ฝึกวางความคิด อ่านทุกบทความ พิมพ์เก็บไว้อ่านซ้ำๆ เข้าใจจนไม่มีอะไรสงสัย แต่...
(ภาพวันนี้: รวงผึ้ง)
คุณหมอสันต์คะ
หนูเข้าใจหมดว่าให้ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสงบ ต้องแก้ปัญหาทีละเปลาะๆ โดยที่ focus อยู่กับ Process อย่าไป focus ที่ผล อย่าไปคิดถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น อะไรทำได้ก็ทำ อะไรนอกเหนือการควบคุมก็ปล่อย ตามที่คุณหมอสอน….แต่สิ่งที่เข้าใจมันไม่เป็นเนื้อเดียวกับจิตใจ มันแยกกันอยู่ คือเข้าใจส่วนเข้าใจโดยการพิจารณาถึงเหตุและผลตามความเป็นจริง…เห็นด้วยทั้งหมดที่คุณหมอแนะนำ…แต่ก็ทำตามที่เข้าใจไม่ได้…เวลาเกิดเหตุการณ์อะไร จิตมันก็ยังคงคิด กังวล ไปตามที่มันเคยเป็นตามธรรมชาติตามที่เคยเป็นมา..ซึ่งทำให้เกิดความกังวล ทุกข์ ร้อนรน…
บทความคุณหมอที่เขียนเกี่ยวกับการฝึกวางความคิด อ่านทุกบทความ พิมพ์เก็บไว้อ่านซ้ำๆ เข้าใจและเห็นด้วยทั้งหมดโดยไม่มีอะไรสงสัย…พยายามฝึกตามขั้นตอนและใช้เครื่องมือที่คุณหมอแนะนำ ก็เป็นได้แค่ตอนฝึก…พอมีเหตุการณ์เฉพาะหน้าเกิดขึ้นก็กลับมาเป็นตัวเองก็เป็นเหมือนเดิม….คุณหมอจะรักษาคนไข้แบบนี้อย่างไรดีคะ..คุณหมอมียาแรงๆแนะนำ หรือว่าจะต้องผ่าตัดอย่างไรดี….
ให้ข้อมูลคนไข้เพิ่มเติมค่ะ…ธรรมชาติหนูเป็นคนคิดมาก คิดเยอะ ยึดหลักการณ์และเหตุผล เป็นมนุษย์กลุ่มโทสะจริตเด่นและชัด มั่นใจในตัวเองสูง Ego สูง… ส่วนปัญหาอื่นๆที่จะทำให้ทุกข์เท่าที่นึกออกไม่น่าจะม่ว่าจะความสัมพันธ์กับเพื่อน ฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ ไม่มีปัญหาเรื่องการนอน ความเครียดก็ไม่มี (หรืออาจจะมีแต่ไม่รู้ตัว 555) มีแต่ธรรมชาติของตัวเองเท่านั้นที่ทำให้ทุกข์..มันทำให้หนูทุกข์ เร่าร้อน ร้อนรน ไม่สงบเย็น……หนูอยากหลุดไปจากความคิดและธรรมชาติของตัวเองที่เป็นอยู่ อยากอยู่เหนือความคิด อิสระจากความคิด มีความสงบเย็น ปลอดโปร่ง โล่ง ไม่อับทึบอึดอัด
ขอบคุณคุณหมอมากค่ะ
……………………………………………………………………………
ตอบครับ
คุณบอกว่า
“ต้องการอยู่เหนือความคิด มีความสงบเย็น”
อืม..ม นี่เป็นวัตถุประสงค์การใช้ชีวิตที่ชัดเจนเจ๋งเป้ง practical ดีมาก ถ้าเป็นสมัยที่องค์กรเขาชอบประกวดพันธกิจวิสัยทัศน์กัน ผมให้ของคุณได้ที่หนึ่ง
และคุณบอกว่า
“เข้าใจหลักปฏิบัติดีแล้ว ไม่มีอะไรสงสัย ”
อืม..ม พูดแบบวัดๆก็คือสายปริยัติเนี่ย คุณเจนจบหมดแล้วปริญญาตรีโทเอก ไม่มีปริญญาจะให้ต่อไปอีกแล้ว
และคุณบอกว่า
“ฝึกใช้เครื่องมือวางความคิดแล้วทุกชิ้น ซึ่งก็ใช้ได้ผลดีเฉพาะตอนฝึก พอเข้าสู่สนามชีวิตจริงก็เหมือนเดิม”
อืม..ม หากใช้ตรรกะแบบกำปั้นทุบดิน เพียงแค่ย้ายการฝึกใช้เครื่องมือวางความคิดจากการทำในสนามฝึก มาทำในสนามชีวิตจริงเสีย ก็จะแก้ปัญหาได้แล้ว จึงเหลือเพียงแต่ว่าจะย้ายจากสนามฝึกมาสู่สนามจริงอย่างไรเท่านั้น
ในการฝึกสติหรือฝึกวางความคิด การย้ายจากสนามฝึกลงสนามจริง มันไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนแบบเล่นฟุตบอล เพราะเวลาที่เราต้องการความรู้ตัวในสนามชีวิตจริง ณ เวลานั้นเราไม่รู้ตัว แล้วเราจะไปรู้ตัวได้อย่างไร ถูกแมะ หิ หิ ขอโทษ พูดให้งง
เพื่อแก้ปัญหานี้ จึงมีผู้คิดการย้ายสนามแบบ “สุ่ม” เวลาย้ายขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่นวัดพุทธมหายานวัดหนึ่งในฝรั่งเศสจะมีระฆังใบเบ้งอยู่กลางวัด ทุกหนึ่งชั่วโมงเด็กวัดจะย่ำระฆังให้ดังกังวานไปทั่ววัด เมื่อได้ยินเสียงระฆัง ทุกคนไม่เว้นตั้งแต่เด็กวัดพระเถรเณรชีจนถึงสมภารจะต้อง “หยุด” เรื่องที่ตัวเองทำอยู่ เพื่อตั้งสติพักหนึ่ง ก่อนที่จะเดินหน้ากับกิจธุระตรงหน้าใหม่ต่อไป นี่เป็นการ “สุ่ม” เอาสติเสียบเข้ามาในสนามชีวิตจริง เผื่อฟลุ้คมันเสียบเข้ามาในเวลาที่เป็นที่ต้องการพอดี
พวกทำคอมพิวเตอร์ก็มีไม่น้อยที่พากันทำแอ๊พเลียนแบบวิธีของวัดนี้ เช่นบางแอ๊พก็เรียกชื่อตัวเองตรงๆว่า Mindfulness Bell หรือระฆังแห่งสติ จะตั้งให้มันย่ำหง่างเหง่งถี่ห่างแค่ไหนก็ตั้งเอา เมื่อมันย่ำแล้วผู้ใช้แอ๊พก็ต้องหยุดตั้งสติ ถ้าไม่ยอมหยุด หรือเอามือไปปิดสวิสต์แอ๊พเสียก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นกรรมเก่า ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น
สมัยหกเจ็ดปีมาแล้ว ก่อนที่ผมจะเปิดแค้มป์ให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังเข้ามาฝึกสติรักษาโรค (ซึ่งต่อมากลายเป็น SR) ผมได้ตระเวณฝึกตระเวณศึกษาเรื่องนี้ไปหลายสำนัก รวมทั้งได้เคยไปเข้าโรงเรียนฝึกสติของฝรั่ง ซึ่งสอนเทคนิคสองเทคนิค คือเทคนิค STOP กับเทคนิค RAIN ผมจะเล่าวิธีฝึกให้ฟัง คุณซึ่งได้ลองวิธีของไทยก็แล้ว ของแขกก็แล้ว ก็ยังไม่เก็ท ลองวิธีของฝรั่งดูบ้าง เผื่อมันจะถูกจริตคุณ
เทคนิค STOP
ก็คือเทคนิคย่ำระฆังของวัดมหาญานที่ฝรั่งเศสนั่นแหละ คือให้หาจังหวะ จะโดยอาศัยแอ๊พมือถือส่งเสียง หรืออาศัยโอกาสที่เปลี่ยนอริยาบทหรือเปลี่ยนงานเปลี่ยนกิจกรรม ให้ใช้จังหวะนั้นสั่งตัวเองให้หยุด STOP โดยขณะที่หยุดให้ปฏิบัติไปตามโผดังนี้
S – Stop, หยุดกิจกรรมทุกอย่างเดี๋ยวนั้น ถ้าเดินอยู่ให้หยุด ถ้ายืนอยู่อย่านั่ง ถ้าพูดอยู่ให้หุบปาก
T – Take deep breath, ตั้งใจหายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้สักพัก ผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ผ่อนคลายร่างกาย
O – Observe, สังเกตสิ่งเร้ารอบตัว ทั้งภาพ เสียง สัมผัส และความคิดที่โผล่ขึ้นมาในหัว สังเกตเฉยๆ แบบไม่เข้าไปยุ่งด้วย
P – Proceed, เดินหน้ากับกิจกรรมที่ทำค้างไว้ต่อไป
วันหนึ่งอาจจะสั่งสต๊อปตัวเองหลายครั้งหรือหลายสิบครั้งหรือทุกครั้งที่เปลี่ยนกิจกรรม แล้วแต่ชอบ ฝึกทำเสียจนเหมือนกับว่าสั่งสต๊อปตัวเองได้ตลอดเวลา
เทคนิค RAIN
อันนี้เป็นเทคนิคปลีกย่อยเมื่อสังเกตความคิด หมายความว่าขณะที่เราสต๊อป สังเกตภาพ เสียง สัมผัส และความคิด เมื่อใดก็ตามที่สังเกตความคิด ให้ใช้ลำดับปฏิบัติการดังนี้
R – Recognize, ตั้งใจรับรู้ว่ามีความคิดโผล่ขึ้นมา หรือเพิ่งโผล่ลับหลังไปแหม็บๆในหัว
A – Allow, ปล่อยให้มันเกิดขึ้น อย่าไประงับ อย่าไปขับไล่
I – Investigate, สืบกำพืดมันนิดหนึ่ง นิดเดียว ขณะที่ชำเลืองดูความคิด ว่ามันหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ ใครเป็นคนชงมันขึ้นมา (ผู้ชงขาประจำก็คืออีโก้เนี่ยแหละ) จะให้ตีทะเบียนมันไว้เสียหน่อย ว่า อ้อ.. เอ็งนี่เอง
N – Non self, ในการสืบกำพืดความคิด อย่าแต่งตั้งให้ตัวตนหรืออีโก้ทำหน้าที่สารวัตรสอบสวน เพราะจะสอบกันเละ ให้รับรู้กำพืดของความคิดตามที่มันเป็นจริงๆ
เทคนิค RAIN นี้มันเป็นเทคนิคขั้นสูงที่ต้องมีสติแข็งแรงระดับหนึ่งก่อนนะ ถ้าสติยังไม่แข็งแรงใช้แต่เทคนิค STOP อย่างเดียวก็เหลือแหล่แล้ว
ความคิดของคนเรานี้มันเกิดขึ้นและดำเนินไปตามสองกลไก คือ (1) กลไกสนองตอบอัตโนมัติ และ (2) กลไกการย้ำคิด สองกลไกนี้มันรับลูกกันเล่นอย่างเข้าขาแบบผีกับโลง
“สนองตอบอัตโนมัติ” หมายความว่าเรื่องอย่างนี้ สิ่งเร้าอย่างนี้ อดีตเราเคยสนองตอบต่อมันอย่างไร เราก็จะสนองตอบอย่างนั้นอีก คิดอย่างนั้นอีก โดยไม่ต้องรอให้รู้ตัว มันอัตโนมัติของมันไปเรียบร้อย อดีตที่ว่านี้อาจจะไม่กี่เดือน ไม่กี่ปีมานี้ หรืออาจจะฝังแฝงมาในยีนของเราตั้งแต่ออกจากท้องพ่อท้องแม่มาเลยก็ได้ ภาษาบ้านๆเรียกว่า “กรรมเก่า”
“ย้ำคิด” หมายความว่าคิดแล้ว แล้วก็วนกลับมาคิดอีก ซ้ำซากไม่รู้จบ
กลไกอัตโนมัติทั้งสองกลไกดำเนินไปนอกอิทธิพลของเชาวน์ปัญญาความคิดอ่านและตรรกะ ดังนั้นการเจนจบปริยัติไม่มีผล ต้องฝึกสองเทคนิคข้างต้น จึงจะมีผล
คุณเอาไปลองทำดูนะ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์