เผาไร่อ้อย เผาไร่ข้าวโพด สร้าง PM 2.5 เป็นวิถีชีวิตไทยที่แก้ไม่ได้แล้วใช่ไหม
ดอกไม้ป่าข้างทางเดิน |
เรียนคุณหมอสันต์
อยู่เพชรบุรีค่ะ มีการเผาไร่อ้อย เผาไร่ข้าวโพด เผาป่า คือมีควันอยู่เนืองๆค่ะ ทางเจ้าหน้าที่บ้านเมื
ที่ดิฉันเขียนมาทั้งหมด ก้ออยากจะปรึกษาคุณหมอว่าจะทำแบบนี้ ได้ไหมคะ หรือมีอะไรที่ยังเป็นอุปสรรคที่ดิฉันคิดไม่ถึง
..........................................
ตอบครับ
อ้าว หมอสันต์เดี๋ยวนี้เป็นผู้รับร้องเรียนเรื่องฝุ่น PM 2.5 ไปซะแร้ว..ว แต่ไม่เป็นไรครับ บล็อกนี้ใครถามอะไรมาผมก็พยายามตอบหมด
1. ถามว่าถ้ามุ่งแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ระดับโรงเรียน ทั้งจัดกิจกรรมการสอนหรือจัดประกวด การนำเศษใบไม้และวัชพืชต่ างๆมาย่อยและหมักเป็นปุ๋ยใช้ ในการทำการเกษตรที่ปลอดภั ยและประหยัดค่าใช้จ่าย จะมีอุปสรรคอะไรไหม ตอบว่าไม่มีอุปสรรคอะไรหรอกครับ ครูที่โรงเรียนบางแห่งเขาก็พยายามทำกันอยู่ แม้แต่ที่มวกเหล็กนี่ผมก็เห็นพวกหมอที่โรงพยาบาลบ้าง พวกครูที่โรงเรียนบ้าง ขยันพาเด็กทำกิจกรรมอย่างคุณว่า ตัวผมเองเห็นดีเห็นงามด้วยว่าปัญหาระดับโลก เช่นโลกร้อน ป่าหมด น้ำแห้ง ไฟไหม้ อากาศเสียนี้ ต้องเอาไปสอนเด็กเขาจึงจะเก็ทว่าถ้าดูแลโลกไม่ดีโตขึ้นโลกที่เขารับมรดกไปมันจะอยู่ลำบากอย่างไร ดีกว่าสอนผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่แก่แล้วเขามักไม่เก็ท เพราะเขาเชื่อประสบการณ์ส่วนตัวเก่าๆจากอดีตว่าก็เขาอาบน้ำร้อนมาก่อนอยู่มานานตั้งแต่เด็กจนแก่ โลกมันก็ร้อนๆเย็นๆของมันงี้แหละ ไม่เห็นจะต้องตื่นเต้นหรือมีปัญหาอะไรเลย
2. ถามว่าการให้ความรู้ การประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องจะลดการเผาไร่อ้อยไร่ข้าวโพดได้ไหม ตอบว่าคงลดได้น้อยมากครับ เพราะการสอนก็ดี การให้ข้อมูลก็ดี ไม่สามารถเปลี่ยนนิสัยที่คนเคยชินแล้วได้ หากไม่นับวิธีใช้กำลังหรืออำนาจบังคับ การจะเปลี่ยนนิสัยคนได้สำเร็จต้องอาศัยแรงบันดาลใจของคนผู้นั้นเองเป็นตัวขับเคลื่อน แล้วแรงบันดาลใจของแต่ละคนนี้ มันมีกลไกการเกิดที่สลับซับซ้อน เป็นมหากาพย์ เอาไว้โอกาสหน้าหากมีเวลาพอเราค่อยกลับมาคุยกันเรื่องแรงบันดาลใจที่ส่งผลให้เปลี่ยนนิสัยได้นี้สักครั้งก็ดีเหมือนกันนะครับ
3. ถามว่าการเผาไร่อ้อยไร่ข้าวโพดเป็นวิถีชีวิตไทยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้วใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่หรอกครับ เรื่องฝุ่น PM2.5 นี้มันเป็นปลายเหตุของความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาวไทยไม่นานมานี้เอง กล่าวคือก่อนหน้านี้สักห้าหกสิบปีสังคมไทยในชนบทมีวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่ง คุณคงเกิดไม่ทันผมจะเล่าให้ฟัง โครงสร้างสังคมไทยชนบทสมัยโน้นมีสองแบบ คือแบบชุมชนคนจีนในตลาดของตำบล กับแบบหมู่บ้านคนไทยที่กระจายอยู่นอกตลาด ทั้งสองรูปแบบมีวิถีชีวิตแตกต่างกันสิ้นเชิงแต่เกื้อกูลกันอยู่ในที คนจีนทำมาค้าขายโดยมีเป้าหมายชีวิตคือ "เงิน" ส่วนคนไทยนั้นใช้ชีวิตชนบทแบบปลูกอยู่ปลูกกิน หมายความว่าทำเกษตรกรรมทุกรูปแบบเพื่อเอาไว้กินเองใช้เอง มีเหลือขายบ้างก็เป็นส่วนน้อยที่ไม่ใช่ส่วนสำคัญ มีการแลกเปลี่ยนเจือจานร่วมมือกันอย่างเป็นธรรมชาติ โดยเป้าหมายของคนไทยในชนบทสมัยนั้นดูจะเป็น "ความสุข" เป็นสำคัญ สรุปว่าในชนบท คนจีนในตลาดเดินในวิถีเงิน ส่วนคนไทยตามหมู่บ้านเดินในวิถีความสุข ต่างคนต่างเดินไปตามวิถีของตนเอง เป็นเช่นนี้มานาน
ต่อมาเมื่อการเดินทางสื่อสารจากภายนอกเข้ามาสู่ชนบทง่ายขึ้น มีผู้นำสินค้าแปลกๆใหม่ๆที่น่าตื่นตาตื่นใจเข้ามาเสนอขาย ทำให้คนไทยในชนบทเกิด "ความอยาก" ประกอบกับมีพ่อค้ามาเสนอจ่ายเงินให้ปลูกสินค้าเกษตรคราวละมากๆเช่นข้าวโพดและอ้อย ทำให้คนไทยชนบทที่เคยเดินในวิถีความสุขผันตัวเองมาเดินในวิถีเงินบ้างเพราะอยากไล่ตามความอยากของตัวเอง การเกษตรของไทยจึงเปลี่ยนจากปลูกอยู่ปลูกกินแบบผสมผสานมาเป็นปลูกพืชเชิงดี่ยวขายแล้วซื้อเขากินซึ่งผมเรียกว่าเป็นวิถี "เกษตรโลภมาก" ทำให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าถางป่าทำไร่กันอย่างขนาดหนักจนเดี๋ยวนี้ไปทางไหนผืนดินก็ล้านโล่งอย่างที่เห็น แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่การย้ายมาเดินในวิถีเงินของคนไทยชนบททั้งประเทศนั้นแทบไม่มีใครประสบความสำเร็จเลย คือจะทำธุรกิจก็ไม่เก่งอย่างคนจีน จะทำเกษตรเชิงเดียวก็มีแต่เจ๊งแล้วเจ๊งอีก ส่วนหนึ่งจึงจบลงด้วยความทุกข์ หมดตัว เป็นหนี้ สูญเสียที่ดิน อีกทั้งวิถีเกษตรโลภมากก็ทำให้ทรัพยกรธรรมชาติทรุดโทรม ระดับน้ำใต้ดินลดลงต่ำ แม่น้ำแห้งขอด ผืนดินขาดอินทรียวัตถุและแห้งผากในหน้าแล้ง ไฟไหม้ง่าย อากาศเป็นพิษ สังคมชนบทเปลี่ยนไปเป็นสังคมที่คนไม่มีความสุขและป่วยทางจิตเพราะมนุษย์ได้กลายพันธ์ไปเสียแล้ว กล่าวคือได้สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุขด้วยวิถีชีวิตเรียบๆง่ายๆไป ขณะเดียวกันก็ไม่อาจพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถทำธุรกิจให้ได้เงิน ขณะที่ใจนั้นก็ถูกแผดเผาด้วยความอยากได้เงิน..เงิน..เงิน การกลายพันธ์นี้บางส่วนเป็นเอามากถึงขั้นโกงได้ก็โกง ขโมยได้ก็ขโมย กฎกติกาค่านิยมและธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยใช้อยู่ร่วมกันสมัยที่ยังเดินอยู่ในวิถีความสุขด้วยกันถูกเลิกไปโดยปริยาย ซ้ำร้ายต่อมามีการเมืองระบบเลือกตั้งเกิดขึ้น ผู้คนในชนบทบางส่วนที่มีจิตใจโลภและคดโกงนี้ได้สนับสนุนให้เกิดนักการเมืองที่มีจิตใจโลภและคดโกงขึ้นมา นักการเมืองที่มีจิตใจโลภและคดโกงนี้ก็ไปสนับสนุนให้เกิดรัฐบาลที่มีจิตใจโลภและคดโกงขึ้นอีกต่อหนึ่ง เอวัง ชาติของเราจึงเดินทางมาถึงจุดนี้ด้วยประการฉะนี้
คุณจะเห็นจากความเป็นมาที่ผมเล่าให้ฟังนี้ว่าขี้ฝุ่น PM 2.5 จากการเผาไร่อ้อยก็ดีไร่ข้าวโพดก็ดีนั้น มันเป็นปลายเหตุตามหลังวิถีเกษตรโลภมากและเป็นเรื่องเล็กเมื่อเทียบกับความสูญเสียวิถีชีวิตที่ดีของสังคมไทยไปในช่วงห้าหกสิบปีที่ผ่านมา การจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทยในชนบทให้กลับไปเดินในวิถีความสุขและเป็นมิตรกับธรรมชาติแบบดั้งเดิมอีกครั้งจะทำได้ไหม และหากทำได้ต้องเริ่มต้นทำอย่างไร โห.. นี่เป็นสุดยอดของคำถามที่หมอสันต์เองไม่มีปัญญาตอบ มองออกไปก็ยังไม่เห็นวิธีไหนจะดีกว่าวิธีที่ในหลวงร.9 สอนไว้ คือการกลับไปมีชีวิตแบบพออยู่พอกินซึ่งตอนนี้ในภาพใหญ่มันยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ผมเดาว่าในอนาคตเมื่อหุ่นยนต์มาไล่ที่การจ้างงานไปหมดถึงตอนนั้นคนส่วนใหญ่ก็จะถูกบีบให้ต้องกลับไปมีชีวิตบนผืนดินผืนเล็กๆแบบพออยู่พอกินโดยอัตโนมัติ จุดนั้นอาจทำให้เกิดการค้นพบสมบัติเก่าคือวิถีความสุข อาจเป็นการสิ้นสุดของยุคเกษตรโลภมากและฝุ่น PM 2.5 ก็ได้
เรื่องขี้ฝุ่น PM2.5 นี้ ส่วนที่หมอสันต์รู้ชัดๆมีอย่างเดียว คือการจะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติที่ทรุดโทรมมาถึงระดับนี้กลับไปดีอย่างเดิมได้นั้นต้องใช้เวลากู้กลับประมาณ 150 -200 ปี แต่ผมเป็นคนมองโลกแง่ดีจึงไม่ได้สิ้นหวังท้อแท้อะไร ไม่งั้นผมคงไม่ขยันปลูกป่าเหย็งๆอยู่อย่างทุกวันนี้ดอก การที่คุณมีความคิดจะไปเริ่มต้นกิจกรรมที่เด็กๆก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความไม่ท้อแท้สิ้นหวัง เอาเลยครับลงมือทำเลย เราต้องลงมือทำเองมันถึงจะเวอร์ค ส่วนคนอื่นเขาจะท้อแท้สิ้นหวังได้แต่นั่งรอย้ายไปอยู่ดาวอังคารกับอีตาอีลอน มัสก์นั้นก็ช่างเขาเถอะ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์