรมหลอดเลือดบอกว่าต้องตัดไตข้างขวาทิ้งทั้งหมดรวมถึงหลอดเลือดดำที่มีเนื้องอกด้วย และนัดฟังเตียงวันที่ … นี้
ผมจึงขอเรียนถามคุณหมอสันต์ ดังนี้
1. ผู้ป่วยมีทางเลือกอื่นหรือไม่นอกจากการตัดไตทิ้ง
2. แคมป์พลิกผันโรคด้วยตัวเองของคุณหมอสันต์เหมาะกับผู้ป่วยรายนี้หรือไม่ และจะจัดขึ้นวันที่เท่าไร
ผมขอความกรุณาจากคุณหมอสันต์ด้วยครับ
………………………………………………………..
ตอบครับ
1. ทางเลือกก็มีสองทาง คือผ่าตัดกับไม่ผ่าตัด ชอบทางไหนก็ชั่งน้ำหนักประโยชน์และความเสี่ยงแล้วเลือกเอาได้
ในการให้น้ำหนักประโยชน์ของการผ่าตัด เราดูที่วัตถุประสงค์ของการผ่าตัดว่ามันจะให้ประโยชน์อะไรเราบ้าง เป้าหมายของการผ่าตัดครั้งนี้คือป้องกันไม่ให้เนื้องอกอุดตันรูหลอดเลือด IVC ป้องกันเฉยๆนะ ย้ำ เพราะ ณ ขณะนี้เนื้องอกยังไม่ได้อุดตันรูหลอดเลือด IVC ทราบจากการที่ภาพ CT ไม่ได้แสดงการเป่งของหลอดเลือด IVC ส่วนที่อยู่ต่ำกว่าเนื้องอก และไม่ได้อุดตันหลอดเลือดดำที่ไต (renal vein) ทราบจากการที่ CT ไม่ได้แสดงการบวมเป่งของตัวไต และไม่มีหลักฐานว่าการทำงานของไต (eGFR) ผิดปกติ ดังนั้นนี่เป็นการผ่าตัดเพื่อป้องกันปัญหาที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ยังไม่รู้ ถ้าเกิดจะเกิดเมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้ นี่คือภาพใหญ่ของประโยชน์ที่จะได้
อย่าลืมว่าการผ่าตัดครั้งนี้ไม่ได้มุ่งรักษาเนื้องอกนะ เพราะเนื้องอกชนิดนี้ (renal angiomyolipoma) ไม่ใช่มะเร็ง ถ้าไม่อุดไม่กดอะไรจนเกิดเรื่องรุนแรงก็ไม่มีข้อบ่งชี้ให้ต้องผ่าตัด และการผ่าตัดเพื่อหวังจะรักษาเนื้องอกนี้ให้หายในกรณีนี้ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะ CT ที่คุณส่งมาให้ดูบอกแล้วว่ามีเนื้องอกชนิดนี้อยู่ทั่วไปในไตทั้งสองข้าง ทั้งซ้ายและขวา จึงไม่มีทางจะทำให้เนื้องอกนี้หายไปจากตัวด้วยการผ่าตัดได้
ส่วนความเสี่ยงนั้นคุณรู้อยู่แล้ว คนเป็น SLE ย่อมต้องถนอมการทำงานของไตสุดชีวิต การตัดไตไปข้างหนึ่ง ย่อมจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดไตวายเรื้อรัง (CKD) ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
จะเลือกทางไหน คุณเลือกเองนะครับ ข้อมูลประกอบก็มีเท่านี้แหละ หมอมีหน้าที่แค่ให้ข้อมูล ผู้ป่วยเป็นผู้ตัดสินใจเลือกวิธีรักษา (นี่เป็นวิธี “ชิ่ง” ที่ถูกต้องตรงตามหลักจริยธรรมเสียด้วย หิ หิ)
2. ถามว่าแค้มป์ RDBY เหมาะกับภรรยาของคุณไหม ตอบว่าไม่เหมาะครับเพราะโรคที่เป็นนี้เป็นโรคจำเพาะที่ไม่ทราบสาเหตุ ไม่ใช่โรคเรื้อรัง (NCD) อย่างโรคหลอดเลือดหัวใจ สมอง เบาหวาน ความดัน ฯลฯ ซึ่งมีหลักฐานว่าจะดีขึ้นแน่นอนด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต
กรณีภรรยาของคุณนี้ หากจะมาเข้าแค้มป์ก็มาเข้าแค้มป์ Cancer Retreat จะได้ประโยชน์ตรงกว่าครับ แม้ว่าไม่ได้เป็นมะเร็ง แต่ก็เป็นเนื้องอก ซึ่งเอาความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
…………………………………………………………
ปล. สำหรับท่านที่จะจองแค้มป์สุขภาพกรุณาลงทะเบียนหรือสอบถามข้อมูลได้ที่
เวลเนสวีแคร์ โทร : 063-6394003 หรือ
Line ID : @wellnesswecare หรือ