งานวิจัยใหม่ของแพทย์ไทยบ่งชี้ว่าอัตราเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีน mRNA ในวัยรุ่นสูงกว่าที่เคยคิดราว 300 เท่า
(ภาพวันนี้: โรสแมรี่ เครื่องเทศฝรั่ง)
เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ
ไม่รู้จดหมายนี้จะทำให้คุณหมอรำคาญหรือเปล่า คือหนูกับสามียังสรุปกันไม่ได้เรื่องที่จะต้องให้ลูกสาวอายุ 17 ปีฉีดวัคซีน mRNA เข็มสอง จนเครียดทุกวัน หนูอยากพาลูกไปฉีดวัคซีน เรามีลูกสาวคนเดียว ครั้งสุดท้ายคุณหมอตอบเรื่องการฉีดวัคซีนเด็ก คราวนี้หนูรบกวนคุณหมอตอบวัคซีนวัยรุ่นหน่อยเถอะนะคะ
…………………………………………………………………
ตอบครับ
ปกติผมโยนจดหมายถามเรื่องวัคซีนทิ้งหมดเพราะผมไม่มีข้อมูลอะไรจะมาตอบ แถมตอบไปทีก็เป็นการเรียกแขกพากันมารุมอัดกันที แขกที่ทักท้วงก็ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล ล้วนเป็นกากี่นั้งในวงการแพทย์ด้วยกันนี่แหละจนภรรยาผมบ่นว่าให้ผมเลิกเขียนเรื่องวัคซีนเสียได้ไหม เพราะเรื่องวัคซีนนี้อย่าว่าแต่จะทำให้ผัวเมียตีกันได้เลย ยังทำให้แพทย์ตีกันได้ด้วย
แต่ผมหยิบจดหมายของคุณขึ้นมาตอบ เพราะตอนนี้มีหลักฐานใหม่เกิดขึ้น กล่าวคือแพทย์ไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผมไม่รู้จักมักจี่เป็นการส่วนตัวสักคน รู้แต่ว่าทำงานอยู่ที่รพ.ภูมิพลบ้าง รพ.อายุรศาสตร์เขตร้อนบ้าง รพมิติเวชศรีนครินทร์บ้าง ได้ทำวิจัยระดับติดตามดูกลุ่มคนไปข้างหน้า (prospective cohort study) ในคนอายุ 13-18 ปี ที่ไม่เคยมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งได้รับวัคซีน mRNA เข็มสอง จำนวน 301 คนทั้งชายหญิง เจาะจงดูผลต่อหัวใจเท่านั้น งานวิจัยทำเสร็จแล้วกำลังรอตีพิมพ์แต่ได้เปิดเผยนิพนธ์ต้นฉบับใน preprint.com
สาระสำคัญของผลวิจัยนี้มีอยู่ว่าวัยรุ่นที่ได้วัคซีน mRNA เข็มสอง มีภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจเกิดขึ้น 29.24% เป็นหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (tachycardia) 7.64%), หอบเหนื่อยหายใจไม่อิ่ม 6.64% ใจสั่น 4.32% เจ็บหน้าอก chest pain 4.32% ความดันเลือดสูง 3.99% มีเอ็นไซม์หัวใจเพิ่มสูงขึ้น 2.33% ในจำนวนนี้ที่ยืนยันว่าเป็นหัวใจอักเสบแน่นอนแล้ว 1 ราย ขณะที่อีก 2 รายสงสัยว่าจะเป็นเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และอีก 4 รายสงสัยว่าจะเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบระดับไม่มีอาการ (subclinical myocarditis) ผลวิจัยได้แสดงหลักฐานต่างๆรวมทั้งเอ็นไซม์หัวใจและภาพ cMRI ของกล้ามเนื้อหัวใจ คณะผู้วิจัยได้สรุปว่าวัยรุ่นที่ได้รับวัคซีน mRNA เกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจขึ้นได้ตั้งแต่หัวใจเต้นเร็วจนถึงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยที่อาการมักไม่มากและหายได้ใน 14 วัน และคณะผู้วิจัยได้สรุปแนะนำว่าวัยรุ่นที่ได้รับวัคซีน mRNA ทุกคนควรได้รับการตรวจติดตามดูหัวใจเพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน
นั่นเป็นรายงานของนิพนธ์ต้นฉบับนะ คราวนี้มามองจากมุมของหมอสันต์บ้าง
1.. งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยชิ้นแรกของโลกที่เป็นงานวิจัยสูงระดับ prospective cohort ที่ศึกษาผลกระทบต่อหัวใจของวัยรุ่นที่ได้วัคซีน mRNA งานวิจัยอื่นที่มีมาล้วนเป็นการย้อนหลังดู (retrospective) เช่นรวบรวมข้อมูลจากคำรายงานพิษของวัคซีนที่รายงานเข้ามาทางเว็บไซท์ (VAERS) ซึ่งความน่าเชื่อถือน้อยกว่ามาก ผมต้องขอชื่นชมแพทย์ไทยที่ได้สร้างสรรค์งานวิจัยนี้ขึ้นมา ผมเชื่อว่าทั่วโลกจะได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยนี้ทันที ผมยกให้งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยระดับ world class ที่ใช้ state of the art ในการทำวิจัย กล่าวคือเมื่อจะศึกษากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ก็ใช้ทั้งเอ็นไซม์หัวใจและภาพหัวใจจาก cMRI ซึ่งพูดก็พูดเถอะ ตั้งแต่มีโรคโควิดมาและวัยรุ่นทั่วโลกก็ป่วยเพราะวัคซีนไปแยะแล้ว ผมยังไม่เคยเห็นสถาบันไหนในโลกคิดอ่านทำงานวิจัยระดับนี้ไว้เลยจนกระทั่งมาเห็นในงานวิจัยของแพทย์ไทยเราเองฉบับนี้
2.. กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) เป็นเรื่องซีเรียส หมอหัวใจทุกคนรู้ว่ากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเป็น 20% ของสาเหตุการตายกะทันหันในวัยรุ่นและคนวัยหนุ่มสาว ยังไม่นับว่ามันจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจพิการและการส่งผ่านไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติไป ซึ่งจะส่งผลเสียต่อไปในวันข้างหน้า
3.. รายงานการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังการได้วัคซีน mRNA เข็มสองในคนอายุ 12-39 ปีมีรายงานระดับคลาสสิกไว้ว่ามีอัตราเกิดประมาณ 12.6 คนต่อล้านคน หรือ 0.001% ซึ่งเป็นตัวเลขที่อยู่ในใจของผู้คนในแง่ของความปลอดภัยของวัคซีนตลอดมา แต่งานวิจัยของคณะแพทย์ไทยนี้รายงานว่าเกิดขึ้น 1 ใน 301 หรือ 0.33% มากกว่ากันราวสามร้อยเท่า หากเทียบกับข้อมูลจากทางอิสราเอลที่ศึกษาผลของวัคซีนในวัยรุ่นชายรายงานไว้ว่าเกิด 1 ราย :12,361 รายก็ยังต่างกันมากอยู่ดี นี่ยังไม่นับที่หัวใจอักเสบจนเอ็นไซม์หัวใจสูงขึ้นโดยไม่มีอาการ หากนับรวมก็เท่ากับว่าอัตราเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในรายงานของแพทย์ไทยนี้สูงถึง 2.33% ของผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด ถามว่าหมอสันต์เชื่อผลวิจัยอันไหนมากกว่ากัน ตอบว่าผมเชื่อผลวิจัยของแพทย์ไทยนี้มากกว่า ด้วยเหตุผลว่าข้อมูลอื่นๆก่อนหน้านั้นเป็นผลวิจัยแบบย้อนหลังไปดู (retrospective) และได้ตัดเอาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่หลักฐานไม่พอพิสูจน์ว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกิดจากวัคซีนทิ้งหมด แต่งานวิจัยของแพทย์ไทยนี้เป็นงานวิจัยแบบตามไปดูข้างหน้า การคัดเลือกผู้เข้าวิจัย การกำหนดตัวชี้วัดและวิธีติดตามดูกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วไม่มีตกหล่น จึงเชื่อถือได้มากกว่า แม้ว่ายอดรวมผู้ป่วยจะน้อยกว่า แต่ยอดรวม 301 คนนี้ก็ถือว่ามากพอควรสำหรับงานวิจัยทางคลินิก ไม่ได้ขี้เหร่แต่อย่างใด อีกอย่างหนึ่ง หากสดับให้ดีในวงการแพทย์ทั่วโลกนี้เราก็จะได้ยินได้ฟังหลักฐานเล็กๆที่สอดคล้องกับงานวิจัยของแพทย์ไทยนี้มาบ้างแล้วก่อนหน้านี้ เช่นผมเคยอ่านในวารสาร VACCINE ว่าในช่วงเวลาแค่ 3 สัปดาห์ รพ.แห่งหนึ่งในอิสราเองได้รับผู้ป่วยหนุ่มๆอายุเฉลี่ย 22 ปีที่ป่วยด้วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังจากได้วัคซีนไว้รักษาในรพ.ถึง 6 ราย เป็นต้น
อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากชี้ก็คือนี่เป็นงานวิจัยแรกที่แสดงว่ามีผู้ป่วยที่ได้วัคซีนแล้วเกิดกล้ามเนื้ัอหัวใจเสียหายจนเอ็นไซม์หัวใจสูงขึ้นนับรวมได้ถึง 2.33% ไม่มีงานวิจัยไหนได้เคยแสดงให้เห็นแง่มุมนี้มาก่อนเลย กล้ามเนื้อหัวใจที่เสียหายจนมีเอ็นไซม์ออกมาแม้จะยังไม่มีอาการอะไรนี้ มันจะทำให้เกิดอะไรกับหัวใจในอนาคตเมื่อผ่านไปแล้วสิบปียี่สิบปีบ้าง พระเจ้าเท่านั้นที่จะรู้ได้
4.. นับถึงวันนี้ยังไม่มีงานวิจัยแม้แต่ชิ้นเดียวที่จะบอกว่าการฉีดวัคซีนเข็มสองเข็มสามให้วัยรุ่นจะมีประโยชน์คุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่ เรารู้เพียงแต่ว่าวัคซีนปัจจุบันไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ BA.5 ได้อย่างมีนัยสำคัญ มีแต่ป้องกันการป่วยหนักถึงเข้าโรงพยาบาลได้ระดับหนึ่ง โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าประโยชน์ที่พึงได้จากวัคซีนนี้จะคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดจากวัคซีนหรือไม่
สรุปว่าในภาวะที่มีสามสาเหตุมาบรรจบกัน คือ
(1) ทุกวันนี้การติดเชื้อ BA.5 ไม่ได้เป็นความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญในคนกลุ่มเด็กและวัยรุ่น
(2) มีความเสี่ยงเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนเห็นๆจากงานวิจัยนี้ในอัตราสูงกว่าที่เคยเชื่อกันมาก
(3) ยังไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบประโยชน์และความเสี่ยงของวัคซีน ณ ปัจจุบันให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
ในฐานะแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ผมจะเอาหลักฐานอะไรมาเชียร์ให้คุณพาลูกสาวไปฉีดวัคซีนละครับ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Mansanguan, S.; Charunwatthana, P.; Piyaphanee, W.; Dechkhajorn, W.; Poolcharoen, A.; Mansanguan, C. Cardiovascular Effects of the BNT162b2 mRNA COVID-19 Vaccine in Adolescents. Preprints 2022, 2022080151 (doi: 10.20944/preprints202208.0151.v1). Mansanguan, S.; Charunwatthana, P.; Piyaphanee, W.; Dechkhajorn, W.; Poolcharoen, A.; Mansanguan, C. Cardiovascular Effects of the BNT162b2 mRNA COVID-19 Vaccine in Adolescents. Preprints 2022, 2022080151 (doi: 10.20944/preprints202208.0151.v1).
- Witberg G, Barda N, Hoss S, Richter I, Wiessman M, Aviv Y, Grinberg T, Auster O, Dagan N, Balicer RD, Kornowski R. Myo- carditis after Covid-19 Vaccination in a Large Health Care Organization. N Engl J Med. 2021;385(23):2132-39.
- Kuntz J, Crane B, Weinmann S, Naleway AL; Vaccine Safety Datalink Investigator Team. Myocarditis and pericarditis are rare following live viral vaccinations in adults. Vaccine. 2018;36(12):1524-27.
- Abu Mouch S, Roguin A, Hellou E, Ishai A, Shoshan U, Mahamid L, et al. Myocarditis following COVID-19 mRNA vaccination. Vaccine. 2021;39(29):3790-93.