จะตัดลูกอัณฑะของคุณพ่อก็ต้องถามคุณพ่อสิครับ เพราะมันอัณฑะของท่าน
(ภาพวันนี้: ฟ้าเป็นฟ้าในหน้าหนาว)
สะบายดี
ขวรบกวนอีกคั้ง พ่วผมเปันมะเรังต่อมลูกหมาก หมแนะนำให้ผ่าตัดเพาะเชื่อมะเรังลามรอดปอด เพี่นแนะนำให้ตัดอันทะออก ขวความช่วยเหลือ
ขอบใจ
…………………………………………………………………………
ตอบครับ
แฟนบล็อกหมอสันต์ที่เป็นคนในประเทศเพื่อนบ้านมีมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ถามมาเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งผมได้ประกาศไปแล้วว่าผมไม่ตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษ บ้างจึงใช้กูเกิ้ลแปลเป็นภาษาไทยมาให้ อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง พอผมตอบไปเป็นภาษาไทยก็เอากูเกิ้ลแปลกลับเป็นภาษาของเขาใหม่ ใจความจะตรงกันหรือไม่ก็สุดแต่บุญกรรม มีอยู่คนหนึ่งเป็นฝรั่งเมียไทย อาศัยเมียอ่านและแปลให้ คงจะจับความได้อยู่ เพราะต่อมาตัวเขาเขียนตอบมาหาผมว่า
“Khob Khun Krub. Sabai Jai Law.”
มาตอบคำถามของชาวประเทศเพื่อนบ้านท่านนี้กันดีกว่า
1.. ถามว่ามะเร็งต่อมลูกหมากมีทางเลือกในการรักษากี่วิธี ตอบว่ามีอย่างน้อย 5 ทางเลือก คือ
1.1 รอดูเชิงไป (watchful waiting) ไม่ทำอะไรทั้งนั้น PSA ก็ไม่ตรวจ จะลงมือทำอะไรก็ต่อเมื่อมีอาการจนชีวิตไปต่อไม่ได้ (เช่น ฉี่ไม่ออกเป็นต้น) จึงค่อยลงมือรักษาเพื่อแก้ไขอาการ ทางเลือกนี้นิยมใช้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่อายุเกิน 75 ปีไปแล้ว เพราะในภาพใหญ่มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งโตช้า หากมาพบเอาตอนอายุ 75 ปีไปแล้วโอกาสที่จะได้ตายจากเหตุอื่นจะมีมากกว่าตายจากมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้นจะไม่รักษามันเลยก็ได้
1.2 เฝ้าระวังอย่างขยันขันแข็ง (active surveillance) คือไม่ผ่าตัดไม่รักษาอะไรทั้งสิ้น แต่ขยันตรวจดู PSA ทุก 3-6 เดือน และขยันไปตัดชิ้นเนื้อซ้ำทุกปี เมื่อใดที่มะเร็งรุนแรงขึ้น ซึ่งทราบจากคะแนนวัดความแรงของมะเร็ง (Gleason score) สูงขึ้น ก็ค่อยตัดสินใจไปผ่าตัดหรือรักษาด้วยวิธีอื่นๆ วิธีเฝ้าระวังแบบนี้เกิดขึ้นเพราะข้อมูลเปรียบเทียบการตายในระยะยาวว่ากรณีเป็นมะเร็งชนิดไม่ก้าวร้าว(ซึ่งเป็น 95% ของมะเร็งต่อมลูกหมากทั้งหมด) การรักษาหรือไม่รักษาให้อัตรารอดชีวิตในระยะยาวไม่ต่างกัน จึงเปิดให้ผู้ป่วยไม่ว่าอายุเท่าใดเลือกว่าชอบแบบไหนก็เลือกแบบนั้นได้
1.3 ผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออก (prostatectomy) เป็นวิธีมาตรฐานที่ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ (urologist) มักเสนอให้เป็นทางเลือกแรกแก่ผู้ป่วยทันทีที่วินิจฉัยได้จากการตัดชิ้นเนื้อว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ทางเลือกนี้หากเป็นมะเร็งชนิดไม่ก้าวร้าว อัตรารอดชีวิตไม่แตกต่างจากการไม่ผ่าตัด แต่หากเป็นมะเร็งชนิดก้าวร้าว ทางเลือกนี้จะลดอัตราตายในระยะยาวได้ดีกว่าการไม่ผ่าตัด
เทคนิคในการผ่าตัดก็มีหลายแบบ เช่นตัดเหี้ยน (radical prostatectomy) ส่องกล้องผ่านหน้าท้องเข้าไปตัด (laparoscopic prostatectomy) ผ่าเปิดผิวหนังเข้าไปตัด (open prostatectomy) เป็นต้น
1.4 การใช้รังสีรักษา (radiation therapy) เป็นความพยายามที่จะรักษาให้หายเช่นเดียวกับการผ่าตัด ซึ่งแยกเป็นสองแบบ คือฉายแสง และฝังแร่ (brachytherapy)
1.5 การรักษาด้วยฮอร์โมน (hormone therapy) เป็นวิธีรักษาที่เกิดจากความรู้ที่ว่าตัวกระตุ้นให้มะเร็งต่อมลูกหมากโตได้ โตดี โตไม่เลิก คือฮอร์โมนเพศชาย (androgen) จึงนำมาสู่การรักษาด้วยการลดฮอร์โมนแอนโดรเจนวิธีใดวิธีหนึ่งในสองวิธีคือ (1) ใช้ยากินหรือฉีดเพื่อต้านแอนโดรเจน (2) ตัดลูกอัณฑะซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ที่ผลิตแอนโดรเจนออก (orchidectomy) ซึ่งช่วยเพิ่มความยืนยาวของชีวิตได้ระดับหนึ่ง ทางเลือกนี้นิยมใช้ในผู้ป่วยที่ทำผ่าตัดไม่ได้ หรือทำผ่าตัดแล้วแต่มะเร็งก็ยังแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นอยู่
นอกจากนี้ยังมีวิธีรักษาเล็กๆน้อยปลีกย่อยอื่นๆ เช่น เคมีบำบัด ภูมิคุ้มกันบำบัด ยาล็อคเป้า ซึ่งผมขอไม่พูดถึงในที่นี้ การที่มะเร็งต่อมลูกหมากมีทางเลือกแยะเป็นเพราะมันไม่มีทางไหนดีที่สุดสักทางเดียว
2. ถามว่าคุณพ่อเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หมอจะขอตัดอัณฑะ ควรยอมให้หมอตัดไหม ตอบว่าก็ต้องถามคุณพ่อท่านดูสิครับเพราะมันอัณฑะของท่าน การตัดสินใจของผู้ป่วยมักจะขึ้นอยู่กับอายุและการให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางเพศของผู้ป่วยแต่ละคนเพราะสิ่งแรกที่จะเสียไปอย่างถาวรจากการตัดอัณฑะคือเซ็กซ์ แลกกับสิ่งที่จะได้มาคือมะเร็งจะลดการเติบโตหรือลดความรุนแรงลง ทั้งนี้ขอให้เข้าใจตรงกันก่อนว่าการตัดอัณฑะไม่ได้ทำให้มะเร็งหาย
3. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ มีงานวิจัยการทดลองรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะไม่รุนแรงด้วยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตคือ กินพืชเป็นหลัก ออกกำลังกาย จัดการความเครียด มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง แล้วพบว่าทำให้มะเร็งลดความรุนแรงลง ค่า PSA ลดลง มะเร็งลดการรุกรานลง คุณให้ข้อมูลนี้แก่คุณพ่อด้วยก็จะเป็นทางเลือกที่ท่านทำได้เองอีกทางหนึ่งนะครับ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Ornish D, Weidner G, Fair WR, Marlin R, Pettengill EB, Raisin CJ, Dunn-Emke S, Crutchfield L, Jacobs FN, Barnard RJ, Aronson WJ, McCormac P, McKnight DJ, Fein JD, Dnistrian AM, Weinstein J, Ngo TH, Mendell NR, Carroll PR. Intensive lifestyle changes may affect the progression of prostate cancer. J Urol. 2005 Sep;174(3):1065-9; discussion 1069-70. doi: 10.1097/01.ju.0000169487.49018.73. PMID: 16094059.