ไม่จริงหรอกที่ว่าถ้าไม่ทำบอลลูนก็จะไม่ตาย

กราบเรียนนพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
สามีของดิฉันเสียชีวิตกะทันหัน เขามีอายุ 51 ปี เมื่อต้นเดือนมีอาการเจ็บหน้าอกเวลาออกแรง พอพักก็หายไป จึงไปโรงพยาบาล... คุณหมอได้ให้ตรวจวิ่งสายพานแล้วบอกว่ามีหัวใจขาดเลือด จึงแนะนำให้สวนหัวใจ โดยบอกว่าสวนหัวใจให้ได้ข้อมูลมาก่อนแล้วค่อยตัดสินใจก็ได้ ซึ่งสามีก็ตกลง แต่ก็ได้คุยกันกับดิฉันก่อนว่ายังจะไม่ทำบอลลูนหรือผ่าตัดใดๆทั้งสิ้น วันที่ไปตรวจสวนหัวใจดิฉันตามไปไม่ทันเพราะรถติด หมอสวนหัวใจแล้วพบว่ามีตีบสามเส้นจึงแนะนำให้ทำบอลลูนใส่สะเต้นท์ไปตอนนั้นเลยเพื่อจะได้ไม่ต้องมาสวนหัวใจซ้ำอีก ลูกๆเล่าว่าสามีขอให้รอดิฉันแต่หมอบอกว่ารอไม่ได้เพราะสายสวนจะคาไว้นานไม่ได้ เลือดจะออก สามีจึงเซ็นให้ทำ ตอนที่ดิฉันไปถึงได้ทำไปแล้ว เมื่อหมอออกมาแจ้งข่าวก็บอกแต่ว่าเกิดหัวใจหยุดเต้น กำลังช่วยกันอยู่ แล้วก็มาบอกอีกว่าการปั๊มหัวใจไม่สำเร็จ จะต้องทำผ่าตัดบายพาสฉุกเฉิน ดิฉันตัดสินใจไม่ยอมเพราะขณะนี้กำลังหัวใจหยุดเต้น จะไปทำผ่าตัดใหญ่กันทั้งๆที่หัวใจหยุดเต้นจะไปทำเช่นนั้นได้อย่างไร หลังจากนั้นไม่กี่นาทีหมอก็แจ้งว่าสามีเสียชีวิต ดิฉันรับไม่ได้กับเรื่องที่เกิดขึ้น อยากถามคุณหมอสันต์ว่าหมอเชียร์ให้ทำบอลลูน แฟนขอให้รอดิฉันก่อน แต่หมอก็เร่งรัดว่ารอไม่ได้ ความจริงมันรอได้ใช่ไหมคะคุณหมอสันต์ แล้วถ้าไม่ทำบอลลูนสามีก็คงไม่ต้องเสียชีวิตใช่ไหมคะ อย่างไรเสียดิฉันก็จะให้ทนายยื่นฟ้อง แม้ว่าสามีจะไม่กลับมาอีกก็ตาม แต่การฟ้องของดิฉันอาจทำให้หมอได้คิดว่าครั้งต่อไปจะได้ไม่เชียร์ให้ผู้ป่วยทำโน่นทำนี่อย่างออกนอกหน้า
ดิฉันเป็นแฟนประจำคุณหมอสันต์ ขอโทษด้วยถ้าคำพูดไม่สุภาพ ดิฉันยอมรับว่าจิตใจยังไม่กลับมาเป็นปกติ

.................................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าผู้ป่วยเจ็บหน้าอก พักแล้วหายเจ็บหน้าอก พอสวนหัวใจแล้วพบจุดตีบที่หลอดเลือดที่สมควรจะใช้บอลลูนขยาย เป็นกรณีที่รอได้ใช่หรือไม่ ตอบว่าอย่าใช้คำว่ารอได้หรือรอไม่ได้เลยเพราะคนอยู่วงนอกห่างไกลเหตุการณ์ย่อมไม่ทราบข้อมูลที่เกิดขึ้นณเดี๋ยวนั้นมากพอที่จะฟันธงได้ เอาเป็นว่ามันเป็นกรณีที่หากแม้นทำได้ก็ควรทำไปซะให้จบในคราวเดียว ภาษาหมอเรียกว่า ad hoc คือทำม้วนเดียวจบ ซึ่งมันก็มีข้อดีที่ไม่ต้องเข้าๆออกๆห้องสวนหัวใจหลายรอบ ไม่ต้องมาตั้งต้นอดน้ำอดอาหารเพื่อเตรียมการกันใหม่ ไม่ต้องมาสวนหัวใจกันใหม่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันข้อเสียมันก็มีอย่างที่คุณเห็นนี่แหละ คือบางครั้งผู้ป่วยหรือครอบครัวยังไม่พร้อมที่จะตัดสินใจ แต่ความจริงหมอเขาไม่ได้บังคับนะ เขาเสนอให้สามีของคุณเลือก สามีของคุณเป็นคนตัดสินใจขั้นสุดท้ายนะ และสามีคุณก็ตัดสินใจว่าให้ทำ ตอนที่ตัดสินใจนั้นสามีคุณก็ยังสติสะตังดีอยู่ ยังเซ็นชื่อได้อยู่เลย หมอเขาจึงเดินหน้าทำไงครับ

     2. ถามว่าถ้าไม่ทำบอลลูนสามีก็จะไม่เสียชีวิตจริงไหม ตอบว่าไม่จริงหรอกครับ คนเป็นโรคหัวใจขาดเลือดระดับมีอาการเจ็บหน้าอกแล้วแต่ยังไม่เคยเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอย่างสามีของคุณนี้ งานวิจัยชื่อ COURAGE Trial ได้ทำการทดลองแบ่งคนไข้ออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งใช้วิธีรักษาแบบรุกล้ำ คือทำบอลลูนหรือบายพาส อีกกลุ่มหนึ่งให้กินยาโดยไม่ทำการรักษาแบบรุกล้ำ พบว่าอัตราตายในระยะยาวเท่ากัน คือไม่ว่าจะรักษาโดยการทำหรือไม่ทำบอลลูน ก็มีโอกาสตายในระยะยาวเท่ากัน ไม่ใช่ว่าถ้าไม่ทำบอลลูนแล้วจะไม่ตาย ตายทั้งสองแบบ ตายเท่าๆกันด้วย

     คนเป็นโรคหััวใจขาดเลือดทุกคน (รวมทั้งตัวหมอสันต์ด้วย) เปรียบไปก็เหมือนได้วีซ่าที่จะมีชีวิตอยู่สั้นกว่าคนไม่ได้เป็นโรคน่ี้โดยเฉลี่ย เพราะโรคห้ัวใจขาดเลืิอดเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของมนุษย์ ถึงจะเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงด้วยการปรับไปกินอาหารพืชเป็นหลัก ออกกำลังกาย และจัดการความเครียดอย่างที่หมอสันต์สนับสนุนสุดลิ่มอยู่ทุกวันนี้ก็ตาม มันลดอัตราตายในระยะยาวลงได้ดีกว่าการอยู่เฉยไม่ทำอะไรเลยก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าใครก็ตามที่ทำตามหมอสันต์ว่าแล้วยมพบาลจะแตะต้องไม่ได้ มันไม่ใช่อย่างนั้น การตายของคนเรามันเป็นการประชุมแห่งเหตุ คือมีสาระพัดเหตุมาประดังเกิดในคราวเดียวกัน ไม่มีใครคาดเดาได้ล่วงหน้าว่าความตายจะเกิดกับตัวเองเมื่อใด รู้แต่ว่าทุกคนต้องตายแหงๆไม่วันใดก็วันหนึ่ง รู้แค่นั้น

     3. ประเด็นสำคัญไม่ใช่อยู่ที่แพทย์ทำอะไรผิดพลาดสมควรฟ้องร้องหรือไม่ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ท่ี่คุณมีโลกทัศน์ต่อชีวิตผิดไป คุณไปปักธงสำคัญมั่นหมายว่าชีวิตของคุณและคนใกล้ชิดจะต้องมีชีวิตอยู่ยืนยาวจนเข้าวัยชราซึ่งคุณเชื่ออย่างผิดๆว่ามันเป็นสะเป๊คมาตรฐานของการเกิดมาเป็นคน จะมาตายเร็วกว่าสะเป๊คไม่ได้ และคุณไปเชื่อผิดๆว่าถ้าทำอย่างนี้จะไม่ตาย ถ้าทำอย่างนั้นจะไม่ตาย แต่ในชีวิตจริงใครจะตายเมื่อไหร่คนกำหนดมีอยู่คนเดียวคือยมพบาล แล้วยมพบาลนี้ท่านฟังใครซะที่ไหนละครับ

     ผมแนะนำว่าสิ่งที่คุณพึงทำคืือถือโอกาสที่สูญเสียสามีไปนี้มองกลับเข้าไปค้นหาความจริงที่ข้างในตัวเองว่าคุณเป็นใคร อะไรที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นตัวคุณจริงๆ ทำไมคุณจึงเป็นทุกข์ ชีวิตนี้มีอะไรไหมที่คุณคุมได้ (ความคิดของคุณเองนั่นไงที่คุณคุมได้) อะไรที่คุณคุมไม่ได้ (ทุกอย่างนอกเหนือจากความคิดของคุณเป็นสิ่งที่คุณคุมไม่ได้) แล้วปรับวิธีมองโลกและวิธีใช้ชีวิตไปในทางที่จะทำให้คุณไม่เป็นทุกข์ คุณควรลงมือทำเฉพาะในสิ่งที่คุณคุมได้ ผมหมายถึงการวางความคิดลง ในส่วนที่คุณคุมไม่ได้นั้นคุณควรเรียนรู้ที่จะยอมรับมันตามที่มันเป็น ยอมรับว่ามันเป็นกระแสปกติของชีวิต ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ทั้งสิ่งที่น่าพอใจและสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ยอมรับมันทั้งหมด อย่าไปเกาะเกี่ยวอยู่แต่กับสิ่งที่ทำให้พอใจแล้วพยายามวิ่งหนีสิ่งที่ทำให้ไม่พอใจ เพราะการทำอย่างนั้นเป็นปฐมเหตุที่จะทำให้คุณเป็นทุกข์

      4. ในเรื่องที่คิดจะฟ้องหมอนั้น ผมแนะนำว่าอย่าไปฟ้องเลย เพราะ

      4.1 คุณเป็นทุกข์เพราะคุณสำคัญมั่นหมายผิดๆว่าชีวิตคุณจะต้องมั่นคงแน่นอนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากข้อกำหนดในใจคุณ แต่ในชีวิตจริงมันไม่มีอะไรมั่นคงแน่นอนดอก อยู่ๆสามีก็เกิดตายขึ้นมาอย่างไม่คาดฝัน คุณก็ทุกข์ คุณต้องไปแก้ตรงเหตุแห่งทุกข์คือความสำคัญมั่นหมายผิดๆนั้น ไม่ใช่ไปฟาดหัวฟาดหางตรงที่อื่นซึ่งไม่ใช่เหตุที่ทำให้คุณเป็นทุกข์
     
     4.2 ผมเดาข้ามช็อตไปว่าฟ้องไปคุณก็ไม่ชนะ

       ประการแรก ไม่มีพยานหลักฐาน หรือพยานบุคคล หรือพยานแวดล้อมใดๆ บ่งชี้ว่าหมอเขามีเจตนาร้ายต่อสามีคุณ หรือคิดจะทำมาหากินบนความเสี่ยงต่อชีวิตของสามีคุณ หรือทำงานโดยประมาทเลินเล่อ อย่างน้อยเท่าที่ผมอ่านเอาจากจดหมายของคุณผมก็ไม่เห็น เมื่อเขารักษาสามีคุณด้วยเจตนาดี แล้วจะไปเอาผิดหมอเขาด้วยเหตุอะไรละครับ

     ประการที่สอง ฟังตามเรื่องที่คุณเล่า หมอเขาทำทุกอย่างไปตามหลักวิชาแพทย์แผนปัจจุบันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เจ็บหน้าอกมาเขาตรวจคัดกรองด้วยการวิ่งสายพาน พอวิ่งสายพานได้ผลบวกเขาก็แนะนำให้ตรวจยืนยันการวินิจฉัยด้วยการสวนหัวใจ พอสวนหัวใจพบรอยตีบที่หลอดเลือดหัวใจเขาก็เสนอทางเลือกการรักษา คนเป็นโรคหัวใจขาดเลือดนี้มีวิธีรักษาสองวิธีคือบอลลูนกับไม่บอลลูน หมอเขาก็เสนอให้เลือกทำบอลลูน สามีของคุณก็ตัดสินใจเลือกแล้ว ว่าจะเดินหน้าทำบอลลูน ผมไม่เห็นว่าหมอเขาจะทำอะไรผิดตรงไหนเลย
 
     ประการที่สาม  การที่สามีคุณทำบอลลูนขยายหลอดเลือดแล้วเกิดหัวใจหยุดเต้นกะทันหันเสียชีวิต เป็นภาวะแทรกซ้อนของการทำหัตถการชนิดนี้ ซึ่งมีอัตราตายตามสถิติสากลประมาณ 0.5% หมายความว่าทุก 200 คนที่เข้าทำบอลลูน จะตายเสียประมาณ 1 คน นี่เป็นข้อจำกัดของวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ใช่ความผิดของใคร ถ้าจะถือว่าเป็นความผิดก็เป็นความผิดของมนุษยชาติที่ยังโง่อยู่ จะรักษาโรคห้วใจขาดเลือดโดยไม่ให้คนไข้ตายเลยนั้นยังทำไม่ได้ ข้อจำกัดอีกอันหนึ่งของวิชาแพทย์คือเครื่องมือที่ใช้ในการตัดสินใจว่าควรเลือกการรักษาทางไหนไม่เลือกทางไหนนั้นเป็นเพียงแค่สถิติเปรียบเทียบจากอดีตว่าทำอย่างนี้คนจะตายน้อยกว่าทำอย่างนั้น หลายปีผ่านไปหากมีสถิติใหม่ๆมาสถิติเก่าๆก็อาจจะถูกเลิกไป หมายความว่าเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินใจเลือกวิธีรักษาวันนี้อาจจะผิดก็ได้ นี่ก็เป็นข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งของวิชาแพทย์ โดยไม่เกี่ยวกับว่าใครทำผิดหรือทำถูก

     สุดท้าย.. ผมเข้าใจคุณนะ เห็นใจคุณ เอาใจช่วยคุณ และขอย้ำกับคุณด้วยความรักว่าให้คุณหันเหความสนใจจากภายนอกกลับสู่ภายใน วางความคิดสาระพัดลงเสีย เมตตาและให้อภัย ทั้งคนอื่นและตัวเอง ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามันเกิดขึ้นแล้ว และมันเป็นธรรมดาของชีวิตที่จะต้องมีอะไรบ้าๆบอๆอย่างนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เมื่อวางความคิดได้ และยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น ณ เดี๋ยวนี้ได้แล้ว จิตใจก็จะสงบลง แล้วคุณจะพบพลัง (grace) ที่จะหนุนช่วยให้คุณมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขและสร้างสรรค์ต่อไปได้เอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.  Boden WE, O'rourke RA, Teo KK, et al; COURAGE Trial Co-Principal Investigators and Study Coordinators.The evolving pattern of symptomatic coronary artery disease in the United States and Canada: baseline characteristics of the Clinical Outcomes Utilizing Revascularization and Aggressive DruG Evaluation (COURAGE) trial. Am J Cardiol. 2007;99:208-212.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี