เจ็บจิ๊ดๆที่หน้าอกข้างซ้าย สวนหัวใจดีไหม?

(ภาพวันนี้: หงอนไก่ โผล่ขึ้นมาเอง)

เรียน คุณหมอสันต์

          ผมอายุ 60 ปี สูง 181ซม. นน. 63 กก. เมื่อเดือนกค. 65 มีอาการเจ็บหน้าอกซ้ายจี๊ดๆ อยู่ 2 สัปดาห์ อาการคงที่ไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง แม้เดินขึ้นลงสะพานลอย ไปพบ

อายุรแพทย์หัวใจ รพ.รัฐแห่งหนึ่ง  พอซักประวัติ แพทย์สั่งการดังนี้ 

     1) จ่ายยาต้านเกล็ดเลือด 2 ตัว ยาลดไขมัน ยาลดความดัน

     2) สั่งเจาะเลือดและเอคโค่หัวใจ ในอีก 1 สัปดาห์

     3) ผลเลือดและผลเอคโค่หัวใจ ดังไฟล์แนบครับ

     4) เมื่อพบแพทย์พร้อมผลเลือดและผลเอคโค่หัวใจ แพทย์แจ้งว่าผลเลือดปกติ ให้หยุดกินยาต้านเกล็ดเลือด ผลเอคโค่ดี เพียงแต่หัวใจหนึ่งห้องมีผนังหนา 

      5) แพทย์สั่งให้เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ +ฉีดสีเพื่อดูว่ามีเส้นเลือดหัวใจตีบ ในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า

       ผมตัดสินใจว่าจะไม่ทำตามข้อ 5 ครับ และไม่เคยกินยาลดไขมันที่แพทย์สั่งเลย  จึงขอคำแนะนำจากคุณหมอสันต์ครับ ว่าสิ่งที่ผมตัดสินใจ มีความเหมาะสมเพียงใด พร้อมคำแนะนำเพิ่มเติมจากคุณหมอสันต์ครับ

        ขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ 

…………………………………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าเจ็บหน้าอกจี๊ด จี๊ด ที่หน้าอกข้างซ้าย เป็นโดยไม่เกี่ยวกับการออกกำลังกาย เป็นอาการของอะไร ตอบว่ามันเป็นอาการไม่จำเพาะเจาะจง (non specific symptom) ไม่เกี่ยวกับความผิดปกติของอวัยวะใดๆทั้งสิ้นครับ คำแนะนำก็คือรับรู้มัน ยอมรับมัน มันมา แล้วมันก็จะไป ถ้ามันจะไปๆมาๆ ก็ชั่งหัวมัน

2.. ถามว่าเอ็คโคพบกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวต้องฉีดสีตรวจหัวใจถูกต้องไหม ตอบว่าก่อนจะกระโดดไปสรุปว่ากล้ามเนื้อหนาตัวผิดปกติ เวลาตรวจเอ็คโคให้คุณหัดอ่านผลเอ็คโคเองให้เป็นก่อน วิธีอ่านให้คุณสนใจแค่สามประเด็น คือ (1) การทำงานของลิ้นทั้งสี่ (2) การบีบตัวของกล้ามเนื้อ (3) ความหนาตัวของกล้ามเนื้อห้องล่าง โดยอ่านทั้งการวัดและคำบรรยายสรุป

ในกรณีของคุณนี้ลิ้นหัวใจทำงานปกติหมด การบีบตัวของกล้ามเนื้อซึ่งรายงานมาเป็นค่า EF (ejection fraction) คนปกติควรได้ 50-75% ของคุณได้ 69 ซึ่งก็ถือว่าดีมาก ส่วนกล้ามเนื้อที่ว่าหนาตัวนั้นผมอ่านจากทั้งคำบรรยายสรุปและคำบรรยายละเอียดและผลการวัดเป็นมิลลิเมตรและดูภาพตัวอย่างที่ให้มาประกอบแล้วก็ไม่เห็นจะมีตรงไหนที่บอกว่ากล้ามเนื้อหนาตัวผิดปกติเลยนะครับ สรุปว่าคุณไม่มีกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ หัวใจของคุณปกติดี

ในกรณีที่พบว่ามีกล้ามเนื้อหนาตัวผิดปกติ หมายถึงในคนอื่นนะ ไม่ใช่ในกรณีของคุณ..ย้ำ แพทย์จะต้องวินิจฉัยโดยการซักประวัติและหาหลักฐานเพิ่มเติมว่ามันหนาตัวจากอะไร ซึ่งเหตุที่พบบ่อยก็ได้แก่ (1) เป็นนักกีฬาหรือทำงานหนักอยู่นานๆ (2) ความดันเลือดสูงอยู่นานๆ (3) โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการแต่กำเนิด (4) โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบแคบอยู่นานๆ การพิสูจน์ว่าเป็นอะไรในทั้งสี่สาเหตุนี้ไม่ได้พิสูจน์ด้วยการตรวจสวนหัวใจนะครับอย่าเข้าใจผิด ความดันสูงพิสูจน์ด้วยการวัดความดัน ลิ้นหัวใจตีบพิสูจน์ด้วยการตรวจเอ็คโค่นี่แหละ กล้ามเนื้อหัวใจพิการก็พิสูจน์ด้วยการตรวจเอ็คโค่แหละ การตรวจสวนหัวใจทำเมื่อต้องการวินิจฉัยแยกว่ามีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบร่วมด้วยหรือไม่เท่านั้น

3.. ถามว่าเจ็บจี๊ดที่หัวใจต้องตรวจหัวใจฉีดสีไหม ตอบว่า..บ้า ไม่มีใครเขาทำอย่างนั้นดอก มันผิดหลักวิชา การตรวจสวนหัวใจฉีดสีเราจะทำเมื่อมองข้ามช็อตไปว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ (อาการป่วย) ด้วยการรักษาแบบรุกล้ำคือทำบอลลูนใส่ลวดถ่างหรือผ่าตัดบายพาส หากไม่มีแผนจะแก้ปัญหาด้วยวิธีรุกล้ำ ก็ไม่ควรตรวจสวนหัวใจ เพราะมันเป็นการตรวจที่มีอัตราตาย (0.1-0.2%)

ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยมีอาการไม่จำเพาะเจาะเช่นเจ็บหน้าอกแบบจี๊ด จี๊ด นี้ การรักษาตามหลักวิชาคือ

3.1 บอกว่ามันเป็นอาการไม่จำเพาะเจาะจง ไม่ต้องกังวล ให้รับรู้ และยอมรับ แค่นั้น

3.2 สังเกตว่าคนไข้กังวลเรื่องอะไรแล้วช่วยดับความกังวลนั้น เช่นถ้าคนไข้กังวลว่าจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดก็ไล่ดูปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือดให้เห็น อันได้แก่ บุหรี่ ไขมัน ความดัน เบาหวาน การไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น แล้วแนะนำให้จัดการปัจจัยเสี่ยงด้วยตนเอง เน้นที่การออกกำลังกาย เพราะได้ประโยชน์สองเด้ง เด้งหนึ่ง คือเป็นการเฝ้าระวังและช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดระยะแรกไปด้วย เหมือนการวิ่งสายพานในโรงพยาบาลทุกวัน เด้งสอง คือช่วยรักษาโรคประสาท ซึ่งวงการแพทย์ทุกวันนี้ยังเชื่อ (แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยัน) ว่าความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการเจ็บหน้าอกแบบจี๊ด จี๊ด

3.3 การตรวจหัวใจชุดใหญ่ (รวมทั้งการตรวจสวนหัวใจ) ไม่ใช่วิธีจัดการอาการเจ็บหัวใจแบบจี๊ด จี๊ด อย่างถูกหลักวิชา มันเป็นวิธีรักษาโรคประสาทแบบขี่ช้างจับตัีกแตน และมักจบลงแบบเสียมากกว่าได้ คือเสียเงิน เสียสุขภาพจิต ต้องกินยาหรือรับการรักษาแบบรุกล้ำโดยไม่จำเป็น เพาะการตรวจสวนหัวใจ เป็นปากทางของปรากฎการณ์น้ำตก (cascade phenomenon) แบบว่า

“เอ มันมีรอยตีบที่หลอดเลือดนะ แม้จะไม่ก่ออาการแต่หมอเห็นว่าน่าจะใช้บอลลูนขยายและใส่ขดลวดถ่างไว้” แล้วก็

“การมีขดลวดถ่าง (stent) อยู่ในตัวมันจำเป็นที่คุณจะต้องกินยาต้านเกล็ดเลือด ยาลดการหลั่งกรด ยาคุมความดัน ยาลดไขมัน ไปตลอดชีวิตนะ” หรือไม่ก็ กรณีดวงซวย

“หมอขอแจ้งว่าการใส่ขดลวดมีปัญหาหลอดเลือดทะลุ จำเป็นต้องทำผ่าตัดบายพาสฉุกเฉิน” ซึ่งอาจจบด้วย

“หมอเสียใจด้วยนะ การผ่าตัดเสร็จแล้ว แต่หัวใจคนไข้ไม่กลับมาเต้นเลย”

หิ..หิ ขอโทษ ฉายภาพเว่อร์ไปหน่อย จุดประสงค์ก็เพื่อให้คุณเข้าใจคอนเซ็พท์ cascade phenomenon ในทางการแพทย์ ว่าถ้าไม่จำเป็นอย่าเข้าไปไกล้ปากทางของมันเชียว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี