ลดความอ้วนแบบ Ketogenic diet ดีไหม

เรียน  คุณหมอสันต์ ที่เคารพ ค่ะ

หนูติดตามคุณหมอมาสักพักนึงแล้วค่ะ  ไม่ว่าจะเป็นทางบล็อก ทางยูทูป ทางเฟสบุค  หลายๆ รายการที่คุณหมอไปออก  หนูฟังคอนเซ็ปต์ของการใช้ชีวิตแล้วรู้สึกเข้าใจมากพอสมควร  เพียงแต่การปฏิบัติในชีวิตประจำวันอาจจะยังไม่ได้ดีนัก  หนูไม่มีโรคประจำตัวอะไรค่ะ  (อายุ 44 ปี) เมื่อไม่นานมานี้ หนูได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มเฟสบุคของคนที่อยากมีสุขภาพดี และลดความอ้วน  กลุ่มนี้เน้นเฉพาะการดำเนินชีวิตด้วยวิธี Ketogenic น่ะค่ะ  ซึ่งจากที่หนูลองไล่อ่านข้อมูลย้อนหลังที่เค้าแชร์กัน  ก็ได้ความเข้าใจว่า เป็นการกินอาหารโดยเน้นการ "ห้ามกิน" คาร์โบไฮเดรต และน้ำตาล โดยเด็ดขาด  ซึ่งในสิ่งที่เค้าห้ามนั้น หนูก็ฟังเข้าใจได้  แต่สิ่งที่เค้าสนับสนุนให้กิน เค้าเน้นการกินไขมันดี และออกกำลังกาย  โดยอาหารที่แชร์กันนั้น เค้าสามารถกินเบคอน ไส้กรอก ชีส หมูสามชั้น เครื่องในสัตว์ หนังสัตว์ ฯ ประมาณนี้ ได้อย่างไม่จำกัดเลยน่ะค่ะ!
ในคลิปงานเสวนา  "ชีวิตดีไม่มีตีบตัน"  https://www.youtube.com/watch?v=LI7uD_nu-nI  ที่คุณหมอไปบรรยายนั้น  คุณหมออ้างอิงงานวิจัยต่างๆ ที่ทำให้เห็นผลกระทบของหลอดเลือดที่หดตัว เมื่อเราบริโภคไขมันเข้าไปในร่างกาย  รวมถึงการกินอาหารแปรรูปต่างๆ ที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง  คุณหมอได้เน้นย้ำว่า ให้กินอาหารธรรมชาติ ไม่สกัด ไม่ขัดสี  ถึงแม้จะเป็นไขมันดีก็ตาม น้ำมันก็ถือว่าได้มาจากการสกัด  อันนี้หนูก็ฟังเข้าใจมากๆ เลยค่ะ
หนูขออนุญาตนำเนื้อหาบางส่วน และภาพ จากในกลุ่ม มาให้คุณหมอได้อ่าน  เพราะหนูอ่านแล้วก็เกิดความสับสน น่ะค่ะ

"..สาเหตุของโรคหัวใจ (หลอดเลือดอุดตัน) มิได้เกิดจากไขมัน แต่เกิดจากการกินอาหารที่ไขมันดีๆ เยอะเช่น 
1. น้ำมันมะกอก ถั่ว ปลาทะเล ตลอดจนผักใบเขียว
2. ทานโยเกิร์ตและชีส พอประมาณ
3. ***ตัดน้ำตาลและแป้ง***
เสริมด้วย
ออกกำลัง + ลดความเครียด + เลิกสูบบุหรี่ จะช่วยลดความเสี่ยง
ส่วนสิ่งที่เพิ่มความเสี่ยง คือ
- การดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (เบาหวาน) และ/หรือ การอักเสบทั้งร่าง
- ทานไขมันดี (โอเมก้า-3) น้อย แต่ทานไขมันเลว (โอเมก้า-6) มากเกิน (น้ำมันพืช)
- บริโภคน้ำตาล fructose (น้ำอัดลม น้ำผลไม้) และแป้ง (refined carbohydrates) เช่น ข้าว ขนมปัง เส้นก๊วยเตี๋ยว
- ปัจจัยอื่น ๆ (เห็นว่าน่าจะเกิดจากแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ที่มีตัวร้ายมากกว่าตัวดี)
ลูกศรชี้ออกคือผลที่จะตามมาได้แก่
- Hypertension คือความดันโลหิตสูง
- Type 2 diabetes คือโรคเบาหวาน
- Atherogenic Dyslipidaemia อันนี้ศัพท์ยาก ต้องแยกเป็นคำ ๆ Atherogenic คือผนังของหลอดเลือดหัวใจ ส่วน Dyslipidaemia ตรงนี้มี 2 คำซ้อนกัน คำแรกคือ Lipid แปลว่าไขมัน แล้ว Dys- คือการมีปริมาณที่มากเกินกว่าปกติ ในที่นี้เกิดจากการที่มันไปสะสมเนื่องจากความอักเสบ
โดยสรุปแล้วคือ การทาน Keto แก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือตัดคาร์บให้สนิท
ไขมันมิใช่ปัญหา ตราบใดที่ไม่มีแป้ง/น้ำตาล
อย่างไรก็ตาม  สายเนียน พวกที่ทาน Keto มื้อ คาร์บมื้อ ตายไวสุด ..."
ถ้าอ่านเฉพาะที่หนูยกมา  หนูก็พอเข้าใจอยู่บ้าง  แต่ที่หนูสงสัยหนักเลยก็คือ  เมนูอาหารที่เค้าแชร์กัน  ว่าแต่ละวันเค้าทานอะไรกันบ้าง  หนูขอยกมาบางส่วนนะคะ  เช่น  ผัดแหนมหนังหมู , ไข่ดาวทอดเนย , กระเพรามันหมูสามชั้นสับ , แกงกะทิเนื้อแดดเดียว และเค้าทาน ชีส เนย วิปปิ้งครีม รวมถึงเบค่อน กันได้แบบเต็มที่มากๆ ค่ะ  แต่หลายคนลดน้ำหนักลงได้เร็วมาก  และไม่มีโยโย่ด้วย และสามารถรักษาระดับน้ำหนักไว้ได้ โดยคนที่ทานวิธีนี้เป็นประจำ  ได้โชว์ผลการตรวจค่าไขมันและตับ ก็เป็นค่าที่เป็นปกติดีน่ะค่ะ  คือกลุ่มนี้ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อมีผล ประโยชน์ทางด้านการค้า หรือหากำไร อะไรนะคะ ไม่มีขายสินค้าใดใด  ผู้นำกลุ่มก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นคนที่เคยอ้วนมากๆ แล้วลดความอ้วนได้ด้วยวิธีนี้  หนูเห็นรูป before กับ after แล้ว ก็ทึ่งมากๆ เลยน่ะค่ะ
หนูก็เลยรู้สึกสนใจในวิถีของเค้า  โดยที่หนูยังไม่ได้คิดที่จะดำเนินตามนะคะ  หนูยังเชื่อมั่นในแนวทางของคุณหมอ  หนูอยากจะติดตามกลุ่มเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงไปยาวๆ  หนูยังรู้สึกอยู่ลึกๆ ว่า การกินอาหารลักษณะนี้ ไม่น่าจะดีต่อร่างกายในระยะยาวๆ น่ะค่ะ ในส่วนของคำถามที่อยากจะเรียนถามคุณหมอ ก็คือ  อยากให้คุณหมอแสดงความเห็นเกี่ยวกับ Ketogenic นี้ค่ะในระยะยาว
กราบขอบพระคุณ คุณหมอสันต์ ค่ะ
ปล. เมื่อวานที่หนูได้ส่ง e-mail มาสอบถามคุณหมอ  ปรากฏว่าหนูให้ข้อมูลคุณหมอผิดไปน่ะค่ะ  ในส่วนของผลเลือดที่หนูได้ระบุว่า ปกติ น่ะค่ะ  กลายเป็นว่า หลังจากที่ส่ง e-mail หาคุณหมอเสร็จ  หนูก็กลับเข้าไปสำรวจข้อมูลในกลุ่มย้อนหลังให้ลึกลงไปอีก นี่คือ ผลเลือดล่าสุด ของผู้นำกลุ่ม ที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย น่ะค่ะ  (ตามรูปที่แนบมาเพิ่มเติมค่ะ) และหนูขอแนบข้อมูลที่ อจ. ท่านนี้ เขียนอธิบายเกี่ยวกับผลเลือดของท่านไว้ ดังนี้ ค่ะ

"..เมื่อวานโชว์ผลเลือด มีคนสงสัยว่าดีใจทำไม ทั้งที่คอเลสเตอรอลและไขมัน "เลว" เยอะขนาดนั้น โอเค สองวงแดง คือค่าที่เกินจากช่วงไปเยอะมาก คอเลสเตอรอล ไม่ควรเกินสองร้อย พี่ล่อไป 549 ส่วน LDL ไม่ควรเกิน 130 นี่กดไป 493 หากเป็นชาวบ้านตาสียายสา คุณหมอท่านคงดุเอา  ดุทำไม ? ก็ไขมันเยอะขนาดนี้ หัวใจวายเอาง่ายๆ แต่... ตัวเองขอตรวจ CRP ย่อมาจาก C-reactive protein ที่วัดอาการอักเสบในร่างกาย เพราะ ยิ่งอักเสบมาก โอกาสที่หลอดเลือดหัวใจจะอุดตันก็มาก ปรากฏว่าได้ 1.0 จากช่วง 0-5 ทางด้านขวา เป็นคำอธิบายว่า หากค่า CRP น้อย ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจก็ยิ่งน้อย แล้วไง นั่นก็คือตราบใดที่สัดส่วนไตรกลีเซอร์ไรด์กับ HDL มีค่าน้อย ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดอุดตันก็น้อย ลองคำนวณดู ของตัวเอง ไตรฯ 83 HDL 75 (ไตรฯ อยู่ตรงกลาง HDL ค่อนข้างสูง) จับหารกัน 83/75 ได้ 1.1 ซึ่งค่อนข้างต่ำ นั่นแปลว่า เป็นเรื่อง(โคตร)น่าดีใจ ..."

     หนูจึงมีคำถามอยากจะรบกวนคุณหมอสันต์เพิ่มเติมน่ะค่ะ  ว่า ค่าผลเลือดของ อจ. ท่านนี้  (ซึ่ง อจ. ก็ยังยืนยันที่จะปฏิบัติตัวตามวิถี Keto อย่างเคร่งครัดต่อไป)   เป็นวิถีที่ปลอดภัย และไม่อันตรายต่อร่างกาย ในระยะยาวจริงๆ เหรอคะ?  (ในกลุ่มมีผู้คนมากมายเลยค่ะ ที่กำลังดำรงชีวิตด้วยวิถีทางนี้) กราบขอบพระคุณ คุณหมอล่วงหน้า  สำหรับการสละเวลาให้ข้อมูลเป็นวิทยาทาน น่ะค่ะ

...................................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าอาหารคีโตเจนิก (Ketogenic) และอาหารสูตรอื่นๆที่มีลักษณะงดคาร์โบไฮเดรตไปกินเนื้อสัตว์แทนคล้ายๆกันนี้ เช่นอาหารมนุษย์ถ้ำ (Palio diet) อาหารหมออัทคิน (Atkin's diet) อาหารหมอดูก็อง (Ducan diet) ลดน้ำหนักได้จริงไหม ตอบว่าลดได้จริง และเมื่อเปรียบเทียบกับสูตรอาหารอื่นๆแล้วในระยะสั้น (ไม่เกินหนึ่งปี) งานวิจัยส่วนใหญ่พบว่าอาหารสูตรไม่กินข้าวกินแต่กับหรือที่ผมชอบเรียกว่าสูตร "คาร์บต่ำโปรตีนสูงไขมันสูง" เหล่านี้ลดน้ำหนักได้เร็วกว่าสูตรอื่นเล็กน้อย แต่ว่าน้ำหนักจะไปเสมอกันเมื่อพ้นหนึ่งปีไปแล้ว

     แต่หากไปตั้งนับกันที่เมื่อกินกันครบห้าปีไปแล้ว สูตรคาร์บต่ำโปรตีนสูงไขมันสูงหรือคีโตเจนิกนี้ไม่ใช่สูตรที่ลดน้ำหนักได้ดีที่สุดนะครับ สูตรที่ลดน้ำหนักได้ดีที่สุดคือสูตร DASH diet หรือสูตรอาหารลดความดันเลือด ซึ่งเป็นสูตรกินพืชเป็นหลัก กินคาร์โบไฮเดรตในรูปธัญพืชไม่ขัดสีแยะๆ และกินผักผลไม้กันมากถึงวันละ 10 เสริฟวิ่ง

     2. ถามว่าอาหารแบบคีโตเจนิกในระยะยาวมีผลเสียต่อร่างกายไหม ตอบว่างานวิจัยที่พอจะเทียบเคียงเอามาตอบคำถามนี้ได้คืองานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสเพื่อเปรียบเทียบอัตราตายระยะยาว 5 ปีขึ้นไปของคนจำนวน 249,272 คน กลุ่มหนึ่งกินอาหารแบบคาร์บต่ำโปรตีนสูงไขมันสูง (ซึ่งเป็นอาหารกลุ่มเดียวกับอาหารอัทคิน อาหารปาลิโอ อาหารดูก็อง อาหารคีโตเจนิก ที่มีจุดร่วมว่าลดแคลอรี่จากคาร์โบไฮเดรตลง แตกต่างกันที่รายละเอียดปลีกย่อย) อีกกลุ่มหนึ่งกินอาหารแบบอื่น (เช่นคาร์บสูงไขมันต่ำ) งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ PLoS One ซึ่งผลวิจัยสรุปว่ากลุ่มผู้กินอาหารแบบคาร์บต่ำโปรตีนสูงไขมันสูงนี้ มีอัตราตายในระยาวสูงกว่ากลุ่มผู้กินอาหารแบบอื่นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงตอบคุณได้ว่าแม้ระยะสั้นไม่เกินหนึ่งปีอาหารแบบคีโตเจนิกจะลดน้้ำหนักได้รวดเร็วดี แต่ระยะยาวแล้วอาหารแบบคีโตเจนิกไม่น่าจะดีต่อสุขภาพครับ

     แต่ว่าในเด็ก มีข้อมูลความปลอดภัยค่อนข้างเจาะจงและชัดเจนดีกว่าผู้ใหญ่ เพราะตัวอาหารคีโตเจนิกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นวิธีรักษาโรคลมบ้าหมูในเด็กมาก่อน บางงานวิจัยให้เด็กกินอาหารแบบนี้นาน 8-10 ปี ในแง่ของการเติบโตหรืออัตราตายเด็กเหล่านั้นผลวิจัยติดตามพบว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร หมายความว่าเป็นอาหารที่ปลอดภัยสำหรับเด็กที่่จะกินยาว 8-10 ปี

    3. ถามว่าผลเลือดของอาจารย์ของคุณที่ว่าโคเลสเตอรอลรวม 549 ส่วนไขมันเลว LDL 493 ระยะยาวจะมีปัญหาต่อสุขภาพไหม ตอบว่ามีสิครับ เพราะไขมันในเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักตัวหนึ่งของโรคหัวใจหลอดเลือด ระยะยาวท่านก็มีโอกาสเป็นและเสียชีวิตจากโรคหัวใจหลอดเลือดสูงกว่าคนธรรมดา ส่วนที่ว่าสารชี้บ่งการอักเสบ CRP ได้ 1.0 แล้วดีอกดีใจนั้นเป็นคนละเรื่องกัน การอักเสบก็การอักเสบ ไขมันก็ไขมัน ทั้งสองอย่างต่างก็เป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระ หมายความว่ามีอันใดอันหนึ่งโดยไม่มีอีกอันหนึ่งก็เป็นโรคและตายจากโรคได้แล้ว ส่วนการเอาไขมันมาบวกลบคูณหารกันนั้นคุณอย่าไปสนใจเลย เพราะมันเป็นสมมุติฐานทางการแพทย์ที่ไม่มีข้อมูลอัตราตายในคนจริงๆมาสนับสนุนมากพอ

    4. อันนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมแถมให้ ทุกวันนี้มีคนสนใจการมีสุขภาพดีมากขึ้น มีผู้ที่อยู่นอกอาชีพแพทย์หันมาศึกษาผลวิจัยทางการแพทย์มากขึ้น บ้างก็เผยแพร่สิ่งที่ตัวเองอ่านพบและตีความได้ออกสู่เพื่อนฝูงคนรู้จักและในอินเตอร์เน็ท ทำให้มีข้อมูลแบบนี้เป็นจำนวนมาก ประเด็นคือวิชาแพทย์กับความเป็นจริงในเรื่องสุขภาพและโรคภัยนี้ เปรียบไปก็เหมือนกับคนตาบอดคลำช้าง แพทย์เป็นคนตาบอด วิชาแพทย์เป็นช้าง ทุกเรื่องทุกประเด็นมันมีความลุ่มลึกยอกย้อนวกวนขัดกันไปขัดกันมา เป็นการยากที่คนไม่เข้าใจวิธีจัดชั้นความเชื่อถือได้ของหลักฐานวิทยาศาสตร์และคนที่ไม่มีพื้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์อย่างแน่นหนาหรือรู้ลึกแต่ไม่ได้ตามเรื่องนั้นๆมาอย่างต่อเนื่องจะสามารถจับสาระความจริงที่เป็นประโยชน์ออกมาจากสิ่งที่เผยแพร่กันอย่างฟั่นเฝือในอินเตอร์เน็ทได้ นี่ว่ากันถึงความยากสำหรับคนที่เรียนแพทย์มาและทำอาชีพแพทย์อยู่นะ ยิ่งสำหรับคนนอกอาชีพแพทย์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง

     ยกตัวอย่างเช่นคุณพูดถึงการบรรยายของอาจารย์มหาวิทยาลัยของคุณซึ่งพูดประมาณว่าการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (คือมีระดับฮอร์โมนอินสุลินสูง) เป็นความเสี่ยงทำให้เกิดการอ้วนจากการสะสมไขมันในร่างกาย การกินอาหารคีโตเจนิกทำให้ระดับอินสุลินต่ำและลดการดื้อต่ออินสุลินก็มีผลสลายไขมันที่สะสมในร่างกายได้ เป็นกลไกการทำให้ผอมที่ดูเหมือนตรงไปตรงมา ประเด็นคืือทั้งหมดที่อาจารย์ของคุณพูดมานั้นเป็นเพีียงสมมุติฐานทางการแพทย์ แต่ความจริงในร่างกายคนมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป

     ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยหนึ่งซึ่งออกแบบการวิจัยดีมาก เขาเอาคนอ้วน 17 คนมาทดลองกินอาหารสองแบบคืออาหารคาร์บสูงไขมันต่ำกับอาหารคีโตเจนิก อย่างละ 4 สัปดาห์ แล้วก็ตรวจวัดค่าต่างๆอย่างละเอียดโดยบังคับให้กินนอนอยู่ในศูนย์วิจัยการเผาผลาญอาหารนั่นเลย ผลการวิจัยพบว่าขณะกินอาหารคาร์บสูงไขมันต่ำได้ 15 วันน้ำหนักลดลงไปเฉลี่ยคนละ 0.8 กก. โดยที่เมื่อวิเคราะห์สัดส่วนของร่างกาย (body composition) น้ำหนักที่หายไปนั้นเป็นไขมันเสีย 0.5 กก.หรือ 63% ครั้นพอเปลี่ยนมากินอาหารคีโตเจนิก 15 วัน น้ำหนักก็ลดลงไปพรวดพราดอีก 1.8 กก. แต่เมื่อวิเคราะห์สัดส่วนองค์ประกอบของร่างกายแล้วพบว่าส่วนที่ลดไปนั้นเป็นน้ำเสียตั้ง 1.6 กก. (89%) เป็นไขมันแค่ 0.2 กก.  (11%) ทั้งๆที่เมื่อผลตรวจระดับอินสุลินขณะกินอาหารคีโตเจนิกอินสุลินก็ลดต่ำลงมากกว่าตอนกินอาหารคาร์บสูงไขมันต่ำ แต่กลับสลายไขมันได้น้อยกว่า นั่นหมายความว่าสมมุติฐานที่ตั้งขึ้นว่าถ้าลดระดับอินสุลินได้จะลดไขมันได้นั้นไม่เป็นความจริง อย่างน้อยก็ในงานวิจัยนี้ และในงานวิจัยนี้เรายังเรียนรู้ด้วยว่าที่อาหารคีโตเจนิกลดน้ำหนักได้เร็วพรวดพราดก็จริง แต่ส่วนใหญ่ที่ลดไปนั้นคือน้ำ ขณะที่อาหารคาร์บสูงไขมันต่ำลดน้ำหนักได้น้อยกว่าแต่ส่วนใหญ่ที่ลดไปนั้นเป็นไขมัน

     ที่ผมพูดมานี่อาจจะ "เยอะ" หรือลึกเกินไปหน่อย แต่เพื่อให้คุณเห็นภาพว่าข้อมูลที่เอามาเผยแพร่กันในอินเตอร์เน็ทนั้นมันยังต้องวิเคราะห์เจาะลึกอีกมากหลายชั้นกว่าจะกรองเอามาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งผมสนับสนุนให้แฟนบล็อกทุกท่านหัดกลั่นกรองจัดชั้นความเชื่อถือได้ของหลักฐานวิทยาศาสตร์ด้วยตัวเอง ผมเคยเขียนเรื่องการจัดชั้นความเชื่อถือได้ของหลักฐานวิทยาศาสตร์นี้ไปแล้วบ่อยมาก คุณหาย้อนอ่านดูได้ (เช่นในบทความนี้ http://visitdrsant.blogspot.com/2011/08/blog-post_25.html ซึ่งเป็นการตอบคำถามของท่านผู้อ่านที่เป็นคนทั่วไป หรือบทความนี้ http://visitdrsant.blogspot.com/2014/08/blog-post_15.html ซึ่งเป็นการตอบคำถามของท่านผู้อ่านที่เป็นแพทย์ ) คือหัดจับให้ได้ก่อนว่าสิ่งที่เขาเล่ามาในอินเตอร์เน็ทนั้นเป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์หรือเปล่า ถ้าเป็นๆระดับไหน เชื่อถือได้หรือเปล่า การที่คุณย้ำแต่ว่าคนพูดเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็แปลว่าน้ำหนักทั้งหมดอยู่ที่การเป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ (expert's opinion) ซึ่งไม่ใช่หลักฐานวิทยาศาสตร์ เป็นแค่คำบอกเล่า (anecdote) คุณต้องหัดเจาะลงไปให้ลึกกว่านั้นว่าเขาบอกเล่าโดยเอาหลักฐานมาจากงานวิจัยไหน แล้วตามไปดูงานวิจ้ยนั้นว่าเป็นหลักฐานระดับชั้นไหน ก่อนจะเชื่อหรืือไม่เชื่อสิ่งที่เขาบอกมา

     กลับมาพูดถึงสูตรอาหารคีโตเจนิก ตัวผมเองไม่ได้มองสูตรอาหารคีโตเจนิกว่าเลวร้ายนะครับ ขึ้นอยู่กับการรู้จักเลือกใช้ มันเป็นสูตรอาหารที่ดีเมื่อต้องการลดน้ำหนักระยะสั้นๆเร็วๆ ผมเองก็เคยใช้สูตรอาหารแบบนี้ในการลดน้ำหนักของน้องๆที่เข้ารายการเต้นเปลี่ยนชีวิต  (Dance Your Fat Off) ที่ทีวี.ช่องสามเมื่อหลายปีก่อน ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของสูตรอาหารนี้ก็คือมันช่วยดึงคนอ้วนที่มีนิสัยติดการกินเนื้อสัตว์และติดรสชาติมันๆให้เข้ามาสู่วิถีสุขภาพ เริ่มด้วยการยอมทดลองลดน้ำหนักเพราะไม่ต้องอดของอร่อยๆที่ชอบกิน พอมีผลงานลดน้ำหนักตัวเองได้แล้วก็จะเกิดความชื่นชอบวิถีสุขภาพขึ้นมา เกิดอยากสวยอยากหล่อก็ริอ่านออกกำลังกาย ทดลองเล่นกล้าม สุขภาพก็ยิ่งดีขึ้นๆ แล้วความที่อาหารเนื้อสัตว์นี้กินมากๆมันก็จะเบื่อจนอ๊วกไปเอง คนกินสูตรคีโตเจนิกนี้นานๆเข้าก็จะค่อยๆขยับไปหาอาหารพืชมากขึ้นๆจนกินอาหารพืชเป็นหลักซึ่งเป็นสูตรอาหารที่ดีต่อสุขภาพในระยะยาวได้เองอย่างเป็นธรรมชาติและเป็นอัตโนมัติ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.  Noto H, Goto A et al. Low-Carbohydrate Diets and All-Cause Mortality: A Systematic Review and Meta-Analysis of Observational Studies. PLoS One. 2013; 8(1): e55030. doi: 10.1371/journal.pone.0055030
2.  Hall KD, Bemis T et. al. Calorie for calorie, dietary fat restriction results in more body fat loss than carbohydrate restriction in people with obesity. Cell Metab. 2015 Sep 1; 22(3): 427–436.
doi:  10.1016/j.cmet.2015.07.021

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี