แอลกอฮอล์ทำให้เป็นมะเร็งจริงหรือ
เรียนอาจารย์หมอสันต์
หนูส่งลิงค์ที่ส่งต่อๆกันมาทางอินเตอร์เน็ทว่า surgeon general ของประเทศสหรัฐฯ ออกข่าวว่าแอลกอฮอล์ทำให้เป็นมะเร็ง มันเป็นความจริงหรือไม่ ถ้าจริงทำไมหนูไม่เคยได้ยินหมอพูดกับคนไข้แบบนี้ ได้ยินแต่หมอแนะนำให้ดื่มแอลกอฮอล์วันละ 2 ดริ๊งค์เพื่อรักษาโรคหัวใจ
รบกวนอาจารย์ช่วยไขข้อข้องใจหนูด้วย
........................................
ตอบครับ
มาอีกละ พวกชอบส่งลิ้งค์ที่เขาร่อนกันบนเน็ทมาให้ ปกติผมจะหลีกเลี่ยงการวิพากย์วิจารณ์ว่าคนอื่นเขาพูดเขาว่าอะไรกัน ใครชอบเปิดดูก็ต้องใช้วิจารณญาณเอาเอง ไม่ใช่ให้ผมไปวิพากย์ให้ แต่เผอิญคำถามนี้น่าจะมีประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ ผมจึงหยิบมาตอบ
1. ถามว่าแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งอย่างที่เขาร่อนกันมาทางอินเตอร์เน็ทจริงหรือ ตอบว่า..จริงครับ วงการแพทย์รู้มาตั้งนานแล้วว่าแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งมากขึ้นอย่างน้อยก็ในกรณีมะเร็งเจ็ดชนิด คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งช่องปาก มะเร็งลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก[1]
ไหนๆก็พูดถึงผลของแอลกอฮอล์ต่อโรคเรื้อรังแล้วผมขอพูดต่อซะเลย ว่านอกจากมะเร็งแล้วแอลกอฮอล์ยังสัมพันธ์กับการเป็นโรคเรื้อรังอีกหลายโรค รวมทั้งความดันเลือดสูง หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจพิการ อัมพาต ตับแข็ง สมองเสื่อม เป็นต้น
2. ถามว่าถ้าแอลกอฮอล์สัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งมากขึ้นจริงทำไมแพทย์ไม่พูดให้คนไข้รู้ ตอบว่าผมก็ไม่ทราบว่าทำไม อาจเป็นเพราแพทย์เองก็ดื่มแอลกอฮอล์อยู่เหมือนกันกระมังครับ..หิ หิ เหมือนสมัยหนึ่งที่พวกแพทย์ยังนิยมสูบบุหรี่เป็นอาจิณกันอยู่ สมัยนั้นแพทย์ไม่เคยแอะกับผู้ป่วยซักคำว่าบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็ง
3. ถามว่าแล้วที่แพทย์บอกว่าควรดื่มแอลกอฮอล์วันละสองดริ๊งค์เพื่อรักษาหัวใจนั้นยังเป็นความจริงอยู่หรือเปล่า ตอบว่า ป๊าด..ด ไม่เป็นความจริงดอกครับ แล้วหมอที่ไหนนะที่แนะนำให้คุณดื่มแอลกอฮอล์วันละสองดริ๊งค์รักษาหัวใจ ไม่มีหรอกครับ แต่เป็นความจริงที่สมัยหนึ่งหมอชอบพูดว่าหากไม่เคยดื่มแอลก็ฮอล์ก็ไม่ต้องริดื่ม แต่หากดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นอาจิณอยู่แล้วก็ให้ลดปริมาณการดื่มลงมาเหลือไม่เกินวันละ 2 ดริ๊งค์ถ้าเป็นผู้ชาย หรือไม่เกินวันละ 1 ดริ๊งค์ถ้าเป็นผู้หญิง ซึ่งฟังตามคำแนะนำนี้คุณก็คงเดาได้ว่าคณะแพทย์ที่คิดคำแนะนำนี้เป็นผู้ชายทั้งหมด ผมรู้เบื้องหลังเพราะคำแนะนำนี้ออกมาในช่วงที่ผมทำงานอยู่ข้างในสมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) อยู่พอดี
อนึ่ง ผมขอเล่าไว้ตรงนี้ซะเลยว่าสมัยหนึ่งวงการแพทย์โรคหัวใจได้ประเมินว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับพอประมาณ (moderate) กับการลดอัตราตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดลง ทั้งนี้เกิดจากการให้น้ำหนักกับงานวิจัยเล็กๆชื่องานวิจัยฟรามิงแฮม[2] มากไปหน่อย ทั้งๆที่มันเป็นการวิจัยติดตามดูกลุ่มคนชาติเดียว (อเมริกัน) ที่ยังไม่ป่วย และเป็นแค่กลุ่มคนเล็ก ๆ คือตอนตั้งต้นวิจัยมีคนแค่ 1,948 คน การจะสรุปอะไรออกมาอย่างเป็นตุเป็นตะจากงานวิจัยระดับนี้ย่อมจะมีโอกาสผิดความจริงได้ง่าย
ต่อมาได้มีงานวิจัยตามดูกลุ่มคนหลายชาติหลายภาษาหลายรายการที่ให้ผลที่หลากหลายไปคนละทิศคนละทาง งานวิจัยส่วนที่พบความสัมพันธ์ระหว่างแอลกอฮอล์ระดับพอประมาณกับการลดการตายจากโรคหัวใจเกือบทั้งหมดเป็นการดื่มในรูปของไวน์แดงซึ่งมีโมเลกุลธรรมชาติที่ดีต่อหัวใจหลายตัวเป็นปัจจัยกวน หมายความว่าสุขภาพไม่ได้ดีขึ้นจากแอลกอฮอล์ แต่อาจดีขึ้นเพราะสารธรรมชาติตัวอื่นที่ในองุ่นและที่เกิดจากการหมักองุ่น ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยอีกจำนวนมากที่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์ระดับพอประมาณกับการลดอัตราตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดลงแต่อย่างใด
แล้วก็มีงานวิจัยขนาดใหญ่งานหนึ่งชื่อ INTERHEART study[3] ซึ่งทำการศึกษาคน 52 ชาติ จำนวน 15,152 คนที่ป่วยเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันไปเรียบร้อยแล้ว โดยวิเคราะห์เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงร่วมกันของผู้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันทั้งหมด พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจเรียงจากมากไปหาน้อยตามลำดับมีเก้าอย่าง คือ (1) บุหรี่ (2) ไขมันในเลือดสูง (3) ความดันเลือดสูง (4) เบาหวาน (5) อ้วนลงพุง (6) ความเครียด (7) การกินผักผลไม้น้อยหรือไม่กินเลย (8) การดื่มแอลกอฮอล์ (9) การไม่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งานวิจัยนี้แปลไทยให้เป็นไทยได้ว่าแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในเก้าของปัจจัยเอ้ที่ทำให้เป็นโรคหัวใจระดับรุนแรง ไม่ใช่ปัจจัยที่จะช่วยไม่ให้เป็นโรคหัวใจ
ต่อมามีงานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีส [4]ที่รวบรวมข้อมูลวิจัยแบบไปข้างหน้ารวมประชากรในงานวิจัยได้ 3,998,626 คน มาจากงานวิจัย 87 งาน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตไปในระหว่างติดตามดู 367,103 คน เมื่อได้วิเคราะห์โดยแยกปัจจัยกวนต่ออัตราตายที่สำคัญทั้งเชิงบวกและเชิงลบออกไปอย่างละเอียดแล้ว พบว่าอัตราตายรวมของผู้ดื่มแอลกอฮอล์ระดับพอประมาณ ไม่ได้แตกต่างจากอัตราตายของผู้ไม่ดื่มแอลกอฮอล์แต่อย่างใด นี่นับเป็นหลักฐานที่ใหญ่มากที่บ่งชี้ว่าความเชื่อเดิมที่ว่าดื่มแอลกอฮอล์ระดับพอประมาณลดอัตราตายลงได้นั้นไม่เป็นความจริง
4. ถามว่าทำไมคนถึงดื่มแอลกอฮอล์กันมากทั้งๆที่ส่วนใหญ่รู้ว่ามันเสียมากกว่าดี ตอบว่าผมก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ ถ้าจะให้ผมเดา คงเป็นเพราะผู้คนไม่มีวิธีที่จะเอาชนะความทุกข์จากความคิดของตัวเองกระมัง พูดง่ายๆว่าเมื่อวางความคิดด้วยตัวเองไม่เป็นก็จึงต้องอาศัยแอลกอฮอล์ ถ้าไม่มีแอลกอฮอล์ก็จะไปอาศัยสารเสพย์ติดที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทอื่นๆช่วย ถ้าหาไม่ได้ก็ไปอาศัยแพทย์ให้จ่ายยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทให้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นยาเสพย์ติดอีกเหมือนกัน ทั้งหมดนี้มันล้วนช่วยได้แค่ชั่วคราวโดยต้องแลกกับผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว
ตัวหมอสันต์เองนั้นไม่สนับสนุนวิธีวางความคิดหรือลดความเครียดด้วยวิธีใช้สารเสพย์ติดทุกรูปแบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเสพย์ติดที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทกลางที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ชนิดสั่งให้กินกันยาวไปเลยในรูปของยาแก้ปวด ยานอนหลับ ยาคลายกังวล ยาต้านซึมเศร้า เป็นต้น ทั้งไม่สนับสนุนการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย เพราะอย่าลืมว่าแอลกอฮอล์ก็เป็นสารเสพย์ติดนะครับ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. World Health Global Organization. status report on alcohol and health 2018. World Health On; 201
2. [439] Friedman LA, Kimball AW. Coronary heart disease mortality and alcohol consumption in Framingham. Am J Epidemiol. 1986;124:481–489.
3. Yusuf S, Hawken S, Ounpuu S, et al. Effect of potentially modifiable risk factors associated with myocardial infarction in 52 countries (the INTERHEART study): case-control study. Lancet Lond Engl. 2004;364:937–952.
[4] Stockwell T, Zhao J, Panwar S, et al. Do “moderate” drinkers have reduced mortality risk? A systematic review and meta-analysis of alcohol consumption and all-cause mortality. J Stud Alcohol Drugs. 2016;77:185–198.