คลินิกแพทย์แผนไทย (เน้นเปลี่ยนวิถีชีวิต) เอาเงี๊ยะ มีอะไรมะ
เรียนคุณหมอสันต์
หนูจบแพทย์แผนไทย จาก ... เป็นแฟนบล็อกคุณหมอมาตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย หนูชอบหลักการเปลี่ยนวิถีชีวิตที่คุณหมอแนะผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังมาก ตอนนี้หนูเปิดคลินิกแพทย์แผนไทยของตัวเองแล้วมีลูกค้าเบิกได้จากบัตรทองมาอุดหนุนแยะ ส่วนใหญ่มาขอนวด แต่หนูไม่อยากทำแต่การนวดและแจกยาแผนไทย หนูอยากเอาหลักการปรับวิถีชีวิตและลดยาแผนปัจจุบันสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังมาใช้ในคลินิกแพทย์แผนไทยของหนูบ้างจะทำได้ไหมคะ จะเป็นการผิดพรบ.การประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยไหมคะ เพราะตอนหนูเรียนกฎหมายเขาย้ำว่าทำได้แต่การรักษาตามกรรมวิธีแพทย์แผนไทยเท่านั้น
คุณหมอช่วยไขข้อข้องใจหนูด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
...........................................
ตอบครับ
1. ถามว่าจะเอาหลักการเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อพิชิตโรคเรื้อรังมาใช้ในการทำคลินิกแพทย์แผนไทยจะได้ไหม ตอบว่าได้สิครับ ใครไปห้ามคุณไว้ละ
2. ถามว่าการเอาการเปลี่ยนวิถีชีวิตมาใช้รักษาผู้ป่วยในคลินิกแพทย์แผนไทยจะผิดพรบ.วิชาชีพแพทย์แผนไทยที่ระบุให้ทำได้แต่กรรมวิธีแพทย์แผนไทยเท่านั้นไหม ตอบว่าทำด้าย..ย ไม่ผิดพรบ.หรอกครับ
อ้าว หมอสันต์เป็นห่ามไปเสียแล้วเรอะ ตัวเองไม่ได้เป็นแพทย์แผนไทยสักหน่อยแล้วจะไปตัดสินแทนเขาได้อย่างไรว่าอะไรผิดหรือไม่ผิดกรรมวิธีแพทย์แผนไทย มันต้องให้สภาแพทย์แผนไทยเขาวินิจฉัยตัดสินไม่ใช่หรือ
ฮี่..ฮี่ แหม หมั่นไส้ เอะอะอะไรก็อ้างบาลีอย่างนี้ทำได้อย่างนั้นทำไม่ได้ทั้งๆที่การจะช่วยผู้ป่วยที่มารักษาที่คลินิกของเราให้หายจากโรคอย่างปลอดภัยนั้นเกือบทั้งหมดมันเป็น common sense แต่เอาเถอะ ถ้าแก่บาลีกันนักผมจะสอนวิธีเลี่ยงบาลีให้
จริงอยู่ถ้าคุณเถรตรง การทำอะไรนอกเหนือจากการอบ คบ นวด อยู่ไฟ ปรุงยาจ่ายยาสมุนไพรไทยเฉพาะที่ระบุไว้ในตำราแพทย์แผนไทยที่ถือปฏิบัติต่อๆกันมา ถือเป็นการทำอะไรที่นอกเหนือจากกรรมวิธีแพทย์แผนไทย แต่ผมแนะนำให้คุณเดินตามช่องของกฎหมายเดียวกันนี้แหละ โดยเล่นตรรกะเล็กน้อย ดังนี้
ตรรกะ 1. พรบ.วิชาชีพแพทย์แผนไทย (พ.ศ. 2556 ถ้าจำไม่ผิด) นิยามให้แพทย์แผนไทยหมายความรวมถึงแพทย์แผนไทยประยุกต์ด้วย
ตรรกะที่ 2. แพทย์แผนไทยประยุกต์มีหลักการใช้วิชาความรู้แพทย์แผนไทยดั้งเดิมมาผสานเข้ากับของของใหม่ในวิชาแพทย์แผนปัจจุบันในส่วนที่มีประโยชน์และใช้ผสานกันได้
ตรรกะที่ 3. หลักการผสานเก่ากับใหม่ของแพทย์แผนไทยประยุกต์ มีชื่อหลักว่า "ธรรมานามัย" แตกออกมาได้เป็นสองคำย่อยคือ ธรรมะ ซึ่งหมายถึงธรรมชาติ (nature) กับอนามัย ซึ่งหมายถึงสุขภาพดี บวกกันแล้วแปลว่า "การมีสุขภาพดีด้วยวิถีธรรมชาติ" เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า "be healthy natural ways" โดยหลักธรรมานามัยนี้หลักวิชาแพทย์แผนไทยประยุุกต์บอกว่ามันแยกย่อยออกเป็นสามส่วน คือ
กายานามัย (healthy body) สุขภาพกายดี
จิตตานามัย (healthy mind) สุขภาพจิตดี
ชีวิตตานามัย (healthy behaviors) มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี
ภายใต้ทั้งสามหลักของแพทย์แผนไทยประยุกต์นี้คุณเอาการเปลี่ยนวิถีชีวิตพิชิตโรคเรื้อรังเข้าไปสวมได้พอดี...โพล้ะ เลย ไม่ผิดกฎหมาย
คุณจะเคยเรียนหลักสูตรประยุกต์หรือไม่ประยุกต์ไม่สำคัญ สำคัญที่คุณศึกษาเพิ่มเติมให้เข้าใจถ่องแท้ว่าที่เขาประยุกต์ไปหา "ธรรมานามัย" นั้น มันหมายความว่าอย่างไรนั่นสำคัญที่สุด คุณไม่ต้องวอรี่ในแง่กฎหมาย เพราะกฎหมายนับให้ทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์มีศักดิ์และสิทธิ์ว่าจะทำอะไรได้จะทำอะไรไม่ได้เหมือนกันทุกประการ
และผมแนะนำว่าในการใช้หลักธรรมานามัยของคุณ ถ้าจะให้ครอบคลุมและปลอดภัยแก่ผู้ป่วยให้คุณทำตามหกเสาหลักของเวชศาสตร์วิถีชีวิต คือ (1) อาหารพืชเป็นหลัก (2) ออกกำลังกาย (3) จัดการความเครียด (4) ลดเลิกสารพิษจากภายนอกเช่่นบุหรี่ แอลกอฮอล์ (5) ดูแลเรื่องการนอนหลับ และ (6) มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว เพราะทั้งหกอย่างนี้มีวิทยาศาสตร์รองรับเรียบร้อยแล้วว่าดีแน่ ชัวร์ป้าด..ด
ถ้าจะให้เรี่ยมเร้ยิ่งกว่านั้นอีก ให้คุณหาโอกาสไปเข้าคอร์สโค้ชวิถีชีวิต (certified lifestyle coaching) ของสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ก็จะทำให้คุณมีความครบเครื่องในการจะช่วยผู้ป่วยให้เปลี่ยนนิสัยหรือพฤติกรรมสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น
และถ้าผมเป็นคุณ ผมจะขึ้นป้ายคลินิกตัวบะเริ่มว่า
"คลินิกแพทย์แผนไทย (เน้นเปลี่ยนวิถีชีวิต)"
ฮี่..ฮี่ เอาเงี้ยะ จะมีอะไรมะ!
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์