เป็นโรคไตเรื้อรังระยะ 2 แต่เป็นโรคปสด.ระยะ 5

(ภาพวันนี้: แค่โชว์ฝีมือเล่นแสงและเงา)

สวัสดีค่ะคุณหมอสันต์

อายุ 57 ปี ส่วนสูง 157 cm. น้ำหนัก 43 kg. ทานอาหารมังสวิรัติแบบ นม ไข่ ปลา ดื่มน้ำ 1.5-2 ลิตรต่อวัน ทานผัก ผลไม้ ถั่ว อัลมอนด์ ดาร์กช็อคโกแลต ทานไข่ต้ม(ไข่ขาว) 2-3 ฟองต่อวัน ทานของทอด ทานแกงกะทิ ทานขนมหวานบ้าง ออกกำลังกายโยคะสัปดาห์ละ 5 วันๆละ 1 ชั่วโมง  เดินสัปดาห์ละ 2 วันๆละ1 ชั่วโมง ระยะทาง 3-5 กม. หนูตรวจพบว่าเป็นโรคถุงน้ำในไตจากการตรวจร่างกายประจำปีโดยการตรวจอัลต้าซาวน์ช่องท้องตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 (16 ปีที่แล้ว) รักษาที่แผนกอายุรกรรม รพ.ศิริราชด้วยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะทุก 6 เดือน ไม่มียา ครั้งล่าสุดวันที่  6 ธ.ค. 2565 มีผลตรวจดังนี้ค่ะ ค่าeGFR    88.77 Creatinine .75 Protein       Trace Occult blood  Trace Calcium oxalate crystal 2+ HBA1C   5.6 Cholesterol  250 Triglyceride  38 HDL-CHOL   100 LDL     142.4 ความดัน  107/70  ชีพจร 70 เป็นพาหะธาลัสซีเมีย Hemoglobin  13.3

ผลตรวจครั้งนี้ค่าeGFR ตกลงมาจากตรวจครั้งก่อนๆ 99.24 ,101.49 , 95.52 หนูรู้สึกเครียดมากๆ กลัวมาก จิตตก นอนหลับไม่สนิทตื่นกลางดึกเช้ามาอ่อนเพลียไม่มีสมาธิเลยค่ะ

ขอรบกวนเรียนสอบถามคุณหมอดังนี้ค่ะ

  1. ผลตรวจปัจจุบันจัดว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะที่เท่าไรคะ 

2. มีความเสี่ยงที่จะเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องฟอกไตประมาณช่วงอายุเท่าไรคะ

3. ค่าeGFR สามารถทำให้ดีขึ้นได้หรือไม่คะ  หนูพยายามหาอ่านเรื่องไตวายเรื้อรังจากถุงน้ำในไตไม่ค่อยพบเลยค่ะ

4. น้ำดื่มแบบ RO สามารถดื่มได้หรือไม่คะ ปรกติหนูดื่มน้ำแบบขวดยี่ห้อเซเว่นเป็นน้ำ RO หนูดูคลิปคุณหมอท่านหนึ่งว่าคนเป็นโรคไตไม่ควรดื่มเพราะน้ำดื่ม RO เป็นกรด ทำให้ไตทำงานหนัก

5. สุดท้ายนี้หนูขอคำแนะนำจากคุณหมอว่าหนูควรปฏิบัติตัวอย่างไร หรือควรพบแพทย์เฉพาะทางโรคไตหรือไม่คะ

กราบขอบพระคุณคุณหมอมากๆค่ะ

(ชื่อ) ………….

หมายเหตุ; หนูไม่มีเฟสบุ๊คค่ะ คุณหมอให้หนูรับคำตอบจากคุณหมอทางใด สามารถแจ้งได้เลยตามที่คุณหมอสะดวกนะคะ  

…………………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าเป็นคนมีถุงน้ำที่ไตมานานแล้ว ผลตรวจ GFR ได้ 88.8 เป็นโรคไตเรื้อรังระยะเท่าไร ตอบว่าเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 2/5 คือระยะที่ 2 จากทั้งหมด 5 ระยะ แต่ว่าอาจจะเป็นโรคปสด.ระยะที่ 5/5 เสียแล้วหรือเปล่าไม่รู้เนี่ย หิ..หิ

ตรงนี้ขอขยายความให้ท่านผู้อ่านทั่วไปเอาไปใช้ประโยชน์ได้ด้วยว่าค่า GFR คิดขึ้นมาเพื่อให้คนที่ไตทำท่าจะไม่ดีได้ตั้งหลักทัน โดยแบ่งเป็น 5 ระยะ คือ

ระยะที่ 1. เฉพาะคนมีมีพยาธิสภาพที่ไต (เช่นมีซิสต์ เนื้องอก นิ่ว หรืออักเสบที่ไต) แต่ไตทำงานดี (GFR>90)

ระยะที่ 2. เฉพาะคนมีพยาธิสภาพที่ไต (เช่นมีซิสต์ เนื้องอก นิ่ว หรืออักเสบที่ไต) แต่ไตเริ่มทำงานได้ลดลง (GFR 60-89)

ระยะที่ 3. ใครก็ตาม ที่ไตเสียการทำงานไปอย่างมีนัยสำคัญ (GFR 30-59)

ระยะที่ 4. ใครก็ตาม ที่ไตเสียการทำงานไปมากแต่ยังพอมีชีวิตอยู่ได้ (GFR 15-29)

ระยะที่ 5. ใครก็ตาม ที่ไตเสียการทำงานไปมากจนอาจมีชีวิตอย่างปกติสุขต่อไปไม่ได้หากไม่ได้รับการบำบัดทดแทนไต (GFR 0-14)

ดังนั้นเฉพาะคนที่มีพยาธิสภาพที่ไตเท่านั้นจึงจะได้เป็นโรคไตระยะที่ 1 หรือ 2 ส่วนคนทั่วไปที่ไม่มีพยาธิสภาพที่ไตจะเริ่มเป็นโรคไตก็เริ่มเป็นระยะที่ 3 เลย ไม่มีการเป็นระยะ 1 หรือ 2

การเป็นโรคไตเรื้อรังระยะ 2 อย่างคุณนี้หมายความว่าไตยังทำงานพอใช้ได้อยู่ แต่ความที่เรามีโรคของไตอยู่ก่อนแล้วซึ่งในที่นี้ก็คือซีสต์ ทำให้เราต้องระมัดระวังดูแลไตแต่เนิ่นๆให้มากกว่าคนทั่วไปเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าไตของคุณเสียการทำงานไปแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น

2. ถามว่าเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 2 มีความเสี่ยงที่จะเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องฟอกไตประมาณช่วงอายุเท่าไรคะ หิ หิ ตอบว่าคำถามนี้มีคนตอบได้คนเดียวคือพระพรหม หรืออีกคนหนึ่งที่อาจตอบได้คือหมอดู หมอสันต์ตอบไม่ได้หรอกครับ เพราะไม่เคยมีงานวิจัยสถิติภาพรวมว่าคนเป็นโรคไตระยะที่ 2 จะมีชีวิตปกติโดยไม่ต้องบำบัดทดแทนไตไปได้เฉลี่ยนานกี่ปี

อย่าลืมว่าเขาคิดค่า GFR มาให้คนที่มีความเสี่ยงที่ไตจะเสียหายให้หันมาใส่ใจดูแลไตตัวเอง ไม่ใช่ให้มานั่งกังวลถึงอนาคตนะจ๊ะหนูจ๋า ให้ใช้ประโยชน์จากตัวชี้วัดทางการแพทย์ให้ถูกทาง หากทำไม่ได้ก็อย่ามายุ่งกับตัวชี้วัดทางการแพทย์เลยดีกว่า ไม่ต้องตรวจไม่ต้องวัดอะไรทั้งสิ้น รอให้ป่วยจนใช้ชีวิตต่อไม่ได้ค่อยเข้าโรงพยาบาลจะดีกว่า ดีกว่าขยันตรวจโน่นนี่นั่นพอได้ผลตรวจมาแล้วมานั่งประสาทกิน เพราะโรคประสาทกินทำลายคุณภาพชีวิตและบั่นทอนความยืนยาวของชีวิตได้มากกว่าโรคอื่นใดทั้งสิ้น

3. ถามว่า ค่า GFR สามารถทำให้ดีขึ้นได้หรือไม่คะ ตอบว่า ได้ครับ งานวิจัยเกี่ยวกับผู้ป่วยถุงน้ำในไตโดยเฉพาะไม่มี แต่งานวิจัยเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังโดยภาพรวมพอมี ซึ่งสรุปว่าต้องทำสองอย่างคือ

(1) ไม่ขย่มไตให้โทรมลงไปยิ่งกว่าเดิม ด้วยการ 1.1 กินยาแก้ปวดแก้อักเสบข้อ (NSAID) 1.2 กินยาลดการหลั่งกรดเช่น omeprazole เป็นเวลานานๆ 1.3 กินหรือฉีดยาปฏิชีวนะที่มีพิษต่อไต 1.4 ฉีดสารทึบรังสืในการวินิจฉัยโรค ซึ่งมีพิษต่อไตมากสุดๆ 1.5 กินสมุนไพร อาหารเสริม หรืออะไรก็ไม่รู้ที่ไม่รู้กำพืดที่มา ใครเขาเอาอะไรมาขายให้และบอกว่าดีก็ซื้อกินหมด แบบนั้นไตพังมาแยะแล้ว 1.6 ปล่อยให้ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำนานๆ

(2) ปรับวิธีใช้ชีวิต โดยเปลี่ยนมากินอาหารแบบกินพืชเป็นหลัก เพราะงานวิจัยพบว่าคนเป็นโรคไตเรื้อรังที่กินอาหารแบบกินพืชเป็นหลักมีอัตราตายใน 8 ปีต่ำกว่าคนกินเนื้อสัตว์เป็นหลักถึง 5 เท่า นอกจานนี้ก็ควรใช้ชีวิตในวิถีสุขภาพเฉกเช่นคนธรรมดาทั่วไป เช่นออกกำลังกายทุกวัน จัดการความเครียด ดูแลการนอนหลับ มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบตัว เป็นต้น

4. ถามว่าน้ำดื่มแบบ RO คนเป็นโรคไตสามารถดื่มได้หรือไม่คะ ตอบว่าดื่มได้สิครับ ตำรวจที่ไหนจะไปจับคุณ RO ก็คือวิธีกรองน้ำให้สะอาดวิธีหนึ่งโดยอาศัยแผ่นกรองที่ละเอียดมาก

เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ ผมขอขยายความหน่อยนะ

osmosis เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เซลล์ร่างกายดูดเอาน้ำจากภายนอกเข้าไปในเซลล์ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นรูพรุนละเอียดอย่างยิ่งชนิดที่เชื้อโรคผ่านไม่ได้แต่โมเลกุลน้ำผ่านได้ (semipermeable membrane) วิธีดูดเข้าก็อาศัยแรงดึงดูด (osmotic pressure) ของโมเลกุลใหญ่ในเซลล์ดูดเอาน้ำเข้าหาตัว

reversed osmoses ความจริงไม่เกี่ยวอะไรกับการใช้แรงดึงดูด แต่ยืมชื่อมาเรียกเท่ๆ แค่เป็นการกรองธรรมดาคือใช้แรงดันอัดเข้าทางฝั่งสกปรกแรงๆเพื่อไล่โมเลกุลน้ำให้มุดผ่านแผ่นกรองซึ่งมีรูพรุนระเอียดระดับใกล้เคียงกับ semipermeable membrane เพื่อให้น้ำสะอาดไปทางโน้น ของสกปรกอยู่ทางนี้

ดังนั้นน้ำที่ได้จากกระบวนการ RO ก็คือน้ำกรองที่สะอาดปราศจากเชื้อโรคนั่นเอง ส่วนว่าน้ำนั้นจะเป็นกรดหรือเป็นด่างนั้นเป็นประเด็นสารดูดสีดูดกลิ่นที่เลือกใช้ร่วมในการกรอง แต่จะเป็นกรดเป็นด่างไม่สำคัญ เพราะเข้าไปในร่างกายแล้วจะถูกระบบถ่วงดุล (buffer system) ของร่างกายเปลี่ยนให้เป็นกลางเหมือนกันหมด จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่คนเป็นโรคไตจะดื่มน้ำ RO ไม่ได้

5. ถามว่าควรทำตัวอย่างไรและควรพบแพทย์เฉพาะทางโรคไตไหม ตอบว่าทำตัวตามข้อ 3 และไม่จำเป็นต้องไปหาหมอโรคไตในขั้นตอนนี้เพราะในเรื่องซีสต์ก็มีหมอติดตามดูอยู่แล้วว่ามันไม่ใช่กรณีที่จะต้องผ่าตัดเอาซีสต์ออกแต่อย่างใด ส่วนในเรื่องการทำงานของไต ไตของคุณยังทำงานอยู่ในเกณฑ์เท่าคนทั่วไปอยู่จึงยังไม่มีอะไรให้หมอโรคไตช่วยดูแลตอนนี้ รอจน GFR ต่ำกว่า 60 โน่นแหละค่อยคิดอ่านไปหาหมอไต

6.. ถามว่าไม่มีเฟซบุ้คจะอ่านหมอสันต์ได้ทางไหน ตอบว่าทาง http://www.drsant.com ไงครับ คนส่วนใหญ่อ่านหมอสันต์ทางใครก็ไม่รู้ร่อนมาทางไลน์บ้าง ทางเฟซบ้าง จึงไม่สามารถติดตามอ่านหมอสันต์ต่อเนื่องได้ต้องอาศัยใบบุญให้คนอื่นร่อนมาให้อ่าน ซึ่งก็เป็นวิธีที่เวิร์คดีเหมือนกัน แต่วิธีหนึ่งที่แน่นอนว่าไม่เวอร์คคือเขียนอีเมลมาหาแล้วรอหมอสันต์ตอบทางอีเมล เพราะชาติหน้าตอนบ่ายๆก็จะยังไม่ได้คำตอบ เพราะหมอสันต์ไม่ตอบคำถามทางเมลส่วนตัว กฎกติกาของการถามหมอสันต์คือทุกคำถามจะตอบทาง public เพื่อให้คนอื่นได้ประโยชน์ด้วยเท่านั้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี