ขอให้หมอสันต์อธิบายการรักษาหลอดเลือดแบบ ECP
ทำที่กินน้ำให้กระรอกในป่าปลูก แลกกับการไม่กัดท่อน้ำ |
เรียนคุณหมอ
ผม ... อายุ 34 ปี ป่วยหลอดเลือดหัวใจมาได้ 10 เดือน ทำบอลลูนไปแล้ว กินยาหัวใจ ความดัน ไขมัน และควบคุมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาหาร ตามที่หมอแนะนำอยู่ครับ ผมได้รับคำแนะนำให้ทำการรั กษาแบบ ECP เลยไม่แน่ใจว่าจะทำดีไหม อายุแค่นี้ได้มากกว่าเสียหรื อไม่ มีงานวิจัยขั้นสูงรองรับหรือไม่ ขอบคุณครับ
เคารพยิ่ง
..........................................
ตอบครับ
ก่อนตอบคำถามขออธิบายคำว่า EPC ให้แฟนบล็อกรู้จักอย่างลึกซึ้งก่อนนะ มันย่อมาจาก external counterpulsation หรือบางที่ก็นิยมใช้คำว่า EECP ซึ่งย่อมาจากคำว่า enhanced external counter-pulsation แปลว่า..เครื่องช่วยการทำงานของหัวใจโดยวิธีบีบกล้ามเนื้อขาเป็นจังหวะๆตามการเต้นของหัวใจโดยเลือกบีบเฉพาะจังหวะที่หัวใจคลายตัว เพื่อหวังผลให้กล้ามเนื้อไปบีบหลอดเลือดอีกต่อหนึ่งเพื่อหวังผลให้ความดันในวงจรไหลเวียนเลือดสูงขึ้นพอดีในจังหวะห้วใจคลายตัว ด้วยหวังว่านี่จะเป็นการช่วยให้เลือดไหลเข้าสู่หลอดเลือดหัวใจได้มากขึ้น เพราะหลอดเลือดหัวใจไม่เหมือนหลอดเลือดในอวัยวะอื่นตรงที่มันรับเลือดได้ดีในจังหวะห้วใจคลายตัว (systole) ขณะที่อวัยวะอื่นเขาได้รับเลือดในจังหวะหัวใจบีบตัว (diastole)
กำเนิดของเครื่อง ECP มันสืบเนื่องมาจากความสำเร็จของการช่วยผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันระดับหนักอาการร่อแร่ให้รอดด้วยการใส่สายสวนติดบอลลูนขนาดใหญ่เข้าไปจอดไว้ที่หลอดเลือดแดงใหญ่ในท้อง (abdominal aorta) แล้วเป่าบอลลูนเป็นจังหวะๆให้บอลลูนโป่งออกในจังหวะหัวใจคลายตัว เรียกการรักษาแบบนี้ว่า IABP ย่อมาจาก intra aortic balloon counter pulsation การทำอย่างนี้ได้ผลสองเด้ง เด้งหนึ่งคือไล่เลือดเข้าหลอดเลือดหัวใจในจังหวะหัวใจคลายตัวได้มากขึ้น อีกเด้งหนึ่งคือช่วยลดความดันเลือดในขณะหัวใจบีบตัวทำให้หัวใจทำงานสบายขึ้น แต่ว่าการรักษาด้วยวิธีนี้เป็นการรักษาระดับรุกล้ำถึงขั้นเลือดตกยางออก ต้องอยู่ในซีซียู.หรือไอซียู.เท่านั้น จึงสงวนไว้ใช้กับผู้ป่วยร่อแร่ใกล้ตาย
ต่อมามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ร่อแร่มากเสียจนหมอเองไม่กล้าใส่ IABP เพราะกลัวผู้ป่วยตายคามือขณะใส่ยังไม่ทันเสร็จ จึงได้มีผู้คิดวิธีคล้ายกันแต่แบบไม่รุกล้ำคืออาศัยบีบกล้ามเนื้อขาแทนโดยไม่ต้องใส่สายบอลลูนเข้าไปในร่างกาย ซึ่งก็คือวิธี ECP นี่แหละ มันเป็นวิธีที่คิดขึ้นมาเพื่อรักษาผู้ป่วยที่ร่อแร่สุดๆที่ใส่ IABP ไม่ได้ มาสมัยนี้การใส่ IABP ทำได้ง่ายขึ้น จึงเหลือผู้ป่วยร่อแร่ให้ใช้ ECP น้อย แต่ไหนๆเครื่องผลิตมาแล้วด้วยราคาแพงก็ต้องหาที่ขายให้ได้ ทุกวันนี้จึงมีแพทย์จำนวนหนึ่งเอาเครื่องนี้มาใช้รักษาผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลสองกลุ่ม คือ (1) ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว (CHF) และ (2) ผู้ป่วยเจ็บหน้าอกแบบไม่ด่วน (stable angina) ที่หมอให้ออกจากโรงพยาบาลแล้วแต่ยังมีอาการมากอยู่
การวิจัยประเมินผลการใช้ ECP กับผู้ป่วยสองกลุ่มนี้ให้ผลเปะปะไปคนละทิศคนละทาง บ้างว่าดี บ้างว่าไม่ดี สุดแล้วงานวิจัยไหนใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด แต่มีอยู่งานวิจัยหนึ่งเป็นงานวิเคราะห์แบบเมตาอานาไลซีสที่เลือกเอาวิจัยระดับแบ่งกลุ่มสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ (RCT) ที่ทำได้ดีมาวิเคราะห์ (ผมแปะเอกสารอ้างอิงไว้ท้ายนี้เผื่อใครจะศึกษาเพิ่มเติม) ให้ผลสรุปในภาพใหญ่ว่าการใช้ ECP รักษาผู้ป่วยสองกลุ่มข้างต้นไม่ได้มีประโยชน์ชัดเจนแต่อย่างใด ทั้งในเชิงคุณภาพชีวิต ความยืนยาวของชีวิต และเชิงเศรษฐกิจ
เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ
1. ถามว่าตัวคุณจะทำ ECP ดีไหม ตอบว่าไม่ดีครับ เพราะคุณไม่ได้เป็นโรคหัวใจล้มเหลว และไม่ได้เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแบบไม่ด่วนระดับมีอาการรุนแรง เรียกว่าคุณไม่มีข้อบ่งชี้ที่จะใช้ ECP เลย
ถึงท่านผู้อ่านท่านอื่นที่เป็นหัวใจล้มเหลวหรือเจ็บหน้าอกแบบไม่ด่วนที่มีอาการมาก ผมก็ไม่แนะนำให้ใช้ ECP อยู่ดี เพราะผลวิจัยที่บ่งชี้ว่ามีประโยชน์ชัดเจนยังไม่มี ผมแนะนำให้รักษาตัวเองด้วยการขยันออกกำลังกายฟื้นฟูหัวใจด้วยตัวเองแทน เพราะการฟื้นฟูหัวใจที่เสียหายไปมากแล้วนั้นวิธีที่ดีที่สุดต้องเป็นวิธีแบบ active คือสร้างเงื่อนไขให้ร่างกายต้องค่อยๆใช้ออกซิเจนมากขึ้นเพื่อให้หัวใจค่อยๆปรับตัวตาม วิธีช่วยหัวใจแบบ passive ด้วยเครื่องไม่ว่าจะเป็น IABP หรือ ECP มันมีประโยชน์เฉพาะในช่วงที่หัวใจยังร่อแร่ซึ่งเป็นระยะที่นอนแบ็บอยู่ในโรงพยาบาลเท่านั้น
2. ถามว่าการรักษาด้วย ECP มีอันตรายอะไรหรือไม่ ตอบตามงานวิจัยที่ตามดูการใช้ ECP ทั้งหมดที่ได้ตีพิมพ์มาก่อนหน้านี้แล้วพบว่า ECP เป็นวิธีรักษาที่ปลอดภัยไม่มีอันตรายหรือความเสียหายอะไรตามหลังครับ ยกเว้นที่เสียแน่ๆคือเสียเงินประมาณ 3000 บาทต่อครั้ง เพราะการรักษาด้วย ECP นอกโรงพยาบาลเบิกไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นสามสิบบาท ประกันสังคม หรือราชการ เนื่องจากยังถูกนับเป็นการรักษาที่ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับว่ามีประโยชน์ชัดเจน
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
1. McKenna C, McDaid C, Suekarran S, Hawkins N, Claxton K, Light K, Chester M, Cleland J, Woolacott N, Sculpher M. Enhanced external counterpulsation for the treatment of stable angina and heart failure: a systematic review and economic analysis. Health Technol Assess. 2009 Apr;13(24):iii-iv, ix-xi, 1-90. doi: 10.3310/hta13240. PMID: 19409154.